ธิกานต์ ศรีนารา : รายงาน / วิจิตต์ แซ่เฮ้ง : ถ่ายภาพ

หนังสือปฏิวัติ : สิ่งพิมพ์ต้องห้ามของนักศึกษาปัญญาชนในเขตป่าเขา

หลังเหตุการณ์นองเลือด ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ นักศึกษาปัญญาชนจำนวนมากมุ่งหน้าสู่เขตป่าเขาเพื่อเข้าร่วมการต่อสู้ด้วยอาวุธกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) แต่ที่นั่น พวกเขาใช่เพียงจับปืนขึ้นสู้เท่านั้น หากแต่ยังใช้ปากกาเป็นอาวุธ ต่อสู้ทางความคิด เผยแพร่อุดมการณ์ปฏิวัติ และวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างเปิดเผยด้วย

และนั่นเองที่เป็นที่มาของ “หนังสือปฏิวัติ”–หนังสือที่นักศึกษาปัญญาชนจัดพิมพ์ขึ้นในเขตป่าเขา หนังสือที่เป็นเสมือนเสี้ยนคาใจรัฐบาลเผด็จการในเวลานั้น เพราะมันได้เข้าไปมีบทบาททำให้งานเผยแพร่ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ และได้สร้างสีสันให้วงการสิ่งพิมพ์ในเขตงานปฏิวัติทั่วทุกพื้นที่คึกคักมีชีวิตชีวาขึ้นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนหน้านั้น

หนังสือปฏิวัติเหล่านี้ส่วนใหญ่จัดทำขึ้นในเขตป่าเขา และน่าจะมีมากกว่า ๔๐ ฉบับ แน่นอนหนังสือเหล่านี้จัดเป็นสิ่งพิมพ์ผิดกฎหมาย บางฉบับแม้จะจัดทำขึ้นเผยแพร่ในเมือง แต่ก็อยู่ในลักษณะ “ปิดลับ” เช่นปกนอกเป็นหนังสือเฉลยข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่เมื่อพลิกดูด้านในกลับเป็นจุลสาร ดาวเหนือ เป็นต้น

จนกระทั่งเมื่อเกิดวิกฤตภายในและการล่มสลายของ พคท. ในช่วงระหว่างปี ๒๕๒๔-๒๕๒๕ หนังสือเหล่านี้ก็ทยอยปิดตัวลง และเมื่อเวลาผ่านไป หนังสือที่เคยพิมพ์ออกมาจำนวนมากก็ค่อย ๆ สูญหายไป โชคดีที่มีอดีตผู้ปฏิบัติงานของ พคท. ในเมืองบางท่านได้เก็บรวบรวมไว้และมอบให้อยู่ในการดูแลของโครงการหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์

หนังสือปฏิวัติส่วนที่เหลือรอดมาจนถึงปัจจุบันมีประมาณ ๓๐ กว่าฉบับ ได้แก่ ตะวันแดง, วรรณกรรมเพื่อชีวิต, ประกายไฟ, ไฟลามทุ่ง, เพลิงปฏิวัติ, สามัคคีสู้รบ, อธิปัตย์ในสถานการณ์สู้รบที่ปฏิวัติ, กองจู่โจม, กองหน้า, หลักชัย, พิราบแดง, รุดหน้า, ยืนหยัด, มิตรภาพ, เอกภาพ, ธารธรรม, ส่องทาง, สัจจชน, สู้รบ, ส.สปท., สามัคคี, หินผา, ไฟป่า, ธงรบ, เพลิงธรรม, พลัง, พายุ, ธงปฏิวัติ, ศึกษา, ดอกไม้ป่า, ดาว, ปริทัศน์, เปลวเทียน, ดาวแดง, ทิศทาง, ส่องทาง, รุ่งอรุณ

หนังสือเหล่านี้มีอยู่อย่างแพร่หลายในเขตป่าเขาและชนบทเกือบทุกภาคของประเทศไทย เช่นทางภาคเหนือมี อธิปัตย์ในสถานการณ์สู้รบที่ปฏิวัติ ภาคอีสานมี ธงปฏิวัติ และ ประกายไฟ ภาคใต้มี ตะวันแดง และ ไฟลามทุ่ง ขณะที่ในกรุงเทพฯ มี พันธมิตร, ปริทัศน์, เปลวเทียน เป้าหมายของการจัดทำหนังสือก็เพื่อโฆษณาเผยแพร่แนวทางนโยบายของ พคท. วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐ และให้การศึกษาทางด้านทฤษฎีการเมืองและความรู้ด้านการเมืองการทหารทั่วไปแก่ผู้ปฏิบัติงานและมวลชน

ใน บันทึกจากภูพานถึงลานโพธิ์ วิสา คัญทัพ เล่าถึง ธงปฏิวัติ ที่เขาได้มีส่วนเข้าไปร่วมทำระหว่างปฏิบัติงานในเขตงานอีสานใต้ว่า “นสพ. ธงปฏิวัติ เป็นหนังสือพิมพ์ของภาคอีสาน จัดทำขึ้นเพื่อรับใช้กรรมกรชาวนาและทหารปฏิวัติโดยเฉพาะ คือในฐานที่มั่นปฏิวัติ จุดมุ่งหมายก็คือเพื่อโฆษณาเผยแพร่แนวทางนโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ให้การศึกษาทางด้านทฤษฎีการเมืองและความรู้ด้านการเมืองการทหารทั่วไป แลกเปลี่ยนบทเรียนและความจัดเจนซึ่งกันและกัน เผยแพร่และส่งเสริมเรื่องดีคนดี วัฒนธรรมและศิลปะบันเทิงที่ปฏิวัติ” ใน วรรณกรรมเพื่อชีวิต กองบรรณาธิการกล่าวว่า พวกเขา “ปรารถนาที่จะสามัคคีองค์กรนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ทั้งที่อยู่ในเมือง ในต่างประเทศ และในฐานที่มั่น ดำเนินการเคลื่อนไหวเพื่อเผยแพร่และเร่งงานศิลปวรรณกรรมที่ปฏิวัติให้กว้างขวางออกไป” ขณะที่ผู้จัดทำวารสาร เพลิงธรรม ประกาศว่า “จะรับใช้การปฏิวัติจนถึงที่สุด ดังคำขวัญที่ว่า เลือดทุกหยด ชีวิตทุกชีวิตคือการปฏิวัติ”

yai2นอกจากว่าหนังสือจะรับใช้เป้าหมายในการปฏิวัติตามแนวทางของ พคท. แล้ว มันยังทำหน้าที่บันทึกอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดร่วมของยุคสมัย ผ่านเนื้อหาและรูปแบบการนำเสนอที่หลากหลายและมีชีวิตชีวาอย่างมาก กล่าวคือไม่ได้มีแต่เพียงคำแถลง มติ คำชี้แนะ และทฤษฎีปฏิวัติของ พคท. เช่นในอดีตเท่านั้น แต่ยังมีคอลัมน์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ อาทิ รายงานสถานการณ์การสู้รบ, ข่าวทั้งภายในและต่างประเทศ, การ์ตูนล้อการเมือง, สัมภาษณ์พิเศษ, คำแถลงและคำประกาศในวาระโอกาสสำคัญต่าง ๆ ของฝ่ายนำ, ข้อเขียนเกี่ยวกับทฤษฎีการปฏิวัติ, จดหมายถึงเพื่อน, กวีนิพนธ์, กวีชาวบ้าน, เรื่องสั้น, บทบันทึก, บทละคร, บทวิเคราะห์วรรณกรรม, สารคดี, บทความการเมือง, บทเพลงเพื่อประชาชน

ที่น่าสนใจก็คือ แต่ละฉบับจะมีลักษณะพิเศษของตัวเอง เช่น อธิปัตย์ในสถานการณ์สู้รบที่ปฏิวัติ ซึ่งจัดทำโดย “ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยในสถานการณ์สู้รบที่ปฏิวัติ” (ก่อตั้งในเดือนสิงหาคม ๒๕๒๐) มี จาตุรนต์ ฉายแสง เป็นบรรณาธิการ และ บุญส่ง ชเลธร เป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการ จะเน้นหนักไปที่การวิเคราะห์สังคมการเมืองและสื่อสารกับบรรดานักศึกษาที่อยู่ในเขตป่าเขาเป็นสำคัญ ขณะที่ วรรณกรรมเพื่อชีวิต ซึ่งจัดทำโดย “กลุ่มนักเขียน-นักหนังสือพิมพ์เพื่อประชาชน” มี ประเสริฐ จันดำ เป็นบรรณาธิการ ข้อเขียนส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปวรรณกรรม เรื่องสั้น และบทกวี บางฉบับยังเป็นที่รวมของนักคิดนักเขียนที่มีชื่อเสียงหลายคน อาทิ นายผี หรือ อัศนี พลจันทร์, เสถียร จันทิมาธร, เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, ชัชวาลย์ ประทุมวิทย์, วิสา คัญทัพ, วัฒน์ วรรลยางกูร, พิทยา ว่องกุล, สุรชัย จันทิมาธร และ สมคิด สิงสง

ส่วน ตะวันแดง ซึ่งจัดทำโดยนักศึกษาปัญญาชนในเขตจังหวัดพัทลุง ตรัง และสตูล ก็จะเน้นเนื้อหาข่าวสารการเมืองและศิลปวัฒนธรรมของภาคใต้เป็นหลัก มีการปรับเข้าหาคนในท้องถิ่นอย่างมาก เช่นหยิบเอาตัวละครในหนังตะลุงมาวาดเป็นการ์ตูนและใช้ภาษาใต้เป็นบทสนทนา หรือแม้แต่มุกตลกก็มักจะหยิบยืมมาจากเหตุการณ์ที่พบเห็นอยู่ทั่วไปในวิถีชีวิตประจำวันของคนภาคใต้

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้รัฐไทยถือว่าหนังสือปฏิวัติเหล่านี้เป็น “สิ่งพิมพ์ต้องห้าม” ไม่ใช่เพราะคอลัมน์ที่หลากหลาย เพราะความมีชื่อเสียงโด่งดังของนักเขียน หรือเพราะเห็นว่าผู้จัดทำทั้งหมดเป็น “ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์” เท่านั้น แต่เพราะ “เนื้อหา” ของหนังสือที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างรุนแรง นำเสนอการวิเคราะห์ปัญหาสังคมไทยด้วยทฤษฎีมาร์กซ์-เลนิน และความคิดเหมาเจ๋อตง รวมถึงการเสนอทางออกโดยการปฏิวัติสังคมไทยตาม “แนวทางชนบทล้อมเมืองและยึดเมืองในที่สุด” ของ พคท.

ตัวอย่างเช่น อธิปัตย์ในสถานการณ์สู้รบที่ปฏิวัติ ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๒๐ ได้ตีพิมพ์บทสัมภาษณ์ สวาย อุดมเจริญชัยกิจ อดีตรองเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยปี ๒๕๑๘ ที่วิพากษ์วิจารณ์การทำรัฐประหารของพลเรือเอก สงัด ชลออยู่ ในช่วงปลายปี ๒๕๒๐ อย่างรุนแรงว่า “คณะปฏิวัติที่มีขุนศึกสงัดเป็นหัวโจกยังคงเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของจักรพรรดินิยม ศักดินานิยมและทุนนิยมขุนนางต่อไป การก่อรัฐประหารครั้งนี้หรือครั้งก่อน ๆ ที่ผ่านมาในอดีต ก็มักจะอ้างเหตุผลอย่างไพเราะ อ้างประชาชน อ้างชาติ แต่แท้จริงแล้ว ขุนศึกสงัดทำไปเพียงต้องการอำนาจและผลประโยชน์ของพวกพ้องกลุ่มน้อยของมันเท่านั้น…ตราบใดที่ประเทศยังไม่มีเอกราช ประชาชนยังไม่มีสิทธิประชาธิปไตย ปัญหาปากท้องของประชาชนยังไม่ได้รับการแก้ไข พวกเราจะร่วมกับประชาชนต่อสู้โค่นล้มรัฐบาลปฏิกิริยาต่อไปอย่างเด็ดเดี่ยวแน่วแน่”

