อนุสรณ์ ติปยานนท์ (frontfirework@hotmail.com)

วรรณกรรม - บันทึกของคนไม่เลือกข้าง

โทรศัพท์ดังในเวลาสองนาฬิกา ผมลุกขึ้นจากโต๊ะเขียนหนังสือไปหาวัตถุที่ยังส่งเสียงไม่หยุด อย่างที่เขาพูดกัน เสียงโทรศัพท์ในยามค่ำไม่เคยนำเรื่องดีมาให้ ผมยกหู ใจเต้น ปลายสายพูดสวนแทบจะทันที

“คุณต้องเลือกข้าง”
“นั่นใคร ?” ผมถาม
“ผมเป็นใครนั้นไม่สำคัญ แต่คุณต้องเลือกข้าง”
ชายผู้นั้นยังพูดต่อ และก่อนที่ผมจะถามว่าข้างใดที่ผมควรเลือก เขาก็วางสายลง

ผมเดินกลับมาที่โต๊ะ สมองมึนงง เลิกคิดที่จะทำงานต่อ อะไรคือข้าง-ในความหมายของเขา อะไรคือข้าง-ที่เขาต้องการจะบอกผม ข้าง-ของเขากับข้าง-ของผม เป็นข้างเดียวกันหรือไม่ ผมหยุดคิดอยู่ชั่วครู่ ก่อนหยิบหนังสือ ๓-๔ เล่มไปที่เตียงเพื่อแก้ความวุ่นวายใจ

เมื่อเช้าวันใหม่มาถึง ผมตื่นขึ้นมองไปที่โทรศัพท์ มันสงบเงียบ เหนือศีรษะของผมมีหนังสือที่หล่นจากชั้นกองอยู่ ๓-๔ เล่ม ผมนอนคิดอยู่ชั่วครู่ก่อนจะพบว่า-ผมเพียงแต่ฝันไป-หลายวันก่อนผมได้ยินเสียงท่านนายกฯ (ซึ่งบัดนี้เป็นข้างอดีตไปแล้ว) ออกมากู่ร้องเรียกให้ประชาชนของท่านเลือกข้าง และมันคงซึมลงไปในจิตใต้สำนึกของผม

หลังจากทุกอย่างกลับสู่ปรกติ ผมเริ่มต้นคิดว่าเหตุใดมนุษย์ต้องเลือกข้าง และหากเขาไม่ทำเช่นนั้นแล้ว เขาจะมีที่หยัดที่ยืนเช่นใด ในภาวะขัดแย้งทางความคิดและความเห็นของมนุษย์ ที่เกิดขึ้นทุกวัน ทุกสถานที่ทุกเวลา เขาผู้นั้นจะมีพื้นที่เช่นใดให้อยู่อาศัย หากเขาไม่พึงพอใจความขัดแย้งนั้นยกตัวอย่างเช่นความขัดแย้งในสังคมไทยที่กำลังดำเนินอยู่ หากคุณไม่เลือกชม ASTV ไม่ชม NBT คุณคือข้างไหนหากคุณไม่อ่านหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ไม่อ่านหนังสือพิมพ์ประชาทรรศน์ เราจะเลือกรับข้อมูลข่าวสารเช่นใด มีพื้นที่อิสระ มีพื้นที่เป็นกลางหรือพื้นที่อื่นให้เราอยู่อาศัยไหม

สำหรับนักเขียนและนักอ่านแล้ว ไม่มีอะไรดีกว่าการหาคำตอบเช่นนี้จากตัวละครในโลกวรรณกรรม ตัวละครที่ผมชื่นชอบอย่างยิ่งในทัศนคติการเลือกข้างของเขาคือ-ผม เป็น-ผมในนวนิยายเรื่อง Notes from Under-ground ของ ฟีโอดอร์ ดอส-โตเยฟสกี หรือในฉบับภาษาไทยที่มีชื่อว่า บันทึกจากใต้ถุนสังคม (แปลโดย ศ. ศุภศิลป์) จนจบเรื่องเราไม่อาจล่วงรู้ได้เลยว่าเขามีชื่อเรียงเสียงไร เรารู้เพียงว่าผม-ผู้นี้ขังตนเองอยู่ใต้ดินด้วยความแค้น และกำลังสร้างงานเขียนชิ้นหนึ่ง คำแนะนำตัวของเขามีว่า “ผมเป็นคนป่วย…เจ้าคิดเจ้าแค้นไม่มีเสน่ห์ ผมคิดว่าตับของผมเป็นพิษ อันที่จริงผมเจ็บป่วยเป็นอะไรผมก็ไม่รู้” คำแนะนำตัวของเขามีเพียงเท่านั้น ก่อนจะเอ่ยถึงภาวะที่เขาเป็นอยู่ เขาแถลงว่าเขามีชีวิตอยู่ด้วยความแค้น และ ความต้องการแก้แค้นนั่นเองที่ลากพาเขาให้หลบอยู่ใต้ถุนของเมือง เขาบอกว่าสำหรับคนปรกติแล้ว เมื่อแค้นและทำการแก้แค้นไม่ได้ เขาจะยอมรับมันและทำอย่างอื่นซึ่งเขามีความเห็นต่อคนพวกนี้ว่า

“สำหรับผมแล้ว ผมเห็นว่าคนที่เรียบง่ายตรงไปตรงมาอย่างนั้นเป็นคนปรกติที่แท้ เป็นคนที่ธรรมชาติอันอ่อนโยนหวังจะได้เห็นเมื่อได้สร้างเขาขึ้นมา ผมอิจฉาคนอย่างนั้นเหลือเกินทั้ง ๆ ที่เบื่อหน่ายเขา ผมยอมรับว่าคนอย่างเขาน่ะโง่…เพียงแต่เราจะรู้ได้ยังไงว่าเขาโง่ ? บางทีการเป็นคนโง่ก็งามไปอีกแบบหนึ่งใช่มั้ยล่ะ…เมื่อเผชิญหน้ากับภาวะแย้ง เขาจะรู้สึกอย่างซื่อตรงว่าตนเองเป็นหนูตัวหนึ่ง มิใช่คน ทั้ง ๆ ที่เขาก็เป็นคนคิดมากกว่าคนปรกติธรรมดา เขาอาจจะเป็นหนูที่คิดอย่างเฉียบแหลม แต่หนูก็คงเป็นหนูอยู่ดี ในขณะที่คนอื่นเป็นคน…สิ่งสำคัญก็คือ ตัวเขาเองนั่นแหละที่เห็นว่าตนคือหนู ไม่มีใครขอให้เขาเป็นหนู ตรงนี้แหละคือจุดสำคัญ…”

nungsue02

การเปรียบเทียบผู้ยอมจำนนต่อสังคมเป็นหนู และผู้เลือกข้างที่จะอยู่นอกเหนือสังคมเป็นคน (แม้จะเป็นคนเจ้าคิดเจ้าแค้นซึ่งเราจะพิจารณาต่อไป) นั้นน่าสนใจยิ่ง เพราะมันถูกทำซ้ำในอีกศตวรรษต่อมาโดยนักเขียนญี่ปุ่นนาม ฮารูกิ มูราคามิ หนังสือ ๓ เล่มแรกของเขา (อันได้แก่ Hear the Wind Sing-สดับลมขับขาน, Pinball, 1973-พินบอล, ๑๙๗๓, A Wild Sheep Chase-แกะรอยแกะดาว) ล้วนมีศูนย์กลางอยู่ที่ตัวละครตัวหนึ่งนามว่าหนู-Rat หรือ มุสิก (ตามสำนวนแปลของ นพดล เวชสวัสดิ์)

ในเล่มแรก มูราคามิเล่าเพียงว่ามุสิกเป็นเพื่อนดื่มของตัวเอกที่เรียกตัวเองว่าผมหรือโบคุเพียงเท่านั้น ทว่าในเล่มสอง (พินบอล, ๑๙๗๓) เรื่องราวทั้งหมดเกี่ยวข้องกับมุสิกโดยตรง เราเริ่มรับรู้ที่มาที่ไปของเขา

“…สำหรับมุสิก เมื่อสามปีก่อนหน้านี้ ห้วงกาลเวลาสูญเสียความราบเรียบไปทีละน้อย ในฤดูใบไม้ผลิ เขาเลิกเรียนมหาวิทยาลัยกลางคัน แน่นอนที่สุด มุสิกมีเหตุผลชั้นดีในการเลิกเรียน สายไฟผูกโยงเหตุผลกลุ่มนั้น พันม้วนกันยุ่งเหยิง…มุสิกไม่เคยแก้ตัว…เพียงแค่ตระเตรียมข้อเท็จจริง ร่างเป็นเค้าโครงเสนอเหตุผล ก็คงต้องใช้เวลาราวห้าชั่วโมงแล้ว

“…พวกเขาไม่โปรดวิธีที่ข้าฯ ตัดหญ้าในสนาม” มุสิกให้คำอธิบายหากไม่มีทางเลี่ยงหลบได้อีกแล้ว…หรือในยามที่เขาอารมณ์ดีเป็นพิเศษ เขาจะบอกว่า ‘ความเห็นของเราสองไม่ต้องตรงกันมหาวิทยาลัยกับข้าฯ’ มีเพียงเท่านั้น ไม่มีการขยายความเพิ่มอีกแม้คำเดียว…”

มุสิกอาศัยอยู่เพียงลำพังในเพนต์เฮาส์หรู ไร้งานไร้การ (แม้เขาจะบอกอยู่เสมอว่ามีนวนิยายหนึ่งเรื่องที่กำลังขีดเขียนอยู่) เมื่ออยู่เพียงลำพัง เขาจะรูดม่านปิด นอนบนเตียง เหม่อมองเข็มนาฬิกาไฟฟ้าบนผนัง อากาศในห้องดูนิ่งจนแทบไม่น่าเชื่อ นาน ๆ ครั้งเขาจะเคลิ้มหลับเป็นห้วง ๆ เข็มนาฬิกาไร้ความหมายต่อเขาอีกต่อไปแล้ว ดูเหมือนมุสิกจะไม่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใดเลย (เขามีคนรักแต่ก็เลิกรากันแบบล่องลอย) เขาดูสนิทกับโบคุ (แต่ก็มีบทสนทนาที่ไร้สาระเต็มที) เขาไปที่บาร์ของคนจีนชื่อเจบ่อยครั้ง (แต่ก็ช่วงเวลาเบียร์เท่านั้น) มุสิกดูเหมือนเป็นคนที่แขวนลอยอยู่ในโลก เขาดูไม่มีเป้าหมาย ว่างเปล่า แต่เขาก็แลดูสมจริงที่สุด ต่างจากโบคุที่แม้จะมีอาชีพ มีคนรักเป็นคู่แฝด (ซึ่งกลับเหนือจริง) ในขณะที่โบคุตื่นตัว มุสิกแทบจะหลับอยู่ตลอดเวลา การนอนหลับเป็นเรื่องแสนปรกติของเขา

“…มุสิกนอนเอกเขนกตลอดทั้งบ่ายบนเก้าอี้หวายพริ้มตาหลับอย่างเกียจคร้านรับรู้กระแสของกาลเวลาไหลหลั่งผ่านตัวเหมือนธารน้ำไหลอาบเอิบอิ่ม ชั่วโมง วัน หรือสัปดาห์ มุสิกใช้เวลาด้วยวิธีนั้น มีบางครั้งคราวที่ระลอกอารมณ์จะผุดโผล่กระเพื่อมประหนึ่งสะกิดเตือน ในช่วเวลาเช่นนี้ มุสิกจะหลับตานิ่งปิดกรอบห้วงความคิด นิ่งรอคอยจนกระเพื่อมอารมณ์สลายระลอกไป ลุถึงเวลานั้นก็ย่ำเย็นแล้ว ระลอกอารมณ์หายไปสิ้น ความสุขสงบราบเรียบหวนคืนมาห่มคลุมตัวประหนึ่งว่าไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น…”

หากผมที่อยู่ใต้ดินแค้นคนที่อยู่บนดินจนต้องหลบหนี มุสิกก็ดูจะโกรธแค้นการก้าวเดินไปข้างหน้าของสิ่งต่าง ๆ เขาลาออกจากการเรียน ไม่ผูกพันกับใคร และฆ่าเวลาด้วยการนอน การพักผ่อนแบบไม่มีจุดจบของมุสิกช่างเป็นการต่อต้านสังคมอย่างรุนแรงที่สุด ธรรมชาติของสังคมนั้นคือการวิวัฒน์ไปข้างหน้า (โดยเฉพาะในสังคมวิทยาศาสตร์แบบที่ดอสโตเยฟสกียึดถือ) การที่ใครคนใดคนหนึ่งแขวนลอยตัวเองเอาไว้คือการปฏิเสธการวิวัฒน์เช่นนั้น มันทำให้ทุกสิ่งที่มุ่งไปข้างหน้า ทุกสิ่งที่เคลื่อนไหว-แลดูไร้ค่า

