pratabong07
หากล่องแม่น้ำสังแกออกจากเมืองพระตะบองมุ่งหน้าสู่ตนเลสาบ จะพบว่ามีชุมชนจำนวนมากตั้งถิ่นฐาน
อยู่ตามลำน้ำ
ไปจนถึงจุดที่แม่น้ำสังแกไหลลงทะเลสาบในลักษณะของ “ชุมชนลอยน้ำ”
พวกเขามีอาชีพหลักคือประมงน้ำจืด และสัญจรทางเรือเป็นหลัก

pratabong08
สถานีตำรวจประจำชุมชนแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ในทะเลสาปเขมร

pratabong09
ช่วงปลายฝนต้นหนาวเป็นฤดูเกี่ยวข้าวของคนกัมพูชา บริเวณที่ราบลุ่มรอบแม่น้ำสังแก
ไปจนถึงตนเลสาบจะพบเห็นเครื่องสีข้าวเคลื่อนที่และกิจกรรมเกี่ยวข้าวได้ทั่วไป

 

ทะเลสาบเขมร เสียมเรียบและบทเรียนจากประวัติศาสตร์

เช้าวันต่อมา เราลงเรือล่องไปตามแม่น้ำสังแกมุ่งไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ เดินทางตัดผ่านทะเลสาบมุ่งหน้าเข้าสู่เมืองเสียมเรียบ

ตลอดลำน้ำสายนี้ปรากฏชาวกัมพูชาจำนวนหนึ่งอาศัยอยู่บนแพและบ้านลอยน้ำ คนนำทางบอกว่าชาวบ้านกลุ่มนี้ยึดอาชีพประมงน้ำจืดมาหลายชั่วคนและใช้เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตอยู่กับแม่น้ำ

ทิวทัศน์สองฝั่งแม่น้ำช่วงไหลออกจากพระตะบองปรากฏร่องสวนแน่นขนัด เมื่อห่างจากเมืองมากขึ้นๆ ทิวทัศน์ก็เริ่มเปลี่ยนเป็นทุ่งนากว้าง ช่วงที่เราเดินทางมาตรงกับต้นฤดูเก็บเกี่ยวจึงเห็นภาพการเกี่ยวข้าวปรากฏเป็นระยะ และทุ่งนาบางช่วงจากการสังเกตคาดว่าน่าจะเข้าถึงได้สะดวกที่สุดโดยทางเรือเท่านั้น

เมื่อแม่น้ำสังแกไหลเข้าใกล้ตนเลสาบ ทิวทัศน์ก็ยิ่งแปลกตา ด้วยแม่น้ำแตกเป็นสายเล็กๆ หลายสายคล้ายเขาวงกต ถ้าไม่ใช่คนท้องถิ่นจะไม่สามารถรู้ได้เลยว่าทางน้ำหลักของสังแกอยู่ตรงจุดใด และหนทางใดที่จะพาออกสู่ทะเลสาบเขมร บริเวณนี้เป็นที่ตั้งของชุมชน “บ๊ะเปรีย” (หักพร้า) ชุมชนเก่าแก่ที่อยู่กับแม่น้ำมาหลายชั่วอายุคนโดยยึดอาชีพประมงน้ำจืดเลี้ยงชีพ และแทบจะแยกวิถีชีวิตออกจากแม่น้ำไม่ได้เพราะแม่น้ำคือ “ถนน” ของพวกเขานั่นเอง

ความมหัศจรรย์ของแม่น้ำสังแกปรากฏอยู่ในจุดที่แม่น้ำไหลลงทะเลสาบเขมร ทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียซึ่งคนกัมพูชาเรียกว่า “ตนเลสาบ” (Tonle Sap) สภาพแวดล้อมบริเวณนี้มีลักษณะคล้ายปากแม่น้ำที่ไหลลงมหาสมุทร ต่างก็แต่ป่าสองข้างทางไม่ใช่ป่าชายเลน แต่เป็นป่าที่มีลักษณะคล้ายป่าบุ่งป่าทามในภาคอีสาน ต้นไม้ส่วนมากมีชีวิตอยู่ได้ในพื้นที่ที่มีน้ำขังกินเวลานานกว่าร้อยละ ๘๐ ของปี ทั้งนี้กัมพูชาได้ประกาศให้ที่นี่เป็นเขตอนุรักษ์นกเปร็กโตล (Prek Toal Bird Sanctuary) ด้วยมีนกหายากอาศัยอยู่นับร้อยชนิด