ขณะที่ เพลิงธรรม ฉบับเดือนธันวาคม ๒๕๒๐ ซึ่งจัดทำโดยนักศึกษาปัญญาชนในเขตภูพาน สกลนคร พิมพ์คำโปรยปกอย่างเปิดเผยว่า “ถ้าไม่มีพรรคฯ ไม่มีกองทัพของประชาชน ก็ไม่มีทุกอย่างที่เป็นของประชาชน” และในบทนำ กอง บ.ก. ประกาศชัดเจนว่า “…ขอสนับสนุนแนวทางการต่อสู้ที่พรรคฯ ชี้แนะ ดำเนินการต่อสู้ด้วยอาวุธ ใช้ป่าล้อมบ้าน ชนบทล้อมเมือง นำทฤษฎีมาร์กซ์-เลนิน และความคิดเหมาเจ๋อตงมาปฏิบัติ ประสานกับรูปแบบที่พลิกแพลงตามสถานการณ์ที่เป็นจริง พร้อมกันนี้เราขอเรียกร้องไปยังสหายทั้งมวลร่วมกันขานรับคำเรียกร้องของพรรคฯ เพื่อโหมกระแสแห่งการปฏิวัติ และเร่งขยายงานปฏิวัติออกไปอย่างไม่หยุดยั้ง…ประชาชนอันมีพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเป็นแกนนำจะต้องได้รับชัยชนะอย่างแน่นอน”

yai3 มิพักต้องพูดถึง วรรณกรรมเพื่อชีวิต ที่นอกจากจะเปิดโอกาสให้นักคิดนักเขียนในเขตป่าเขาส่งผลงานของตนมาตีพิมพ์เผยแพร่แล้ว ยังพยายามที่จะใช้ “ทฤษฎีความขัดแย้งทางชนชั้น” มาวิเคราะห์วรรณคดีด้วย เช่นในฉบับเดือนมกราคม ๒๕๒๓ เสถียร จันทิมาธร เสนอว่า “ประวัติศาสตร์ของสังคม “ล้วนเป็นประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้ทางชนชั้น” (มาร์กซ์-เองเกลส์) ด้านหนึ่งของชนชั้นปกครองใช้ศิลปวรรณคดีเป็นเครื่องมือในการครอบงำทางความคิด แต่อีกด้านหนึ่งในเงื่อนไขที่เหมาะสมประชาชนก็สามารถใช้ศิลปวรรณคดีในการต่อสู้กับชนชั้นปกครองเช่นเดียวกัน ลักษณะสองด้านนี้ปรากฏขึ้นและดำรงอยู่อย่างไม่ขาดสายในสายธารอันยาวเหยียดของวรรณคดีทั้งของโลกและของไทยเรา”

ควรกล่าวด้วยว่า “การ์ตูนช่องล้อการเมือง” เป็นอีกรูปแบบที่ได้รับความนิยมในหมู่ผู้อ่านหนังสือปฏิวัติอย่างมาก เพราะมันได้ทำหน้าที่ในการล้อเลียนต่อต้านรัฐอย่างที่สื่อในยุคเผด็จการไม่อาจทำได้ ทั้งเข้าใจง่ายและมีเรื่องราวชวนหัวน่าตลกขบขัน เช่น “อธิปัตย์ ‘ตูน” ใน อธิปัตย์ในสถานการณ์สู้รบที่ปฏิวัติ ล้อเลียนการทำงานของรัฐบาลว่าหลังจากทำรัฐประหารในวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ แล้วก็ไม่ทำอะไรนอกจากไปตามแก้ข่าวในต่างประเทศ ตามง้อนายทุนต่างชาติมา ปราบคอมมิวนิสต์ก็มีแต่แพ้, เรื่อง “ขุนยมฯ” ล้อเลียนศักดินาว่าเป็นพวกที่เกลียดการชุมนุมประท้วง ชอบกีฬาลอบสังหาร และเกลียดคอมมิวนิสต์, เรื่อง “ที่มั่นแดง” เล่าถึงชีวิตใหม่ในเขตป่าเขาของนักศึกษาที่ดีกว่าช่วงอยู่ในเมือง เป็นต้น

