สุเจน กรรพฤทธิ์ : เรียบเรียงและรายงาน

pandapheno01

ภาพ : โครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทย สวนสัตว์เชียงใหม่

เธออ้วนขึ้น กินนมแม่ได้มากขึ้น น้ำหนักเพิ่มขึ้นกี่กรัม ยาวขึ้นกี่เซนติเมตร เธอมีลายดำชัดขึ้นเมื่อใด คุณแม่หวงเธอแค่ไหน ทำเธอตกกี่ครั้ง มีคนดังได้สิทธิพิเศษอุ้มเธอในเวลาใด

หากคุณอ่านหนังสือพิมพ์ ดูทีวี แน่นอนข่าวของเธอต้องผ่านตาและผ่านหูคุณ

นับตั้งแต่ลืมตาดูโลก เธอขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ ออกทีวีทุกช่อง

มีการถ่ายทอดสดเธอแบบเรียลลิตี้ผ่านเครือข่ายโทรทัศน์วงจรปิดในสวนสัตว์และอินเทอร์เน็ต

นักข่าวแทบทุกสำนักเกือบจะไปนอนค้างคืนในสวนสัตว์เพื่อเฝ้าดูทุกอิริยาบถของเธอกับแม่

กวีรัตนโกสินทร์กล่าวถึงเธอว่า ทำให้ “ไทยจีนประจัน ผูกพันไมตรี”

นักวิเคราะห์กล่าวว่า เธอช่วยชีวิตรัฐบาลที่ไม่ค่อยจะมีผลงานด้วยการช่วงชิงพื้นที่ข่าว

นักสัตววิทยากล่าวว่า เธอคือความสำเร็จของทีมวิจัยไทย

ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่คาดว่า การเกิดของเธอจะทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในจังหวัดไม่ต่ำกว่าวันละ ๑๐๐ ล้านบาทท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง

ทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมาคือ “มูลค่าเพิ่ม” ที่พอจะประเมินออกมาเป็นรูปธรรมและตัวเงินได้ หากแต่ความสำคัญของเธอที่มากกว่าเรื่องเหล่านี้คือคุณค่าต่อระบบนิเวศของโลกที่ไม่อาจประเมินค่าได้ ในฐานะประชากรแพนด้าที่เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตของเผ่าพันธุ์

ข้อมูลจาก WWF ระบุว่า จากการสำรวจเมื่อปี ๒๕๔๗ ทั่วโลกเหลือแพนด้าราว ๑,๖๐๐ ตัว เป็นแพนด้าในกรงเลี้ยง ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน ๒๓๙ ตัว อีก ๒๗ ตัวอยู่ในต่างประเทศ

ด้วยเหตุนี้ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) จึงจัดไว้ในบัญชีสัตว์ “ใกล้สูญพันธุ์” (Endangered)

แพนด้ายังเป็นสัตว์ไม่กี่ชนิดที่นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่าสืบเผ่าพันธุ์ต่อเนื่องกันมาไม่น่าจะต่ำกว่า ๓ ล้านปี หน้าตาน่ารักน่าเอ็นดู กินมังสวิรัติ ทว่าลักษณะการใช้ชีวิตทำให้อยู่รอดได้ยากในโลกสมัยใหม่

ดังนั้น “เธอ” หรือ “ลูกแพนด้าเพศเมีย” ที่ถือกำเนิดเมื่อเวลา ๑๐.๓๙ น. ของวันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ ณ สวนสัตว์เชียงใหม่ ประเทศไทย ลูกสาวตัวแรกของ “ช่วงช่วง” กับ “หลินฮุ่ย” หมีแพนด้าที่รัฐบาลจีนส่งมอบแก่รัฐบาลไทยภายใต้ “โครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทย” โดยมีกำหนดเวลา ๑๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๔๖-๒๕๕๖) จึงไม่ใช่หมีน้อยธรรมดา หากแต่เป็นสัตว์ที่ทรงคุณค่าของโลก ไม่ต่างอะไรกับช้างเอเชีย สัตว์คู่บ้านคู่เมืองของคนอุษาคเนย์ (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ที่เราควรทำความรู้จัก

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องราวเผ่าพันธุ์ของเธอ

pandapheno02

กระแส “แพนด้าน้อยฟีเวอร์” ก่อให้เกิดปรากฎการณ์ตามมาหลายอย่าง ที่ได้รับความสนใจคือกรณีเจ้าของวังช้างอยุธยา แล เพนียด จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทาสีตัวช้างเหมือนหมีแพนด้า เพื่อเรียกร้องให้คนไทยหันมาสนใจสัตว์ประจำชาติ (ภาพ : สกล เกษมพันธุ์)

pandapheno03

แม้แต่เจ้า “แพนด้า” สุนัขซึ่งมีสีขนคล้ายหมีแพนด้า ที่แม่ค้าขายข้าวแกงในจังหวัดเชียงรายเลี้ยงไว้ ก็ยังถูกสื่อมวลชนนำเสนอข่าวของมัน ในช่วงก่อนปิดรับไปรษณียบัตรทายชื่อแพนด้าน้อยจนสุนัขตัวนี้ดังไปทั่วประเทศ (ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช)

pandapheno04

กระแสแพนด้าน้อยฟีเวอร์ยังมาแรง ล่าสุดจระเข้ในฟาร์มจระเข้ที่ จ.สุพรรณบุรี ก็ถูกทาสีตามตัวเหมือนหมีแพนด้าเพื่อเรียกร้องความสนใจ (ภาพจากฟอร์เวิร์ดเมล์ ไม่ทราบชื่อผู้ถ่ายภาพ)

ตำนานแพนด้า

แพนด้าถือเป็นสัตว์ที่มี “ตัวตน” ใน “ประวัติศาสตร์” และ “ตำนาน” ของจีน

กวาดตาดู “ตำนาน” เกี่ยวกับแพนด้าในเมืองจีนจะพบว่ามีหลายสำนวน

สำนวนที่แพร่หลายที่สุดมาจากตำราพื้นบ้านของชาวเชียง กลุ่มคนซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ในโตรกเขาแถบตะวันตกของมณฑลเสฉวน สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อ ๒,๐๐๐ ปีก่อน ความว่า

ณ ห้วงหนึ่งในอดีต ณ บริเวณป่าลึกปลายเทือกเขาโฉลฺงไหล ครอบครัวคนเลี้ยงแกะครอบครัวหนึ่งมีลูกสาว ๔ คนเปี่ยมด้วยรูปโฉมงดงามและมีจิตใจเมตตาปรานี รักต้นไม้ ภูเขา สัตว์ป่า โดยเฉพาะคนสุดท้องนั้นรัก “โสวฺงมาว” เป็นพิเศษ

ทุกครั้งที่เธอต้อนแกะไปเลี้ยง โสวฺงมาวจะออกมาเล่นกับเธอเสมอจนบางครั้งมันกลมกลืนไปกับฝูงแกะเพราะสมัยนั้นโสวฺงมาวมีสีขาวตลอดทั้งตัว

จนวันหนึ่งขณะที่มันกินไผ่ มีนายพรานคนหนึ่งพบมันและยิงลูกศรเข้าใส่ ทว่าก่อนลูกศรนั้นจะพุ่งถึงตัวมัน สาวน้อยก็กระโดดมารับลูกธนูแทนจนถึงแก่ความตาย เมื่อพี่สาวทั้งสามทราบข่าวต่างก็ร่ำไห้ตรอมใจตายตามไปทั้งหมด ทำให้มีการจัดงานศพพี่น้องทั้งสี่พร้อมกันโดยมีโสวฺงมาวทุกหนแห่งมาร่วม และถึงแม้งานศพจะผ่านไปแล้ว เหล่าโสวฺงมาวก็ยังโศกเศร้า กอดกองขี้เถ้าที่เกิดจากการเผาร่างสาวน้อยจนแขนขาเปื้อนเป็นสีดำ เมื่อมันยกมือป้ายน้ำตา ขอบตาก็เลยดำ ยกมือปิดหูเพราะทนฟังเสียงสะอื้นจากพวกเดียวกันมิได้ หูก็เลยดำไปอีก นับแต่นั้นโสวฺงมาวจึงมีแขน ขา หู และเบ้าตาเป็นสีดำ ส่วนฌาปนสถานสี่สาวน้อยเกิดเป็นภูเขาสูง ๔ ยอด ชื่อ “ซื่อกูเหนียงซาน” ที่แปลว่า ยอดเขาสี่ดรุณี ทอดตัวยาวปกป้องที่อยู่อาศัยโสวฺงมาวตั้งแต่นั้น

ส่วน “หลักฐานทางประวัติศาสตร์” นั้น ที่เก่าแก่ที่สุดคือบันทึกโบราณอายุกว่า ๓,๐๐๐ ปีกล่าวถึงแพนด้าในชื่อ “ผีซิ่ว” (หนังสัตว์ที่มีแขน) “โสวฺงมาว” (หมีแมว) และ “มาวโสวฺง” (แมวหมี)

ที่เก่าแก่รองลงมาคือบันทึกของราชวงศ์ฮั่นตะวันตก ซึ่งเรืองอำนาจระหว่าง พ.ศ. ๓๓๗-๕๖๗ (ก่อนกำเนิดอาณาจักรสุโขทัย ๑,๔๔๓ ปี) กล่าวถึง “โสวฺงมาว” ว่าเป็นสัตว์ที่มีค่าและหายากที่สุด ๑ ใน ๔๐ ชนิดของแผ่นดินจีน และถือเป็นสัตว์ที่มีค่าที่สุดในพระราชอุทยานนครซีอานของจักรพรรดิจีน

ถัดมาคือบทกวีที่แต่งในสมัยราชวงศ์ถัง (พ.ศ. ๑๑๖๑-๑๔๕๐) พรรณนาคุณวิเศษของหนังโสวฺงมาว ว่ามีพลังลึกลับ สามารถขับไล่วิญญาณชั่วร้ายและปกป้องผู้สวมใส่

จากนั้นก็เป็นหลักฐานสมัยราชวงศ์ชิง (พ.ศ. ๒๑๘๗-๒๔๕๔) ที่บันทึกไว้ว่า โสวฺงมาว ๑ ตัว มีค่าเท่ากับ ยีราฟ ๓ ตัว ม้าลาย ๒ ตัว แรด ๒ ตัว และฮิปโปโปเตมัส ๒ ตัว รวมกัน

ก่อนที่เรื่องแพนด้าจะปรากฏเป็นเรื่องเป็นราวอีกครั้งในปี ๒๔๑๒ (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๕) เมื่อ ปีแยร์ อาร์มองด์ ดาวิด (Pierre Armand David) มิชชันนารีฝรั่งเศสผู้สนใจศึกษาด้านธรรมชาติวิทยาที่มาเผยแผ่ศาสนาในจีน เดินทางจากกรุงปักกิ่งไปเมืองเฉิงตู และไปยังชายขอบด้านตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลเสฉวน จนไปพบหนังสัตว์พิเศษชิ้นหนึ่ง เขาบันทึกไว้ว่า “…วันที่ ๑๑ มีนาคม, ข้าพเจ้าได้เห็นหนังสัตว์พิเศษผืนหนึ่ง มันเกือบจะมีขนสีขาวทั่วทั้งผืน ยกเว้นแต่ช่วงแขน-ขา ใบหู และเบ้าตาเท่านั้น ที่เป็นสีดำ…”

สิบสามวันต่อจากนั้น เขาก็ได้ซากโสวฺงมาวอีกผืน เดือนต่อมาก็ได้เพิ่มมาอีกผืน จนทำให้เขาบันทึกอย่างมั่นใจว่าสิ่งที่เจอคือ “สัตว์สายพันธุ์ใหม่ในสกุล Ursus” สัตว์สกุลเดียวกับหมี ทั้งนี้ เขายังจัดการส่งซาก กระดูก กะโหลก ไปยังพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติกรุงปารีส พร้อมคำบรรยายว่าเป็นสัตว์ที่ “งดงามที่สุดเท่าที่ข้าพเจ้าเคยพบ”

หลังจากตรวจสอบซาก อัลฟองเซ มิลเน เอ็ดเวิร์ดส์ (Alphonse Milne-Edwards) รายงานกลับมาว่า ซากที่ส่งไปแม้มีสรีระคล้ายหมี แต่อวัยวะและองค์ประกอบอื่นต่างไปอย่างสิ้นเชิง มันไปใกล้ชิดกับแพนด้าแดง (Red Panda) ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ailurus fulgens มากกว่า ดังนั้นจึงตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ของสัตว์ชนิดนี้ว่า Ailuropoda melanoleuca มีความหมายว่า “สัตว์อุ้งเท้าขาว-ดำคล้ายแพนด้า” อันเป็นที่มาของชื่อสามัญภาษาอังกฤษ “Giant Panda” (แพนด้ายักษ์) ชื่อจีน “ต้า (ใหญ่) โสวฺงมาว” และชื่อไทยคือ หมีแพนด้า

ทว่าการค้นพบนี้กลับนำภัยมาสู่แพนด้า เพราะก่อให้เกิดกระแสต้องการซากแพนด้าเป็นของสะสม

ในปี ๒๔๕๙ (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๖) เริ่มมีความพยายามนำแพนด้าออกจากจีนเป็นครั้งแรก โดยนักสัตววิทยาชาวเยอรมัน ฮิวโก ไวโกลด์ (Hugo Weigold) เข้าไปสำรวจพื้นที่รอยต่อระหว่างจีน-ทิเบต แล้วพบแพนด้าที่ยังมีชีวิตจึงซื้อไว้ ทว่าต่อมาแพนด้าตัวนี้ตายเนื่องจากการเลี้ยงดูที่ไม่ถูกต้อง ก่อนที่การล่าอย่างจริงจังจะเริ่มขึ้นในปี ๒๔๗๑ เมื่อพิพิธภัณฑ์ซากสัตว์ป่าแห่งชิคาโก (ต่อมาคือ American Museum of Natural History) ออกทุนให้ ทีโอดอร์ จูเนียร์ และเคอร์มิต สองพี่น้องลูกชายของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ทีโอดอร์ รูสเวลต์ เดินทางมาล่าแพนด้าในจีน ซึ่งต่อมาทีมล่าก็บันทึกว่าการล่าประสบความสำเร็จ

เรายังพบข้อมูลการล่าปรากฏในปี ๒๔๗๗ ปีนั้น วิลเลียม ฮาร์กเนสส์ (William Harkness) นักล่าสัตว์เพื่อนำส่งสวนสัตว์ชาวอเมริกัน ที่เพิ่งแต่งงานกับ รูท แมคคอมบส์ (Ruth McCombs) สาวนักออกแบบแฟชั่นได้ไม่นาน มาล่าแพนด้าในจีน ทว่าเขาเสียชีวิตที่เซี่ยงไฮ้ในปี ๒๔๗๙ โดยยังไม่สามารถล่าแพนด้าได้แม้แต่ตัวเดียว

แต่หลังจากนั้น รูทก็สานงานต่อจากสามีด้วยการไปที่มณฑลเสฉวนและจับลูกแพนด้าแรกเกิดได้ตัวหนึ่ง เธอตั้งชื่อมันว่า “ซูหลิน” ด้วยความเข้าใจผิดว่าเป็นตัวเมีย ต่อมาลูกแพนด้าตัวนี้ก็ถูกส่งต่อไปสหรัฐอเมริกาในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน

นิตยสาร ไทม์ ฉบับวันที่ ๗ ธันวาคมปีนั้น ยกย่องการกระทำนี้ว่า “…เป็นปฐมบทของคุณค่าครั้งสำคัญทางวิทยาศาสตร์” ทว่าในที่สุดแพนด้าตัวนี้ก็ไปตายในสวนสัตว์บรู๊กฟิลด์ เมืองชิคาโก ในปี ๒๔๘๑

หลังจากนี้มีแพนด้าจำนวนมากถูกล่าและส่งไปนอกประเทศจีน มาสะดุดลงเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนนำโดยประธานเหมาเจ๋อตงขึ้นครองอำนาจหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒

ยุคนี้เองที่แพนด้าถูกนำไปเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินนโยบายทางการทูตของจีน

pandapheno05

งานฉลองแพนด้าน้อยอายุครบ ๒ เดือน วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๒

หมีแพนด้า

(Giant Panda: Ailuropoda melanoleuca)

ลักษณะทั่วไป : แพนด้าอยู่ในกลุ่มสัตว์กินเนื้อ (Carni-vora) ตระกูลเดียวกับหมี (Ursidae) มีรูปร่างคล้ายหมี ขนตามลำตัวส่วนมากเป็นสีขาว ยกเว้นรอบดวงตา แขน ขา และหูมีสีดำ ลูกแพนด้าแรกคลอดหนัก ๙๐-๑๖๐ กรัม เมื่อโตเต็มวัยจะหนักเกิน ๑๐๐ กิโลกรัม อายุขัยเฉลี่ย ๑๘-๒๐ ปี และอาจมากถึง ๓๐ ปีในกรงเลี้ยง แพนด้ามีระบบย่อยอาหารแบบสัตว์กินเนื้อ แต่วิวัฒนาการเป็นสัตว์กินพืชคือใบไผ่และลำไผ่ ทำให้มีหัวใหญ่มีฟันใหญ่กว่าหมีทั่วไปอันเป็นผลจากการพัฒนากล้ามเนื้อบดเคี้ยว ตีนหน้ามีกล้ามเนื้อพิเศษคล้ายนิ้วเพื่อช่วยเหนี่ยวจับไผ่ แต่พืชชนิดนี้มีสารอาหารน้อยจึงต้องกินถึงวันละ ๑๒-๑๕ กิโลกรัม โดยใช้เวลากินวันละ ๑๔ ชั่วโมง และมันไม่จำศีลเหมือนหมีเขตหนาวบางชนิด

แหล่งอาศัย : แพนด้าในธรรมชาติมีพื้นที่หากิน ๓.๙-๑๒ ตารางกิโลเมตร งานวิจัยจากเขตอนุรักษ์วู่หลงชี้ว่ามันใช้ชีวิตตัวเดียว ยกเว้นฤดูผสมพันธุ์ แต่มีรายงานจากเขตอนุรักษ์มณฑลชานซีชี้ว่ามีแพนด้าอาศัยอยู่เป็นกลุ่มอย่างน้อยกลุ่มละ ๒-๒๘ ตัว แหล่งอาศัยสุดท้ายของแพนด้าในปัจจุบันคือเทือกเขาสูงทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนที่มีสภาพเป็นป่าลึกบริเวณมณฑลเสฉวน มณฑลชานซี และเทือกเขาทางด้านเหนือของมณฑลกานซู ความสูง ๒,๗๐๐-๓,๙๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล มีอากาศหนาวเย็นและชื้นแฉะตลอดปี ป่าบริเวณนี้เป็นป่าสนผสมกับป่าใบกว้าง ที่สำคัญคือมีป่าไผ่เขตอบอุ่นอาหารของแพนด้าเป็นไม้พื้นล่าง

สถานภาพ : ใกล้สูญพันธุ์ (Endangered) การสำรวจครั้งล่าสุดในปี ๒๕๔๗ ทั่วโลกมีหมีแพนด้าราว ๑,๖๐๐ ตัว ปัจจุบันแหล่งอาศัยถูกคุกคามจากกิจกรรมของมนุษย์และภาวะโลกร้อน มีผลให้ต้นไผ่ซึ่งเป็นอาหารหลักของมันลดจำนวนลง

ศัตรู : เสือดาวหิมะ (ปัจจุบันอยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์) และมนุษย์ ทางการจีนกำหนดโทษสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิตสำหรับผู้ล่าหรือมีแพนด้าในครอบครอง แต่ก็ยังมีการล่าอยู่ เพราะหนังแพนด้าผืนหนึ่งมีมูลค่าสูงมาก อาทิในญี่ปุ่นมีมูลค่าถึง ๑๐ ล้านบาท

เทียบอายุหมีแพนด้ากับมนุษย์

อายุหมีแพนด้า
ระยะ
อายุคน
น้อยกว่า ๔ ปี ก่อนวัยเจริญพันธุ์ น้อยกว่า ๑๒ ปี
๔ ปี อายุสมบูรณ์เพศ ๑๒ ปี
๕-๒๐ ปี วัยเจริญพันธุ์ ๒๐-๖๐ ปี
๒๐ ปีขึ้นไป วัยชรา ๖๐ ปีขึ้นไป

การเทียบอายุหมีแพนด้ากับคนดังแสดงในตารางนี้เป็นการเทียบเคียงจากสภาวะร่างกายในขณะนั้น ไม่มีรายงานทางวิชาการอย่างเป็นทางการ กล่าวคือ ในช่วงที่แพนด้าอายุ ๔ ปีเป็นปีแรกของการมีวงรอบการเป็นสัด เทียบกับเด็กหญิงก็อายุราว ๑๒ ปีที่เริ่มมีประจำเดือนครั้งแรก ส่วนแพนด้าอายุ ๕ ปีขึ้นไปเป็นช่วงโตเต็มวัย ทั้งเพศผู้และเพศเมีย มีความพร้อมทางร่างกายที่จะผสมพันธุ์ เมื่อเทียบกับคนก็ราวอายุ ๒๐ ปีขึ้นไปซึ่งร่างกายเจริญเติบโตเต็มที่ ช่วงอายุที่แพนด้าสามารถเจริญพันธุ์นั้นอยู่ระหว่าง ๕-๒๐ ปี จึงเทียบได้กับคนในช่วงวัยเจริญพันธุ์จนถึงวัยก่อนหมดประจำเดือน เมื่อแพนด้าเข้าสู่วัยชรา คืออายุมากกว่า ๒๐ ปี ฟันจะเริ่มหลุดร่วง ไม่สามารถกินไผ่ได้ และจะเสียชีวิตจากการขาดอาหาร

ข้อมูล : สพ.ญ. กรรณิการ์ นิ่มตระกูล

หมายเหตุ : เท่าที่มีการเก็บสถิติ แพนด้าในกรงเลี้ยงที่อายุยืนที่สุดในโลกขณะนี้ คือแพนด้าเพศเมียชื่อ “เทาเทา” (Tao Tao)
ที่สวนสัตว์เมืองจี่หนาน มณฑลชานตง สาธารณรัฐประชาชนจีน เสียชีวิตเมื่อวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๑ ด้วยวัย ๓๖ ปี
เทียบเท่ามนุษย์อายุราว ๑๐๘ ปี (http://www.chinadaily.com.cn/china/2008-04/03/content_6590951.htm)

การทูตแพนด้า (Panda Diplomacy)

ดูตามเนื้อผ้า “แพนด้า” กับ “การเมือง” นั้นไม่น่าเกี่ยวข้องกัน

แต่ถ้าพลิกประวัติศาสตร์ดูจะพบว่า จีนอาศัยหมีแพนด้าเป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการทูตมาแต่ครั้งโบราณแล้ว

ครั้งเก่าแก่ที่สุดปรากฏในบันทึกโบราณว่า พระราช-นัดดาในจักรพรรดิไท่จงแห่งราชวงศ์ถัง (พ.ศ. ๑๑๗๐-๑๑๙๒) มีพระดำริว่าจะส่งแพนด้า ๒ ตัว และหนังแพนด้าไปถวายจักรพรรดิญี่ปุ่นเพื่อแสดงความปรารถนาดี

ส่วนในโลกสมัยใหม่ กรณีที่โด่งดังที่สุดต้องย้อนกลับไปในปี ๒๕๑๕

ปีนั้น ริชาร์ด นิกสัน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเดินทางมาเยือนจีน

การเยือนของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งนี้ถือเป็นเรื่องช็อกโลก ด้วยในยุคนั้นสงครามเย็นระหว่างค่ายเสรีประชาธิปไตยที่นำโดยสหรัฐฯ กับค่ายคอมมิวนิสต์ที่นำโดยสหภาพโซเวียต (ซึ่งดำเนินไปในลักษณะสงครามตัวแทนในภูมิภาคต่าง ๆ อาทิ การรบระหว่างเวียดนามเหนือที่หนุนโดยโซเวียต กับเวียดนามใต้ที่หนุนโดยสหรัฐฯ และการแข่งขันกันสะสมหัวรบนิวเคลียร์) ยังไม่ยุติ สหรัฐฯ จึงไม่น่าจะเปิดความสัมพันธ์ใด ๆ กับจีนที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ เหตุการณ์นี้จึงแสดงท่าทีในการปรับกลยุทธ์ทางการทูตของสหรัฐฯ ครั้งใหญ่

หลังการเยือนจีนครั้งนั้น ทางการจีนได้ส่งหมีแพนด้าคู่หนึ่งให้แก่สหรัฐฯ เพื่อเป็นเครื่องหมายการผูกสัมพันธไมตรีอันดีระหว่าง ๒ ประเทศ โดยมันถูกส่งไปจัดแสดงในสวนสัตว์แห่งชาติ ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ต่อมาประธานาธิบดีนิกสันได้ส่ง Musk Ox วัวหายากที่อาศัยอยู่ในทวีปอเมริกาเหนือคู่หนึ่งมาให้จีนเป็นการตอบแทน

แต่ครั้งนี้มิใช่ครั้งแรกของ “การทูตแพนด้า” ด้วยปรากฏว่าตั้งแต่ปี ๒๕๐๑-๒๕๒๕ จีนได้ดำเนินนโยบายทางการทูตด้วยวิธีนี้กับประเทศต่าง ๆ อีก ๘ ประเทศ คือ อังกฤษ รัสเซีย เกาหลีเหนือ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เม็กซิโก สเปน และเยอรมนีตะวันออก