ในตอนจบของนวนิยายเล่มสอง มุสิกออกเดินทาง เขาไปบอกลาเจที่บาร์ หลังจากนั้นเขารู้สึกถึงความอ้างว้างว่างเปล่าในอก เขาหยิบแผนที่เมืองต่าง ๆ ออกจากที่เก็บของหน้ารถ อ่านชื่อเมือง เขาอ่านผ่านไปหลายหน้าจนความเหนื่อยล้าท่วมตัวเหมือนคลื่นเอ่อสูง กระแสคลื่นไหลไปทั่วร่าง เขาอยากจะปิดตานอนหลับ เมื่อเขาปิดเปลือกตา ใบหูก้องด้วยเสียงคลื่น พื้นทะเลต่ำใต้จะต้องอบอุ่นกว่าเมืองเล็กใด ๆ รู้สึกประหนึ่งว่าความหลับใหลจะชะล้างทุกอย่างได้ เพียงแต่พริ้มตาหลับเท่านั้นเอง

หลังจากนั้น มุสิกออกเดินทางไปฮอกไกโด (ในนวนิยายเล่มต่อมา-แกะรอยแกะดาว) โบคุออกไปตามหาเขา แต่ไม่พบพาน มีเพียงจดหมายจากเขาที่บอกว่า เขาอาจได้จากโลกนี้ไปแล้ว

เรากลับมาที่ตัวละครของ ฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี มีเรื่อง ๒ เรื่องที่เราต้องสะสาง อันได้แก่ เหตุใดชายผู้นี้จึงต้องหลบลี้มาอยู่ในที่ปราศจากผู้คน และหนังสือเล่มใดที่เขากำลังเขียนอยู่ เรารู้ว่าเหตุผลักดันมาจากความขัดแย้งระหว่างเขากับทหารผู้หนึ่ง เป็นความบาดหมางเพียงเล็กน้อย (อันได้แก่การกระทบไหล่กัน) แต่เขากลับครุ่นคิดที่จะแก้แค้นเป็นเวลาถึง ๒ ปี ตลอด ๒ ปี ไม่มีวันใดที่เขาล้มเลิกความคิดนี้ ความเกลียดชังที่มีต่อบุคคลอื่นได้ดูดกลืนเขาและทำให้เขาต้องสร้างโลกเฉพาะขึ้นเพื่ออยู่อาศัย แต่ด้วยการเป็นโลกเฉพาะนั้นเองทำให้เขาสูญเสียการสื่อสารกับบุคคลอื่น มันบีบบังคับให้เขาต้องลงมือบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของเขา ให้ผู้อื่นที่อาจได้อ่านพบ รับรู้ถึงการมีอยู่ของเขา

ในย่อหน้าสุดท้ายของนวนิยาย คำสารภาพนั้นมีว่า

“…ผมก็ยังรู้สึกละอายใจตลอดเวลาที่เขียนเรื่องเล่านี้ ดังนั้นเรื่องเล่านี้จึงไม่ใช่วรรณกรรม แต่เป็นการลงโทษเพื่อดัดสันดาน เพราะว่าการเล่าเรื่องยาว ๆ เกี่ยวกับตัวเองที่หลบหนีชีวิตไปอยู่ตามซอกมุมที่เสื่อมทราม, โดดเดี่ยวตัวเองจากสังคม, ขาดการติดต่อกับสิ่งมีชีวิตทั้งปวง มีแต่ความหยิ่งผยองและเคียดแค้นในห้องใต้ถุนเช่นผมนี้ ไม่ใช่เรื่องที่น่าสนใจเลยจริง ๆ…’บันทึกฉบับนี้’ ยังไม่จบหรอกนะ แต่ผู้บันทึกไม่อาจจะเขียนต่อไปได้ แต่สำหรับเรานั้น ก็ควรจะพักไว้แค่นี้เช่นกัน”

การพักผ่อนนี้กินเวลายาวนานพอควรก่อนตัวละครที่เป็น-ผม จะกลับมาในสัญชาติที่เปลี่ยนไป

nungsue03

ในปี ค.ศ. ๑๙๗๓ โคโบะ เอเบะ นักเขียนชาวญี่ปุ่นอีกคน ได้เขียนนวนิยายเรื่อง The Box Man ตัวเอกเป็น-ผม ที่ไม่มีการบอกชื่อเสียงเรียงนามเช่นกัน เพียงแต่เขาไม่ได้กักตัวเองอยู่ในห้องใต้ถุน หากแต่กักตัวเองอยู่ในกล่องเปล่าใบหนึ่ง

ประโยคแรกของหนังสือขึ้นต้นว่า

“…นี่คือบทบันทึกของมนุษย์กล่อง
“ผมจะเริ่มบันทึกนี้จากในกล่อง กล่องกระดาษนี้เมื่อสวมหัวจะคลุมถึงตะโพก มนุษย์กล่องคนนี้คือผม มนุษย์กล่องที่อยู่ในกล่องของเขากำลังบันทึกชีวิตของมนุษย์กล่อง”

มนุษย์กล่องได้เล่าการเกิดขึ้นของมนุษย์กล่องผ่านเรื่องราวของ A

วันหนึ่ง A ได้เห็นมนุษย์กล่องใต้ถุนที่พัก เขารู้สึกเกลียดชังและโกรธแค้นสิ่งแปลกปลอมนั้นที่บังอาจรุกรานมาในดินแดนของเขา

เขาไปแจ้งความต่อตำรวจ แต่ตำรวจไม่ทำอะไร และเขาเริ่มรู้สึกหวาดกลัวจนต้องลงมือขจัดมนุษย์กล่องด้วยตนเอง เขายืมปืนอัดลมจากเพื่อน เปิดหน้าต่างที่ห้อง และเมื่อแลเห็นมนุษย์กล่อง เขาก็เล็งปืนทันที

