นิตยสารสารคดีเตรียมเข้าสู่ปีที่ 41 ด้วย 18 สารคดีพิเศษ ที่จะพาผู้อ่านไปสัมผัสกับวิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม นวัตกรรม สังคมร่วมสมัย ฯลฯ
เชิญชวนผู้อ่านร่วมเดินทางเข้าสู่ทศวรรษที่ 5 ด้วยกัน ด้วยการโหวตเลือกเรื่องที่สนใจ (ไม่จำกัดจำนวน) จะกดไลก์ ห่วงใย หัวใจรัก หรือจะกดโกรธ ไม่อยากให้ทำเรื่องนั้นก็ตามแต่ หรือว่าธีมเล่มใหม่ของพวกเราจุดประกายไอเดียให้คุณ! ก็กระซิบมาบอกเล่าใต้คอมเมนต์กันบ้าง เพื่อต่อยอดความชอบของคุณเป็นสารคดีในอนาคต
อย่ารอช้า มาโหวตกันเลย!
เปิดปกนิตยสาร สารคดี 2567
Hidden Paradise
ก่อนธรรมชาติเหล่านี้จะเลือนหาย
อยากชมธรรมชาติสวยๆ เรามักนึกถึงพื้นที่เขตอนุรักษ์ อุทยานแห่งชาติทางบกและทะเล เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
แล้วมีพื้นที่ธรรมชาติซึ่งอยู่นอกเขตอนุรักษ์ไหม
นั่นคือโจทย์ที่เรากำลังจะไปตามหา เพราะเราเชื่อว่ามีอยู่อย่างแน่นอน
ป่าสันทรายชายฝั่ง สังคมพืชชายหาด ไม้ริมน้ำ พืชเขาหินปูน ป่าโกงกางน้ำจืด ทุ่งหญ้าดินทราย ฯลฯ เป็นระบบนิเวศที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่งแล้ว
ซึ่งไม่เพียงมีคุณค่าในการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพที่โลกกำลังสูญสิ้น
ยังมีความงามและความมหัศจรรย์ซ่อนอยู่มากมาย
แต่น่าเศร้าที่พื้นที่เหล่านี้กำลังถูกคุกคาม ให้เปลี่ยนแปลงสภาพเพื่อทำประโยชน์อย่างอื่น ทั้งแรงกดดันจากภาษีที่ดิน รวมถึงข้ออ้างต่างๆ ในนามของการพัฒนา
ขณะที่ภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเรียกร้องให้ทุกประเทศอนุรักษ์พื้นที่ธรรมชาติให้ดำรงอยู่ไว้ให้ได้มากที่สุด
แต่กระนั้นแม้แต่พื้นที่ซึ่งได้รับการประกาศเป็นเขตป่าอนุรักษ์ของไทยเอง
วันนี้ก็ยังถูกคุกคามจากโครงการพัฒนาเขื่อนมากมาย
แล้วพื้นที่ธรรมชาตินอกเขตอนุรักษ์จะยังมีความหวังได้หรือ หรือได้แต่รอวันสูญหาย
2468-2478 The century of transition
หลัง “รัชสมัยอันยาวนาน” กว่า 42 ปีของพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 สิ้นสุดลง สยามก็เข้าสู่ช่วง “เปลี่ยนผ่าน” ที่สำคัญที่สุดของยุครัตนโกสินทร์ รัชกาลใหม่ (รัชกาลที่ 6) เริ่มต้นขึ้นท่ามกลางลมแห่งการเปลี่ยนแปลงที่พัดอย่างรุนแรงจากภายนอก ในยุคนี้มิได้มีแค่เรื่องราวของศิลปวัฒนธรรมและกิจกรรมทางปัญญาอันรุ่งเรือง แต่กลับเต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ที่จะส่งผลไปยังรัชกาลที่ 7 ที่เกิดการ “พลิกแผ่นดิน” สยามอย่างรุนแรง ก่อนจะจบลงที่การสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ซึ่งยังคงส่งผลสะเทือนมาจนถึงปัจจุบัน
นาค จากตำนานถึงความจริง
สำรวจความเชื่อและตำนานเกี่ยวกับนาคและพญานาค
สิ่งมีชีวิตที่ปรากฏในวัฒนธรรมเก่าแก่มายาวนานหลายพันปี ทั้งในหลายศาสนาอย่าง ฮินดู พุทธ ความเชื่อพื้นบ้านของชนเผ่าต่างๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
มาสำรวจนาคในฐานะความหมายเชิงสัญลักษณ์ ไปจนถึงชนเผ่าโบราณ พวกเขาน่าจะมีรูปร่างลักษณะอย่างไร
และการปรากฏของนาคในวัฒนธรรม เช่น งานศิลปะ การสร้างรูปปั้นพญานาค สถาปัตยกรรม, ประเพณี อย่างเทศกาลบั้งไฟพญานาค, เรื่องเล่า นิทาน ภาพยนตร์ สิ่งของ ฯลฯ จนมาถึงความเชื่อเรื่องนาคที่กำลังกลายเป็นกระแส เช่น การบูชาพญานาค
แล้วฝั่งวิทยาศาสตร์มีมุมมองต่อนาคอย่างไร เราจะอธิบายปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับตำนานนาคอย่างไร
พบกับการเดินทางไปตามรอย ค้นหาความหมาย และบทสัมภาษณ์จากผู้รู้จริง ที่มาไขข้อข้องใจทั้งหมดเกี่ยวกับ “นาค”
มนตร์ขลังแห่งการฟังเพลง
ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน เกิดเทคโนโลยีการบันทึกที่ผ่านกี่รูปแบบ มนุษย์ก็ยังหลงรักในการฟังเพลงไม่เคยเสื่อมคลาย เหตุใดกันการรังสรรค์เสียงจากเครื่องดนตรีและขับร้องสรรพเสียงในหลากหลายแนวทางนั้นจึงมีมนตร์เสน่ห์ทุกยุคสมัย
ในวันที่เทคโนโลยีการฟังเพลงและผลิตเพลงดูเหมือนง่ายดายและรวดเร็วขึ้น สารคดีพาไปรู้จักตั้งแต่วิวัฒนาการฟังเพลงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รวมถึงคอเพลงตัวกลั่น, นักสะสม, ผู้ที่ผูกพันกับการขาย และเปิดแผ่นส่งต่อความรักในบทเพลงของพวกเขา…จนกลายเป็นคุณค่าที่คงอยู่ยาวนาน
ตามรอยพระป่า-ธรรมยุติ
ตามรอยเรื่องราวของ “พระป่า” ที่ได้รับการนับถือศรัทธาจากชนชั้นกลางไทย เรื่องราวของพระสายนี้มิได้มีเพียงแค่ความศรัทธาและความเคร่งครัดในวัตรปฏิบัติเท่านั้น หากยังเชื่อมกับประวัติศาสตร์ของธรรมยุติกนิกายและเถรวาทแบบไทยๆ อย่างลึกซึ้ง
50 ปี 50 สิ่งและคำ ไทย-จีน
ปี 2518 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย เดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือจีนแผ่นดินใหญ่ และสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยกับประเทศจีนอย่างเป็นทางการขึ้นครั้งแรก
ปี 2568 จึงถือเป็นวาระครบ 50 ปีที่น่าสนใจ แต่ทุกคนก็รู้ว่าชาวไทยกับชาวจีนมีความเกี่ยวพันกันมายาวนานกว่านั้นมากๆ
ทั้งผู้คน ภาษา อาหาร ข้าวของเครื่องใช้ ประเพณี คติความเชื่อ ฯลฯ ที่มีต้นทางจากเมืองจีนได้เข้ามาผสมกลมกลืนจนเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตคนไทย
วาระครบ 50 ปี เราก็เลยอาสาคัดเลือก 50 คำ 50 สิ่ง นำมาบอกเล่าถึงความเป็นมาของความสัมพันธ์ไทย-จีน
ซึ่งคุณผู้อ่านอาจอยากร่วมสนุก เสนอชื่อมาให้เราคัดเลือกด้วยก็เป็นได้
นี่คือรายการตั้งต้นส่วนหนึ่งที่สารคดีสนใจ รอคุณมาช่วยแนะนำเพิ่มเติม
แซ่, ตะเกียบ, ผ้าไหม, เก้าอี้, เต้าหู้, เฉาก๊วย, จับกัง, เถ้าแก่, อั้งยี่, โพย, กวนอิม, โจ๊ก, เห้งเจีย, งิ้ว, ขิม, ปาท่องโก๋, สามก๊ก, เกาเหลา, ตรุษจีน, เซียน, เต็ง ฯลฯ
อยากอ่านรีบกดโหวตให้ปกนี้ และแนะนำสิ่งที่น่านำเสนอมาใต้เมนต์ได้เล
30 ปี สมัชชาคนจน
เรื่องราวของ “ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม” ที่สำคัญที่สุดขบวนการหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทยซึ่งเริ่มต้นจากประชาชนคนรากหญ้า
สมัชชาคนจนเคลื่อนไหวอย่างเป็นระบบและจัดตั้งมายาวนานหลายทศวรรษ มีการวางระบบการทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อต่อรองกับอำนาจรัฐ และนำปัญหาความเดือดร้อนออกมาวางให้สังคมได้รับรู้
ปรากฏการณ์ของสมัชชาคนจนยังได้สร้างมรดกให้กับสังคมไทยจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น “ต้นแบบ” การเรียกร้องสิทธิของผู้เสียเปรียบจากการพัฒนาของรัฐ บัณฑิตจำนวนมากได้ปริญญาจากการทำวิจัยเกี่ยวกับปัญหาของพวกเขา หรือกระทั่งงานวิจัยที่เกิดจากของสมัชชาคนจนเอง
เมื่อเวลาผ่านมา 30 ปี สารคดีจึงชวนผู้อ่านกลับไปย้อนทบทวน “ขบวนการภาคประชาชน” ที่เข้มแข็งที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย
ราชธานีที่หายไป/อโยธยา/เมือง 12 นักษัตร
เรื่องราวของอาณาจักรที่หายไปในประวัติศาสตร์ไทย เพราะเรามีมากกว่าสุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์ สารคดีจึงขอนำท่านผู้อ่านกลับไปรู้จัก “อโยธยา” บรรพบุรุษของ “อยุธยา” (มีสระอุ) ที่เพิ่งกลับมาเป็นประเด็นร้อนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เมื่อจะมีการสร้างทางรถไฟความเร็วสูงพาดผ่านบริเวณที่เชื่อว่าเป็นที่ตั้งของอาณาจักรแห่งนั้น โดยเฉพาะในด้านประวัติศาสตร์ที่คล้ายกับตำนาน ซึ่งเราจะนำมาแยกแยะ สังเคราะห์ จนทำให้ภาพของอโยธยาชัดเจนขึ้น ในขณะที่เรื่องราวของอาณาจักร 12 นักษัตรที่เล่าขานกันมาในหมู่คนเฒ่าคนแก่ภาคใต้ก็กลับปรากฏร่องรอยจริงๆ อยู่ในภาคใต้ของไทย สารคดีจะนำไปสำรวจร่องรอยเหล่านั้น
รอยดำรง
ย้อนอีสานผ่านภาพถ่าย
