นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

“ตัวกูของกู กูปล่อยวางแล้ว”
“I’ve let go of the ‘I and Mine.’ “ “เมื่อมีสิ่งนี้ จึงมีสิ่งนั้น มันเกี่ยวเนื่องกันเป็น อิทัปปัจจยตา”
“Because this arises. That comes into being. It’s the wheel of Inter-connectedness.”

“อย่าทุรนร้อน ทุกอย่างเป็นเช่นนั้นเอง ตถตา”
“Be not distressed. For things are as they are-It’s Suchness”

ข้อความข้างต้นยกมาจากนิทานประกอบภาพขนาดสั้นเรื่อง “ชายผู้ขี่ม้าอย่างมีจุดหมาย” (The Rider with a Destination) ในสมุดบันทึกนิทานมูลนิธิเด็กประจำปี ๒๕๔๙ ที่ชื่อว่า ๑๐๐ ปีพุทธทาส อันเป็นหนังสือการกุศลประจำปีของมูลนิธิเด็ก นิทานเรื่องนี้เขียนโดย ชมัยภร แสงกระจ่าง ภาพโดย สุชาติ วงษ์ทอง แปลเป็นภาษาอังกฤษโดยคุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์

ท่านอาจารย์ประเวศ วะสี เขียนไว้ตอนท้ายสมุดบันทึก ความตอนหนึ่งว่า

“ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุเป็นมหาบุรุษ คำสอนของท่านจะช่วยให้มนุษย์ก้าวล่วงวิกฤตการณ์ใหญ่แห่งปัจจุบันสมัยไปได้”

นิทานเรื่องนี้มีใจความสำคัญว่า “เขามิได้เป็นชายผู้ขี่ม้าโดยไร้จุดหมาย แต่เป็นชายผู้ขี่ม้าโดยมีจุดหมายแจ่มชัด” ดำเนินเรื่องในลักษณะนิทานซ้อนนิทาน เล่าเรื่องท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุเล่านิทานเรื่อง “ชายผู้ขี่ม้า” รายละเอียดเป็นเช่นไร กรุณาไปหาซื้ออ่าน

หากจุดหมายของชีวิตแจ่มชัด พวกเราก็จะทำอะไรที่สมควรทำ รีบทำอะไรที่สมควรทำขณะมีเวลาให้ทำ

ในทางตรงข้าม เพราะพวกเราทำอะไรที่สมควรทำ รีบทำอะไรที่สมควรทำขณะมีเวลาให้ทำ จุดหมายของชีวิตจึงแจ่มชัด

อะไรประมาณนี้แหละครับ อิทัปปัจจยตา

จิตวิทยา : มหาบุรุษ

ผมเคยฟังท่านพุทธทาสเทศน์เพียงครั้งเดียวในชีวิต เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๑๖ และเคยฟังท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) เทศน์เพียงครั้งเดียวในชีวิตเช่นกัน เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๔๖ นี้เอง

เป็นสองครั้งในชีวิตที่รู้สึกว่าได้พบมหาบุรุษ

ผมขออนุญาตพูดถึงท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ไปด้วยกัน เพราะคนรุ่นใหม่รู้จักและมีโอกาสพบท่าน คงช่วยให้เห็นภาพชัดขึ้น

ถามว่ามหาบุรุษคืออะไร ผมก็ไม่แน่ใจหรอกครับ เอาเป็นว่าขณะที่นั่งฟังสองท่านเทศน์อยู่นั้น ในใจจะคิดว่า “คนอะไร ฉลาดปราดเปรื่องขนาดนั้น ดูสะอาดบริสุทธิ์ขนาดนั้น”

ทั้งสองท่านได้เทศนาคำสอนที่ผมไม่เคยได้ยินจากที่อื่น หรือที่เคยได้ยินได้ฟังมาบ้างแล้ว ท่านก็เทศนาได้กระจ่างกว่า ที่สำคัญ ดูท่านนิ่ง สงบ บริสุทธิ์ ไม่มีอาการส่อแววว่าเป็นเว่อร์หรือหลงใหลได้ปลื้มกับอะไรเลย แม้กระทั่งกับคำสอนของตนเอง

คนฉลาดและคนเก่งมักจะเว่อร์ในตอนท้ายด้วยความหลงตนเอง

คนฉลาดและคนเก่งแถมมีอิทธิพลเหนือคนอื่นมักจะเว่อร์ง่าย หลงตนเองง่ายยิ่งขึ้น

o02

แต่ท่านทั้งสองไม่มีวี่แววว่าจะเป็นเช่นนั้นเลย ผิดกับฮ่องเต้และจอมเผด็จการหลายท่านในอดีต รวมทั้งประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีของหลายประเทศในปัจจุบัน

มีตัวการ์ตูนอยู่ตัวหนึ่งที่ผมไม่ค่อยจะเชื่อเลยว่าจะมีจริง ๆ ได้ นั่นคือ ซูเปอร์แมน สาเหตุเพราะซูเปอร์แมนนั้นมีความสามารถในระดับที่เรียกว่าเกือบจะ Omnipotence นั่นคือ เก่งทุกอย่าง ได้ทุกเรื่อง ความสามารถที่ไม่มีขีดจำกัดขนาดนี้ย่อมนำมาซึ่งความหลงผิดว่าตนเองยิ่งใหญ่ อย่างที่เรียกว่า Delusion of Grandeur ไม่ช้าก็เร็ว และจบลงด้วยอาการทางจิตสมบูรณ์แบบอย่างที่เรียกว่า Megalomania ไม่เร็วก็ช้า

ซึ่งเป็นสิ่งที่มักจะเกิดขึ้นกับบรรดาท่านผู้นำทั้งหลายอยู่เสมอ

บุคคลที่มีความสามารถสูงล้ำและมีอิทธิพลเหนือผู้คนจำนวนมาก สามารถชี้นำทางสว่างให้แก่ผู้คนจำนวนมาก โดยสามารถประคองตนเอาไว้ที่ตรงกลาง ๆ ตลอดเวลา นี่กระมังที่เรียกว่า มหาบุรุษ

อันที่จริงอภิมนุษย์เช่นซูเปอร์แมนก็สามารถเป็นมหาบุรุษได้ด้วยนะครับ ถ้าไม่เฉไฉไปเสียก่อน แต่ในอดีตที่ผ่านมา ซูเปอร์แมนเฉไฉหลายครั้งเลยทีเดียว

ผมคิดว่ามหาบุรุษที่แท้ไม่เพียงสามารถชี้ทางสว่างให้คนส่วนมาก ประคองตนอย่างเหมาะสม และจริยธรรมมั่นคง แต่ต้องมีความกล้าหาญอีกด้วย

ท่านพุทธทาสและท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ที่ผมได้สัมผัสเป็นผู้มีความกล้าหาญ ตามประวัติพบว่าท่านกล้าหาญที่จะพูดต่างจากผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกล้าหาญที่จะพูดแย้งเมื่อพบว่ามีคนพูดถึงพุทธศาสนาในทางที่ไม่ถูกต้อง

ตรงนี้แหละครับที่สังคมไทยขาดอย่างมาก

พวกเราส่วนใหญ่มักไม่พูดแย้งเมื่อพบว่าผู้ใหญ่พูดผิดทำผิด มิใช่เป็นกันเฉพาะในคณะรัฐมนตรี แต่ที่แท้แล้วเป็นกันมากในหลายกระทรวงทบวงกรม หลายจังหวัด หลายบอร์ด หลายโรงพยาบาล และหลายโรงเรียน

เพราะเรื่องนี้แหละครับจึงสมควรอย่างยิ่งที่จะเรียกท่านพุทธทาสและท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ว่าเป็นมหาบุรุษ เพราะท่านทั้งสองเคยแสดงให้สังคมไทยประจักษ์ว่า เมื่อท่านพบอะไรไม่ถูกก็ต้องเข้าแก้ไข ท่านเป็นปราชญ์ ท่านจึงแก้ไขด้วยวิถีของปราชญ์ นั่นคือการให้ความรู้แก่สังคม

ที่สำคัญคือท่านกระทำไปด้วยความสงบนิ่งและเมตตากรุณา ไม่มีอาการฉุนเฉียวแสดงอารมณ์หรือยกตนข่มท่านแต่อย่างใดเลย

เวลาฉลองวันเกิดบุคคลสำคัญ ไม่น่าจะสักแต่ว่าฉลองวันเกิด แต่ควรศึกษาชีวิตของบุคคลผู้นั้นให้รู้ว่าท่านทำอะไร ท่านคิดอะไร และท่านตั้งใจบอกคนรุ่นต่อไปว่าอย่างไร

ท่านทำอะไรนั้นมีหลักฐานกันอยู่ ท่านคิดอะไรหาอ่านได้จากผลงานที่ทิ้งเอาไว้ แต่ท่านตั้งใจจะบอกคนรุ่นต่อไปว่าอย่างไรนี้ยากหน่อย

ยากตรงที่ว่าพวกเราได้ยินหรือไม่