แต่เมื่อเห็นดวงตาของมนุษย์กล่อง (ซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่เขาเห็น) เขาก็ลังเล เขาดึงปืนกลับ แต่ความโกรธกลับมาอีกครั้ง เขาเหนี่ยวไก กล่องกระดาษกระโดดขึ้น อย่างไรกระดาษก็เป็นกระดาษมันย่อมกันกระสุนโลหะไม่ได้ แต่ไม่มีเสียงร้องออกมาจากกล่อง กระสุนโดนเป้าหมายหรือไม่ A สงสัยแต่แล้วมนุษย์กล่องก็เริ่มออกเดิน หายไปทางมุมตึก A ผิดหวังที่เขาไม่ได้เห็นสีหน้าของมนุษย์กล่องว่าเป็นเช่นไรกันแน่

อย่างไรก็ตาม ครึ่งเดือนถัดมา A มีชีวิตด้วยความหวาดกลัว เขาเปลี่ยนเส้นทางเดินทางไปทำงาน เขาจะมองไปที่หน้าต่างทุกครั้งที่มีโอกาส และถ้าเขาไม่ซื้อตู้เย็นใหม่ ความหวาดกลัวน่าจะจบสิ้นลง กล่องเปล่าของตู้เย็นทำให้เขานึกถึงมนุษย์กล่อง เขาคิดจะโยนกล่องนั้นทิ้งไป แต่กลับล้างมือ หายใจแรง ๆ และคลานเข้าไปในกล่อง

ข้างในนั้นมีแต่ความมืดและกลิ่นสีกันความชื้น ความรู้สึกอบอุ่นบังเกิดขึ้นจนทำให้เขาอยากอยู่ในนั้นตลอดไป แต่แล้วเขาก็ได้สติ เขาคลานออกมาและตัดสินใจเก็บกล่องนั้นไว้

วันรุ่งขึ้น หลังกลับจากงาน A ตัดช่องหน้าต่างให้กับกล่อง และลองสวมมันดู แต่ก็รีบถอดออกทันที เขาไม่แน่ใจว่าอะไรเกิดขึ้นกับเขา เขาเตะกล่องไปที่มุมห้องแต่ไม่กล้าทำลายมัน พอถึงวันที่ ๓ เขาลองสวมกล่องอีกครั้งและพบว่าโลกรอบ ๆ แปลกตาออกไป แต่ก็ถอดออก วันที่ ๔ เขาชมรายการโทรทัศน์ผ่านหน้าต่างในกล่องจนจบวันที่ ๕ ยกเว้นเวลานอน กินหรือขับถ่าย เขาจะอาศัยอยู่ในกล่อง เขาเริ่มรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งปรกติ วันที่ ๖ เขาอาศัยอยู่ในกล่องตลอด เมื่อถึงตอนเที่ยงเขาก็ออกจากกล่องไปซื้อของจำเป็น เช่น โถปัสสาวะ ไฟฉาย กระติกน้ำร้อน เทป ขดลวด และอาหารกล่อง กลับถึงบ้าน เขาทำกล่องให้แข็งแรงขึ้น แขวนกระจกไว้ภายใน เขาเริ่มทาหน้าตาตัวเองและนอนหลับในกล่อง และวันที่ ๗ เมื่อครบอาทิตย์ A ก็ออกเดินไปในกล่องไปบนท้องถนนและไม่กลับมาอีกเลย

แต่กำเนิดของมนุษย์กล่องผู้เล่าเรื่องนั้นน่าสนใจ ในขณะที่ผม-ผู้อยู่ใต้ถุนกำเนิดขึ้นจากความแค้น มนุษย์กล่องกำเนิดขึ้นจากความรัก จากความรู้สึกถึงอิสรภาพและเสรีภาพ โคโบะ เอเบะ เขียนนวนิยายเรื่องนี้จากข่าวเล็ก ๆ ว่าด้วยการจับกุมคนไร้บ้านบริเวณอุเอโนะเป็นจำนวนถึง ๑๘๐ คน หลายคนเหล่านั้นอาศัยกล่องเป็นที่พักพิง ทั้งที่พวกเขาก็มีบ้าน เอเบะพยายามอธิบายที่มาของแรงปรารถนาของการไร้บ้านนี้ด้วยการเขียนถึงกรณีของ A ผู้กลายเป็นมนุษย์กล่อง

ในนวนิยายเรื่องนี้ มนุษย์กล่องผู้เล่าเรื่องจะบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขาบนผนังของกล่อง ทั้งเรื่องราวเสียดสีของผู้หญิงคนหนึ่งที่พยายามขอซื้อกล่องของเขา เรื่องราวความรักของเขาที่มีต่อนางพยาบาล เรื่องราวการบาดเจ็บของเขาจากการโดนยิงโดยปืนลม (แน่ละ เขาคือมนุษย์กล่องผู้เผชิญหน้ากับ A) รวมถึงเรื่องราวของสังคมที่มองผ่านตาของเขา ฉากสุดท้ายของนวนิยายมนุษย์กล่องเล่าถึงการจากไปของผู้หญิงที่เขารัก เขาเริ่มรู้สึกว่า การบันทึกชีวิตไว้นั้นว่างเปล่า ตัวอักษรของเขานั้นไร้ความหมาย เพราะไม่แน่ใจว่าจะมีใครได้อ่านมัน เขารำพึงกับตนเองจนเสียงรถพยาบาลแล่นเข้ามา

ในขณะที่ตัวละครแรก (คือผมของดอสโตเยฟสกี) ต่อต้านสังคมด้วยการปิดล้อมพื้นที่ (enclosed space) เพื่ออยู่อาศัย ตัวละครมุสิกกลับทำการปิดล้อมด้านเวลา (enclosed time) โดยการไม่แยแสต่อการไหลไปของสังคม ส่วนมนุษย์กล่องขัดขืนต่อโลกภายนอกด้วยการสร้างพื้นที่ส่วนตัวซ้อนขึ้นในพื้นที่ส่วนรวมหรือพื้นที่สาธารณะ (private space in public space)

คำถามที่น่าสนใจคือ มีตัวละครใดในประวัติศาสตร์หรือไม่ที่สามารถปิดล้อมทั้งพื้นที่และเวลาอย่างไม่สนใจสังคม

ในปี ค.ศ. ๑๘๕๕ เฮอร์แมน เมลวิลล์ นักเขียนชาวอเมริกันได้สร้างตัวละครในตำนานขึ้นคนหนึ่งนามว่า บาร์เทิลบี(Bartleby)

book01

เฮอร์แมน เมลวิลล์

เฮอร์แมน เมลวิลล์ เขียนนวนิยายเรื่อง Bartleby The Scrivener: A Story of Wall-Street ขึ้นในปี ค.ศ. ๑๘๕๓ อันเป็นช่วงเวลาที่เขาตกต่ำย่ำแย่ในชีวิต หลังความสำเร็จของนวนิยายเรื่องเอก Moby-Dick (ที่ว่าด้วยชีวิตของนักล่าวาฬ) เขาเขียนนวนิยายอีกเรื่องชื่อ Pierre or The Ambiguities โดยหันเหประเด็นจากชีวิตท้องทะเลที่เขาคุ้นเคยมาสู่นวนิยายที่ว่าด้วยความสัมพันธ์เชิงสายเลือด การท้าทายของเขาล้มเหลว และหลังจากนั้นดูเหมือนเส้นทางสายปากกาของเขาจะดิ่งเหว เขาหันมาเขียนทุกสิ่งใกล้มือเพื่อประทังชีวิต ทั้งบทความ เรื่องสั้น นวนิยาย และบทกวีหลากแบบแต่ก็เช่นเดียวกับลูกบอลที่กลิ้งแรงลงหุบเขา ชีวิตของเขาไม่เฟื่องฟูขึ้นอีกเลย

อย่างไรก็ตาม นวนิยายที่ถูกผลิตสร้างขึ้นในโมงยามแห่งความล้มเหลวนี้กลับเป็นงานที่ทรงพลังและแสนตราตรึง มันได้เปิดประเด็นถกเถียงมากมาย นับแต่ความแปลกปร่าของภาษาสนทนา โดยเฉพาะประโยคที่ว่า-ผมไม่ประสงค์ที่จะ-(I prefer not to) อันเป็นประโยคหลักของตัวละครเอก [ซึ่งถูกชำแหละให้เห็นถึงนัยการเมืองของมันโดย ฌากส์ รองซิแยร์ นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส ผู้สนใจประเด็นนี้หาอ่านได้ใน “การเมืองของวรรณกรรม (๒)” โดย ดร. ไชยรัตน์ เจริญสิน-โอฬาร ในวารสาร วิภาษา ฉบับ ๑ พ.ค.-๑๕ มิ.ย. ๒๕๕๑] หรือแง่มุมที่ว่าเมลวิลล์เขียนนวนิยายเรื่องนี้โดยได้รับกระสวนความคิดมาจากงานปรัชญานิพนธ์ของ ราล์ฟ วัลโด อีเมอร์สัน นักปรัชญาแนวธรรมชาตินิยมชาวอเมริกัน ซึ่งถือเป็นการแปรความคิดเชิงปรัชญามาเป็นงานวรรณกรรมได้อย่างสวยงาม ก่อนที่ อัลแบร์ กามูส์ จะแปลงปรัชญาอัตถิภาวนิยม หรือ Existentialism ของ ฌอง-ปอล ซาร์ตร์มาใช้ในงานชื่อ คนนอก (The Stranger)

book02

นวนิยายเรื่อง บาร์เทิลบี นี้อาจดูไร้ข้อพิเศษใด ๆ มันเป็นเรื่องแสนธรรมดาของเสมียนนักคัดลอกข้อความ (The Scrivener) คนหนึ่งที่ปฏิเสธจะเคลื่อนย้ายตนเองออกจากสถานที่หนึ่ง เขาปฏิเสธการกระทำตามความต้องการของผู้อื่นด้วยการเน้นย้ำประโยคปฏิเสธซ้ำ ๆ ว่า-ผมไม่ประสงค์ที่จะ เรารับรู้พฤติกรรมดื้อดึงดันเช่นนี้ผ่านสายตานายจ้างของเขา ผู้แทนตนเองง่าย ๆ ว่า “ผม” เรารับรู้การปฏิเสธที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า นับแต่การปฏิเสธการตรวจทานข้อความ การไปทำธุระที่ไปรษณีย์ซึ่งเป็นเรื่องเล็กน้อย จนถึงการเคลื่อนย้ายตนเองออกจากสำนักงานและอาคารที่เขาใช้อยู่อาศัย ทุกคนหลีกหายจากเขาแทน เขาถูกจับกุม ถูกส่งตัวไปที่เรือนจำ ถูกคุมขัง และแล้วในที่สุดเขาก็ปฏิเสธการกินอาหาร และตายลงเมื่อนายจ้างของเขาเดินทางไปเยี่ยมเยือนเป็นครั้งสุดท้าย

พฤติกรรมพฤติการณ์ของนายบาร์เทิลบีที่ปฏิเสธแทบทุกสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวนี้เอง เป็นสิ่งที่ชวนให้เราขบคิดว่า เหตุใดเล่าเขาจึงเลือกยืนอยู่ข้างโลกแห่งการไม่ขยับตัว เหตุใดเล่าเขาจึงปิดล้อมตนเองจากทุกสิ่ง จากผู้คนรอบ ๆ แล้วยินยอมรับความตายที่เกิดขึ้นกับเขาอย่างช้า ๆ เขายึดถือเหตุผลใดที่เชิดชูตนเองอย่างที่สุด เขายึดถือเหตุผลใดเล่าที่สร้างตัวเขาให้แตกต่างและแปลกแปร่งจากสังคมโดยรอบ

อาจเป็นเรื่องบังเอิญและไม่มีหลักฐานเชื่อมโยง (ดังนั้นเราจึงชอบถือว่ามันเป็นเรื่องบังเอิญ) ในปี ๑๘๔๔ ก่อนหน้านวนิยายเรื่องนี้ราว ๑๐ ปี คาร์ล มาร์กซ์นักปรัชญาชาวเยอรมันได้นิพนธ์หนังสือปรัชญาเล่มหนึ่งชื่อ Economic and Philosophic Manuscripts of 1844 เนื้อหาพูดถึงพัฒนาการทางเศรษฐศาสตร์และสังคมที่ก้าวไปสู่สังคมอุดมคติ ทั้งเรื่องค่าจ้างแรงงาน ทุน อำนาจของเงินอย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจในหนังสือเล่มนี้อีกอย่างคือ การหยิบยกปัญหาว่าด้วยความแปลกแยก (alienation)ของมนุษย์อันเกิดจากการพัฒนาสู่ระบบทุนนิยม มาพูดถึงในส่วนของแรงงานและการผลิต

มาร์กซ์ได้แจกแจงโทษานุโทษหรือบาปจากการผลิตของมนุษย์ยุคใหม่ไว้ ๖ ประการ อันได้แก่
๑. ยิ่งเราผลิตมากเพียงใด เราก็ยิ่งเสพและบริโภคมากเพียงนั้น
๒. ยิ่งสิ่งที่เราผลิตมีคุณค่ามากเพียงใด เราก็ยิ่งไร้คุณค่ามากเพียงนั้น
๓. ยิ่งสิ่งที่เราผลิตมีรูปลักษณ์สมบูรณ์มากเพียงใด รูปลักษณ์ของเราก็ยิ่งบิดเบี้ยวมากเพียงนั้น
๔. ยิ่งสิ่งที่เราผลิตแลดูทันสมัยมากเพียงใด เราก็ยิ่งล้าสมัยมากเพียงนั้น
๕. ยิ่งสิ่งที่เราผลิตทรงพลังมากเพียงใด เราก็ยิ่งอ่อนแอมากเพียงนั้น
๖. ยิ่งสิ่งที่เราผลิตทรงปัญญามากเพียงใด เราก็ยิ่งโง่งมและตกเป็นทาสได้ง่ายมากเพียงนั้น

และด้วยผลจากการผลิตนี้เองได้ผลักไสมนุษย์ให้แปลกแยกใน ๔ ลักษณะ อันได้แก่
๑. ความแปลกแยกระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ
๒. ความแปลกแยกระหว่างมนุษย์กับตนเอง
๓. ความแปลกแยกระหว่างมนุษย์กับเผ่าพันธุ์ของเขา
๔. ความแปลกแยกระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกัน

มาร์กซ์บอกว่าความแปลกแยกที่ว่านี้แม้จะนำมาซึ่งอิสรภาพ ทำให้มนุษย์ไม่ถูกผูกติดกับสิ่งใดนับจากพระเจ้าลงมา แต่ความเป็นอิสรภาพนั้นก็ปรากฏขึ้นพร้อมความโดดเดี่ยวเดียวดาย โดยเฉพาะในความแปลกแยกระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง

ในบทละครเชิงกวีนิพนธ์ ของ ที.เอส. อีเลียต ชื่อ The Cocktail Party (๑๙๔๘) ตัวเอกของเรื่องคือซิเลียรู้สึกตื่นตะลึงกับความเดียวดายเปล่าเปลี่ยวรอบตัวเธอ จนอุทานเป็นบทกวีว่า

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ฉันตระหนักว่าฉันอยู่ตัวคนเดียว และทุกคนอยู่ตัวคนเดียว

ไม่ใช่ว่าฉันอยากจะเป็นอยู่อย่างโดดเดี่ยว

แต่ดูเหมือนทุกคนรอบ ๆ ตัวฉันก็เป็นคนเดียวดายเช่นนี้ด้วย

พวกเขาส่งเสียงแต่คิดว่าตนเองกำลังคุยกับคนอื่น

พวกเขาแสดงสีหน้าแต่คิดว่าตนเองได้เข้าใจผู้คนอื่น

แต่ฉันมั่นใจว่าพวกเขาไม่ได้เป็นเช่นนั้น

การถอยห่างออกจากธรรมชาติและเข้าสู่โลกของเครื่องจักรกล การแปลงตนเองมาเป็นผู้บริโภคแทนการอยู่กับธรรมชาติ สร้างสิ่งที่เรียกว่า individual auto-nomy หรือการเสพสิ่งเฉพาะตัว ภาวะเช่นนี้สร้างและทำให้บาร์เทิลบียอมตายอย่างเดียวดาย เขาไม่ขอรับสิ่งใดจากบุคคลอื่นจากโลกนี้แม้สิ่งที่เป็นอาหาร ดังในฉากสุดท้ายเมื่อผู้เป็นนายไปเยี่ยมเขายังสถานที่คุมขัง

“…เรือนกายบอบบางของเขาขดตัวอยู่ริมกำแพง ศีรษะจรดกับหินอันเย็นเฉียบ ร่างอันสูญสลายของบาร์เทิลบีปรากฏเบื้องหน้าข้าพเจ้า ไม่มีการเคลื่อนไหวใด ๆ ข้าพเจ้าหยุดนิ่งอยู่ชั่วครู่ ก่อนจะเดินเข้าไปก้มมองและสังเกตเห็นว่า ดวงตาอันไร้แววของเขายังเบิกกว้างอยู่ ถ้าไม่เห็นดวงตาคู่นั้น ข้าพเจ้าก็คงคิดว่าเขากำลังนอนหลับ มีบางอย่างกระตุ้นให้ข้าพเจ้ายื่นมือไป ข้าพเจ้าสัมผัสโดนมือของเขาและรู้สึกได้ถึงความหนาวเย็นที่รุกไล่ตั้งแต่แขนแผ่ไปยังกระดูกสันหลังลามลงสู่เท้าของข้าพเจ้า

“ใบหน้ากลมของคนทำอาหารกำลังจ้องมองข้าพเจ้า “อาหารเย็นพร้อมแล้ว วันนี้เขาก็จะไม่กินข้าวเย็นอีกใช่ไหม หรือเขามีชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องกินข้าวเย็น” “มีชีวิตอยู่โดยไม่ต้องกินข้าวเย็น” ข้าพเจ้าพูดพร้อมกับปิดตาของบาร์เทิลบีลง”

book03

ฟรานซ์ คาฟกา

บุคลิกภาพอันน่าตื่นตะลึงของบาร์เทิลบีสร้างความประทับใจให้แก่นักเขียนรุ่นหลังหลายต่อหลายคน เขาได้ทิ้งโครงสร้างพันธุกรรมอันก่อให้เกิดการทำซ้ำความเป็นบาร์เทิลบีในหลายแง่มุม แต่ผลงานที่เด่นชัดที่สุดน่าจะได้แก่เรื่องสั้นชื่อ A Hunger Artist ของ ฟรานซ์ คาฟกา นักเขียนชาวเชก ที่นำเสนอชีวิตของศิลปินนักแสดงด้านการอดอาหารที่เริ่มสูญเสียผู้ชม เขาถูกทอดทิ้งให้โดดเดี่ยว และตัดสินใจจบชีวิตลงด้วยการปล่อยให้การอดอาหารมิใช่การแสดงอีกต่อไป

“…วันคืนผ่านไปเรื่อย ๆ และมาบรรจบในวันที่พนักงานคนหนึ่งเห็นกรงตั้งอยู่ จึงถามคนใช้ว่า ทำไมจึงเอากรงดี ๆ มาใส่ฟางเน่าทับถมไว้ข้างในโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร ไม่มีใครตอบได้ จนกระทั่งมีคนหนึ่งไปเห็นกระดาษดำที่จดตัวเลขสถิติไว้ ก็เลยนึกถึงผู้แสดงการอดอาหารขึ้นมา เขาจึงเอาไม้เขี่ยฟางและได้พบผู้แสดงการอดอาหารนอนอยู่ใต้ฟาง หัวหน้าคนงานจึงถามว่า “คุณยังอดอยู่หรือ เมื่อไรจะเลิกเสียทีล่ะ” “ทุก ๆ คนโปรดยกโทษให้ฉันด้วยเถิด” ผู้แสดงการอดอาหารกระซิบ หัวหน้าคนงานซึ่งเอาหูเงี่ยฟังที่ลูกกรงเท่านั้นที่ได้ยิน “แน่นอน” หัวหน้าคนงานพูดแล้วเอานิ้วจิ้มลงที่หน้าผากเพื่อจะบอกให้คนใช้รู้ว่าสมองของชายคนนี้เป็นอะไรไป “เรายกโทษให้คุณ” “ผมต้องการให้คุณยกย่องชมเชยการอดอาหารของผม” ผู้แสดงการอดอาหารพูดต่อ “เราก็ยกย่องนี่” หัวหน้าคนงานพูดอย่างอ่อนโยน “แต่คุณไม่ควรจะยกย่อง” ผู้แสดงการอดอาหารบอก “ทำไมเราไม่ควรที่จะยกย่องเล่า” “เพราะผมจำเป็นต้องอด ผมทำอย่างอื่นไม่ได้” ผู้แสดงการอดอาหารตอบ “คนอย่างนี้ก็มีด้วย” หัวหน้าคนงานกล่าว “ทำไมคุณถึงทำอย่างอื่นไม่ได้” “เพราะว่า” ผู้แสดงการอดอาหารพูด ยกศีรษะขึ้นนิดหน่อยแล้วพูดด้วยริมฝีปากจีบ คล้ายจะจูบกระซิบตรงหูหัวหน้าคนงาน คล้ายจะไม่ให้คำพูดรั่วไหลไปสักคำ “เพราะว่าผมไม่สามารถจะหาอาหารที่ผมชอบได้ ถ้าผมพบอาหารที่ผมชอบ เชื่อเถอะ ผมก็คงจะไม่มานั่งอด คงจะกินเข้าไปให้อิ่มเหมือนพวกคุณทั้งหลาย” นี่เป็นคำพูดประโยคสุดท้าย ในสายตาที่มัวของเขายังมีรอยแห่งความหนักแน่นอยู่ แม้จะไม่ใช่ความเชื่อมั่นที่จะหยิ่งต่อไปว่าเขาจะอดอาหารต่อไปเรื่อย ๆ หัวหน้าคนงานพูด “เอ้าจัดการให้เรียบร้อยซิ” แล้วเขาก็ฝังผู้แสดงการอดอาหารพร้อมกับฟางและสิ่งอื่น ๆ แล้วเอาลูกเสือดำใส่แทน แม้แต่คนที่จิตใจตายด้านก็รู้สึกสนุกสนานที่แลเห็นสัตว์ป่ามากระโดดไปรอบ ๆ กรงซึ่งแห้งแล้งมานานแล้ว…”

book04

The

Documentary Artist ของ ไญเม่ มันริเก้ ได้ต่อยอดเรื่องเล่าแห่งการไม่เลือกข้างไปจนถึงที่สุด
ศาสตราจารย์ด้านภาพยนตร์คนหนึ่งมีศิษย์เอกนามว่า เซบาสเตียน ผู้พยายามดัดแปลงเรื่องสั้นเรื่อง A Hunger Artist เป็นภาพยนตร์ ทุกอย่างดูจะเป็นปรกติดีหากเซบาสเตียนจะไม่หลงใหลชีวิตของศิลปินนักอดอาหารจนถึงขั้นสมาทานชีวิตเช่นนั้นเป็นของตนแทนที่จะถ่ายทอดมันจากการแสดง เขาหายไปจากชั้นเรียน จากชีวิตจริง และปรากฏตัวอีกครั้งในภาวะที่ถอยห่างจากสังคมอย่างสิ้นเชิง ศาสตราจารย์ออกตามหาเขา ก่อนจะพบกับเขาอีกครั้งในสภาพที่สุดจะคาดถึง

“…ในฤดูร้อน ผมเริ่มทำสารคดีเกี่ยวกับชีวิตข้างถนนในนิวยอร์ก ผมใช้เวลาส่วนใหญ่ตามถนนพร้อมกับกล้องวิดีโอ ถ่ายทุกสิ่งทุกอย่างที่ผมคิดว่าเป็นตัวแทนของชีวิตข้างถนน บ่ายวันหนึ่งในเดือนพฤศจิกายน ผมคงจะไม่หยุดสังเกตชายคนนี้ หากไม่เป็นเพราะฝนเริ่มลงเม็ดหนักและเห็นเขานั่งคุกเข่ามีป้ายกระดาษแข็งเขียนว่า ช่วยด้วย ผมหิว แขวนอยู่รอบคอ

“ผมยืนนิ่งตัวเปียกโชก รอให้เซบาสเตียนลืมตา ดูเหมือนว่าเขาจมอยู่ในภวังค์

“เขายิ้มเห็นฟันหลอและเหลืองอ๋อย นัยน์ตาของเขาวาวขึ้นด้วย ไม่ใช่เพราะเขาจำผมได้ แต่ด้วยนิพพานแห่งความวิกลจริต

“”ผมโอเค ผมเป็นห่วงคุณ ผมตามหาคุณตลอดฤดูหนาว” เสียงของผมขาดหายไป ผมเริ่มรู้สึกตะขิดตะขวงใจ

“”ขอบคุณ แต่เชื่อเถอะ ผมจัดการได้” เขาพูดอย่างมีสติและระวังคำพูดจนน่าตกใจ “ผมไม่ได้บ้า ผมรู้ดีว่าถ้าต้องการความช่วยเหลือจะไปทางไหนได้บ้าง ผมอยากให้คุณเข้าใจว่าผมเป็นคนไร้บ้านเพราะผมเลือกที่จะเป็นคนไร้บ้าน ผมเลือกที่จะไม่เป็นส่วนหนึ่ง” เขาพูดใส่อารมณ์ แล้วเสริมคำหนักแน่น “นี่เป็นที่ที่ผมโอเคตอนนี้””

เซบาสเตียนปฏิเสธการช่วยเหลือจากศาสตราจารย์ เขาจากไปในความเปลี่ยวร้างบนท้องถนน ก่อนจะเสียชีวิตบนม้านั่งในเซ็นทรัลปาร์ก เขาตายด้วยโรคปอดบวมและโลหิตจาง ตำรวจติดต่อพ่อแม่เขาจากบัตรประชาชน ในเป้ของเขามีหนังที่ถ่ายทำจนจบชื่อ The Hunger Artist ศาสตราจารย์เปิดชมมัน

“…หนังเปิดเรื่องด้วยภาพโคลสอัพของเซบาสเตียน เขาคงเริ่มถ่ายทำเมื่อยังอยู่มหาวิทยาลัย เพราะนัยน์ตาสดใส ผิวพรรณของเขาดูดี มีน้ำมีนวล กล้องค่อย ๆ สำรวจหน้าตาของเขา ตาขวา ตาซ้าย เม้มริมฝีปาก แล้วยิ้มกว้างเห็นฟันสองแถวในสภาพดี ต่อมาเราเห็นหูของเซบาสเตียน และในที่สุดตามแบบฉบับของเซบาส-เตียน กล้องส่องรูจมูกของเขา รูจมูกข้างหนึ่งเต็มไปด้วยขี้มูก …กล้องถอยออก และเราเห็นเขานั่งในท่าดอกบัว ใส่กางเกงขาสั้น บนผนังด้านหลังมีป้ายเขียนว่า ศิลปินไม่ได้กินสองชั่วโมง เริ่มต้นบันทึกสถิติโลก ตัดมาที่คนดู ผู้หญิงผมยาวสีเขียว แต่งมัสคาร่าหนา เขียนตาสีม่วง ทาริมฝีปากอย่างประหลาด เคี้ยวหมากฝรั่ง เป่ามันยังกับนักเบสบอล และจิบไดเอตโค้ก หล่อนพยักหน้าเห็นด้วยตลอดเวลา กล้องตัดมาที่เซบาสเตียน เขาจ้องมองหล่อนอย่างเฉยเมย ซ้ำภาพทำนองนี้อีก เราเห็นชายคนหนึ่งใส่สูทสามชิ้นแบบนักบริหาร เฝ้าดูและจดบันทึก ตามมาด้วยสาวผมทองอวบอั๋นประดับเพชรพลอยวูบวาบ หล่อนจิกข้าวโพดคั่วอาบเนยในกล่องขนาดใหญ่ขึ้นมากินและดื่มเบียร์ หล่อนสวมถุงมือไหมสีขาว เราเห็นผู้คนอย่างน้อยครึ่งโหล แต่ละคนมีบุคลิกเฉพาะ เซบาสเตียนแสดงเองในทุกบท ฉากนี้จบลงด้วยการปรบมือ ขณะผู้ชมออกจากห้องก็ทิ้งเงินไว้ในที่เขี่ยบุหรี่สกปรก ในถุงมือทิ้งนามบัตรไว้ มีข้อความว่า ถ้าคุณหิวจริง ๆ เมื่อไหร่ โทรถึงฉัน กล้องตัดมาที่เซบาสเตียนในท่าดอกบัว ตัดมาที่พาดหัว ศิลปินทำลายสถิติความหิว ไม่ได้กินยี่สิบสี่ชั่วโมง ต่อมาเราเห็นศิลปินอดอาหารอยู่ในถนน ผมเดาว่าเขาให้คนข้างถนนถือกล้องถ่ายเขา สภาพของเซบาสเตียนทรุดโทรมลงเรื่อย ๆ เสื้อผ้าของเขาเปรอะเปื้อนและขาดวิ่นมากขึ้น แก้มของเขาซูบตอบ ตาวาวเหมือนดวงตาของสัตว์ร้ายในความมืด พาดหัวว่า สี่สิบห้าวันไม่ได้กิน หนึ่งร้อยสองวันไม่ได้กิน หนึ่งร้อยสิบเอ็ดวัน แทนที่จะเป็นการปรบมือ เราเห็นมือข้างหนึ่งโบกไล่ศิลปิน หนังจบด้วยการสัมภาษณ์คนไร้บ้านคนหนึ่ง เราไม่เห็นหน้าคนสัมภาษณ์ แต่เป็นเสียงของเซบาสเตียน เขาอ่านข้อความจากเรื่องสั้นของคาฟกาให้ผู้หญิงไร้บ้านคนหนึ่งฟังและถามความเห็นของหล่อน หล่อนตอบด้วยการหัวร่อไร้เสียง…”

และนั่นคือภาพสุดท้ายของเซบาสเตียน ตัวละครจากโลกแห่งการไม่เลือกข้าง

หมายเหตุ
บาร์เทิลบี ฉบับภาษาไทย แปลโดย พัจนภา เปี่ยมศิลป-กุลชร สำนักพิมพ์สมมติ
– เรื่องสั้น “ผู้แสดงการอดอาหาร” (A Hunger Artist) แปลโดย สมหวัง กนิษฐะเสน ใน เรื่องสั้นเยอรมัน สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช
– เรื่องสั้น “ศิลปินชีวิตจริง” (The Documentary Artist) แปลโดย ภูมิช อิสรานนท์ ใน ฟิล์มไวรัส ๓ ฉบับอีสาวกายสิทธิ์ สำนักพิมพ์ openbooks