นักวิทยาศาสตร์พบว่าปรกติตนเลสาบมีพื้นที่ประมาณ ๗,๕๐๐ ตารางกิโลเมตร (ใหญ่กว่ากรุงเทพฯ ๕ เท่า) ลึกเฉลี่ย ๑๐ เมตร กินบริเวณครอบคลุม ๕ จังหวัด คือ กำปงธม กำปงชนัง โพธิสัตว์ พระตะบอง และเสียมเรียบ แต่ในฤดูมรสุมจะขยายพื้นที่ออกไปได้ถึง ๑๖,๐๐๐ ตร.กม. กล่าวให้เห็นภาพคือในฤดูแล้งตนเลสาบจะกว้างราว ๓๕ กิโลเมตร ทว่าในฤดูฝนจะกว้างถึง ๑๑๐ กิโลเมตรเลยทีเดียว

ทั้งนี้ ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดจากอิทธิพลของแม่น้ำโขงช่วงที่ไหลผ่านกัมพูชา ถ้ากางแผนที่จะพบว่าเมื่อแม่น้ำโขงไหลออกจากลาวใต้ก็จะเข้าสู่พรมแดนกัมพูชาด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ที่นั่นคนกัมพูชาเรียกแม่น้ำโขงว่า “ตนเลธม” (Tonle Thom) ตนเลธมจะไหลลงใต้ จากนั้นหักลงมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ไหลผ่านกรุงพนมเปญ ซึ่งจุดนี้เองคือที่บรรจบของคลองบาสัก ซึ่งไหลออกจากทะเลสาบมาเชื่อมกับแม่น้ำโขงจนเกิดสภาพเหมือนมีแม่น้ำ ๔ สายมาบรรจบกันเรียกว่า “จตุรมุข”

ในฤดูฝน น้ำในแม่น้ำโขงที่เอ่อล้นจะไหลเข้าสู่ตนเลสาบผ่านคลองบาสัก ถ้ากางภาพถ่ายทางอากาศดูจะพบว่าตนเลสาบที่มีรูปร่างคล้ายกระเพาะหมูจะทำหน้าที่เสมือนเป็นที่พักน้ำของแม่น้ำโขงนั่นเอง

ส่วนตนเลธมในช่วงถัดจากพนมเปญนั้น สายน้ำจะมุ่งหน้าลงทิศใต้เข้าสู่เวียดนาม แล้วแตกตัวเป็น “กิ๋วล่อง” (มังกร ๙ ตัว-แม่น้ำ ๙ สาย) ก่อนจะไหลลงทะเลจีนใต้ในที่สุด

วัฏจักรของกระแสน้ำเช่นนี้เองที่ชักนำฝูงปลาและแร่ธาตุมารวมในทะเลสาบ ตนเลสาบจึงมีพันธุ์ปลาถึง ๓๐๐ ชนิด เป็นแหล่งประมงน้ำจืดเลี้ยงประชากรกว่า ๓ ล้านคน รอบทะเลสาบยังเป็นที่ราบอุดมสมบูรณ์กว้างถึง ๑ หมื่นตารางกิโลเมตร

ในช่วง ๑๐ กว่าปีก่อนสยามจะสูญเสียอำนาจควบคุมดินแดนริมตนเลสาบด้านพระตะบอง ในการทำสัญญาระหว่างสยามกับฝรั่งเศสอันเป็นผลจากเหตุการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ ที่ทำให้สยามยอมยกดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้ฝรั่งเสศนั้น มีข้อความบางตอนใน หนังสือสัญญากรุงสยามกับกรุงฝรั่งเศส แต่วันที่ ๓ ตุลาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖) บ่งถึงความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของตนเลสาบไว้ชัดเจนว่า

