เรื่อง : วันดี สันติวุฒิเมธี

nargis1

ผู้ประสบภัยนาร์กิสในเมืองโบกาเล หนึ่งในเมืองที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด ยื่นมือขอความช่วยเหลือจากองค์กรพัฒนาเอกชนท้องถิ่น ท่ามกลางน้ำที่ยังคงท่วมขังหลังเกิดพายุ 11 วัน (ภาพ : Mizzima)

กลางดึกคืนวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๕๑ ณ บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดี อู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญของประชาชนพม่า ขณะผู้คนกำลังนอนหลับใหลอยู่ในบ้านหลังเล็กมุงหลังคาสังกะสี พายุหมุนไซโคลนนาร์กิสซึ่งมีความเร็วลมมากกว่า ๑๘๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง ค่อยๆ เคลื่อนตัวจากมหาสมุทรอินเดียขึ้นสู่ชายฝั่งภาคอิรวดีไปทางทิศตะวันออก ผ่านภาคย่างกุ้ง ภาคพะโค และรัฐมอญ ก่อนจะอ่อนกำลังลงที่ชายแดนประเทศไทย ความรุนแรงของลมหมุนได้พัดพาบ้านเรือนซึ่งส่วนใหญ่สร้างด้วยไม้และมุงหลังคาสังกะสีหลุดปลิวว่อน แรงกระหน่ำของสายฝนที่ตกยาวนานตลอดทั้งคืนจนถึงรุ่งเช้าก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และกระแสน้ำสูงกว่า ๓ เมตรได้พัดพาชีวิตผู้คนนับแสนให้จมหายไปกับสายน้ำ

ลุ่มอิรวดี ดินแดนที่เคยขึ้นชื่อว่าอุดมสมบูรณ์ที่สุดในประเทศพม่าและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้กลายเป็นสุสานของผู้คนและสัตว์เลี้ยงนับแสนชีวิตในชั่วข้ามคืน และอาจกำลังจะกลายเป็น “สุสานคนเป็น” ของผู้ประสบภัยมากกว่า ๒ ล้านคนที่รอคอยความช่วยเหลือจากนานาชาติ แต่ถูกรัฐบาลของตนสกัดกั้นเอาไว้ไม่ให้ไปถึงมือพวกเขาได้อย่างเสรี

หรือนี่อาจเป็นพายุ “นาร์กิส” ลูกที่สองที่กำลังซัดกระหน่ำผู้ประสบภัยชาวพม่า และดูเหมือนพายุลูกนี้อาจรุนแรงและยืดเยื้อยาวนานกว่าครั้งแรกโดยไม่มีกรมอุตุนิยมวิทยาของประเทศใดสามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้

nargis4

สภาพบ้านเรือนบนเกาะไฮยี (Haing Gyi) ที่พายุหมุนเคลื่อนผ่านด้วยความแรงระดับ จนเสียหายเกือบทั้งเกาะ(ภาพ : Mizzima)

nargis2

ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงพายุไซโคลนนาร์กิส ความเร็วลม ๑๖๖ กิโลเมตรต่อชั่วโมง เหนือท้องทะเลอ่าวเบงกอล เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๕๑ และพัฒนาความเร็วลมจนมากกว่า ๑๘๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก่อนขึ้นฝั่งภาคอิรวดี ประเทศพม่า ในเย็นวันต่อมา (ภาพ : NASA)

nargis3

แผนที่แสดงเส้นทางเคลื่อนผ่านของไซโคลนนาร์กิสจากกำลังแรงระดับ ๔ ในอ่าวเบงกอล ขึ้นฝั่งประเทศพม่าในคืนวันที่ ๒ พฤษภาคม หลังจากนั้นค่อยๆ ลดความเร็วลงเหลือระดับ ๓ เมื่อเคลื่อนตัวผ่านเมืองลาบุตตา (ดูสัญลักษณ์รูปพายุสีแดงในแผนที่) ระดับ ๒ ที่เมืองเพียะโปน (สัญลักษณ์สีส้ม) ระดับ ๑ ที่เมืองย่างกุ้ง (สัญลักษณ์สีเหลือง) และอ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อนที่เมืองไจก์โถ่ ภาคพะโค (สัญลักษณ์สีเขียว) ส่วนบริเวณพื้นที่สีแดงเป็นพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วม
(แผนที่ : International Federation of Red Cross and Red Crescent Societies)

