ตอนนั้นคุณก็มีปัญหากับสหภาพแรงงานการไฟฟ้าฯ
ผมคิดว่าสหภาพฯ เป็นเครื่องมือของผู้บริหาร ผู้บริหารสูงสุดนั่นแหละใช้สหภาพฯ เป็นเครื่องมือ สหภาพฯ ไม่ชอบให้มีเอกชนมาเป็นคู่แข่งผลิตไฟฟ้า SPP และ IPP คือจุดเริ่มต้นในการให้เอกชนผลิตไฟฟ้า โดยในปี ๒๕๓๕ รัฐบาลอานันท์ได้มีการออกนโยบายปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้า กำหนดให้มี IPP คือให้เอกชนลงทุนในโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ได้ และมีการนำโรงไฟฟ้าบางโรงของ กฟผ. กระจายหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์ ทางสหภาพฯ ไม่ชอบ การทำแต่ละขั้นตอนมีปัญหากันตลอด ก็เจรจากันไปเป็นครั้งๆ จนสำเร็จ และล่าสุดคือ พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งสหภาพฯ ก็ค้านเพราะมันดึงอำนาจของ กฟผ. ออกมาไว้ที่องค์กรกำกับดูแล การผูกขาดทำไม่ได้แล้ว และ กฟผ. ไม่มีอำนาจในการรอนสิทธิที่ดินของประชาชน ซึ่งโอนไปที่องค์กรกำกับดูแล แต่ก่อนถ้า กฟผ. จะไปปักเสาไฟฟ้าหรือวางสายไฟฟ้า กฟผ. ทำทุกอย่างได้หมด ถ้าประชาชนต้องการร้องเรียนก็ต้องไปร้องเรียนกับทาง กฟผ. ซึ่งอาจไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่ตอนนี้อำนาจในการรอนสิทธิอยู่ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ตอนนี้ กฟผ. จะไปวางเสาต้องมาขออนุญาตให้ กกพ. ประกาศ ไม่ใช่ กฟผ. และต้องมีการฟังความเห็นของประชาชนด้วย เปลี่ยนไปจากในอดีตที่ กฟผ. สำรวจหาที่สร้างสายส่งไฟฟ้าแรงสูงแล้วไปปักเสาได้เลย การรอนสิทธิทำได้เลย เดิมชาวบ้านไม่รู้หรอกว่าจะมีการปักเสาไฟฟ้า แม้ว่าตามระเบียบจะมีประกาศของ กฟผ. ว่าจะมีการปักเสาผ่านที่ดินของใครติดอยู่ที่อำเภอ แต่ในชีวิตจริงชาวบ้านที่ไหนจะรู้ว่ามีประกาศติดอยู่ที่นั่น พอเกิดเรื่องชาวบ้านมาร้องเรียนทางการว่าการไฟฟ้าฯ จะมาเวนคืนที่ดินเพื่อปักเสาไฟฟ้า กฎหมายก็บอกว่าให้ไปยื่นอุทธรณ์ที่การไฟฟ้าฯ ซึ่งเป็นคนตัดสินเอง จึงไม่เป็นธรรมกับชาวบ้าน

อันที่จริง พ.ร.บ. ฉบับนี้มีการเตรียมการมานานแล้วตั้งแต่สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย แต่พอคุณทักษิณขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีก็มายกเลิก จนสมัยรัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ ผมเป็นรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ก็เลยสามารถผลักดันกฎหมายฉบับนี้ออกไป เนื้อหาของกฎหมายคล้ายฉบับเดิม แต่ตัดส่วนที่เกี่ยวกับการแปรรูปออกไป เพราะตกลงกับนายกฯ สุรยุทธ์ตอนตั้งรัฐบาลว่าจะไม่มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เอาแต่เรื่องการกำกับดูแลเท่านั้น

แสดงว่าคุณเห็นด้วยกับการแปรรูป กฟผ. มาตั้งแต่แรก
ผมเห็นด้วยกับการแปรรูปที่ทำให้เกิดการแข่งขัน ประชาชนต้องได้ประโยชน์ ไม่ใช่เปลี่ยนการผูกขาดการผลิตไฟฟ้าจากภาครัฐไปสู่การผูกขาดภาคเอกชน สมัยรัฐบาลทักษิณใช้รูปแบบนี้ คือแปรรูป กฟผ. เป็นบริษัทจำกัด ไม่มีองค์กรกำกับดูแล ซึ่งผมไม่เห็นด้วย ต้องเรียนว่า พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงานตอนนั้นโดนแขวน แล้วเขาพยายามแปรรูป กฟผ. ทั้งองค์กร มันกลับหัวกลับหางและไม่มีประเทศอื่นเขาทำกัน ในต่างประเทศ อย่างอังกฤษสมัยมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ เป็นนายกฯ รัฐบาลได้ทำการแปรรูปกิจการก๊าซธรรมชาติของประเทศทั้งองค์กร แล้วพบว่ามีข้อผิดพลาดจึงมีการออกกฎหมายตามมาว่าต้องมีการแข่งขัน หลังจากนั้นผมคิดว่าทุกคนเห็นบทเรียนนี้ มาเลเซียแปรรูปไฟฟ้าทั้งองค์กรก็จริงแต่มีการตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลขึ้นมา ตอนนั้นคุณทักษิณพยายามเปลี่ยน กฟผ. ทั้งองค์กรเป็นบริษัทจำกัดด้วย พ.ร.บ. ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๕๒ คือทุกอย่างยังผูกขาดเหมือนเดิม ไม่มีองค์กรกำกับดูแล และยกอำนาจรัฐที่เดิมเป็นอำนาจของ กฟผ. ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ ไปให้บริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นใหม่และผูกขาดการผลิตไฟฟ้าเหมือนเดิม นี่คือจุดที่ผมเตือนแล้วเขาไม่ฟัง เราเตือนลูกน้องที่นั่งทำงานใน สนพ. (สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน) ว่าไม่ได้นะ ขอให้บันทึกการประชุมไว้ว่าไม่เห็นด้วย จนกลายเป็นประเด็นที่ศาลปกครองพิจารณาและใช้เป็นเหตุผลในการยกเลิกพระราชกฤษฎีกาแปลงสภาพ กฟผ. ให้เป็นบริษัทมหาชน เพราะขัดกับรัฐธรรมนูญ

เป็นครั้งหนึ่งที่คุณเห็นด้วยกับเอ็นจีโอที่ต่อต้านการแปรรูป กฟผ. ในเวลานั้น
ต่างกัน คุณรสนา (โตสิตระกูล) ไม่เห็นด้วยกับการแปรรูปทุกรูปแบบ แต่ผมเห็นด้วยกับการแปรรูปที่มีการแข่งขันเพื่อลดการผูกขาด

กรณีเขื่อนปากมูล คุณก็เคยบอกว่าไม่เห็นด้วยในการสร้างเขื่อนนี้ เป็นเพราะอะไร
เขื่อนปากมูลผลิตไฟฟ้าได้นิดเดียว โดยเฉพาะในช่วงหน้าร้อนที่เป็นช่วง Peak ของระบบไฟฟ้าที่ความต้องการไฟฟ้าของระบบสูงสุด ในช่วงของวันก็ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ทั้งวัน ถ้าจะใช้เป็น Peak load plant คือผลิตไฟฟ้าในช่วงหัวค่ำที่ความต้องการไฟฟ้าของระบบสูงสุด ก็เป็นวิธีการที่แพง มีวิธีการที่ดีกว่าและนำมาใช้ประสบความสำเร็จแล้ว คือการกำหนดค่าไฟฟ้าให้แตกต่างกันตามช่วงเวลาของการใช้ (Time of Use Rate) ซึ่งทำให้ความต้องการไฟฟ้าในช่วงหัวค่ำลดลงถึง ๗๐๐ เมกะวัตต์ เทียบกับการผลิตไฟฟ้าของเขื่อนปากมูลประมาณ ๔๐ เมกะวัตต์เท่านั้น

ทำไมช่วงหนึ่งจึงตัดสินใจลาออกจากราชการ
เห็นแล้วว่าทำงานให้รัฐบาลในช่วงที่คุณทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรีก็เสียเวลาเปล่า เรามีเวลาในชีวิตจำกัด ทำไปก็ไม่สามารถผลักดันสิ่งที่เราอยากเห็นได้ และสิ่งที่ออกมาก็ไม่คิดว่าเป็นประโยชน์กับประเทศ โครงสร้างกิจการไฟฟ้าก็ยังคงผูกขาด ไม่มีอะไรใหม่เลย และยังอุ้มราคาน้ำมัน ดูจากอดีตนักธุรกิจที่มาเป็นนักการเมืองส่วนมากมักทำแบบนี้ ก่อนหน้านี้ทำงานแม้ได้เงินน้อยแต่รู้สึกว่าสิ่งที่ทำเป็นประโยชน์กับส่วนรวม ในเมื่อเราผลักดันสิ่งที่ต้องการไม่ได้ เอาเวลาไปทำอย่างอื่นดีกว่า

ตอนนั้นอยากผลักดันเรื่องอะไร
พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน การปฏิรูปโครงสร้างกิจการไฟฟ้า และเรื่องถ่านหินรัฐบาลไม่กล้ากระจายความเสี่ยงในการหาแหล่งเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า คือลดการใช้ก๊าซธรรมชาติที่เราใช้มากถึง ๗๐ เปอร์เซ็นต์เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าโดยหันไปใช้ถ่านหินมากขึ้น นโยบายพลังงานของรัฐบาลทักษิณเป็นนโยบายที่แคบ ล้าหลังไปหลายสิบปี คือยังพึ่งก๊าซธรรมชาติเป็นหลักในการผลิตไฟฟ้า ผมคิดว่าสัดส่วนของวัตถุดิบที่จะมาผลิตพลังงานไฟฟ้าในความเป็นจริงต้องขึ้นกับเทคโนโลยีตอนนั้นว่ามีอะไรบ้าง ไม่มีตัวเลขตายตัว อาทิเช่นวันนี้เราพึ่งพาก๊าซมากเกินไปมาก ต้องกระจายความเสี่ยง ก็ต้องดูว่ามีตัวอื่นมาแทนไหม เพิ่มแหล่งเชื้อเพลิงจากถ่านหินมากกว่านี้ก็ดีในระยะสั้นกับระยะกลาง แต่ระยะยาวอาจไม่ไหว และพลังงานที่น่าจะมีบทบาทมากขึ้นในอนาคตก็คือพลังงานลมและแสงอาทิตย์

ปัญหาแหล่งพลังงานการผลิตไฟฟ้าในบ้านเราควรจัดการอย่างไร
เรื่องโครงสร้างการผลิตต้องมีการแข่งขัน การผลิต การจำหน่าย ในที่สุดประชาชนต้องเลือกได้ว่าจะซื้อไฟฟ้าจากใคร เรื่อง DSM ทำเต็มที่แล้วก็ยังต้องสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ มาจากไหน ก็ต้องมาจากเชื้อเพลิงที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็น ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน พลังงานหมุนเวียน ในอนาคตคือนิวเคลียร์ ข้อจำกัดของเราคือการกระจายแหล่งพลังงาน ความมั่นคงด้านพลังงาน น้ำมันจะมีน้อยลงและราคาจะแพงขึ้น กับภาวะโลกร้อนที่ในที่สุดเราต้องโดนบังคับให้แก้ปัญหานี้ด้วย วันนี้อาจยังไม่มีข้อตกลงระดับโลกให้เราลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่สิ่งที่ต้องคาดการณ์คือมันจะมาไหม มันจะมาบังคับเราเร็วๆ นี้ไหม การกำหนดนโยบาย การวางแผนต้องคิดล่วงหน้า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต้องใช้เวลาสร้าง ๑๐-๒๐ ปี ต้องเตรียมการตั้งแต่วันนี้ พลังงานหมุนเวียนเดินได้แล้วก็ลุยให้เต็มที่

มั่นใจว่าโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์จะสะอาด ?
ผมคิดว่าพลังงานนิวเคลียร์เป็นพลังงานที่สะอาดและปลอดภัย อย่าเทียบกับโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล นั่นเป็นเทคโนโลยีเก่าแก่ของรัสเซีย คนละเรื่องกับที่มีตอนนี้ หลังจากเชอร์โนบิลก็ไม่มีโรงไฟฟ้าแบบนั้นอีก เรื่องกากนิวเคลียร์ก็ไม่ได้เป็นปัญหา เพราะจะถูกกักเก็บอยู่ในน้ำ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วโลกก็ทำแบบนี้ทั้งนั้น ที่บางเขนเรามีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ตัวหนึ่ง สร้างมาตั้งแต่ปี ๒๕๐๓ กากก็อยู่ที่นั่น ชาวบ้านแถบนั้นก็ไม่เห็นจะเดือดร้อน หรือไม่ทราบก็ไม่รู้

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในต่างประเทศก็เจอปัญหาการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสี
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์รุ่นใหม่มีระบบป้องกันที่ปลอดภัยมาก ข่าวการรั่วไหลอาจจะมี แต่น้อยมาก โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของญี่ปุ่นเกิดแผ่นดินไหว บ้านพัง ตึกพัง โรงไฟฟ้ามีกัมมันตภาพรังสีรั่วออกมาจากน้ำที่หกออกมา ซึ่งมีปริมาณน้อยมาก แต่ต้องรายงานตลอดเวลาอย่างโปร่งใสจึงมีข่าวออกมา ทีมฟุตบอลอิตาลีจะไปแข่งที่ญี่ปุ่น พอเจอข่าวนี้ยกเลิกการเดินทาง ทั้งที่การนั่งเครื่องบินจากโรมไปโตเกียวจะได้รับรังสีมากกว่าที่จะได้รับจากน้ำที่หกออกจากโรงไฟฟ้า อยู่ในโรงพยาบาลก็มีกัมมันตภาพรังสีมากกว่าเดินในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

ปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิตของแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่สูงกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น
เรื่องต้นทุนการผลิต สมัยราคาน้ำมันถูกใช่ ต้นทุนนิวเคลียร์อาจจะแพงกว่าน้ำมัน แต่เมื่อราคาน้ำมันแพง นิวเคลียร์ถูกกว่าแน่นอน ตอนนี้ราคาน้ำมันบาร์เรลละ ๗๐-๘๐ ดอลลาร์ นิวเคลียร์ถูกกว่า แต่ถ้าไปเทียบกับสมัยราคาน้ำมัน ๔๐ ดอลลาร์ย่อมแพงกว่า ซึ่งเป็นข้อมูลเก่า ตอนนี้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์อยู่ระหว่างก่อสร้าง ๕๓ แห่งทั่วโลก สูงขึ้นในช่วง ๔- ๕ ปีที่ผ่านมา จากการเพิ่มกำลังการผลิตของประเทศกำลังพัฒนาและปัญหาโลกร้อน

ควรเป็นทางเลือกสุดท้ายไหม บ้านเราก็ยังไม่มีมาตรการอนุรักษ์พลังงานอย่างจริงจัง หรือพยายามลดการใช้พลังงานก่อน แต่เราพยายามจะสร้าง/ ผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
มันต้องทำไปพร้อมกันทุกอย่าง ไม่ใช่เอาอันนี้ไม่เอาอันนั้น มันเสี่ยงเกินไป ในที่สุดเราอาจจะไม่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็ได้ แต่เราต้องเตรียมตัว เพราะมันต้องการการเตรียมการนาน ต้องการคนที่ทำงานได้ ต้องการคนมีความรู้ ตอนนี้ไม่มีใครบอกได้ว่าในที่สุดต้องใช้หรือไม่ใช้นิวเคลียร์ แต่เราต้องเตรียมตัวไว้ก่อน

พลังงานแสงอาทิตย์ที่ว่าจะทำให้ต้นทุนถูกลงมากก็รับประกันไม่ได้ วันนี้เซลล์แสงอาทิตย์ยังแพงมาก ต้นทุนการผลิตประมาณ ๑๓ บาทต่อกิโลวัตต์- ชั่วโมง เทียบกับเมื่อก่อนราคา ๒๐ บาท ราคาลงมาแล้วก็จริง แต่เมื่อไหร่จะลงมาเท่ากับโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่ราคา ๓ บาทต่อกิโลวัตต์- ชั่วโมง บางคนบอกว่าอาจจะใช้เวลา ๑๐ ปี บางคนบอกว่า ๕ ปี ซึ่งถ้าเราดูแนวโน้มจากอดีตไม่มีทางรับประกันได้ว่าอีก ๑๐ ปีราคาจะลงมาที่ ๓ บาท ถ้าได้จริงๆ เราคงไม่ต้องเอานิวเคลียร์ให้ปวดหัว ไม่มีใครอยากมีเรื่องกับเอ็นจีโอหรือต้องไปสู้กับประชาชนหรอก ปัญหาคือเราจะรู้ได้อย่างไรว่าอีก ๑๐ ปีจะเหลือ ๓ บาท แต่การที่เราไม่รู้เราต้องเตรียมเอาไว้ก่อน มันเสี่ยงเกินไปถ้าไม่เตรียม เอ็นจีโอจะรับผิดชอบไหวหรือไม่ อย่าลืมว่าคนที่วางแผนเรื่องพลังงานต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้น ไฟฟ้าขาดเขาต้องหาส่วนอื่นมาแทน เอ็นจีโอมาเซ็นสัญญาไหม ถ้าทำอย่างที่คุณบอก ไม่เอาถ่านหิน นิวเคลียร์ เอาพลังงานแสงอาทิตย์ เอาพลังงานลมมาทดแทน ถ้าราคาไม่ลดลงอย่างที่คาด คุณรับผิดชอบไหม

ผมเห็นด้วยว่าต้องมีพลังงานทางเลือกอย่างอื่น แต่พวกนี้มีข้อจำกัด แสงอาทิตย์มีแค่กลางวัน ลมไม่ได้พัดตลอดเวลา ระยะเวลาที่กังหันลมผลิตไฟฟ้าคือได้ร้อยละ ๑๐- ๒๕ โรงไฟฟ้ากังหันลมลำตะคองผลิตได้ร้อยละ ๒๑ บางคนว่าในภาคอีสานจะผลิตได้ร้อยละ ๒๕ ทางใต้อย่างนครศรีธรรมราชผลิตได้แค่ร้อยละ ๑๕ แต่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ผลิตได้ถึงร้อยละ ๙๐

ประสิทธิภาพของเครื่องใช้ไฟฟ้าก็เป็นส่วนที่สามารถลดการใช้พลังงานได้
ทำได้ เป็นเรื่องที่ต้องทำ แต่คนไทยทุกวันนี้ร้อยละ ๒๐ ของครัวเรือนมีเครื่องปรับอากาศ เมื่อคนมีรายได้เพิ่มขึ้นก็ใช้เพิ่มขึ้น ของใหม่ประสิทธิภาพจะดียังไงก็ตาม ถ้ามีการใช้เครื่องปรับอากาศมากขึ้น การใช้ไฟฟ้าก็ต้องสูงขึ้น ทุกวันนี้ร้อยละ ๑๑ ของครัวเรือนมีไมโครเวฟ สูงขึ้นมากจากร้อยละ ๘ เมื่อ ๗ ปีก่อน ยังไม่นับเครื่องซักผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ มันต้องทำคู่กันไป อุปกรณ์ใหม่ต้องมีประสิทธิภาพ หลอดไฟต่อไปต้อง T5 เราต้องทำทั้งการประหยัดพลังงานและการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่

มีคนวิจารณ์ว่าการคาดการณ์การใช้ไฟฟ้าในอนาคตสูงเกินไปจนเป็นสาเหตุที่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้น
ในอนาคตไม่มีใครทราบ การคาดการณ์เพื่อทำแผนมีการปรับทุกปี ถ้าเอาตามการคาดการณ์ของเอ็นจีโอวันนี้ไฟฟ้าขาดแคลนแล้ว ในปี ๒๕๔๔ ช่วงที่ถกเถียงกันเรื่องบ่อนอก-หินกรูด เอ็นจีโอบอกว่าในปี ๒๕๕๐ ความต้องการไฟฟ้าจะเพิ่มเป็น ๑๙,๗๕๕ เมกะวัตต์ แต่ตัวเลขจริงคือ ๒๒, ๕๘๖ เมกะวัตต์ เอ็นจีโอชอบเอาตัวเลขของทางราชการมาใช้อ้างแล้วบอกว่าราชการพยากรณ์ผิด แต่ไม่ยอมบอกว่าตัวเลขที่ผิดคือช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลกในช่วงปี ๒๕๔๐- ๒๕๔๓ จนทำให้การใช้ไฟฟ้าโดยรวมลดลงอย่างรวดเร็ว พอช่วงที่เศรษฐกิจฟื้น การใช้ไฟฟ้ามันก็เพิ่มขึ้นอย่างเร็ว แต่ไม่ได้เอาตัวเลขการคาดการณ์ที่ผิดมาพูดด้วย

เรื่องปริมาณไฟฟ้าสำรองก็เช่นกัน เอ็นจีโอบอกว่าปริมาณไฟฟ้าสำรองสูงถึงร้อยละ ๔๐ นั่นคือตัวเลขที่เก็บจากช่วงหน้าหนาวที่การใช้ไฟฟ้ามันน้อยลง ซึ่งที่จริงต้องใช้ตัวเลขจากหน้าร้อนเพราะเป็นช่วงที่ความต้องการไฟฟ้าสูงสุด ปริมาณไฟฟ้าสำรองจำเป็นต้องมี ถ้าไม่มีแล้วโรงไฟฟ้าเสียไฟจะดับ มันต้องมีกำลังการผลิตเผื่อไว้ จะขาดไม่ได้ ถ้าไฟดับต้นทุนมหาศาลทั้งต่อเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม ชาวบ้านไปกดตู้เอทีเอ็มก็ไม่ได้ ชีวิตประจำวันเราขึ้นกับไฟฟ้ามากกว่าแต่ก่อนเยอะ

คนที่เกี่ยวข้องกับพลังงานไม่มีใครอยากผลักดันหรอก มันยาก มีทางอื่นในการเลือกการใช้เชื้อเพลิงเราต้องทำทุกอย่างพร้อมกัน นิวเคลียร์คือทางเลือกสุดท้ายเมื่อไม่มีทางอื่น ก็ไม่เอา แต่มันต้องเตรียม ผมเชื่อว่าในที่สุดถึงวันตัดสินใจก็จะยังไม่มีพลังงานอย่างอื่นมาแทน เราทำฟาร์มแสงอาทิตย์ขนาด ๖ เมกะวัตต์ ต้นทุนอยู่ที่ ๑๒-๑๓ บาทยังหาเงินกู้มาทำยาก คือค่าไฟระดับนี้แทบจะทำให้โครงการเดินไม่ได้

ทุกวันนี้ใครจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินก็โดนชาวบ้านต่อต้าน รวมไปถึงพลังงานหมุนเวียนอย่างอื่น
ผมว่าไม่จริงที่โดนต่อต้านหมด ที่ต่อต้านมีไม่กี่แห่ง โรงไฟฟ้าถ่านหินที่บ่อนอก-หินกรูด ที่ทำไม่ได้ส่วนหนึ่งมาจากรัฐจงใจไม่เอา แต่สร้างให้เสร็จได้ที่มาบตาพุด หลายโรงไม่โดนต่อต้าน มีโรงไฟฟ้าแกลบที่จังหวัดตากที่โดนต้าน โรงไฟฟ้าขนาดเล็กในบ้านเราตอนนี้มี ๑๘๖ โรง ขนาดใหญ่ ๔๐-๕๐ โรง โรงไฟฟ้าเกิดใหม่ปีละ ๑๐๐ โรง ที่เซ็นสัญญาขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฯ แล้วและอยู่ระหว่างการก่อสร้างมี ๓๐๐ โรง ที่ถูกต่อต้านมีน้อยมาก เพียงแต่โรงไฟฟ้าที่โดนชาวบ้านต่อต้านเป็นข่าวดัง คนเลยนึกว่าโดนต้านไปเสียหมด การวางแผนการสร้างโรงไฟฟ้าก็คิดเรื่องนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงด้วย เช่นถ้าปีนี้ต้องการโรงไฟฟ้าใหม่ ๘ แห่ง ก็บรรจุในแผนว่าจะสร้าง ๑๐ แห่ง โดนต่อต้านไป ๒ แห่งก็เหลือ ๘ แห่งพอดี

คนในพื้นที่เข้าใจว่าโรงไฟฟ้าส่วนใหญ่ก่อมลพิษจึงออกมาต่อต้าน
มันมีหลายปัจจัย ไม่ได้มาจากชาวบ้านอย่างเดียว บางแห่งมาจากปัญหาเรื่องการซื้อขายที่ดิน มีตัวอย่างในอดีตที่ต้องยอมรับแล้วการแก้ไขของเจ้าของโรงไฟฟ้าไม่ดีเท่าที่ควร เช่นโรงไฟฟ้าแม่เมาะที่ยืดเยื้อมาจนทุกวันนี้ เรื่องการอพยพคน การจ่ายค่าชดเชยให้ชาวบ้าน การตั้งม็อบชนม็อบที่กลายเป็นกลยุทธ์หลักในหลายกรณีที่ทำให้ความขัดแย้งในชุมชนบานปลายออกไปมากขึ้น ซึ่งมีผลกับการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ และการแก้ปัญหาบางอย่างกระทำไปโดยไม่ได้มีการคำนึงถึงผลกระทบต่อชาวบ้าน เช่นที่กาญจนบุรี กฟผ. ปล่อยน้ำจากเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าชดเชยตอนก๊าซธรรมชาติจากพม่าขาดแคลน แต่ไปปล่อยน้ำช่วงหน้าน้ำเลยทำให้น้ำท่วมบ้านชาวบ้านเสียหาย ทั้งที่ความจริงเดินเครื่องโรงไฟฟ้าดีเซลเพื่อผลิตไฟฟ้าชดเชยได้แต่ไม่ทำ ความเสียหายนำไปสู่ประเด็นต่อมา แค่นี้ยังดูแลไม่ได้แล้วเราจะไว้ใจได้อย่างไรให้มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

ดูเหมือนว่าคุณจะเชื่อเทคโนโลยีมาก
เทคโนโลยีไม่มีปัญหา ปัญหาที่เกิดในอดีตมาจากการไม่ใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ ที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะไม่ติดตั้งเครื่องดักก๊าซกำมะถัน ปัญหาง่ายๆ แต่ไม่ยอมแก้ไข ความจริงนายกฯ ชาติชายสั่งให้จัดการแล้วตั้งแต่สมัยนั้น แต่ กฟผ. ไม่มีการดำเนินการ เลยเกิดปัญหาขึ้นหลังจากนั้น

กรณีปัญหาสิ่งแวดล้อมในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดก็ยังเป็นปัญหา
มันมาจากการไม่ใช้เทคโนโลยี และมาจากนโยบายรัฐ มาจากการกำกับดูแลของรัฐที่ไม่กำหนดมาตรฐาน ในกรณีโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ก่อนมีปัญหาฝนกรด รัฐก็ไม่มีการกำหนดมาตรฐานการระบายของก๊าซรอบโรงงาน หน่วยงานสิ่งแวดล้อมไม่สร้างหลักเกณฑ์ในการควบคุมเรื่องพวกนี้ ปัญหามาบตาพุดก็มาจากการที่รัฐตั้งกฎที่อ่อนเกินไป โรงงานก็บอกว่าเขาทำตามกฎแล้ว คุณไม่กำหนดมาเอง ฉะนั้นจะไปโทษคนทำงานอย่างเดียวไม่ได้ หน่วยงานรัฐนั่นแหละที่เป็นตัวปัญหา

มันพูดยากว่าเชื่อเทคโนโลยี แต่ชาวบ้านไม่เชื่อ
มันไม่มีปัญหาแน่ครับ ที่อื่นก็ไม่มีปัญหา ประเทศอื่นก็เป็นเทคโนโลยีตัวเดียวกัน แต่ถ้ากฎเกณฑ์เราไม่รัดกุม คนลงทุนย่อมพยายามลดค่าใช้จ่ายโดยไม่ติดตั้งอุปกรณ์บางอย่าง นี่คือหน้าที่ที่รัฐต้องกำหนดกติกา มาบตาพุดโชคร้ายที่โครงการบางโครงการจะมีมาตรการในการลดมลภาวะด้วย สองปีก่อนรัฐบอกแล้วว่ามลพิษที่ลดได้ ๑๐๐ หน่วย ผู้ประกอบการสามารถเก็บไว้เอง ๘๐ หน่วยเพื่อการขยายโรงงานของตนเองได้ ฉะนั้นมลพิษโดยรวมจะลดลง ๒๐ หน่วย อีกทั้งยังมีการขยายโรงงานได้ด้วย เมื่อรัฐธรรมนูญปี ๒๕๕๐ ประกาศออกมา กำหนดให้ต้องมีการทำ HIA สิ่งที่รัฐควรต้องรีบทำคือการกำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการทำและพิจารณาอนุมัติ HIA แต่ไม่มีใครทำอะไร เอกชนก็ไม่สามารถทำ HIA ได้เพราะไม่มีกติกา จนเป็นปัญหาทุกวันนี้

ทุกวันนี้เราต้องยอมรับว่าชาวบ้านต้องการมีส่วนร่วมในโครงการที่มาสร้างใกล้บ้านเขา
ยอมรับได้ เรื่องธรรมดา รัฐธรรมนูญเขียนชัดเจน แต่หลังจากนั้นภาครัฐทำไมไม่ทำอะไร ปล่อยให้โรงงานสร้างจนมีปัญหา ผมว่าผู้ประกอบการไม่ขัดข้อง เพียงแต่รัฐต้องเขียนกติกาให้ชัดเจน ไม่ใช่มาเปลี่ยนทีหลัง

รู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ร้ายในสายตาเอ็นจีโอไหม
แล้วแต่จะมอง ผมว่าเอ็นจีโอเป็นผู้ร้ายในสายตาผม ผมเข้าใจว่าเขาทำอะไร แต่ผมไม่เห็นด้วยกับวิธีการของเขา บางทีไม่ต่างกับนักธุรกิจที่เห็นแก่ตัว พูดข้อมูลจริงครึ่งเดียว ต่างกับนักธุรกิจเห็นแก่ตัวอย่างไร ผมเจอเอ็นจีโอหลากหลายนะ ที่พูดรู้เรื่องก็มี ไม่รู้เรื่องก็มี

ตอนนี้ในฐานะที่เป็นดีดีบริษัทการบินไทย อยากเปลี่ยนแปลงอะไรในการบินไทย
เสียดาย และสงสารการบินไทยที่เป็นของคนไทยทุกคน ครั้งหนึ่งเคยเชิดหน้าชูตาและภูมิใจมากสำหรับคนไทย ช่วงหลังรู้สึกว่ามีคนหลายกลุ่มมาหาประโยชน์จนมีผลกระทบกับฐานะการเงิน การบริการ คุณภาพ ขวัญกำลังใจของคนในองค์กร ผมทนไม่ได้ที่เห็นคนหลายกลุ่มมาเอาเปรียบ และมองว่าทำไมพวกเราเอาแต่นั่งบ่นว่ารัฐวิสาหกิจแย่ ขาดทุน นักการเมืองมาแทรกแซง หาผลประโยชน์ แต่ก็ยังปล่อยมันต่อไป ผมเลยอยากมาทำอะไรบางอย่างเพราะทนไม่ได้ที่จะเห็นการบินไทยโดนเอาเปรียบแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ แม้กระทั่งบริษัทขาดทุนก็ยังมีคนพยายามไปหาประโยชน์ นั่นคือเหตุที่เข้ามา มาแล้วก็แน่นอน อยากให้เป็นองค์กรที่มั่นคงทางการเงิน อยู่ได้อย่างยั่งยืน คุณภาพการบริการต้องดีเยี่ยม คนไทยต้องภูมิใจได้อีกครั้งหนึ่ง

ทุกคนที่มาก่อนก็พูดแบบนี้ฟังสวยหรูดี คิดว่าจะทำจริงได้อย่างไร
การจะทำสิ่งนี้มันต้องทำหลายอย่างคู่กันไป คนในการบินไทยเก่งๆ มีความตั้งใจมีอีกมาก อย่างแรกต้องสามัคคีกัน ถ้าข้างในสามัคคีกัน ทำเพื่อประโยชน์บริษัทอย่างแท้จริง บริหารบริษัทกันอีกครั้งหนึ่ง มันจะแก้ปัญหาได้ การแทรกแซงจากข้างนอกต้องลดลง มันมาหลายรูปแบบ การจัดซื้อจัดจ้าง การโยกย้าย การแต่งตั้งพนักงาน สิ่งนี้จะทำได้ก็ต้องทำให้ข้างในสามัคคีกันก่อน การโยกย้ายแต่งตั้งต้องเป็นธรรม การจัดซื้อจัดจ้างต้องโปร่งใส ถ้าคนข้างนอกยังมาหาประโยชน์จากการบินไทยได้ คนข้างในก็จะคิดว่าจะมานั่งรักองค์กรไปทำไม ฉันก็เอาบ้าง ดังนั้นคงต้องตัดข้างนอกก่อนถึงจะจัดการกับข้างในได้ ส่วนเรื่องการฟื้นฐานะการเงินบริษัท ผมว่ามันง่ายแล้ว ถ้าเราจัดการเรื่องของคนได้ การฟื้นฟูทางการเงินก็ทำกันทั่วไป ทุนน้อยหนี้มากก็เพิ่มทุน หนี้ระยะสั้นมากก็เปลี่ยนเป็นระยะยาว นี่เป็นเรื่องปรกติ การปรับปรุงผลิตภัณฑ์ต้องเร่งทำ คุณภาพอาหารผมว่าทำได้เลย