ส่วนคอลัมน์ “ขวัญเมือง” ซึ่งเป็นการ์ตูนช่องล้อการเมืองใน ตะวันแดง นั้น ใช้ตัวหนังตะลุงที่คนปักษ์ใต้รู้จักดี เช่น ยอดทอง นายเท่ง หนูนุ้ย ศรีแก้ว ขวัญเมือง สะหม้อ และศรีพุฒิ มาเป็นตัวละครเดินเรื่อง โดยนำเรื่องราวที่เกิดขึ้นในหมู่ชาวบ้านมาคิดมุกหรือแก๊กในลักษณะตลก ล้อเลียน เสียดสีผู้ปกครองและเหล่าบริวาร

อันที่จริง หนังสือปฏิวัติไม่เพียงแต่สะท้อนความคิดเกี่ยวกับทฤษฎีและการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของนักศึกษาปัญญาชนเท่านั้น แต่ยังสะท้อน “อารมณ์ความรู้สึก” ช่วงนั้นของพวกเขาด้วย ในบางตอนของความเรียงชื่อ “ลำนำความแค้น” ซึ่งตีพิมพ์อยู่ใน พิราบแดง ฉบับพฤษภาคม-มิถุนายน ๒๕๒๒ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล บรรยายความรู้สึกนึกคิดของเขาขณะร่วมต่อสู้ด้วยอาวุธกับ พคท. ไว้ว่า

“ทุกครั้งที่พับผ้าเปลใส่เป้และเหวี่ยงปืนขึ้นสะพายไหล่ออกสู่สมรภูมิหรือเดินทางไปพบประชาชนในเขตศัตรู (เขตอิทธิพลของทหารรัฐบาล) ข้าพเจ้ารู้สึกเหมือนว่าตัวเองกำลังก้าวเท้าไปบนแถวอักษรแห่งบทบันทึกทางประวัติศาสตร์ เรื่องราวของพวกเรานักรบจรยุทธ์ในวันนี้ คงจะกลายเป็นแบบหัดอ่านของลูกหลานอีกหลายสิบหลายร้อยปีข้างหน้า มันไม่สำคัญเลยที่จะไม่มีชื่อของข้าพเจ้าอยู่ในนั้น เพราะเพียงแต่เอ่ยคำว่า ‘ทหารปลดแอก’ ข้าพเจ้าก็รู้สึกว่าตัวเองมีที่ยืนอันอบอุ่นอยู่ในขบวนแถวของนักรบนิรนามเหล่านั้นแล้ว”

ขณะที่ในบันทึกเรื่อง “ฤดูฝนกับเรื่องราวของนกบินหลา” ซึ่งตีพิมพ์ใน วรรณกรรมเพื่อชีวิต ฉบับเดือนสิงหาคม ๒๕๒๑ จิระนันท์ พิตรปรีชา แสดงความมุ่งมั่นต่อการปฏิวัติด้วยภาษาที่อ่อนโยนและงดงามว่า

“ฉันเคยฝันถึงชีวิตอิสระที่โลดแล่นไปตามห้วยหิน, ธารน้ำ, และทุ่งหญ้าในหุบเขาเมื่อนานมาแล้ว และพบว่ามันเป็นความจริงขึ้นมาในทุกวันนี้ แต่สิ่งที่ต่างกันก็คือ ฉันไม่ได้มาอยู่ที่นี่อย่างลม ๆ แล้ง ๆ เพื่อแสวงหาความงามให้กับวิญญาณของตัวเองเท่านั้น หากมาด้วยหัวใจมุ่งมั่นต่อบางสิ่งบางอย่างที่คงจะต้องใช้คำว่า ‘อุดมการณ์’ มานิยามมัน…นอกเหนือจากปากกา สำหรับบันทึกการเดินทางของตัวเองแล้ว ฉันยังมีปืนและสหายอยู่เคียงข้าง…”

yai4แม้หนังสือปฏิวัติเหล่านี้จะเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับผู้ปกครองในยุคนั้น แต่ในเขตชนบทโดยทั่วไป มันได้เผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวาง อันเป็นเครื่องยืนยันว่าเมื่อใดที่มีการห้ามหนังสือ เมื่อนั้นผู้คนยิ่งโหยหามัน

อดีตผู้ปฏิบัติงานของ พคท. คนหนึ่งเล่าไว้ใน บนเส้นทางภูบรรทัด ตอนหนึ่งว่า “และแล้ว ตะวันแดง ยุคใหม่ก็โลดแล่นอยู่บนถนนหนังสือใต้ดินที่มีผู้อ่านหลากหลายระดับ ในหมู่บ้านริมป่าเขาก็มีตั้งแต่คนรับจ้างตัดยาง ไปจนถึงเถ้าแก่โรงสี ออกนอกไปสักนิดก็มีร้านรับซื้อยาง ร้านค้า ครู นักเรียน ข้าราชการในตัวเมือง นายอำเภอก็เป็นแฟน ตะวันแดง เหมือนกัน ขนาดบนรถโดยสารที่วิ่งระหว่างจังหวัดก็เคยมีคนกาง ตะวันแดง อ่านอย่างหน้าตาเฉย ยอดจำหน่ายเผยแพร่ของ ตะวันแดง ในช่วงที่บูมสุดขีด เคยมากถึง ๓,๐๐๐ ฉบับต่อเดือน นอกจากกระจายไปตามหน่วยงานต่าง ๆ ในเขตจังหวัดพัทลุง ตรัง และสตูลแล้ว ตะวันแดง ยังได้รุกคืบไปสู่จังหวัดสงขลาและนครศรีธรรมราช รวมทั้งบางส่วนได้เผยแพร่ไปถึงกรุงเทพมหานครด้วย”

และแน่นอน การเดินทางของหนังสือปฏิวัติในเขตป่าเขา ย่อมแยกไม่ออกกับขบวนปฏิวัติของ พคท. ดังนั้นเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ขึ้นทั้งภายนอกและภายในพรรคในช่วงระหว่างปี ๒๕๒๒-๒๕๒๕ นักศึกษาปัญญาชนกลุ่มหนึ่งจึงได้อาศัยพื้นที่นี้จัดทำหนังสือเพื่อ “ท้าทาย” ฝ่ายนำของ พคท. ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เกิดปัญหาภายในและในช่วงที่พวกเขาเห็นว่า ฝ่ายนำของ พคท. ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้ปฏิบัติงานภายในพรรค การกระทำเช่นนี้ยังความไม่พอใจแก่ฝ่ายนำของ พคท. ไม่น้อย นั่นจึงทำให้หนังสือของพวกเขากลายเป็นหนังสือต้องห้ามภายใน พคท. หรือที่ผู้ปฏิบัติงานของ พคท. บางคนเรียกในเวลานั้นว่า “หนังสือใต้ดินของหนังสือใต้ดิน”

ปลายปี ๒๕๒๒ ต่อต้นปี ๒๕๒๓ ผู้ปฏิบัติงานพรรคกลุ่มหนึ่งได้จัดทำหนังสือชื่อ ศึกษา โดยมีจุดมุ่งหมาย “เพื่อเป็นเวทีสำหรับเสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ ของขบวนปฏิวัติ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทฤษฎี แนวทาง นโยบาย วิธีการ ตลอดจนความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ในปัญหารูปธรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในขบวนปฏิวัติไทยหรือขบวนปฏิวัติสากล” พวกเขากล่าวด้วยว่า “ข้อเขียนต่าง ๆ ใน ศึกษา เป็นเพียงของสหายส่วนหนึ่งหรือของผู้เขียนเองเท่านั้น มิใช่ความเห็นที่เป็นทางการของจัดตั้งและยิ่งไม่ใช่ ‘คำชี้แนะ’ ของพรรคอย่างเด็ดขาด” ในท้ายที่สุดพวกเขากล่าวว่า ความคาดหวังที่แท้จริงของพวกเขาคือ “การแสวงหาหนทางที่จะนำเข้าไปสู่ การพึ่งตนเองทางทฤษฎี”

มีหลักฐานว่า ฝ่ายนำของ พคท. ได้ “สั่งเก็บ” หนังสือ ศึกษา และ “ปล่อยข่าว” ว่า หนังสือที่ตีพิมพ์บทความวิพากษ์วิจารณ์พรรคเล่มนี้ “จัดทำโดยพวกลัทธิแก้” (กลุ่มคนที่คัดค้านทฤษฎีมาร์กซ์-เลนินและความคิดเหมาเจ๋อตงของ พคท.) แต่ต่อมาไม่นานก็กลับพบว่ามีผู้ปฏิบัติงานของพรรคจำนวนหนึ่งนำบทความ “ข้อบกพร่องของขบวนการของเราในทัศนะของข้าพเจ้า” จาก ศึกษา ไปตีพิมพ์ใหม่อีกครั้งใน ผู้บุกเบิก ฉบับมิติใหม่ แต่พิมพ์ออกมาเพียง ๒ ฉบับก็เงียบหายไป

อันที่จริง ในช่วงปลายปี ๒๕๒๔ ไม่เพียงแต่ ผู้บุกเบิก ฉบับมิติใหม่ เท่านั้นที่จู่ ๆ ก็เงียบหายไปเฉย ๆ แต่หนังสือปฏิวัติเล่มอื่น ๆ ก็ค่อย ๆ ทยอยเงียบหายไปทีละเล่มด้วย เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ว่า การลดน้อยลงของหนังสือปฏิวัติเกิดขึ้นพร้อมกับวิกฤตศรัทธาและการหันหลังออกจาก พคท. ของนักศึกษาปัญญาชนที่ค่อย ๆ เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งหายไปอย่างสิ้นเชิง

แน่นอน หากมองจากสายตาของผู้ที่คิดว่า พคท. พ่ายแพ้ล้มเหลว ก็ย่อมต้องเห็นว่า สิ่งที่นักศึกษาปัญญาชนได้ฟันฝ่าลงแรงไปนั้นผิดพลาดว่างเปล่าไปด้วย หนังสือปฏิวัติคงเป็นเพียงประจักษ์พยานของความพ่ายแพ้ล้มเหลวนั้น

แต่เมื่อมองในแง่มุมของการศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทยหลังเหตุการณ์ ๖ ตุลา ๑๙ หนังสือปฏิวัติเหล่านี้มีคุณค่ายิ่ง เพราะเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า ถึงแม้ว่ารัฐเผด็จการจะใช้ความพยายามอย่างมากที่จะควบคุมความคิดทางการเมืองของนักศึกษาปัญญาชนและประชาชนทั่วไปให้อยู่ในขอบเขตที่ไม่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ โดยเฉพาะด้วยวิธีการสั่งห้ามพิมพ์ ห้ามเผยแพร่ ห้ามมีไว้ในครอบครอง และห้ามอ่านหนังสือที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล แต่ผลของการกระทำนี้กลับเป็นตรงกันข้าม เพราะไม่เพียงแต่ห้ามนักศึกษาปัญญาชนไม่ได้เท่านั้น แต่ยังกลับพบว่ามีหนังสือที่จัดทำโดยนักศึกษาปัญญาชนปรากฏอยู่อย่างแพร่หลายทั้งในเขตชนบทและเขตป่าเขา

และที่สำคัญก็คือ หนังสือปฏิวัติเหล่านี้ยังเป็น แหล่งข้อมูล ที่สะท้อนให้เห็นถึง ความรู้สึกนึกคิด ที่มีต่อสังคมการเมืองไทยของนักศึกษาปัญญาชนและผู้ปฏิบัติงานของ พคท. ในช่วงนับตั้งแต่หลังเหตุการณ์ ๖ ตุลา ๑๙ เป็นต้นมา จนอาจกล่าวได้ว่า ใครก็ตามที่สนใจและต้องการความสมบูรณ์รอบด้านในการศึกษาประวัติศาสตร์ความคิดของ พคท. และนักศึกษาปัญญาชนแล้ว ย่อมหลีกเลี่ยงและละเลยไม่ได้ที่จะต้องอ่านและศึกษาหนังสือปฏิวัติเหล่านี้อย่างละเอียดถี่ถ้วนในฐานะ หลักฐานทางประวัติศาสตร์

ขอขอบคุณ หอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์