“คอเวอนเมนต์สยามจะไม่มีเรือรบใหญ่น้อยไปไว้ ฤๅใช้เดินในทเลสาบก็ดี ในแม่น้ำโขงก็ดี แลในลำน้ำแยกจากแม่น้ำโขงซึ่งอยู่ภายใน…”

ด้วยในยุค “การทูตเรือปืน” ตนเลสาบและแม่น้ำโขงเป็น “เส้นทาง” ที่ฝรั่งเศสอาจใช้เรือปืนเข้าโจมตีเมืองที่อยู่ริมฝั่งได้สะดวกหากเกิดกรณีพิพาท ถ้าสยามวางกำลังไว้จึงย่อมเป็นการคุกคามฝรั่งเศสโดยตรง

เราใช้เวลาอยู่ในแม่น้ำสังแกและทะเลสาบ ๖ ชั่วโมง ก่อนจะขึ้นฝั่งที่ท่าเรืออำเภอชงคเนียส์ (Chong Khneas) จากนั้นใช้เวลา ๒๐ นาทีเข้าสู่เขตเมืองเสียมเรียบที่อยู่ห่างขึ้นไปทางเหนือ

ขณะที่รถวิ่งเข้าตัวเมือง เราพบว่าเสียมเรียบเต็มไปด้วยโรงแรม ร้านอาหาร เกสต์เฮาส์ที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด อันเป็นผลจากกระแสการท่องเที่ยวยุคโลกาภิวัตน์

สิ่งเหล่านี้ยืนยันว่าในศตวรรษที่ ๒๑ เสียมเรียบคือเมืองท่องเที่ยวอันดับ ๑ ของกัมพูชาที่ดึงดูดรายได้จากนักท่องเที่ยวทั่วโลก ตั้งแต่เช้าจรดเย็น ปราสาทนครวัด ปราสาทบายน (นครธม) เต็มไปด้วยคนจำนวนมากที่เดินทางมาชมสถานที่ทั้งสองและโบราณสถานรอบเมืองเสียมเรียบ ส่วนชีวิตยามราตรีโดยเฉพาะที่ถนนผับสตรีต ซึ่งเทียบได้กับย่านถนนข้าวสารของกรุงเทพฯ ที่มีทั้งผับ บาร์ และความบันเทิงอย่างครบถ้วน ก็คึกคักไม่แพ้ยามกลางวัน

หนังสือพิมพ์ รัศมีกัมพูเจีย รายงานเมื่อปี ๒๕๕๒ ว่าเสียมเรียบมีโรงแรมทั้งหมด ๑๑๖ แห่ง เกสต์เฮาส์ ๒๒๒ แห่ง ภัตตาคาร ๑๑๕ แห่ง และปี ๒๕๕๑ มีนักท่องเที่ยวมาที่นี่ถึง ๒.๒๒ ล้านคน นักท่องเที่ยวกลุ่มสำคัญมาจากเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา จีน ไต้หวัน และไทย

เพื่อนชาวกัมพูชาเล่าว่าสภาพเช่นนี้ทำให้ค่าครองชีพในเมืองเสียมเรียบสูงกว่าพนมเปญหลายเท่า และถ้าใครอยากจะปลูกบ้านสักหลังในเมืองอาจต้องมีเงินถึง ๑ แสนดอลลาร์ขึ้นไป

เสียมเรียบในยุคนี้จึงต่างกับเสียมเรียบที่คนยุครัชกาลที่ ๕ หรือคนยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ รู้จัก ด้วยในเวลานั้น พื้นที่ ๑๐,๒๙๙ ตารางกิโลเมตรแห่งนี้ยังไม่มีใครมาบุกเบิก โบราณสถานยังกระจัดกระจายและแฝงตัวอยู่ในดงไม้หนาทึบ ผู้ที่อาศัยและอยู่ที่นี่ก็คือคนท้องถิ่นรวมถึงนักโบราณคดีฝรั่งเศส

