เกร็ดข่าว
วิวัฒน์ พันธวุฒิยานนท์ : รายงาน | ภาพจากนิตยสาร Time ๒๑ ธันวาคม ๒๕๔๑

skull

กะโหลกมนุษย์ออสตราโลพิเทคัส อายุ ๓.๖ ล้านปี ติดอยู่ในหินปูนนอกจากนี้ยังปรากฏกระดูกส่วนอื่นเกือบครบถ้วน

สองนักโบราณชีววิทยาชาวแอฟริกาใต้ รอน คลาร์ก และ ฟิลลิป โทไบแอส ค้นพบฟอสซิลที่เกือบสมบูรณ์ของมนุษย์ยุคเริ่มต้นวิวัฒนาการอายุ ๓.๖ ล้านปี ที่เมืองสเติร์กฟอนเทียน เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๔๑ ซึ่งจะช่วยให้ ประวัติวิวัฒนาการมนุษย์ตรงส่วน “รอยต่อ ที่สูญหาย” เริ่มปรากฏเป็นรูปเป็นร่างขึ้น เพราะจนถึงปัจจุบัน โครงกระดูกมนุษย์โบราณในสภาพสมบูรณ์เท่าที่พบทั้งหมดมีอายุไม่เกิน ๑.๘ ล้านปี แม้แต่ฟอสซิลที่ค่อนข้างสมบูรณ์ (๔๐ เปอร์เซ็นต์) และโด่งดังนาม “ลูซี” เองก็มีอายุใหม่กว่า ถึง ๔ แสนปี

“เรื่องราวการกำเนิดมนุษย์ดูเหมือนจะต้องเขียนขึ้นใหม่อีกครั้งภายหลังการค้นพบครั้งสำคัญนี้” บทนำข่าวใน บีบีซีโฮมเพจ กล่าว

มนุษย์ดึกดำบรรพ์คล้ายลิง “สเติร์กฟอนเทียน” ถูกพบผนึกอยู่ในผนังของถ้ำหินปูนแห่งหนึ่งทางตอนเหนือ ของเมืองโยฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ โดยสองนักวิจัยมหาวิทยาลัยแห่งวิตวอเตอร์แรนด์ – ด็อกเตอร์รอน คลาร์ก และศาสตราจารย์ ฟิลลิป โทไบแอส การค้นพบนี้ได้รับการตีพิมพ์ทันทีในวารสาร Nature และ The South African Journal of Science

ครั้งแรกที่คลาร์กพบฟอสซิลเข้าเขาคิดว่าเป็นกระดูกสัตว์ ต่อมาจึงสามารถระบุได้ว่าเป็นออสตราโล พิเทคัส-สกุล (genus) ที่ใช้เรียกต้นตระกูลมนุษย์หรือสิ่งมีชีวิตโบราณลักษณะคล้ายลิง (Hominid) ซึ่งเคยอาศัยอยู่ ในทวีปแอฟริกาช่วง ๓-๔ ล้านปีที่ผ่านมา แม้จะ ยังไม่สามารถบ่งบอกชนิดพันธุ์ลงไปแน่ชัดในขณะนี้ แต่คลาร์ก ตรวจสอบพบว่าฟอสซิลมีส่วนสูงราว ๑๒๒ เซนติเมตร (๔ ฟุต) โตเต็มวัย เสียชีวิตเนื่องจากตกลงไปใน ปล่องถ้ำแคบๆ สูง ๑๕ เมตรภายหลังถูกปกคลุมโดยหินปูนทำให้โครงกระดูกถูกอนุรักษ์ไว้ตามธรรมชาติเกือบครบถ้วน และจากหินปูนดังกล่าวนักวิทยาศาสตร์สามารถคำนวณอายุฟอสซิลย้อนกลับไปได้เป็นตัวเลข ๓.๖ ล้านปี

ดร.คลาร์ก กล่าวว่าแม้หลักฐานแทบทั้งหมดถูกปกคลุมด้วยหินปูน ไม่อาจบอกได้ว่าโครงกระดูกนี้ เป็นของสิ่งมีชีวิตเพศผู้ หรือเพศเมียแต่ก็มั่นใจว่า “เขา” พร้อมแล้วที่จะเดิน

“ลักษณะทางกายวิภาคของข้อเท้าแสดงว่ามีความพร้อมที่จะเป็นสัตว์สองเท้า แต่ก็สามารถปีนป่ายต้นไม้อย่างคล่องแคล่วด้วยนิ้วเท้าขนาดใหญ่ที่ผายออก… เราอาจจินตนาการได้ว่าเขามีชีวิตความเป็นอยู่คล้ายคลึง ชิมแปนซีทุกวันนี้” หมายถึงใช้ชีวิตอยู่บนต้นไม้พอๆ กับอยู่บนพื้นดิน

“นี่อาจเป็นหลักฐานสำคัญที่สุดเท่าที่นักโบราณมานุษยวิทยาเคยพบในแอฟริกาก็ได้” โทไบแอสกล่าว นับจากการค้นพบ “ลูซี” – ออสตราโลพิเทคัส แอฟาเรนซิส (๓.๒ ล้านปี) ที่ค่อนข้างสมบูรณ์จากเอธิโอเปียใน ค.ศ. ๑๙๗๔ ทำให้นักวิจัยล่วงรู้ถึงความสามารถในการยืนด้วยเท้าเต็มเท้าทั้งสองข้างของสายพันธุ์มนุษย์เป็นครั้งแรกแล้ว นักโบราณ- มานุษยวิทยายังไม่พบ “รอยต่อที่สูญหาย” ของมนุษย์ในสภาพที่ค่อนข้างครบถ้วน ให้ฮือฮาอีกเลย ส่วนโครงกระดูกสภาพสมบูรณ์ที่เก่าแก่ที่สุดซึ่งพบก่อนหน้านี้มีอายุย้อนไป ๑.๘ ล้านปี จัดเป็นสายพันธุ์โฮโมอีเรกตัสพบในประเทศเคนยา

ครั้ง ค.ศ.๑๙๒๔ แหล่งสเติร์กฟอนเทียนเคยพบกะโหลกมนุษย์โบราณชิ้นสำคัญรู้จักกันในนาม “ตวงสคัล” (Taung skull) เป็นชิ้นส่วนกะโหลกเด็กซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีการค้นพบสายสกุล ออสตราโลพิเทคัส ซึ่งเป็นบรรพบุรุษสายตรงที่วิวัฒนาการมาเป็นมนุษย์ยุคปัจจุบัน ดังนั้นนัยยะตามคำกล่าวของ ฟิลลิป โทไบแอส เขาอาจต้องการร่วมโต้แย้งในประเด็นว่าบริเวณใดกันแน่คือจุดที่ มนุษย์เริ่มวิวัฒนาการแยกสายจากลิงใหญ่ ดินแดนซึ่งเป็นประเทศแอฟริกาใต้ปัจจุบัน? เคนยา-แทนซาเนีย? (ตอนกลางของแอฟริกาตะวันออก) เอธิโอเปีย? (ตอนเหนือของ แอฟริกาตะวันออก) หรือแม้แต่แอฟริกาด้านตะวันตกก็ตาม

แต่คำถามที่ว่ามนุษย์มีกำเนิดขึ้นที่ใด ดูเหมือนไม่ได้สลักสำคัญนักเมื่อเทียบกับปริศนาว่ามนุษย์มีวิวัฒนาการมาอย่างไร ซึ่งหลักฐานจาก “สเติร์กฟอนเทียน” ชิ้นนี้ก็บอกเล่าเรื่องราวอยู่พอสมควรโดยเฉพาะอย่างยิ่งในอีก หนึ่งปีข้างหน้าเมื่อนักวิจัยสามารถขุดค้น – สกัดโครงกระดูกออกจากผนังถ้ำเสร็จสมบูรณ์ แล้วศึกษาด้านกายวิภาคโดยละเอียด เราคงได้รับความกระจ่างในปริศนาต่างๆ อีกมาก เป็นต้นว่า ลักษณะการเดิน, การดำรงอยู่ เป็นวิวัฒนาการช่วงต้นของการลงมาอาศัยบนพื้นดินหรือไม่

“สเติร์กฟอนเทียน” จึงเป็นความหวัง งที่ศาสตราจารย์โทไบแอส กล่าวว่า “เรากำลังเขยิบเข้าใกล้… และใกล้เข้าไปทุกขณะสำหรับจุดแยกระหว่างวงศ์โฮมินิด ระหว่างคนกับลิงใหญ่แอฟริกัน ซึ่งเคยมีบรรพบุรุษร่วมกัน ในช่วงเวลา ๕-๗ ล้านปีมาแล้ว”