ปราบดา หยุ่น

soi01

“ซอย” เป็นศัพท์ที่หาคำแปลเป็นภาษาอังกฤษตรงตัวได้ยาก หรือหาไม่ได้เลย ฝรั่งและคนต่างชาติพันธุ์อื่น ๆ จึงมักใช้ “ซอย” เสียดื้อ ๆ ตามคนไทย โดยไม่ต้องคิดหาคำแทนในภาษาของตนให้ปวดกบาล ซอยส่วนใหญ่มักเป็นถนนตัดเข้าสู่แหล่งอยู่อาศัยของคน นั่นคือไม่ใช่ “ถนน” ซึ่งเป็นที่ตั้งของร้านค้าอาคารและตึกใหญ่โต ฝุ่นคลุ้งคับคั่งไปด้วยการจราจร ซอยคือถนนที่เล็ก สั้น และอบอุ่นเป็นกันเองกว่าถนนใหญ่ กล่าวคือ ซอยมีคุณสมบัติของความเป็นถนน ในขณะที่ถนนไม่สามารถเรียกตัวเองเป็นซอยได้ถนัดปาก (แน่นอน เพราะถนนไม่มี “ปาก” ในขณะที่ซอยมี)

สำหรับกลุ่มหนุ่มสาวชาวญี่ปุ่นที่หันมาให้ความสนใจศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยของไทย อย่างกลุ่ม “กราฟ” (ซึ่งมี “น้าฟู”-ฟูมิยา ซาวา เป็นที่ปรึกษาสำคัญ) และกลุ่มผู้จัดงานแสดงดนตรีแลกเปลี่ยนไทย-ญี่ปุ่น ที่ชื่อ Soi Music (เพิ่งจัดคอนเสิร์ตนำนักดนตรีหัวก้าวหน้าของญี่ปุ่นซึ่งเป็นที่รู้จักในระดับสากลอย่าง Cornelius มาแสดงที่โรงหนังทางเลือก House เมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยมีวงดนตรีไทยขวัญใจ “เด็กแนว” อย่างโมเดิร์นด็อก และอวสานเซลส์แมน ร่วมแจมอย่างครึกครื้น) คำว่า “ซอย” ดูเหมือนจะได้รับการตีความลึกซึ้งไปกว่าความหมายที่เราชาวไทยใช้สอยกันโดยไม่ต้องคิด ผมสังเกตว่าชาวญี่ปุ่น (ผู้กำลังทำหน้าที่แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมร่วมสมัยระหว่างชาติได้มีประสิทธิภาพดีกว่ารัฐบาลเป็นไหน ๆ) เหล่านี้ มักใช้ “ซอย” เป็นคำแทนหรือเชื่อมโยงถึงคำอื่น อย่าง “ทางเลือก” “อิสระ” “ขบถ” “แตกต่าง” “แปลกแยก” “เจียมตัว” “เล็ก ๆ” หรือ “วัฒนธรรมย่อย” ในมุมมองที่เห็น “ซอย” เป็นการแตกแขนงออกข้างทางของ “ถนน” แปลว่าซอยไม่ใช่ทางหลัก ไม่ใช่กระแสหลัก หากแต่เป็นทางย่อย ทางเลือก หรือกระแสรอง สำหรับผู้ไม่ประสงค์จะไหลไปตามจราจรของกระแสนิยม และผู้ปรารถนาเดินเข้าหาสังคมเล็ก ๆ อบอุ่น เป็นกันเอง ไม่เป็นทาสของทฤษฎีรวมโลกเป็นหนึ่งมาตรฐาน ดังที่กระแสหลักทางการเมือง การค้า และวัฒนธรรม กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน

soi02

ชื่อ “ยินดีต้อนรับสู่ซอยสบาย” อันเป็นชื่อนิทรรศการศิลปวัฒนธรรมไทยร่วมสมัยในโอซาก้าเมื่อต้นเดือนสิงหาคม เป็นชื่อที่น้าฟูกับกลุ่มกราฟช่วยกันคิดขึ้น (ใครจะเป็น “มันสมอง” ตัวจริง ผมไม่ได้ซักถาม กลัวญี่ปุ่นตีกัน) และเป็นชื่อที่มีเสน่ห์เข้าท่าไม่หยอก แม้แต่ในความรู้สึกของคนไทยเอง

ตั้ม-วิศุทธิ์ พรนิมิตร และผม ท่าจะเป็นชาวไทยคนแรก ๆ ที่กราฟส่งข่าวเรื่องชื่อนิทรรศการให้รู้ เราเห็นพ้องต้องกันว่าเขา “ตั้งชื่อเก่ง” นอกจากทั้งสองคำจะแทนค่าความรู้สึกหรือบรรยากาศไทย ๆ ได้ค่อนข้างชัดเจน ทั้ง “ซอย” และ “สบาย” ยังได้นัยยะทางปรัชญาที่น้าฟูกับกราฟต้องการนำเสนออย่างลงตัว

ซอยสบาย : นิทรรศการศิลปวัฒนธรรมกระแสเล็กร่วมสมัยของไทยที่ไม่เคร่งเครียด
เปรียบเสมือนการเดินเข้าไปในซอยเล็ก ๆ ของชุมชนชาวไทยยุคใหม่ ที่ต้อนรับผู้มาเยือนอย่างเป็นกันเอง หากหิวหรือกระหายก็สามารถสั่งอาหารไทยและกาแฟเย็น แล้วนั่งพักพลางซึมซับความเป็นไทยไปเรื่อย ๆ ทั้งวัน

เนื่องจากน้าฟูเคยมาเมืองไทยบ่อย และรู้จักมักจี่กับคนไทยในแวดวงศิลปะบ้างแล้ว เขาจึงเป็นแกนหลักของกราฟในการติดต่อและเลือกเฟ้นงานศิลปะที่จะนำไปแสดงในงาน “ซอยสบาย” ถึงแม้น้าฟูจะสื่อสารกับผมสม่ำเสมอทางอีเมล แต่ก็เป็นเพียงการพูดคุยหรือขอความเห็นเล็ก ๆ น้อย ๆ ผมไม่ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจร่างรายชื่อศิลปินสำหรับงานของเขาแต่อย่างใด หน้าที่หลักของผมคือเขียนความเรียงสั้น ๆ เกี่ยวกับคำว่า “สบาย” ให้สูจิบัตรที่กราฟจะจัดพิมพ์ และประสานงานกับคริสโตเฟอร์ ดอล์ย-ผู้กำกับภาพให้หนังเรื่อง Last Life in the Universe หรือ เรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล (กำกับโดย เป็นเอก รัตนเรือง) และ ทาดาโนบุ อาซาโน (พระเอกจากหนังเรื่องเดียวกัน) เพราะน้าฟูต้องการให้มีงานเกี่ยวกับภาพยนตร์ไทย-ญี่ปุ่นเรื่องดังกล่าวในนิทรรศการด้วย และในฐานะผู้ร่วมเขียนบท ผมพอจะมีลู่ทางช่วยเหลือให้ความต้องการของน้าฟูเป็นจริงได้-ผมลงมือเขียนอีเมลถามความความสมัครใจจากคริสโตเฟอร์ และเมื่อพบเจอพระเอกผมยาว-อาซาโนที่โตเกียว ผมออกปากชักชวนให้เขาส่งงานศิลปะเข้าร่วมงาน “ซอยสบาย” สุภาพบุรุษทั้งสองตอบตกลงเกือบทันที (คริสโตเฟอร์อาจจะกระดกเบียร์ลงคอสองสามอึกก่อนจะพยักหน้า) เป็นอันว่าผมทำหน้าที่ทูตเชื่อมสัมพันธไมตรีได้เข้าท่าพอใช้

งาน “ซอยสบาย” จึงมี “ห้อง Last Life” แสดงภาพจากหนังที่ได้รับการตัดต่อใหม่เป็นพิเศษโดยคริสโตเฟอร์ (ฉายบนจอทีวี) และมีภาพจิตรกรรมสีน้ำมันฝีแปรงของอาซาโนแขวนบนผนัง นอกจากนั้นผมรับปากจะซื้อวอลล์เปเปอร์ลายไทยๆ (แต่คนขายบอกว่าที่จริงนำเข้ามาจากที่ไหนก็ไม่รู้) ขนไปให้เขาแปะเพื่อปรับสภาพห้องให้ดูคลับคล้ายห้องคนไทยมากขึ้น

soi03

แรกทีเดียว น้าฟูและกราฟอยากให้ผมแสดงงานศิลปะอย่างอื่นด้วย ผมไปครุ่นคิดครู่หนึ่ง (โดยไม่ก่ายหน้าผาก ใครก่ายหน้าผากในยุคนี้ละก็เชย) พลันนึกอยากทำงานประติกรรมกึ่งเฟอร์นิเจอร์ ด้วยเห็นว่ากราฟมีศักยภาพในการผลิตเฟอร์นิเจอร์อยู่แล้ว กระทั่งมีทั้งโรงงานช่างไม้เล็ก ๆ ของตัวเอง และมีผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ครบครัน ผมจึงเสนอเขาว่าจะออกแบบโต๊ะ เป็นโต๊ะกลมสำหรับนั่งกินก๋วยเตี๋ยวที่หน้าตารูปร่างเหมือนใบบัว ตั้งชื่อไว้เก๋ไก๋ในแบบดัดจริตตามสไตล์ดีไซเนอร์ (คนไม่ดัดจริตท่าจะเป็นดีไซเนอร์ยาก หรือเป็นก็ไม่รุ่ง ไม่มีวันได้ลงนิตยสารเก๋ ๆ กลุ้มใจแย่) ว่า Tablotus (Table + Lotus) ซึ่งเมื่อน้าฟูและกราฟได้ฟังไอเดียแล้วก็ต่างเห็นดีเห็นงามด้วย ฮิเดกิแห่งกราฟรับปากว่า จะจัดการตรวจสอบให้ว่าโต๊ะของผมมีความเป็นไปได้ในการผลิตมากน้อยเพียงไร

ศิลปินที่น้าฟูเชื้อเชิญผลงานไปแสดงในซอยสบาย มีตั้งแต่ชื่อที่แวดวงศิลปะร่วมสมัยของไทยรู้จักดี อย่าง สุธี คุณาวิชยานนท์ อย่าง Nuts Society และศิลปินรุ่นค่อนข้างใหม่ที่กำลังเป็นที่สนใจในปัจจุบัน อย่าง อังกฤษ อัจฉริยะโสภณ หรือ พรทวีศักดิ์ ลิ่มสกุล (ผู้กำลังจะได้แสดงงานที่โตเกียวในเดือนธันวาคม ปีนี้) รวมถึงผู้สร้างสรรค์งานอันคาบเกี่ยวระหว่างศิลปะกับพาณิชย์ อย่างงานเขียนการ์ตูนของ วิศุทธิ์ พรนิมิตร งานภาพยนตร์ของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล งานภาพถ่ายของ ธนชัย อุชชิน (ป๊อด โมเดิร์นด็อก) นอกจากนั้นน้าฟูยังชวนชาวต่างชาติที่มีความสนใจในศิลปวัฒนธรรมไทยมาร่วมแจมด้วย นั่นคือ ฟิลิป ลาเลอ (จากสมาคมฝรั่งเศส ฟิลิปอยู่เมืองไทยมาหลายปีและมีความคุ้นเคยกับแวดวงศิลปะไทยในสถานภาพที่เรียกว่าสนิทสนม) และ เคียวอิชิ ท์ซึซุกิ ศิลปินญี่ปุ่นผู้สะสมแผ่นเสียงเก่าของไทยไว้เป็นจำนวนมากผิดปรกติ

อาจจะไม่มากจนล้นหลาม แต่จำนวนศิลปินและงานศิลปะแห่งซอยสบาย จัดว่าเป็นการผสมผสานที่น่าสนใจและอบอุ่นเอาเรื่อง ยังไม่นับรายการพิเศษระหว่างเดือนสิงหาคม (วิศุทธิ์ พรนิมิตร แสดงงานอนิเมชันประกอบการแสดงดนตรีสด ป๊อดกับเมธีแห่งโมเดิร์นด็อกแวะไปเกากีตาร์-ร้องเพลงในแบบ “unplugged” ให้ทั้งแฟนเพลงชาวไทยและญี่ปุ่นได้กรี๊ดสนั่นลั่นซอย) ซึ่งล้วนประกอบเป็นนิทรรศการที่ให้ความรู้สึก “ทีเล่นทีจริง” และ “แปลกใหม่ไม่ซ้ำซาก” ไปในขณะเดียวกัน

การเผยแพร่และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างประเทศ เป็นสิ่งที่อยู่ในนโยบายของรัฐบาลส่วนใหญ่ของโลก ไม่ว่าความตั้งใจพื้นฐานจะเกิดโดยเกี่ยวเนื่องกับความกระหายด้านเศรษฐกิจ (ความหวังด้านการท่องเที่ยว) หรือเป็นความหวังดีจริง ที่จะกระจายความเข้าใจและกระชับสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นปรองดองในความแตกต่างระหว่างกันของมนุษย์ ลักษณะการเผยแพร่วัฒนธรรมตามปรกติมักไม่เกิดประสิทธิภาพดีเท่าที่ควร นั่นเพราะแต่ละชาติมีความวิตกกังวลเรื่องการเสนอ “ภาพพจน์” อันดีงามของตนจนหลายครั้งหลงเลยที่จะยอมรับหรือทำความเข้าใจกับความเคลื่อนไหวที่แท้จริงของยุคสมัย วิธีเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยที่เป็นมาและยังคงเป็นไปในระบบข้าราชการ จึงยังมุ่งแต่จะสะท้อนภาพตามสูตรซ้ำ ๆ ตั้งแต่การแสดงฟ้อนรำไปจนถึงการจัดเทศกาลอาหารไทย ในขณะที่สังคมโดยมากถูกขับเคลื่อนด้วยพลังของคนหนุ่มสาวและสถานการณ์ระดับโลกที่แปรเปลี่ยนว่องไวเหมือนพายุทอร์นาโด การเผยแพร่วัฒนธรรมลักษณะ “วัฒนธรรมแช่แข็ง” หรือ “วัฒนธรรมบรรจุกระป๋อง” จึงไม่มีเสน่ห์หรือไม่มีแรงดึงดูดเพียงพอจะก่อความตื่นเต้นตื่นตัวในความร่วมสมัย-นิทรรศการอย่าง “ซอยสบาย” หรืองานคอนเสิร์ตอย่าง “ซอยมิวสิค” ด้วยแรงเคลื่อนที่ขนานหรือผสานไปกับพายุแห่งยุค จึงสามารถยื่นแขนออกฉุดชวนผู้คนขึ้นมาร่วมขบวนแห่งการเดินทางร่วมสมัยได้อยู่มือกว่ามาก

soi04

ที่น่าเศร้าใจเล็กน้อยก็คือ การเผยแพร่วัฒนธรรมร่วมสมัยของไทย กำลังเกิดขึ้นโดยการช่วยเหลือและดำเนินการของคนต่างชาติเสียเป็นส่วนใหญ่-แน่นอน ความเป็นไทยคงต้องมีอะไรน่าสนใจจนดึงดูดให้พวกเขาหันมาจ้องมอง และความน่าสนใจเหล่านั้นเกิดขึ้นจากตัวเราเอง

แต่เรา “รักสบาย” กันเกินไปหรือเปล่า
ผมเดินทางไปร่วมงานเปิดนิทรรศการ “ยินดีต้อนรับสู่ซอยสบาย” ที่แกลเลอรีในตึกกราฟกลางเมืองโอซาก้า เมื่อค่ำวันที่ ๓๑ กรกฎาคมที่ผ่านมา ไม่ใช่เพราะเป็นตัวตั้งตัวตีอะไรขนาดนั้น แต่เพราะเวลาประจวบเหมาะอย่างไม่น่าเชื่อกับที่ผมต้องเดินทางไปทำงานที่โตเกียว จึงถือโอกาสอันดี นั่งรถไฟความเร็วระดับกระสุนจากโตเกียวไปโอซาก้าเพื่อแวะชมซอยสบาย แถมเป็นโอกาสให้ได้มีเวลาสังสรรค์กับเพื่อนฝูงอย่างตั้ม-วิศุทธิ์ ผู้พำนักอาศัยอยู่ในเมืองโกเบ ไม่ไกลจากโอซาก้า

“ซอยสบาย” ได้รับการก่อสร้างขึ้นในลักษณะที่ชาวกราฟคิดว่าใกล้เคียงกับสภาพความเป็นอยู่แบบไทยๆ ที่พวกเขาบางคนเคยเห็น มีการประกอบเพิงไม้ไว้วางงานศิลปะ มีแคร่ให้คนนั่ง ผนังบางด้านของบางสัดส่วนถูกปะปูด้วยแผ่นสังกะสี ที่แม้จะเป็นสังกะสีซื้อในญี่ปุ่น (สภาพพื้นผิวดูเรียบร้อยและสะอาดสะอ้านกว่าสังกะสีไทยเล็กน้อย) แต่ก็พอถูไถเป็นเพิงขายของข้างถนนแบบไทย ๆ ไปได้เหมือนกัน ที่แน่ ๆ คือมันดูแตกต่างจากห้องแกลเลอรีขาวที่ผมเคยไปเห็นก่อนหน้านี้มากนัก-ใช่ มันดู “สบาย ๆ” ขึ้น (แต่เป็นความหมายของสบายในแง่ “รกและเละ” มากกว่าสบายแบบเบาบาง) ไม่สะอ้านเย็นยะเยือกเหมือนห้องแสดงงานศิลปะสมัยใหม่ทั่วไป

