ตลอด ๘ วันแรกบนเวทีใหญ่ที่สะพานผ่านฟ้า ช่วงกลางวันแกนนำ นปช. อาทิ วีระ มุสิกพงศ์ จตุพร พรหมพันธุ์ และ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผลัดกันโจมตีพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ และพุ่งเป้าเรื่อง “สองมาตรฐาน” ของระบบยุติธรรมและที่มาอันไม่ชอบธรรมของรัฐบาลอภิสิทธิ์ ประเด็นที่เน้นคือการต่อสู้ด้วยแนวทาง “สันติวิธี” ช่วงหัวค่ำมีการโฟนอินของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จากนั้นมีการปราศรัยและแสดงดนตรีโต้รุ่ง และช่วงเช้าวันรุ่งขึ้นจะมีการตรวจสอบข่าวสารในสื่อกระแสหลัก ทั้งนี้แต่ละวันจะมีตัวแทนจากกลุ่มต่างๆ ขึ้นมาแสดงตัวสนับสนุนบนเวทีเป็นระยะ อาทิ ท่านผู้หญิงวิระยา ชวกุล กลุ่มพระสงฆ์อาสาพัฒนาสันติวิธีและพระสงฆ์กลุ่มสันติสามัคคี นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี
กลุ่มนักศึกษาจากสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ฯลฯ โดยปริมาณผู้ชุมนุมจะบางตาช่วงกลางวันและมากขึ้นในช่วงค่ำโดยเฉพาะบริเวณสะพานผ่านฟ้า

ในอีกด้านหนึ่งก็ปรากฏความปั่นป่วนในกลุ่ม นปช. เป็นระยะ อาทิ มีกลุ่ม นปช. ๓๐-๕๐ คน ไปชุมนุมหน้าอาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สอบถามถึงสาเหตุที่ดัชนีตลาดหุ้นปรับสูงขึ้นเกือบตลอดสัปดาห์ โดยที่แกนนำไม่รับรู้จนต้องประกาศว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือการที่นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ แกนนำกลุ่มแดงสยาม หนึ่งใน นปช. ค้านแนวทางที่แกนนำ นปช. ใช้ โดยชี้ว่าต้อง “ปฏิวัติ”มากกว่า “ปฏิรูป” เพราะ “แม้จะทำให้รัฐบาลยุบสภาได้ก็ชนะแค่ข้อเรียกร้องแต่แพ้ยุทธศาสตร์ ต่อให้พรรคเพื่อไทยกลับมาเป็นรัฐบาลก็จะแพ้พวกอำมาตย์อยู่ดี…” ทำให้แกนนำ นปช. ประกาศตัดนายสุรชัยและ พล.ต. ขัตติยะ สวัสดิผล (เสธ.แดง) ออกจากเครือข่าย โดยกล่าวว่าเคลื่อนไหวคนละแนวทาง และ นปช. จะยึดหลักสันติวิธีเพื่อนำไปสู่ชัยชนะที่แท้จริงทั้งยังปรับแผนเป็นการชุมนุมขับไล่รัฐบาลอย่างยืดเยื้อ

ในช่วงนี้มีการออกแถลงการณ์ขององค์กรต่างๆ ที่น่าสนใจคือ แถลงการณ์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเรื่อง “ออกไปจากการเมืองที่ตีบตัน” ที่ระบุว่ารัฐประหาร ๑๙ กันยาทำให้การแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธีในระบอบประชาธิปไตยหยุดลง ดังนั้นเสนอให้รัฐบาลยุบสภาภายใน ๓ เดือน แก้ไขรัฐธรรมนูญเฉพาะที่เป็นปัญหาเพื่อให้มีกติกาการเลือกตั้งที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ จากนั้นพรรคการเมืองต้องเจรจากันเพื่อให้ทุกฝ่ายหาเสียงได้ทุกพื้นที่ หลังเลือกตั้งทุกฝ่ายต้องยอมรับผล ไม่มีการแทรกแซงจากอำนาจนอกระบบ

ต่อมารัฐบาลเริ่มมีท่าทีพร้อมเจรจากับผู้ชุมนุมหลังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและสมาชิกวุฒิสภากลุ่มหนึ่งเสนอเป็นคนกลางไกล่เกลี่ย แต่การเจรจาก็ยังไม่เกิดขึ้นเนื่องจากการตั้งเงื่อนไขของทั้งสองฝ่าย

ส่วนสถานการณ์โดยรอบพื้นที่ชุมนุม ธนาคาร ๒๐ สาขา ปิดบริการ กระทรวงศึกษาธิการประกาศเลื่อนกำหนดสมัครสอบเข้าชั้น ม. ๑ และ ม. ๔ ในพื้นที่ตาม พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ ออกไปเป็นช่วงปลายเดือน นอกจากนี้สำนักงานของเอกชนและหน่วยงานราชการบางแห่งยังย้ายที่ทำงานไปอยู่นอกบริเวณพื้นที่ชุมนุมชั่วคราวเพื่อความปลอดภัย

ในช่วง ๘ วันแรก เย็นวันศุกร์ที่ ๑๙ มีนาคมถือว่ามีผู้ชุมนุมบนถนนราชดำเนินมากที่สุด หลังแกนนำประกาศระดมคนเตรียมเคลื่อนขบวนรอบกรุงเทพฯ ตามยุทธการ “ดอกไม้หลากสี” เพื่อทำความเข้าใจและเชิญชวนคน กทม. ให้มาร่วมชุมนุม

redshirt04
พระสงฆ์่ส่วนหนึ่งเข้าร่วมชุมนุมกับ นปช. ตั้งแต่วันแรกๆ ของการชุมนุมในนาม “กลุ่มพระสงฆ์อาสาพัฒนาสันติวิธี”

redshirt05
วันที่ ๒๕ มีนาคม แกนนำ นปช.นำผู้ชุมนุมกว่า ๕๐๐ คนโกนผมประท้วง

redshirt06
วันที่ ๒๐ มีนาคม ผู้ชุมนุมเคลื่อนไหวขบวนโดยมอเตอร์ไซค์ และรถยนต์ไปรอบกรุงเทพฯ (ภาพ : วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์)

redshirt07
วันที่ ๒๗ มีนาคม ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนขับไล่ทหารที่มาตั้งหน่วยอยู่รอบสถานที่ชุมนุม ในภาพเป็นบริเวณหน้าวัดบวรนิเวศวิหาร

๒๐-๒๘ มีนาคม : ยุทธการดอกไม้หลากสี โกนหัวประท้วง เปิดโต๊ะเจรจา

๒๐ มีนาคม ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนไปตามท้องถนนในกรุงเทพฯ เป็นระยะทาง ๕๘.๑๗ กิโลเมตร ในขบวนประกอบด้วยรถมอเตอร์ไซค์และรถยนต์จำนวนมาก โดยเคลื่อนออกจากสะพานผ่านฟ้าเวลา ๑๐.๐๐ น. ไปตามถนนหลานหลวง ผ่านแยกยมราช ใช้ถนนเพชรบุรี ผ่านประตูน้ำ แยกอโศก แยก อ.ส.ม.ท. ถนนรัชดาภิเษก เลี้ยวเข้าสู่ถนนลาดพร้าว วกเข้าสู่ถนนรามคำแหง ถนนพระรามที่ ๔ ถนนเยาวราช ผ่านวงเวียนใหญ่ ก่อนที่ขบวนทั้งหมดจะกลับถึงสะพานผ่านฟ้าในเวลาประมาณ ๑๗.๐๐ น.

ตลอดทางมีการแจกใบปลิวขออภัยคนกรุงเทพฯ ที่ทำให้เดือดร้อนและชี้แจงเหตุผล สองข้างทางมีคนมาต้อนรับจำนวนมากโดยเฉพาะย่านประตูน้ำ แต่บางจุดก็มีการต่อต้านและเรียกร้องการเคลื่อนไหวอย่างสันติ อาทิ ซอยปรีดี ๔ ประชาชนในซอยถือป้ายขอให้สงสารคน กทม. ช่วงหนึ่งบนถนนลาดพร้าวมีคนปาขวดน้ำจนเกือบโดนแกนนำบนรถปราศรัย และที่บางรัก มีการนำป้ายผ้ามาขึงริมถนนสีลมว่า “คนบางรักไม่สนับสนุนความรุนแรงทุกรูปแบบ”

การชุมนุมดำเนินต่อไป–๒๓ มีนาคม ครม. ประชุมที่กระทรวงสาธารณสุขท่ามกลางกำลังเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยกว่า ๓,๐๐๐ นาย โดยมีมติขยายเวลาประกาศพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงฯ ไปจนถึง ๓๐ มีนาคม ลดพื้นที่เหลือแค่กรุงเทพฯ และปริมณฑลในบางพื้นที่ ทั้งนี้ ศอ.รส. ยังสั่งปิดถนน ๘ สายรอบรัฐสภาเพื่อป้องกันเหตุระหว่างประชุมสภาฯ วันที่ ๒๔-๒๕ มีนาคม โดยมีกำลังทหารรักษาความปลอดภัยจำนวนมาก วางสิ่งกีดขวางตลอดถนนอู่ทองใน และห้ามเข้า-ออกรัฐสภาอย่างสิ้นเชิง ทำให้ ส.ส. พรรคเพื่อไทยจำนวนหนึ่งรวมตัวใกล้สภาฯ
ปราศรัยโจมตีรัฐบาล และเดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ขอให้ยุติการล่วงละเมิดรัฐสภา อย่างทุลักทุเลเนื่องจากต้องยื่นผ่านลวดหนาม

