วีระศักร จันทร์ส่งแสง : เรื่อง
ประเวช ตันตราภิรมย์ : ภาพ

ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร แม่หมอสมุนไพร อภัยภูเบศรการเรียนรู้เรื่องสมุนไพรจากหมอยาพื้นบ้านของหมอต้อม
หรือ เภสัชกรหญิง ดอกเตอร์สุภาภรณ์ ปิติพร ไม่ได้ทำเพียง
แค่เก็บข้อมูลเชิงเอกสารอย่างการวิจัยของนักวิชาการโดยทั่วไป
แต่เธอทำโดยลงไปคลุกคลี สร้างความสัมพันธ์ และเรียนรู้โดยการสัมผัสจริง
ทั้งการเดินป่าเก็บตัวอย่าง ดม ชม ชิม เพื่อทำความรู้จักกับตัวยาดัวยตนเองด้วย

herb11ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร ในวัย ๕๐ ปี บอกว่าถือเป็นช่วงที่ดีของชีวิต
กับการได้อยู่กับงานเก็บความรู้เรื่องยาสมุนไพร
และล่าสุดเธอเพิ่งเข้ารับพระราชทานรางวัลบุคคลดีเด่นของชาติ
สาขาเผยแพร่เกียรติภูมิไทย (ด้านการแพทย์แผนไทย)
จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดฯ สยามบรมราชกุมารี มาเมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๓

คุณเพิ่งได้รับรางวัลระดับชาติ “บุคคลดีเด่นของชาติ” ด้านการแพทย์แผนไทย มาเมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๓  ซึ่งคงเป็นความปีติยินดีของคนรอบข้าง แต่กับตัวเองคุณคงรู้อยู่แก่ใจว่า รางวัลนั้นเป็นแค่เรื่องชั่วขณะ งานที่คุณทำอยู่นั่นต่างหากที่ยาวนานยิ่งกว่า

เมื่อถูกถามว่าทำอย่างไร–ในช่วงเวลาเพียงไม่ถึง ๑๐ ปี ผลิตภัณฑ์ตราอภัยภูเบศรก็ก้าวมาอยู่แถวหน้าสุดของประเทศในด้านสมุนไพร

คุณตอบว่า ไม่รู้

คนฟังไม่กังขาว่าคุณพูดอย่างเล่นลิ้น  ก็คุณไม่ใช่แม่ค้า ไม่ใช่นักการตลาด คุณเป็นแค่นักฝัน นักสู้ นักธรรมชาตินิยม และนักมนุษยนิยม ที่เชื่อเรื่องความรู้สึกมากกว่าเหตุผลในบางกรณี

อาจมีหลายเรื่องที่คุณไม่รู้ แต่คุณรู้จักตัวเอง  คุณบอกว่าในช่วงนี้ถือเป็นช่วงที่ดีของชีวิต

คุณเป็นข้าราชการ  ชื่อตามตำแหน่งของคุณคือ เภสัชกรหญิง ดอกเตอร์สุภาภรณ์ ปิติพร  เภสัชกร ๙ หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม  แต่ใครๆ มักเรียกคุณด้วยชื่อเล่นกันติดปากว่า “หมอต้อม”  ในวันเวลาราชการคุณปฏิบัติงานราชการไปตามหน้าที่ อยู่ในโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ซึ่งเป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัดปราจีนบุรี  และใช้เวลาในช่วงวันหยุดรวมทั้งยามว่างระหว่างวันไปกับงานเก็บรวบรวมความรู้ เรื่องยาสมุนไพรจากหมอยาพื้นบ้าน จนพวกน้องๆ ที่ทำงานอยู่ด้วยบอกว่า คุณน่ะทำงานวันละ ๒๕ ชั่วโมง

ซึ่งคุณเองก็ดูจะนิยามตัวเองในทำนองนั้น  คุณชอบ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ กับบุคลิกที่หัวยุ่งฟูอย่างคนที่ตื่นตัวกับความคิดและการงานอยู่ตลอดเวลา  คุณชื่นชม โทมัส เอดิสัน จากเกร็ดชีวิตเขาบางตอนที่เคยอ่านเจอ

เมื่อเห็นสามีโหมทำงานหนักอย่างไม่มีเวลาหยุดพัก ภรรยาก็เตือนด้วยความห่วงใย

“ที่รัก-คุณน่าจะหาเวลาพักผ่อนบ้าง” คุณนายเอดิสันวอนสามี

“จะให้ผมไปไหนเล่า ?”

“ก็ไปที่คุณชอบ”

โทมัส เอดิสัน เดินกลับเข้าไปในห้องทำงาน

นั่นละ ที่ทำให้คุณชื่นชมในตัวเขา  คุณก็เช่นกัน คุณบอกว่าความสุขและการพักผ่อนของคุณก็อยู่ในโมงยามการทำงานนั่นแหละ การงานในพื้นที่ งานในการเก็บรวบรวมความรู้เรื่องยาสมุนไพร ที่คุณทำมาตั้งแต่เริ่มรับราชการจนทุกวันนี้

ในวัยใกล้ ๕๐ ปี คุณยังคงทำงานหนักเหมือนเมื่อหลายสิบปีก่อน ยังพร้อมสำหรับการลงพื้นที่ ไม่ว่าจะกันดารหรือเสี่ยงภัยแค่ไหน–หากรู้ว่าที่นั่นมีหมอยาพื้นบ้านให้คุณ ได้ขอความรู้-ฝากตัวเป็นศิษย์เรียนวิชาสมุนไพร

คุณเคยดั้นด้นเข้าไปถึงหมู่บ้านกะเหรี่ยงที่อยู่ลึกที่สุดแห่งหนึ่งของ ประเทศไทย เสี่ยงภัยความไม่สงบลงไปถึงแถบ ๓ จังหวัดชายแดนใต้ ตระเวนไปในหมู่บ้านตามแนวชายแดน กระทั่งล่วงลึกเข้าไปถึงหมู่บ้านคนไทยในรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย  ทางภาคอีสาน คุณปีนขึ้นยอดภูหลวง จังหวัดเลย  และตามตะเข็บชายแดนภาคเหนือจนถึงดอยไตแลง พื้นที่สู้รบของกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่  ต่อมาคุณเดินทางเข้าไปถึงใจกลางรัฐฉาน ประเทศพม่า  หลังจากนั้นคุณยังเข้าไปเก็บความรู้จากหมอยาไทใหญ่ในแคว้นไต้คง มณฑลยูนนาน ประเทศจีน  ยังไม่นับรวมที่คุณบินข้ามน้ำข้ามฟ้าไปร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการสัมมนา หมอยาพื้นบ้านจากทั่วโลก ที่จัดขึ้นที่ประเทศอินเดีย

การทุ่มเทอย่างน่าเหนื่อยหนักนี้ คุณบอกว่าเพื่อจะเก็บความรู้เอาไว้  อาจยังไม่ได้ใช้ทันทีในวันนี้ แต่เมื่อถึงเวลาที่คนรุ่นหลังต้องใช้ ก็มีข้อมูลที่จะหันกลับมาใช้ได้

“เมื่อก่อนไม่ใช่อย่างนี้ สมัยหนึ่งการแพทย์แผนไทยกับแผนตะวันตกอาจเคยเดินเคียงบ่าเคียงไหล่กันมา  เราแพ้ตอนเขามีวัคซีน แล้วเราคิดว่าเขาดีทั้งหมด ก็ทิ้งของเราไปพึ่งพิงยาฝรั่ง ซึ่งเขามีสิทธิบัตรยาอยู่ในมือ  จะให้จดสิทธิบัตรแข่งกัน เราจะไปสู้อะไรเขาได้”

คุณจึงเลือกหนทางที่จะหันกลับมาหาความรู้ดั้งเดิมให้คนของเราทำยาใช้เองได้

“การต่อสู้นี้อาจชนะหรือไม่ชนะ สู้ได้หรือไม่ได้ แต่ต้องทำ”

แทนการพักผ่อนอยู่กับบ้าน หมอต้อมมักใช้เวลาในช่วงวันหยุด
ที่ว่างเว้นจากงานราชการไปกับงานลงพื้นที่เก็บความรู้
จากหมอยาพื้นบ้านในท้องถิ่นต่างๆ ปีละหลายครั้ง

herb04

เช่นเดียวกับเมื่อคราวลงไปแถบจังหวัดชายแดนใต้
ที่นอกจากได้เรียนรู้เรื่องสมุนไพรจากหมอยามุสลิม
เธอยังช่วยสอนชาวบ้านที่โละจูด อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส
ให้เคี่ยวน้ำมันเหลืองจากสมุนไพรพื้นบ้านไว้ใช้เองด้วย
และไม่นานเดือนหลังจากนั้นหมอต้อมก็ขึ้นเหนือ

herb03

ต้นปีที่แล้วเข้าไปในหมู่บ้านลึกสุดของป่าทุ่งใหญ่นเรศวร อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก
เพื่อเรียนรู้เรื่องยาสมุนไพรจากหมอยากะเหรี่ยง และกลับไปอีกครั้งช่วงปลายปี
เพื่อสอบทานข้อมูลกับหมอยาและสอนชาวบ้านทำยาสมุนไพรไว้ใช้เอง

herb02ไปศึกษาเรื่องยาสมุนไพรจากหมอยาชาวไทใหญ่ ที่ดอยไตแลง
เขตสู้รบของกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่ นอกเขตแดนไทยด้านจังหวัดแม่ฮองสอน

herb05

การลงพื้นที่ทุกครั้งทำให้เธอได้รู้จักกับพืชสมุนไพรชนิดใหม่ๆ อยู่เสมอ
และเธอจะจดข้อมูลเกี่ยวกับยาพื้นบ้านเหล่านั้นอย่างละเอียด
ตั้งแต่ลักษณะสรรพคุณ วิธีการใช้ และอื่นๆ
ทั้งโดยตัวหนังสือและการวาดภาพประกอบ ลงในสมุดบันทึก

เมื่อก่อนคุณก็เป็นหมอยาแผนใหม่อยู่ดีๆ  แล้วทำไมถึงได้หันเหมาหายาสมุนไพร

นี้ย่อมต้องเป็นข้อสงสัยแรกที่ใครๆ มีต่อคุณ

คำตอบของคุณย้อนกลับไปถึงบ้านเกิดที่จังหวัดนครนายก ว่าตัวเองเป็นลูกชาวนา เชื้อสายบรรพบุรุษมาจากเวียงจันทน์ในสมัยรัชกาลที่ ๓  คุณเป็นเด็กที่ขยันและเรียนหนังสือเก่ง  ต่อมาก็สอบเข้าเรียนต่อได้ในคณะเภสัช-ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล  และการได้เข้าสู่โลกของการทำกิจกรรมสังคมในรั้วมหาวิทยาลัยนั่นเอง ที่ทำให้คุณได้รู้จักการลงไปสู่ชุมชน กระทั่งเป็นความสืบเนื่องมาจนถึงเมื่ออยู่ในวัยทำงาน

ช่วงปี ๒๕๒๑ ที่เริ่มเข้าเรียน คุณจำได้ว่ายังมีบรรยากาศของการ “จัดตั้ง” ทางความคิดกันในหมู่นักศึกษา มีการปลูกฝังแนวคิดทางสังคมจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง ผ่านกระบวนการกิจกรรมต่างๆ  แต่คุณพูดถึงตัวเองว่าจะหนักไปทางออกแรงมากกว่าจะเป็นนักคิด

คุณยังจำเรื่องเปิ่นๆ ที่ทำให้ต้องหัวเราะเยาะตัวเองทุกครั้งที่นึกย้อนขึ้นมา

ตอนคนอื่นเขาประชุมระดมความคิดกัน คุณอาสาช่วยเป็นกองหนุนด้านเสบียงด้วยการทำถั่วเขียวต้มน้ำตาล จะให้เพื่อนกินเป็นของว่าง

แต่ต้มอยู่นานเท่าใดเม็ดถั่วเขียวก็ไม่ยอมเปื่อย  คุณยังหัวเราะอย่างขบขันตัวเองเมื่อเล่ามาถึงตรงนี้  คุณว่าในตอนนั้นแค่ความรู้พื้นๆ ในการต้มถั่วเขียว คุณก็ยังไม่รู้ ว่าต้องต้มให้เม็ดถั่วเขียวเปื่อยก่อนจึงค่อยเติมน้ำตาลลง  แต่คุณดันใส่ลงไปพร้อมกันทั้งถั่วเขียวและน้ำตาล ทำให้ต้มอย่างไรเม็ดถั่วก็ไม่ยอมเปื่อย

แต่บรรยากาศของชีวิตรวมหมู่ในโลกกิจกรรมนักศึกษาได้ทำให้คุณชื่นชอบการลง ชุมชน  แม้เมื่อมารับราชการในตำแหน่งเภสัชกรอยู่ที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศ รเมื่อปี ๒๕๒๖ คุณก็ยังหาโอกาสลงไปคลุกคลีกับคนในชุมชนอยู่เสมอ  และนั่นเองที่ทำให้ได้เห็นตัวเองอีกด้านหนึ่งว่า  ความรู้ที่คุณเรียนมาจากมหาวิทยาลัยนั้น เป็นแค่ส่วนหนึ่งเมื่อเทียบกับที่ชาวบ้านเขารู้

“ตอนจบใหม่ๆ ยามว่างก็ออกไปให้ความรู้ชาวบ้าน อสม.  แล้วสิ่งที่เราพบก็คือเขาคุยกันเอง  คือความจริงเขาก็รู้ พอสอนเสร็จก็ให้เขาเล่าของเขาบ้าง ก็พบว่าที่เรียนมาเราอาจรู้จักพันธุ์ไม้ ๒๐๐-๓๐๐ ชนิด แต่ยังมีสมุนไพรอีกมากที่เราไม่เคยรู้”

คุณเล่าพร้อมยกตัวอย่าง  สลักจันทร-หญ้าที่ขึ้นอยู่ตามที่นาดินทราย ดอกสีเหลือง ชาวบ้านเรียกดอกขี้กลาก เพราะใบของมันรักษาโรคกลากได้  เอ็นอ่อน เอ็นอ้า-รักษาโรคเส้น แก้ปวดเมื่อย  เครือด่าง-ใช้ซักผ้า  กำลังเสือโคร่ง กำลังช้างสาร-เป็นยาบำรุงกำลัง

“ตอนไปสอนชาวบ้าน เห็นชาวบ้านพูดกับต้นไม้เหมือนเป็นคนเป็นเพื่อน  หญ้าวัวแลก เขาบอกว่าเอาวัวไปแลกมา  กระบือเจ็ดตัว คือต้องแลกเปลี่ยนกับควายถึง ๗ ตัว ทำให้ทึ่งว่าพืชพันธุ์ของบ้านเราเองทำไมเราไม่เคยรู้  เรียนเภสัชมาโดยตรง ได้เกรดไม่น้อย แต่ทำไมเราไม่เคยรู้เรื่องราวเหล่านี้เลย  ก็ได้เห็นว่าชาวบ้านเขามีภูมิปัญญา ความรู้ แต่เป็นเรื่องน่าเสียดายที่สังคมไทยไม่เคยรู้ว่าตัวเองมีอะไรอยู่บ้าง”

คุณใช้เวลาช่วงวันเสาร์อาทิตย์เก็บความรู้จากหมอยาในถิ่นต่างๆ รวบรวมไว้ตั้งแต่เริ่มเข้ารับราชการ  งานหลักในตำแหน่งของคุณคือการผลิตยา  ช่วงเย็นหลังเวลางานคุณออกไปให้ความรู้ชาวบ้าน  เสาร์อาทิตย์ไปพบหมอยา ออกเดินป่าเก็บตัวยาสมุนไพรด้วยกัน เนื่องจากคุณสนใจตัวยาพื้นบ้านที่ชาวบ้านเขายังใช้กันอยู่

ความบันดาลใจเรื่องนี้คุณบอกว่ามาจากรุ่นพี่ร่วมสถาบันคนหนึ่ง ที่สนใจและเชื่อมั่นต่อยาสมุนไพรถึงขั้นยอมไปอยู่วัดในชุมชนทางภาคเหนือ เพื่อได้เรียนรู้เรื่องยาสมุนไพรจากหมอยา

ความรู้เรื่องตัวยาสมุนไพรที่คุณจดรวบรวมไว้ มีโอกาสได้นำมาใช้จริงครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๒๙ ซึ่งคุณบอกว่าจริงๆ แล้วเหมือนเป็นความบังเอิญ

“แพทย์หญิงอุไรวรรณ โชติเกียรติ กุมารแพทย์โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร มาปรึกษาว่า โรคเริมในปากเด็ก ไม่มียาแผนปัจจุบันที่ใช้รักษาได้โดยเฉพาะ เด็กที่เป็นจะทรมานมาก ทานอาหารไม่ได้ ร้องโยเย  เราพอจะหายาสมุนไพรได้ไหม”  คุณเล่าถึงช่วงก่อนการก่อเกิดของยาสมุนไพรอภัยภูเบศรชนิดแรก “เรากลับไปเปิดที่จดบันทึกไว้ พบว่าชาวบ้านเขาใช้เสลดพังพอนตัวเมียรักษาโรคเริมและงูสวัด แต่สรรพคุณตามข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มีเพียงว่าลดการอักเสบ และหน่วยงานสาธารณสุขส่งเสริมให้ใช้รักษาอาการแมลงสัตว์กัดต่อยเท่านั้น  แต่มีข้อมูลการวิจัยว่าเสลดพังพอนตัวเมียไม่มีความเป็นพิษ”

นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้คุณเลือกใช้เสลดพังพอนตัวเมีย หรือพญายอ นำมาสกัดด้วยแอลกอฮอล์ ระเหยแอลกอฮอล์ เติมกลีเซอรีน เป็นเสลดพังพอนไนกลีเซอรีน ใช้เป็นยารักษาโรคเริมในปากเด็ก

แต่คุณคงไม่เอาผู้ป่วยเป็นหนูทดลองยา  คุณพูดถึงกลุ่มตัวอย่างที่ทำให้งานวิจัยเฉพาะกิจของคุณสำเร็จลุล่วงในเวลา อันรวดเร็ว  กลุ่มทดลองของคุณเป็นพวกเยาวชนในกลุ่มรักษ์เขาใหญ่ที่มาทำกิจกรรมอนุรักษ์ ธรรมชาติอยู่ด้วยกัน ซึ่งเป็นกิจกรรมสังคมอีกด้านที่คุณทำอย่างต่อเนื่องมานานนับ ๒๐ ปี  เด็กๆ วัยทโมนพวกนั้นกลายเป็นกลุ่มตัวอย่างให้คุณได้ทำวิจัยยาสมุนไพรที่เพิ่งทำ ขึ้นใหม่อย่างบังเอิญ โดยมีคนหนึ่งเกิดเป็นเริมที่ปาก  คุณเตือนแล้วว่าให้ระวัง เพราะมันติดกันได้ทางกายสัมผัส หรือแม้แต่การใช้แก้วน้ำร่วมกัน  แต่ด้วยความที่พวกเขาล้วนแต่ยังอยู่ในวัยคะนอง ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ เด็กผู้ชายพวกนั้นเที่ยวเล่นกอดรัดฟัดกันจนเป็นเริมกันไปทั้งกลุ่ม คุณต้องมาช่วยแต้มยาให้ และคอยจดบันทึกผลเอาไว้ด้วย

“เป็นยาตัวแรกที่เราพัฒนาขึ้น และเป็นครั้งแรกในเมืองไทยที่มีการผลิตยาสมุนไพรไทยด้วยกรรมวิธีและสารที่ ใช้ในการแพทย์แผนปัจจุบัน  เริ่มทำปี ๒๕๒๙  ส่งไปลงวารสาร คลินิก ปี ๒๕๓๒  จากนั้นหมอตามโรงพยาบาลก็เอาไปใช้ต่อ เกิดประสบการณ์ร่วมกันอย่างกว้างขวาง ทำให้เสลดพังพอนเป็นกระแสต่อ  องค์การเภสัชกรรมนำไปผลิตเป็นยารักษาเริมและงูสวัด ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากโรงพยาบาลของเรานี่เอง และท้ายสุดเราก็ผลักดันจนกลายเป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ”

ในหนังสือ สมุนไพรอภัยภูเบศร สืบสานภูมิปัญญาไทย คุณเขียนไว้ด้วยว่า การริเริ่มครั้งนี้ถือได้ว่าเป็น “จุดเปลี่ยน”  ทั้งกับตัวคุณเองและงานที่ทำ

“จากการที่ใบไม้กลายเป็นยาได้ ทำให้เราตระหนักและภูมิใจว่าเราเป็นศิษย์มีครู ทำให้มั่นใจว่าถ้าเจอครูดีๆ …จากคนรุ่นเรานี้มองย้อนกลับไปได้เป็นพันๆ ปี ในยุคที่คนยังอยู่กินกับใบไม้  เพียงแต่ให้เรานำกลับมาให้ได้  เราไม่มีห้องทดลองให้ทำวิจัย แต่สัจจะก็คือสัจจะ  และเมื่อเราทำออกมา คนใช้ก็เชื่อถือ โรงพยาบาลก็เชื่อถือ”

จากนั้นงานผลิตยาสมุนไพรของคุณก็ขยายไปสู่ชนิดอื่นๆ อาทิ ฟ้าทะลายโจร ขมิ้นชัน บอระเพ็ด เถาวัลย์เปรียง ฯลฯ  บางชนิดมีที่มาจากความจำเป็นสำหรับคนใกล้ตัว บางชนิดก็อาศัยข้อมูลจากที่มีผู้วิจัยไว้ก่อนแล้ว

ขมิ้นชัน กับฟ้าทะลายโจร :
คุณได้ข้อมูลการใช้ที่เป็นผลจากการศึกษาวิจัยของ สุพจน์ อัศวพันธุ์ธนกุล รุ่นพี่ร่วมสถาบันที่คุณยกย่องนับถือเป็นต้นแบบและเป็นแรงบันดาลใจให้คุณทำ ในสิ่งที่ทำอยู่ทุกวันนี้–รวมทั้งการเก็บรวบรวมความรู้เรื่องยาสมุนไพร ซึ่งรุ่นพี่คนที่คุณศรัทธานั้นก็เคยทำมาก่อน  เขาไปอาศัยอยู่วัดในชุมชนทางภาคเหนือเพื่อศึกษาและเก็บความรู้เรื่องยา สมุนไพรจากหมอยาพื้นบ้าน  เขาได้รู้จักสรรพคุณของขมิ้นชันจากชาวบ้านที่ต้องมีขมิ้นชันติดย่ามไว้ด้วย เสมอยามเดินป่า เอาไว้กินยามมีอาการปวดท้อง ต่อมาเขาเอามาทดลองใช้ด้วยตัวเอง และพบว่าได้ผล  เขาเผยแพร่ผ่านวารสาร ข่าวสารสมุนไพร ที่เขาเป็นบรรณาธิการเองด้วยจนเป็นที่แพร่หลาย  กระทั่งกระทรวงสาธารณสุขก็ได้อาศัยความรู้เบื้องต้นจากการศึกษาของเขา ในการเผยแพร่ยาสมุนไพรไทย ๕ ชนิดแรกสู่สาธารณชน ได้แก่ ขมิ้นชัน-แก้โรคกระเพาะอาหาร ท้องอืดท้องเฟ้อ  ฟ้าทะลายโจร
-แก้ไข้ เจ็บคอ ท้องเสีย  ชุมเห็ดเทศ-เป็นยาระบาย  เสลด-พังพอน-แก้แมลงสัตว์กัดต่อย  ว่านหางจระเข้-รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก

เถาวัลย์เปรียง :
คุณมีข้อมูลจากหมอยามาก่อนแล้วว่า ชาวบ้านใช้ต้มกินแก้กระษัย  จนเมื่อแม่ของพยาบาลคนหนึ่งที่ทำงานอยู่ในโรงพยาบาลเดียวกับคุณ ทนกินยาแก้ปวดข้อที่มีผลข้างเคียงเรื่องกัดกระเพาะอาหารต่อไปไม่ได้ คุณจึงส่งสมุนไพรชนิดนี้ให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจวิจัยก่อนจะนำมาใช้ ก็พบว่าไม่มีพิษ หากยังสร้างภูมิคุ้มกัน คุณจึงเริ่มนำมาเป็นยาแก้ปวดเส้นปวดหลัง  กับสบู่สมุนไพรเปลือกมังคุดก็เช่นกัน คุณบอกว่าทำออกมาทีแรกเพื่อให้น้องในสำนักงานที่เป็นสิวได้ใช้

ยอ : เริ่มจากพยาบาลคนหนึ่งจะปวดท้องทุกรอบเดือน คุณรู้จากงานวิจัยว่า ลูกยอ นอกจากช่วยให้เจริญอาหาร ยังมีสรรพคุณช่วยเพิ่มจำนวนเม็ดเลือดขาว คนโบราณใช้รักษาอาการปวดประจำเดือน จึงเป็นยาที่ดีมากสำหรับผู้หญิง และผู้ป่วยมะเร็ง ซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายที่เมืองนอก ที่สำคัญคุณบอกว่ายอไทยนั้นดีกว่าพันธุ์ของเมืองนอกเสียอีก แต่พอกระแสซาลง การวิจัยก็พลอยเงียบหายไปด้วย

บัวบก : คุณเคยซื้อยาบำรุงของเมืองนอกกระปุกละเป็นพันบาท เป็นยาบำรุง ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ขับปัสสาวะ ลดความดัน ช่วยเพิ่มการเรียนรู้ของสมอง ตอนแรกคุณคิดว่าคงเป็นสารสกัด แต่พอแกะแคปซูลดูเนื้อในปรากฏว่าเป็นบัวบกบดผง  คุณเลยเอาบัวบกไปขึ้นทะเบียน  ซึ่งปรกติยาเดี่ยว (ยาที่ทำจากตัวยาชนิดเดียว) ขึ้นทะเบียนไม่ได้ แต่กับบัวบกทำได้ด้วยอิทธิพลของบริษัทยาต่างประเทศเจ้านั้นทำมาก่อน

เพกา : ตอนยาไวอะกร้าดังอยู่ในระดับโลก คุณไม่วายต้องหันมามองหาไวอะกร้าของคนไทย  ก็พบว่าหมอยาพื้นบ้านเขาใช้ฝักเพกาเป็นยากระตุ้น และยังเป็นยาร้อนที่มีฤทธิ์ต้านมะเร็งด้วย

มะขามป้อม : มาจากพื้นฐานความคิดว่า โรคง่ายๆ อย่างไข้หวัด ไอ เจ็บคอ ทำไมประเทศไทยต้องไปซื้อยาฝรั่ง  คุณเลยวางเป้าว่าต้องหาสมุนไพรมาทดแทน จนเป็นที่มาของยาแก้ไอมะขามป้อม ซึ่งต่อมากลายเป็นยาที่ขายดีที่สุดของอภัยภูเบศรอยู่ในตอนนี้

ฯลฯ

จากจุดเริ่มต้นใช้กันในวงแคบๆ ภายในโรงพยาบาล ขยายออกไปสู่คนที่มารับการรักษาพยาบาลด้วยการตั้งตู้เล็กๆ ไว้ให้ชาวบ้านได้ซื้อไปทดลองใช้ ก่อนจะแพร่หลายออกไปอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ  ซึ่งตามกฎหมายจะต้องขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)  แต่โรงพยาบาลไม่ได้มีฐานะเป็นนิติบุคคล จึงไม่สามารถทำเช่นนั้นได้  คุณกับทีมงานแก้ปัญหาด้วยการจดทะเบียนเป็นมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัย ภูเบศร โดยมีคุณร่วมเป็นกรรมการและเป็นเลขานุการ  คุณบอกว่านั่นเป็นเรื่องของตำแหน่ง แต่ตามความเป็นจริงของการทำงานภายในทีมคือทุกคนทำทุกอย่าง

นั่นไม่ใช่อุปสรรคอย่างเดียวที่คุณต้องประสบในช่วงเริ่มต้น ยังมีเรื่องหนักหนาถึงขั้นถูกร้องเรียนถึงรองปลัดกระทรวงฯ ว่าคุณทำผลิตภัณฑ์สมุนไพรส่วนตัวขึ้นมาขายเอง !  เนื่องจากในช่วงนั้นมีเครื่องสำอางสมุนไพรยี่ห้อหนึ่งออกวางตลาด ซึ่งไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับคุณเลยนอกจากบังเอิญมีชื่อเดียวกับคุณ  คุณเล่าเครียดๆ ในตอนแรก แล้วขำก๊ากในตอนจบ

ผลิตภัณฑ์สมุนไพรอภัยภูเบศร ซึ่งเป็นที่คุ้นเคยของผู้นิยมสมุนไพรทั่วประเทศ
มีที่มาจากการศึกษาวิจัยในห้องปฏิบัติการที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย

herb06ในการทดสอบคุณภาพและวัดค่าทางเคมีของตัวยาต่างๆ ก่อนไปสู่การผลิตเป็นยา

herb08อย่างการอัดแคปซูล

herb09

แบ่งบรรจุ

herb10

และเดินทางไปยังผู้บริโภค ปัจจุบันมียอดขายรวมปีละ ๒๐๐ ล้านบาท
(ภาพ : บุญกิจ สุทธิญาณานนท์)

 

ในช่วงเวลาเพียงไม่ถึง ๑๐ ปี ผลิตภัณฑ์สมุนไพรอภัยภูเบศรก็เป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศ  ยอดขายปีละราว ๒๐๐ ล้านบาท ซึ่ง ๗๐ เปอร์เซ็นต์ของกำไรเข้าโรงพยาบาล และ ๓๐ เปอร์เซ็นต์เป็นทุนสำหรับซื้อเครื่องไม้เครื่องมือมาเพิ่มและการทำกิจกรรม ทางสังคมของมูลนิธิฯ อย่างการฟื้นฟูสมุนไพร สร้างองค์ความรู้ สร้างหลักสูตรการเรียน พิมพ์หนังสือเผยแพร่ กิจกรรมเยาวชน และการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม

เป็นเงื่อนไขประจวบเหมาะที่ทำให้คุณรู้สึกว่านี่เป็นโอกาสทอง เป็นช่วงที่ดีของชีวิต

นอกจากมูลนิธิฯ มีทุนพอจะทำอะไรที่เอื้อประโยชน์ต่อคนอื่นอย่างที่คุณเคยฝันไว้  คุณเองก็เริ่มมีประสบการณ์ความรู้มากพอจะแบ่งปันให้แก่ส่วนรวม

“บางทีวัยก็กำนัลสิ่งดีๆ ให้เรา  ด้วยวัยที่กำลังจะเข้า ๕๐ ปีเต็ม ความนิ่ง ความคิดก็ชัดเจนขึ้น ทำให้เราจัดการกับทุกสิ่งได้อย่างมีสติมากขึ้น”

ขณะเดียวกันคุณก็มีเครือข่ายเพื่อนมิตรอยู่ในจุดที่จะช่วยเหลือกันได้มาก ขึ้น ซึ่งช่วยเอื้ออำนวยให้งานของคุณดำเนินไปได้โดยคล่องตัวขึ้น

ในช่วง ๔-๕ ปีหลังมานี้ งานด้านหนึ่งที่คุณทุ่มเทเรี่ยวแรงให้อย่างมาก คือการออกไปเก็บความรู้เรื่องสมุนไพรจากหมอยาในถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศ จนถึงในประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ในภูมินิเวศเดียวกับเรา

