Click here to visit the Website
กลับไปหน้า สารบัญ

 

สิ บ ปี เ ขื่ อ น ป า ก มู ล
การต่อสู้ของกบฏคนจน
เรื่อง วันดี สันติวุฒิเมธี / ภาพ วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

เมื่อสายน้ำถูกปิดกั้น :: ต้นทุนทางสังคม :: บันไดปลา (ไม่ ) โจน :: หมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน :: บทเรียนของสังคม :: ลำดับเหตุการณ์ ๑๐ ปีการต่อสู้เขื่อนปากมูล


    รุ่งเช้าของวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๔๓ ริมสันเขื่อนปากมูล จังหวัดอุบลราชธานี บริเวณหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน ๑ คลาคล่ำไปด้วยผู้คนนับพันที่เดินทางมาจากทุกสารทิศ เพื่อมาร่วมงานสัมมนาระดับชาติเรื่อง "คนจนกับทางออกของสังคมไทย" อดีตนายกรัฐมนตรี นายอานันท์ ปันยารชุน เดินเข้ามาในที่ชุมนุมที่มีพ่อเฒ่าแม่แก่นั่งรออยู่ด้วยความตื่นเต้น หญิงวัยกลางคน นุ่งซิ่นตามแบบฉบับหญิงอีสาน ถือพวงมาลัยเข้าไปมอบให้อดีตนายกฯ ด้วยความปลาบปลื้ม

(คลิกดูภาพใหญ่)

    "แม่ดีใจที่เพิ่นมาเบิ่งพี่น้องผู้ชุมนุมด้วยตัวเอง" 
แม่สมปอง เวียงจันทร์ อดีตชาวประมงบ้านวังสะแบงใต้ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งขณะนี้รับหน้าที่เป็นแกนนำผู้ชุมนุมประท้วงเขื่อนปากมูล ถ่ายทอดความรู้สึกที่เห็นอดีตนายกฯ เดินทางมาเยี่ยมที่ชุมนุม ด้วยตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ตั้งหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน ยังไม่เคยมีคนจากรัฐบาลย่างกรายเข้ามารับฟังความเดือดร้อนของผู้ชุมนุมเลย
    แม่สมปองกวาดตาดูรอบ ๆ หมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน เสียงวิทยากรบนเวทีแว่วมาเข้าหูว่า ความยากจนของชาวบ้านปากมูล เกิดจากการพัฒนาของรัฐ เพราะถ้าไม่มีเขื่อนปากมูล ชาวบ้านก็จะไม่จนลงถึงขนาดนี้ แม่สมปองยืนนิ่งฟังและค่อย ๆ คิดตาม ...ในความคำนึง เธอเห็นภาพตัวเองในวัยเด็ก ช่วยพ่อแม่หาปลาในลำน้ำมูล ข้าวปลาอาหาร เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม และข้าวของเครื่องใช้จิปาถะ ที่ครอบครัวของเธอได้มา ล้วนแลกมาจากปลาในแม่น้ำสายนี้ทั้งสิ้น ชีวิตสงบสุขที่ผูกพันกับแม่น้ำมูลดำเนินเรื่อยมา จนถึงวันที่มีสิ่งแปลกปลอมเกิดขึ้น
   ถ้าเมื่อ ๑๐ ปีก่อนไม่มีโครงการเขื่อนปากมูลขวางกั้นลำน้ำมูล ไม่มีการระเบิดแก่งหินที่สำคัญที่สุดของลำน้ำ วันนี้เธอ สามี และลูก ๆ คงลอยเรือหาปลาอยู่กลางลำน้ำ มีปลาร้าเต็มไห ไม่ต้องออกมานอนกลางดินกินกลางทราย เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเห็นใจ จนกลายเป็นกบฏ เป็นผู้ร้ายในสายตาของคนทั่วไปในเวลานี้ 

ขึ้นข้างบน (Back to Top)


(คลิกดูภาพใหญ่)     เมื่อสายน้ำถูกปิดกั้น

   แม่น้ำมูลเป็นแม่น้ำสำคัญของภาคอีสาน ด้วยเป็นสายน้ำปลายทางที่รับน้ำจากแม่น้ำสายอื่น ๆ ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขง ที่อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี แม่น้ำมูลเป็นสายน้ำต้นทางที่ปลาจากแม่น้ำโขงกว่า ๒๐๐ ชนิด อพยพขึ้นมาวางไข่ตามเกาะแก่งไม่น้อยกว่า ๒๐ แก่ง ซึ่งทอดตัวเรียงรายตลอดลำน้ำมูล ตั้งแต่อำเภอพิบูลมังสาหารเรื่อยมา จนถึงอำเภอโขงเจียม
   เกาะแก่งเหล่านี้มีอาหารสำหรับแม่ปลาท้องแก่และลูกปลาอย่างครบครัน ตั้งแต่อาหารประเภทโปรตีนอย่าง ตะขาบน้ำ แมงป่องน้ำ ไปจนถึงวิตามินและเกลือแร่ อย่างสาหร่ายชนิดต่าง ๆ บรรดาปลาน้อยปลาใหญ่จึงมารวมกันที่นี่ จนชาวประมงเรียกเกาะแก่งเหล่านี้ว่า "วังปลา" และถ้าแก่งไหนมีปลาชุกชุมมาก ๆ อย่างเช่น แก่งคันเห่ว แก่งตาดภู และแก่งตะนะ สามแก่งสุดท้ายซึ่งทอดตัวเรียงต่อกันก่อนถึงปากแม่น้ำมูล พวกเขาก็จะยกย่องให้เป็น "จังหวัดปลา" หรือ "เมืองหลวง" ของปลา
    ย่างเข้าหน้าฝนเดือนพฤษภาคม ปลาขนาดเล็กจะนำขบวนปลาอพยพจากลำน้ำโขงขึ้นมาเป็นพวกแรก หลังจากนั้นประมาณหนึ่งสัปดาห์ ปลาขนาดใหญ่ก็จะเริ่มทยอยกันเข้ามาจนเต็มลำน้ำมูล ถ้าเห็นปลาตัวเล็ก ๆ ว่ายทวนน้ำขึ้นมาเมื่อไร ชาวประมงก็จะเตรียมเครื่องมือจับปลาให้พร้อม สำหรับใช้งานในสัปดาห์ถัดไป
   แม่สมปองยังจดจำคืนวันอันแสนสุขเมื่อครั้งมีอาชีพเป็นคนหาปลาและรับซื้อปลาจากชาวบ้านในหมู่บ้านวังสะแบงใต้ได้ดี
   "ตอนแม่ยังเป็นสาว แม่จะชวนพ่อออกไปจับปลาด้วยกัน มีอยู่ครั้งหนึ่ง ใส่มอง (ตาข่าย) ลงไปเที่ยวเดียวมีปลาติดมาตั้ง ๗๐ กิโล ได้ปลาเยอะจนไม่มีที่นั่งในเรือ พ่อกับแม่ต้องกระโดดลงน้ำ แล้วเกาะข้างเรือเข้าฝั่ง กว่าจะเอาปลาขึ้นฝั่งได้หมดปวดหลังกันน่าดู แต่ก็มีความสุขมาก

(คลิกดูภาพใหญ่)    "แม่รับซื้อปลาจากคนในบ้านเดียวกันด้วย วันหนึ่ง ๆ รับซื้อประมาณ ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ กิโล ทุก ๆ ปีเราจะทำปลาร้าเก็บไว้กินเอง ๒๐-๓๐ ไห ที่เหลือเราก็ขาย ปีหนึ่ง ๆ จะมีเงินติดบ้านประมาณ ๒-๓ หมื่นบาท เพราะเราไม่ค่อยมีค่าใช้จ่ายอะไร ข้าวก็ปลูกกินเอง บางทีก็มีคนจากที่ไกล ๆ เอาข้าวมาแลกปลา ส่วนกับข้าวพวกพืชผักก็เก็บกินตามป่าบุ่งป่าทาม"
   ป่าบุ่งป่าทามที่แม่สมปองพูดถึง คือป่าธรรมชาติซึ่งพบตามที่ราบน้ำท่วมถึงตลอดสองฝั่งลำน้ำมูล และภาคอีสาน ป่าแห่งนี้เป็นเสมือนซูเปอร์มาร์เกตชั้นดีของคุณแม่บ้าน เพราะมีของสดหลากหลายให้เลือก ตั้งแต่พืชผักอย่างหน่อไม้ เห็ด พืชสมุนไพร ไปจนถึงสัตว์นานาชนิดทั้ง นก หนู งู หรือไก่ป่า วันไหนจับปลาได้ไม่พอกินก็เดินเข้าป่า พักเดียวก็ได้กับข้าวมาเต็มสองมือ ชาวบ้านอย่างแม่สมปองฝากชีวิตไว้กับสายน้ำมูล และป่าบุ่งป่าทามมานานหลายชั่วอายุคน ดังนั้นหากวันใดที่สายน้ำเปลี่ยนแปลง จนกระทบต่อการดำรงอยู่ของป่าบุ่งป่าทาม ก็เท่ากับว่าพวกเขาต้องสูญเสียแหล่งอาหารธรรมชาติไปอย่างถาวร
   เมษายน ๒๕๓๒ ที่ประชุม ครม. สัญจรที่จังหวัดขอนแก่นมีมติอนุมัติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สร้างเขื่อนปากมูลที่บ้านหัวเห่ว อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ชาวบ้านที่ได้ยินข่าวต่างตกใจกับข่าวร้ายที่หวนกลับมาอีกครั้ง เพราะเมื่อ ๓๐ ปีก่อน สำนักงานพลังงานแห่งชาติเคยคิดโครงการสร้างเขื่อนปากมูลขึ้น ที่แก่งตะนะ ห่างจากปากแม่น้ำมูล ๔ กิโลเมตร ด้วยเห็นว่าน้ำจากแม่น้ำมูลไหลลงแม่น้ำโขงแบบสูญเปล่าปีละจำนวนมหาศาล จึงคิดพัฒนาแหล่งน้ำให้เกิดประโยชน์โดยนำมาผลิตกระแสไฟฟ้า แต่หลังจากสำรวจผลกระทบพบว่ามีราษฎรที่ต้องอพยพออกจากพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมมากถึง ๔,๐๐๐ ครอบครัว ต้องจ่ายเงินค่าชดเชยจำนวนมาก ไม่คุ้มกับการลงทุน จึงพับโครงการเก็บไว้
(คลิกดูภาพใหญ่)    จนกระทั่งปี ๒๕๓๒ กฟผ. นำโครงการเขื่อนปากมูลกลับมาพิจารณาอีกครั้ง ด้วยเห็นว่าในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๖ ภาคอีสานมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงถึง ๘๒๐ เมกะวัตต์ ในขณะที่ภาคอีสานมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมเพียง ๑๓๐ เมกะวัตต์ ถ้าสร้างเขื่อนปากมูล ซึ่งมีความสามารถในการผลิตไฟฟ้า ๑๓๖ เมกะวัตต์ขึ้นมาอีกหนึ่งเขื่อน ก็จะช่วยรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรม ในภาคอีสานได้เป็นอย่างดี กฟผ. ขยับพื้นที่ตั้งโครงการจากแก่งตะนะขึ้นมาอยู่แถวแก่งคันเห่ว ห่างจากปากแม่น้ำมูลประมาณ ๕ กิโลเมตรเพื่อลดจำนวนราษฎรที่ต้องอพยพออกจากพื้นที่น้ำท่วม แต่ กฟผ. จะต้องระเบิดแก่งคันเห่วออกเกือบทั้งหมด เพื่อเปิดทางน้ำ ด้วยค่าชดเชยที่น้อยกว่าบวกกับความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น โครงการเขื่อนปากมูลจึงถูกผลักดันผ่าน ครม. อย่างรวดเร็วจนชาวบ้านตั้งรับไม่ทัน
   "แม่ได้ยินข่าวครั้งแรกจากสถานีวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ประจำจังหวัดอุบลฯ เขาบอกว่าถ้าสร้างเขื่อน ชีวิตพวกเราจะดีขึ้น เพราะได้ทำนาปีละสองสามครั้ง แต่แม่คิดว่าชีวิตเราคงไม่ดีขึ้น เพราะเราไม่ได้ทำนาเป็นหลัก และสภาพดินที่นี่ก็ไม่เหมาะกับการทำนา เราอยู่กับปลากับน้ำ ถ้าสร้างเขื่อนขวางลำน้ำ แล้วปลาที่เคยว่ายจากแม่น้ำโขงขึ้นมาวางไข่ล่ะ จะทำยังไง"
   แม่สมปองเล่าถึงความสงสัยในใจเมื่อได้ยินข่าว หลังจากนั้นจึงเริ่มจับกลุ่มคุยกับเพื่อนบ้านถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครรู้ข้อมูลที่แท้จริง เพราะเจ้าของโครงการไม่เคยมาชี้แจงรายละเอียด และเปิดโอกาสให้ชาวบ้านซักถามข้อสงสัย แม่สมปองกับชาวบ้านประมาณ ๔๐-๕๐ คนจึงขี่จักรยานรณรงค์ให้ชาวบ้านรวมตัวกันเรียกร้องให้ กฟผ. เปิดเผยข้อมูลทั้งหมด
   "ไม่มีใครรู้ว่า ถ้าสร้างเขื่อนแล้วน้ำจะท่วมบ้านใคร เขาจะจ่ายค่าชดเชยให้เท่าไหร่ แล้วเราจะย้ายไปอยู่ที่ไหน ส่วนเรื่องพันธุ์ปลา บางคนก็คิดว่า ถ้าสร้างเขื่อนปลาคงจะเยอะขึ้นเหมือนกับเขื่อนอื่น ๆ เพราะกรมประมงจะเอาปลามาปล่อย แต่พอถามกันไปถามกันมาก็ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น พวกเราจึงต้องรวมตัวกันออกมาทวงถามข้อเท็จจริง"
(คลิกดูภาพใหญ่)    ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๓๓ ที่หน้าศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ชาวบ้านกว่า ๒,๐๐๐ คน ชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลยับยั้งโครงการเขื่อนปากมูล เพื่อศึกษาผลดีผลเสียอย่างรอบด้าน และเปิดเผยข้อมูลผลกระทบที่แท้จริงต่อประชาชน หลังจากชุมนุมได้สามวัน รัฐบาลมีท่าทีรับฟังเสียงผู้ชุมนุมคัดค้าน โดยออกคำสั่งยับยั้งโครงการเป็นการชั่วคราว และตั้งคณะกรรมการศึกษาผลกระทบขึ้นมาชุดหนึ่ง แต่ไม่กี่วันต่อมา บรรดาพ่อค้า นักการเมือง และกำนันผู้ใหญ่บ้านในจังหวัดอุบลราชธานี ได้ออกมาชุมนุมสนับสนุนให้สร้างเขื่อน ทั้งสองฝ่ายปะทะคารมกันเล็กน้อย โชคดีที่ไม่เกิดเหตุรุนแรงขึ้น 
   ท่ามกลางความขัดแย้งที่ยังคุกรุ่น ที่ประชุม ครม. รัฐบาลพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๓๓ ก็อนุมัติให้ กฟผ. ดำเนินการสร้างเขื่อนปากมูลที่บ้านหัวเห่ว อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี โดยใช้งบประมาณก่อสร้าง ๓,๘๘๐ ล้านบาท แบ่งเป็นเงินกู้ต่างประเทศ ๑,๙๔๐ ล้านบาท
   ผลการประชุม ครม. สร้างความไม่พอใจให้แก่ผู้ชุมนุมคัดค้านจำนวนมาก เพราะโครงการนี้ยังไม่ได้ประเมินผลกระทบอย่างรอบด้าน และไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลที่เป็นความจริง ชาวบ้านรวมกลุ่มชุมนุมประท้วงครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อให้รัฐบาลสำรวจผลกระทบอีกครั้ง ก่อนดำเนินการก่อสร้าง แต่ไม่มีใครสนใจฟังเสียงของพวกเขา

ขึ้นข้างบน (Back to Top)

(คลิกดูภาพใหญ่)    หนึ่งปีต่อมา...
   "ตูม...ตูม !" เสียงระเบิดดังก้องลำน้ำมูล เศษหินกระเด็นไปตกบนหลังคาบ้านเรือนนับสิบหลังในรัศมีใกล้เคียง ชาวบ้านหัวเห่วซึ่งอยู่ใกล้เสียงระเบิดพากันวิ่งไปดูสถานที่เกิดเหตุ ทุกคนต่างตกตะลึงเมื่อพบว่าเศษหินที่หล่นกระทบหลังคาบ้าน เมื่อครู่คือเศษหินจากแก่งคันเห่ว-- แก่งหินที่มีปลาชุกชุมมากที่สุดของลำน้ำมูลนั่นเอง 
   กฟผ. ชี้แจงสาเหตุที่ต้องระเบิดแก่งคันเห่วว่า ต้องการปรับปรุงร่องน้ำท้ายเขื่อนให้ไหลสะดวกขึ้น และทำให้แก่งตะนะซึ่งอยู่สภาพตอนล่างมีสภาพดีขึ้น และในการระเบิดจะทำภายในบริเวณที่มีทำนบกั้นน้ำไว้โดยรอบ จึงไม่เป็นอันตรายต่อปลาในลำน้ำแต่อย่างใด
   แต่สิ่งที่ชาวบ้านหัวเห่วเห็นตรงกันก็คือ 
   "พอสิ้นเสียงระเบิด พวกเราก็วิ่งไปดู เห็นปลาตัวน้อยตัวใหญ่ปลิวว่อนขึ้นมาเลย ช่วงนั้นปลาตายลอยอืดเต็มลำน้ำ ส่งกลิ่นเหม็นคลุ้ง ชาวบ้านก็ได้แต่ส่ายหัว คิดกันว่าอาชีพประมงของเราคงหมดแล้ว"
    นับจากวันนั้นระเบิดนับพันตัน และเครื่องมือขุดตักดินขนาดใหญ่ ก็ถูกลำเลียงสู่แก่งคันเห่ว และแก่งตาดภู เพื่อเปิดช่องทางน้ำ ให้มีความยาว ๒-๓ กิโลเมตร กว้าง ๘๐-๑๐๐ เมตร ลึกอย่างน้อย ๔ เมตร ชาวบ้านได้แต่เฝ้าดูความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับแก่ง ที่เคยเป็น "จังหวัดปลา" ของลำน้ำมูล และเป็นแก่งหินสวยงามซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ แต่ กฟผ. ได้เพิกถอนออกจากเขตพื้นที่อุทยานฯ เพื่อทำการระเบิดได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ! 
   ไทสัน อาร์ โรเบิร์ต นักวิจัยจากสถาบันสมิทโซเนียน สหรัฐอเมริกา กล่าวถึงผลกระทบของการระเบิดแก่งครั้งนี้ ไว้ในบทความ "เพียงแค่แม่น้ำอีกสายที่ถูกปิดกั้น" ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารของ สยามสมาคม เมื่อปี ๒๕๓๖ ว่า
   "การขุดช่องทางน้ำดังกล่าวจะส่งผลให้แก่งต่าง ๆ ซึ่งเป็นที่อาศัยที่สำคัญของปลาในแม่น้ำมูลตอนใต้ตัวเขื่อนต้องสูญเสียไป ส่วนแก่งที่อยู่เหนือเขื่อนก็จะค่อย ๆ หมดสภาพไปในที่สุด เนื่องจากต้องเผชิญกับภาวะน้ำท่วม และตะกอนทับถมภายหลังสร้างเขื่อน 
   "...แม้ว่าจะยังมีซากแก่งหลงเหลืออยู่ในลำน้ำมูลช่วง ๕ กิโลเมตรใต้เขื่อนปากมูล เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชม แวะพักผ่อนในอุทยานแห่งชาติแก่งตะนะมองเห็น และรู้จักว่า "แก่ง" นั้นมีลักษณะเป็นอย่างไรอยู่บ้าง แต่ "แก่ง" ที่เหลืออยู่นั้นไม่อาจเทียบได้กับ "แก่ง" เดิมในแง่ที่เป็นแหล่งอาศัยของปลานานาชนิด ที่มีอยู่อย่างหลากหลายได้อย่างแน่นอน" 
   เสียงเรียกร้องให้ยุติการสร้างเขื่อนเริ่มดังขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อการระเบิดแก่งทำให้ปลาตายเป็นจำนวนมาก และปลาจากแม่น้ำโขงไม่ยอมว่ายผ่านแก่งหิน ที่มีการระเบิดขึ้นไปวางไข่เหนือแม่น้ำมูลเหมือนเคย ชาวประมงบ้านหัวเห่ว เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับสายน้ำมูล นับตั้งแต่แก่งคันเห่วถูกทำลายว่า
(คลิกดูภาพใหญ่)    "ปีนั้น ปลาเล็กว่ายขึ้นมาแล้วหลายสิบวัน ปลาใหญ่ก็ยังไม่ตามขึ้นมาสักที พวกเราเลยพายเรือไปดูที่แม่น้ำโขง ถามชาวประมงแถวนั้นว่า ทำไมปลาใหญ่ไม่ตามขึ้นมา เขาก็บอกว่า ปลาจะขึ้นมาได้ยังไง เพราะละอองระเบิดลงมาที่นี่ ขนาดคนยังได้กลิ่น ปลาก็คงเหมือนกัน มันเลยไม่ยอมว่ายเข้ามาในแม่น้ำมูล"
    หลังจากที่ชาวบ้านป่าวร้อง บอกความเดือดร้อนของตนเองอยู่เพียงลำพังนานนับปี นักวิชาการสาขาต่าง ๆ และองค์กรพัฒนาเอกชนก็เริ่มออกมาแสดงความคิดเห็น เรื่องผลกระทบจากการสร้างเขื่อน ทั้งด้านโบราณคดี ด้านสาธารณสุข และด้านประมง อาทิ รศ. ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการด้านโบราณคดี ออกมากล่าวถึงความสำคัญของโบราณคดีลุ่มน้ำมูลว่า ตลอดสองฝั่งแม่น้ำมูลปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญหลายแห่ง โดยเฉพาะบริเวณแก่งสะพือ และบริเวณวัดวังสะแบงใต้ ลงไปจนถึงปากมูล หรือจุดที่แม่น้ำมูลไหลบรรจบกับแม่น้ำโขง หลักฐานทางโบราณคดีที่พบแล้วมีเช่น ศิลาจารึกของพระเจ้าจิตเสน หรือมเหนทรวรมันบริเวณปากโดมน้อย บริเวณที่ค้นพบอยู่ห่างจากหัวงานเขื่อนปากมูลเพียง ๓๐๐ เมตร การสร้างเขื่อนจะทำให้แหล่งโบราณคดีเก่าแก่ถูกทำลายลง มูลนิธิแพทย์ชนบท และนักวิชาการด้านสาธารณสุขหลายองค์กร ออกมาพูดถึงปัญหาพยาธิใบไม้ในเลือด ซึ่งจะติดตามมาหลังการสร้างเขื่อน ฝ่ายนักวิชาการด้านประมง พยายามให้ข้อมูลเรื่องผลกระทบต่อพันธุ์ปลา ทั้งลุ่มน้ำมูลและลุ่มน้ำโขง 
    ทว่าเสียงคัดค้านจากผู้ทรงคุณวุฒิเหล่านี้ ก็ไม่ได้มีผลต่อการตัดสินใจของรัฐบาลแม้แต่น้อย
    เพราะขณะที่ธนาคารโลกตัดสินใจเลื่อนการพิจารณาให้เงินกู้แก่รัฐบาลไทย สำหรับเขื่อนปากมูลออกไปชั่วคราว โดยจะออกสำรวจพื้นที่ก่อสร้างก่อนตัดสินใจอีกครั้ง รัฐบาลไทยกลับประกาศว่าจะไม่รอเงินกู้ และจะดำเนินการสร้างต่อไป โดยไม่ฟังเสียงใคร
(คลิกดูภาพใหญ่)    ดร. สุรพล สุดารา อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ออกมาวิจารณ์การตัดสินใจของรัฐบาลและ กฟผ. ว่า
   "ผมได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่ขณะนี้ยังทำการศึกษาไม่เสร็จ กฟผ. ก็แอบสร้างเขื่อนไปแล้ว ทั้ง ๆ ที่ กฟผ. ยังไม่ได้ศึกษาเรื่องชีวิตสัตว์น้ำในแม่น้ำมูล และลำน้ำโขงที่เชื่อมโยงถึงกันเลย ว่าจะเสียหายอย่างไร สัตว์น้ำจะสูญพันธุ์ จนกระทบต่อชีวิตคนริมฝั่งแม่น้ำหรือไม่ ขณะเดียวกัน กระแสน้ำที่ไหลเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จะทำให้พยาธิใบไม้ในเลือดไปฟักตัวในหอย ซึ่งอาศัยอยู่ในแม่น้ำมูล และจะทำให้โรคพยาธิใบไม้ในเลือดระบาดไปทั่ว จึงไม่น่าเสี่ยงเอาชีวิตคนไปแลกกับกระแสไฟฟ้าเพียง ๑๓๖ เมกะวัตต์ และไฟฟ้าที่ได้ก็จะนำไปป้อน ให้อุตสาหกรรมต่างชาติกอบโกยผลประโยชน์กลับบ้านเขา ขณะที่ผลเสียตกอยู่กับบ้านเรา"
    ในที่สุดธนาคารโลกก็ลงความเห็น ว่าเขื่อนปากมูลเป็นโครงการขนาดเล็ก ที่ก่อให้เกิดผลกระทบเพียงเล็กน้อย จึงยินยอมอนุมัติเงินกู้ ที่เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจาก ๓,๘๘๐ ล้านบาท เป็น ๖,๖๐๐ ล้านบาท ตามเหตุผลที่ กฟผ. อ้างว่าความล่าช้าของโครงการที่ผ่านมาสี่ห้าปี ทำให้ราคาวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้น 
   เมื่อเสียงคัดค้านไม่สามารถหยุดเสียงระเบิดได้ และ กฟผ. ยังไม่เปิดเผยข้อมูลด้านผลกระทบที่แท้จริง ต้นเดือนมีนาคม ๒๕๓๖ ชาวบ้านกว่า ๔๐๐ คนจึงบุกยึดเครื่องมือก่อสร้าง และนอนขวางลูกระเบิด ทำให้การสร้างเขื่อนหยุดชะงักลงชั่วคราว เหตุการณ์จบลงด้วยความรุนแรงอย่างที่ไม่มีใครคาดคิด 
 (คลิกดูภาพใหญ่)    แม่สมปองบอกถึงเหตุผลของการยึดลูกระเบิดว่า
   "พวกแม่ไม่มีทางสู้ ก็เลยตัดสินใจเข้าไปนอนทับลูกระเบิดเอาไว้ ตอนนั้น วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ กับพวกเอ็นจีโอเพิ่งเข้ามาร่วมชุมนุมกับเราใหม่ ๆ ก็มาคุยกันว่าจะหาทางออกยังไง ช่วงนั้นอากาศหนาวมาก พวกพี่น้องที่มาชุมนุมหนาวจะตายอยู่แล้ว ก็เลยคุยกันว่า ถ้าอยากให้พี่น้องเรากลับบ้านต้องหาทางออกให้ได้ เมื่ออยู่ก็ตาย กลับก็ตาย เพราะกลับไปข้าวก็ไม่มีกิน แถมสะเก็ดระเบิดยังกระเด็นใส่บ้านทุกวัน เท่ากับเราตายทั้งเป็น เลยตกลงกันว่าเขามีเครื่องเจาะสามเครื่อง เอาผู้หญิงสักร้อยไปยึดเครื่องเจาะดีไหม วนิดาบอกไม่เห็นด้วยเพราะมันเสี่ยงเกินไป แต่แม่บอกว่า เสี่ยงอะไร ตายก็ช่างมัน พวกแม่หญิงเลยจับแขนล้อมเป็นวงยึดเครื่องเจาะเอาไว้" 
   หลังจากยึดเครื่องเจาะไม่นาน นายเสวก บรรเทา อดีตกำนันในพื้นที่ก็นำชาวบ้านประมาณ ๑๐๐ คนมาชุมนุมสนับสนุนการสร้างเขื่อน ห่างจากกลุ่มผู้คัดค้านเพียง ๑ กิโลเมตร เจ้าหน้าที่ตำรวจขอให้กลุ่มผู้ชุมนุมสนับสนุนกลับออกไป เพราะไม่ต้องการให้เผชิญหน้ากัน ในตอนแรก กลุ่มกำนันเสวกยอมออกไปตามคำขอ แต่ย้อนกลับมาอีกในเย็นวันเดียวกัน โดยค่อย ๆ เคลื่อนเข้ามาใกล้กลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านมากขึ้นเรื่อย ๆ สิ้นเสียงตะโกนสั่งให้ลุย ก้อนหินก็ลอยละลิ่วเข้ามายังกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้าน ตามด้วยกลุ่มบุคคลที่กรูกันเข้าเหยียบ และฟาดกระบองใส่ผู้ชุมนุมคัดค้านจนได้รับบาดเจ็บถึง ๓๑ คน
   เช้าวันรุ่งขึ้น ร.ต. ไมตรี ไนยะกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ออกมาสรุปเหตุการณ์รุนแรงครั้งนี้ว่า 
   "การสลายกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านการสร้างเขื่อนครั้งนี้ เป็นเรื่องที่ชาวบ้านทำกันเอง มีการยิงหนังสติ๊กใส่กัน มีการเจรจากันก่อน ตำรวจได้เข้าห้ามปราม แต่กลุ่มผู้สนับสนุนการสร้างเขื่อนไม่เชื่อฟัง"
   ขณะที่ผู้ได้รับบาดเจ็บหลายคนยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจมีส่วนร่วมในการสลายม็อบครั้งนี้ด้วย นายมานัส สมเทพ หนึ่งในผู้ได้รับบาดเจ็บเล่าว่า เขาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กระบองตีหัวจนสลบ ขณะที่เขาและเพื่อนกำลังคล้องแขน เพื่อกันผู้ชุมนุมด้านหลังให้ถอยหนีออกไป 
   จากเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้น รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมสี่คนเข้ามาดูแลผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวบ้าน และมีการลงนามร่วมกันในสัญญาที่ทั้งสองฝ่ายตั้งขึ้น แต่ความต้องการเรื่องยุติการก่อสร้างนั้นเป็นไปไม่ได้ ด้วยเหตุผลสั้น ๆ ของนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ที่ว่า
   "เขื่อนนั้นทำมาสี่รัฐบาลแล้ว ไม่มีเหตุผลอะไรที่ต้องไปยกเลิก" 
   ปี ๒๕๓๗ เขื่อนคอนกรีตยักษ์สูง ๑๗ เมตรก็ปรากฏร่างขวางกั้นลำน้ำมูล โดยที่ กฟผ. ยอมจ่ายเพียงค่าชดเชยให้แก่ราษฎรที่บ้านถูกน้ำท่วม ขณะที่ชาวบ้านต้องการให้ กฟผ. ชดใช้ค่าสูญเสียอาชีพประมงตลอดเวลาสร้างเขื่อนสามปี และต้องการคำมั่นสัญญาว่า หลังจากสร้างเขื่อนพวกเขาจะจับปลาได้เหมือนเดิม 
   ไม่มีเสียงตอบรับจาก กฟผ. ชาวบ้านได้แต่มองดูน้ำเหนือเขื่อนที่ค่อย ๆ ท่วมที่ตั้งบ้านเรือน โรงเรียน วัด ผืนนา ป่าบุ่งป่าทาม เกาะแก่งไม่น้อยกว่า ๒๐ แก่ง ด้วยความปวดใจ และไม่อาจคาดเดาได้ว่าชีวิตข้างหน้าของชาวประมงลำน้ำมูลจะเป็นเช่นไร

ขึ้นข้างบน (Back to Top)


 (คลิกดูภาพใหญ่)     ต้นทุนทางสังคม

   "กฟผ. บอกว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าและน้ำเพื่อการเกษตรมีมาก พวกเราควรเสียสละเพื่อความเจริญของประเทศ" 
พรานปลาคนหนึ่งจากลุ่มน้ำมูลกล่าวถึงเหตุผลที่ กฟผ. ชี้แจงกับชาวบ้านด้วยน้ำเสียงที่บ่งบอกความเจ็บปวดอยู่ลึก ๆ ผลตอบแทนของการเป็นผู้เสียสละ คือรายได้จากการจับปลาที่ลดลงมากกว่าครึ่ง 
   "เมื่อก่อนครอบครัวหนึ่งทำปลาร้าเก็บไว้กินไม่ต่ำกว่า ๒๐ ไหต่อปี ไม่ต้องไปหางานทำที่อื่น เพราะอยู่บ้านเราก็มีกิน แต่หลังจากเขาระเบิดแก่ง เราก็จับปลาได้น้อยลงจนแทบไม่พอกินในแต่ละวัน บางคนต้องเหมารถขนเครื่องมือจับปลาไปแถวแม่น้ำโขง เพราะในแม่น้ำมูลนี่ปลามันได้กลิ่นระเบิด ไม่ยอมว่ายเข้ามาอีกเลย "
   ๑๔ ตุลาคม ๒๕๓๗ การชุมนุมเริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง ที่หน้าศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ชาวบ้านประมาณ ๒,๐๐๐ คนยื่นข้อเรียกร้องให้ กฟผ. จ่ายค่าชดเชยจากการสูญเสียอาชีพประมงตลอดระยะเวลาสร้างเขื่อนสามปี ในตอนแรก กฟผ. ไม่ยอมรับข้อเรียกร้องของชาวบ้าน เพราะในแผนงานที่ผ่านมามีแต่ค่าชดเชยจากพื้นที่น้ำท่วม ไม่เคยมีโครงการไหนของ กฟผ. คิดคำนวณค่าสูญเสียอาชีพอยู่ในต้นทุนมาก่อน 
   ชาวบ้านนับพันจึงเดินขบวนร้องทุกข์ตามถนนสายต่าง ๆ เพื่อป่าวประกาศความเดือดร้อน และความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนวันแล้ววันเล่า ในที่สุด กฟผ. ยอมรับความเสียหายที่เกิดขึ้น และจ่ายเงินชดเชยค่าสูญเสียอาชีพให้ตลอดระยะเวลาสร้างเขื่อน โดยแบ่งค่าชดเชยออกเป็นหกโซน ตามระยะทางใกล้ไกลจากตัวเขื่อน ชาวบ้านหัวเห่วซึ่งเป็นจุดสร้างเขื่อนจะได้รับค่าชดเชยสูงสุด คือ ๙ หมื่นบาท ส่วนชาวบ้านที่ไกลสุดจะได้รับค่าชดเชย ๘ บาท ! ต่อการสูญเสียอาชีพ ๒ ปี ๖ เดือน
   เกณฑ์การจ่ายเงินค่าชดเชยสร้างความไม่พอใจให้แก่ผู้ชุมนุมอย่างมาก เนื่องจากผู้ชุมนุมเห็นว่า การหาปลาไม่อาจแบ่งโซนได้เหมือนเกณฑ์ค่าชดเชย จากพื้นที่น้ำท่วม การชุมนุมประท้วงจึงยืดเยื้อต่อไปอีกนานหลายเดือน

(คลิกดูภาพใหญ่)    "เวลาปลาว่ายจากแม่น้ำโขงขึ้นมาวางไข่ในแม่น้ำมูล มันว่ายไปมาตลอดลำน้ำ ไม่ได้แบ่งแยกตามโซนของ กฟผ. ถ้าไม่มีเขื่อน ปลาที่ว่ายไปที่แก่งคันเห่วก็จะว่ายขึ้นไปจนถึงแก่งสะพือ ชาวบ้านที่แก่งสะพือก็สามารถจับปลาได้พอ ๆ กับแก่งคันเห่ว ถ้าจ่ายค่าชดเชยก็ต้องจ่ายให้ชาวประมงแก่งสะพือกับแก่งคันเห่วเท่ากัน เพราะเป็นแม่น้ำสายเดียวกัน" 
   สันติ โชคชัยชำนาญกิจ ได้แสดงความเห็นต่อท่าทีของ กฟผ. ในการจ่ายค่าชดเชยครั้งนี้ว่า 
   "โครงการของ กฟผ. ไม่เคยจ่ายค่าต้นทุนในเรื่องเหล่านี้มาก่อนเลย ดังนั้นการเรียกร้องของชาวบ้านในครั้งนี้ จึงเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ในการประเมินต้นทุนโครงการของ กฟผ. หรือแม้แต่กรมชลประทานในอนาคต ซึ่งเป็นสิ่งที่ กฟผ. ไม่สามารถยินยอมได้ เพราะมันหมายถึงโครงการต่อไปก็จะถูกเรียกร้องเช่นนี้อีก 
   "มิพักที่จะต้องพูดถึงการเรียกร้องของชาวบ้านที่ถูกหลอกลวงจากโครงการในอดีตให้ กฟผ. ต้องจ่ายย้อนหลัง และจะเป็นจุดเริ่มให้โครงการต่าง ๆ ที่จะเกิดในอนาคต นอกจากจะต้องศึกษา EIA แล้ว ยังอาจจะต้องศึกษา SIA (Social Impact Assessment) หรือรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสังคมอีกด้วย 
   "ชาวบ้านเหล่านี้คือผู้ที่ถูกบังคับให้เป็นคนส่วนน้อยที่เสียสละเพื่อคนส่วนใหญ่ ดังนั้นชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา อย่างน้อยที่สุดก็ไม่ควรจะย่ำแย่ไปกว่าเดิม การแก้ปัญหาของพวกเขาควรจะกระทำด้วยความกระตือรือร้น และจริงใจ มิใช่เอาตัวเลขค่าชดเชยสูงสุด ที่มีชาวบ้านได้รับเพียงสามรายมาอ้าง แล้วกล่าวหาว่าชาวบ้านเป็นพวกไม่รู้จักพอ การชดเชยให้แก่พวกเขา ก็ควรที่จะชดเชยให้ในระดับที่สามารถสร้างรากฐานใหม่ ในการดำรงชีวิตให้พวกเขาด้วย มันจึงจะยุติธรรม" (ผู้จัดการ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๓๗) 
   หลังจากชุมนุมยืดเยื้อยาวนานถึงห้าเดือน ในที่สุด กฟผ. จึงยอมจ่ายค่าชดเชยให้ผู้ชุมนุม ๓,๙๕๕ ครอบครัว ครอบครัวละ ๙ หมื่นบาทเท่ากันทุกครอบครัว โดยแบ่งเป็นค่าชดเชย ๓ หมื่นบาทและเงินเข้ากองทุนสหกรณ์ ๖ หมื่นบาท 
   การชดเชยครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ กฟผ. ยอมจ่ายต้นทุนทางสังคมให้แก่ผู้เสียสละเพื่อความเจริญของประเทศ และอาจไม่ใช่ครั้งสุดท้าย หากคำมั่นสัญญาข้ออื่น ๆ ของ กฟผ. ไม่เป็นความจริง
   "กฟผ. บอกว่าสร้างเขื่อนปีแรกมันก็เป็นธรรมดาที่จะไม่มีปลา เขาจะชดใช้เรื่องระเบิดแก่งตอนสร้างเขื่อนให้ก่อน หลังจากนั้นสี่ปีไปแล้ว ถ้ายังจับปลาไม่ได้ค่อยมาว่ากันอีกที เขาบอกว่า หลังจากปิดเขื่อนแล้วสี่ปีปลาจะมีมากขึ้น เพราะนอกจากสร้างบันไดปลาโจนให้แล้ว เขายังจะเอาลูกปลาลูกกุ้งมาปล่อยให้อีกด้วย"
    แม่สมปองกล่าวถึงคำมั่นสัญญาที่ กฟผ. เคยให้ไว้ก่อนที่ชาวบ้านจะกลับมาทวงสัญญาอีกครั้ง