การเจรจายังไม่เกิดขึ้น โดยรัฐบาลมองว่าผู้มีอำนาจแท้จริงในการเจรจาของ นปช. คือ พ.ต.ท. ทักษิณ ขณะที่แกนนำ นปช. ยื่นเงื่อนไขว่าผู้เจรจาต้องเป็นนายกฯ เท่านั้น และออกแถลงการณ์ฉบับที่ ๓ “ยืนยันข้อเรียกร้องยุบสภา พร้อมเจรจากับนายกฯ” ไม่มีข้อเสนออื่น โดยหลังยุบสภาทุกฝ่ายต้องสลายตัวและทุกคนต้องยอมรับผลการเลือกตั้ง

มาตรการกดดันยังออกมาอย่างต่อเนื่อง ผู้ชุมนุมเริ่มแจกสติ๊กเกอร์ “ยุบสภา” ๕ แสนแผ่นตลอดถนน ๑๐ สายหลักทั่วกรุงเทพฯ จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย พ.อ. อภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภาผู้แทนราษฎร และ พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี
ปรากฏตัวบนเวทีเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภาและโจมตีการนำทหารเข้ามาในสภาฯ

ปริมาณผู้ชุมนุมบนถนนราชดำเนินไม่ต่างจาก ๘ วันแรก คือเบาบางช่วงกลางวันและหนาแน่นในช่วงค่ำ ดวง บุตร-ขุนทด ผู้ชุมนุมคนหนึ่งบอกเราว่าญาติพี่น้องของเขาส่วนหนึ่งกลับบ้านไปทำธุระและจะระดมคนจากบ้านอีกครั้งช่วงสุดสัปดาห์

หนึ่งในผู้ชุมนุมที่ยังปักหลักสู้ต่อคือ เอกภพ พัทธเสมา คนขับแท็กซี่ที่มาตั้งแต่วันแรกๆ เขาบอกเราว่า “มาคนเดียว ไม่ได้รับเงินใคร คงไม่กลับไปขับแท็กซี่ระยะนี้ ไม่กังวลเรื่องรายได้ ที่นี่อาหารเขาก็มีแจก กะว่าจะอยู่จนจบ เพราะไม่ชอบรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรมมีอำมาตย์หนุนหลัง” และอธิบายว่าผู้ชุมนุมอีกหลายคนยังยืนยันว่าจะชุมนุมต่อไปจนกว่าจะได้ชัยชนะ

อย่างไรก็ตาม การชุมนุมของ นปช. บนถนนราชดำเนินก็ก่อผลกระทบกับธุรกิจต่างๆ โดยรอบด้วย พนักงานร้านแมคโดนัลด์สาขาอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่เปิดตลอด ๒๔ ชั่วโมงเล่าให้ฟังว่า ตั้งแต่ นปช. ชุมนุมทำให้รายได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ “เทียบกับคนเสื้อเหลือง พวกนั้นซื้อของมากกว่า แต่ไม่ใช่ว่าเสื้อแดงไม่ซื้อ ซื้อเหมือนกันแต่ปริมาณและราคาไม่มากเท่าและนั่งนาน ถ้าให้เลือก เราชอบภาวะปรกติมากกว่าเพราะขายของได้สม่ำเสมอ”

ส่วนร้านริมขอบฟ้าที่ตั้งอยู่อีกด้านหนึ่งของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ปิดตัวลงตั้งแต่วันแรกที่มีการชุมนุม เจ้าหน้าที่ร้านคนหนึ่งให้ข้อมูลว่ารายได้หายไปจำนวนมากจากปรกติขายได้อย่างน้อยวันละ ๑-๒ หมื่นบาท ยังไม่นับเจ้าของร้านอาหารและธุรกิจอื่นๆ อีกหลายรายในละแวกใกล้เคียงที่ได้รับผลกระทบในลักษณะเดียวกัน

ที่ต่างไปคือผู้ค้าหาบเร่ที่เดินขายของในพื้นที่ชุมนุมอย่าง พรศรี รุ่งเมฆ แม่ค้าขายน้ำเล่าให้เราฟังว่า “ขายของหมดทุกวัน ขายดีมาก พี่ไปขายมาหมดแล้ว ไม่ว่าสีอะไร ไม่เลือกหรอก เรามันพ่อค้าแม่ขาย”

ในขณะที่นักท่องเที่ยวหลายคนบอกว่าเขาไม่ได้รู้สึกกลัวแต่อย่างใด เพราะการชุมนุมเป็นไปโดยสันติ แต่ก็จะติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด

ตลอด ๑ สัปดาห์ของการชุมนุม มีกิจกรรมต่างๆ ทั้งในและนอกบริเวณที่ชุมนุม มีแผงขายของตลอดทางในลักษณะถนนคนเดิน มีกิจกรรมการนวดฝ่าเท้า กิจกรรมการวาดภาพเหมือน การทำบัตรสมาชิก นปช. อีกกิจกรรมที่น่าสนใจคือนิทรรศการภาพถ่าย “Red Shirt unseen-บันทึกเรื่องราว
ของคนเสื้อแดงบนถนนราชดำเนิน” บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยด้านที่หันหน้าไปทางเวทีใหญ่สะพานผ่านฟ้าโดยกลุ่มผู้สื่อข่าว ช่างภาพอิสระ และนักกิจกรรมทางสังคมจัดแสดงภาพถ่ายที่สื่อสิ่งพิมพ์กระแสหลักมิได้นำไปเผยแพร่ เพื่อให้ข้อมูลอีกด้านกับคนกรุงเทพฯ โดยมีจุดประสงค์เพื่อสะท้อนภาพที่ถูกละเลย และลดอคติของคนกรุงเทพฯ ต่อผู้ชุมนุมที่มักมองแบบเหมารวมว่าคนต่างจังหวัดรับเงินมา

ท่ามกลางอากาศร้อนระอุในวันปลายเดือนมีนาคมสลับกับฝนที่ตกลงมาในบางครั้ง หลายชีวิตในที่ชุมนุมดำเนินต่อไป ๒๕ มีนาคม นปช. ดำเนินมาตรการกดดันรัฐบาลต่อ โดย สุภรณ์ อัตถาวงศ์ เจ๋ง ดอกจิก และ เป๋ คลองเตย นำคนเสื้อแดงกว่า ๕๐๐ คนโกนผมประท้วงรัฐบาล

๒๖ มีนาคม มีการระดมผู้ชุมนุมจำนวนมากเข้ามาสมทบกับผู้ชุมนุมบนถนนราชดำเนิน รุ่งขึ้น ๒๗ มีนาคม แกนนำก็เคลื่อนผู้ชุมนุมบางส่วนไปยังจุดที่ทหารเข้ามาวางกำลังโดยรอบ คือ วัดบวรนิเวศวิหาร วัดตรีทศเทพ สนามม้านางเลิ้ง วัดมกุฏกษัตริยาราม วัดสุนทรธรรมธาร (วัดแคนางเลิ้ง) วัดโสมนัสวิหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตพระนคร สวนสัตว์เขาดินวนา และโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย เพื่อไปเชิญออกจากพื้นที่โดยสันติวิธีตามยุทธศาสตร์ “ปลดแอกรัฐทหาร”

หลังการเจรจา ทหารยินยอมถอยทุกจุด ยกเว้นทำเนียบรัฐบาลที่มีบรรยากาศตึงเครียด เนื่องจากผู้ชุมนุมไปล้อมในช่วงหัวค่ำและ ศอ.รส. แถลงว่าไม่สามารถถอยให้ได้ ในที่สุดกลุ่มผู้ชุมนุมก็ยอมกลับไปสะพานผ่านฟ้า โดยแกนนำประกาศว่ารุ่งขึ้นจะเคลื่อนขบวนไปราบ ๑๑ รอ. กดดันให้มีการเจรจา

หลังมีการต่อรองกันไปมา ในที่สุดการเจรจาเกิดขึ้นในเวลา ๑๖.๑๐ น. ของวันที่ ๒๘ มีนาคม โดยมีการถ่ายทอดสดทั่วประเทศผ่านโทรทัศน์เกือบทุกช่อง กลุ่มผู้ชุมนุมที่หน้า ราบ ๑๑ รอ. ยอมถอยกลับสะพานผ่านฟ้าปล่อยให้แกนนำเจรจากับรัฐบาล ตัวแทนเจรจาฝ่าย นปช. คือ นพ. เหวง
โตจิราการ นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายวีระ มุสิกพงศ์ ฝ่ายรัฐบาลมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายชำนิ ศักดิเศรษฐ แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกฯ โดยผลัดกันแสดงความคิดเห็นคนละครั้งและเปิดโอกาสให้แต่ละฝ่ายพูดในจุดยืนของตัวเองอย่างเต็มที่

ประเด็นที่พูดคุยกันคือกรณีรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ติดขัด การยุบสภาจะเป็นคำตอบหรือไม่ ทั้งหมดกินเวลากว่า ๓ ชั่วโมง และได้ข้อสรุปว่าจะกลับมาเจรจาอีกครั้งในวันรุ่งขึ้น

ขณะที่บนถนนราชดำเนิน การชุมนุมยังคงดำเนินต่อไป

ระหว่าง ๑๒-๒๘ มีนาคม เกิดเหตุระเบิดขึ้นไม่ต่ำกว่า ๒๐ ครั้งทั่วกรุงเทพฯ มีการใช้อาวุธสงครามชนิดต่างๆ อาทิ จรวด RPG ระเบิด M-79 โจมตีสถานที่ราชการ ธนาคาร และบ้านพักบุคคลสำคัญอย่างต่อเนื่อง

กระทั่งการเจรจาครั้งต่อมาในวันที่ ๓๐ มีนาคมก็ยังไม่ได้ข้อสรุป และประเด็นการเจรจามาหยุดตรงที่ควรยุบสภาภายใน ๑๕ วัน (ข้อเสนอ นปช.) ๓ เดือน (ข้อเสนอเครือข่ายสันติประชาธรรม) และ ๙ เดือน (ข้อเสนอรัฐบาล)

การเจรจาครั้งที่ ๓ ยังไม่เกิดขึ้น ผู้ชุมนุมได้เคลื่อนไปยึดพื้นที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ในวันที่ ๓ เมษายน เพื่อเพิ่มแรงกดดันต่อรัฐบาล จนส่งผลกระทบต่อธุรกิจในแถบนั้น

จากนั้นแกนนำบางส่วนได้นำกลุ่มคนเสื้อแดงไปที่รัฐสภาจนเกิดการกระทบกระทั่งกับเจ้าหน้าที่ ส่งผลให้รัฐบาลประกาศ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในวันที่ ๗ เมษายน และตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) แทน ศอ.รส. เดิม

มองให้รอบด้าน การชุมนุมของคนเสื้อแดงก็ไม่ต่างจากการชุมนุมทางการเมืองอื่นๆ ที่มีทั้งผู้ที่ได้และเสียประโยชน์ ต้องยอมรับว่าการชุมนุมของคนเสื้อแดงครั้งนี้มีการจัดการภายในเป็นอิสระในแต่ละกลุ่มอย่างเห็นได้ชัด มีการใช้พีเพิลแชนเนล (People’s Channel-PTV) เป็นศูนย์กลางการสื่อสาร มีการจัดระบบรักษาความปลอดภัยเป็นชั้นๆ จากส่วนกลางไปส่วนย่อย แต่ก็ยากจะปฏิเสธว่าแกนนำบางคนมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอดีตนายกฯ ทักษิณ บางส่วนก็มีท่าทีโน้มเอียงไปในทางต้องการให้เกิดความรุนแรง ในขณะที่ผู้ชุมนุมอีกจำนวนมากเข้าร่วมการชุมนุมเพราะหวังผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างแท้จริง น่าสนใจว่าปรากฏการณ์นี้อาจเป็นผลผลิตท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นการเมือง เศรษฐกิจ เทคโนโลยีการสื่อสาร การแบ่งผลประโยชน์ระดับประเทศที่ไม่ลงตัว ฯลฯ ซึ่งทำให้เราไม่อาจละเลยการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนทุกกลุ่มไม่ว่าเขาจะใส่เสื้อสีอะไร

ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักประวัติศาสตร์ กล่าวถึงปรากฏการณ์ครั้งนี้ว่า “สำคัญมากในแง่ที่เราเดินมาถึงตรงกลางของกระบวนการเปลี่ยนแปลง มีการจัดตั้งที่เป็นระบบมากๆ ในการเข้ามาใช้เมืองหลวงในการต่อรองอำนาจ ขณะเดียวกันก็มีคนเข้ามาร่วมมากอย่างที่หลายคนคิดไม่ถึง และคนในส่วนบนของสังคมก็คาดไม่ถึงว่าจะมามากขนาดนี้”

และไม่มีใครคาดคิดอีกเช่นกันว่า ในอีกไม่กี่วันถัดมาจะเกิดการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่กับกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างรุนแรงจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก