เรื่องและภาพ : สุเจน กรรพฤทธิ์

 

pratabong01

สภาพภูมิประเทศริม “ตนเลสาบ” เมืองเสียมเรียบ ในศตวรรษที่ ๒๑
อดีตเมืองริมทะเลสาบที่เต็มไปด้วยซากโบราณสถานและความรกร้าง
ได้แปรสภาพเป็นเมืองที่ทำรายได้จากการท่องเที่ยวสูงที่สุดในกัมพูชา

pratabong11
แหล่งบันเทิงยามราตรี บริเวณ “Pub Street” ซึ่งมีลักษณะคล้ายถนนข้าวสารในกรุงเทพฯ
ในช่วงกลางคืนที่นี่จะเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวมาหาความสำราญ

เมื่อกล่าวถึง “พระตะบอง เสียมเรียบ ศรีโสภณ” คนไทยหลายคนอาจนึกถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องได้ ๒-๓ เรื่อง
เรื่องแรก “การเสียดินแดน” ให้ฝรั่งเศสในสมัยรัชกาลที่ ๕
เรื่องถัดมา สงครามอินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศส เมื่อปี ๒๔๘๔
และเรื่องล่าสุด กรณีปราสาทพระวิหารที่กำลังร้อนระอุอยู่ในขณะนี้

ด้วย ๓ จังหวัดนี้เกี่ยวข้องและเคยเป็น “เวที” ความขัดแย้งระหว่างไทย-ฝรั่งเศสในยุคหนึ่ง ทั้งนี้ “ประวัติศาสตร์ฉบับชาตินิยม” ยังฝังหัวตอกย้ำคนไทยมาตลอดว่าเรา “เสีย” ดินแดนให้ฝรั่งเศสอย่างไม่เป็นธรรม และผลจากเหตุการณ์คราวนั้นก็ยังคงก่อปัญหามาจนถึงทุกวันนี้

ดินแดน ๓ จังหวัดนี้จึงถือเป็น “แผลเก่า” ที่คนไทยส่วนมากไม่เคยลืม

ปลายปี ๒๕๕๒ ผมมีโอกาสข้ามพรมแดนด้านตะวันออกเข้าสู่พื้นที่ ๓ จังหวัดกัมพูชา คือ บันเตียเมียนเจย (Banteay Meanchey) พระตะบอง (Battambang) และเสียมเรียบ (Siem Reap) ซึ่งชื่อเดิมของจังหวัดเหล่านี้ในสมัยสยามยังปกครองอยู่คือ ศรีโสภณ พระตะบอง และพิบูลสงคราม (เสียมราฐ) ตามลำดับ

ในระยะเวลาไม่กี่วัน ผมได้สำรวจ “ร่องรอยสยาม” เมื่อครั้งยังมีอำนาจเหนือดินแดนนี้

และผมพบว่า บางทีเราอาจต้องพิจารณาคำว่า “ได้มา” และ “เสียไป” กันใหม่

ด้วยถ้าสืบค้นกันดีๆ จะพบว่าหลักฐานกัมพูชาหลายชิ้นหรือแม้กระทั่งหลักฐานไทยเองกลับตีความเรื่องเดียวกันในมุมที่แตกต่างอย่างน่าฉงน อีกทั้งคนกัมพูชาก็มีความทรงจำเกี่ยวกับเรื่องนี้แตกต่างกับคนไทยราวหน้ามือกับหลังมือ

pratabong02
บรรยากาศในบ่อนกาสิโนแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ประชิดชายแดนไทยด้านอำเภออรัญประเทศ
ภายในมีสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อมสรรพทั้งห้องพัก ห้องอาหาร และที่ขาดไม่ได้คือเครื่องเล่นพนันนานาชนิด

pratabong04
ตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ เป็นต้นมา เมื่อปราสาทพระวิทารเป็นประเด็นร้อนระหว่างไทย-กัมพูชา การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์
ในฐานะเจ้าของปราสาทก็เข้มข้นขึ้น ข้อความใต้ภาพปราสาทพระวิทหารที่ปรากฎในป้ายต้อนรับนักท่องเที่ยว
บริเวณชายแดนกัมพูชาบอกว่า “ปราสาทพระวิทารคือความภูมิใจของกัมพูชา”

 

ประวัติศาสตร์บาดแผลบันเตียเมียนเจยเขตแดนและกาสิโน

คนไทยร้อยละ ๙๙ ถ้าไม่งีบหลับในชั้นเรียนสังคมศึกษาสมัยมัธยม ย่อมคุ้นกับจังหวัด “ศรีโสภณ” ที่แบบเรียนไทยมักบอกว่าเรา “เสีย” ให้แก่ฝรั่งเศสไปพร้อมกับอีก ๒ จังหวัด คือเสียมราฐและพระตะบอง ในปี ๒๔๔๙(ยึดตามปีปฏิทินเก่า) (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๕) อันเป็นผลต่อเนื่องจากกรณี ร.ศ.๑๑๒ ในปี ๒๔๓๖

ทำให้เราเสียดินแดนที่ “เป็นของเรามาแต่ดั้งเดิม” ไป

แต่ถ้าวางตำราเรียนเก่าลงแล้วคำนึงถึงสภาพแวดล้อมทางการเมืองยุคนั้นจะพบว่า ถ้าเราย้อนเวลากลับไปสมัยรัชกาลที่ ๕ สิ่งที่เรียกว่า “ประเทศ” (Nation State) ยังไม่เกิดขึ้น รัฐต่างๆ ในเอเชียยังปกครองในแบบโบราณซึ่งไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่า “เส้นเขตแดน” รัฐใดจะกว้างขวางมีเมืองขึ้นมากเพียงใดก็ย่อมขึ้นอยู่กับบารมีและอำนาจของกษัตริย์ที่เมืองหลวงของรัฐ สถานการณ์ดำรงอยู่เช่นนั้นจนกระทั่งรัฐในอุษาคเนย์มารู้จักสิ่งที่เรียกว่า “เส้นเขตแดน” จริงๆ ก็เมื่อชาติตะวันตกมาล่าอาณานิคมและขีด “เส้นเขตแดน” ขึ้นในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ถึงต้นศตวรรษที่ ๒๐ โดยในกรณีของสยามเริ่มต้นตั้งแต่ยุครัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา

นั่นหมายความว่า สถานภาพของพระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ ยุคก่อนรัชกาลที่ ๔ จึงเป็นพื้นที่ที่ถูกดึงไปดึงมาระหว่างสยามกับกัมพูชาตามสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างรัฐทั้งสอง

กว่าที่สยามจะเข้ามาควบคุมพื้นที่นี้อย่างชัดเจนครั้งแรกก็ต้องรอจนปี ๒๓๑๒ (หลังกรุงศรีอยุธยาแตก ๒ ปี) โดยมายึดเป็นฐานทัพเพื่อสร้างอิทธิพลเหนือราชสำนักกัมพูชาและควบคุมเส้นทางค้าของป่า รายละเอียดนี้ปรากฏอยู่ในหลักฐานของสยามคือ พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และ พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑

ก่อนที่ความวุ่นวายในราชสำนักกัมพูชาจะเปิดโอกาสให้สยามเข้าแทรกแซงอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งปรากฏการขอโอนอำนาจดูแลดินแดนส่วนนี้ให้ขึ้นต่อกรุงเทพฯ โดยตรงในปี ๒๓๓๗

พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ระบุว่าปีนั้นรัชกาลที่ ๑ ส่งนักองค์เอง “พระโอรสบุญธรรม” ที่นำมาเลี้ยงดูในราชสำนักกรุงเทพฯ ถึง ๑๒ ปีกลับไปเป็นกษัตริย์กัมพูชา พระราชทานนามว่า สมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดีศรีสุริโยพรรณบรมสุรินทรา มหาจักรพรรดิราชบรมนาถบพิตร และทรง “ขอ” พื้นที่ที่คนรุ่นเรารู้จักกันในนามพื้นที่ “พระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ” ให้เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (แบน) ขุนนางเชื้อสายเขมรที่ใกล้ชิดกับพระองค์และมีส่วนสร้างอิทธิพลสยามในกัมพูชามาตลอด ได้ปกครองโดยขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ

กล่าวได้ว่า เป็นครั้งแรกที่พระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ ดุจเดียวกับเมืองอื่นๆ ของสยาม การดำเนินนโยบายเช่นนี้ต่างจากนโยบายเดิมที่สยามดำเนินมาตลอดประวัติศาสตร์ คือปล่อยให้หัวเมืองเหล่านี้ขึ้นตรงต่อศูนย์อำนาจที่กรุงกัมพูชาโดยสยามกำกับดูแลอีกชั้นหนึ่ง

ดังนั้น แทนที่จะเชื่อตามประวัติศาสตร์ฉบับทางการที่เขียนว่าการเสียดินแดน ๓ จังหวัดในปี ๒๔๔๙ คือการ “เสียดินแดนครั้งที่ ๑๒” (จากแบบเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ) หรือการ “เสียเสียมราฐและพระตะบอง” (ศรีโสภณเป็นส่วนหนึ่งของพระตะบอง) เป็นพื้นที่รวมกัน ๕๒,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร

เราอาจมองในอีกมุมหนึ่งว่า เหตุการณ์เสียดินแดนส่วนนี้เกิดขึ้นหลังสยาม “ได้มา” ซึ่งดินแดน ๓ จังหวัดแล้วหาประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่ดังกล่าวเป็นเวลาถึง ๑๑๒ ปี (ตั้งแต่ปี ๒๓๓๗) ทั้งนี้ เนื่องจากสยามรู้ศักยภาพของตนเองดี ไม่ต้องการต่อกรกับนักล่าอาณานิคมที่มีแสนยานุภาพทางทหารเหนือกว่าอย่างฝรั่งเศส จึงจำใจ “ปล่อยหลุดมือ” ไปเพื่อแลกตราดและจันทบุรีซึ่งราชสำนักสมัยรัชกาลที่ ๕ พิจารณาแล้วว่ามีคนเชื้อสายสยามอยู่มากกว่า กลับเข้ามาอยู่ในอาณาเขตสยามอีกครั้ง

และเพื่อยุติกรณีพิพาท หาข้อยุติเกี่ยวกับเส้นเขตแดนกับฝรั่งเศสให้เป็นที่สิ้นสุด สยามยังยอมทำสนธิสัญญากับฝรั่งเศสอีก ๒ ครั้ง คือปี ๒๔๔๖ (ค.ศ.๑๙๐๔) และ ๒๔๔๙ (ค.ศ.๑๙๐๗) โดยมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาปักปันเขตแดน ซึ่งสยามร้องขอให้ฝรั่งเศสที่มีความพร้อมดำเนินการทำแผนที่ เมื่อผลิตแผนที่เสร็จสิ้น รัฐบาลสยามก็รับแผนที่นั้นมาใช้ในราชการ

จนปี ๒๔๘๓ รัฐบาลไทยภายใต้นายกรัฐมนตรี พันตรีหลวงพิบูลสงครามซึ่งดำเนินนโยบายชาตินิยม เห็นว่ารัฐบาลวิชีฝรั่งเศส (ภายใต้การยึดครองของเยอรมนี) อ่อนแอ จึงใช้โอกาสที่ฝรั่งเศสขอให้ไทยลงสัตยาบันใน “สนธิสัญญาไม่รุกรานกันและกัน” ที่ทำขึ้นระหว่างฝรั่งเศส-ไทย-ญี่ปุ่น เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ขอปรับปรุงพรมแดนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม และเมื่อถูกปฏิเสธ ความขัดแย้งก็ระเบิดเป็น “สงครามอินโดจีน” ปลายปี ๒๔๘๓ ทำให้ญี่ปุ่นเข้ามาไกล่เกลี่ยจนเกิด “อนุสัญญากรุงโตเกียว พ.ศ. ๒๔๘๔”

ไทยจึง “ได้” ไชยบุรี จำปาศักดิ์ เสียมราฐ และพระตะบอง มารวมในอาณาเขตอีกครั้ง

ทว่า เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ ๒ ไทยซึ่งรอดสถานะ “ผู้แพ้สงคราม” จากผลงาน “ขบวนการเสรีไทย” ต้องการกลับสู่สถานะก่อนสงครามและสมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ จึงจำต้องมอบดินแดนที่ได้มาตามอนุสัญญากรุงโตเกียวคืนให้ฝรั่งเศสตาม “อนุสัญญากรุงวอชิงตัน ดี.ซี.” ที่ลงนามในช่วงปลายปี ๒๔๘๙

สถานะเส้นเขตแดนระหว่างสยาม-อินโดจีนของฝรั่งเศสจึงคืนสู่สภาพเดิมตามสนธิสัญญา ค.ศ.๑๙๐๗ และดินแดน ๓ จังหวัดก็กลับไปอยู่ในเขตแดนกัมพูชาจนถึงปัจจุบัน

ตลอดช่วงระยะเวลา ๑๐๐ กว่าปีก่อน หากคาราวานพ่อค้าหรือกองทหารของสยามจะออกเดินทางไป ๓ จังหวัดนี้ด้วยทางบก ในเส้นทางที่เร็วที่สุด พวกเขาต้องเดินจากที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าสู่ลุ่มน้ำบางปะกงแล้วเข้าสู่ที่ราบลุ่มทะเลสาบเขมร ด้วยที่ราบลุ่มทั้งสามเชื่อมติดต่อกันเป็นผืนเดียวโดยทางราบยาวจากตะวันตกสู่ตะวันออก อย่างไรก็ตามก็ต้องใช้เวลาถึงครึ่งเดือนถึงจะบรรลุจุดหมาย

ทว่าในปัจจุบัน บนเส้นทางเดียวกัน ด้วยระยะทาง ๒๓๐ กิโลเมตร จากกรุงเทพฯ ขับรถไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑ (ถนนพหลโยธิน) เลี้ยวขวาเข้าสู่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๓ ใช้เวลาเพียง ๔ ชั่วโมงก็เข้าสู่ถนนหมายเลข ๕ ของกัมพูชา ที่อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว โดยถนนสายนี้จะนำเราไปสู่เมืองปอยเปต จังหวัดบันเตียเมียนเจย หรืออดีต “ศรีโสภณ” ของกัมพูชา

เราใช้เวลาไม่นานผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองที่จุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึกเข้าสู่ดินแดนกัมพูชา พอออกจากด่านไปไม่ไกล กลุ่มอาคารบ่อนกาสิโนจำนวนมากก็ปรากฏเรียงรายอยู่สองฟากถนนที่ตัดตรงระหว่างด่านตรวจคนเข้าเมืองไทยสู่ด่านตรวจคนเข้าเมืองกัมพูชา

รัฐบาลกัมพูชาประกาศให้พื้นที่ตรงนี้เป็น “Special Economic Zone” หรือพื้นที่ “ยกเว้น” ไม่จำเป็นต้องถือหนังสือเดินทางมาประทับตราที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองกัมพูชา เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยว หรืออีกนัยหนึ่งก็คือนักพนันชาวไทยที่ตั้งใจมาเล่นพนันในบ่อนฝั่งกัมพูชานั่นเอง

แน่นอน สภาวะเช่นนี้ทำให้พื้นที่นี้เหมาะอย่างยิ่งในการลี้ภัยการเมืองของนักการเมืองไทยหลายคน

ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยประเมินในปี ๒๕๓๙ ว่าคนไทยขนเงินมาเล่นพนันในกาสิโนที่ประเทศเพื่อนบ้านรายรอบชายแดนไทยถึงปีละ ๒๕,๐๐๐ ล้านบาท เฉพาะชายแดนด้านอรัญประเทศที่เรามาถึง คาดการณ์ว่าแต่ละวันมีเงินหมุนเวียนถึง ๒๐ ล้านบาท ซึ่งแน่นอนว่าไหลออกจากกระเป๋านักพนันไทยกว่าร้อยละ ๙๙

ดังนั้น บ่อนที่ขาประจำคุ้นชื่อ อาทิ ฮอลิเดย์พาเลซ โกลเด้นคราวน์กาสิโน ฯลฯ จึงเตรียมบริการพิเศษสำหรับลูกค้าชาวไทยไว้เต็มที่ มีการประสานกับบริษัทในเมืองไทยที่จัดรถโดยสารคอยท่านักพนันไว้ตามจุดต่างๆ ของกรุงเทพฯ แล้วขนมาปล่อยที่ชายแดน จากชายแดนทางบ่อนก็มีรถรับ-ส่งนำเข้าสู่เกมการพนันอย่างพร้อมสรรพ

เรามีโอกาสเข้าไปรับประทานอาหารในบ่อนแห่งหนึ่ง ในห้องอาหารมีหน้าต่างเปิดออกไปเห็นห้องขนาดใหญ่ซึ่งจัดไว้สำหรับเล่นพนันโดยเฉพาะ กลางห้องมีโต๊ะหลายตัว โต๊ะตัวหนึ่งมีพนักงาน ๑ คนพร้อมอุปกรณ์การพนัน อาทิ ไพ่ กระดานไฮโล ลูกเต๋า สล็อตแมชชีน ฯลฯ คนจำนวนมากยืนออกันรอบโต๊ะเพื่อสนุกกับเกม

แน่นอน นักพนันในนั้นร้อยละ ๙๐ เป็นคนไทย เซียนพนันคนหนึ่งพอรู้ว่าเรามาเดินดูบรรยากาศก็บ่นให้ฟังว่าเขาพกเงินมาหลายล้านบาทในตอนเช้า แต่วันนี้ดูท่าจะต้องกลับบ้านตัวเปล่าในตอนเย็น

ธุรกิจกาสิโนที่เฟื่องฟูเช่นนี้ส่งผลให้เขตโอชะร็อฟ (Ou Chrov) ที่ตั้งของเมืองปอยเปต เป็นเขตที่มีประชากรมากที่สุดของจังหวัดบันเตียเมียนเจย เพราะคนจำนวนมากหลั่งไหลมาหางานทำและค้าขาย

จึงเป็นธรรมดาที่คนไทยรุ่นปัจจุบันรู้จักปอยเปตมากกว่าบันเตียเมียนเจย ด้วยเมืองนี้ติดต่อค้าขายกับตลาดโรงเกลือและมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจังหวัดสระแก้วอย่างใกล้ชิด

วันรุ่งขึ้น เราออกจากเมืองปอยเปตโดยใช้ทางหลวงหมายเลข ๕ ระหว่างทางสังเกตเห็นป้ายต้อนรับนักท่องเที่ยวเป็นรูปปราสาทพระวิหาร ข้อความบนป้ายแปลเป็นไทยได้ว่า “ปราสาทพระวิหารคือความภูมิใจของกัมพูชา ปราสาทพระวิหาร ราชอาณาจักรกัมพูชา ขอให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ” นัยว่าเป็นการประกาศความเป็นเจ้าของปราสาทพระวิหารกับบรรดานักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยือนกัมพูชาจากทางชายแดนไทยอย่างชัดเจน

ใช้เวลาราว ๑ ชั่วโมงด้วยระยะทาง ๔๙ กิโลเมตรก็ถึงตัวเมืองบันเตียเมียนเจย เมืองนี้มีสภาพไม่ต่างกับอำเภอเล็กๆ ของไทย มีฐานะเป็น “ชุมทาง” สำคัญซึ่งถนนหลวงหมายเลข ๖ จากเสียมเรียบมาบรรจบกับถนนหลวงหมายเลข ๕ ส่วนมากนักท่องเที่ยวจะผ่านเลยเมืองนี้ไปเพื่อเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญในเสียมเรียบ