ปี 2020 คือปีที่วงการภาพยนตร์ต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญจากวิกฤตไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะกับตลาดที่ใหญ่ที่สุดอย่างสหรัฐอเมริกาที่หนังฟอร์มใหญ่ทุนสร้างมหาศาลต้องเลื่อนฉายออกไปไม่มีกำหนด โรงหนังเครือใหญ่เกือบทั้งหมดปิดการให้บริการ ค่ายหนังหลายค่ายเลือกจะนำหนังจำนวนหนึ่งเปิดฉายในระบบสตรีมมิ่ง และส่งผลให้บริการสตรีมมิ่งยอดนิยมอย่าง Netflix ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมากในปีนี้ ขณะที่นับเป็นครั้งแรกที่หนังทำเงินสูงสุดของปีตกเป็นของหนังจากประเทศจีนอย่าง The Eight Hundred ซึ่งทำเงินไปถึง 468 ล้านเหรียญฯ

5 ปัจจัยที่หนุน Demon Slayer เป็นหนังทำเงินแห่งปีของญี่ปุ่น

วงการภาพยนตร์ในหลายประเทศก็ประสบปัญหาไม่ต่างกัน ที่แม้จะมีหนังทำรายได้อยู่บ้าง แต่โดยรวมก็นับว่าน้อยลงกว่าช่วงจะเกิดวิกฤต

อย่างไรก็ตามวงการหนังของญี่ปุ่นปีนี้กลับมีหนังเข้าโรงภาพยนตร์ที่ทำเงินระดับปรากฎการณ์อย่าง Demon Slayer – Kimetsu no Yaiba – The Movie: Mugen Train อนิเมชั่นแอ๊คชั่นย้อนยุคที่เข้าฉายที่ญี่ปุ่นตั้งแต่ 16 ตุลาคม 2020 ซึ่งสร้างสถิติมากมายทั้งการเป็นหนังทำเงินวันแรก และสุดสัปดาห์เปิดตัวสูงสุด ที่ใช้เวลาเพียง 45 วันก็กลายเป็นหนังทำเงินสูงสุดตลอดกาลอันดับ 2 โค่นตำแหน่งเดิมที่เคยครองอย่าง Titanic(1997) ด้วยรายได้ 265 ล้านเหรียญฯ(ราว 27,510 ล้านเยน) และคาดว่าจะสามารถทำรายได้ชนะ Spirited Away หนังอนิเมชั่นที่ครองอันดับหนังทำเงินสูงสุดตลอดกาลของแดนอาทิตย์อุทัยด้วยรายได้ 30,800 ล้านเยน มาตั้งแต่ปี 2001 ได้ในที่สุด

ต่อไปนี้คือปัจจัยความสำเร็จของอนิเมชั่นเรื่องนี้ ที่วิกฤตของวงการภาพยนตร์กลับมีส่วนช่วยผลักดันให้หนังประสบความสำเร็จมหาศาล

demonslayer01

1.สร้างจากมังงะเรื่องดัง

Kimetsu no Yaiba หรือ Demon Slayer (ใช้ชื่อภาษาไทยว่า ดาบพิฆาตอสูร) เป็นผลงานของ โคโยฮารุ โกโตเกะ ซึ่งตีพิมพ์ในนิตยสารรายสัปดาห์ โชเน็น จัมพ์ มาตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2016 – พฤษภาคม 2020 เรื่องราวในยุคไทโช ที่ตัวเอกทันจิโร่ ลูกชายของคนขายฟืนซึ่งสูญเสียครอบครัวถูกอสูรฆ่าจนหมด ขณะที่น้องสาวกลายเป็นอสูรแต่ยังหลงเหลือจิตใจความเป็นคน เขามุ่งมั่นฝึกฝนวิชาดาบเพื่อเป็นนักล่าอสูร โดยมีเป้าหมายเพื่อทำให้น้องสาวกลับมาเป็นมนุษย์อีกครั้ง ซึ่งกลายเป็นมังงะที่ขายกว่า 14 ภาษาใน 33 ประเทศ กลายเป็นหนึ่งในมังงะที่ขายดีที่สุดตลอดกาลกว่า 120 ล้านเล่ม ถูกพัฒนาต่อยอดมีทั้งซีรี่ส์อนิเมชั่น, วิดีโอเกม, นิยายไลต์โนเวล, มังงะภาคแยก, และของสะสม