จนปี ๒๕๒๗ บทบาทของแพนด้าในฐานะเครื่องมือทางการทูตของจีนจึงเปลี่ยนไป หลังจากรัฐบาลสหรัฐฯ ตั้งเงื่อนไขกับสวนสัตว์ในประเทศว่าสามารถ “ยืม” แพนด้าจากจีนได้เป็นระยะเวลา ๑๐ ปีในลักษณะการทำวิจัยร่วมกัน โดยต้องจ่ายค่าธรรมเนียมจำนวน ๑ ล้านดอลลาร์สหรัฐให้แก่จีนทุกปี ลูกหมีแพนด้าที่เกิดระหว่างนั้นถือเป็นสมบัติของจีน ค่าธรรมเนียมทั้งหมดจะถูกนำเข้ากองทุนอนุรักษ์สัตว์ป่าจีน เพื่อนำไปใช้ในการอนุรักษ์และวิจัยหมีแพนด้าในถิ่นฐานของมัน

ต่อมาจึงเป็นข้อกำหนดที่จีนใช้ในการให้ประเทศอื่น ๆ “ยืม” แพนด้า นอกเหนือจากการพิจารณาระดับความสัมพันธ์ทางการทูตว่าสนิทแนบแน่นเพียงใด

ทว่าบทบาทด้านการทูตของแพนด้าก็ยังคงมีอยู่จนถึงปัจจุบัน เหตุการณ์ล่าสุดที่น่าสนใจได้แก่

พฤษภาคม ๒๕๕๑ ประธานาธิบดีหูจิ่นเทาเดินทางไปเยือนญี่ปุ่น แล้วแจ้งว่าจีนยินดีที่ให้ญี่ปุ่นยืมแพนด้า ๒ ตัว ด้วยเหตุผลว่า “หมีแพนด้าเป็นที่นิยมในหมู่ชาวญี่ปุ่นมาก พวกมันเป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์อันดีระหว่างญี่ปุ่นและจีน”

และในปี ๒๕๔๘ จีนได้เสนอแพนด้าคู่หนึ่งให้ไต้หวันยืม ทว่ารัฐบาลไต้หวันขณะนั้นที่นำโดยประธานาธิบดีเฉินสุ่ยเปียนปฏิเสธ ด้วยมองว่าจีนกำลังใช้แพนด้าเป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อ อีกทั้งยังมีปัญหาว่าจะตีความการขนส่งแพนด้าว่าเป็นการขนส่ง “ระหว่างประเทศ” (International) หรือ “ภายในประเทศ” (Domestic) เพราะทางการจีนยืนยันกับประชาคมโลกเสมอมาว่าไต้หวันนั้นเป็นส่วนหนึ่งของจีน จึงย่อมตีความเป็นอย่างหลัง ซึ่งถ้าไต้หวันยอมรับก็เท่ากับเสียเปรียบทางการเมือง

ต้องรอถึงปี ๒๕๕๑ ที่หม่าอิงจิ่วได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของไต้หวัน ข้อเสนอนี้จึงได้รับการตอบรับ โดยหม่าเรียกร้องไม่ให้ประเด็นนี้เป็นประเด็นทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่าแพนด้าคู่นี้ ทางการจีนจัดให้มีการประกวดตั้งชื่อในประเทศก่อนส่งไต้หวัน และได้ชื่อว่า “ถวน ถวน” (Tuan Tuan) กับ “หยวน หยวน” (Yuan Yuan) เมื่อนำมารวมกันคือ “ถวนหยวน” (Tuanyuan) มีความหมายว่า “รวมเป็นหนึ่ง” (reunion)

แน่นอน แพนด้าคู่นี้ได้รับความนิยมจากคนไต้หวันไม่ต่างจากแพนด้าในสวนสัตว์ต่าง ๆ ทั่วโลก ปัจจุบันถ้าไม่นับประเทศจีน แพนด้าในกรงเลี้ยงทั้งหมดกระจายอยู่ในสหรัฐอเมริกา เม็กซิโก ออสเตรีย เยอรมนี สเปน ญี่ปุ่น ไทย เขตบริหารพิเศษฮ่องกง และไต้หวันซึ่งปัจจุบันมีสถานะไม่แน่นอนในประชาคมการเมืองระหว่างประเทศ

pandapheno06

เหมาเจ๋อตงต้อนรับ ริชาร์ด นิกสัน ในคราวเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตครั้งประวัติศาสตร์ ระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนกับสหรัฐอเมริกา เมื่อปี ๒๕๑๕

pandapheno07

ฟอสซิลฟันกรามแพนด้า พบที่ถ้ำวิมานนาดิน จ.ชัยภูมิ

pandapheno08

ฟอสซิลฟันกรามแพนด้า พบที่ถ้ำแห่งหนึ่งใน จ.แม่ฮ่องสอน

pandapheno09

แผนที่แสดงพื้นที่อยู่อาศัยของแพนด้ายักษ์ปัจจุบัน และพื้นที่ที่ค้นพบฟอสซิลแพนด้า

ปรากฏการณ์ “แพนด้าน้อย” ในเมืองไทย

หลักฐานทางวิทยาศาสตร์เท่าที่มีการค้นพบในปัจจุบันชี้ว่า ในอดีตเมืองไทยเคยมีหมีแพนด้าอาศัยอยู่

ข้อมูลจาก เยาวลักษณ์ ชัยมณี นักธรณีวิทยาชำนาญการพิเศษ กรมทรัพยากรธรณี ระบุว่าจากเดิมที่มีการค้นพบฟอสซิลแพนด้าเฉพาะในจีน พม่า และเวียดนาม แต่เมื่อหลายปีก่อนมีการค้นพบฟอสซิลแพนด้าในเมืองไทย

“เมื่อหลายปีก่อนทีมงานได้พบฟอสซิลฟันหน้าซี่หนึ่งของแพนด้าที่ถ้ำในจังหวัดชัยภูมิ เมื่อศึกษาก็พบว่าเป็นฟันกรามล่างด้านขวาซี่ในสุด มันมีขนาดใหญ่ รูปร่างเกือบกลม ค่อนข้างแบน คล้ายฟอสซิลแพนด้าสมัยไพลสโตซีน (ยุคน้ำแข็งเมื่อ ๑.๘ ล้านปีก่อน) มีขนาดใหญ่กว่าฟันของแพนด้ายักษ์ยุคปัจจุบัน ต่อมาในเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๓ ก็ค้นพบฟอสซิลแพนด้าที่ถ้ำในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นฟอสซิลฟันกรามบน ๒ ซี่ ฟันกรามล่างอีก ๑ ซี่ จากการศึกษาพบว่าเป็นฟอสซิลแพนด้ายุคเดียวกันกับที่พบที่จังหวัดชัยภูมิ”

นั่นทำให้เกิดข้อสันนิษฐานว่า พื้นที่อาศัยของแพนด้านั้นสัมพันธ์กับอาหารของมัน คือต้นไผ่ชนิดพิเศษที่มีเฉพาะในเขตภูมิอากาศอบอุ่น ซึ่งมีอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำ การพบฟอสซิลที่ชัยภูมิจึงอาจเป็นพื้นที่ “ใต้สุด” ที่สัตว์ชนิดนี้เคยอาศัยอยู่ ซึ่งบ่งชี้ว่าในอดีตนั้นแหล่งกระจายพันธุ์ของแพนด้ากว้างกว่าในยุคปัจจุบันที่จำกัดเฉพาะพื้นที่ด้านตะวันตกเฉียงใต้ของจีนมาก นอกจากนี้ยังบ่งชี้ว่าในสมัยไพลสโตซีน ดินแดนแถบนี้มีอากาศหนาวเย็นกว่าปัจจุบัน จนเมื่อโลกอบอุ่นขึ้น แหล่งอาหารของแพนด้าจึงลดลง ทำให้พวกมันอพยพขึ้นไปทางเหนือ ซึ่งเป็นเขตที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำกว่าเขตประเทศไทย

ปัจจุบันในไทยไม่มีแพนด้าในธรรมชาติหลงเหลือแล้ว จนกระทั่งมี “แพนด้าในกรงเลี้ยง” ๒ ตัว คือ “ช่วงช่วง” (Chuang Chuang) และ “หลินฮุ่ย” (Lin Hui) ใน “โครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทย” กินระยะเวลาตั้งแต่ปี ๒๕๔๖-๒๕๕๖

แต่นี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรก ก่อนหน้านี้ไทยมีแพนด้าในกรงเลี้ยงมาแล้วเป็นเวลา ๑๘๐ วัน ในช่วงปลายปี ๒๕๓๕ ต่อเนื่องถึงต้นปี ๒๕๓๖ ที่สวนสัตว์ซาฟารีเวิลด์ รามอินทรา กรุงเทพฯ เป็นแพนด้าที่จีนส่งมาจัดแสดง ชื่อ “ดองดอง” และ “หย่าชิง” ต่างกับการมาของช่วงช่วงและหลินฮุ่ยตรงที่เป็นการนำมา “จัดแสดง” (exhibition) ไม่มีการ “วิจัย” (research) ใด ๆ

หนึ่งทศวรรษต่อมา หลังการเจรจาระหว่างพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสมัยรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ที่สนิทสนมกับทางการจีนเป็นพิเศษ รัฐบาลจีนยินยอมส่งหมีแพนด้าเพศผู้ ชื่อ “ช่วงช่วง” และเพศเมีย ชื่อ “หลินฮุ่ย” มาให้ไทยในโครงการวิจัยฯ ร่วมกัน

๑๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ คือวันที่แพนด้าทั้งคู่เดินทางมาถึงเมืองไทย และอาจถือได้ว่าเป็นประชากรหมีแพนด้าเพียง ๒ ตัวที่จีนยอมส่งมาให้ประเทศในเขตศูนย์สูตรเลี้ยง

สวนสัตว์เชียงใหม่ คือสถานที่ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นที่ดำเนินโครงการวิจัยฯ เนื่องจากมีปัจจัยที่เหมาะสมหลายอย่าง อาทิ สภาพอากาศ สถานที่ ความพร้อมของบุคลากร เป็นต้น

การมาของช่วงช่วงและหลินฮุ่ยทำให้ปริมาณผู้เข้าชมสวนสัตว์เชียงใหม่เพิ่มขึ้น แต่นอกเหนือจากการจัดแสดงแล้ว หนึ่งในภารกิจตลอด ๑๐ ปีของเจ้าหน้าที่ในโครงการวิจัยฯ คือศึกษาการผสมเทียมหมีแพนด้า

ประเสริฐศักดิ์ บุญตระกูลพูนทวี หัวหน้าโครงการวิจัยฯ อธิบายว่า การศึกษาเรื่องการผสมเทียมไม่มีข้อผูกมัดแต่อย่างใดว่าต้องทำให้สำเร็จ แต่ผู้ปฏิบัติงานก็พยายามอย่างเต็มที่ เพราะงานวิจัยนั้น “ควรเกิดองค์ความรู้ใหม่ ๆ ออกมา”

สัตวแพทย์หญิงกรรณิการ์ นิ่มตระกูล ผู้ดูแลหลินฮุ่ยมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ เล่าว่าความพยายามผสมเทียมเกิดขึ้นเนื่องจากแพนด้าทั้งคู่ไม่สามารถผสมพันธุ์ได้เองตามธรรมชาติ “หลินฮุ่ยเป็นสัดครั้งแรกในเดือนมกราคม ๒๕๔๙ ทีมงานให้ทั้งคู่อยู่ด้วยกันเพื่อผสมพันธุ์เอง แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ปีต่อมาจึงทำการผสมเทียมเมื่อพบว่าช่วงช่วงไม่สามารถขึ้นผสมได้ แต่ปรากฏว่าหลินฮุ่ยเกิดตั้งท้องเทียม ในปี ๒๕๕๑ หลินฮุ่ยหยุดวงรอบการเป็นสัดโดยไม่ทราบสาเหตุ จนในปีนี้ช่วงช่วงยังขึ้นผสมเองไม่ได้เช่นเคย ทีมงาน
จึงทำการผสมเทียมอย่างเร่งด่วนและประสบความสำเร็จ”

แล้วในที่สุด ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ ก็เป็นวันที่คนไทยทั้งประเทศได้รับข่าวดี นั่นคือหลินฮุ่ยให้กำเนิดลูกแพนด้าเพศเมีย สำนักข่าวทุกแห่งพากันมาเกาะติดความเคลื่อนไหว ณ สวนสัตว์เชียงใหม่

หลังจากนั้นกระแส “แพนด้าน้อยฟีเวอร์” ก็ติดลมบนในสังคมไทย เป็นข่าวคลายเครียดทำให้คนไทยได้ผ่อนคลายนับจากสถานการณ์การเมืองที่ร้อนแรงต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ ทั้งยังส่งผลให้บรรยากาศการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่กลับมาคึกคักอีกครั้ง

ถ้ามองในระดับนานาชาติ กระแสแพนด้าฟีเวอร์ล้วนเกิดกับทุกประเทศที่รับหมีแพนด้าจากจีนไปในนาม “โครงการความร่วมมือและวิจัยระหว่างประเทศ” ที่ดำเนินการภายใต้ อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (Convention on International Trade in Endangered Species-CITES) ซึ่ง “ห้ามการแลกเปลี่ยนซื้อขายสัตว์ป่าเพื่อวัตถุประสงค์ในการค้าเป็นหลัก” อาทิสวนสัตว์กรุงไทเป (Taipei Zoo) ของไต้หวันที่มีผู้เข้าชมหมีแพนด้าจำนวนมากในแต่ละวัน

อย่างไรก็ตาม การจะฉกฉวยกระแสนั้นให้ความรู้และปลูกฝังจิตสำนึกเรื่องการอนุรักษ์สัตว์แก่ประชาชนในประเทศนั้น ๆ ก็ขึ้นอยู่กับว่าองค์การสวนสัตว์และรัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญเพียงใด และทำได้มากแค่ไหนเท่านั้น

รายจ่ายและรายรับของ “ช่วงช่วง” “หลินฮุ่ย” และ “แพนด้าน้อย”

(เฉพาะที่สื่อมวลชนรายงาน)

รายจ่าย
ค่าก่อสร้างอาคารจัดแสดงจุผู้ชม ๒๐๐ คนในสวนสัตว์เชียงใหม่ ๔๖ ล้านบาท

งบประมาณบริจาคเข้ากองทุนอนุรักษ์สัตว์ป่าจีนปีละ ๒.๕ แสนดอลลาร์สหรัฐ หรือ ๘.๒๕ ล้านบาทต่อปี ระยะเวลา ๑๐ ปี คิดเป็นเงิน ๘๒.๕ ล้านบาท

งบประมาณสำหรับจ่ายเมื่อหมีทั้งคู่ให้กำเนิดลูกแพนด้า ๔.๙๕ ล้านบาท ครึ่งหนึ่งต้องจ่ายภายใน ๑๐ วันนับตั้งแต่ลูกแพนด้าลืมตาดูโลก ที่เหลือจ่ายในปีต่อไป

ค่าก่อสร้างโดมหิมะ ๖๐ ล้านบาท

คิดตามอัตราแลกเปลี่ยน ๓๓ บาท เท่ากับ ๑ ดอลลาร์สหรัฐ รายจ่ายรวม ๑๙๓.๔๕ ล้านบาท

รายรับ
สวนสัตว์เชียงใหม่ มีรายได้เพิ่มจากปรกติปีละ ๖๐ ล้านบาท (ก่อนมีหมีแพนด้า) เป็นปีละ ๑๐๐ ล้านบาท

หลังลูกแพนด้าเกิดคาดว่าจะมีรายได้เพิ่มจากเดิมอีกปีละ ๑๐๘ ล้านบาท รวมจะมีรายได้ปีละ ๒๐๘ ล้านบาท

ปี ๒๕๔๖-๒๕๕๑ สวนสัตว์เชียงใหม่มีรายรับประมาณ ๖๐๐ ล้านบาท

ปี ๒๕๕๒-๒๕๕๔ ที่แพนด้าน้อยยังไม่ถูกส่งกลับ คาดว่าสวนสัตว์จะมีรายรับ ๔๑๖ ล้านบาท

ปี ๒๕๕๕-๒๕๕๖ สวนสัตว์เชียงใหม่จะมีรายรับประมาณ ๒๐๐ ล้านบาทดังนั้น จะมีรายรับรวม ๑,๒๑๖ ล้านบาท

บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด พิมพ์ไปรษณียบัตรทายชื่อแพนด้าน้อย ๓๐ ล้านแผ่น ขายในราคาแผ่นละ ๕ บาท ทั้งหมด ๒๙ ล้านแผ่น รวมรายรับ ๑๔๕ ล้านบาท

จังหวัดเชียงใหม่ มีเงินสะพัดในปีแรกที่ช่วงช่วงและหลินฮุ่ยมาถึงราว ๓,๐๐๐ ล้านบาท คาดว่าจะมีเงินสะพัดเพิ่มหลายเท่าตัวหลังหลินปิง

 

pandapheno10

ช่วงช่วงกับหลินฮุ่ยหยอกล้อกันในส่วนจัดแสดง ภาพนี้ถ่ายเมื่อ ๒๘ กันยายน ๒๕๔๙ (ภาพ : องค์การสวนสัตว์)

pandapheno11

ไปรษณียบัตรทายชื่อแพนด้าน้อย

คนไทยได้อะไรจากแพนด้า

ช่วงปลายเดือนมิถุนายน ท่ามกลางกระแสข่าวแพนด้าน้อยที่กลายเป็นประเด็นหลักของสื่อทุกฉบับรวมถึงสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง ก็เกิดคำถามว่าคนไทยได้อะไรจากกระแสแพนด้าน้อย ?

๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๒ บริเวณสี่แยก ปตท. ถนนโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ช้างพลาย ๓ ตัวจาก วังช้างอยุธยา แลเพนียด ที่ถูกทาสีจนมีหน้าตาละม้ายคล้ายหมีแพนด้า ออกมาเดินพาเหรดโชว์ตัวเรียกความสนใจจากประชาชน จนในที่สุดกลายเป็นข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ทุกฉบับในเช้าวันรุ่งขึ้น

“เราต้องการหยิกแกมหยอกให้รัฐบาลหันมาสนใจช้างบ้าง” ลายทองเหรียญ มีพันธุ์ เจ้าของวังช้างอยุธยา แลเพนียด เจ้าของแนวคิดดังกล่าวเล่าถึงที่มา เขาบอกว่าได้ร่วมกับวัยรุ่น ๒ คนที่ “สำลักข่าวแพนด้า” ทาสีบนตัวช้างเป็นหมีแพนด้าเพื่อถ่ายภาพ แล้วทำเป็นไปรษณียบัตรขายหาทุนช่วยช้างเร่ร่อนตามท้องถนนในกรุงเทพฯ

ผลพลอยได้ก็คือเขาได้ “พูดในสิ่งที่คนไทยบางคนคิดอยู่ในใจออกมาดัง ๆ”

ลายทองเหรียญกล่าวว่าไม่แปลกใจที่กลายเป็นข่าวใหญ่ แม้มีเสียงค้านจากองค์กรอนุรักษ์ อาทิมูลนิธิเพื่อนช้าง ที่วิจารณ์ว่าการกระทำเช่นนี้ “น่าเกลียด ทำให้ช้างซึ่งเป็นเสมือนลูกหลานพญาช้างศึกกลายเป็นตัวตลก ทำให้ศักดิ์ศรีของสัตว์ประจำชาติหายไป” (เนชั่นสุดสัปดาห์ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๒)

“รัฐบาลไทยมีงบประมาณมากมายเอาไปจำนำสินค้าเกษตร บางชนิดอย่างลำไยอบแห้งสุดท้ายก็ต้องเอาไปทำลาย เอางบประมาณตรงนั้นมาช่วยช้างบ้างได้หรือไม่ ผมเคยสุ่มถามนักท่องเที่ยวฝรั่งที่มา ส่วนมากเขามาเพราะอยากเห็นช้าง ผมอยากให้คิดบ้างว่าที่ผ่านมาช้างทำรายได้ให้ประเทศเท่าไร ย้อนกลับไปในอดีตช้างก็เป็นช้างศึกป้องกันบ้านเมืองเหมือนกัน ที่เราต้องทำแบบนี้เพราะช้างไม่เคยได้รับความสนใจ เวลาช้างที่ปางช้างตกลูก เราก็ส่งข่าวแจ้งนักข่าวตลอด แต่มันคงเป็นเรื่องเดิม ๆ สรุปว่าถ้าไม่ประสบอุบัติเหตุ บาดเจ็บ หรือตาย ช้างจะไม่เคยได้รับความสำคัญ ครั้งนี้ถือว่าดีเพราะช้างไม่เจ็บ” เขาอธิบาย

ต่อเรื่องนี้ สพ.ญ. กรรณิการ์ชี้ว่า คำตอบทางวิชาการชัดเจนว่าไทยได้กลายเป็นประเทศที่ทำการผสมเทียมหมีแพนด้านอกประเทศจีนเป็นผลสำเร็จต่อจากสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น โดยการมาของแพนด้ายังส่งผลทางอ้อมทำให้งานวิจัยการผสมเทียมสัตว์ที่ขยายพันธุ์ได้ยากของไทยและงานวิจัยด้านอื่น ๆ ก้าวหน้า

“เมื่อจีนให้ยืมแพนด้าในโครงการวิจัยร่วมกันก็ถือเป็นโอกาส เพราะนอกเหนือจากเรื่องการทูต สิ่งที่ตามมาคือมันทำให้งานวิจัยในสวนสัตว์ก้าวหน้า

“การมีแพนด้าในเมืองไทยยังทำให้เราเห็นความน่าทึ่งของจีนที่สามารถทำให้แพนด้ามีความสำคัญในระดับโลก เราได้ศึกษากระบวนการของเขาและนำมาใช้เป็นบทเรียนในการอนุรักษ์สัตว์หายากในบ้านเราได้ ทั้งยังทำให้คนไทยหันมามองสัตว์ในบ้านเรา แต่ก็มีคำถามว่าตอนนี้เราสนใจช้างจริงหรือไม่ หรือแค่ผิวเผินชั่วครั้งชั่วคราว”

น.สพ. บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ หัวหน้าทีมสัตวแพทย์ที่ทำการผสมเทียมหลินฮุ่ย อธิบายว่า ที่ผ่านมาองค์การสวนสัตว์ยังรับผิดชอบสัตว์ป่าหายากที่ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ อาทิ ละอง ละมั่ง กวางผา สมเสร็จ เสือ ช้าง นก รวมถึงสัตว์ที่ไม่ได้รับความสนใจอย่างสัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน และหวังว่าแพนด้าจะเป็นตัวจุดประกายความสนใจงานด้านการอนุรักษ์ในสังคมไทย

ปัจจุบันผลการโหวตชื่อเจ้าแพนด้าน้อยออกมาแล้วจากไปรษณียบัตรทายชื่อแพนด้าน้อย ๑๓ ล้านแผ่นใน ๒๙ ล้านแผ่น ในที่สุดเมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ แพนด้าน้อยก็ได้รับการตั้งชื่อว่า “หลินปิง” หมายถึง ป่าเมืองหนาว หรือป่าแห่งสายน้ำปิง

อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์แพนด้าน้อยน่าจะบอกเราได้ว่า สังคมไทยจะเก็บรับบทเรียนความสำเร็จนี้ แล้วนำไปพัฒนาองค์ความรู้เพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่าหายากที่อยู่ในสถานะ “ใกล้สูญพันธุ์” ไม่ต่างกับหมีแพนด้า ได้มากน้อยแค่ไหน โดยที่ภาษีประชาชนไทยถูกนำไปใช้อย่างคุ้มค่าที่สุด


หมีแพนด้ากับระบบนิเวศ

เกิดในธรรมชาติ การคงอยู่ของแพนด้าหมายถึงการคงอยู่ของไผ่หลายชนิด ที่ขึ้นในพื้นที่สูงและมีอากาศหนาวเย็น จากการศึกษาพบว่าหมีแพนด้ากินไผ่ประมาณ ๒๕ ชนิด อาทิ ไผ่ลูกศร ไผ่ร่ม ไผ่บางชนิดออกดอกครั้งเดียวในรอบ ๑๐๐ ปี หลังจากนั้นจะทิ้งเมล็ดแล้วตายยกป่า กว่าป่าไผ่รุ่นใหม่จะเติบโตพอจนเป็นอาหารให้หมีแพนด้าได้อีกครั้งก็อาจกินเวลา ๑๐-๑๒ ปี ระหว่างนั้นหมีแพนด้าอาจอพยพลงไปกินไผ่ในพื้นที่ต่ำหรือสูงกว่า นั่นหมายความว่าหมีแพนด้าไม่สามารถมีชีวิตรอดได้ในป่าที่มีไผ่เพียงชนิดเดียว ดังนั้นป่าใดที่มีแพนด้าอยู่จึงถือเป็นป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะมีต้นไผ่หลายชนิดขึ้นอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์

 

 

อ้างอิง :
รอน แรมทาง. “หมีแพนด้า จากตำนานถึงการเมือง”. สารคดี ปีที่ ๑๙ ฉบับที่ ๒๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗.
วิลเลียม แอนดรูว์ ลอรี. “รายงานจากเสฉวน การสูญพันธุ์ของหมีแพนด้า”.สารคดี ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๕๗ พฤศจิกายน ๒๕๓๒.
George B. Schaller. “Pandas in the Wild”. National Geographic 160 : 6 December 1981.
เว็บไซต์ http://www.zoo.gov.tw/panda/english/con_global.html

ขอขอบคุณ :
คุณอาคม สุวรรณกันธา, น.สพ. บริพัตร ศิริอรุณรัตน์, สพ.ญ. กรรณิการ์ นิ่มตระกูล, น.สพ. นิธิดล บูรณพิมพ์, คุณอานุภาพ แย้มดี, คุณมาลี วงษารัตน์, คุณประพันธ์ ธนาศรีชัย, คุณเยาวลักษณ์ ชัยมณี