การเดินทางของมัจจุราช
พายุไซโคลนนาร์กิส มาจากภาษาเปอร์เซียนและอูรดู หมายถึงชื่อเรียกดอกไม้จำพวกแดฟโฟดิล เป็นพายุหมุนเขตร้อนที่มีกำลังแรงในระดับ ๔ (category 4)* เริ่มก่อตัวตั้งแต่สัปดาห์สุดท้ายของเดือนเมษายน เหนือท้องทะเลอ่าวเบงกอล มหาสมุทรอินเดีย ในลักษณะหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง และเริ่มพัฒนาความรุนแรงขึ้นอยู่ในระดับดีเปรสชันเมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน โดยกรมอุตุนิยมวิทยาของประเทศอินเดีย (India Meteorological Department) ตรวจวัดระดับความเร็วลมสูงสุดได้ ๖๒ กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทว่าหลังจากนั้นเพียง ๙ ชั่วโมง ความรุนแรงได้เพิ่มขึ้นจนถึงขั้นดีเปรสชันระดับรุนแรง

กระทั่งรุ่งเช้าวันที่ ๒๘ เมษายน เวลา ๐๕.๓๐ น. ตามเวลาท้องถิ่นของประเทศอินเดีย กรมอุตุนิยมวิทยาได้ระบุความรุนแรงของพายุว่าเป็นไซโคลนนาร์กิส ก่อตัวอยู่ห่างจากภาคตะวันออกของอินเดีย ๕๕๐ กิโลเมตร โดยในตอนแรกเคลื่อนตัวจากทิศตะวันออกสู่ตะวันตกเฉียงเหนือมุ่งหน้าไปยังประเทศอินเดีย แต่บรรยากาศที่เริ่มแห้งแล้งในวันที่ ๒๙ เมษายน ทำให้พายุอ่อนกำลังลง และเปลี่ยนทิศทางไปยังภาคตะวันออก มุ่งหน้าสู่ชายฝั่งภาคอิรวดีของพม่าด้วยความเร็วลมสูงสุด ๑๖๕ กิโลเมตรต่อชั่วโมง ต่อมาศูนย์ความร่วมมือระหว่างกองทัพเรือและกองทัพอากาศแห่งสหรัฐอเมริกาเพื่อการเตือนภัยไต้ฝุ่น (Joint Typhoon Warning Center of US’s Navy and Air Forces) ได้แจ้งว่า ความเร็วลมสูงสุดของพายุหมุนนี้จะทวีเป็น ๒๕๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยจัดอยู่ในระดับไซโคลนเขตร้อน 01B

ลักษณะเฉพาะของพายุไซโคลนจะมีความเร็วลมตั้งแต่ ๑๑๘ กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป และมักจะมี “ตา” ซึ่งเป็นบริเวณลมค่อนข้างสงบและมีความกดอากาศค่อนข้างต่ำอยู่กลางวงหมุน ตาพายุนี้จะเห็นได้ชัดเจนจากภาพถ่ายดาวเทียมเป็นวงกลมเล็กที่ไม่มีเมฆ รอบตามี “กำแพงล้อม” (eyewall)ที่มีขนาดกว้างประมาณ ๑๖-๘๐ กิโลเมตร เป็นบริเวณที่มีพายุฝนและลมหมุนที่รุนแรงมากหมุนวนรอบๆ ตา การเคลื่อนตัวของเมฆรอบศูนย์กลางพายุก่อตัวเป็นก้นหอยที่เด่นชัด

จากสภาพอากาศดังกล่าวทำให้กรมอุตุนิยมวิทยาของหลายประเทศคาดการณ์ได้ว่า เส้นทางของพายุนาร์กิสจะขึ้นฝั่งที่ประเทศพม่าบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดีไปทางทิศตะวันออก โดยประเทศที่อาจได้รับผลกระทบจากรัศมีของพายุไซโคลนครั้งนี้คือ อินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ

หลังจากทราบถึงความรุนแรงของพายุที่ก่อตัวขึ้นในมหาสมุทรอินเดีย กรมอุตุนิยมวิทยาของอินเดียจึงประกาศเตือนประชาชนที่อยู่ริมฝั่งทะเลและชาวประมงให้งดออกเรือในช่วงนี้ ส่วนรัฐบาลบังกลาเทศประกาศให้ประชาชนรีบเกี่ยวข้าว เพราะเคยได้รับบทเรียนจากพายุไซโคลนเมื่อปีก่อนที่ทำให้น้ำท่วมนาข้าวเสียหายจนเกิดวิกฤตขาดแคลนอาหาร

ทว่าในประเทศพม่า รัฐบาลทหารเพียงประกาศเตือนประชาชนผ่านทางตัวหนังสือวิ่งในรายการโทรทัศน์และตามสถานีวิทยุของรัฐบาลซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ไม่เปิดดูและรับฟัง โดยประกาศเตือนระดับความรุนแรงของพายุแค่ระดับ ๑ (ความเร็วลม ๑๑๙-๑๕๓ กิโลเมตรต่อชั่วโมง ความสูงของคลื่น ๑.๒-๑.๕ เมตร ความเสียหายเล็กน้อย ไม่ส่งผลต่อสิ่งก่อสร้าง มีน้ำท่วมบ้างตามชายฝั่ง) ทั้งๆ ที่กรมอุตุนิยมวิทยาของอินเดียและไทยได้แจ้งเตือนล่วงหน้าอย่างน้อย ๒ วันว่าพายุไซโคลนลูกนี้มีความรุนแรงระดับ ๔ ด้วยเหตุนี้ประชาชนในพม่าจึงไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องล่วงหน้า และไม่มีโอกาสเตรียมตัวรับมือกับมหันตภัยที่เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืนได้เลย แม้กระทั่งประชาชนในเมืองย่างกุ้งซึ่งเป็นอดีตเมืองหลวงที่มีผู้ใช้ไฟฟ้าและดูทีวีมากที่สุด ก็ยังไม่มีใครทราบถึงภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น

เส้นทางพายุมัจจุราชพัดผ่านเมืองลาบุตตา (Labutta) ในภาคอิรวดี ด้วยความรุนแรงระดับ ๓ เคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านเมืองเพียะโปน (Pyapon) ด้วยกำลังแรงระดับ ๒ แล้วค่อยๆ อ่อนกำลังลงเป็นระดับ ๑ ขณะผ่านตัวเมืองย่างกุ้ง จนลดลงเป็นพายุโซนร้อนที่เมืองไจก์โถ่ ภาคพะโค ซึ่งเป็นบริเวณที่มีสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังคือพระธาตุอินทร์แขวน โดยมีนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศได้รับผลกระทบจากพายุลูกนี้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากไม่ได้รับคำเตือนล่วงหน้าจากบริษัททัวร์ท้องถิ่น

มหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ บลูมเบอร์ก แห่งสหรัฐอเมริกา ได้ประเมินความเสียหายครั้งนี้โดยประเมินจากฐานข้อมูลทางภูมิศาสตร์ หรือ Geographic Information System (GIS) ตามเส้นทางที่พายุไซโคลนเคลื่อนผ่านเป็นระยะทาง ๒๕๐ กิโลเมตร และมีรัศมีพื้นที่ความเสียหายมากถึง ๑๐,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร คาดว่าประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากมหันตภัยครั้งนี้มีจำนวนมากถึง ๓.๒ ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ในภาคอิรวดีจำนวน ๑.๘ ล้านคน และย่างกุ้ง ๑.๑ ล้านคน ภาคพะโคตะวันออกและมอญอย่างน้อย ๑ แสนคน เมืองที่ได้รับความเสียหายที่สุดคือเมืองลาบุตตาและโบกาเลในภาคอิรวดี มีประชากรซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวพม่าและกะเหรี่ยงมากกว่า ๒ แสนคนได้รับผลกระทบจากมหันตภัยครั้งนี้ ส่วนเมืองที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดในภาคย่างกุ้งคือเมืองกอนฉ่านโกงและหล่ายต่ายา มีประชากรเกือบ ๒ แสนคนได้รับผลกระทบ

จนถึงวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๑ ทางการพม่าสรุปยอดผู้เสียชีวิตจำนวน ๗๗,๓๗๐ คน และผู้สูญหายจำนวน ๕๕,๙๑๗ คน ส่วนตัวเลขของสหประชาชาติประเมินว่ามีผู้เสียชีวิตและสูญหายรวมกัน ๑๓๐,๐๐๐ คน และผู้ประสบภัยทั้งหมด ๒.๕ ล้านคน

nargis5

ผู้รอดชีวิตจากพายุในเมืองกอนฉ่านโกง ภาคย่างกุ้ง เขียนป้ายร้องขอความช่วยเหลือจากนานาชาติ ต่อมาป้ายนี้ ถูกเจ้าหน้าที่ทางการพม่าสั่งให้เอาออกนื่องจากเป็นการประจานให้เห็นว่ารัฐบาลทหารพม่าไม่ได้ส่งความช่วยเหลือไปถึงมือผู้ประสบภัย (ภาพ : Mizzima)

เสียงจากผู้รอดชีวิต

“พอฉันได้ยินเสียงพายุดังมาก ฉันก็รีบวิ่งหนีออกมาจากบ้านในคืนนั้น ครอบครัวของฉันโชคดีที่หนีได้ทันก่อนที่น้ำจะท่วม หลังพายุสงบแล้ว ฉันเจอแต่ศพคนและสัตว์ตลอดทาง ได้ยินแต่เสียงร้องไห้ของญาติพี่น้องที่เดินตามหาคนในครอบครัว หลายคนถูกต้นไม้ล้มทับ เด็กบางคนจับมือกันนอนตายอยู่ข้างทาง เฉพาะเส้นทางที่ฉันเดินผ่านพบอย่างน้อย ๔๐ ศพ ส่วนในแม่น้ำยิ่งมีศพมากมายลอยอยู่นับไม่ถ้วน บางหมู่บ้านมีคนที่รอดชีวิตแค่ ๖ คนเท่านั้น มีแต่เสียงร้องไห้ดังไปทั่ว”

ข้างต้นเป็นคำบอกเล่าของชาวบ้านที่รอดชีวิตจากเมืองกอนฉ่านโกง (Konchankone) หนึ่งในหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดของภาคย่างกุ้ง ซึ่งให้สัมภาษณ์ผ่านวิดีโอและเผยแพร่ทางเว็บไซต์ของสำนักข่าวเสียงประชาธิปไตยพม่า (Democratic Voice of Burma) หรือ DVB เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม หลังเกิดพายุไซโคลนเพียง ๒ วัน

อีก ๒ อาทิตย์ถัดมา วันที่ ๑๘ พฤษภาคม สำนักข่าวเดียวกันได้สัมภาษณ์ผู้รอดชีวิตจากเมืองนี้อีกครั้งถึงความคืบหน้าของความช่วยเหลือ โดยได้รับคำตอบว่า

“ตอนนี้ทุกอย่างเลวร้ายมาก โดยเฉพาะในพื้นที่นอกเขตตัวเมือง ทั้งซากศพคนและสัตว์เน่าเหม็น ไม่มีใครมาช่วยเลย เช่นหมู่บ้านตอชอง (Tawchuang) วันที่พายุมาถึงบ้านทุกหลังถูกพายุพัดกระหน่ำ คนจำนวนมากเสียชีวิตเฉพาะหมู่บ้านของพวกเรามีคนตายประมาณ ๒๐๐ คนทั่วทั้งเมืองนี้มีประมาณ ๕๐๐ หมู่บ้าน พวกเราคาดว่าน่าจะมีคนเสียชีวิตในเมืองนี้มากกว่า ๕,๐๐๐ คน

“ขณะนี้เรารอให้มีคนนำของมาบริจาคที่นี่ เพราะหมู่บ้านของเราห่างจากตัวเมือง ๕ ไมล์ ใช้เวลาเดินทางไปกลับตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจนถึงอาทิตย์ตกดิน เคยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐนำข้าวมาให้ครอบครัวละ ๑ ปยี (pyi) ซึ่งเทียบเท่ากับกระป๋องนม ๘ กระป๋อง แต่ต้องเสียเงิน ๑๐๐ จั๊ต ถ้าเป็นครอบครัวใหญ่ก็ไม่พอกิน หลังจาก ๓ วันผ่านไปก็ไม่มีเจ้าหน้าที่คนไหนนำข้าวมาให้อีก ตอนนี้ถ้าหมู่บ้านไหนมีถนนเข้าถึงจะมีคนนำน้ำดื่มมาบริจาคให้ แต่ถ้าถนนเข้าไม่ถึงหมู่บ้านนั้นก็จะไม่ได้รับความช่วยเหลือ”

มหันตภัยพายุไซโคลนครั้งนี้ไม่เพียงคร่าชีวิตผู้คนด้วยความรุนแรงของกระแสลมและน้ำเท่านั้น หากยังนำไปสู่โศกนาฏกรรมต่อเนื่องกับนักโทษในเรือนจำอินเส่ง ซึ่งตั้งอยู่ในแนวเคลื่อนตัวของพายุลูกนี้ด้วยเช่นกัน โดยสมาคมช่วยเหลือเพื่อนักโทษการเมืองพม่า (AAPP) เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่เรือนจำอินเส่งได้สังหารนักโทษจำนวน ๓๖ คนในขณะที่พายุถล่มย่างกุ้ง เนื่องจากในขณะที่พายุพัดกระหน่ำอยู่นั้น เจ้าหน้าที่ได้นำตัวนักโทษกว่า ๑,๐๐๐ คนมาอยู่รวมกันในห้องขังใหญ่ โดยนักโทษหลายคนได้ก่อกองไฟเพื่อคลายหนาว แต่ไฟได้ลุกลามและเกิดควันไฟปกคลุมทั่วห้องขังจนเกิดความอลหม่าน เจ้าหน้าที่เรือนจำจึงได้กระหน่ำยิงเข้าไปในกลุ่มนักโทษ ทำให้มีผู้เสียชีวิต ๓๖ คนและบาดเจ็บกว่า ๗๐ คน ซึ่งยังไม่มีการเปิดเผยรายนามผู้เสียชีวิตแต่อย่างใด

เหตุผลที่ความช่วยเหลือจากนานาประเทศเข้าไปไม่ถึง เนื่องจากรัฐบาลทหารพม่าไม่อนุญาตให้หน่วยบรรเทาทุกข์จากนานาชาตินำสิ่งของเข้าไปช่วยเหลือด้วยตนเอง โดยประกาศรับความช่วยเหลือเฉพาะเงินและสิ่งของ ซึ่งไม่มีใครมั่นใจได้ว่าความช่วยเหลือเหล่านี้จะไปถึงมือผู้ประสบภัยจริงหรือไม่ ชาวต่างชาติ ๒ คนที่พยายามเข้าไปสำรวจความเสียหายและถ่ายภาพจากในพื้นที่ทางตะวันตกของภาคอิรวดี เขตชนบทของย่างกุ้ง และพื้นที่ชั้นในของย่างกุ้ง หลังเกิดเหตุการณ์ ๒ สัปดาห์ เล่าถึงสภาพจิตใจของผู้ประสบภัยว่า ส่วนใหญ่ยังคงขวัญเสียกับภาพผู้เสียชีวิตในหมู่บ้านของตนเอง เช่น ภาพหญิงท้องแก่แขวนตัวอยู่กับต้นไม้ เนื่องจากคลื่นสูง ๑๕ ฟุตพัดขึ้นไปติดบนนั้น ในขณะที่บางคนรู้สึกผิดที่ตนเองรอดชีวิตแต่สมาชิกในครอบครัวต้องจากไป

ชาวต่างชาติทั้งสองคนถูกติดตามจากเจ้าหน้าที่รัฐอย่างใกล้ชิด พวกเขาต้องหลบหนีจากหมู่บ้านหนึ่งไปอีกหมู่บ้านหนึ่ง ไม่สามารถถ่ายภาพหรือเดินทางไปยังศูนย์ให้ความช่วยเหลือได้อย่างเปิดเผย พวกเขาจึงพยายามไปยังจุดอื่นๆ เช่นวัด ซึ่งเป็นที่หลบภัยของชาวบ้านจำนวนมาก พบว่าหลายแห่งยังไม่ได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งสองคนได้แจกจ่ายยารักษาโรคที่นำติดตัวไปให้แก่ผู้ประสบภัยและนำลูกบอลไปให้เด็กๆ ไว้เตะเล่นคลายความเศร้า พวกเขาส่งเรื่องราวและภาพถ่ายมายังเพื่อนนอกประเทศพม่าทางอีเมล ในจดหมายฉบับนี้ตั้งคำถามที่สะกิดใจผู้คนทั่วโลกว่า “ระหว่างที่พวกเรากำลังแจกจ่ายยาให้ผู้ประสบภัยและมอบลูกบอลให้เด็กๆ พวกเราอดคิดไม่ได้ว่า สิ่งที่กำลังทำอยู่เป็นภัยคุกคามความมั่นคงของรัฐบาลพม่าจริงๆ หรือ”

หรือนี่อาจเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (crime against humanity) ที่ผู้นำประเทศพม่ากำลังกระทำต่อประชาชนของตนเอง เพื่อพิสูจน์ให้ชาวโลกได้เห็นถึงอำนาจของรัฐบาลเผด็จการที่ปกครองประเทศมายาวนานและยังไม่มีใครสามารถล้มล้างได้

nargis6

รัฐบาลทหารพม่าปฏิเสธการส่งความช่วยเหลือเข้าไปโดยตรงจากหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ในภาพเป็นสิ่งของบรรเทาทุกข์จากสหรัฐฯ ซึ่งต้องส่งผ่านเครื่องบิน C-130 ของประเทศไทย (ภาพ : Mizzima)

มือที่เอื้อมไม่ถึง
วันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๕๑ เฮลิคอปเตอร์และเรือรบ Le Mistral ของฝรั่งเศส พร้อมอาหาร ๑,๐๐๐ ตันซึ่งเพียงพอสำหรับผู้คน ๑ แสนคนประทังชีวิต ๑๕ วัน และผ้าพลาสติกสำหรับเป็นที่พักพิงชั่วคราวให้ผู้ประสบภัย ๑๕,๐๐๐ ครอบครัว กำลังรอคอยให้รัฐบาลเปิดรับความช่วยเหลืออยู่เหนือน่านน้ำอ่าวเบงกอล ห่างจากชายฝั่งประเทศพม่า ๒๒ กิโลเมตร ทว่ารัฐบาลพม่ากลับยังคงนิ่งเฉย และดูเหมือนไม่ยินดีกับการมาถึงของความช่วยเหลือเหล่านี้แต่อย่างใด

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนับเป็นเรื่องตลกปนเศร้า เพราะขณะที่ประชาชนพม่านับล้านกำลังยื่นมือรอคอยอาหารประทังชีวิตและมีคนกำลังนำความช่วยเหลือไปรออยู่ใกล้ๆ ห่างกันแค่เอื้อม แต่มือทั้งสองกลับเอื้อมไม่ถึงกันเพียงเพราะผู้นำประเทศหวาดกลัวว่ามือเหล่านี้จะเข้ามาสั่นคลอนฐานอำนาจทางการเมืองของตนเอง เนื่องจากเป็นช่วงใกล้การลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งกำหนดไว้ในวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๑ การเปิดรับความช่วยเหลือจากนานาชาติโดยไม่มีเงื่อนไขจะทำให้ชาวต่างประเทศโดยเฉพาะผู้สื่อข่าวเข้ามาสังเกตการณ์การลงประชามติครั้งนี้ได้ง่าย ด้วยเหตุนี้รัฐบาลพม่าจึงไม่ยอมเปิดรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศแบบไม่มีเงื่อนไข และไม่เลื่อนวันลงประชามติทั่วประเทศออกไป (เพียง ๖ เมืองที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดเท่านั้นที่ได้รับการเลื่อนออกไปเป็นวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๑) ซึ่งในนาทีวิกฤตเช่นนี้ สิ่งที่รัฐบาลควรทำมากที่สุดคือการส่งทหารไปช่วยบรรเทาทุกข์ประชาชนมากกว่านั่งเฝ้าหน่วยเลือกตั้ง โดยพลเอกอาวุโส ตาน ฉ่วย เพิ่งออกเดินทางเยี่ยมผู้ประสบภัยในเขตย่างกุ้งเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม หรือหลังเกิดเหตุนานร่วม ๒ สัปดาห์

การเพิกเฉยต่อความช่วยเหลือจากนานาชาติได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงว่าเป็น “อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ” ที่ผู้นำพม่ากำลังกระทำต่อประชาชนของตนเอง โดยพระสังฆราชเดสมอนด์ ตูตู (Desmond Tutu) แห่งแอฟริกาใต้ และรัฐมนตรีต่างประเทศของฝรั่งเศส นายแบร์นาร์ด คูชแนร์ (Bernard Kouchner) กล่าวว่า คณะปกครองทหารอาจจะต้องรับผิดชอบต่อการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ เนื่องจากปิดกั้นการช่วยเหลือซึ่งอาจจะทำให้มีผู้ที่รอดชีวิตจากภัยพิบัติต้องล้มตายลงอีกจำนวนมากมาย

แม้ว่ารัฐบาลพม่าจะเปิดรับสิ่งของบริจาคและอนุญาตให้คณะแพทย์ของไทยเข้าไปช่วยเหลือได้ แต่ความช่วยเหลือดังกล่าวยังเต็มไปด้วยข้อจำกัดมากมาย โดยเฉพาะการควบคุมพื้นที่ให้ความช่วยเหลือซึ่งยังไม่ครอบคลุมความเดือดร้อนทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีรายงานข่าวว่า สิ่งของบริจาคส่วนหนึ่งไปไม่ถึงมือผู้เดือดร้อน แต่ถูกนำไปขายส่งในตลาดมืดแทน ดังเช่นที่สำนักข่าว Irrawaddy ซึ่งเป็นสื่อพม่านอกประเทศ รายงานเมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า เจ้าหน้าที่ทางการพม่าและผู้ใหญ่บ้านได้นำสิ่งของบริจาคที่ให้แก่ผู้ประสบภัยพายุไซโคลนนาร์กิสไปขายต่อให้ชาวบ้าน หรือผู้ประสบภัยจากพายุไซโคลนนาร์กิสในย่างกุ้งเปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ทางการพม่าได้นำปลากระป๋อง เสื้อผ้า ขนมปัง และสิ่งของบริจาคอื่นๆ ไปขายต่อตามตลาด ร้านค้าทั่วไป และตามร้านน้ำชา

ขณะที่มีรายงานว่า ผู้ประสบภัยในเมืองกอมู (Kawhmu)ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงย่างกุ้ง ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือแต่อย่างใด โดยประชาชนในเมืองกอมูเปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นและผู้ใหญ่บ้านแจกจ่ายสิ่งของช่วยเหลือให้ประชาชนเพียง ๓๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น โดยสิ่งของช่วยเหลืออีก ๗๐ เปอร์เซ็นต์ เจ้าหน้าที่และผู้ใหญ่บ้านได้เก็บเอาไว้

นักข่าวในกรุงย่างกุ้งยังเปิดเผยอีกว่า รัฐบาลพม่าไม่อนุญาตให้ประชาชนทั่วไปที่ต้องการบริจาคเงินช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยด้วยตนเองได้ แต่ให้ประชาชนที่ต้องการบริจาคมาบริจาคที่กลุ่มสมาคมพัฒนาและเอกภาพแห่งรัฐ (USDA) และเจ้าหน้าที่ดับเพลิงในพื้นที่แทน ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ให้การสนับสนุนรัฐบาล

สิ่งที่ประชาคมโลกเป็นห่วงในขณะนี้คือ ปัญหาด้านสุขภาพอันเกิดจากภาวะขาดอาหาร น้ำดื่ม ยารักษาโรค และที่อยู่อาศัย รวมทั้งปัญหาโรคระบาดอันเกิดจากซากศพคนและสัตว์เลี้ยงซึ่งถูกปล่อยทิ้งไว้เน่าเปื่อยตามถนน ท้องนา และแม่น้ำ จะทำให้เกิดโรคระบาดได้ง่าย โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลการคมนาคม โดยนายวิน มิ้น นักวิชาการชาวพม่า เปิดเผยเมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า ขณะนี้ยังมีหมู่บ้านอีกกว่า ๑,๐๐๐ หมู่บ้านที่ถนนถูกตัดขาดและความช่วยเหลือเข้าไปไม่ถึง และประชาชนเหล่านี้ยังรอคอยความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

ขณะที่ Save the Children องค์กรบรรเทาทุกข์ในอังกฤษระบุว่า ภายใน ๒-๓ สัปดาห์ข้างหน้านี้ หากไม่เร่งรีบส่งของช่วยเหลือจะทำให้เด็กในพม่าอดอยากถึงขั้นเสียชีวิตหลายพันคน เพราะผลสำรวจพื้นที่แถบสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดีตั้งแต่ก่อนถูกพายุถล่ม พบมีเด็กอายุต่ำกว่า ๕ ขวบราว
๓ หมื่นคนอยู่ในภาวะทุพโภชนาการรุนแรงอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังประเมินว่ามีเด็กเสียชีวิตจากภัยพิบัติครั้งนี้ร้อยละ ๔๐-๕๐ จากตัวเลขผู้เสียชีวิตทั้งหมด หรือประมาณ ๕๐,๐๐๐ คน เพราะเด็กส่วนใหญ่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ระหว่างโดนพายุพัดกระหน่ำอย่างรุนแรง

ใกล้รุ่ง พรหมสุภา กล่าวถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพม่าไว้ในบทความเรื่อง “การปิดกั้นความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมเป็นอาชญากรรม” ว่า สิ่งที่รัฐบาลพม่ากำลังทำอยู่ในขณะนี้เป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติอย่างแท้จริง โดยอ้างถึงธรรมนูญศาลอาญาระหว่างประเทศแห่งโรม ข้อที่ ๗ ซึ่งระบุว่า อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ หมายถึง การกระทำที่เป็นส่วนหนึ่งของการโจมตีประชากรกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอย่างกว้างขวางหรือเป็นระบบด้วยความจงใจ ซึ่งรวมถึง “…การกำหนดเงื่อนไขตัดขาดการเข้าถึงอาหารและยารักษาโรค เพื่อก่อให้เกิดความหายนะต่อกลุ่มประชากรนั้น”

หากประชาคมโลกคิดว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ คำถามที่ตามมาก็คือ ใครจะเป็นผู้จับอาชญากรผู้นี้มาลงโทษ เพื่อให้ความช่วยเหลือเข้าไปถึงผู้ประสบภัยทันเวลา หรือเราต่างพร้อมจะเฝ้าดูโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นบนลุ่มอิรวดีดำเนินต่อไป ราวกับละครฉากหนึ่งที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไปเท่านั้นเอง

* ตามมาตรวัดของแซฟไฟร์-ซิมป์สัน (Saffir-Simpson Hurricane Scale) ซึ่งเป็นการจัดระดับของพายุเฮอริเคน แบ่งเป็น ๕ ระดับ ระดับ ๔ มีความเร็วลม ๒๑๐-๒๔๙ กิโลเมตรต่อชั่วโมง ความสูง ของคลื่น ๔-๕.๕ เมตร อานุภาพในการทำลายสูง แผงป้องกันพายุเสียหายหนัก หลังคาบ้านเรือนถูกทำลาย น้ำท่วมถึงพื้นดินตอนใน จัดว่ามีความรุนแรงเทียบเท่าเฮอริเคนแคทรีนาที่พัดถล่มเมืองนิวออร์ลีนส์ สหรัฐอเมริกา เมื่อปี ๒๕๔๘