สิ่งที่เด่นอย่างมากของงานชิ้นนี้ที่แม้จะไม่ได้มีเนื้อเรื่องแตกต่างจากการ์ตูนสำหรับผู้ชายเรื่องอื่นๆ นักยังคงวนเวียนกับการต่อสู้ ล้างแค้นของตัวละครผู้ชาย แต่มังงะเล่าเรื่องค่อนข้างเร็วไม่เยิ่นเย้อ ก่อนผู้เขียนจะตัดสินใจจบเรื่องราวเพียง 23 เล่มขณะที่มังงะยังได้รับความนิยมในระดับสูงสุด ซึ่งต่างไปจากมังงะยอดนิยมเรื่องอื่นๆ ซึ่งเมื่อประสบความสำเร็จ ก็มักยืดเรื่อง สร้างตอนต่อใหม่ๆ จนผลงานกระแสตกลง แต่กลับ Demon Slayer การที่มังงะจบขณะที่อนิเมชั่นเพิ่งออกฉาย และมีกำหนดฉายในโรงภาพยนตร์แล้วกลับกลายเป็นการเกื้อหนุนซึ่งกันและกันให้คนสนใจซื้อมังงะมาอ่านต่อให้หายความสงสัยใคร่รู้เนื้อเรื่องที่ยังค้างคา และหาความแตกต่างกับฉบับมังงะ รวมถึงเมื่อตอนที่ภาพยนตร์เข้าฉาย ทางสำนักพิมพ์ชูเอฉะก็เลือกวางขายมังงะเล่มสุดท้ายในช่วงดังกล่าว

เรียวตะ ฟูจิตสึ นักวิจารณ์อนิเมะกล่าวถึงความสำเร็จของงานชิ้นนี้ว่าสารของเรื่องตรึงอารมณ์ได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่

“ทันจิโร่ตัวเอกของเรื่องแบกภาระอันหนักยิ่ง แต่เขาก็ยอมรับมันโดยไม่พร่ำบ่น ไม่ต่างจากที่เราเห็นคนที่เผชิญความไม่ยุติธรรมในชีวิตและสามารถเอาชนะได้ด้วยความพยายามและมุ่งมั่นซึ่งเสริมสร้างความรู้สึกแก่คนดูยุคนี้ ขณะเดียวกันอสูรในเรื่องก็มีปูมหลังในตัวเอง ไม่ใช่เพียงแค่ฉากตื่นเต้น แต่ยังรวมถึงเรื่องราวเหล่านี้ด้วย”

demonslayer02

2.กระแสตอบรับล้นหลามจากอนิเมชั่นทางโทรทัศน์

อนิเมชั่นเป็นผลงานสร้างของ Ufotable สตูดิโอซึ่งสร้างชื่ออย่างมากกับผลงานอนิเมชั่นเรื่อง Fate/stay night: Unlimited Blade Worksและกำกับโดย ฮารุโอะ โซโตะซากิ(Tales of Zestiria the X) ออกฉายในช่วงดึกทางสถานีโทรทัศน์ช่อง Tokyo MXระหว่างเมษายน-กันยายน 2019 โดยมีจำนวน 26 ตอน

ผลลัพธ์คือผู้สร้างสามารถดึงจุดเด่นของเนื้อเรื่องมีทั้งฉากตลกและสะเทือนใจได้อย่างครบถ้วน โดยมีงานภาพที่ทำออกมาได้สวยงามกว่าต้นฉบับ ขณะเดียวกันก็สร้างสรรค์ฉากต่อสู้ออกมามีเอกลักษณ์ รวมถึงทั้งสร้างความน่าตื่นตาตื่นใจในระดับทัดเทียมกับอนิเมชั่นฉายโรงภาพยนตร์ ซึ่งกระแสการตอบรับจากฉบับอนิเมชั่นนี้เองก็ยิ่งกระตุ้นให้ยอดขายมังงะขายดียิ่งกว่าเดิม

ขณะเดียวกันเพลงประจำเรื่องอย่าง Gurenge ของ LiSA ก็กลายเป็นเพลงฮิตขึ้นอันดับ 3 ในโอเรกอนชาร์ท ตัวอนิเมะสามารถคว้าถึง 8 รางวัลรวมถึงรางวัลใหญ่อย่าง อนิเมะทางโทรทัศน์ยอดเยี่ยมจาก Newtype Anime Awards อีกด้วย

demonslayer03

3.กลยุทธซีรี่ส์ควบหนัง

หนึ่งในกลยุทธ์ทางการตลาดของวงการหนังญี่ปุ่นที่นิยมทำมาตลอดหลายปีที่ผ่านมาคือการดัดแปลงนำซีรี่ส์โทรทัศน์ที่ประสบความสำเร็จไปสร้างเป็นภาพยนตร์ โดยมักให้มีบทสรุป หรือเหตุการณ์สำคัญ และมักมีฉากใหญ่ๆ กว่าในโทรทัศน์ ส่งจูงใจให้คนที่ติดตามมาต่อเนื่องอยากเสียเงินไปชมภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จของ Bayside Shakedown: The Movie(1998), Trick: The Movie (2002), Hana Yori Dango Final(2008) ซึ่งก็มักได้รับการตอบรับจากคนในประเทศเป็นอย่างดี

Demon Slayer – Kimetsu no Yaiba – The Movie: Mugen Train ซึ่งเป็นฉบับภาพยนตร์ก็ใช้กลยุทธ์เดียวกัน โดยการดำเนินเรื่องต่อเนื่องจากตอนจบของซีรี่ส์ทางโทรทัศน์ เป็นเหตุการณ์ที่ตัวเอกทั้งสามคนเดินทางเพื่อไปสะสางคดีที่มีคนสูญหายในขบวนรถไฟนิรันดร์ ทำให้ต้องเผชิญกับอสูรข้างแรมที่มีพลังกว่าที่เคยต่อสู้มา และยังเป็นหนึ่งในเหตุการณ์เด่นเหตุการณ์หนึ่งจากมังงะ

และด้วยการเป็นเพียงเหตุการณ์ย่อยเท่านั้น ทำให้ผู้ชมที่ไม่เคยชมจากฉบับโทรทัศน์สามารถทำความเข้าใจและติดตามเนื้อเรื่องได้ไม่ยากอีกด้วย

demonslayer04

4. ความหวังหลังโควิด-19

หลังวงการหนังญี่ปุ่นซบเซาเช่นเดียวกับอีกหลายประเทศ กลับกลายเป็นตัวช่วยให้คนตอบรับอนิเมชั่นความหวังเรื่องนี้ และกลายเป็นข้อได้เปรียบที่หนังฟอร์มใหญ่เรื่องอื่นๆ ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศเลื่อนฉายกันหมด อาทิ Detective Conan: The Scarlet Bullet หรือ No Time to Die โรงภาพยนตร์ทั่วประเทศญี่ปุ่นจึงฉาย Demon Slayer – Kimetsu no Yaiba – The Movie: Mugen Train เป็นหลักโดยเหลือหนังเด่นเรื่องอื่นๆ ที่เข้าฉายร่วมในช่วงเดียวกันไม่มากนัก

ประจวบเหมาะกับก่อนหน้าที่ทางการได้มีมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม โรงภาพยนตร์จะขายตั๋วได้เพียงครึ่งหนึ่งของที่นั่งทั้งหมด แต่ได้รับการอนุญาตใหม่แล้วให้ขายตั๋วได้เต็มทุกที่นั่งโดยมีเงื่อนไขว่าผู้ชมจะต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และสามารถกินป๊อปคอร์นและดื่มเครื่องดื่มได้เหมือนปกติ โดยอ้างผลการศึกษาที่พบว่า เชื้อไวรัสที่แพร่ผ่านฝอยละอองในอากาศจะมีปริมาณจำกัดในช่วงที่คนกำลังกินอาหาร

การเป็นความหวังจะช่วยกอบกู้ธุรกิจโรงหนัง ทำให้บางโรงวางโปรแกรมฉายเฉพาะหนังเรื่องนี้ โดยโรงภาพยนตร์ของโตโฮซึ่งเป็นโรงหนังเครือใหญ่ของประเทศจัดให้ในโรงย่านชินจูกุฉายเรื่องนี้ถึง 42 รอบในวันเดียว ไม่ต่างกับอีกหลายแห่งที่จัดโปรแกรมฉายเรื่องนี้ 30 รอบต่อวันเลยทีเดียว รวมทั้งสิ้น Demon Slayer เข้าฉายทั่วประเทศในสัปดาห์เปิดตัวถึง 403 โรง ซึ่งนับเป็น 80% ของโรงหนังในญี่ปุ่น

ขณะเดียวกันแม้จะมีฉากรุนแรงน่ากลัวอยู่มากที่ไม่เหมาะกับเด็ก แต่ก็ถูกวางเป็นโปรแกรมสำหรับครอบครัวที่เด็กดูได้ ผู้ใหญ่ดูดี ทำให้กลายเป็นหนังที่วางตลาดวงกว้างชมได้ทุกเพศทุกวัย

ฮิโระ โอตากะ นักข่าววงการภาพยนตร์ให้ความเห็นว่าการมาของหนังเรื้องนี้นับว่าต่างไปจากปกติ เดิมโรงหนังมัลติเพล็กซ์ต้องการหนังที่ทำเงินอยู่แล้ว หากในอดีตก็จะสร้างสมดุลด้วยการมีหนังเรื่องอื่นเข้ามาแทนโปรแกรมเดิม แต่ในสถานการณ์ตอนนี้ไม่มีหนังฟอร์มใหญ่เรื่องอื่น มันจึงถูกยืนระยะการฉายได้นานกว่า

“ถึงจะผ่านไปหลายวันหลังจากการวันเปิดตัว แต่จำนวนผู้ชมไม่ตกลงเลย มันเหมือนถูกกำหนดให้ทำเงินผ่านหลัก 25,000 ล้านเยน”

แต่แน่นอนด้วยปัจจัยเพียงเท่านั้น หากหนังไม่ได้น่าสนใจเพียงพอก็คงกระแสตกไปอย่างรวดเร็ว แต่เพราะตัวงานเองได้รับคำชมแบบปากต่อปากนั่นเองทำให้งานชิ้นนี้กู้วิกฤตวงการหนังได้จริงๆ

demonslayer05

5.ช่องทางออนไลน์ กับกระแสตอบรับในต่างประเทศ

อีกปัจจัยที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทำให้กระแสของอนิเมชั่นเรื่องนี้ได้รับความสนใจทั่วโลก ทั้งการทำเงินในไต้หวัน, ฮ่องกง รวมถึงในประเทศไทย(ที่กวาดรายได้แล้วกว่า 30 ล้านบาทจากการฉายในสัปดาห์แรก สูงกว่าหนังอนิเมชั่นจากญี่ปุ่นทั่วไปที่มักมีกลุ่มคนดูเฉพาะ) ก็มาจากช่องทางแบบถูกลิขสิทธิ์ทางออนไลน์ทั้งการจำหน่ายการ์ตูน และชมซีรี่ส์อนิเมชั่นเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นทาง Netflix และอีกหลายช่องทางซึ่งทำให้เกิดผลตอบรับในวงกว้างกว่าการฉายเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น

เดิมก่อนหน้านี้หลายปีก่อนสถานการณ์หนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นแบบถูกลิขสิทธิ์ของประเทศไทยอยู่ในภาวะซบเซา หลายสำนักพิมพ์ลดการจำหน่ายเนื่องจากผลกระทบจากการละเมิดลิขสิทธิ์ทางออนไลน์ และร้านขายหนังสือการ์ตูนที่ปิดตัวลงไปมาก แต่หลังจากสำนักพิมพ์ต่างๆ เริ่มปรับตัวทยอยนำการ์ตูนวางขายทางออนไลน์ทั้งในแบบตัวเล่ม และอีบุ๊ค ก็ทำให้มียอดซื้อดีขึ้นมาก รวมไปถึง “ดาบพิฆาตอสูร” ที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีรับกระแสผ่านช่องทางออนไลน์พอดี

การฉายผ่านบริการสตรีมมิ่งยังแสดงให้เห็นถึงความนิยมของอนิเมชั่นเรื่องนี้ โดย Demon Slayer ถึง 1 ใน 10 อันดับงานยอดนิยมทาง Netflix นานหลายสัปดาห์ เมื่อภาพยนตร์เข้าฉายซีรี่ส์เรื่องนี้ก็กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง เป็นการประชาสัมพันธ์สะท้อนให้เห็นถึงความน่าสนใจของภาพยนตร์เรื่องนี้ไปในตัว

เรียวตะ ฟูจิตสึ นักวิจารณ์ฺอนิเมะเสริมว่า “ช่องใหญ่ๆ มีการควบคุมสื่อที่จะออกฉายทางช่องอย่างเข้มงวด แต่รายการรอบดึกเปิดโอกาสให้ทีมงานสร้างมีอิสระและถ่ายทอดแง่มุมศิลปะผ่านผลงานได้ง่ายกว่า แม้ว่าผู้ชมจะน้อยกว่าช่วงเวลาอื่น แต่เมื่อผลงานได้เผยแพร่ผ่านออนไลน์ หรือสื่ออื่นๆ มันก็จะเข้าถึงคนดูทั่วประเทศได้ เช่นเดียวกับ Demon Slayer ที่หลังออกอากาศก็ได้ฉายทางช่องสตรีมมิ่ง และได้รับผลตอบรับในวงกว้างครับ”

ข้อมูลจาก