ขึ้นข้างบน (Back to Top)


(คลิกดูภาพใหญ่)     บันไดปลา (ไม่ ) โจน

   กลางฤดูฝนปีที่ผ่านมา ปลากระมัน (ปลากระโห้) ท้องแก่หนัก ๘๐ กิโลกรัม พาร่างอุ้ยอ้ายว่ายทวนน้ำจากแม่น้ำโขงเข้ามาในแม่น้ำมูล หวังจะขึ้นไปวางไข่เหนือน้ำตามสัญชาตญาณ พอว่ายมาถึงเขื่อนคอนกรีตยักษ์ กระแสน้ำที่ส่งมาจากบันไดปลาโจนก็นำทางให้แม่ปลาท้องแก่ว่ายเข้าไปใกล้แท่งคอนกรีตที่เรียงเป็นขั้นสูงขึ้นไป มันพยายามพยุงร่างอุ้ยอ้ายกระโดดข้ามบันไดขั้นแรก แต่ด้วยน้ำหนักตัวที่มากเกินไป ร่างจึงตกลงกระแทกพื้นคอนกรีตอยู่หลายครั้งจนหน้าช้ำและเกล็ดตามลำตัวหลุดลุ่ย ในที่สุด มันก็หมดแรง ไปไม่ถึงเวิ้งน้ำเหนือเขื่อน ร่างอุ้ยอ้ายถูกกระแสน้ำพัดพาไปจนไปติดตาข่ายของชาวประมงท้ายเขื่อน... 
   ก่อนหน้าเขื่อนปากมูลและบันไดปลาโจนจะเปิดใช้ในปี ๒๕๓๗ เสน่ห์ ผลประสิทธิ์ ผู้อำนวยการกองประมงน้ำจืด หนึ่งในผู้ออกแบบบันไดปลาโจน ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า การสร้างบันไดปลาโจนจะช่วยแก้ปัญหาการสูญพันธุ์ของปลาในแม่น้ำมูลจากการสร้างเขื่อนได้ถึงร้อยละ ๙๐ 
   แต่จากการสำรวจโดยกรมประมงระหว่างปี ๒๕๓๗-๒๕๓๙ กลับพบว่า ปลาที่สามารถผ่านบันไดปลาโจนไปได้มีเพียง ๖๗ ชนิด ทั้งที่ก่อนสร้างเขื่อน ในแม่น้ำมูลมีปลาไม่น้อยกว่า ๒๐๐ ชนิด บันไดปลาโจนจึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องพันธุ์ปลาได้ตามที่กล่าวอ้าง มิหนำซ้ำปลาที่กระโดดข้ามบันไดปลาโจนไปได้ก็เป็นปลาขนาดเล็กแทบทั้งสิ้น จากการสำรวจล่าสุดพบว่า พันธุ์ปลา ๕๖ ชนิดไม่ปรากฏตัวให้เห็นอีกเลยนับตั้งแต่สร้างเขื่อนปากมูล 

(คลิกดูภาพใหญ่)    ทั้ง ๆ ที่บันไดปลาโจนล้มเหลวโดยสิ้นเชิง กฟผ. กลับทุ่มงบประมาณหลายสิบล้านบาทเพื่อประชาสัมพันธ์ความสำเร็จของบันไดปลาโจนในโฆษณาชุด "ปลาร้าบ่เบิดไห" ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับชายชาวอีสานที่นอนหลับไปแล้วฝันว่าปลาร้าหมดไห แต่เมื่อตื่นขึ้นมากลับพบว่า ปลาร้ายังไม่หมดไหเพราะปลาสามารถกระโดดข้ามบันไดปลาโจนขึ้นไปวางไข่ที่ต้นน้ำเหนือเขื่อนได้เหมือนเดิม โดยในโฆษณามีภาพปลากระโดดข้ามบันไดอย่างมีความสุข 
   ดร. ชวลิต วิทยานนท์ นักวิชาการด้านประมงน้ำจืดจากกรมประมง วิจารณ์โฆษณาชิ้นนี้ว่า
   "เท่าที่ทราบข้อมูล ปลาที่ผ่านบันไดปลาโจนที่เขื่อนปากมูลไปได้ มีทั้งปลาที่บาดเจ็บและปลาที่ยังแข็งแรงในปริมาณพอ ๆ กัน ส่วนในโฆษณาเราเห็นแค่ปลาตัวเดียวและเป็นภาพที่จำลองขึ้นมา ปลาจึงดูเริงร่าดี ผมคิดว่าบันไดปลาโจนสามารถลดผลกระทบได้เล็กน้อยเท่านั้น ในระยะยาวเราต้องดูกันว่า ปลาที่ข้ามบันไดปลาโจนจะออกลูกแพร่พันธุ์ได้ปริมาณเท่าเดิมก่อนการสร้างเขื่อนหรือไม่ 
   "ในการสำรวจพันธุ์ปลาก่อนสร้างเขื่อน เรามีเพียงข้อมูลพื้นฐานเท่านั้น การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมก็ใช้เวลาเก็บข้อมูลจำกัด ตามหลักวิชาการแล้ว อย่างน้อยควรเก็บข้อมูลชนิด จำนวนปลา ครบทุกเดือนในทุกฤดูกาล อย่างน้อยสามปีขึ้นไป แต่ข้อมูลที่นำมาตัดสินใจสร้างเขื่อนนั้นเก็บแค่ครั้งสองครั้งแล้วมาสรุป ข้อมูลที่ได้จึงไม่ตรงกับความเป็นจริง"
(คลิกดูภาพใหญ่)    ดร. ธเรศ ศรีสาธิต วิศวกรที่ออกแบบบันไดปลาโจนเองก็ยอมรับข้อผิดพลาดในเรื่องนี้ว่า การสำรวจพันธุ์ปลาครั้งนี้ทำอย่างหยาบ ๆ ด้วยการพูดคุยกับคนขายปลา และชาวบ้านในตลาดแถบอำเภอโขงเจียมและอำเภออื่น ๆ ตามลำน้ำมูลตลอดเดือนเมษายนเท่านั้น ขณะที่นักวิชาการประมงและชาวบ้านที่มีอาชีพประมงต่างยืนยันว่า ปลาในแม่น้ำมูลจะอพยพขึ้นมาจากแม่น้ำโขงชุกชุมมากที่สุดหลังจากเดือนเมษายนไปแล้ว (The Nation ๑๑ ตุลาคม ๒๕๓๔)
    เมื่อความจริงไม่ได้เป็นเหมือนในโฆษณา และปลาร้าไม่ได้เต็มไห ชาวบ้านจึงออกมาชุมนุมอีกครั้งเพื่อเรียกร้องให้ กฟผ. จ่ายค่าสูญเสียอาชีพตลอดกาลเพราะบันไดปลาโจนไม่สามารถทำให้ปลาขึ้นไปวางไข่ได้เหมือนเดิม พวกเขาต้องการให้ กฟผ. จัดหาที่ดินให้ครอบครัวละ ๑๕ ไร่ สำหรับประกอบอาชีพเกษตรกรรม หรือจ่ายเป็นเงินชดเชยค่าสูญเสียอาชีพถาวรครอบครัวละ ๕ แสนบาท เพื่อให้พวกเขามีเงินทุนสำหรับประกอบอาชีพอื่น 
   แม่สมปองกล่าวถึงเหตุผลของการชุมนุมอีกครั้งว่า 
   "กฟผ. เคยบอกว่า หลังจากสร้างเขื่อนแล้วปลาจะมีมาก เพราะเขาจะเอาพันธุ์ปลามาปล่อยและสร้างบันไดปลาโจนให้ปลากระโดดผ่าน แต่ทุกวันนี้ปลาก็ยังไม่มี หลายครอบครัวต้องอพยพไปอยู่ที่อื่น ไปเช่าที่ดินเขาทำไร่ทำนา หลายคนเข้าไปขายแรงงานในเมือง แม่ก็คิดว่า ตอนนี้อาชีพประมงเราหมดแล้ว เราคงต้องหาชีพอื่น เราอยากให้เขาหาที่ดินให้เราทำการเกษตร อย่างน้อยก็ยังช่วยให้พวกเราพออยู่ได้ในสังคม ถ้าเขาหาที่ดินชดเชยให้เรา เราก็จะเลิกชุมนุม"
   นับตั้งแต่ปี ๒๕๓๙ เป็นต้นมา การชุมนุมเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งที่หน้าทำเนียบรัฐบาล สันเขื่อนปากมูล ศาลากลางจังหวัดอุบลฯ เสียงของผู้ชุมนุมเริ่มดังขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาอื่น ๆ ของรัฐ ทั้งปัญหาเขื่อน ปัญหาป่าไม้ ปัญหาที่ดิน ปัญหาแรงงาน เข้ามาร่วมต่อสู้ด้วยกันในนาม "สมัชชาคนจน" 
   ในการชุมนุมเกือบทุกครั้ง รัฐบาลรับปากว่าจะแก้ไขปัญหาให้ตามข้อเรียกร้อง แต่เมื่อผู้ชุมนุมกลับไป ทุกอย่างก็เหมือนเดิม พวกเขาจึงต้องกลับมาชุมนุมครั้งแล้วครั้งเล่าจนดูเหมือนประท้วงไม่มีที่สิ้นสุด ทั้ง ๆ ที่ความจริงการชุมนุมส่วนใหญ่ เป็นการชุมนุมเพื่อทวงสัญญา (ปากเปล่า) ที่รัฐบาลชุดต่าง ๆ เคยให้ไว้นั่นเอง
   มหกรรมทวงสัญญาครั้งที่ ๑ เริ่มขึ้นในรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา ตั้งแต่วันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๓๙ ถึง ๒๒ เมษายน ๒๕๓๙ ผลการชุมนุม รัฐบาลมีมติ ครม. ๒๒ เมษายน ๒๕๓๙ รับรองที่จะแก้ไขปัญหาทั้ง ๔๗ กรณี แต่ผลการดำเนินงานหลังจากนั้นไม่มีความคืบหน้า มหกรรมทวงสัญญาครั้งที่ ๒ จึงเริ่มขึ้นอีกครั้งในรัฐบาลพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ตั้งแต่วันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๔๐ ถึงวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๔๐ รวมเวลา ๙๙ วัน ผลการชุมนุมครั้งนี้ รัฐบาลมีมติ ครม. ๒๙ เมษายน ๒๕๔๐ แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามแก้ไขปัญหา และจ่ายค่าชดเชยสำหรับการสูญเสียอาชีพประมงอย่างถาวร รวมทั้งแก้ปัญหาให้แก่ผู้ชุมนุมกลุ่มอื่น ๆ ตามคำเรียกร้อง พ่อเฒ่าแม่แก่เก็บข้าวของกลับบ้านด้วยความดีใจ และหวังว่าจะไม่ต้องกลับมาทวงสัญญาอีกเป็นครั้งที่ ๓ เพราะรัฐบาลมีมติ ครม. รับรองอย่างเป็นทางการ 
   แต่แล้วเมื่อพลเอกชวลิตประกาศลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี และนายชวน หลีกภัย เข้ามารับตำแหน่งแทน รัฐบาลของนายกฯ ชวนก็ประกาศยกเลิกมติ ครม. ของรัฐบาลพลเอกชวลิตอย่างง่ายดาย ความฝันของชาวบ้านจึงพังภินท์อีกครั้ง

ขึ้นข้างบน (Back to Top)


(คลิกดูภาพใหญ่)     หมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน

   ๒๓ มีนาคม ๒๕๔๒ ริมสันเขื่อนปากมูล เพิงไม้ไผ่ถูกสร้างขึ้นทีละหลังสองหลังจนเกือบเต็มพื้นที่ว่างข้างแม่น้ำมูล ป้ายผ้าข้อความ "หมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน" ขึงอยู่บนโครงไม้ไผ่ตรงปากทางเข้าที่ชุมนุม เพื่อประกาศให้รู้ว่าการชุมนุมครั้งใหม่เริ่มต้นขึ้นแล้ว
แม่สมปองกล่าวถึงเหตุผลของการต่อสู้ครั้งนี้ว่า
   "หลังจากเปลี่ยนรัฐบาล นายกฯ ชวนไม่ยอมปฏิบัติตามที่รัฐบาลพลเอกชวลิตตกลงไว้กับเรา เราจึงรวบรวมผู้ที่เดือดร้อนทั้งหมดมาต่อสู้ร่วมกัน เพื่อให้รัฐบาลชวนกลับไปใช้มติ ครม. ของรัฐบาลพลเอกชวลิตเหมือนเดิม 
   "ในการต่อสู้ครั้งนี้ เรากระจายการชุมนุมไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ เช่น อ่างเก็บน้ำราษีไศล เขื่อนโป่งขุนเพชร หรือลำโดมใหญ่ เราเลือกชุมนุมในพื้นที่ของตนเอง เพราะการต่อสู้ครั้งนี้เราจะสู้แบบสันติวิธี ชุมนุมอย่างสงบ หาทางโน้มน้าวจิตใจรัฐบาล ให้มองเห็นความทุกข์ยากของเราที่ได้รับจากโครงการของรัฐ พวกเรารู้ว่าการต่อสู้ครั้งนี้คงต้องใช้เวลานาน เสียงส่วนใหญ่จึงลงความเห็นว่าไม่อยากไปชุมนุมที่กรุงเทพฯ เพราะ หนึ่ง ไม่มีเงิน ถ้าเราชุมนุมอยู่ในพื้นที่ของเรา เราไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายเรื่องค่าเดินทางและค่ากับข้าว เพราะหาได้จากธรรมชาติ สอง อากาศกรุงเทพฯ เป็นพิษ พี่น้องของเราไม่ชินกับอากาศทำให้ไม่สบายกันมาก ก็เลยตกลงว่าจะชุมนุมในพื้นที่ของตนเอง"

(คลิกดูภาพใหญ่)    เมื่อทุกคนอยากชุมนุมในพื้นที่ของตนเอง จึงเกิดหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืนกระจายไปตามพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการของรัฐ จนถึงปัจจุบันมีหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืนทั้งหมดเจ็ดแห่ง แห่งที่ ๑ ที่สันเขื่อนปากมูล แห่งที่ ๒ และ ๓ ที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนราษีไศล จังหวัดศรีษะเกษ แห่งที่ ๔ ที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนโป่งขุนเพชร จังหวัดชัยภูมิ แห่งที่ ๕ ที่หัวงานเขื่อนลำโดมใหญ่ แห่งที่ ๖ ที่เขื่อนลำคันฉู จังหวัดชัยภูมิ และแห่งที่ ๗ เพิ่งก่อตั้งขึ้นข้างอาคารโรงไฟฟ้าเขื่อนปากมูลเมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคมที่ผ่านมา
   รูปแบบการชุมนุมของหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืนต่างจากการชุมนุมทั่วไปที่มีแต่เสียงตะโกนตำหนิรัฐบาลเพียงอย่างเดียว หากการชุมนุมที่นี่เกิดขึ้นอย่างสงบและมีการจัดระบบหมู่บ้านที่เป็นเสมือนหมู่บ้านประชาธิปไตยในอุดมคติ ผู้ชุมนุมทุกคนคือสมาชิกของหมู่บ้านที่มีสิทธิเสนอแนะข้อบังคับสำหรับการอยู่ร่วมกัน โดยแต่ละคุ้มบ้านจะเลือกตัวแทนขึ้นมาหนึ่งคน เข้าประจำในคณะสันติมนตรี มีหน้าที่นำข้อเสนอแนะจากสมาชิกไปเสนอในสภาปลาบึกซึ่งประชุมกันทุกวันในตอนเช้า 
   ภายในหมู่บ้านมีการจัดระบบเศรษฐกิจและสังคมแบบพึ่งตนเอง หากใครเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็สามารถใช้บริการที่โฮงยาสมุนไพร ซึ่งมีบริการรักษาแบบพื้นบ้านให้เลือกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นนวดแผนโบราณ อบสมุนไพร มีพ่อแก่แม่เฒ่าผู้เชี่ยวชาญการรักษาแบบพื้นบ้านเป็นผู้ให้บริการ คนที่อยากหารายได้เล็ก ๆ น้อย ๆ ก็มารวมกลุ่มอาชีพทำสินค้าไปขายตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น ทำเครื่องจักสาน ไม้กวาด หรือทอผ้า ถ้าต้องการซื้อของจำเป็นพวกผงซักฟอก น้ำปลา น้ำตาล ก็หาซื้อได้ที่ร้านค้ากลุ่มเศรษฐกิจชุมชน เงินที่เสียไปจะได้ไม่รั่วไหลไปไหนไกล เพราะกำไรที่ได้ก็นำมาใช้จ่ายเพื่อส่วนรวม 
   ผู้ชุมนุมที่มีลูกเล็กเด็กแดงอยู่ในวัยกำลังเรียนก็สามารถนำลูกมาเข้าเรียนที่โรงเรียนหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืนและอนุบาลปลายอน (ชื่อปลาชนิดหนึ่งที่พบมากในลำน้ำมูล) ซึ่งใช้รูปแบบการเรียนการสอนแบบการศึกษาทางเลือก เด็ก ๆ ไม่ต้องนั่งท่องหนังสืออยู่แต่ในห้องสี่เหลี่ยม แต่จะได้เรียนรู้สิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต โดยมีครูจากโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก มูลนิธิเด็ก จังหวัดกาญจนบุรี เป็นผู้ดูแลหลักสูตรการเรียนการสอน
(คลิกดูภาพใหญ่)    ในการเข้าร่วมชุมนุม แต่ละคนจะต้องจ่ายเงินให้กองทุนวันละ ๑ บาทเพื่อนำไปใช้จ่ายในกิจกรรมส่วนกลาง แม่สมปองซึ่งรับหน้าที่แกนนำการชุมนุมมานานนับ ๑๐ ปี อธิบายเรื่องนี้ว่า
   "ทุกครอบครัวที่มาชุมนุมจะต้องส่งตัวแทนหนึ่งคนมาชุมนุมที่นี่ คนหนึ่งดูแลบ้านเดิม และอีกคนหนึ่งไปทำงานรับจ้างเพื่อส่งเงินมาจุนเจือผู้ชุมนุม อย่างครอบครัวของแม่ ลูก ๆ ทำงานกันหมดแล้ว เขาก็บอกว่าเขาจะดูแลน้อง ๆ และดูแลบ้านเอง สำหรับค่าใช้จ่ายของแม่ แม่ก็หาของแม่เอง ทำไม้กวาดขายอันละ ๑๐ บาท เวลาไปประชุมที่ไหนก็เอาติดไปขายด้วย ได้เงินมาก็เก็บเป็นก้อนเอาไว้ เราชุมนุมที่นี่ข้าวก็ไม่ต้องซื้อ เพราะเราทำนาปลูกข้าวกินเอง ส่วนกับข้าวก็หาเอาตามดงตามดอน จับกบจับอึ่ง หาผักหาหน่อไม้มาลวกกิน"
   ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา ผู้ชุมนุมพยายามเดินทางไปยื่นหนังสือกับผู้แทนรัฐบาลที่กรุงเทพฯ หาทางบอกเล่าความทุกข์ยากของตน แต่สิ่งที่ได้รับคือความนิ่งเฉย และเงียบงันทั้งจากรัฐบาล และสื่อมวลชนไม่มีใครสนใจข่าวการชุมนุมประท้วงแบบสันติวิธี จนกระทั่งเมื่อวันที่ ๒๐-๒๑ เมษายน ๒๕๔๓ เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนห้าองค์กร ประกอบด้วยมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน สมัชชานักวิชาการเพื่อคนจน สมัชชาคนจน สถาบันสิทธิชุมนุม เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดสัมมนาครั้งสำคัญเรื่อง "คนจนกับทางออกของสังคมไทย" ขึ้นที่หมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน ๑ เรื่องราวการชุมนุมอย่างสงบของชาวบ้านที่สันเขื่อนปากมูลจึงเริ่มเข้าสู่การรับรู้ของคนภายนอกมากขึ้น 
(คลิกดูภาพใหญ่)    งานสัมมนาครั้งนี้มีบุคคลสำคัญระดับประเทศหลายคนเดินทางมาร่วมงาน อาทิ อดีตนายกรัฐมนตรี อานันท์ ปันยารชุน อาจารย์เสน่ห์ จามริก อาจารย์ประเวศ วะสี อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ดำเนินรายการโดย ดร. เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง (งานเสวนาบางช่วงนำไปออกอากาศทางโทรทัศน์ในรายการ "ขอคิดด้วยคน" และ "เวทีชาวบ้าน")
   ประเด็นการสัมมนามุ่งวิเคราะห์ที่มาปัญหาของคนจนซึ่งมีหลายเหตุปัจจัย กรณีเขื่อนปากมูลถูกหยิบยกเป็นตัวอย่างว่าเป็นความยากจนที่เกิดจากการพัฒนาของรัฐ ไม่ได้เกิดจากบุญทำกรรมแต่งอย่างที่ชาวบ้านเชื่อ ดังนั้นการแก้ปัญหาความยากจนในกรณีเขื่อนปากมูลจึงต้องแก้ที่ต้นเหตุ ซึ่งอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เสนอว่าให้ทุบเขื่อนทิ้ง เพราะเขื่อนคือต้นเหตุความยากจนของชาวบ้าน 
   หลังจากงานสัมมนาจบลง หมู่บ้านแม่มูนมั่นยืนกลับคืนสู่ความเงียบสงบ รัฐบาลยังไม่สนใจปัญหาของพวกเช่นเคย ตีสองของวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๔๓ สิบปีเต็มนับจากวันที่รัฐบาลพลเอกชาติชายอนุมัติให้สร้างเขื่อนปากมูล ผู้ชุมนุมจากหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืนกว่า ๑,๐๐๐ คนตัดสินใจบุกยึดพื้นที่อาคารปั่นไฟเขื่อนปากมูล เพื่อกดดันให้มีการแก้ไขปัญหา โดยผู้ชุมนุมเสนอให้ กฟผ. หยุดผลิตไฟฟ้าที่เขื่อนปากมูล และเปิดประตูกั้นน้ำทั้งแปดบานเพื่อให้ปลาขึ้นไปวางไข่เหนือเขื่อนเหมือนเดิม
   พ่อใหญ่ทองเจริญ สีหาธรรม แกนนำคนสำคัญซึ่งเคยเป็นพรานปลามือหนึ่งของลุ่มน้ำมูล กล่าวถึงปฏิบัติการครั้งนี้ว่า 
   "เนื่องจากที่ผ่านมาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เขื่อนปากมูลทำลายความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำ ทำให้วิถีชีวิตที่เคยสงบสุขของชุมชนปากมูลล่มสลาย บันไดปลาโจนซึ่งเป็นมาตรการในการแก้ปัญหาผลกระทบของเขื่อนต่อพันธุ์ปลา ไม่สามารถทำให้ปลาอพยพจากแม่น้ำโขงผ่านขึ้นไปวางไข่เหนือเขื่อนได้ ดังนั้นพวกเราจึงขอเรียกร้องให้มีการเปิดบานประตูระบายน้ำของเขื่อนปากมูล เพื่อให้ความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำมูลกลับคืนมาเหมือนเดิม การเปิดบานประตูระบายน้ำยังจะเป็นการพิสูจน์ว่า หากไม่มีการกีดขวางลำน้ำ ปลาจะสามารถเดินทางขึ้นมาวางไข่ในแม่น้ำมูลได้ 
(คลิกดูภาพใหญ่)    "การปฏิบัติการของชาวบ้านครั้งนี้ เราจะยึดหลักสันติวิธี จะไม่มีการปิดถนน หรือทำลายทรัพย์สินของทางราชการ หรือกระทำการใด ๆ ที่จะก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อผู้อื่นโดยเด็ดขาด และเรายืนยันว่าจะไม่ก่อความรุนแรงใด ๆ ขึ้น ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น แสดงว่าไม่ใช่การกระทำของสมัชชาคนจน หากแต่เป็นการสร้างสถานการณ์ของเจ้าหน้าที่รัฐและ กฟผ. เพื่อทำลายความชอบธรรมของสมัชชาคนจน และหาทางจัดการกวาดล้างชาวบ้าน" 
    สามวันต่อมา ขบวนชาวบ้าน ๓๐๐ คนจากหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน ๑ หอบหมอน เสื่อ กล้วย อ้อย จอบ เสียม และเครื่องมือจับปลาพื้นบ้าน มุ่งหน้าสู่พื้นที่ข้างอาคารปั่นไฟเพื่อเตรียมเปิดหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน ๗ พ่อเฒ่าแม่แก่ประกอบพิธีกรรมอัญเชิญเจ้าที่และสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อขอตั้งบ้านเรือน หลังจากนั้นเสียงตีฆ้องร้องเป่าแสดงความรื่นเริงในงานขึ้นบ้านใหม่ก็ดังไปทั่วสันเขื่อน ผู้ชุมนุมเริ่มสร้างเพิงพักและเวทีประท้วงอย่างถาวร นับจากวันนั้นเป็นต้นมา สถานการณ์การชุมนุมเริ่มทวีความตึงเครียดมากขึ้น เนื่องจาก "ความจริง" ที่ผู้ชุมนุมและ กฟผ. นำเสนอต่อสาธารณชนเป็น "ความจริง" คนละชุดกับที่ชาวบ้านรับรู้
   "ความจริง" ของฝ่ายผู้ชุมนุม คือ รายงานสรุปของคณะกรรมการเขื่อนโลกระบุว่า เขื่อนปากมูลซึ่งมีความสามารถในการผลิตไฟฟ้า ๑๓๖ เมกะวัตต์ สามารถผลิตไฟฟ้าในช่วงที่ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดระหว่างเดือนเมษายนและพฤษภาคมได้เพียง ๔๐ เมกะวัตต์ (อ่านรายละเอียดในบทความพิเศษ "บทสรุปสำหรับผู้บริหาร กรณีศึกษาเขื่อนปากมูลโดยคณะกรรมการเขื่อนโลก") เมื่อเขื่อนปากมูลผลิตไฟฟ้าได้ไม่เต็มที่ กฟผ. ควรหยุดการผลิตไฟฟ้าแล้วเปิดประตูกั้นน้ำเพื่อให้ปลาขึ้นไปวางไข่ เพราะบันไดปลาโจนประสบความล้มเหลว และการเพาะพันธุ์กุ้งด้วยการนำกุ้งก้ามกรามมาปล่อยในแม่น้ำมูลไม่ใช่การแก้ไขที่ถูกจุด กรมประมงต้องนำกุ้งมาปล่อยทุกปี ทำให้เสียงบประมาณปีละหลายล้านบาท 
   ส่วน "ความจริง" ของทางฝ่าย กฟผ. บอกว่า รายงานสรุปที่ผู้ชุมนุมนำมาใช้เป็นเพียงฉบับร่าง ซึ่งในฉบับจริง กฟผ. ได้รับการยอมรับว่าอพยพราษฎรได้ตามมาตรฐานของคณะกรรมการเขื่อนโลก ทำให้ราษฎรมีความเป็นอยู่ดีขึ้น และที่ผ่านมาเขื่อนปากมูลก็สามารถผลิตไฟฟ้ามากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ๒๘๐ ล้านหน่วยต่อปี ส่วนผลการตรวจสอบบันไดปลาโจนพบว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ เพราะมีปลาสามารถผ่านบันไดได้ถึง ๖๔ ชนิด หรือราว ๑๕๐,๐๐๐ ตัวต่อปี และกุ้งก้ามกรามที่ปล่อยไปแล้วไม่น้อยกว่า ๔๐ ล้านตัว สร้างรายได้ให้ชาวประมงถึงวันละ ๒ หมื่นบาท (ข้อมูลจากหน้าโฆษณาของ กฟผ. ใน มติชน ๑๔ พ.ค. ๔๓) ทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น

ขึ้นข้างบน (Back to Top)

(คลิกดูภาพใหญ่)     กฟผ. ยังชี้แจงว่า ไม่สามารถเปิดประตูระบายน้ำตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมได้ เนื่องจากการเปิดประตูระบายน้ำทั้งหมดจะส่งผลกระทบหลายด้าน ทั้งด้านเกษตรกรรม การประมง โดยเฉพาะการสูบน้ำในแม่น้ำมูล ตามโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าเพื่อการเพาะปลูกในฤดูแล้งซึ่งมีพื้นที่เกษตรกรรมรวม ๔๓,๗๓๐ ไร่จะได้รับความเสียหาย ทั้งยังส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงปลาในกระชังในแม่น้ำมูลตั้งแต่อำเภอพิบูลมังสารหารถึงอำเภอโขงเจียมจำนวน ๑,๑๘๙ กระชัง และผลกระทบต่อกุ้งก้ามกราม ซึ่งหากเปิดประตูระบายน้ำจะทำให้กุ้งทั้งหมดลงสู่แม่น้ำโขง สวนผักและสวนดอกไม้บริเวณริมน้ำจะได้รับความเสียหาย และน้ำในบริเวณบึง หนอง ทุ่งหญ้า ป่าละเมาะ จะแห้ง ทำให้ปลาไม่มีพื้นที่วางไข่และระบบประปาหมู่บ้านจะมีปัญหา 
   สถานการณ์เริ่มตึงเครียดมากขึ้น เมื่อ กฟผ. ประกาศว่า การชุมนุมอาจทำให้น้ำท่วม-ไฟดับทั่วภาคอีสาน เพราะเจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าไปปฏิบัติงานซ่อมบำรุงเปลี่ยนแปลงถ่านอุปกรณ์การผลิตไฟฟ้าและการปิดเปิดประตูน้ำได้ หากผู้ชุมนุมยังคงขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ต่อไป ถ่านของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่เหลือจะหมดอายุการใช้งาน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการจ่ายกระแสไฟฟ้าในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลายจังหวัด และส่งผลให้ไม่มีไฟฟ้าใช้ในการควบคุมอุปกรณ์เปิดประตูระบายน้ำ จะทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำมูลเพิ่มสูงขึ้น จนท่วมบ้านเรือนราษฎรริมสองฝั่งแม่น้ำมูลได้ 
   กระแสข่าวน้ำท่วม-ไฟดับทำให้ประชาชนชาวอุบลฯ เริ่มไม่พอใจกลุ่มผู้ชุมนุม ม็อบปลากระชัง ม็อบคนอุบล ม็อบนักธุรกิจ และอีกหลายม็อบที่ไม่เห็นด้วยกับผู้ชุมนุมเริ่มออกมาเคลื่อนไหว รถกระบะติดป้ายพิบูลพิฆาตพร้อมเครื่องขยายเสียงเปิดเพลงปลุกใจของกลุ่มที่ไม่พอใจการชุมนุม วิ่งผ่านหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน ๗ ไปมา มีข่าวลือเรื่องโรงพยาบาลอุบลฯ ระดมเลือดสำรอง ข่าวการแจ้งจับ ๑๔ แกนนำการชุมนุมด้วยเจ็ดข้อหาร้ายแรง บวกกับการประชาสัมพันธ์ของ กฟผ. ตามสื่อของรัฐซึ่งโน้มเอียงไปในทางให้ข้อมูลภาพลบแก่ผู้ชุมนุม ทำให้สถานการณ์ส่อเค้าว่าจะมีความรุนแรงมากขึ้นจนหลายคนกลัวว่าจะถูกปราบเหมือนการชุมนุมเมื่อปี ๒๕๓๖ 
   พ่อใหญ่ทองเจริญ สีหาธรรม หนึ่งใน ๑๔ แกนนำผู้ถูกแจ้งจับกล่าวถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่า
   "บทเรียนที่ผ่านมา ก่อนปัญหาจะได้รับการแก้ไข เราต้องผ่านเลือด ผ่านน้ำตามาก่อน จึงคิดเสมอว่า สิ่งที่ผ่านมาเป็นเช่นนี้ และวิธีการของนักการเมือง โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์มักจะทำเช่นนี้ แต่เราคิดว่าเป็นอย่างไรก็จะไม่หนีไปไหน เหตุการณ์สลายการชุมนุมชาวบ้านปากมูลเมื่อปี ๒๕๓๖ เกิดขึ้นเพราะใคร เราจำได้ดี กฟผ. ใช้เงินภาษีของประชาชนไปจ้างกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้าน ที่มีความคิดเห็นเหมือน กฟผ. มาเจรจาขอร้องให้เราออกไป เราบอกว่าได้ ให้รุ่งเช้าก่อนเราจะออก เพราะชาวบ้านเดินทางไปมาลำบาก เขาไม่เชื่อเรา ให้เจ้าหน้าที่ใช้กำลังมาสลายพวกเราตอนกลางคืน" 
(คลิกดูภาพใหญ่)    ท่ามกลางสถานการณ์ที่ส่อเค้าความรุนแรง โสภณ สุภาพงษ์ จึงนำทีมสมาชิกวุฒิสภา ๑๔ คนลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ โดยทีม สว. ได้เสนอการแก้ปัญหาออกเป็นสองระดับ คือ ระดับท้องถิ่น ให้เร่งหาตัวกลางสำหรับประสานงานที่ผู้ชุมนุมไว้วางใจ และระดับชาติ รัฐควรเข้ามามีบทบาทแก้ไขอย่างจริงจัง นอกจากนี้สื่อของรัฐควรยุติการนำเสนอข่าวด้านเดียว เพราะอาจนำไปสู่ความรุนแรงในที่สุด 
   หัวหน้าทีม สว. แสดงความคิดเห็นหลังจากได้ไปสัมผัสปัญหาด้วยตนเองว่า 
   "ตลอดเวลาที่ผ่านมา การแก้ปัญหาเรื่องความยากจน เรื่องที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรซึ่งเป็นประชากร ๖๐-๗๐ เปอร์เซ็นต์ของประเทศ มักจะแก้ด้วยการทำให้คนจนแพ้ ด้วยการรอเวลา หรือทำให้อ่อนแอ หรือทำให้เขาต้องเข้าไปสู่การกระทำอะไรบางอย่างที่บางครั้งผิดกฎหมาย การแก้ปัญหาที่สำคัญก็คือ ต้องทำให้เขาสามารถพึ่งตัวเองได้ ทำให้เขาดีขึ้น ถ้าเขาทำไม่ถูกต้องก็ต้องช่วยให้เขาทำให้ถูกต้อง นั่นคือการแก้ปัญหา เพราะเขาไม่ใช่ประชาชนของใครเลย เขาเป็นประชาชนของรัฐบาล จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องแก้ ไม่ใช่ผู้อื่นเป็นผู้แก้"
   ทางด้านนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อกรณีปัญหาปากมูลว่า "ปัญหาที่มีอยู่ในขณะนี้เป็นเรื่องเก่าทั้งนั้น เราจะไปยกเลิกไม่สร้างก็ไม่ได้ เพราะมันทำเสร็จไปนานแล้วจึงต้องทำความเข้าใจ ให้มองประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ประโยชน์ส่วนบุคคลนั้นมีเสมอ ซึ่งทำให้เกิดความขัดแย้งกันอยู่"
   ต่อกรณีบันไดปลาโจน นายกฯ ชวนให้สัมภาษณ์ว่า 
   "ผมได้รับรายงานจากนายอำนวย ปะติเส รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ว่า ความช่วยเหลือต่าง ๆ เป็นไปด้วยดี โดยช่วยเหลือในสิ่งที่เขาเรียกร้องมาตั้งแต่ต้น อย่างเรื่องปลาก็มีผู้เชี่ยวชาญไปดูว่า ปลาสามารถขึ้นไปวางไข่ได้หรือไม่ ก็ได้รับคำตอบว่าสามารถเป็นไปตามธรรมชาติทุกประการ ส่วนการจะตัดสินใจว่าจะเปิดหรือปิดเขื่อนอยู่ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ จะพิจารณา"
   ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน แสดง ความเห็นต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและวิธีแก้ปัญหาของนายกฯ ชวนว่า 
(คลิกดูภาพใหญ่)    "การปัดความรับผิดชอบเช่นนี้ของผู้นำฝ่ายบริหารจะยิ่งเป็นผลให้เกิดความรุนแรงในสังคมมากขึ้น เหมือนสร้างสุญญากาศของการตัดสินใจขั้นสุดท้ายและการบริหารบ้านเมืองให้เกิดขึ้นโดยขาดความรับผิดชอบ หากรัฐบาลแก้ไขปัญหาม็อบชนม็อบ ผมว่ามันจะยิ่งเกิดความรุนแรงมากขึ้นในสังคม และปัญหาก็ไม่ถูกแก้ไข สังคมก็ไม่ได้เรียนรู้อะไรนอกจากจะให้คนตีกันเอง ทางออกขณะนี้ง่ายมาก โดยขณะนี้ได้มีการศึกษาของคณะกรรมการเขื่อนโลก มีข้อมูลมากที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจ ไม่ใช่ไปปล่อยให้คนอุบลฯ ตัดสินใจ กฟผ. ตัดสินใจ เพราะเขาตัดสินใจไม่ได้ เรามีสุญญากาศทางฝ่ายบริหารของรัฐบาลมานานแล้ว รัฐบาลไม่ออกมาตัดสินใจอะไรเลยสักอย่างเดียว ถึงจะดำเนินการสลายม็อบไปแล้ว ก็ยังจะมีการรวมตัวกันอีกได้"
   ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยังหาข้อยุติไม่ได้ ก่อนรุ่งสางของวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๔๓ ผู้ชุมนุมประท้วงกว่า ๓๐๐ คนจากอุบลราชธานี บุกยึดทำเนียบรัฐบาลแบบสายฟ้าแลบ โดยใช้บันไดไม้ไผ่สิบกว่าอันพาดกำแพงรั้วแล้วปีนเข้าไปภายในทำเนียบรัฐบาลเพื่อขอพบรัฐมนตรี 
รุ่งเช้า นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ออกมาไกล่เกลี่ยให้ผู้ชุมนุมออกจากทำเนียบรัฐบาลเป็นผลสำเร็จ โดยรับปากว่าจะตั้งคณะกรรมการกลางที่มีอำนาจในการตัดสินใจ และขณะนี้ (๕ มิถุนายน ๒๕๔๓) แต่งตั้งคณะกรรมการกลางได้แล้วทั้งหมด ๑๐ คน ครึ่งหนึ่งมาจากรายชื่อที่สมัชชาคนจนนำเสนอ โดยคณะกรรมการจะทำการพิจารณาเรื่องของผู้ชุมนุมให้แล้วเสร็จภายใน ๑๕ วัน 
วันนี้การชุมนุมของหมู่บ้านแม่มูล ๑ ถึง ๗ และการชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลยังคงดำเนินต่อไป แม้ว่ารัฐบาลจะตั้งคณะกรรมการกลางขึ้นมารับฟังปัญหา แต่นั่นก็ไม่ใช่หลักประกันอะไร เพราะในอดีตรัฐบาลก็เคยตั้งคณะกรรมการมาแล้วกว่า ๒๐ ชุด แต่ปัญหาของพวกเขาก็ยังคงไม่ได้รับการแก้ไข

