piyasawat02

มีคนบอกว่าในการบินไทย พนักงานระดับล่างคอร์รัปชันเวลา ระดับบนก็คอร์รัปชันเงินทอง
ต้องมาจากข้างบนก่อน ถ้าข้างบนไม่ทำข้างล่างก็ไม่ทำ สิ่งที่น่าชื่นชมคือเมื่อมีปัญหาทางการเงิน มีการลดค่าใช้จ่ายกันเยอะมาก ไม่มีองค์กรไหนที่ทำกันมากขนาดนี้ ปีนี้น่าจะได้กว่า ๑ หมื่นล้านบาทไม่รวมน้ำมัน นั่นมาจากความร่วมมือของพนักงานด้วยกัน แน่นอนเขาลำบาก เงินเดือนไม่ได้ขึ้น โบนัสไม่มี ผมไปสัมผัสเขามา ๒- ๓ เดือน คิดว่าเข้าใจกันดีเรื่องการปรับปรุงผลิตภัณฑ์และคุณภาพของบริการ บางเรื่องอาจจะยังอ่อนแต่ความตั้งใจมี ต้องเข้าไปเสริมในบางจุด เรื่องความปลอดภัยนั้นดีมาก บริการโดยทั่วไปยังดี แต่มีบางจุดต้องปรับและบางจุดด้อยลง

กล่าวกันว่าจำนวนพนักงานการบินไทยมีมากเกินไป หากเอาคนออกสักครึ่งหนึ่งอาจจะพลิกจากขาดทุนมาทำกำไรได้
ถ้าทำอย่างนั้นเครื่องบินอาจบินไม่ได้ การบินไทยอาจมีเด็กเส้นเด็กฝากในบางจุด แต่ไม่ได้มากขนาดนั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งคือมีคนมาก แต่ไม่ใช่ปัญหาทั้งหมด การซื้อเครื่องบินผิดประเภท ไม่เหมาะสมกับเส้นทางการบิน การวางแผนทางการเงินไม่ดีก็ส่วนหนึ่ง อย่างการซื้อแอร์บัส A340-500 ที่ซื้อมาแล้วขาดทุนอาจมีผลกระทบมากกว่าการมีพนักงานมากไป คนตัดสินใจตอนนั้นอาจจะคิดว่าถูกต้องก็ได้ มันอาจมาจากผลประโยชน์หรือการวางแผนผิด แต่สิ่งที่เกิดไปแล้วคงทำอะไรไม่ได้ ซื้อไปแล้วใช้ไปแล้วพักหนึ่งมันก็มีขีดจำกัดในการจัดการ ที่ทำได้คือการจัดซื้อในช่วงต่อไปที่ต้องมีการศึกษาวิเคราะห์อย่างละเอียด ซื้อสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง รวมถึงการวางแผนทางการเงินที่อ่อน และถูกซ้ำเติมปัญหาทางการตลาด ขายตั๋วได้ราคาเฉลี่ยต่ำ เอเยนต์ได้มากเกินไป ใช้การซื้อขายทางระบบอินเทอร์เน็ตน้อยมาก แค่ร้อยละ ๓ เท่านั้น ซึ่งก็ต้องไปปรับปรุงการซื้อขายแบบออนไลน์ให้มากขึ้น ราคาตั๋วมีหลายราคามากเหลือเกิน ถ้าผ่านเอเยนต์ก็มีบริการอื่นและมีค่าคอมมิชชัน ต่อไปในอนาคตโครงสร้างราคาจะโปร่งใส มันเป็นเทรนด์ทั่วโลกที่ราคามีความชัดเจน โปร่งใส ทุกคนเปิดเน็ตเห็นหมด มันจะนำไปสู่ระบบออนไลน์ ไม่มีค่าคอมมิชชัน ลูกค้ามีทางเลือกในการซื้อออนไลน์ได้

คุณมีวิธีในการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่พนักงานการบินไทยอย่างไร
ความเชื่อมั่นมาจากการปฏิบัติ พูดไปคนก็จะบอกผู้นำทุกคนก็พูดแบบนี้ ต้องพยายามทำให้เร็วที่สุด คงใช้เวลาเป็นปีไม่ได้

แผนหลัก ๆ ที่ตัดสินใจเปลี่ยนแปลงมีอะไรบ้างครับ
เป็นแผนที่จะทำให้การบินไทยเข้มแข็ง ยั่งยืน อยู่ต่อได้อีกอย่างน้อย ๕๐ ปี ปีหน้าการบินไทยจะมีอายุ ๕๐ ปีแล้ว มันต้องมีหลายเรื่อง การเงิน การปรับปรุงผลิตภัณฑ์ บริการ การพาณิชย์ การขายตั๋ว บุคลากร ผมอยากให้การบินไทยเป็นสายการบินที่ในแง่บริการติดอันดับต้นๆ ของโลกอีกครั้ง อาจอยู่อันดับ ๑ ใน ๕ จะให้ดีเท่าสิงคโปร์คงไม่จำเป็นเพราะลูกค้าต่างกัน สิงคโปร์นักธุรกิจมาก เขามีกำลังจ่าย ทำดีแต่ราคาแพงอาจจะไม่เหมาะกับการบินไทย

ปัญหาของสหภาพแรงงานที่เป็นไม่เบื่อไม้เมากับฝ่ายบริหารมาตลอดจะแก้อย่างไร
ผมคุยกันรู้เรื่อง เขาก็รักองค์กร ต้องการให้องค์กรเจริญรุ่งเรือง สหภาพแรงงานการบินไทยเป็นสหภาพของคนมีการศึกษา ที่ผ่านมาผู้บริหารทำอะไรพนักงานไม่รู้ ต่อไปนี้ต้องมีการคุยกันสม่ำเสมอและรับฟังความเห็น การทำแผนคราวนี้ก็จะมีการเวิร์กชอปพนักงานอย่างต่อเนื่อง ต้องคุยกันหลายกลุ่ม ความแตกแยกมีมากเพราะคนภายนอกแทรกแซง ใช้คนข้างในเป็นเครื่องมือ คนในก็ไปยอมเขาด้วย

มองสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิอย่างไร
ในแง่การบินไทย ๒ แห่งไม่ไหว ต้นทุนสูงเกินไป ถ้ารัฐต้องการให้มีสนามบิน ๒ แห่งเนื่องจากต้องการกระจายความเสี่ยง ก็น่าจะกำหนดให้โลว์คอสต์ไปอยู่ที่ดอนเมือง

ปัญหาของนกแอร์ที่เป็นบริษัทลูกแต่มาแย่งลูกค้าการบินไทยกันเองจะแก้ไขอย่างไร
ปัญหานี้จะได้รับการคลี่คลายเร็วๆ นี้ กับการบินไทยต้องร่วมกัน ไม่ใช่แข่งกัน ที่ผ่านมาเป็นบริษัทลูกมาแข่งกับแม่เป็นหลักแทนที่จะไปแข่งกับคู่แข่งอื่น แนวทางตอนนี้ชัดว่าต้องทำงานด้วยกัน เส้นทางไหนการบินไทยไปไม่ไหวอาจจะให้นกแอร์บินแล้วไปแข่งกับคู่แข่งอื่น

มองอย่างไรเกี่ยวกับระบบการให้อภิสิทธิ์กับฝ่ายบริหารที่ผ่านมาโดยเฉพาะตั๋วฟรีชั้นหนึ่ง
สมัยก่อนคนที่พ้นตำแหน่งจากการเป็นกรรมการบอร์ดการบินไทยก็ได้สิทธิ์ใช้ตั๋วฟรีไปจนตาย ตอนนี้ลดลงเหลือแค่ ๓ ปีหลังพ้นตำแหน่ง ตัดสิทธิ์ผู้บริหารตั้งแต่ระดับดีดีลงไป ไม่ให้นั่งชั้นหนึ่งฟรี ให้นั่งชั้นธุรกิจแทน

แล้วคุณจะทนแรงเสียดทานจากการเมืองที่มีมาโดยตลอดได้นานเพียงใด
เป็นปรกติของบ้านเรา ซึ่งน่าเสียดาย ความที่เราระแวงผู้นำรัฐวิสาหกิจมากเกินไปว่าจะเข้ามาหาประโยชน์ เลยมีกฎเกณฑ์เต็มไปหมด การที่มีกฎมากๆ มันทำให้หาคนดีไม่ได้ อาจมีคนดีมาก แต่เขาไม่อยากสมัครเพราะไม่อยากเจอแรงเสียดทาน ส่วนตัวผมเตรียมตัวอยู่แล้วว่าเจอแน่นอน

คิดว่าจะทำงานที่การบินไทยไปนานแค่ไหน
ผมคงอยู่จนอายุ ๖๐ ปี คืออีกเกือบ ๔ ปี หรือไม่เขาก็ไล่ออกก่อน ผมบอกว่าต้องให้โอกาสผมทำงาน ๑ ปีก่อนที่บอร์ดจะประเมินงาน ผมไม่เอาหรอกทำงานได้ ๖ เดือนแล้วถูกประเมิน เพราะมันยังไม่ได้เห็นผลอะไร เงื่อนไขนั้นรับไม่ได้เพราะมันตั้งอยู่บนสมมุติฐานว่าทุกคนเลวหมด เลยหาคนดีมาทำงานในรัฐวิสาหกิจไม่ได้ เพราะมันตั้งเงื่อนไขเพื่อให้เล่นงานได้ทุกเมื่อ ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจหลายแห่งถูกนักการเมืองที่ไม่ดีเล่นงานจากสัญญาแบบนี้ที่ร่างโดยกระทรวงการคลัง หวังว่าสัญญาของผมกับการบินไทยจะเป็นบรรทัดฐานให้กับที่อื่นๆ ด้วย และที่ผ่านมาเห็นอยู่แล้วว่าผู้บริหารรัฐวิสาหกิจบางแห่งโดนบีบให้ออกเพราะเปลี่ยนรัฐบาลแล้วรัฐมนตรีใหม่ไม่ชอบหน้า

มีคนบอกว่า ดร. ปิยสวัสดิ์ ฉลาด คิดเร็ว ไม่อดทนพอจะฟังคนอื่น
แล้วแต่ใครจะคิด แล้วแต่เรื่อง ต้องดูว่าเรื่องอะไรอยู่ในบริบทอะไร แต่การฟังคงต้องมีขอบเขต ฟังทุกเรื่องตลอดไม่มีทางจบ ไม่มีการตัดสินใจเพราะฟังไปเรื่อยๆ มันไม่จบ บางเรื่องฟังอยู่ ๓-๔ ปี ไม่ตัดสินใจไม่ได้ จุดหนึ่งต้องตัดสินใจ อย่างเรื่องพลังงาน เรื่อง IPP ถ้ามัวแต่ฟังไปเรื่อยๆ ป่านนี้ก็ยังไม่จบ ตอนนี้ก็ยังไม่เสร็จ คนเลยบอกว่าผมไม่ฟัง ไม่จริงหรอก

เกษียณแล้วจะทำอะไรต่อไป
เอาให้เกษียณแล้วค่อยว่ากัน อนาคตวางไกลขนาดนั้นคงยาก แต่มีอะไรให้ทำมากมายโดยเฉพาะเรื่องพลังงาน ผมอยากให้เมืองไทยมีพลังงานสะอาด ผู้บริโภคมีทางเลือก ไม่มีปัญหากับชุมชน ให้สังคมไทยสนใจปัญหาเรื่องโลกร้อน ปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยที่สุด


เชิงอรรถ
๑. ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producer – SPP) หมายถึง โครงการผลิตไฟฟ้าโดยใช้ระบบการผลิตพลังงานความร้อนและไฟฟ้าร่วมกัน(Cogeneration) หรือการผลิตไฟฟ้าโดยใช้พลังงานนอกรูปแบบกากหรือเศษวัสดุเหลือใช้เป็นเชื้อเพลิง โครงการ SPP แต่ละโครงการจะจำหน่ายไฟฟ้าให้ กฟผ.ไม่เกิน ๙๐ เมกะวัตต์ โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๓๕ เห็นชอบร่างระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็ก (SPP) โดยการไฟฟ้าฯ ทั้ง ๓ แห่งได้ออกระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็ก
๒. ผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (Independent Power Producer – IPP) หมายถึง ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่
๓. การจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (Demand Side Management -DSM) เพื่อส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อโลกประสบวิกฤตการณ์พลังงานในช่วงทศวรรษ ๑๙๗๐ ทำให้ทั่วโลกหันมาส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพแทนการผลิตไฟฟ้าอย่างเดียว โดยการปรับการใช้ไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าให้สมดุลกับการผลิตไฟฟ้า โดยผ่านเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ และการสร้างเสริมการอนุรักษ์พลังงานเพื่อหลีกเลี่ยงหรือชะลอการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่
๔. การประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (Health Impact Assessment -HIA) หมายถึง กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในสังคมที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อให้ทุกฝ่ายได้ร่วมกันพิจารณาถึงผลกระทบทางสุขภาพ โดยมีการประยุกต์ใช้แนวทางและเครื่องมือที่หลากหลายในการระบุ คาดการณ์ และพิจารณาถึงผลกระบทด้านสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นแล้วกับประชาชนในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง