pratabong05
อาคารเก่าแก่ที่ซุกซ่อนตัวอยู่ในมุมหนึ่งของเมืองพระตะบอง 

pratabong06
อนุสาวรีย์ “ตาดอมบองกระยูง” หรือยักษ์ถือกระบองขนาดใหญ่สัญลักษณ์ของเมือง ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสังแก
ถือเป็นจุดศูนย์กลางของระบบถนนในเมืองพระตะบอง ปัจจุบันยักษ์ตนนี้มีฐานะเป็นเทพารักษ์ประจำเมือง

พระตะบอง ตระกูลอภัยวงศ์และประวัติศาสตร์นอกตำรา

จากบันเตียเมียนเจย ถนนสายเดิมพาเรามุ่งลงมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้เข้าสู่เมืองพระตะบอง

“พระตะบอง” ปัจจุบันคนกัมพูชาออกเสียงว่า “บัตดอม-บอง” (Batdambang)

ชื่อเมืองมีที่มาจาก “เรื่องเพรง” หรือ “เรื่องเล่าเก่าแก่ของชาวกัมพูชา” กล่าวถึงชายคนหนึ่งที่หุงหาอาหารให้ไพร่พลซึ่งมาจัดงานพระเมรุของอดีตกษัตริย์องค์หนึ่ง ชายคนนี้ใช้ไม้งิ้วคนหม้อข้าว ยางไม้ทำให้ข้าวในหม้อมีสีดำ เขากินข้าวหม้อนี้จนหมดด้วยความหิวแล้วพบว่ามีกำลังมากจนเพื่อนๆ ยกให้เป็นผู้นำ เขาไปตัดไม้พะยูงมาทำตะบองเป็นอาวุธ เวลาผ่านไปเขารวบรวมผู้คนไปตีเมืองพระนครและขึ้นเป็นกษัตริย์ครองเมืองมีพระนามว่า “ตาดอมบองกระยูง” (บางตำนานเรียกว่า พระยาโคตรบอง) ต่อมามีคนยกทัพมาแย่งชิงราชสมบัติ ระหว่างการรบเขาขว้างตะบองหายไป จากนั้นเขาก็สละราชสมบัติแล้วไปครองเมืองในบริเวณที่ “ตะบองหายไป” ซึ่งก็คือ “บัตดอมบอง” หรือ “พระตะบอง” ในปัจจุบันนั่นเอง

ระหว่างมุ่งหน้าเข้าสู่เมืองพระตะบอง ทิวทัศน์สองข้างทางเปลี่ยนเป็นทุ่งนากว้างใหญ่ และเป็นเช่นนี้ตลอดระยะทาง ๖๖ กิโลเมตรจนถึงตัวเมืองพระตะบอง

คนกัมพูชาเรียกพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ที่เห็นนี้ว่า “ชามข้าว” ของชาติ ทั้งยังมีคำกล่าวว่านาข้าวเมืองพระตะบองปลูกข้าวเลี้ยงคนกัมพูชาได้ทั้งประเทศ

ถ้าใช้โปรแกรม Google Earth สำรวจสภาพภูมิประเทศของพระตะบอง จะพบว่าคำกล่าวนี้ไม่เกินจริง ด้วยบริเวณขอบประเทศกัมพูชาโอบด้วยเทือกเขา หากจะหาที่ราบเหมาะกับการทำเกษตร พื้นที่นั้นย่อมหมายถึงพระตะบองซึ่งเป็นที่ราบลุ่มขนาดใหญ่ด้านตะวันตกของทะเลสาบเขมรอย่างไม่ต้องสงสัย

ปัจจุบัน ที่นี่คือพื้นที่ปลูกข้าวที่ใหญ่ที่สุดในกัมพูชา แต่ละปีให้ผลผลิตข้าวถึง ๓ ใน ๔ ของผลผลิตข้าวทั้งประเทศ ทั้งยังอุดมด้วยของป่าคุณภาพดี อาทิ กระวาน (พืชล้มลุกมีเหง้าหรือลำต้นอยู่ใต้ดิน) ซึ่งนำไปทำได้ทั้งเครื่องเทศ อาหาร และยารักษาโรค

สภาพเช่นนี้ดำรงอยู่มานานแล้ว ย้อนกลับไปสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ หลักฐานหลายชิ้นชี้ว่าพระตะบองเป็น “แหล่งเสบียงกรัง” และแหล่ง “สินค้าส่งออก” ชั้นดีที่สำคัญยิ่งต่อราชสำนักสยาม

จดหมายเหตุสมัยรัชกาลที่ ๓ ฉบับหนึ่งระบุว่า มูลค่าของกระวาน สินค้าหลักของพระตะบองที่ส่งไปกรุงเทพฯ นั้นสูงกว่าครึ่งหนึ่งของมูลค่าส่วยที่ส่งมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งหมด ทั้งยังมีบันทึกคนฝรั่งเศสในยุคใกล้ๆ กันที่กล่าวถึงความมั่งคั่งของพระตะบองไว้ว่า “พระตะบองเพียงแห่งเดียว การเคลื่อนไหวทางการค้าเป็นไปอย่างเข้มข้น…ซึ่งอาจคิดเป็นมูลค่าได้ ๓ ล้านฟรังก์ บริเวณที่ทำการเพาะปลูกก็กว้างใหญ่ไพศาล นาข้าวกว้างไกลสุดสายตา ปริมาณผลิตผลซึ่งส่งออกใน พ.ศ.๒๔๔๔ ไม่ต่ำกว่า ๔๐,๐๐๐ ตัน…การค้าไม้ให้ผลประโยชน์ดี การประมงช่วยป้อนผลผลิตไปยังตลาดปลาเค็มของโชลองและพนมเปญ และหัวเมืองต่างๆ ในประเทศจนถึงโคราช การเลี้ยงสุกรและโคกระบือก็เจริญรุ่งเรือง…ทั้งยังให้สินค้าหนังและเขาสัตว์ด้วย ในป่าแถบภูเขาก็สามารถเก็บกระวานได้หลายร้อยหาบ”

พระตะบองยังเป็นเส้นทางที่พ่อค้าจากดินแดนส่วนใน คือลาว เวียดนาม ขนส่งของป่ามาค้าขายกับโลกภายนอกโดยเดินทะลุลงมาตามช่องเขาพนมดงรักเพื่อหลีกเลี่ยงเส้นทางผ่านป่าดงพญาไฟ (บริเวณรอยต่อระหว่างนครราชสีมากับสระบุรีซึ่งชุกชุมด้วยไข้ป่าและอันตรายมากกว่า) จากนั้นเข้าสู่พระตะบอง แล้วมุ่งหน้าไปทางตะวันตกเข้ากรุงเทพฯ ซึ่งถ้าพิจารณาให้ดี แรงจูงใจในการขยายอำนาจของสยามมาสู่พระตะบองนอกจากจะเป็นการขยายอำนาจแบบโบราณแล้ว เหตุผลทางการค้าก็น่าจะมีอิทธิพลอยู่ไม่น้อย

ส่วนพระตะบองในฐานะ “ฐานทัพ” นั้น หลักฐานตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีลงมายืนยันว่าที่นี่เป็น “จุดยุทธศาสตร์” สำหรับรุกและรับในการรักษาอิทธิพลของสยามในกัมพูชา ด้วยกรุงอุดงค์มีชัย เมืองหลวงที่สยามสถาปนาให้กษัตริย์กัมพูชาปกครองภายใต้อิทธิพลของสยามนั้น อยู่ห่างพระตะบองไปทางตะวันออกเฉียงใต้ไม่มากนัก

ที่สำคัญคือ สยามมีอิทธิพลเหนือพระตะบองถึง ๑๑๒ ปี (พ.ศ. ๒๓๓๗-๒๔๔๙) โดยการส่งเจ้าเมืองเชื้อสายเขมรตระกูล “อภัยวงศ์” มาปกครองถึง ๖ คน