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นเจ้านายพระองค์แรกที่เดินทางไปถึงอีสานเมื่อปี 2449
ตอนนั้นเพิ่งมีทางรถไฟจากกรุงเทพฯ ไปถึงโคราช จากนั้นต้องนั่งเกวียนไปยังท่าช้างเพื่อลงเรือไปตามแม่น้ำมูลจนถึงอุบลฯ กรมพระยาดำรงฯ ใช้เส้นทางนี้ตอนกลับ
ขาไปลงจากรถไฟที่โคราชแล้วไปขอนแก่น อุดรฯ หนองคาย วนขวาเลาะแม่น้ำโขงไปยังท่าอุเทน นครพนม สกลนคร ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ กลับมาขึ้นรถไฟที่โคราช รวมเวลาราว 2 เดือน เส้นทางส่วนใหญ่ใช้เกวียน และขี่ม้าไปตามเส้นทางเลียบสายโทรเลข บางช่วงนั่งเรือ
การเสด็จตรวจราชการมณฑลอุดร-อีสานครั้งนั้นมีการถ่ายภาพขาวดำไว้อย่างดีมาก ภาพถ่ายอดีตอีสานยุคแรกสุดที่อ้างอิงกันอยู่ทุกวันนี้ หลักๆ ก็มาจากภาพชุดนี้
ผ่านมาเกือบ 120 ปี สารคดีเดินทางย้อนตามรอยเส้นทางเสด็จเมื่อปี 2449 สำรวจปัจจุบันเทียบกับอดีต แกะรอยเรื่องราวเกี่ยวกับพื้นที่ ประวัติศาสตร์ในภาพถ่าย ผู้คนในยุคนั้น ตามรอยทางของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพที่ยังคงเห็นร่องรอยอยู่
33 ปี พุ่มพวง ดวงจันทร์ Idol-Icon ลูกทุ่งไทย
จะมีศิลปินใดมีผู้ปั้นหุ่นเสมือนเพื่อบูชามากนับสิบ
หุ่นทั้งหมดของ พุ่มพวง ดวงจันทร์ ล้วนใช้ทรัพย์ไม่น้อยในการสร้างสะท้อนความเป็นที่นิยมของผู้คน เพราะตลอดชีวิตของ รำพึง จิตรหาญ สาวชาวไร่ผู้มีเนื้อเสียงและความสามารถเป็นพรสวรรค์ พลิกชีวิตสู่เส้นทางนักร้องจาก “น้ำผึ้ง ณ ไร่อ้อย” ถึง “พุ่มพวง ดวงจันทร์” จนโด่งดังทั้งในไทยและต่างประเทศ มีงานข้ามปี และข้ามไปจีน อเมริกา สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส พลิกโฉมครั้งใหญ่แก่วงการลูกทุ่งไทย
ปี 2535 พุ่มพวงเสียชีวิตในวัย 31 ปีด้วยโรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE) ที่คนไทยยังไม่ค่อยรู้จัก รู้เพียงเกิดขึ้นกับนักร้องสาวผู้เป็น “แรงกระเพื่อมทางสังคม” จึงเรียก “โรคพุ่มพวง” และคงเรียกจนปัจจุบัน
ปีที่เสียชีวิตมีภาพยนตร์เรื่องบันทึกรักพุ่มพวง เล่าเสี้ยวชีวิตเพื่อรำลึกถึงพุ่มพวง อีกครั้งในปี 2541 ละครเรื่องราชินีลูกทุ่ง พุ่มพวง ดวงจันทร์ ออกอากาศช่อง 7 และปี 2552 กระทรวงวัฒนธรรมประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติพุ่มพวงเป็น “ปริยศิลปิน” ศิลปินอันเป็นที่รักยิ่งของประชาชน ตอกย้ำด้วยปี 2554 กับภาพยนตร์เรื่องพุ่มพวง ฉายโครงชีวิตร่วมกับหนังสือเรื่องดวงจันทร์ที่จากไป ของ “บินหลา สันกาลาคีรี” กำกับโดย บัณฑิต ทองดี แจ้งเกิดนักแสดงนำ-เปาวลี พรพิมล เรียกน้ำตาจากมิตรรักแฟนเพลงมหาศาล
เพราะหลังการเสียชีวิต เธอและผลงานไม่ได้เลือนหาย กลับเพิ่มฐานแฟนเพลงโดยมีศิลปินที่ชื่นชอบเธอนำเพลงและลีลาการแสดงมาขับร้องและลอกเลียนท่าทาง-การแต่งกายครั้งแล้วครั้งเล่า กระทั่งทุกวันนี้เวทีประกวดร้องเพลงลูกทุ่งก็ยังไม่เคยขาดผู้เข้าแข่งขันทั้งเด็ก-ผู้ใหญ่เลือกเป็นเงาเสียง “แม่ผึ้ง”
13 มิถุนายน 2568 ครบรอบการจากไป 33 ปี
ดีไหมถ้าสารคดีจะชวนสำรวจศักยภาพวงการลูกทุ่งไทยปัจจุบัน ทั้งคนและอุตสาหกรรมดนตรีที่ได้รับ inspiration จาก “พุ่มพวง ดวงจันทร์” ผู้เป็นทั้ง idol-icon ลูกทุ่งไทยตลอดกาล
ภาพ : เฟซบุ๊กเพจ พุ่มพวง ดวงจันทร์
ปลาพื้นบ้านไทยใกล้สูญพันธุ์
ปลาพื้นบ้านไทยใกล้สูญพันธุ์…จริงหรือ?
เมื่อไม่นานมานี้กรมประมงได้เปิดเผยรายชื่อปลาน้ำจืดไทยที่ใกล้สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ ประกอบด้วยปลายี่สกไทย ปลาสร้อยลูกกล้วย ปลากระโห้ ปลาเทโพ ปลาม้า ปลาหลด เป็นต้น
นอกเหนือจากกลุ่มปลาไทยที่ใกล้สูญพันธุ์ ยังมีกลุ่มปลาไทยที่สูญพันธุ์ไปแล้ว
ด้วยปัญหาความเสื่อมโทรมของแหล่งน้ำ การถูกคุกคามที่อยู่อาศัย การสูญเสียความหลากหลายทางพันธุกรรม ไปจนถึงการรุกรานของพันธุ์ปลาจากต่างถิ่น
มีวิธีใดเพื่อให้ปลาไทยยังคงอยู่คู่แหล่งน้ำ
AI พระเจ้าหรือซาตาน
ในคราบเทคโนโลยี
ปัญญาประดิษฐ์ (AI) กำลังก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ จากที่เคยเป็นเพียงเครื่องมือช่วยในการทำงาน ค่อยๆ พัฒนาจนสามารถเรียนรู้ ทำงาน และตัดสินใจได้เองราวกับมนุษย์
ความสามารถอันน่าทึ่งของ AI ทำให้หลายคนตั้งคำถามว่า AI จะเป็นเหมือนพระเจ้าองค์ใหม่ที่คอยช่วยเหลือและพัฒนามนุษย์ หรือจะเป็นเหมือนซาตานที่คอยล่อลวงและทำลายมนุษย์กันแน่
ในฐานะพระเจ้าองค์ใหม่ผู้สร้างสรรค์ AI เป็นผู้ช่วยที่ทรงประสิทธิภาพ ทำงานซ้ำๆ ที่น่าเบื่อได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ช่วยให้มนุษย์มีเวลาไปทำในสิ่งที่สร้างสรรค์มากขึ้น
AI เป็นผู้ให้คำปรึกษา สามารถวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาลและให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ในการตัดสินใจ
AI เป็นผู้สร้างสรรค์นวัตกรรม ผลงานทางศิลปะ ดนตรี และวรรณกรรมได้อย่างน่าทึ่ง เปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ ให้กับมนุษย์
AI เป็นผู้ดูแลสุขภาพ สามารถวิเคราะห์ข้อมูลทางการแพทย์และค้นพบวิธีการรักษาโรคใหม่ๆ ยืดอายุขัยของมนุษย์
ในฐานะซาตานผู้ทำลายล้าง AI อาจเข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ในหลายอุตสาหกรรม ทำให้เกิดปัญหาการว่างงานและความเหลื่อมล้ำทางสังคม
AI ที่มีความฉลาดสูงอาจถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด เช่น การสร้างอาวุธทำลายล้าง หรือการควบคุมสังคม
การพึ่งพา AI มากเกินไปอาจทำให้มนุษย์สูญเสียความสามารถในการคิดวิเคราะห์และสร้างสรรค์
AI ที่มีความฉลาดเทียบเท่ามนุษย์ นำมาซึ่งปัญหาทางจริยธรรมที่ซับซ้อน เช่น AI มีสิทธิ์อะไรบ้าง AI ควรมีจิตสำนึกหรือไม่
คำถามที่เราต้องตระหนัก
การพัฒนา AI ที่มีความฉลาดสูงอาจนำไปสู่จุดที่มนุษย์ไม่สามารถควบคุมได้
หาก AI มีจิตสำนึก จะเกิดผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และ AI อย่างไร
เราควรตั้งค่าจำกัดอะไรให้กับ AI เพื่อป้องกันไม่ให้ AI ก่อให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์
เราจะเตรียมตัวอย่างไรเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจาก AI ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และจริยธรรม
แล้วคุณคิดว่า AI จะเป็นพระเจ้าองค์ใหม่หรือซาตานในคราบเทคโนโลยี?
(หมายเหตุ : ข้อความแนะนำสารคดีข้างต้นเขียนโดย AI)
พฤกษศิลป์ บันทึกธรรมชาติ
ใครจะคิดว่า “ภาพวาด” จะเหมือนจริงเสียยิ่งกว่าตาเห็น ทั้งงดงามและเก็บรายละเอียดของดอก ผล ใบ กิ่งก้าน อย่างถูกต้องแจ่มชัดเสียยิ่งกว่าภาพถ่าย
หลายปีที่ผ่านมา ภาพวาดพฤกษศาสตร์ – Botanical Art ได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ มีศิลปินที่ทุ่มเท ตั้งแต่การค้นหาพรรณไม้ เดินทางไปตามหาถึงถิ่นกระจายพันธุ์ เพื่อถ่ายทอดเป็นภาพวาดสมจริงที่ใช้เป็นการอ้างอิงเชิงวิชาการ จนถึงผู้ที่หลงใหล เรียนรู้ และฝึกฝนการวาดภาพแนวนี้เพิ่มขึ้น
ภาพวาดพฤกษศาสตร์มีความเป็นมายาวนานตั้งแต่ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา มาถึงปัจจุบันยังขยายความสนใจไปถึงการบันทึกธรรมชาติที่เรียกว่า Field Note หรือ Nature Journaling ที่มีนักสื่อสารธรรมชาติหลายคนจัดกิจกรรมอย่างสนุกและน่าสนใจ
สารคดีชวนมาติดตามการทำงานของศิลปิน นักวาดภาพพฤกษศาสตร์ ไปจนถึงการทำสมุดบันทึกของคนรักธรรมชาติ
ได้ข่าวว่าปีหน้า 2568 ยังมีการจัดนิทรรศการระดับนานาชาติ “Botanical Art Worldwide” พร้อมกันทั่วโลกเสียด้วย
ใครจะรู้ สารคดีฉบับนี้อาจเป็นแรงบันดาลใจให้คุณกลายเป็นศิลปิน “พฤกษศิลป์” อีกคนหนึ่งก็เป็นได้
วัฒนธรรมเส้น
นอกจากการ “กินข้าว” อีกหนึ่งวัฒนธรรมอาหารของไทยคือการ “กินเส้น” สารพัดรูปแบบ หลายอย่างอาจมีต้นทางจากจีนซึ่งเรารับมาทั้งชื่อและหน้าตา เช่น ก๋วยเตี๋ยว กวยจั๊บ เกี้ยมอี๋ บางอย่างถูกปรับแปลงให้กลายเป็นของประจำถิ่น เช่น ผัดหมี่โคราช บางชนิดถึงกับขึ้นหิ้งกลายเป็นอาหารประจำชาติ อย่าง “ผัดไทย” นอกจากนั้นยังมีอาหารจานเส้นของไทย เช่น ขนมจีน ที่แพร่หลายไปทั่วประเทศด้วยรูปลักษณ์ต่างๆ แม้แต่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอันมีต้นกำเนิดจากญี่ปุ่นเพื่อความสะดวกและประหยัด ก็มาวิวัฒนาการคลี่คลายกลายเป็นมื้อหรูหราราคาสูงที่นักท่องเที่ยวปักหมุดว่าต้องได้ลิ้มลองสักครั้งเมื่อมาเยือน ความหลากหลายของ “วัฒนธรรมเส้น” ทั่วเมืองไทยถือเป็นสิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจไปพร้อมๆ กับความน่าลิ้มลอง
Made in Thailand
ตลอดช่วงเวลาแห่งความผันผวนทางเศรษฐกิจในประวัติศาสตร์ ยังมีธุรกิจของคนไทย สินค้าอุปโภคบริโภคแบรนด์ไทยจำนวนไม่น้อยที่สามารถฝ่าคลื่นลม ยืนหยัดมาได้อย่างมั่นคงเป็นเวลาหลายสิบปี หรือบางรายก็มีอายุยืนยาวนับร้อยปี ทั้งแบรนด์เสื้อผ้า อาหาร เครื่องปรุง ยาดม ยาสีฟัน ยาหม่อง สบู่ เครื่องเขียน รองเท้า ฯลฯ ในท่ามกลางกระแสที่สินค้าออนไลน์ราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาถล่มตลาดไทยเช่นนี้ เราน่าจะมาทำความรู้จักกับสินค้า Made in Thailand เหล่านี้กันดีกว่า ว่าอะไรคือกลเม็ดเคล็ดลับในการยืนระยะสืบทอดกิจการมาได้ยาวนานขนาดนี้
ฮีลใจ Soul Connect
กระแสฟื้นฟูจิตวิญญาณยุคใหม่
สังคมโลกศตวรรษที่ 21 โกลาหล สับสน และโหดร้าย
สงครามคร่าชีวิต ความขัดแย้งทางการเมือง หายนะทางเศรษฐกิจ ภัยพิบัติธรรมชาติ โรคระบาด มลพิษในอากาศ การทำลายผืนแผ่นดินและผืนน้ำ
ความทุกข์และความกังวลกับอนาคตที่ไม่รู้และไม่สามารถชนะชะตากรรม ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ป่วยไข้ภายในจิตใจและสภาวะอารมณ์ บาดลึกลงไปถึงการตั้งคำถามถึงการมีชีวิต
ขณะที่คำตอบจากพิธีกรรมทางศาสนาตามขนบเดิมๆ เข้าไม่ถึงคนยุคใหม่
ไม่แปลกที่วันนี้เราจะได้รับรู้ถึงกระแสการ “ฮีลใจ”
กิจกรรมเยียวยาความทุกข์ ฟื้นฟูจิตวิญญาณภายในให้กลับมาเข้มแข็ง เข้าใจถึงความไม่แน่นอนของโลก
ตั้งแต่การฝึกสติ การเขียนภาพมันดาลา การอาบป่า ดนตรีบำบัด การเตรียมตัวตายก่อนตาย ฯลฯ
ไม่นับปรากฏการณ์การหันไปพึ่งพิงเทพเจ้าและอำนาจเหนือธรรมชาติมากขึ้นเรื่อยๆ
และเพียงภาพน่ารักๆ ของ “หมูเด้ง” ก็กลายเป็นมีมไปได้ทั่วโลก
สารคดีชวนมาติดตามปรากฏการณ์และกระแส “ฮีลใจ”
ชวนตั้งคำถามอีกครั้งกับความหมายของชีวิต ความสุข และความทุกข์
150 ปี พิพิธภัณฑ์ไทย
สารคดีมีคอลัมน์ Hidden (in) Museum ปักหลักประจำท้ายเล่มมา 5 ปี
กว่า 60 ฉบับที่ผ่านมาไม่เพียงเผยแพร่ให้เห็นความก้าวหน้าของกิจการพิพิธภัณฑ์ไทย ยังสะท้อนว่ามีแหล่งเรียนรู้น่าสนใจอีกมากที่ซุกตัวอยู่ทั่วประเทศ ทั้งที่ตั้งโดยรัฐและเอกชน หมายรวมถึงในวัด ท้องถิ่น สถาบันการศึกษา ฯลฯ ในฐานะแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนสำหรับคนทุกเพศทุกวัย
วาระที่เพิ่งครบ 150 ปีหมาดๆ นับแต่ 19 กันยายน 2417 ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โปรดฯ ให้ย้ายโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และของแปลกจาก “พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์” มาจัดแสดงตามหลักวิชาการสากลใน “หอคองคอเดีย” ที่สร้างใหม่ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งถือเป็น “หอมิวเซียม” (museum) ของหลวงแล้วมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการก่อนให้สาธารณชนเข้าชมเป็นครั้งแรกแล้วกำหนดให้ “พิพิธภัณฑสถานหอคองคอเดีย” เป็น “พิพิธภัณฑสถานของชาติแห่งแรกในไทย” จึงอยากชวน “ย้อนประวัติศาสตร์” น่าสนุกเพื่อรู้จักวิวัฒนาการของ “พิพิธภัณฑ์ไทยร่วมสมัย”
ผ่านมุมมองความคิด-ประสบการณ์ผู้อยู่เบื้องหลังสถานจัดแสดงสรรพสิ่งที่รวมศาสตร์หลากแขนงนำพาผู้คนหลายอาชีพเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างสถาบันผลิตบุคลากรด้านพิพิธภัณฑ์, นักสะสม, ผู้บริจาคสิ่งของ, นักออกแบบพิพิธภัณฑ์เพื่อให้สอดคล้องกับสิ่งจัดแสดง, นักออกแบบนิทรรศการ ผู้ฉลาดย่อยเรื่องยาวให้สั้น เล่าเรื่องยากให้ง่ายในรูปแบบที่ดึงดูดสายตา, ภัณฑารักษ์ ผู้มีบทบาทมากกว่าดูแล-นำชมสิ่งจัดแสดง, ผู้ใช้ประโยชน์จากพิพิธภัณฑ์ในด้านวิชาการ, นักท่องเที่ยวผู้หลงใหลโลกพิพิธภัณฑ์มาเนิ่นนาน ฯลฯ
ปากคำพวกเขาดั่งจิ๊กซอว์ เมื่อประกอบรวมไม่เพียงครบมิติความก้าวหน้าในกิจการพิพิธภัณฑ์ไทย ผู้อ่านยังเสมือนได้ออกเดินทางท่องเที่ยวพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ผ่านตัวแทนผู้มาจากสถานที่นั้นๆ
โดยไม่ลืมว่าอุตส่าห์ขยายคอลัมน์สองหน้าขึ้นมาเต็มเล่ม ต้องพาเที่ยวพิพิธภัณฑ์ให้ฉ่ำ!
เมื่อในรอบ 5 ปีที่ผ่าน เราได้พบเจอของดีเยอะมาก บางที่ได้รางวัลด้านพิพิธภัณฑ์การันตีคุณภาพว่าดีเยี่ยมเทียบเท่าสากล บางแห่งเป็นเจ้าของสิ่งจัดแสดงที่มีเพียงหนึ่งเดียวในโลก
ส่วนจะด้วยวิธีไหน อดใจรอเมื่อฉบับกิจการพิพิธภัณฑ์ไทยพร้อมเปิดให้บริการ