สกล เกษมพันธุ์ : ถ่ายภาพ
“ในบ้านเมืองของเราขาดคนค้นคว้าเรื่องจริงที่ให้ข้อเท็จจริง มีการตรวจสอบแก้ไขข้อมูลต่างๆ ให้ถูกต้อง แล้วข้อมูลบ้านเราก็มีน้อย ที่น้อยนั้นบางครั้งก็ลอกกันมาซ้ำๆ ซากๆ มันก็ไม่เจริญ ก็น่าจะทำให้มันมากขึ้น มหาศาลขึ้น บางครั้งมีการลอกแล้วก็ลอกผิด หรือว่าเขียนแล้วผิดหรือถูกก็ช่างมัน...ทีนี้เราจะปล่อยให้ข้อมูลผิดพลาด ตลอดไปได้ยังไง มันก็ต้องมีการเขียนชี้แจงออกมาเรื่อยๆ ก็เป็นหลักการว่านำเสนอข้อมูลใหม่ ตรวจสอบแก้ไขข้อมูลเก่าเพื่อให้คนอ่านได้รับความรู้ที่ถูกต้องที่สุด ได้ข้อมูลที่ดีที่สุด มีผู้เขียนที่ตั้งใจทำงานที่สุด”
เอนก นาวิกมูล ใน สารคดี ฉบับที่ ๖๒ เมษายน ๒๕๓๓
ต้นปีพุทธศักราช ๒๕๓๓ นักเขียนหนุ่มฉกรรจ์ที่ สารคดี สนทนาด้วยอยู่ในวัย “๓๗” วันนี้ ผ่านไป ๒๐ ปี ตัวเลขอายุของเขาขยับเป็น “๕๖” แต่เค้าหน้ายังคงอ่อนเยาว์อยู่เช่นเดิม
และสิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนเลยไม่ว่าจะผ่านไปกี่สิบปี คือ เอนก นาวิกมูล ยังคงยืนหยัดอยู่จุดเดิม--จุดยืนในฐานะ “นักเขียนสารคดี” “นักค้นคว้า” “นักเก็บของเก่า” “คนทำพิพิธภัณฑ์” ทั้งหมดนี้เขาทำด้วยเชื่อมั่นว่า “ศรัทธาคือพลัง” เพราะ “เก็บวันนี้ พรุ่งนี้ก็เก่า” โดยยึดหลักการทำงานคือ “นำเสนอข้อมูลใหม่ ตรวจสอบแก้ไขข้อมูลเก่า”
เอนกอุทิศตัวให้แก่การทำงานที่ว่ามานี้ตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย อันที่จริง ว่าไปแล้วตั้งแต่สมัยยังนุ่งขาสั้น ในวัยที่เด็กหลายคนในยุคนี้นั่งจมอยู่กับเกมบนหน้าจอคอมพิวเตอร์
เอนกเกิดที่อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา มีพี่น้อง ๖ คน เขาเป็นคนสุดท้อง สนใจสะสมของเก่า จดบันทึก อ่านหนังสือ เขียนนิทาน วาดการ์ตูน เขียนเรื่องส่งไปตีพิมพ์ตามนิตยสารตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นประถม พอมัธยมก็เริ่มจับกล้องถ่ายรูปบันทึกภาพบ้านเกิด เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงทำหนังสือกับเพื่อนในชั้นเรียน
เมื่อเรียนมหาวิทยาลัย เขาได้ฉายาว่า “มนุษย์โบราณ” จากการสนใจสัมภาษณ์เพื่อนๆ เกี่ยวกับบ้านเกิดของแต่ละคน ถึงวันหยุดเขามักสะพายย่ามออกสำรวจวัดเก่า ไปตามหาพ่อเพลงแม่เพลง ถ่ายภาพพร้อมบันทึกเสียง หลายครั้งยังเป็นธุระช่วยเหลือพ่อเพลงแม่เพลงที่เจ็บป่วยขาดแคลนอย่างแข็ง ขัน
ปัจจุบันเอนกมีผลงานพ็อกเกตบุ๊ก ๑๔๘ เล่ม (ยังไม่นับที่อยู่ระหว่างการจัดพิมพ์) เกือบทั้งหมดเป็นสารคดีแนวชำระสืบค้นเรื่องเก่าในช่วงต้นรัตนโกสินทร์จนถึง ยุคปัจจุบัน เป็นผู้ก่อตั้ง “บ้านพิพิธภัณฑ์” (House of Museums)--สถานที่เก็บและแสดงสิ่งของเกี่ยวกับวิถีชีวิตชาวเมืองชาวตลาดยุค ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ จนถึงปัจจุบัน ซึ่งหน่วยงานรัฐหรือเอกชนไม่สนใจเก็บรักษา โดยได้รับการสนับสนุนเงินบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธาที่เชื่อมั่นในสิ่งที่เขาทำ