เรื่อง : เลิศศักดิ์ ไชยแสง
ภาพ : ภูวมินทร์ อินดี

คุยกับแอท-เมธชนนท์ ประจวบลาภ เด็กกับบุหรี่ไฟฟ้า ภัยร้ายเพราะวาทกรรมคนทันสมัย

ถ้าเราเป็นครูในโรงเรียนจะรู้สึกอย่างไร เมื่อรู้ว่าเด็ก ป.1 สั่งบุหรี่ไฟฟ้ามาส่งที่โรงเรียน

ความรู้สึกแรกที่ได้ฟังตัวอย่างปัญหาเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าจาก แอท-เมธชนนท์ ประจวบลาภ ผู้อำนวยการสำนักกิจกรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย รู้สึกเหมือนเจอเฟคนิวส์ เชื่อ จนต้องถามทวนย้ำ ซ้ำกลับไปอีกว่านี่คือเคสจริงใช่ไหม

“เคสจริงเลย คือมันเข้าถึงง่ายมาก พอตราคา 99 บาท เด็ก ป.1 ทางภาคอีสานซื้อแล้วให้มาส่งที่โรงเรียน เพราะส่งไปที่บ้านไม่ได้ กลัวแม่จับได้ ที่ที่อันตรายที่สุด ปลอดภัยที่สุด พอส่งเข้ามาปุ๊บ คุณครูก็เอะใจว่าทำไมเด็กสั่งของออนไลน์มาส่งโรงเรียน พอแกะออกมาก็เป็นบุหรี่ไฟฟ้า”

ไม่เพียงแค่นั้น เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2567 กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศเตือนถึงบุหรี่ไฟฟ้ารุ่นใหม่ ชื่อ “GEN 5” หรือ TOY POD ที่ได้ออกแบบผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ให้ดูคล้ายตุ๊กตา ของเล่น ขนม นมกล่อง ขวดน้ำอัดลม กล่องน้ำผลไม้ ไอศกรีมแท่ง โมเดล หรือของสะสมตัวการ์ตูนดังๆ

ยิ่งไปกว่านั้นคือมีผู้ปกครองมองว่า ยอมให้ลูกดูดพอตหรือบุหรี่ไฟฟ้าแทนการสูบบุหรี่มวน เพราะอันตรายน้อยกว่า

แต่นั่นไม่ใช่ความจริง

vaporizor0post 02

ต่ำลงแต่สูงกว่า

ทุกคนรู้ดีว่าการสูบบุหรี่ส่งผลร้ายต่อร่างกายและคนรอบตัว จากในหลักสูตรการศึกษา สื่อประชาสัมพันธ์เรื่องสุขภาพ หรือการกำหนดเขตพื้นที่ปลอดบุหรี่ แต่ถึงกระนั้นกับกรณีบุหรี่ไฟฟ้า คำเตือนจากสื่อและหลักสูตรการศึกษายังให้ความรู้น้อยยิ่งนัก เมื่อเทียบกับความก้าวหน้าของโลกธุรกิจบุหรี่

“สถานการณ์เรื่องบุหรี่ของเยาวชนไทยในปัจจุบันต้องบอกว่าค่อนข้างวิกฤต เพราะถ้าเราไปดูแนวโน้มการสูบบุหรี่มวนปกติมันต่ำลง และอัตราการสูบของเด็กและเยาวชนก็ต่ำลงเช่นกัน แต่อัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้ากลับเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งค่าเฉลี่ยทั้งประเทศในปี 2566 อยู่ที่ 32%

“จากสถานการณ์ แปลว่าเด็กเข้าถึงด้วยความเชื่อผิดๆ คือเขาเชื่อว่าสูบบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่า แต่เวลาเราพูดเรื่องอันตรายหรือไม่อันตรายในทางการแพทย์ มันไม่ควรมาพูดเรื่องเลเวลว่าอะไรมากกว่าหรือน้อยกว่า เพราะสุดท้ายต่อให้อันตรายนิดนึง มันก็คืออันตราย”

จากข้อมูลสำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดย พญ.เปี่ยมลาภ แสงสายัณห์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ด้านเวชกรรมสาขาอายุรกรรม กรมการแพทย์ กล่าวว่าบุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับการสูบบุหรี่ สร้างความร้อนและไอน้ำด้วยแบตเตอรี่จึงไม่มีควันจากกระบวนการเผาไหม้ ส่วนประกอบสำคัญคือ “น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า” ที่มีส่วนผสมหลัก คือ นิโคตินที่เป็นพิษร้ายต่อร่างกาย ทำให้หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหดตัว เหนื่อยง่าย ระดับน้ำตาลเพิ่มขึ้นเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ยังสามารถทำให้เกิดมะเร็งปอดรวมไปถึงโรคระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ

ทางด้านอันตรายต่อร่างกายจากบุหรี่ไฟฟ้า ได้แก่ หายใจไม่ออก ไอ จาม คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ระคายเคืองตาและผิวหนัง ระคายเคืองในช่องปากและคอ เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ หากได้รับไปนานๆ จนเกิดการสะสมจะทำให้เกิดอาการ เยื่อหุ้มฟันอักเสบ เยื่อจมูกอักเสบ ต้อกระจก ซีด นอน ไม่หลับ เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ชัก วิตกกังวล ซึมเศร้า ปอดบวม จังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหลอดเลือดหัวใจ

vaporizor0post 03

วาทกรรม มายาคติ ครอบครัว

การเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของบุหรี่ไฟฟ้าทำให้มองว่าเป็นความทันสมัย เดินไป สูบไป ไม่เป็นภัยต่อคนรอบตัว หากสูบบุหรี่ธรรมดาในห้าง ร้านอาหาร ร้านเหล้า ก็จะถูกเชิญตัวออกไปสูบในสถานที่อนุญาต แต่กลับกันกับบุหรี่ไฟฟ้าที่เข้าได้ทุกสถานที่

“บริษัทบุหรี่เขาทำการตลาดในลักษณะที่ว่าการสูบพอตบุหรี่ไฟฟ้าห้อยคอเป็นคนทันสมัย เพราะมันคืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ถ้าเราไปดูคําสัมภาษณ์ของอดีตรัฐมนตรีคนหนึ่ง เขาบอกว่าคือภาพลักษณ์ความเป็นอิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัล คือเราไม่รู้ว่าทำไมนักการเมืองถึงพูดแบบนั้น ไปส่งเสริมให้คนที่ห้อยพอตดูดี ดูเท่ เป็นคนทันสมัย

“เขาสร้างค่านิยมว่าสูบบุหรี่ไฟฟ้า ไม่มนิโคตินนะ มันปลอดภัยกว่านะ แต่จริงๆ คือเราจะไม่สามารถไปตรวจสอบได้ว่ามันไม่มีนิโคติน”

ไม่ว่าจะด้วยความทันสมัย กระแสสังคม ค่านิยมหรือวาทกรรมการจากภาคธุรกิจ ล้วนเป็นส่วนหนึ่งในการหล่อหลอมพฤติกรรมของเยาวชนทั้งสิ้น

“จิตวิทยาพัฒนาการของวัยรุ่นชัดเจนอยู่แล้วว่า เด็กวัยรุ่นต้องการอยากรู้อยากลองอะไรใหม่ๆ เด็กจะตอบสนองต่อสิ่งเร้า ก็คือการตลาดของบุหรี่ มันทำให้เด็กรู้สึกว่าจะต้องลองละ อย่างเด็ก ป.1 ตอนแรกเขาก็คงไม่ได้อยากรู้อยากลองหรอก แต่สิ่งเร้าไปทำปฏิกิริยากับตัวเขา เช่น ทอยพอท ที่ทำเป็นตัวตุ๊กตา สูบเสร็จเก็บเป็นโมเดล เป็นของสะสมได้ ผู้ปกครองก็จะไม่สงสัย ไม่รู้เลยว่ามันคืออะไร ทำให้เด็กที่ไม่มีองค์ความรู้เพียงพอ เข้าใจว่ามันดี ไม่ได้อันตราย”