น่าเสียดายที่ในซอยสบายไม่มีโต๊ะใบบัวของผม ฮิเดกิสารภาพว่าการออกแบบของผมต้องใช้เงินมากเกินไปในการผลิต (ประมาณว่าเอาเงินก้อนนั้นไว้ส่งลูกเรียนยังจะเข้าท่ากว่า) เขาจึงสร้างโต๊ะกลมง่าย ๆ คล้ายใบบัวเล็ก ๆ ขึ้นมาแทนที่ แต่ก็ไม่เป็นไร ปรากฏว่าโต๊ะนั้นเป็นประโยชน์ต่อผู้มาชมงานไม่น้อย มันกลายเป็นโต๊ะสังสรรค์ระหว่างการกินผัดไทยกัดไก่ย่างที่ครึกครื้นที่สุดมุมหนึ่งของงาน

ตั้ม-วิศุทธิ์ น่าจะเป็นคนรับภาระหนักที่สุดระหว่างงาน เขาต้องยืนถือปากกาอยู่หน้ากระดานขาวแผ่นใหญ่ บรรจงจ้องมองผู้มาร่วมงานทีละคน แล้วหันไปวาดคนเหล่านั้นเป็นตัวการ์ตูนด้วยความแม่นยำเรื่องเค้าโครงใบหน้าอันเป็นความสามารถพิเศษของเขา ตั้มไม่มีโอกาสได้นั่งคุยหรือซดกาแฟเย็น (และของมึนเมา) อย่างที่คนอื่นกำลังทำกันอยู่ แต่ถึงอย่างนั้นนักเขียนการ์ตูนชาวไทยของเราก็ดูมีความสุขเหลือเกิน

soi05

สบายสบาย
คืนนั้นมีผู้ร่วมเดินในซอยสบายคับคั่ง มากกว่าที่ผมคาดไว้ และส่วนใหญ่เป็นชาวญี่ปุ่น บางคนถึงขั้นลงทุนจับรถมาจากเมืองอื่นไกล ๆ นักเรียนไทยในญี่ปุ่นผู้น่ารักสี่ห้าคนสังสรรค์กันอย่างออกรส พลางจ่อกล้องดิจิทัลเก็บภาพความสบายไปเรื่อย ๆ ผู้ใหญ่บางท่านจากสถานทูตไทยและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยต่างยืนมองความครื้นเครงของเด็กหนุ่มสาวด้วยรอยยิ้ม ผมได้ยินคนญี่ปุ่นบางคนพูดภาษาไทย คนไทยบางคนพูดภาษาญี่ปุ่น ฝรั่งบางคนพูดภาษาเขมร (อันนี้ไม่ยืนยันเพราะหูอาจจะหลอนจากฤทธิ์แอลกอฮอล์นิด ๆ) โดยรวมมันเป็นคืนแห่งการรวมมิตรทางวัฒนธรรมที่น่าประทับใจ

สำหรับผม ซอยสบายคืนนั้นจบลงตอนเช้าตรู่ของวันรุ่งขึ้น ไม่เคยนึกว่าผมจะได้เห็นแสงอาทิตย์รุ่งสางแผ่กระจายไปทั่วฟ้าโอซาก้าชนิดคาหนังคาเขา

ขณะนั่งอยู่ในรถยนต์ที่กำลังเคลื่อนตัวบนถนนใหญ่ใจกลางเมือง ผมนึกถึงงานซอยสบายพลางมองไปรอบๆ และอดไม่ได้ที่จะนึกเปรียบเทียบ “ถนน” กับ “ซอย”
“ซอย” ไม่มีไฟจราจร
ดังนั้น “ซอย” ไม่มีไฟแดง
“ซอย” สบาย เพราะซอยไม่มีกฎเกณฑ์สมมุติที่สร้างขึ้นกั้นความสัมพันธ์ใด ๆ มากเท่าถนน
ได้แต่หวังว่ามันจะไม่กลายเป็นซอยตันเข้าสักวันหนึ่ง

หมายเหตุ : งาน “ยินดีต้อนรับสู่ซอยสบาย” ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยอย่างอบอุ่น ขอบคุณอาจารย์อภินันท์ โปษยานนท์ เป็นอย่างสูงในความเอื้อเฟื้อ