เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
may53 03


“ยิงกันอย่างกับรัวระนาด บางครั้งก็เว้นช่วงห่าง ปัง-ปัง-ปัง-ปัง ! ไม่ต่างจากกำลังอยู่ในสมรภูมิรบ !”

พิภพ พรหมโชค เจ้าของร้านย่านราชปรารภ เล่าถึงเหตุการณ์ก่อนวันที่แกนนำ นปช. จะประกาศยุติการชุมนุม

“เริ่มได้ยินเสียงยิงกันตั้งแต่ช่วงบ่ายวันที่ ๑๔ พฤษภา-คม บางครั้งก็มีเสียงระเบิดสลับกับประทัดยักษ์  ผมอยู่ในบ้าน ลองชะโงกหน้าออกมาดู ทหารรีบตะโกนบอกว่าให้หลบไป มึงอยากตายหรือไงวะ !

“เช้าวันที่ ๑๕ พฤษภาคม มีศพนอนตายอยู่หน้าบ้านผม นอนอยู่อย่างนั้นเป็นชั่วโมงกว่าจะมีคนมาช่วยเคลื่อนย้ายศพออกไป  ตกเย็นวันที่ ๑๖ ถึงเริ่มแน่ใจว่าอยู่ต่อไปไม่ได้แล้วบอกให้เมียเก็บข้าวของย้ายไปอยู่ที่อื่นก่อนก็แล้วกัน

“อันที่จริงเรื่องยิงยังไม่กลัวเท่าไหร่ ที่กังวลใจคือไฟไหม้กับระเบิด โดนแบบนั้นเข้าบ้านคงวายวอดหมดทั้งหลัง”

กว่าพิภพกับภรรยารวมถึงชาวบ้านย่านราชปรารภบางส่วนจะทยอยเดินทางกลับเข้าบ้านได้ก็ล่วงเข้าวันที่ ๒๓ พฤษภาคม หลังถนนราชปรารภเปิดการจราจรตามปรกติ

ถนนราชปรารภตั้งอยู่ในเขตราชเทวี เริ่มต้นที่สามเหลี่ยมดินแดง มุ่งตรงไปทางทิศใต้ ผ่านถนนรางน้ำ  ตัดกับถนนศรีอยุธยาที่สี่แยกราชปรารภ สิ้นสุดที่แยกประตูน้ำอันเป็นจุดตัดกับถนนเพชรบุรีตัดใหม่ หากมุ่งหน้าต่อไปเป็นถนนราชดำริและพื้นที่ชุมนุมของกลุ่ม นปช.

สองฟากฝั่งถนนราชปรารภเป็นที่ตั้งของอาคารพาณิชย์ ห้างร้าน บ้านอยู่อาศัย  โรงแรม อาทิ เซนจูรี่ปาร์ค โรงแรมอินทรารีเจนท์  ตึกสูงเช่นตึกใบหยก ตลาดประตูน้ำ และตรอกซอยที่นำเข้าสู่แหล่งชุมชน

แม้จะมีระยะทางเพียง ๑.๔ กิโลเมตร แต่ภายหลังจาก ศอฉ. มีคำสั่งให้ใช้กำลังทหารเข้า “กระชับวงล้อม” เริ่มต้นด้วยการปิดช่องทางลำเลียงมวลชนและเสบียงอาหารเข้าสมทบในพื้นที่  ถนนสั้นๆ สายนี้ก็ได้กลายเป็นหนึ่งในพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่เกิดการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารกับผู้ชุมนุมอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต

เหตุรุนแรงเริ่มต้นเมื่อช่วงบ่ายวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๓ เมื่อผู้ชุมนุมพยายามตรึงพื้นที่บริเวณแยกราชปรารภ มีการขว้างประทัดยักษ์ใส่เจ้าหน้าที่ เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ต้องยิงกระสุนยางเพื่อตอบโต้ และเปลี่ยนเป็นกระสุนจริงหลังพบว่ามีการซุ่มยิงจากอาคารสูง

หลังเจ้าหน้าที่ทหารสามารถควบคุมพื้นที่แยกราชปรารภได้เป็นผลสำเร็จ มีการนำรั้วลวดหนามมาวางขวางทางเข้าออกเกือบตลอดแนวถนนราชปรารภ ด้านหนึ่งตรงปากถนนรางน้ำ หน้าปั๊มน้ำมันเอสโซ่ ผลักดันให้ผู้ชุมนุมถอยร่นไปตั้งหลักที่สามเหลี่ยมดินแดง

แต่เหตุปะทะยังคงดำเนินต่อไป มีการเผายางรถยนต์ ตลอดจนยิงระเบิด M-79 รวมทั้งสไนเปอร์จากกองกำลังไม่ทราบฝ่ายซึ่งซุ่มอยู่ตามอาคารสูง  ศอฉ.ประกาศมาตรการขั้นเด็ดขาด กำหนดให้พื้นที่ดังกล่าวเป็น “เขตใช้กระสุนจริง” ห้ามประชาชนผ่านเข้าออก และขอให้ชาวบ้านหลบอยู่ภายในตัวอาคาร หากออกมาสังเกตการณ์อาจตกเป็นเป้ากระสุนได้

ตลอดค่ำของวันที่ ๑๔ พฤษภาคมต่อเนื่องถึงรุ่งสางวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ถนนราชปรารถแทบเป็นถนนร้าง หากแต่เสียงปืนและระเบิดยังคงดังอย่างต่อเนื่อง  ชาวบ้านบางส่วนทยอยเก็บข้าวของย้ายออกนอกพื้นที่ นักท่องเที่ยวเช็กเอาต์ออกจากโรงแรม ขณะที่ชุมชนในซอยรัชฏภัณฑ์หรือซอยหมอเหล็งซึ่งปากซอยอยู่บริเวณสี่แยกราชปรารภ ถูกปิดตายนานกว่า ๒ สัปดาห์

หอมไกล สร้างพล เล่าเหตุการณ์ในช่วงนั้นว่า “อยู่ซอยหมอเหล็งมา ๓๐ ปีไม่เคยเจอเหตุระทึกขวัญแบบนี้มาก่อน ต้นซอยท้ายซอยมีทหารอยู่เต็มพืด ไม่อนุญาตให้รถยนต์ผ่านเข้าออกเลย แม้แต่มอเตอร์ไซค์ก็ยังไม่ได้ยินเสียงวิ่ง  ตกดึกเงียบสงัดราวกับป่าช้า สักพักก็มีเสียงปืนดังขึ้นมา นึกแล้วยังขวัญผวาไม่หาย”

เหตุปะทะบริเวณถนนราชปรารภส่งผลให้ผู้ชุมนุม นปช. ตลอดจนประชาชนผู้บริสุทธิ์ถูกยิงบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ไม่เว้นแม้แต่ผู้สังเกตการณ์ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องยังโดนลูกหลง

สมาพันธ์ ศรีเทพ หรือเฌอ อายุ ๑๗ ปี นักเรียนโรงเรียนปัญญาภิวัฒน์ ถูกยิงที่ศีรษะเสียชีวิตบนฟุตบาทระหว่างซอยราชปรารภ ๑๘ กับ ๒๐  มีคนช่วยกันหามร่างไร้วิญญาณออกจากพื้นที่อย่างทุลักทุเล เนื่องด้วยเจ้าหน้าที่กู้ภัยไม่สามารถเข้าปฏิบัติการในพื้นที่ได้

ไชยวัฒน์ พุ่มพวง สื่อมวลชนเครือเนชั่น ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการถูกยิงเหนือหัวเข่า ระหว่างเข้าสังเกตการณ์การปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารกับผู้ชุมนุมหลังจากมีความพยายามของผู้ชุมนุมที่จะขยับแนวบังเกอร์จากสามเหลี่ยมดินแดงมาอยู่บริเวณหัวถนนรางน้ำตัดกับถนนราชปรารภ

เอกประพันธ์ พาณิชย์พงษ์ หรือ “กำปั้น บาซู” ดารา-นักร้องโดนยิงขณะคลานต่ำออกไปสังเกตการณ์บนระเบียงคอนโดมิเนียมชั้น ๒๔ ในซอยรางน้ำ กระสุนเจาะเข้าหัวไหล่ทะลุออกด้านหลัง  ขณะที่ ธนากร ปิยะผลดิเรก เพื่อนรุ่นพี่ที่นอนหมอบอยู่ในห้องเดียวกันถูกยิงที่คอ เสียชีวิตคาห้อง  กว่าจะประสานกับเจ้าหน้าที่ทหารนำศพผู้เสียชีวิตออกมาได้ก็ในเช้าวันถัดมา

จักรศรี จำปางาม ถูกสะเก็ดระเบิดเข้าที่ศีรษะระหว่างนั่งกินหมูกระทะอยู่ในบ้านบริเวณใต้ทางด่วนดินแดง ต้องเย็บแผลราว ๔๐ เข็ม

ผู้อยู่ในเหตุการณ์เล่าว่า “ไม่รู้แล้วว่าใครเป็นใคร ลองยื่นหน้าแหลมออกมาเป็นอันถูกยิงทั้งนั้น”

ตามสื่ออินเทอร์เน็ตยังมีการเผยแพร่คลิปเหตุการณ์ขณะผู้ชุมนุมและประชาชนบริเวณถนนราชปรารภหมอบราบลงกับพื้นเพื่อหลบกระสุน ภาพนาทีชีวิตขณะชายเสื้อขาววิ่งหนีตายภายหลังจากถูกยิงเข้าที่แผ่นหลัง ภาพรถพยาบาลเข้าเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บออกจากพื้นที่ ภาพผู้ชุมนุมตรงเข้ายึดรถและรุมทำร้ายเจ้าหน้าที่ทหาร

นิค นอสติทซ์ ผู้สื่อข่าวอิสระชาวเยอรมัน ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคมว่า “ผมพาตัวเองเข้ามาในพื้นที่อันตรายที่สุด มันคงจะยอมรับได้หากสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการยิงปะทะ แต่เท่าที่เห็นเป็นการยิงมาจากฝั่งทหารเพียงอย่างเดียว  พวกเขาไม่ได้ทำตามลำดับขั้นตอนจากเบาไปหาหนัก ไม่มีการยิงแก๊สน้ำตาหรือกระสุนยาง แต่ทหารใช้กระสุนจริงและไม่หยุดยิง” (กรุงเทพธุรกิจออนไลน์  ๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๓)

ด้าน ศอฉ. ชี้แจงว่ามีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ทหารใช้กระสุนจริงได้ใน ๓ กรณีเท่านั้น คือ หนึ่ง-ผู้ชุมนุมเข้าประชิดตัว สอง-ป้องกันชีวิต สาม-ตอบโต้กองกำลังติดอาวุธ
พร้อมย้ำว่าเจ้าหน้าที่ไม่มีอาวุธสงคราม ไม่ว่าจะเป็น M-79 ระเบิดขว้าง หรือ RPG

ระหว่างวันที่ ๑๔-๑๕ พฤษภาคมเป็นช่วงที่มีเหตุปะทะกันอย่างต่อเนื่องที่สุดบนถนนราชปรารภ พ้นสองวันนี้ไปร้านสะดวกซื้อบางร้านเริ่มเปิดให้บริการลูกค้าอีกครั้งหนึ่ง บางร้านปรับเวลาจากที่เคยให้บริการตลอด ๒๔ ชั่วโมงเหลือเพียงช่วงเวลาก่อนเคอร์ฟิว เป็นเหตุให้ชาวบ้านซึ่งยังไม่ได้อพยพออกนอกพื้นที่เบียดเสียดกันแย่งซื้อสินค้าและอาหารเพื่อกักตุน  ชาวบ้านรายหนึ่งเล่าว่า “แม่ค้าที่ตลาดเอาผักเหี่ยวแล้วเหี่ยวอีกมาขายเราก็ต้องซื้อ เพราะถ้าไม่ซื้อก็ไม่รู้จะกินอะไร”

ด้านผู้ชุมนุมยังคงปักหลักชุมนุมยืดเยื้อ ยึดเอาพื้นที่บริเวณสามเหลี่ยมดินแดงต่อเนื่องถึงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเป็นที่มั่น  มีการจุดไฟเผาถังขยะ ยางรถยนต์ รถขยะ ตู้โทรศัพท์ ป้อมตำรวจ ฯลฯ ก่อนลุกลามเป็นการเผาสถานที่ราชการและเอกชนในเวลาต่อมา

วันที่ ๒๐ พฤษภาคม หลังการสลายการชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์  ถนอม อ่อนเกตุพล โฆษกกรุงเทพมหานคร สรุปสถานที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ อ้างอิงจากรายงานของสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พบว่ามีสถานที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ทั้งสิ้น ๓๖ แห่ง

ในจำนวนนี้ตั้งอยู่บริเวณถนนราชปรารภ-สามเหลี่ยมดินแดง-เรื่อยไปถึงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ อันประกอบด้วย ธนาคารนครหลวงไทย สาขาราชปรารภ  ธนาคารออมสิน สาขาดินแดง  ธนาคารกรุงเทพ สาขาดินแดง  สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ร้านเซเว่นอีเลฟเว่นข้างสำนักงาน ป.ป.ส.  ตึกสหชาติ (ตึกร้าง) บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง  ห้างเซ็นเตอร์วัน ร้านแมคโดนัลด์ สาขาห้างเซ็นเตอร์วัน  ห้างวัตสัน อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ  ร้านหนังสือดอกหญ้า ธนาคารกรุงเทพ สาขาอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ  ธนาคารกสิกรไทย สาขาอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ  ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น สาขาอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ  ร้านก๋วยเตี๋ยวเรือพระนคร อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

ขณะที่เหตุปะทะบริเวณ “พื้นที่รอบนอก” อันได้แก่ ถนนราชปรารภ ซอยรางน้ำ ซอยหมอเหล็ง สามเหลี่ยมดินแดง ตั้งแต่วันที่ ๑๔-๒๐ พฤษภาคม มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น ๒๔ ราย ส่วนใหญ่ถูกยิงบริเวณศีรษะ หลัง และลำตัว

ราววันที่ ๒๓ พฤษภาคม ชาวบ้านบางส่วนเริ่มอพยพกลับคืนสู่ถิ่นฐานเดิม  ร่องรอยกระสุนยังปรากฏทั้งบนตัวอาคาร กระจกที่แตกร้าว ต้นไม้หน้าบ้าน ปากโอ่งที่ตั้งอยู่บนฟุตบาทบิ่นไปด้วยรอยกระสุน  บางคนไม่อยากเชื่อว่าปิดบ้านไว้แล้วอย่างดี กลับมาข้างในยังมีแต่เขม่าควันดำ ต้องทำความสะอาดทั้งหลัง

เหตุการณ์บนถนนราชปรารภสงบลงแล้ว เศษซากจากการเผายางรถยนต์ รั้วลวดหนาม แนวบังเกอร์ ปลอกกระสุนยาง รวมทั้งกระสุนจริงที่เคยเกลื่อนพื้น ถูกเก็บกวาดทำความสะอาดจนแทบไม่เหลือเค้ารอยเดิม รวมทั้งคราบเลือดของผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตก็เช่นกัน

แต่เหตุวิปโยคเมื่อเดือนพฤษภา ’๕๓ ยังประทับอยู่ในความทรงจำของผู้คนไปอีกนาน