แอทยังเห็นว่าโครงสร้างสังคมไทยมีส่วนเกี่ยวข้องต่อพฤติกรรมเยาวชนทั้งหมด นับตั้งแต่ตัวเอง ครอบครัว เพื่อน ชุมชน ทุกอย่างมีส่วนสัมพันธ์

เขาแบ่งปัญหาครอบครัวเป็นสองกลุ่มคือ พ่อแม่ที่ไม่มีเวลาเลี้ยงดูลูก และพ่อแม่ที่ขาดความเข้าใจ

“กลุ่มที่ 1 คือเพราะเศรษฐกิจไทยรวยกระจุกจนกระจาย มีพ่อแม่ที่ต้องหาเช้ากินค่ำ แค่ปากกัดตีนถีบ เอาตัวเองรอด หรือหาเงินไปให้ลูกก็ไม่มีเวลาพอจะมาดูมาอบรมสั่งสอนลูก หรือจะเอาเวลาไปพัฒนาตัวเองเพื่อให้มีความรู้เท่ากันกับเรื่องต่างๆ ก็ไม่มีเลย

“กลุ่มที่ 2 คือพ่อแม่ขาดความเข้าใจ อันนี้ชัดมาก ตอนนี้ในประเทศไทยคือพ่อแม่ซื้อบุหรี่ไฟฟ้าให้ลูกสูบ เพราะเชื่อว่านิโคตินน้อยกว่าการไปดูดบุหรี่ปกติ แล้วเด็กก็เสพความเชื่อนั้นมาเหมือนกันว่ามันปลอดภัยกว่า เรื่องการรู้เท่าทันบุหรี่ไฟฟ้าจึงเป็นสิ่งสําคัญมาก”

vaporizor0post 04

เพื่อน ครู ชุมชน

โครงสร้างในสังคมที่มีอิทธิพลต่อเด็กอีกสามกลุ่ม คือ เพื่อน ครู และชุมชน

“กลุ่ม 3 เพื่อน ความรู้อยากรู้อยากลองมีเหมือนกันหมด เพราะฉะนั้นไม่มีใครห้ามใคร อย่างเด็ก ป.1 คนหนึ่งไม่มีตังค์จะซื้อพอต 99 บาท คนที่อยากได้ก็รวมเงินกัน ซื้อตัวเดียวแต่เวียนกันทั้งห้องเลย

“มาถึงกลุ่มที่ 4 กลุ่มครู ยกตัวอย่างในช่วงสถานการณ์โควิด เด็กห้อยพอตไปโรงเรียน ครูบางคนถามว่าคืออะไร เด็กตอบว่าสเปรย์แอลกอฮอล์ ครูเชื่อก็ปล่อยให้เด็กห้อยเข้าโรงเรียน เพราะครูขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า แค่ลำพังงานเอกสาร งานประเมิน ผู้ใหญ่คนนู้นไปคนนี้มา ครูก็ไม่มีเวลาจะมาอัปเดตข้อมูลข่าวสารแล้ว

“ถามว่าเราหวังพึ่งอะไรจากสถาบันหลักทางสังคมได้บ้าง – ไม่ได้เลย” แอทสรุปอย่างสิ้นหวัง

ไม่เพียงแค่นั้น ในมุมของเพื่อนบ้านก็มีส่วนเกี่ยวข้อง

แอทยกตัวอย่างกรณีพ่อหรือแม่ใช้ลูกไปซื้อบุหรี่ร้านป้าข้างบ้าน ป้าจะไม่ขายก็ไม่ได้ เพราะมีคนมาซื้อของ ทั้งเป็นหลานเป็นลูกคนที่รู้จัก ไม่น่าจะมีอะไร ซึ่งความเคยชินแบบนี้กลายเป็นความธรรมดาสามัญ

“ชุมชนไม่ได้ห้อมล้อมด้วยระบบนิเวศที่มีความปลอดภัยเลย พอเด็กไปซื้อบุหรี่ให้พ่อได้ เด็กก็เข้าใจว่า อ๋อ ก็ไม่ผิดอะไรนี่

“สุดท้ายบุหรี่พวกนี้ก็อาจนําไปสู่ยาเสพติด”

vaporizor01

สังคมมอมเมา เยาวชนเป็นผู้รับผิด

หากทบทวนว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบต่ออนาคตของชาติ ก็เป็นเรื่องยากที่จะมีมือใครคนใดคนหนึ่งยกขึ้นยืดอกว่าตนคือต้นตอ สุดท้ายแล้วก็กลายเป็นเยาวชนผู้ติดยา ถูกเตะออกไปอยู่ข้างขอบของสังคม

“ถ้าเราโทษเด็ก เพราะเด็กไม่มีความรู้ คําถามคือใครมีหน้าที่ให้ความรู้กับเด็ก ครอบครัวใช่ไหม สังคมใช่ไหม สถาบันการศึกษาใช่ไหม แล้วทั้งสามสถาบันนี้ให้การศึกษาเด็ก ให้การเรียนรู้แก่เด็ก เพียงพอแล้วหรือยัง คําตอบก็คือ ไม่”

แอทมองว่าการเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็ก เราต้องมีความเข้าใจในจิตวิทยาของเด็กด้วย

“ในเชิงจิตวิทยา เด็กจะเกิดการเรียนรู้ได้ เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ มันมาจากสิ่งเร้า ถ้าเราใส่ความรู้ที่ดีอย่างเพียงพอ พฤติกรรมก็จะไม่เป็นแบบนั้น”

แอทยกตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดจากกรณีเด็กอายุ 14 ที่ไปสูบบุหรี่ในโรงพยาบาลแล้วถูกคุณหมอตบศีรษะและจับแก้ผ้า

“เป็นเคสที่สะท้อนทุกอย่าง แทนที่จะเข้าใจว่าเด็กเป็นแบบนี้เพราะระบบสังคมบีบให้เขาเป็น แต่ไปกล่าวโทษว่าทำไมพ่อแม่ไม่สอน ไม่ได้มองว่าพ่อแม่เขาทำงานอะไร ฐานะไหนของสังคม หรือว่าเป็นคนจนก็ผิดทุกอย่างใช่ไหม สุดท้ายพอเกิดความผิดพลาด เราโยนทุกอย่างให้เด็ก แต่ไม่เคยโทษระบบสังคม ไม่เคยโทษระบบชุมชนเลย ถ้าเรามองดี ๆ เด็กคนนั้นคือเหยื่อของระบบสังคมที่ไม่ถูกต้อง

“เด็กไม่ได้ขอให้ได้เกิดมา แต่เมื่อเกิดมาแล้ว กลับเป็นผ้าขาวที่ถูกแต้มสีดำ แล้วเขาก็ไม่ได้แต้มด้วยตัวเขาเอง ถ้าไม่มีใครเอาพู่กันให้เขาใช้”

วันนี้กับการแก้ปัญหาของบุหรี่ไฟฟ้า จึงอาจไม่ใช่แค่การมองหาแพะรับบาปกล่าวโทษใคร แต่เป็นการกลับมาเริ่มต้นมองให้เห็นภาพสะท้อนของโครงสร้างสังคมไทยที่ทุกส่วนกำลังย่ำแย่ และหาหนทางคลี่คลายปมเงื่อนอันซับซ้อนนี้ไปด้วยกัน

vaporizor02

อ้างอิง