วันชัย ตัน / ภาพประกอบ : DINHIN

tunaก่อนฟ้าจะสางโตเกียวไม่เคยหลับ
พระจันทร์แขวนดวงเหนือฟากฟ้า เบื้องล่างเนื้อสดวางเปลือยสงบนิ่ง

เปล่าครับ นี่มิใช่กวีไฮกุ  แต่เป็นบรรยากาศเงียบสงบช่วงสั้น ๆ ก่อนการประมูลซื้อขายปลาในตลาดทสึกิจิ ตลาดปลาใหญ่ที่สุดกลางกรุงโตเกียว

เพราะหลังจากตีสี่ครึ่งเป็นต้นไป ตลาดแห่งนี้จะคึกคักวุ่นวายไปด้วยผู้คนและเสียงโหวกเหวกของการประมูลซื้อขายปลา

“เร่เข้ามา วันนี้ของสดๆ ซิงๆ  ใครมาก่อนได้ก่อนครับ”

เสียงพ่อค้าตะโกนร้องเรียกลูกค้าให้เข้ามาดูปลาทะเลที่วางกองบนพื้นซีเมนต์  อีกด้านหนึ่งมีกุ้งลอบสเตอร์ หอย และปลาหมึกยักษ์ วางเรียงรายอยู่บนน้ำแข็ง  ปูอะแลสกา ปูทะเล เบียดกันอยู่ในกล่องโฟมเก็บความเย็น  ปลาน้ำลึกบางชนิดตีน้ำพั่บ ๆ อยู่ในถาด  ใกล้ ๆ กัน พ่อค้าอีกคนกำลังตัดปลาทูน่าด้วยเลื่อยไฟฟ้าและมือ

แต่ละวัน ตลาดสดแห่งนี้มีเงินสะพัดจากการซื้อขายอาหารทะเลร่วมพันล้านบาท

ปลาทูน่าตัวโตยาวกว่า ๑ เมตรถูกลากออกไป  คืนนี้แหละ มันจะถูกแล่ทำปลาดิบวางบนโต๊ะอาหารในภัตตาคารหรูที่ไหนสักแห่ง ด้วยสนนราคาชิ้นละไม่ต่ำกว่าพันบาท

ยิ่งถ้าเป็น “โทโร” หรือเนื้อชั้นดีบริเวณพื้นท้องที่มีสีชมพูอ่อน มีไขมันแทรกเป็นริ้ว เวลาเอาเข้าปาก เนื้อนุ่มละมุนลิ้นจนลืมเนื้อชนิดอื่นใดในโลก ราคายิ่งแพงจนลืมไม่ลง

ปลาทูน่าที่พูดถึงนี้มิใช่ปลาทูน่าธรรมดา แต่เป็นปลาทูน่าครีบสีน้ำเงินที่ชาวประมงตกได้จากมหาสมุทรในเขตน้ำลึก

คนญี่ปุ่นบริโภคปลามากที่สุดในโลก และปลาทูน่าหรือ “มากุโระ” ก็ถือเป็นสุดยอดของปลาดิบที่คนชื่นชอบ  เฉพาะปี ค.ศ. ๒๐๐๒ ปีเดียว ชาวญี่ปุ่นบริโภคปลาทูน่ากว่า ๔๖๐,๐๐๐ ตัน คิดเป็นจำนวนปลาหลายสิบล้านตัวกินกันมากจนผู้เชี่ยวชาญพากันวิตกว่า ปลาทูน่ารวมถึงปลาอีกหลายชนิดที่นิยมซื้อขายกันอยู่ในตลาดโตเกียวอาจใกล้สูญพันธุ์  เพราะเมื่อความต้องการเพิ่มขึ้น กองทัพเรือประมงจำนวนมากก็ยิ่งระดมกันออกจับปลาทุกน่านน้ำ โดยใช้เครื่องมือทุกประเภท โดยเฉพาะอวนรุน อวนลาก ที่ทั้งรุนทั้งลากสิ่งมีชีวิตน้อยใหญ่ตั้งแต่หน้าดินยันผิวน้ำ

สหประชาชาติเคยเตือนว่า การจับปลามากเกินไปทำให้โอกาสที่ปลาในท้องทะเลจะเพิ่มปริมาณกลับคืนมา ลดลงอย่างน่าตกใจ  ทั้งนี้สหประชาชาติได้วางเป้าหมายไว้ว่า จะลดอัตราการสูญพันธุ์ของสัตว์และพืชอย่างจริงจังในปี ๒๐๑๐  ซึ่งรวมถึงการปกป้องชีวิตในท้องทะเลด้วย

กล่าวเฉพาะปลาทูน่าครีบสีน้ำเงิน หายนะของพวกมันเกิดขึ้นด้วยวิธีการตลาดแบบง่าย ๆ  นั่นคือกระตุ้นให้ผู้บริโภครู้สึกว่า การได้ลิ้มลองปลาทูน่าครีบสีน้ำเงินอันแสงแพงนั้นเป็นโอกาสอันโอชะในชีวิต  ยิ่งวัน ราคาทูน่าชนิดนี้ก็ยิ่งถีบตัวสูงขึ้น เพราะจับได้เท่าไหร่ก็ไม่เพียงพอกับความต้องการ

ไม่มีใครรู้ว่า มนุษย์จะมีโอกาสกินปลาทูน่าครีบน้ำเงินไปอีกกี่ปี แม้นักวิจัยแห่งเมืองคัชชิโมโตจะสามารถเพาะพันธุ์ปลาทูน่าชนิดนี้ในห้องทดลองได้สำเร็จ แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะเลี้ยงไปได้รอดหรือไม่

เรื่องนี้คนไทยส่วนใหญ่คงไม่ต้องวิตกไปกับเขา เพราะถึงจะวาสนาน้อยไม่ได้ลิ้มลองเนื้อโทโร  แค่ปลาทูน่ากระป๋องเติมพริกกับหอมซอย บีบมะนาว… กินแล้วก็ “โออิชิ” ได้เหมือนกัน