ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

“แล้วจะเกิดอะไรขึ้นอีกหลังจากนั้น” หนึ่งในสองชายหนุ่มเอ่ยถาม
“เทวทูตสององค์จะลงมารับพวกนายไป” คือคำตอบ
“แน่ใจนะ ?” สองหนุ่มถามย้ำ
“แน่นอน” ผู้ตอบยืนยันอย่างหนักแน่น

Paradise Now  สวรรค์สุดเอื้อมของมือระเบิดพลีชีพแม้บทสนทนาในช่วงต้นค่อนกลางของหนังปาเลสไตน์เรื่อง Paradise Now (๒๐๐๕) ท่อนนี้จะยาวแค่ไม่กี่ประโยค แต่มันสามารถก่อให้เกิดคำถามตามมามากมาย โดยเฉพาะเมื่อฝ่ายแรกเป็นชายชาวปาเลสไตน์ที่ได้รับมอบหมายให้ไปปฏิบัติการวางระเบิดพลีชีพในกรุงเทลอาวีฟ และฝ่ายหลังเป็นตัวแทนขบวนการก่อการร้ายเจ้าของแผนต่อต้านอิสราเอลครั้งนี้ !

…ข้อความสนทนาดังกล่าวตั้งคำถามเกี่ยวกับ “การวางระเบิดพลีชีพ” ถึง ๓ ประเด็นพร้อมกัน : คนบางคนคิดอะไรจึงตัดสินใจรับงานที่ล้างผลาญทั้งชีวิตตนเองและผู้อื่น ?, ขบวนการใช้เกณฑ์ใดในการคัดเลือกว่าใครควรเป็นผู้ลงมือ ? และพวกเขาถูกโน้มนำด้วยความศรัทธาอันแรงกล้าที่มีต่อศาสนาใช่ไหม ?

“ขึ้นสวรรค์ทันทีทันใด” อาจเป็นเป้าหมายสูงส่งที่กล่อมเกลาใจให้ชายหนุ่มหลายคนสิ้นความลังเลในการไปเป็นมือวางระเบิด และก็อาจเป็นข้ออ้างที่คนศาสนาอื่นใช้ประณามศาสนาอิสลามเสมอมาว่า เป็นศาสนาแห่งความรุนแรงและงมงาย แต่ Paraside Now ไม่ใช่หนังที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อกระโดดเข้าร่วมในกระแสนั้น ทว่าสิ่งที่มันทำกลับคือการกระตุกให้เราหยุดและกระตุ้นให้เราหันมาพินิจพิเคราะห์อย่างจริงจังว่า บุคคลที่โลกประทับตราว่าเป็น “ผู้ก่อการร้าย” นั้น สมควรแล้วหรือที่จะถูกพิพากษาด้วยทัศนคติเหมารวมอันคับแคบ ?

Paradise Now เล่าเหตุการณ์พลิกผันในช่วงเวลา ๒ วันของซาอิดกับคาเล็ด สองหนุ่มเพื่อนซี้วัย ๒๐ กว่าๆ ชาวปาเลสไตน์ที่เลี้ยงตัวไปวันๆ ด้วยงานซ่อมรถอันน่าเบื่อหน่ายในเขตเวสต์แบงก์ ทุกอย่างเปลี่ยนไปเมื่อจามาล คุณครูผู้เป็นหนึ่งในแกนนำของขบวนการต่อต้านอิสราเอล (ซึ่งในหนังไม่ระบุชื่อกลุ่ม) นำข่าวมาบอกว่า ทั้งสองได้รับเลือกให้ไปวางระเบิดพลีชีพสังหารชาวอิสราเอลครั้งใหญ่ในวันรุ่งขึ้น จากนั้นพวกเขาก็ถูกนำตัวเข้าสู่พิธีกรรมที่เริ่มด้วยการอธิบายแผนการ กระตุ้นเร้าให้ฮึกเหิม สวดภาวนา โกนหัว โกนขนจนร่างกายบริสุทธิ์เกลี้ยงเกลา จากนั้นก็สวมเสื้อสูทผูกไท กินอาหารมื้อสุดท้าย และทำใจให้สงบรอเวลาที่คำสั่งมาถึง

ขั้นตอนเตรียมตัวสู่การเป็นมือระเบิดพลีชีพที่ว่านี้ ถูกถ่ายทอดอย่างเรียบง่ายและเคร่งขรึม ให้ทั้งความรู้สึกน่าตกใจ น่าหวาดผวา และแน่นอนว่าชวนให้ผู้ชมขบคิดผูกโยงไปกับพิธีกรรมของศาสนาอิสลามอย่างยากจะเลี่ยง ซึ่งนั่นต้องถือเป็นความกล้ามากของ ฮานี อาบู-อาสซัด ผู้กำกับ-เขียนบทหนังเรื่องนี้ จนไม่น่าแปลกใจเลยที่เขาถูกตั้งข้อสงสัย ถูกจับตามอง และถูกข่มขู่ด้วยความไม่ไว้ใจจากทั้งกองทัพอิสราเอลและชาวปาเลสไตน์ตั้งแต่วันที่หนังเปิดจนถึงปิดกล้อง (เขาเล่าเองว่า นอกจากระหว่างถ่ายทำจะต้องคอยหนีตายจากจรวดของอิสราเอลแล้ว ยังมีมือปืนชาวปาเลสไตน์มาขู่ให้เลิกถ่ายทำ ตามด้วยการที่ผู้จัดการกองถ่ายโดนลักพาตัว จนเขาต้องขอความช่วยเหลือจาก ยัสเซอร์ อาราฟัต ประธานาธิบดีของปาเลสไตน์ในขณะนั้น !)

แล้วอาบู-อาสซัดมีเจตนาอะไรล่ะจึงคิดทำหนังที่พูดเรื่องท้าทายว่าด้วย “เบื้องหลังของมือระเบิดพลีชีพ” แบบนี้ ?

อาบู-อาสซัด (ซึ่งเกิดและโตในปาเลสไตน์จนถึงอายุ ๑๙ จึงอพยพไปเนเธอร์แลนด์) ให้สัมภาษณ์ว่า เดิมทีเขาก็มีความคิดไม่ต่างจากชาวโลกทั่วไป ที่เชื่อว่าเด็กหนุ่มมุสลิมผู้เลือกเส้นทางของการเป็นมือวางระเบิดนั้นต้องถูกล้างสมองจนฟั่นเฟือน แต่แล้วเมื่อเขามีโอกาสกลับไปเยือนบ้านเกิด อาบู-อาสซัดก็พบด้วยความตกใจว่า แท้จริงแล้วตัวเขาไม่รู้อะไรเกี่ยวกับปัญหาระหว่างปาเลสไตน์กับอิสราเอลที่ทับถมหมักหมมมานานปีเลย !

movie2

ด้วยความรู้สึกถึงความไร้รากอย่างสิ้นเชิงของตนเอง บวกกับความสงสัยว่า เพราะอะไรภาพมือวางระเบิดที่ตายไปแล้วจึงถูกนำมาทำโปสเตอร์ประดับประดาทั่วปาเลสไตน์อยู่เสมอ อาบู-อาสซัดจึงออกหาข้อมูล โดยเริ่มจากการไปพูดคุยกับญาติมิตรของผู้ตายเหล่านั้น ตามด้วยการศึกษาประวัติพวกเขาจากแฟ้มตำรวจ และซักถามทนายความผู้เคยว่าความให้มือวางระเบิดที่ปฏิบัติงานล้มเหลว (และถูกจับติดคุกอยู่ในอิสราเอล) ซึ่งข้อมูลทั้งหมดที่ได้ก็ส่งผลให้ทัศนคติของเขาเปลี่ยนแปลงไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ

“ผมได้พบว่า เพียงแค่คุณเริ่มต้นด้วยการให้ความเคารพพวกเขา คุณก็จะได้รับความเป็นมิตรกลับคืนมาอย่างที่ไม่เคยนึกถึง” อาบู-อาสซัดเล่า “แต่ถ้าคุณถือว่าตัวเองเหนือกว่าและมองพวกเขาว่าเป็นคนบ้าคลั่งที่สมควรถูกกำจัดทิ้ง คุณก็จะพลาดโอกาสของการได้รับฟังเหตุผล และคุณก็จะไม่มีวันรู้เลยว่า การรับฟังนั้นสามารถนำมาซึ่งความเข้าใจกันและกันได้มากแค่ไหน”

การหาข้อมูลอย่างลงลึกเช่นนี้เองที่ทำให้อาบู-อาสซัดทำ Paradise Now ออกมาเป็นหนังซึ่งพูดถึงการก่อการร้ายได้หลากหลายด้านและน่าใคร่ครวญเป็นอย่างยิ่ง

ความโดดเด่นข้อแรกของ Paradise Now คือการลบล้างภาพ “มนุษย์กระหายเลือด” ออกไปจากตัวละครผู้ก่อความไม่สงบ ซาอิดกับคาเล็ดเป็นเพียงเด็กหนุ่มธรรมดาๆ ในสังคมชั้นล่างที่ประคองชีวิตแต่ละวันให้ผ่านไปอย่างไม่มีจุดหมาย เราเห็นพวกเขาพยายามเอาใจเจ้าของอู่ซ่อมรถเพื่อแลกกับการได้งานทำ เห็นพวกเขาฉุนขาดเมื่อเจอลูกค้าจุกจิกเรื่องมาก เห็นพวกเขาสูดดมกัญชาน้ำเพื่อความหรรษาเล็กๆ น้อยๆ เห็นพวกเขาหัวเราะงอหายกับเรื่องสัพเพเหระ และเห็นพวกเขาเขินอายเมื่อหญิงสาวที่หมายปองแวะเวียนมาหา ฯลฯ

แต่พร้อมๆ กับที่บ่งบอกความเป็นคนธรรมดา รายละเอียดในชีวิตประจำวันเหล่านั้นของชายหนุ่มทั้งสองก็สะท้อนสภาพสังคมปาเลสไตน์อย่างน่าสะเทือนใจด้วย สิ่งที่พวกเขาเผชิญอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันไม่ได้มีเพียงความยากจน ทว่าคือความรู้สึกสิ้นหวัง ไร้ค่า ไร้อนาคต อันเป็นสิ่งที่บั่นทอนจิตใจอย่างลึกซึ้งกว่าความยากไร้ภายนอกมากนัก

มีหลายฉากที่เปิดเผยความเป็นมนุษย์ของตัวละครและแสดงความเป็นจริงของสังคมไปด้วยพร้อมกัน เช่น ฉากคาเล็ดเข้าไปในร้านอาหารแล้วได้ยินลูกค้าโต๊ะข้างๆ แช่งชักหักกระดูกชาวต่างชาติด้วยอารมณ์กราดเกรี้ยว จนเขาทนฟังไม่ไหวจึงแย้งขึ้นว่า “แกแช่งให้พวกเขาตาย แล้วไม่คิดหรือไงว่าลูกเมียพวกเขาจะเป็นยังไงกันต่อ ?” โดยชายคนนั้นโต้ตอบกลับว่า “แล้วแกเดือดร้อนอะไรด้วยวะ แกเป็นพวกมันรึไง ?”

movie3

…อีกเช่นกันที่บทสนทนาสั้นๆ นี้สามารถบ่งบอกทั้งด้านอ่อนไหวของคาเล็ด ชี้ให้เห็นทัศนคติของคนทั่วไปในการมองคนต่างชนชาติเป็น “คนอื่น” อันเป็นรากฐานหนึ่งของปัญหาความรุนแรง และยังตั้งคำถามสำคัญยิ่งด้วยว่า แล้วคาเล็ดมองปฏิบัติการของตนที่จะเกิดในวันรุ่งขึ้นว่าอย่างไร ? เขาฉุกคิดไหมว่าเขาเองก็กำลังจะมีส่วนผลักดันให้วงจรแห่งความเกลียดชังนี้หมุนวนต่อไปไม่สิ้นสุด ?

หนังไม่เพียงเสนอภาพซาอิดกับคาเล็ดในฐานะคนธรรมดาผู้กระโจนเข้าสู่วงจรด้วยความลังเลไม่แน่ใจเท่านั้น แต่ยังลดทอนภาพ “ความศักดิ์สิทธิ์” ของขบวนการก่อความไม่สงบด้วย มีหลายช่วงชวนให้เราคิดว่า บางทีเหตุผลที่พวกเขาเลือกซาอิดกับคาเล็ดมาเป็นมือปฏิบัติงานครั้งต่อไปนั้น อาจไม่เกี่ยวอะไรนักกับอุดมการณ์หรือความศรัทธาหรือการได้รับสิทธิพิเศษอันสูงส่งอย่างที่จามาลพยายามอธิบาย แต่อาจแค่เพราะทั้งคู่คือตัวเลือกง่ายๆ ของภารกิจเสี่ยงตายที่เหมาะกับ “คนซึ่งอยู่ต่อไปก็ไม่มีอนาคต” เท่านั้น !