ชื่อเมือง “เสียมเรียบ” เองยังมีความน่าสนใจ ด้วยมันแปลความหมายตรงตัวได้ว่า “สยามแพ้เรียบ” ซึ่งชื่อนี้ได้ปรากฏอย่างชัดเจนในหลักฐานของสยามตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นต้นมา ทั้งนี้ ดร.ศานติ ภักดีคำ อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผู้เชี่ยวชาญภาษาเขมร ชี้ว่าก่อนสมัยรัชกาลที่ ๓ เสียมเรียบถูกเรียกในเอกสารของฝ่ายสยามและกัมพูชาว่า “เมืองพระนครวัด”

ส่วน “เสียมเรียบ” นั้นมาปรากฏในหลักฐานของสยามฝ่ายเดียวตั้งแต่รัชกาลที่ ๓ ขณะที่หลักฐานฝ่ายกัมพูชาปรากฏแต่ตำนานว่าเกิดจากการที่พระร่วงหมอบราบด้วยความเกรงกลัวอำนาจของพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะแต่งขึ้นในสมัยหลัง จนหลังสมัยรัชกาลที่ ๕ จึงมีการเรียกชื่อเมืองนี้ว่า “เสียมราฐ” ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นการแก้เคล็ดของสยาม แต่ในกัมพูชาคนก็ยังคงเรียก “เสียมเรียบ” มาจนถึงปัจจุบัน

เมื่อสยามกลับมาปกครองเสียมเรียบในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ สยามเรียกพื้นที่นี้ว่า “ท้องที่การปกครองเมืองเสียมราฐ” แล้วยกฐานะเป็นจังหวัด “พิบูลสงคราม” เพื่อเป็นเกียรติแก่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม

จากนั้นมีการแบ่งเขตปกครองเป็น ๖ อำเภอ บางอำเภอได้ชื่อใหม่ เช่น ไพรีระย่อเดช (เดิมคืออำเภอบ้านพวก) กลันทบุรี พรหมขันธ์ เกรียงศักดิ์พิชิต (เดิมคืออำเภอสำโรง) วารีแสน และจอมกระสานติ์ (ซึ่งรวมปราสาทพระวิหารเข้าไปด้วย) อย่างไรก็ตาม การได้เสียมเรียบคราวนี้ก็มิได้หมายรวมถึงนครวัดและนครธมแต่อย่างใด และตัวเมืองเสียมเรียบก็ไม่ได้ตั้งอยู่ ณ บริเวณปัจจุบัน ด้วยมีการตกลงว่าเขตแดนสยาม-กัมพูชาจะอยู่ห่างจากที่ตั้งโบราณสถานทั้งสองแห่งขึ้นไปทางเหนือ เพราะฝรั่งเศสเองก็พยายามอย่างยิ่งที่จะไม่ให้ตนเสียหน้ารัฐภายใต้อารักขาอย่างกัมพูชาไปมากกว่านี้ก่อนที่ต่อมาอำเภอจอมกระสานติ์จะไปขึ้นกับจังหวัดจำปาศักดิ์ ดึงอำเภอศรีโสภณและสินธุสงครามชัยจากพระ-ตะบองเข้ามารวมกับพิบูลสงคราม ช่วงสุดท้ายก่อนจะกลับคืนไปสู่ฝรั่งเศส จังหวัดพิบูลสงครามจึงประกอบไปด้วย ๗ อำเภอ ทั้งนี้ยังเคยมี ส.ส. ๒ ท่านคือ นายชวลิต อภัยวงศ์ และนายญาติ ไหวดี

pratabong03
น่าสนใจที่ชายแดนด้านอรัญประเทศมีสิ่งปลูกสร้างคล้ายหอคอยที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองขาออก
ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักประวัติศาสตร์ วิเคราะห์ว่าน่าจะสร้างขึ้นสมัยรัฐบาลพันตรีหลวงพิบูลสงคราม
ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ไม่นานด้วยปรากฎประติมากรรมนูนต่ำมีลักษณะคล้ายกับที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน

pratabong10
กองทัพนักท่องเที่ยวต่างเฝ้ารอชมพระอาทิตย์ตกดินบริเวณปราสาทพนมบาแค็ง ใกล้กับปราสาทนครวัด

๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๒ เราใช้เวลาทั้งวันบนถนนหลวงหมายเลข ๖ มุ่งหน้าเข้าด่านอรัญประเทศ

ที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ชี้ให้ดูสถาปัตยกรรมปูนปั้นรอบหอคอยเล็กๆ ซึ่งตั้งอยู่บนกำแพงด่านตรวจคนเข้าเมืองไทยขาออก สิ่งที่เราเห็นคือรูปนูนต่ำจำนวนหนึ่ง อาทิ ปืนใหญ่ เรือรบ ทหารในสนามรบ ผู้คนอาชีพต่างๆ ชวนให้นึกไปถึงภาพบนฐานปีกอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยบนถนนราชดำเนินที่มีลักษณะคล้ายกัน

สิ่งที่เราเห็นนี้น่าจะถูกสร้างในสมัยที่รัฐบาลคณะราษฎรมีอำนาจและน่าจะเกี่ยวพันกับสงครามอินโดจีนระหว่างไทย-ฝรั่งเศส ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

“ผมคิดว่าภาพเหล่านี้มีความหมาย แต่ยังไม่มีการศึกษาจริงจัง” ดร.ชาญวิทย์อธิบาย และบอกว่าปัญหากับเพื่อนบ้านกัมพูชาในเวลานี้จะแก้ได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับว่าเรามองประวัติศาสตร์ในแง่มุมใด โดยเฉพาะการ “เสียไป” หรือ “ได้มา” และต้องถามว่าเราต้องการอยู่ร่วมกับเพื่อนบ้านอย่างสันติหรือไม่

แน่นอน สังคมไทยต้องเร่งหาคำตอบให้ได้โดยเร็ว เพราะในปีนี้แทนที่ทั้งสองชาติจะฉลองการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-กัมพูชาครบ ๖๐ ปี (๒๔๙๓-๒๕๕๓) ร่วมกัน ทั้งสองฝ่ายกลับต้องส่งทหารไปตรึงกำลังเผชิญหน้ากันบริเวณชายแดนอย่างตึงเครียด

ด้วยถึงที่สุดแล้ว คงไม่มีสังคมใดในโลกเผชิญความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นชั่วนาตาปีและอยู่รอดได้ด้วยความทรงจำที่ไม่ทำให้ตนเองพร้อมจะเผชิญกับปัจจุบัน และเข้าใจปัจจุบันได้อย่างแท้จริง

เอกสารประกอบการเขียน
เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) เรียบเรียง. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๓๑.
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ลัทธิชาตินิยมไทย/สยามกับกัมพูชา : และกรณีศึกษาปราสาทเขาพระวิหาร. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ๒๕๕๒.
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, อรอนงค์ ทิพย์พิมล บรรณาธิการ. รัชกาลที่ ๕ :สยามกับอุษาคเนย์และชมพูทวีป. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ๒๕๔๗.
เดวิด แชนด์เลอร์. ประวัติศาสตร์กัมพูชา. พรรณงาม เง่าธรรมสาร บรรณาธิการแปล. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ๒๕๔๐.
ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. สยามประเทศไทยกับ “ดินแดน” ในกัมพูชาและลาว. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ๒๕๕๒.
พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ใน ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม ๓. กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, ๒๕๔๒.
พวงทอง ภวัครพันธุ์. สงคราม การค้า และชาตินิยมในความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ๒๕๕๒.
ศานติ ภักดีคำ. เขมร “ถกสยาม”. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๕๒.
สุเจน กรรพฤทธิ์. “ประวัติศาสตร์บาดแผลไทย-กัมพูชา ความเมืองเรื่องเขาพระวิหาร”. สารคดี ปีที่ ๒๔ ฉบับที่ ๒๘๒ สิงหาคม ๒๕๕๑.
Tauch Chhuong. Battambang during the time of the Lord Governor. Translated by Hin Sithan, Carol Mortland and July Ledgerwood. Phnom Penh: CEDORECK, 1994.

ขอขอบคุณ
ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, คุณสมฤทธิ์ ลือชัย
มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์