Click here to visit the Website
กลับไปหน้า สารบัญ

 

ป ล า ร้ า ไ ร้ พ ร ม แ ด น
วันชัย ตัน / ภาพประกอบโดย DIN-HIN

ปลาร้าไร้พรมแดน

    ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า ขนมเค้ก และขนมพายกลายเป็นอาวุธล่าสุด ที่คนรุ่นใหม่ใช้ต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมในสังคม และปกป้องธรรมชาติ แถมยังได้ผลเป็นที่น่าพอใจเสียด้วย
    ที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นายมิเชล กัมเดซูส์ ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ถูกสมาชิกกลุ่ม "ขนมพายไร้พรมแดน" บุกเอาเค้กปาหน้า เป็นการฟ้องให้โลกรู้ว่า ไอเอ็มเอฟทำให้ประเทศที่ยากจนอยู่แล้วยิ่งจนลงเพียงใด
   การปาเค้กหรือขนมพายใส่หน้าบุคคลที่มีส่วนต้องรับผิดชอบต่อการทำร้ายโลกใบนี้ สามารถสร้างข่าวได้ดีกว่าการยืนถือป้ายประท้วงหรือการเจรจากับผู้มีอำนาจบนโต๊ะประชุม ซึ่งไม่สามารถเรียกร้องความสนใจจากสื่อมวลชนได้
   นายแอปเปิล (นามจัดตั้ง) สมาชิกของกลุ่มกองพลขนมปัง เป็นผู้ชายหน้าตาดี ฉลาด มีมนุษยสัมพันธ์เป็นเยี่ยม เขาเดินเข้าไปในที่ประชุมสัมมนาระดับโลกในชุดสูทดูภูมิฐานอยู่เนือง ๆ เพื่อเล็งหาเหยื่อ ไม่มีใครรู้หรอกว่ากระเป๋าเอกสารที่เขาถือเข้าไปนั้นบรรจุอาวุธที่ทรงประสิทธิภาพเพียงไร

      "เราค้นพบว่า ขนมพายเป็นพาหนะวิเศษสุด ที่จะพาเราไปถึงประเด็นปัญหา ซึ่งไม่เคยได้รับการพูดถึงในสื่อ" 
    ในปี ๑๙๙๘ นายแอปเปิลมีผลงานปาพายใส่หน้า นายมิลตัน ฟรายด์แมน ปรมาจารย์การตลาดเสรี ซึ่งเป็นต้นแบบของนักการเมืองฝ่ายขวาในยุคทศวรรษ ๑๙๘๐ รวมถึงนางมากาเร็ต แท็ตเชอร์ และนายโรนัลด์ เรแกน ระหว่างที่นายฟรายด์แมนเข้าร่วมการสัมมนาหาทางนำสถาบันการศึกษาอเมริกันออกจากระบบราชการ เปลี่ยนมาอยู่ในมือเอกชนแทน ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้แรงงานจำนวนมากขาดโอกาสในการศึกษา
    "ในวันนั้นมีคนงานกลุ่มใหญ่มาชุมนุมต่อต้านด้านนอกอาคารที่จัดการประชุม แต่สื่อมวลชนไม่สนใจ พอพวกเราบุกเข้าไปปาพายมะพร้าวถึงข้างในห้อง กองทัพนักข่าวก็มาห้อมล้อมเราทันที"
    เหยื่อรายต่อมาคือ บิลล์ เกตส์ คนรวยที่สุดในโลก ถูกชาวเบลเยียมสมาชิกกลุ่ม "ขนมพายไร้พรมแดน" โปะพายเข้าเต็ม ๆ ที่ใบหน้า รายต่อมาคือผู้บริหารระดับสูงของบริษัทมอนซานโต-โรเบิร์ต ชาปริโอ ถูกปาพายในห้องประชุมหลังกล่าวปาฐกถาอันโด่งดังเรื่องการเลี้ยงพลโลกด้วยอาหารและพืชจีเอ็มโอ หลังจากนั้นเพียงอาทิตย์เดียว อดีตประธานองค์การการค้าโลก (WTO) ก็ถูกพายละเลงหน้า
    "ก่อนที่เขาจะถูกปาพายใส่หน้า มีชาวอังกฤษเพียง ๔ เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เคยได้ยินคำว่า WTO เหตุการณ์ในครั้งนั้น ทำให้ผู้คนรู้จักและเห็นโฉมหน้าขององค์กรจอมทำลายล้าง ที่ถูกปกปิดมาช้านาน" แอปเปิลกล่าว "เรากำลังยืนอยู่บนริมขอบของการล่มสลายของระบบนิเวศ โครงสร้างทางสังคมกำลังแตกเป็นเสี่ยง ๆ เผด็จการเฟื่องฟู ขณะเดียวกันพวกฝ่ายซ้าย ซึ่งควรจะเป็นกลุ่มที่ต่อต้านกระแสนี้อย่างแข็งขัน ก็กลายเป็นขบวนการที่น่าเบื่อ ทำงานกันแบบระบบราชการและไม่ค่อยมีผลงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน มัวแต่เขียนจดหมาย ประท้วง ลงประชามติ แต่ผู้มีอำนาจไม่สนใจ ดังนั้นเราต้องการทำให้ผู้คนลุกขึ้นและรับรู้ถึงปัญหาพวกนี้"
      ในรอบสองปีที่ผ่านมา มีผู้มีชื่อเสียงประมาณ ๖๐ คนตกเป็นเหยื่อปาเป้า เช่น ดร. เคต แคมป์ นักวิทยาศาสตร์ที่โคลนนิงแกะดอลลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของแคนาดา โทษฐานที่อนุญาตให้นำพืชตัดต่อยีนเข้าประเทศได้ นายเคนเนต เดอร์ ประธานบริษัท Chevron Oil ถูกปาพายในข้อหาสมรู้ร่วมคิดกับรัฐบาลเผด็จการทหารของไนจีเรีย
    และรวมไปถึงนาย คาร์ล โปป หัวหน้ากลุ่มอนุรักษ์ Sierra Club เนื่องจากไปมีสัมพันธ์อันดีกับบริษัท Pacific Lumber ซึ่งเป็นพวกตัดไม้ทำลายป่า 
    นายแอปเปิลตั้งข้อสังเกตต่อไปว่า "การปาพายมีที่มาจากการแสดงตลกให้กษัตริย์ดูในยุคกลาง และถือว่าเป็นการลดความสำคัญหรือความน่ากลัวของผู้มีอำนาจลงให้กลายเป็นมนุษย์ปุถุชนธรรมดา ๆ
    "เวลามีคนเขียนจดหมายมาหาผมแล้วบอกว่าเขาต้องการร่วมปาพาย ผมจะตอบเขาไปว่า เอาเลย แต่จงไปตัดผม ทำตัวให้สะอาดสะอ้าน ใส่สูทเสียหน่อย แค่นี้คุณก็เข้าไปในงานใหญ่ ๆ ได้ทุกงานแล้ว และจงปาพายด้วยตัวของคุณเองก่อนที่จะต้องมีชีวิตอยู่กับความพิการที่รัฐและบริษัทเหล่านี้หยิบยื่นให้" นายแอปเปิลทิ้งท้ายอย่างน่าคิด
    ส่วนที่เมืองไทย ขนมพาย ขนมเค้กอาจไม่ใช่ภูมิปัญญาท้องถิ่น ลองหันมาใช้ปลาร้าดูที
    อีกหน่อยอาจจะมีกลุ่ม "ปลาร้าไร้พรมแดน" ออกมาละเลงหน้าบรรดาลูกอีช่างสร้างทั้งหลาย

 สนับสนุน หรือ คัดค้าน
เงินกู้, ADB และแผนปรับโครงสร้างภาคเกษตรกรรม
โครงการ ขุดคอคอดกระ ฝันดีหรือฝันร้าย ของนักลงทุน
สารบัญ | จากบรรณาธิการ | สิบปีเขื่อนปากมูล การต่อสู้ของกบฏคนจน | คนไม้ขาว เต่ามะเฟือง | ปลาร้าไร้พรมแดน | หลงทางและปากหนัก | เชิญดอกไม้ "ดอกว่านสี่ทิศ" | โลกสีดำของเหยื่ออุตสาหกรรม | "ดอนหวาย" ตลาดโบราณริมแม่น้ำท่าจีน | จับตาธุรกิจการพนันต่างชาติ และการพนันในประเทศไทย | เฮโลสาระพา | ซองคำถาม

Ten Years' Fighting for the Mun River | Leatherback Turtles Return | Sikkim and Years of Change on the Himalayan Ridges
สำนักพิมพ์ สารคดี | สำนักพิมพ์ เมืองโบราณ | วารสาร เมืองโบราณ | นิตยสาร สารคดี
[ วิริยะบุคส์ | มีอะไรใหม่ | เช่าสไลด์ | ๑๐๘ ซองคำถาม | สมาชิก/สั่งซื้อหนังสือ | WallPaper ]
ขึ้นข้างบน (Back to Top) นิตยสาร สารคดี (Latest issue) E-mail