อีกหนึ่งฉากเด่นที่หลอนความรู้สึกเพราะทั้งตลกร้ายและสะเทือนใจอย่างแรง คือฉากคาเล็ดถูกพาตัวเข้าไปในห้องลับเพื่อกล่าวแถลงการณ์ต่อหน้ากล้องวิดีโอ (โดยที่เขาไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจใดๆ มาก่อน) เขาก้มอ่านบทอย่างงงๆ และพยายามทำใจแสดงท่าทางฮึกเหิม จนในที่สุดก็โน้มน้าวให้ตัวเองคล้อยตามข้อความที่มีคนเขียนให้นั้นได้สำเร็จ แต่หลังจากพูดจบ สมาชิกร่วมขบวนการกลับบอกหน้าตาเฉยว่า ขอให้อ่านใหม่หมดอีกรอบเพราะเมื่อกี้กล้องไม่ทำงาน ! ซ้ำร้าย ในรอบที่สองขณะพยายามเอ่ยแถลงการณ์อย่างตะกุกตะกัก คาเล็ดก็ต้องชะงักกึกเมื่อทีมงานที่ยืนรุมล้อมดูการถ่ายวิดีโออยู่ แกะของว่างที่แม่ของเขาทำมาให้ (ด้วยความเข้าใจผิดว่าลูกชายกำลังจะไปหางานดีๆ ทำในอิสราเอล) แล้วแจกจ่ายกันกินอย่างไม่แยแสความรู้สึกของคาเล็ดเลย

อาบู-อาสซัดไม่ได้กำลังจะสรุปความว่า การก่อการร้ายและการเป็นมือระเบิดพลีชีพเป็นภารกิจเหลวไหลน่าขัน ตรงกันข้าม ในเวลาเดียวกับที่ทำให้เราเห็นความเป็นปุถุชนของผู้คนเหล่านี้ หนังก็สอดแทรกคำอธิบายลงไปในปูมหลังและบทพูดต่างๆ ของตัวละคร เพื่อเปิดเผยถึงเหตุผลจริงๆ ของพวกเขาในการตัดสินใจเลือกเส้นทางแห่งความรุนแรงด้วย

แม้เรื่องราวใน Paradise Now จะครอบคลุมระยะเวลาสั้นๆ คือนับจากตอนที่ซาอิดกับคาเล็ดได้รับคำสั่งไปจนถึงตอนลงมือ แต่กลับถ่ายทอดปัญหาความขัดแย้งอันซับซ้อนของอิสราเอลกับปาเลสไตน์ได้อย่างคมคาย ซาอิดกับคาเล็ดนั้นเป็นตัวแทนของชาวปาเลสไตน์ที่ถูกอิสราเอลกระทำย่ำยีมานาน จนถมทับกลายเป็นความรู้สึกไร้พลังอำนาจและเจ็บปวดอับอายที่ตนไม่อาจเรียกร้องหรือกอบกู้อะไรได้ การตอบโต้ด้วยการล้างผลาญชีวิตของ “อีกฝ่าย”–แม้จะไม่แน่ใจว่ามันถูกต้องหรือนำไปสู่การแก้ปัญหาจริงไหม–จึงถูกใช้เป็นหนทางระบายความคับแค้นที่ดีที่สุดเท่าที่พวกเขาจะสามารถนึกถึง

การระเบิดความรู้สึกของซาอิดในฉากหนึ่งแสดงประเด็นนี้อย่างหนักแน่น “พวกมันทำเรามามากขนาดนี้ แต่ยังกล้าประกาศให้โลกคิดว่ามันคือฝ่ายที่ตกเป็นเหยื่อ แล้วพวกเราจะมีทางเลือกอะไรอีกล่ะ นอกจากเล่นบทเป็นเหยื่อซะบ้าง และก็ตอบโต้พวกมันด้วยความตายที่เลวร้ายพอๆ กัน !”

“การไร้ทางเลือก” คือประเด็นที่หนังตอกย้ำหลายครั้ง ไม่ใช่ด้วยจุดประสงค์ที่จะให้คนดูพลอยเห็นดีเห็นงามกับการใช้ความรุนแรง แต่เพื่อให้เราเรียนรู้ที่จะรับฟังและเข้าใจความคับข้องของผู้คนที่ถูกกระทำในฐานะเบี้ยล่าง อาบู-อาสซัดไม่ได้มุ่งให้ความชอบธรรมแก่การก่อการร้าย แต่เขาพยายามให้ความชอบธรรมแก่มนุษย์ตัวเล็กๆ ซึ่งถูกผลักดันเข้าสู่หนทางนี้ด้วยเงื่อนไขมากมายที่คนภายนอกมักมองข้าม

ชาวปาเลสไตน์เคยเป็นเจ้าของแผ่นดิน แต่ชาติมหาอำนาจอย่างอังกฤษกับอเมริกากลับหนุนหลังให้ชาวยิวอพยพเข้ามาครองและก่อตั้งประเทศอิสราเอลบนแผ่นดินของพวกเขา ซ้ำยังขับไล่พวกเขาจนกลายเป็นคนแปลกแยกบนบ้านเกิดตัวเอง ที่ดินทำกินถูกยึด อิสรภาพถูกล้อมรั้ว ทุกทิศมีแต่ป้อมและด่านทหาร งานกลายเป็นของหายาก โอกาสที่จะมีชีวิตมั่นคงเหลือแค่ริบหรี่ ไม่ต้องถามถึงศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ว่าจะหลงเหลืออยู่แค่ไหน …ถ้าการถูกกดทับทุกด้านเช่นนี้เป็นเรื่องชอบธรรมในสายตาของชาวโลกแล้ว การใช้วิถีแห่งความรุนแรงเพื่อประกาศให้โลกหันมาฟังพวกเขาบ้าง มันจะไม่ใช่วิธีที่ถือว่ามีความชอบธรรมบ้างเชียวหรือ ?

movie5

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าอาบู-อาสซัดไม่ฝันถึงสันติระหว่างชาวยิวกับอาหรับในบ้านเกิดของเขาเลย เขาสร้างตัวละครอีกหนึ่งคนที่มาบอกกล่าวความคิดนี้ นั่นคือ ซูฮา หญิงสาวผู้ซึ่งด้านหนึ่งเป็นตัวแทนของบรรดาคนชั้นกลางที่มองโลกในมุมเจือฝัน เธอเป็นชาวปาเลสไตน์ที่เกิดในฝรั่งเศสและโตในโมร็อกโก จึงพกพาเอาความคิดเรื่องสันติภาพแบบตะวันตกกลับมาด้วย ขณะที่อีกด้าน เธอก็มีปูมหลังเป็นลูกสาวของนักต่อสู้ที่ชาวปาเลสไตน์เทิดทูน แต่เธอกลับไม่ยกย่องวิถีแห่งการก่อการร้าย และยังพยายามเกลี้ยกล่อมให้คาเล็ดเห็นว่า การตอบโต้ด้วยความรุนแรงและความตายไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เพราะมันมีแต่จะทำให้ความเกลียดชังเพิ่มมากขึ้นและทวีความซับซ้อนแก่ความขัดแย้งขึ้นไปอีก

Paradise Now ไม่ให้คำตอบชัดๆ อะไรเลยต่อประเด็นทั้งหมดนี้ ไม่มีบทสรุปประโลมใจเราให้เกิดความหวังว่า แม้โลกจะมีสีดำแต่ก็มีสีขาว อาจมีผู้ร้ายแต่ก็ยังมีพระเอกที่จะมายุติความบ้าคลั่งทั้งหลายได้ทันใจนึก แต่อาบู-อาสซัดเปิดพื้นที่ให้แก่ทุกคำโต้แย้งถกเถียงและท้าทายความรู้สึกของคนดูกลับไปกลับมาตั้งแต่ต้นจนจบว่า ความคิดความเชื่อของใครกันแน่ที่เราน่าจะเข้าข้าง จนกระทั่งถึงท้ายที่สุด เราก็จำต้องยอมรับอย่างไม่คุ้นชินว่า มันไม่ง่ายเลยสักนิดที่จะถือหางใคร ด้วยว่าคนทุกคนล้วนมีเหตุผลลึกล้ำของตนและเป็นเหตุผลที่เราต้องเคารพ แม้จะต่างกับความคิดเดิมๆ ของเราแค่ไหนก็ตามที

ในเวลาเดียวกับที่เราส่วนใหญ่มักเพ่งมองปัญหาความขัดแย้งด้วยความรู้สึกอันไร้เดียงสาว่า เป็นเรื่องไกลตัวและเป็นเรื่องเหลวไหลของมนุษย์ไม่กี่กลุ่ม ซาอิด, คาเล็ด, ชาวปาเลสไตน์ และผู้คนอีกมากมายในโลกกลับยังต้องทนอยู่ท่ามกลางความเป็นจริงที่โหดร้าย ไม่แค่ไม่มีผืนดินให้อยู่อย่างสงบใจ แต่พวกเขายังถูกทำลายอดีต ไร้ซึ่งปัจจุบัน ไม่มีความหวังถึงอนาคต ถอยหลังก็ไม่มีทางไป อยู่กับที่ก็เหมือนตกนรก เดินหน้าก็เห็นแต่ความตาย …

แล้วเราสมควรจะประเมินความหมายของการตัดสินใจทั้งหลายของคนที่มีชีวิตเช่นนั้นว่าอย่างไรดี ?