ปิยะธิดา เหลืองอรุณ เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายแผน ๖ ว. สำนักพัฒนาการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด (ป.ป.ส.)

“การทำงานของเจ้าหน้าที่ ป.ป.ส. จะยึดตาม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๑๙ ปรับปรุงปี ๒๕๔๓ เป็นหลัก สำหรับผู้ประกอบการ ทาง ป.ป.ส. จะตรวจตราสอดส่องดูแลในส่วนของพนักงานของหอพักไม่ให้ไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด สำหรับบุคคลที่เลิกเสพและได้รับการบำบัดแล้ว ผู้ประกอบการสามารถรับเข้ามาทำงานได้ รวมทั้งมีการจัดอบรมให้พนักงานในเรื่องมาตรการดูแลหอพักให้ปลอดจากสารเสพติด

“หอพักเป็นหนึ่งในสถานประกอบการ ๖ ประเภทตาม พ.ร.บ. ที่บังคับควบคุมผู้ประกอบการหอพัก เช่นให้มีป้ายประกาศหรือดำเนินกิจกรรมแก้ไขปัญหายาเสพติด ดูแลความเรียบร้อยในหอพัก

“พื้นที่ในกรุงเทพฯ ตำรวจและกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จะเป็นผู้ดูแลและควบคุมหอพัก ในพื้นที่ส่วนภูมิภาค ตำรวจและหน่วยงานในพื้นที่จะจัดให้มีการประชาสัมพันธ์ให้ทางหอพักร่วมมือในการเฝ้าระวังปัญหายาเสพติด รวมทั้งสุ่มออกตรวจตามหอพัก หากพบผู้ติดยาเสพติดก็จะนำไปรักษาบำบัด เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการบำบัดก็จะให้ผู้ปกครองมารับกลับ

“หอพักจะมีทั้งประเภทที่จดทะเบียนถูกต้องและที่ไม่จดทะเบียน หอพักที่จดทะเบียนจะให้ความร่วมมืออย่างดี และมีความพร้อมไม่ว่าจะเป็นอาคารสถานที่ การดูแลให้มีความเรียบร้อย

“ปัจจุบันที่หอพักมีปัญหาในเรื่องยาเสพติดแพร่ระบาดมากขึ้น เพราะสถานบันเทิงมีมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้น วัยรุ่นจึงใช้หอพักเป็นแหล่งมั่วสุม โดยเฉพาะหอพักเถื่อนที่ชายหญิงอยู่รวมกัน เป็นกลุ่มเป้าหมายที่เจ้าหน้าที่จะต้องเข้าไปตรวจมากขึ้น

“สำหรับหอพักเถื่อนนั้นไม่มีการจดทะเบียนว่ามีทั้งหมดเท่าไร แนวทางที่เราจะทำคือให้องค์กรระดับจังหวัดตรวจสอบหอพักที่ไม่จดทะเบียนในพื้นที่ว่ามีจำนวนเท่าไร ทั้งนี้ทางหน่วยงานจังหวัดจะพยายามเกลี้ยกล่อมให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนให้ถูกต้อง ถ้าหากทางหอพักเถื่อนที่มีอยู่ยังดำเนินการจดทะเบียนไม่ได้ก็ควรมีมาตรการในการดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติด หรือทางหน่วยงานจังหวัดอาจออกหนังสือเตือนให้มาจดทะเบียนหอพักอย่างถูกต้อง

“ขณะนี้ ป.ป.ส. กำลังพัฒนารูปแบบแนวทางวิธีการในการทำงานกับหอพักให้เป็นคู่มือหรือเอกสาร เพื่อให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการในพื้นที่ใช้ปฏิบัติงานได้ง่ายขึ้น และพัฒนาองค์ความรู้พร้อมกับการสร้างภูมิต้านทานให้แก่เยาวชน”

————————————————————–

 

ยุทธ แก้วควรชุม พยาบาลวิชาชีพ ผู้ดูแลผู้ติดยาเสพติดสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์

“สาเหตุที่ทำให้วัยรุ่นหันมาใช้สารเสพติดมาจากปัญหาครอบครัวเป็นอันดับแรก บางทีครอบครัวแตกแยก พ่อแม่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน เด็กก็เลยรู้สึกว้าเหว่ หรือพ่อแม่อยู่กับลูกก็จริง แต่ว่าพ่อเป็นคนเจ้าอารมณ์ เมาทุกเช้า-เย็น เด็กเลยรู้สึกเครียด ยาเสพติดจึงเป็นสิ่งที่ชดเชยความรู้สึกของเด็ก เมื่อเขาได้ออกนอกบ้านแล้วเขามีเพื่อน ได้คุยกับเพื่อน หลังจากนั้นก็มีกิจกรรมร่วมกันคือการเสพยาบ้า มันเป็นอีกโลกที่เขาได้เรียนรู้ว่าเวลาทุกข์ขึ้นมาเขาจะหาความสุขได้อย่างไร

“วัยรุ่นหรือนักศึกษาที่อาศัยอยู่ตามหอพักมีภาวะเสี่ยงต่อการติดยาเสพติดสูง เพราะว่าเป็นแหล่งมั่วสุม จับยาก เด็กที่มารับการรักษาบางคนอยู่กับพ่อแม่แท้ ๆ แต่พ่อแม่ก็ไม่รู้ว่าลูกเสพยาอยู่ที่ไหนอย่างไร

“ที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์รักษาอาการผู้ป่วยที่ติดยาเสพติดโดยการรักษาแบบหักดิบ ผู้เสพที่อาการหนักมาก ๆ จะรับไว้เป็นผู้ป่วยทางจิตเพื่อให้สงบก่อน คือจะใช้ยารักษาอาการทางจิตเวชก่อน เมื่ออาการทางจิตดีขึ้น เริ่มรู้ตัวเอง เข้าใจตัวเอง ก็จะให้เข้ากลุ่มบำบัดประมาณ ๒๒ วัน

“บางครั้งสังคมก็เป็นตัวกระตุ้นอย่างหนึ่งให้คนไข้ที่เลิกยาได้แล้วหันกลับมาเสพใหม่ คนไข้บางคนเลิกเสพยาได้แล้ว ครอบครัวก็อบอุ่นดี แต่พอกลับไปอยู่ในสังคม เช่นมีงานปาร์ตี้กับเพื่อน ๆ ก็เป็นตัวกระตุ้นให้เขากลับไปเสพยาใหม่ บางคนเลิกได้ประมาณ ๑-๓ ปี แต่เมื่อมีโอกาสและช่วงจังหวะอารมณ์ขึ้นมา สารเคมีในสมองของเขาถูกกระตุ้นก็จะเกิดอาการอยากเสพซ้ำได้อีก เพราะฉะนั้นเวลามารักษากับเราแล้วก็ไม่ได้หมายความว่าจะหายขาด แต่ทำอย่างไรให้เขาหยุดการเสพยาได้เป็นเวลาหลาย ๆ ปี บางคนมีทักษะในการควบคุมตัวเองดีก็สามารถเลิกหรือหยุดได้ขาด”

ขอขอบคุณ :

  • วิจิตรา แจ่มถาวร เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายแผน ๗ ว. สำนักงาน ป.ป.ส.
  • ปิยะธิดา เหลืองอรุณ เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายแผน ๖ ว. สำนักงาน ป.ป.ส.
  • สุรศักดิ์ เรืองพันธ์ นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ปี ๒๕๔๘
  • อาจารย์ ชิต เอี่ยมประสงค์ รองผู้บริหารสถานศึกษา โรงเรียนรัตนโกสินทร์สมโภชบวรนิเวศศาลายาฯ
  • นายแพทย์มานิจ คณาธรรม สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์
  • พี่ ๆ กลุ่มนักศึกษารามน้ำยืน
  • ปนัดดา ท้าวแก้ว
  • พัชราภรณ์ พึ่งภิญโญ
  • ยุทธ แก้วควรชุม

เอกสารประกอบการเขียน :

  • คำสั่งศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดแห่งชาติ / ปฏิบัติการพลังแผ่นดินครั้งที่ ๔
  • สถิติการจับกุมคดียาเสพติดทั่วประเทศปี ๒๕๔๔-๒๕๔๘
  • สำนักวิจัยเอแบคโพล, ผลวิจัยเชิงสำรวจสถานการณ์ปัญหายาเสพติดและวิจัยเพื่อประ มาณการจำนวนเยาวชนไทยทั่วประเทศที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด กรณีศึกษากลุ่มเยาวชนอายุระหว่าง ๑๑-๒๖ ปี ในระดับครัวเรือน หอพัก อพาร์ตเมนต์ และคอนโดมิเนียมใน ๒๙ จังหวัดทั่วประเทศ
  • http://www.oncb.go.th เว็บไซต์สำนักงาน ป.ป.ส.