ขึ้นข้างบน (Back to Top)


      บทเรียนของสังคม

   โครงการเขื่อนปากมูลเริ่มต้นขึ้นด้วยเหตุผลสั้น ๆ ตามมุมมองของสำนักงานพลังงานแห่งชาติและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตว่า น้ำจากแม่น้ำมูลไหลลงแม่น้ำโขงอย่าง "สูญเปล่า" ปีละมหาศาล เพื่อทำให้น้ำมี "ค่า" มากขึ้น เราควรสร้างเขื่อนกั้นปลายทางแม่น้ำมูลก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขงเพื่อนำน้ำมาใช้ผลิตไฟฟ้าและชลประทาน
   แน่นอนว่า ในสายตาของคนทั่วไปย่อมเห็นด้วยกับหน่วยงานทั้งสอง ยิ่งถ้ามองดูเขื่อนอื่น ๆ ซึ่งสร้างตามพื้นที่ที่มีป่าไม้หนาแน่น การสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำน่าจะสร้างผลกระทบน้อยกว่าสร้างเขื่อนกลางป่า แต่สำหรับคนที่ใช้ชีวิตอยู่กับแม่น้ำสายนี้มาตั้งแต่เกิด ย่อมรู้ดีว่าแม่น้ำมูลไม่ได้ทำหน้าที่รองรับแม่น้ำสายต่าง ๆ ในภาคอีสานแบบสูญเปล่า หากลำน้ำสายนี้หล่อเลี้ยงชีวิตคนอีสานหลายล้านคนด้วยปลานับร้อยสายพันธุ์ที่อพยพจากแม่น้ำโขงเข้ามาวางไข่ในแม่น้ำมูลทุกปี ด้วยเหตุนี้ เมื่อเขื่อนปากมูลสร้างขึ้นขวางกั้นแม่น้ำมูลตอนล่างก่อนไหลออกสู่แม่น้ำโขงเพียง ๕ กิโลเมตร จึงเกิดความเดือดร้อนขึ้นตลอดสายน้ำและเป็นต้นเหตุของการต่อสู้อันยาวนานนับสิบปี

(คลิกดูภาพใหญ่)    หากย้อนมองดูบทบาทของหน่วยงานและกลุ่มต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาเขื่อนปากมูลตลอดทศวรรษที่ผ่านมา เราจะพบว่ารัฐบาล กฟผ. ชาวบ้าน และองค์กรพัฒนาเอกชน ได้ให้บทเรียนที่สำคัญแก่สังคมไทยหลายบทด้วยกัน
   บทเรียนแรกคือบทเรียนจากการแก้ปัญหาของรัฐบาลทุกชุดตั้งแต่เริ่มสร้างเขื่อนจนเขื่อนสร้างเสร็จ รัฐบาลทุกชุดมีวิธีการแก้ปัญหาแทบไม่แตกต่างกันเลย คือ มองเห็นความสำคัญของเศรษฐกิจความเจริญมากกว่าความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ และการแก้ปัญหาที่ตามมาภายหลังแบบขอไปที เห็นได้จากบทความของ ดร. เกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่วิจารณ์วิธีการทำงานของรัฐบาลต่อกรณีปัญหาเขื่อนปากมูลในช่วงที่เขื่อนดำเนินการสร้างไป ๔๐ เปอร์เซ็นต์ว่า
   "...ถ้าเรารักจะเป็นประชาธิปไตยดังปากว่า... เมื่อจะสร้างบ้านแปงเมืองในลักษณะที่กระทบทรัพยากรธรรมชาติ และวิถีชีวิตของชุมชนอย่างหนักหนาสาหัสอย่างเขื่อนปากมูลนี้ เราต้องถามชาวบ้านที่เขาต้องเดือดร้อนก่อนสร้างว่าเขายอมให้สร้างไหม ? มีเงื่อนไขอะไร ? มีหลักประกันอะไร ? เขาต้องการสิ่งใดแลกเปลี่ยนกับการเสียสละธรรมชาติกับชุมชนของเขาให้พี่น้องไทยในกรุงได้ไฟฟ้าใช้สบาย ? แต่ความจริงที่ปรากฏก็คือ ไม่ได้ถาม ไม่เคยถามก่อนเลยด้วยซ้ำไป
   "แล้วพอชาวบ้านวิงวอน ขอร้อง ห้ามปราม ประท้วง พวกเขาได้ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร์หรือไม่ ก็เปล่า...การณ์ล่วงเลยมาถึงบัดนี้ ข้ออ้างของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต... ไปจนถึงนายกรัฐมนตรีผู้มาจากการเลือดตั้ง... อ้างเหตุผลอะไรในการให้สร้างเขื่อนปากมูลต่อ
     "ง่ายนิดเดียว สร้างมา ๔๐ เปอร์เซ็นต์แล้ว ต้องสร้างต่อให้เสร็จ แปลว่าซีเมนต์อิฐเหล็ก ๔๐ จากร้อยนั้นสำคัญกว่าชีวิตชุมชนและสุขภาพคนไทยเพื่อนพ่อแม่พี่น้องร่วมชาติของท่าน ที่จะต้องกระทบกระเทือนเสียหายไปร้อยทั้งร้อยกระนั้นหรือ ?" (สยามโพสต์ ๘ มีนาคม ๒๕๓๖)
   หรือคำวิจารณ์ของ ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ ต่อคำพูดของนายชวนที่กล่าวถึงประสิทธิภาพของบันไดปลาโจน ว่า "คุณชวนเลือกที่จะเชื่อการศึกษาของราชการมากกว่ารายงานศึกษาของคณะกรรมเขื่อนโลก ซึ่งประกอบไปด้วยนักวิชาการจากหลายองค์กรทั่วโลก ซึ่งถ้าคุณชวนยอมรับความจริงที่ราชการสถาปนาขึ้นตามใจชอบอย่างนี้เสียแล้ว คุณชวนจะใช้ระบบราชการเป็นเครื่องมือในการสร้างความไพบูลย์และความเป็นธรรมขึ้นในสังคมได้อย่างไร เพราะการปั้นแต่งความเท็จให้เป็นความจริงมีนัยยะแฝงการปฏิบัติการไว้ด้วย คุณชวนจะมีทางเลือกเป็นอื่นไปไม่ได้ ถ้าไม่เริ่มต้นตรวจสอบข้อมูลที่ราชการป้อนให้อย่างจริงจัง" (มติชน ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๔๓)
    บทเรียนที่ ๒ คือบทเรียนจากการทำงานของ กฟผ. ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ กฟผ. พยายามผลักดันโครงการนี้ให้สำเร็จลุล่วงอย่างรวดเร็วจนละเมิดสิทธิมนุษยชนและกฎหมายอุทยานแห่งชาติ ซ้ำร้ายในภายหลัง กฟผ. ยังสถาปนา "ความจริง" ของตนเองขึ้นมาและเผยแพร่ต่อประชาชนด้วยงบประมาณประชาสัมพันธ์หลายสิบล้าน ไม่ว่าจะเป็นโฆษณา "ปลาร้าบ่เบิดไห" ที่จงใจประกาศความสำเร็จของบันไดปลาโจนอย่างเกินจริง และโฆษณา "ความจริงเขื่อนปากมูล" ซึ่งนำเสนอแง่มุมด้านดีขององค์กรเพียงด้านเดียวในรูปแบบสารคดี (หาดูได้จาก มติชน ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๔๓ และสถานีโทรทัศน์ช่อง
    ๑๑) การกระทำของ กฟผ. จึงเป็นบทเรียนสำคัญที่สอนให้คนไทยรู้ว่า "ความจริง" ไม่ได้มีด้านเดียว
และบทเรียนสุดท้ายคือ บทเรียนจากการต่อสู้ของชาวบ้านที่รัฐควรตระหนักว่า ก่อนดำเนินการพัฒนาใด ๆ ควรถามคนท้องถิ่นก่อนว่า พวกเขาคิดอย่างไร และถ้าหากเขาลุกขึ้นสู้เพื่อความเป็นธรรมของตนเอง สังคมก็ควรรับฟัง ไม่ใช่ประณามหยามเหยียดพวกเขาว่าเป็นพวก "ไม่รู้จักพอ"
(คลิกดูภาพใหญ่)    แม่สมปอง เวียงจันทร์ สรุปบทเรียนของตนเองว่า
   "สิบปีมานี้ แม่ได้รับบทเรียนหลายอย่าง เห็นความเลวร้ายของนักการเมือง ตั้งแต่เริ่มแรกเข้ามา แม่คิดว่านักการเมืองสิช่วยได้ แต่พอเขาได้เป็น ส.ส. แล้วเขาก็พาคนมาตีเรา แม่คิดว่าคนที่ช่วยได้คือตัวเราเอง ที่ผ่านมามีแต่พวกเราเท่านั้นที่รวมตัวกันผลักดันให้เกิดการแก้ไข ช่วยกันร้องตะโกน พวกเอ็นจีโอกับนักวิชาการก็มาช่วยเพิ่มความคิดให้เรา เขาช่วยเราในส่วนวิชาการ เพราะชาวบ้านไม่มีความรู้เรื่องนี้
"ถ้าสุดท้ายแล้วการเรียกร้องของเรายังไม่ได้รับการแก้ไข แม่ก็บ่เสียใจ เพราะอย่างน้อยสังคมก็เห็นเรา ตายก็ช่างหัวมัน บ่เสียดายชีวิต บ่ยั่นคดี เพราะเราตัดสินใจมาทำงานตรงนี้เพื่อต่อสู้ให้ความเป็นทำ มันบ่แม่นหวังผลประโยชน์อย่างเดียว อยากให้สังคมรู้ว่า อย่าสร้างอีกเด้อเขื่อนลำโดมใหญ่ อย่าสร้างอีกเด้อเขื่อนโป่งขุนเพชร เพราะเราอยู่กับธรรมชาติ อย่าไปเลียนแบบประเทศที่พัฒนาแล้ว เรามีของเราแค่นี้ก็อยู่ของเราแค่นี้"
   วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน เป็นอีกคนหนึ่งที่ร่วมต่อสู้เคียงข้างชาวบ้านปากมูลมาตลอด จนได้ฉายาว่า "หัวหน้ากบฏปากมูล" เธอสรุปบทเรียนจากการต่อสู้ของชาวบ้านตลอดสิบปีที่ผ่านมาอย่างน่ารับฟังว่า
   "ถ้าชาวบ้านอยากจะมีชีวิตที่ไม่ใช่การอยู่เยี่ยงทาส เขาต้องลุกขึ้นต่อสู้ แม้กระทั่งหมดลมหายใจสุดท้าย เขาก็ต้องสู้เพื่อให้ได้ความเป็นอิสระกลับคืนมา เพื่อให้ได้วิถีชีวิตที่ดีกว่าปัจจุบันกลับคืนมา เพื่อไม่ให้คนที่มีอำนาจมากดขี่ข่มเหงหรือมากำหนดชะตากรรมลูกหลานของเขา นี่เป็นข้อสรุปที่ชัดเจนของชาวบ้านปากมูล จากการที่เขาเรียกร้อง แล้วก็ถูกทำร้าย ถูกปราบปรามครั้งแล้วครั้งเล่า ตลอดระยะเวลา ๑๐ ปีนี้ ได้ข้อสรุปตรงนี้ชัดเจน เพราะฉะนั้นไม่ต้องสงสัยเลยว่า ทำไมชาวบ้านถึงยอมที่จะถูกสลายการชุมนุมอย่างรุนแรง แต่ไม่ยอมที่จะยกเลิกการต่อสู้" (สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันอาทิตย์ที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๔๓)

ขึ้นข้างบน (Back to Top)


      ลำดับเหตุการณ์ ๑๐ ปีการต่อสู้เขื่อนปากมูล

   ๘ เมษายน ๒๕๓๒ 
ที่ประชุม ครม. สัญจรรัฐบาล พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ ที่ จ. ขอนแก่น มีมติเห็นชอบให้สร้างเขื่อนปากมูล
    ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๓
ชาวบ้านประมาณ ๒,๐๐๐ คนจากห้าอำเภอ คือ อ. เมือง อ. วารินชำราบ อ. ตาลสุม อ. พิบูลมังสาหาร และ อ. โขงเจียม จ. อุบลราชธานี รวมกลุ่มกันปิดถนนบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดเพื่อประท้วงการสร้างเขื่อนปากมูล
    ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๓๓
คณะรัฐมนตรีรัฐบาล พล.อ. ชาติชายอนุมัติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนปากมูล โดยใช้งบประมาณลงทุนทั้งสิ้น ๓,๘๘๐ ล้านบาท แบ่งเป็นเงินกู้ต่างประเทศ ๑,๙๔๐ ล้านบาท
    ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๓๓
ชาวบ้านประมาณ ๖๐๐ คนจาก อ. โขงเจียม และ อ. พิบูลมังสาหาร ชุมนุมกันที่บริเวณแก่งสะพือ คัดค้านไม่รับมติคณะรัฐมนตรี และตั้งคำถามสามข้อ คือ ๑. แก่งสะพือจะจมอยู่ใต้น้ำหรือไม่ ๒. ที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทางการเกษตรของชาวบ้านบริเวณที่สร้างเขื่อนและหลังเขื่อนจะถูกน้ำท่วมมากน้อยแค่ไหน ๓. การจ่ายเงินชดเชยชาวบ้านที่ต้องอพยพจากการถูกน้ำท่วมและการจัดที่ดินทำกินใหม่จะเป็นอย่างไร

(คลิกดูภาพใหญ่)     ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๓๓ 
รัฐมนตรีมีมติแต่งตั้งคณะทำงานสองชุด คือ ๑. คณะอนุกรรมการจัดสรรที่ทำกินสำหรับราษฎรอพยพจากน้ำท่วม เพื่อให้ความช่วยเหลือชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วมบ้านเรือน ๒. คณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนที่ดินและทรัพย์สิน
   ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔
คณะรัฐมนตรีมีมติให้ กฟผ. เข้าใช้พื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะได้ โดยให้เพิกถอนพื้นที่อุทยานฯ เด็ดขาดจำนวน ๑๒๕ ไร่ ขอใช้ชั่วคราว ๕๗๓ ไร่ 
    ๒๐ มีนาคม ๒๕๓๔
ที่ทำเนียบรัฐบาล ชาวบ้านยื่นรายชื่อผู้คัดค้านการก่อสร้างเขื่อนปากมูล ๑๒,๐๐๐ คน ต่อนายฟิลิป อี แอนเนซ์ ผู้แทนธนาคารโลกประจำประเทศไทย ซึ่งรับผิดชอบการอนุมัติเงินกู้โครงการเขื่อนปากมูล และนายอานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรี
    ๑ เมษายน ๒๕๓๔
กฟผ. เริ่มลงมือสร้างเขื่อน
    ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๓๔
ระเบิดแก่งคันเห่วเพื่อเปิดช่องทางเดินน้ำท้ายเขื่อนเป็นครั้งแรก
      ๓ มิถุนายน ๒๕๓๔
ชาวบ้านปากมูล ๒๐๐ คนยืนหนังสือต่อนายอานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้รัฐบาลชะลอการสร้างเขื่อนปากมูล และให้ กฟผ. เปิดเผยข้อมูลที่แท้จริงในเรื่องผลกระทบจากการสร้างเขื่อน และให้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว
    ๔ มิถุนายน ๒๕๓๔
ไพจิตร เอื้อทวีกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รับปากเรื่องการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบผลกระทบการสร้างเขื่อนปากมูล โดยมีตัวแทนจากสี่ฝ่ายประกอบด้วย รัฐบาล กฟผ. นักวิชาการ และชาวบ้าน 
    ๑๗ ตุลาคม ๒๕๓๔
ธนาคารโลกเลื่อนการอนุมัติเงินกู้ออกไประยะหนึ่ง ขณะที่รัฐบาลไทยประกาศไม่รอเงินกู้และดำเนินการสร้างเขื่อนต่อไป
    ๑๘ ตุลาคม ๒๕๓๔
ผู้บริหารธนาคารโลก ๑๔ คนออกสำรวจพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนปากมูล
    ๑๐ ธันวาคม ๒๕๓๔
คณะกรรมการบริหารธนาคารโลกมีมติอนุมัติเงินกู้โครงการเขื่อนปากมูล โดยระบุว่าโครงการเขื่อนปากมูลเป็นโครงการขนาดเล็ก มีผลกระทบเพียงเล็กน้อย และเพิ่มวงเงินกู้จาก ๓,๘๐๐ ล้านบาท เป็น ๖,๖๐๐ ล้านบาท
(คลิกดูภาพใหญ่)     ๓ มีนาคม ๒๕๓๖
กลุ่มผู้ชุมนุม ๓๐๐ คนบุกเข้ายึดระเบิดและเครื่องมือก่อสร้าง โดยเสนอข้อเรียกร้องหกข้อ คือ
๑. ขอให้เปิดเผยพื้นที่น้ำท่วมที่ชัดเจน
๒. ขอให้จ่ายค่าเสียหายในทรัพย์สินผู้เสียหายในราคาตลาดทุกอย่าง
๓. ขอให้จัดสรรที่อยู่อาศัยและที่ทำนาในพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการทำเกษตรกรรม
๔. ขอให้จ่ายเงินชดเชยแก่ผู้ประกอบอาชีพหาปลาในลำน้ำมูล
๕. หากเกิดโรคพยาธิใบไม้ในเลือดหลังสร้างเขื่อน กฟผ. ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลทุกอย่างและแก้ไขปัญหาเชิงสาธารณสุข และ
๖. กำหนดเงื่อนไขว่า ค่าเสียหายต่าง ๆ หากไม่เป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่าย ให้ผู้เสียประโยชน์นำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการโดยไม่ต้องฟ้องศาลและถือผลการตัดสินเป็นข้อยุติ
    ๖ มีนาคม ๒๕๓๖
กลุ่มผู้สนับสนุนการสร้างเขื่อนนำโดยนายเสวก บรรเทา อดีตกำนันในพื้นที่และเจ้าหน้าที่ตำรวจขว้างก้อนหินและทุบตีกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้าน จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บ ๓๓ คน
    ๑๔ มีนาคม ๒๕๓๖
นายสุพิณ ปัญญามาก ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ กฟผ. กล่าวว่า ข้อเรียกร้องที่ ๑-๕ กฟผ. รับได้ แต่ข้อที่ ๖ ไม่สามารถทำตามสัญญาได้ เนื่องจากผิดกฎหมาย จะเซ็นสัญญาได้ก็ต่อเมื่อเป็นข้อตกลงของฝ่ายรัฐบาลเท่านั้น
    ๑๙ มีนาคม ๒๕๓๖
กลุ่มผู้ชุมนุมยอมตกลงสลายตัว โดยจะส่งตัวแทนเพื่อร่วมเป็นกรรมการสี่คน และมีการลงนามร่วมกันในสัญญาที่จะตั้งคณะกรรมการของทั้งสองฝ่ายขึ้น
    ๒๑ ธันวาคม ๒๕๓๖
กลุ่มผู้คัดค้านประมาณ ๕๐ คนเข้าขัดขวางการระเบิดแก่งคันเห่ว เนื่องจาก กฟผ. ละเมิดสัญญาตามที่คณะอนุกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการของรัฐในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีมติว่า ให้ยุติการระเบิดแก่งไว้ก่อนสิ้นปี ค่ำวันเดียวกัน กลุ่มกำนันเสวก บรรเทา นำกลุ่มผู้สนับสนุนปะทะกับกลุ่มผู้คัดค้านจนมีผู้คัดค้านคนหนึ่งถูกยิงบาดเจ็บสาหัส
พล.ต.อ. ประทิน สันติประภพ สั่งการให้ดำเนินการสอบสวนผู้กระทำผิด ให้ กฟผ. ยุติการตั้งกลุ่มปะทะกับกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วง ส่วนกลุ่มผู้คัดค้านได้ขอให้ กฟผ. สัญญาว่าถ้าเขื่อนส่งผลกระทบต่อการทำมาหากินของชาวบ้าน กฟผ. ต้องจ่ายค่าทดแทน
(คลิกดูภาพใหญ่)     เมษายน ๒๕๓๗
เขื่อนปากมูลสร้างเสร็จและเปิดดำเนินการผลิตกระแสไฟฟ้า
    ๑๔ ตุลาคม ๒๕๓๗
ชาวบ้านประมาณ ๒,๐๐๐ คนชุมนุมหน้าศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี เรียกร้องให้ กฟผ. จ่ายค่าชดเชยจากการสูญเสียอาชีพประมงตลอดระยะเวลาสร้างเขื่อน
    ๒๒ มีนาคม ๒๕๓๘
กฟผ. ยินยอมจ่ายค่าชดเชยจากการสูญเสียอาชีพประมงระหว่างสร้างเขื่อนสามปีให้แก่ผู้ชุมนุม ๓,๙๕๕ ครอบครัว ครอบครัวละ ๙ หมื่นบาท โดยแบ่งเป็นค่าชดเชย ๓ หมื่นบาท และเงินเข้ากองทุนสหกรณ์ ๖ หมื่นบาท
    ระหว่างปี ๒๕๓๘ จนถึง ๒๕๓๙
มีการชุมนุมเกิดขึ้นอีกหลายครั้ง เนื่องจากนับตั้งแต่สร้างเขื่อน รายได้จากการประมงยังคงลดลง และบันไดปลาโจนไม่สามารถแก้ปัญหาให้ปลาขึ้นไปวางไข่เหนือเขื่อนได้
    ๒๖ มีนาคม ๒๕๓๙
กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูลรวมตัวกับกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐอีก ๔๗ กรณีปัญหา จัดมหกรรมทวงสัญญาครั้งที่ ๑
    ๒๒ เมษายน ๒๕๓๙
รัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา มีมติ ครม. ๒๒ เมษายน ๒๕๓๙ รับรองการแก้ไขปัญหาทั้ง ๔๗ กรณี 
    ๒๕ มกราคม ๒๕๔๐
หลังจากการดำเนินงานของรัฐบาลนายบรรหารไม่มีความคืบหน้า มหกรรมทวงสัญญาครั้งที่ ๒ จึงเริ่มขึ้นอีกครั้งในรัฐบาล พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ
      ๒ พฤษภาคม ๒๕๔๐ 
รัฐบาลมีมติ ครม. ๒๙ เมษายน ๒๕๔๐ แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามแก้ไขปัญหาและจัดหาที่ดินจำนวน ๑๕ ไร่ หรือจ่ายเป็นเงินชดเชย ๕ แสนบาทต่อครอบครัว รวมทั้งแก้ปัญหาให้แก่ผู้ชุมนุมกลุ่มอื่น ๆ ตามคำเรียกร้อง
    ๒๑ เมษายน ๒๕๔๑
รัฐบาลนายชวน หลีกภัย ยกเลิกมติ ครม. ของรัฐบาล พล.อ. ชวลิต ด้วยเหตุผลว่า ไม่มีนโยบายจ่ายค่าชดเชยย้อนหลังให้แก่โครงการที่สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว
    ๒๓ มีนาคม ๒๕๔๒
ผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน ๕,๐๐๐ คนก่อตั้งหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน ๑ ขึ้นที่ริมสันเขื่อนปากมูล อ. โขงเจียม จ. อุบลราชธานี
    ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๔๓
ผู้ชุมนุมบุกยึดพื้นที่จอดรถข้างอาคารปั่นไฟเขื่อนปากมูลและก่อตั้งหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน ๗ ขึ้นเพื่อกดดันให้เกิดการเจรจาแก้ไขปัญหา โดยผู้ชุมนุมยื่นข้อเสนอให้ กฟผ. เปิดประตูกั้นน้ำทั้งแปดบานเพื่อให้ปลาขึ้นไปวางไข่เหนือเขื่อน

 สนับสนุน หรือ คัดค้าน
เงินกู้, ADB และแผนปรับโครงสร้างภาคเกษตรกรรม
โครงการ ขุดคอคอดกระ ฝันดีหรือฝันร้าย ของนักลงทุน
สารบัญ | จากบรรณาธิการ | สิบปีเขื่อนปากมูล การต่อสู้ของกบฏคนจน | คนไม้ขาว เต่ามะเฟือง | ปลาร้าไร้พรมแดน | หลงทางและปากหนัก | เชิญดอกไม้ "ดอกว่านสี่ทิศ" | โลกสีดำของเหยื่ออุตสาหกรรม | "ดอนหวาย" ตลาดโบราณริมแม่น้ำท่าจีน | จับตาธุรกิจการพนันต่างชาติ และการพนันในประเทศไทย | เฮโลสาระพา | ซองคำถาม

Ten Years' Fighting for the Mun River | Leatherback Turtles Return | Sikkim and Years of Change on the Himalayan Ridges
สำนักพิมพ์ สารคดี | สำนักพิมพ์ เมืองโบราณ | วารสาร เมืองโบราณ | นิตยสาร สารคดี
[ วิริยะบุคส์ | มีอะไรใหม่ | เช่าสไลด์ | ๑๐๘ ซองคำถาม | สมาชิก/สั่งซื้อหนังสือ | WallPaper ]
ขึ้นข้างบน (Back to Top) นิตยสาร สารคดี (Latest issue) E-mail