โตว์จ ฌวง นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นชาวพระตะบอง เล่าถึงการเข้ามาของสยามและสภาพเมืองพระตะบองสมัยพระยาคทาธรธรณินทร์ (ชุ่ม) เจ้าเมืองคนสุดท้ายที่พวกเขาเรียก “ท่านเจ้า” หรือ “โลกมฺจ๊ะส์” ใน Battambang during the Time of the Lord Governor (ฉบับภาษาเขมร พิมพ์ครั้งแรกปี ๒๕๑๗ ฉบับภาษาอังกฤษพิมพ์ครั้งแรกปี ๒๕๓๗) จากคำบอกเล่าของผู้ที่เคยพบและรับใช้ท่านเจ้าในฐานะ “ประวัติศาสตร์บอกเล่า” (Oral History) ว่าเมืองนี้มีประชากร ๑๐๔,๒๐๐ คน ส่วนใหญ่เป็นชาวเขมร ในสังคมมีชนชั้นต่างๆ คือ ขุนนาง ไพร่ ทาส และชาวต่างชาติ (จีนและเวียดนาม)ศูนย์กลางเมืองตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสังแก แบ่งเป็นเขต “ในกำแพง” หรือ “กำแพงสูง” ที่มีลักษณะเป็นป้อมถาวร กว้าง ๔๘๐ เมตร ยาว ๗๒๐ เมตร ข้างในป้อมยังมีกำแพงอีกชั้นเรียก “กำแพงแก้ว” เป็นที่อยู่เจ้าเมือง

เขายังให้รายละเอียดว่าพระตะบองมีถนนสองสายอยู่ทางด้านตะวันตกของแม่น้ำสังแก ถนนสายหนึ่งวิ่งผ่านเขตในกำแพงออกสู่เขตนอกกำแพง อีกสายหนึ่งวิ่งเลียบแม่น้ำ ทั้งสองสายมุ่งขึ้นเหนือ สองฝั่งถนนเป็นที่ตั้งสถานที่สำคัญ อาทิ วัดดำเร็ยซอ ตลาดสวายเปา วัดพิภิทธ์ จวนข้าหลวงสยาม สถานกงสุลฝรั่งเศส

ส่วนแม่น้ำสังแก แม่น้ำสายหลักของเมืองมีต้นน้ำอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้บนเทือกเขาในเขตเมืองไพลิน แล้วแยกเป็นสองแคว คือ โอว์ (คลอง) ดำบอง และโอว์สังแก ก่อนจะไหลเข้าสู่เมืองพระตะบอง ต่อมาถูกเปลี่ยนทางเดินน้ำเพราะทัพสยามได้ปิดกั้นโอว์ดำบอง ทำให้น้ำไหลทางเดียวจนโอว์สังแกเป็นแควใหญ่และลึกดังเช่นที่เห็นในปัจจุบัน

ประวัติศาสตร์ไทยมักกล่าวถึงช่วงวิกฤตที่ทำให้สยามต้องยอมยกพระตะบองให้ฝรั่งเศสช่วงต้นปี ๒๔๔๙ เพื่อแลกกับการถอนทหารออกจากตราด จันทบุรี และด่านซ้าย จนเป็นที่มาของความรู้สึก “เสียดินแดน” และมักกล่าวถึงพระยาคทาธรฯ (ชุ่ม) เจ้าเมืองคนสุดท้ายในแง่ดีเสมอ

ทว่าก็ปรากฏข้อมูลอีกด้านหนึ่ง อาทิ บันทึก “ราชการเมืองพระตะบอง” ซึ่งกรมหลวงดำรงราชานุภาพทรงประเมินสถานการณ์เมืองพระตะบองร่วมกับ เอ็ดเวิร์ด สโตเบล ที่ปรึกษาชาวอเมริกัน บนฐานข้อมูลของหลวงศรีสหเทพที่ได้จากการตรวจราชการเมืองพระตะบอง ในปี ๒๔๓๘ หรือ ๑๑ ปีก่อนสยามยกพระตะบองให้ฝรั่งเศส

บันทึกนี้ชี้อย่างชัดเจนว่ารัฐบาลสยามคาดเดาถึงการเสียพระตะบองให้ฝรั่งเศสไว้ล่วงหน้า และการปกครองของพระยาคทาธรฯ (ชุ่ม) ก็มีปัญหากับราชสำนักที่กรุงเทพฯ ไม่น้อย โดยในบันทึกประเมินว่าการอพยพของคนกัมพูชาเข้าสู่พระตะบองยังมีอยู่เพราะชาวกัมพูชารู้ดีว่า “ฝรั่งเศสในอินโดจีนได้ปกครองเมืองเขมรอย่างไร…และต้องเสียภาษีอากรเท่าใด” ทว่าในพระตะบอง ฝรั่งเศสคุ้มครองคนที่อยู่ในบังคับ (คนในบังคับฝรั่งเศสทำผิดไม่ต้องขึ้นศาลสยาม) ทำให้เกิดปัญหา หากสยามจะปรับปรุงการบริหารราชการให้ดีขึ้นก็ยาก ด้วยติดที่อำนาจและผลประโยชน์ “อยู่ในมือผู้ว่าราชการเมือง” เมื่อฝรั่งเศสแทรกแซง “ราษฎรจึงเกิดความนิยม ด้วยประสงค์จะหลีกหนีความกดขี่เดือดร้อนของวิธีการปกครองแบบเก่า” เจ้าเมืองพระตะบองจึงเป็น “เครื่องกีดขวางกางกั้นไม่ให้สำเร็จได้ดังความประสงค์ของรัฐบาล”

บันทึกนี้ยังทำให้เราทราบว่า ช่วงปี ๒๔๓๙-๒๔๔๓ สยามพยายามปรับปรุงระบบปกครองหัวเมือง พระตะบองก็คือเป้าหมายหนึ่ง ที่นี่ถูกเปลี่ยนเป็นมณฑลบูรพาทางกรุงเทพฯ จัดส่งข้าหลวงเทศาภิบาลมาพระตะบอง ทว่าก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ แม้สุดท้ายจะแก้ปัญหาด้วยการตั้งพระยาคทาธรฯ (ชุ่ม) ควบตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาลด้วยก็ไม่ได้ผล เนื่องจากเจ้าเมืองยังรักษาอำนาจเช่น “เจ้าประเทศราช” อยู่

ผลจากสถานการณ์นี้ทำให้กรุงเทพฯ เฉยเมยกับการคุกคามของฝรั่งเศสในพระตะบอง จะเห็นได้ว่าต่อมาพระยาคทาธรฯ (ชุ่ม) มีโทรเลขถึงกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๔๖ ว่ามีปัญหากับฝรั่งเศสหนักหน่วง แต่ไม่มีกระแสพระราชดำริจากรัชกาลที่ ๕ ทำให้ “มีแต่โทมนัศร้องไห้ทุกคน…ดูเหมือนไม่โปรดเกล้าฯ เปนข้าใต้ฝ่าพระบาท ข้าพระพุทธเจ้าเวลานี้ก็เปนที่ทรมานโดยอดกลั้น เจ็บแสบ จะขาดใจตาย ไม่ได้เป็นข้าใต้ฝ่าพระบาท โดยความอดกลั้นรักษาราชการ ทั้งไม่ได้รับพระกระแสอย่างไรพอเปนที่มีลมหายใจได้”

อีกครั้งหนึ่งเกิดขึ้นในปี ๒๔๔๘ พระยาคทาธรฯ (ชุ่ม) มีหนังสือกราบบังคมทูลขอลาออกจากตำแหน่งราชการ ทว่ารัชกาลที่ ๕ ไม่ทรงอนุญาต แต่ให้ลาพัก ๑ เดือนแทน ต่อมาพระยาคทาธรฯ (ชุ่ม) เสนอให้ส่งเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางมาเก็บรายได้ทั้งหมดแล้วตัวท่านขอรับเงินปีจากรัฐบาลปีละ ๔ แสนบาทแทน ทว่าก็ไม่มีคำตอบจากทางกรุงเทพฯ

ในที่สุดปี ๒๔๔๙ เมื่อสยามยกพระตะบองให้ฝรั่งเศส กิจกรรมสุดท้ายของพระยาคทาธรฯ (ชุ่ม) ที่โตว์จเล่าไว้อย่างตรงไปตรงมาคือ “นำภรรยาบุตรและทรัพย์สมบัติเพชรทองกว่า ๑๐๐ เกวียนเอาไปเมืองสยาม…มีเกวียนโค เกวียนควาย และม้า ช้าง นับร้อย ราษฎรประชาชนบางคนซึ่งโง่เขลาไปตามท่านเจ้าจำนวนมาก ท่านเจ้าไม่ได้ทำนุบำรุงคนเหล่านั้นเลย คนเหล่านั้นต้องตกยากแสนเข็ญ จึงกลับคืนมายังเมือง” ส่วน “ท่านเจ้า” เมื่อกลับมาอยู่ปราจีนบุรี สัญญาว่าด้วยการส่วนตัวพระยาคทาธรธรณินทร์ ทำ ณ กรุงเทพฯ วันที่ ๒๓ มีนาคม ร.ศ. ๑๒๕ ระหว่างรัฐบาลสยามกับฝรั่งเศสระบุว่า ฝ่ายรัฐบาลฝรั่งเศส “จะได้จ่ายเงินประจำปีให้แก่พระยาคทาธรธรณินทร์จนตลอดชีวิตรเปนเงินปีละหกหมื่นเหรียญฤๅแสนบาท ไม่เลือกว่าพระยาคทาธรธรณินทร์จะไปอยู่แห่งใดๆ…”

โตว์จระบุชัดว่าตระกูลอภัยวงศ์ “เป็นเขมรบริสุทธิ์ พูดเขมรได้ดี เขียนภาษาเขมรได้ เจ้าฟ้าแบน ต้นสกุลอภัยวงศ์เกิดในเมืองเตรียง หรือปัจจุบันคือจังหวัดตาแก้ว…สมาชิกของตระกูลนี้บางคนยังอาศัยอยู่ในพระตะบอง แต่ไม่ใช้นามสกุล ‘อภัยวงศ์’ เพราะกลัวผลกระทบทางการเมืองจากการที่คนเขมรมองว่าเจ้าฟ้าแบนนั้นเป็นคนทรยศ”

สยามจะกลับมาปกครองพระตะบองอีกครั้งหลังสงครามอินโดจีนระหว่างปี ๒๔๘๕-๒๔๘๙ โดยรัฐบาลสยามส่งพันตรี ควง อภัยวงศ์ บุตรเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม) เดินทางมารับมอบอำนาจปกครองจากฝรั่งเศสที่พระตะบองในวันที่ ๑๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๘๕ ซึ่งในทางการเมืองมีนัยยะสูงมาก

เห็นได้จากการที่นายควง อภัยวงศ์ กล่าวกับ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ก่อนเดินทางว่า “เมื่อ ๓๔ ปีมาแล้ว ท่านบิดากระผมได้เป็นผู้อัญเชิญธงไทยกลับสู่ประเทศไทยด้วยอาการอันนองน้ำตา และในวาระนี้กระผมผู้เป็นบุตร ได้มีโอกาสอัญเชิญธงไทยกลับไปสู่ที่เดิม ซึ่งกระผมรู้สึกว่านอกจากจะเป็นการสนองพระเกียรติประเทศชาติและรัฐบาลแล้ว ยังเป็นการสนองความปรารถนาอันแรงกล้าของท่านบิดาอีกด้วย”

ซึ่งถ้าสืบค้นให้ดีจะพบว่าในสมัยที่นายควงเดินทางออกจากพระตะบอง เขามีอายุเพียง ๔ ขวบเท่านั้น ยากที่จะรู้ความและซึมซับสิ่งที่เขากล่าวถึงบิดาในภายหลังได้

เมื่อสยามกลับมาครองพระตะบอง ก็เริ่มดำเนินการเปลี่ยนชื่ออำเภอบางแห่งให้เป็นชื่อนายทหารที่มีบทบาทในสงครามอินโดจีน อาทิ อำเภอสังแกเปลี่ยนเป็น “อำเภอพรหมโยธี” อำเภอระสือเปลี่ยนเป็น “อำเภออธึกเทวเดช” อำเภอตึกโชเปลี่ยนเป็น “อำเภอสินธุสงครามชัย” ส่วนอำเภอพระตะบอง มงคลบุรี ศรีโสภณ และไพลิน คงไว้ตามเดิม ทั้งนี้ กรมศิลปากรยังออกแบบตราประจำจังหวัดให้เป็นรูปพระยาโคตรบองยกตะบองในท่าเตรียมขว้างมีลายกนกประกอบในวงกลม

นอกจากนี้ยังจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เมื่อวันที่ ๖ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๙ ได้นายชวลิต อภัยวงศ์ เป็น ส.ส.คนแรก ก่อนจะมีเลือกตั้งอีกครั้งหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๘๙ ในวันที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ โดยคราวนี้ได้นายสวัสดิ์ อภัยวงศ์ เป็น ส.ส.เขต ๑ พระพิเศษพาณิชย์เป็น ส.ส. เขต ๒ (สังเกตให้ดีจะพบว่าหนึ่งใน ส.ส.จะมาจากตระกูลอภัยวงศ์เสมอ)

ทั้งหมดถือเป็นกิจกรรมของสยามครั้งท้ายๆ ก่อนคืนจังหวัดนี้ให้ฝรั่งเศสตาม “อนุสัญญากรุงวอชิงตัน ดี.ซี. พ.ศ.๒๔๘๙” ซึ่งฝ่ายไทยลงนามโดยพระองค์เจ้าวรรณไวทยากร (สมาชิกพฤฒิสภา) และนายควง อภัยวงศ์ (ส.ส.) เอง

ปลายปี ๒๕๕๒ เมื่อเรามาถึงเมืองพระตะบอง สัญลักษณ์ของเมืองยังเป็นตาดอมบองกระยูง เพียงแต่ท่านปรากฏเป็นรูปปั้นที่วงเวียนบนถนนสายหลักทางด้านทิศตะวันออกของเมือง รูปปั้นนี้สูงเท่าตึก ๕ ชั้น

ช่างปั้นปั้นให้ท่านมีใบหน้าเคร่งขรึม นั่งคุกเข่าถือพาน อัญเชิญตะบองหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ทุกวันนี้ตาดอมบองกระยูงมีสถานะไม่ต่างกับเทพารักษ์ประจำเมือง เพราะ
มีคนมาจุดธูปเทียนบนบานอยู่เป็นระยะ

พระตะบองกำลังเติบโตจากกระแสการท่องเที่ยวเนื่องจากการคมนาคมสะดวกสบายขึ้น และถ้าข้อมูลตามไกด์บุ๊กไม่ผิดพลาด ที่นี่มีโบราณสถานจำพวกปราสาทหินมากถึง ๓๙๔ แห่ง

ส่วนร่องรอยสยามที่หลงเหลืออยู่ในเมืองนั้นปรากฏชัดเจนที่ริมแม่น้ำสังแกฝั่งตะวันตกซึ่งเป็นเขตเมืองเก่า โดยเฉพาะที่ศาลากลางจังหวัดพระตะบองซึ่งพระยาคทาธรฯ (ชุ่ม) เจ้าเมืองพระตะบองว่าจ้างนายช่างอิตาลีสร้างเป็นแบบสถาปัตยกรรมบาโรกในปี ๒๔๔๘ แต่ก็ไม่มีโอกาสได้ใช้งาน

จากการสืบค้นพบว่าอาคารหลังนี้อยู่ระหว่างปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์และที่ทำการจังหวัดจากการผลักดันของสมาคมวัฒนธรรมไทย-กัมพูชา แต่ยังไม่แล้วเสร็จเพราะเกิดความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชาขึ้นเสียก่อนทำให้การดำเนินการบางอย่างล่าช้าลง

วันที่เราไปถึง ด้านหน้าทางเข้าศาลากลางมีการสร้างกำแพงและประตูแบบสถาปัตยกรรมเขมรบดบังภูมิทัศน์ศาลากลางด้านหน้าทั้งหมด และมีปืนใหญ่โบราณของสยามวางอยู่ ๒ กระบอก

จากศาลากลางเราไปต่อที่วัดดำเร็ยซอ หรือวัดช้างเผือก ซึ่งตามประวัติสร้างโดยพระยาคทาธรฯ (ชุ่ม) เจ้าเมืองคนสุดท้าย ในปี ๒๔๔๗ (ก่อนพระตะบองถูกโอนให้ฝรั่งเศส ๒ ปี) จุดเด่นของวัดนี้คือปูนปั้นประดับรอบอุโบสถซึ่งได้รับอิทธิพลจากตะวันตก ฝีมือช่างพื้นถิ่นของพระตะบองในสมัยนั้น ที่สำคัญคือปรากฏ “ตราแผ่นดินสยาม” สมัยรัชกาลที่ ๕ อยู่ที่ซุ้มหน้าบันบริเวณผนังด้านหน้าและด้านหลังของโบสถ์ บนใบเสมาแผ่นหนึ่งยังปรากฏตราพระแม่ธรณีบีบมวยผม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์เดียวกันกับที่นายควง อภัยวงศ์ ใช้เป็นตราประจำพรรคการเมืองที่เขาตั้งขึ้นจนเวลานี้กลายเป็นพรรคการเมืองเก่าแก่ที่สุดของไทย

ยังมีวัดที่เกี่ยวข้องกับสยามอีกหลายแห่งในพระตะบอง แต่ก็ไม่เหลือร่องรอยชัดเจนนักนอกจากมีการพูดถึงในประวัติวัด อาทิ วัดสังแกที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำสังแกฟากตะวันออกตรงข้ามศาลากลาง สร้างโดยเจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์ (เยีย) เจ้าเมืองพระตะบองคนที่ ๗ ที่เก็บอัฐิของท่านยังคงปรากฏอยู่ในบริเวณวัด วัดสำโรงใน ซึ่งมีคำบอกเล่าถึงเจดีย์บรรจุอัฐิของคนตระกูลอภัยภูเบศรถึง ๑๑ โกศ และประวัติวัดบอกว่าสมัยเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (แบน) เจ้าเมืองคนแรกเคยมาทำพิธีบวงสรวงเวลาเกิดเหตุการณ์สำคัญและเคยสร้างวิหารไม้เอาไว้ วัดบาลัก (ปลัด) สร้างโดยพระยาอภัยภูเบศร (รศ) หรือปลัดรศ เจ้าเมืองพระตะบองคนที่ ๓ เพื่อแก้บนจากการที่ถูกทหารเวียดนามจับไปขังที่กรุงเว้ถึง ๑๐ ปี ระหว่างเกิดสงครามสยาม-ญวน ส่วนวัดกำแพงที่อยู่ใกล้ศาลากลางนั้น ปัจจุบันถูกเปลี่ยนสภาพพื้นที่จนหมดและย้ายไปสร้างวัดใหม่ที่ว่ากันว่าอุโบสถนั้นสร้างขึ้นโดยคงรูปลักษณ์เดิมไว้ทั้งหมด

จากการเดินสำรวจเมือง เราพบว่าคนพระตะบองปัจจุบันส่วนมากเป็นคนเชื้อสายเขมร น้อยคนจะพูดภาษาไทยได้ พวกเขาส่วนมากยังรู้ว่าครั้งหนึ่งที่นี่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของสยามก่อน “กลับคืนสู่แผ่นดินแม่” อีกครั้งในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒

เราพบหนังสือ บ็อณฎำตาเมียะฮ์ (คำสั่งตาเมียะฮ์) วรรณกรรมซึ่งแต่งขึ้นเมื่อปี ๒๔๕๑ (หลังพระตะบองตกเป็นของฝรั่งเศส ๑ ปี และพิมพ์ถึง ๑ หมื่นเล่ม) กล่าวถึงเรื่องเล่าของ “ตาเมียะฮ์” ผู้เห็นเหตุการณ์ในพระตะบองตั้งแต่ยุคสงครามระหว่างสยาม-ญวนจนถึงยุคที่กัมพูชาตกอยู่ใต้อำนาจฝรั่งเศส โดยตาเมียะฮ์มองฝรั่งเศสในแง่ดี และกล่าวถึงการได้พระตะบอง เสียมเรียบ ศรีโสภณ ไว้ว่า

“ถ้าไม่มีฝรั่งเศสเช่นนี้แล้วเราน่าจะเอาเขตทั้งนั้นคืนมารวมเข้าในเมืองเขมรไม่ได้เลย”

หนังสือเล่มนี้มีวางขายตามร้านหนังสือทั่วไป อย่างไรก็ตามนักวรรณคดีกัมพูชายุคหลังก็ระบุว่าหนังสือเล่มนี้แต่งขึ้นเพื่อรับใช้ระบบอาณานิคมและรับรองความชอบธรรมของฝรั่งเศสในการเข้าปกครองกัมพูชา