อาทิตย์ ประสาทกุล เจ้าหน้าที่การทูต กระทรวงการต่างประเทศ หนึ่งในเจ็ดสมาชิกผู้ก่อตั้งกลุ่มสยามเอ็นสิส (www.siamensis.org) ซึ่งเป็นการรวมตัวของกลุ่มคนที่รักในปลาน้ำจืดและต้นไม้น้ำของไทย นักเขียนรุ่นใหม่เจ้าของผลงานสารคดีเรื่องปลาการ์ตูน ในนิตยสาร สารคดี อาทิตย์ ประสาทกุล

 

ผมโตมากับสารคดี ตอนอยู่ชั้นประถม เจอ สารคดี ในห้องสมุด ผมเป็นเด็กนักเรียนประจำ ไม่มีสิ่งบันเทิงอะไรนอกจากวิ่งเล่นในสนาม กับเข้าห้องสมุด เวลาอ่าน สารคดี เหมือนได้ท่องเที่ยว ผจญภัยไปด้วย เรื่องที่จำได้ขึ้นใจคือ หนอนไม้ไผ่ อ่านหลายเที่ยวมาก รู้สึกเหมือนได้เดินไปกับคนเขียนด้วย อีกเรื่องคือ ปลากัด ประทับใจรูป ไม่เคยคิดว่าจะได้มาเห็นรูปจัง ๆ ว่ามันรัดกันแล้วเห็นไข่ร่วงลงมาอย่างนี้ ล่าสุดเรื่องคนฟังเสียงปลา ผมรู้สึกว่า…โอ้โห มีด้วยเว้ย ไม่เคยคิดว่าจะมี

สารคดีทำให้เข้าใจโลกมากขึ้น เป็นความรู้ที่ให้ทั้งความบันเทิง ให้อรรถรสภาษาในการอ่าน ผมสนุกกับการอ่าน สารคดี มาก ผมอ่านเพื่อความบันเทิง เพราะผมไม่ดูทีวีเลย ความสุขอย่างหนึ่งของการอ่านหนังสือคือมันได้อรรถรส ได้กลิ่นของกระดาษ ได้จับหนังสือมาพลิก มีอะไรให้จับต้องได้มากกว่าที่จะผ่านมาแล้วผ่านไป เราถือมันไปไหนมาไหนได้ ไม่ต้องนั่งอยู่กับที่เหมือนดูทีวี ตรงไหนชอบหรือยังตื่นเต้นไม่หาย ก็กลับไปอ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่าได้
สารคดี เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างแรงบันดาลใจ ทำให้อยากเป็นนักเขียนสารคดี วันที่ สารคดี ให้โอกาสผมเขียนเรื่องปลาการ์ตูน มันเหมือนความฝันในวัยเด็กเป็นจริงแล้ว ผมลงมือเขียนด้วยความตื่นเต้นมาก รอหนังสือออกตลอด พอเห็นมันออกมาเป็นเล่ม ก็ขนลุกเลย
ผมมอง สารคดี เป็นผู้ใหญ่ที่เท่ห์มาก ๆ เป็นผู้ใหญ่ที่ภูมิฐานซึ่งมองสังคมอยู่ห่าง ๆ รอบรู้ จริงจังบ้าง ตลกบ้าง ทำอะไรให้สังคมบ้าง ถ้าเป็นคน ผมก็อยากจะเป็นอย่างเขา เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ผมเชื่อว่าทีมงานสารคดี คงมีวิธีที่จะลงไปคลุกคลีกับเด็กอย่างภูมิฐาน มันเป็นบุคลิกของหนังสือที่เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ถ้าลงไปอย่างผู้ใหญ่ไปหาเด็ก ก็อาจจะดีกว่าที่จะแต่งตัวเป็นเด็ก

สารคดี เป็นส่วนหนึ่งในการเติบโตของเรา เป็นหนังสือที่ไม่มีวันหมดอายุ ขอให้มั่นใจว่ามีคนติดตามอยู่ แม้จะไม่ใช่คนส่วนใหญ่ ก็อย่าท้อถอย ผมและเพื่อนที่อยู่ในแวดวงนี้ คิดถึงมันมากกว่านิตยสาร รู้สึกเป็นสถาบัน การที่จะเป็นสถาบันได้มันต้องมีหลาย ๆ อย่างมา establish ผมรู้สึกว่าคนที่รู้จัก สารคดี เป็นคนที่ไม่ธรรมดา นี่คือความเป็นสถาบันของ สารคดี ใครที่ไปร่วมวงไพบูลย์กับสถาบันนี้ ก็จะมีบุคลิกอย่างหนึ่งที่ intellectual

ศรายุทธ สุทธิวงษ์ ศรายุทธ สุทธิวงษ์ 

– หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์สหกรณ์ออมทรัพย์ครู จ. ระนอง
– จัดรายการวิทยุ “อนุรักษ์ธรรมชาติ” ทางสถานีวิทยุ อสมท. ร่วมกับ เสรี นาคบุญ เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าควนแม่ยายหม่อน จ. ระนอง และ ด.ต. อรุณ กุลกัลยา กองร้อย ตชด. ที่ ๔๑๕ และร่วมก่อตั้งชมรมป่าสร้างฝัน จ. ระนอง จัดค่ายเยาวชนอนุรักษ์ธรรมชาติให้แก่เยาวชนในพื้นที่

 

แฟนรายการของเรามีทั้งนักการเมืองท้องถิ่น ผู้ใหญ่บ้าน รองผู้ว่าราชการจังหวัด นักเรียนนักศึกษา เด็กเล็ก ชาวบ้าน เราคุยเรื่องทั่วไปที่ให้สาระ เรื่องธรรมชาติ เรื่องป่า ดูนก ถ้าใครเจอนกแปลก ๆ แล้วแจ้งมา เราจะไป บางทีชาวบ้านโทรมาบอกว่า นกเงือกมาลงหน้าบ้านอยู่สามสี่วันแล้ว เราตื่นตีสี่เลย ไปตั้งป้อมดู พอแปดโมงก็มาทำงานตาสะโหลสะเหล หรือตอนที่อ่าน สารคดี เล่มนกแต้วแล้วท้องดำ สารคดี บอกว่าพบนกชนิดนี้ครั้งแรกที่ระนอง สมาชิกชมรมก็ตามไปดูที่คลองกำพวนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองนาคาโน่นเลย เราว่าน่าจะยังมีอยู่อีกนะ แต่เรายังไม่เจอ น่าจะมีคนไปสำรวจอีก

ผมใช้ สารคดี เยอะนะ ส่วนมากอ่านแล้วเอาไปคุยในรายการวิทยุ โดยเฉพาะ “โลกใบใหญ่” ที่เป็นเกร็ดข่าวเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือข่าวต่างประเทศที่เราไม่รู้ ส่วนมากพออ่าน “โลกใบใหญ่” แล้วก็พลิกไปอ่าน “โลกธรรมชาติและวิทยาการ” ข้างหลัง นอกจากนั้นก็อ่านบทสัมภาษณ์กับเรื่องท่องเที่ยวอุทยานฯ ต่าง ๆ

สารคดี ทำให้เรียนรู้โลกกว้างขึ้น จากที่เคยรู้เรื่องสองเรื่องหรืออ่านอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ทำให้ได้มองมุมกว้างขึ้น ทั้งวิทยาศาสตร์ วิถีชุมชน เรื่องของคน เรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติ แล้วบางทีก็มีเรื่องการเมืองด้วย รวมหลายเรื่องไว้ในที่เดียว สารคดี เหมือนเป็นคนมาดมั่น โอ้โห ในสมองเต็มไปด้วยความรู้ และพูดเก่งด้วย

แต่ สารคดี เป็นหนังสือที่หาซื้อยาก อาจจะเพราะทางระนองเขาสั่งมาน้อย บางครั้งไปที่ร้านหนังสือเขาบอกว่าหมดแล้ว หรือไปแล้วก็บอกว่ายังไม่มา เคยไปคอยตั้งแต่รุ่งเช้าตั้งสองสามวัน พอไปอีกทีเขาบอกว่าหมดแล้ว

แต่ไม่เป็นไร ปีนี้จะสมัครสมาชิก