การสืบสานความรู้ดั้งเดิมนั้นเป็นเรื่องหนึ่ง แต่อีกเหตุผลสำคัญในการออกไปสู่ชนบทของคุณก็คือ การย้อนกลับไปดูต้นยาสมุนไพรจากหมอพื้นบ้าน

ฤดูร้อนปีก่อน คุณเข้าไปพบหมอยากะเหรี่ยงในแถบหมู่บ้านลึกสุดของป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดตาก  และกลับเข้าไปอีกหลายครั้งในเวลาต่อมา  การไปครั้งแรกอาจไม่ได้อะไรมากนัก คุณบอกว่าการเรียนรู้นี้เป็นเรื่องของความสัมพันธ์และจิตใจของทั้งผู้ให้และ ผู้รับ  การเข้าไปไม่ใช่มุ่งแต่จะเอา แต่เกิดจากความเห็นร่วมกันว่าสิ่งที่เขามีอยู่ไม่ควรจะหายไปในชั่วชีวิตของ เขา  และการเก็บรวบรวมนี้ก็ไม่ใช่เพื่อคุณหรือใคร หากเป็นเพื่อการสาธารณประโยชน์  อย่างสมุนไพรบางชนิดที่คุณเข้าไปพบว่าชาวบ้านป่าใช้กันอย่างแพร่หลายสำหรับ รักษาไข้มาลาเรีย แต่กำลังจะหายไปเพราะมียาแผนใหม่เข้าแทนที่

เดือนต่อมาคุณลงไปแถบ ๓ จังหวัดชายแดนใต้ในท่ามกลางสถานการณ์รุนแรงที่ไม่มีใครรับประกันสวัสดิภาพ ของใครได้  แต่คุณบอกว่าในเมื่อพี่น้องในท้องถิ่นเขาอยู่กันได้ คุณก็กล้าไปเยี่ยม  การเดินทางคราวนั้นคุณยังข้ามแดนเข้าไปถึงหมู่บ้านคนไทยในรัฐกลันตัน มาเลเซีย

หลังจากนั้นอีกเดือน คุณขึ้นเหนือข้ามแดนเข้าสู่พื้นที่สู้รบของกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่ที่ดอยไต แลง  ซึ่งยาจากโรงพยาบาลของรัฐยังมาไม่ถึงคนไทใหญ่ พวกเขายังคงใช้ยาสมุนไพร และคนส่วนใหญ่ยังรู้จักพืชพันธุ์ยาเป็นอย่างดี รวมทั้งผู้คนที่อพยพมายังดอยไตแลง ซึ่งในจำนวนนั้นมีหมอยาที่ช่ำชองให้คุณสามารถเรียนรู้ต่อได้

ต้นปีถัดมา คุณเดินทางต่อเข้าไปถึงกลางรัฐฉาน ที่เมืองจ๊อกเม เพื่อติดตามการใช้สมุนไพรในหมู่ชาวไทใหญ่อย่างจริงจัง  หลายเดือนต่อจากนั้นก็ต่อไปถึงแคว้นปกครองตนเองไต้คง (Dehong Prefecture) ซึ่งเป็นถิ่นของคนไทใหญ่ในเขตมณฑลยูนนานทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน

บางช่วงคุณเดินทางไกลไปถึงอินเดีย เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในงานประชุมหมอยาพื้นบ้านจากทั่วโลก  คุณเก็บตัวอย่างบางประเด็นมาเล่าต่ออย่างน่าสนใจ  เป็นเรื่องของหมอยาพื้นบ้านจากประเทศยูกันดา ที่ตั้งคำถามกับนักวิจัยในสถาบันที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมว่า ยาบางตำรับของเขา ตอนต้มตัวยารวมกันในหม้อจะมีการใส่ตะปูลงไปด้วย  ต่อเมื่อนำยาขนานนั้นไปศึกษาวิจัยในห้องทดลอง จะมีการวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของชิ้นโลหะที่ใส่ลงไปด้วยนั้น-ได้อย่างไร

คุณบอกว่าคำถามของเขาทำให้คุณนึกถึงตำรับยาโบราณอีกมากมายของไทย ที่มักมีการใส่ตะปูเก่าที่เป็นสนิม เหรียญเก่า อิฐก้อนเล็กๆ หรือข้าวสาร (๗ เม็ด) หรือแม้แต่ดินจอมปลวกลงไปด้วย  คุณแลกเปลี่ยนเรื่องนี้ให้เขาฟัง

หมอยาหนุ่มใหญ่ชาวยูกันดาบอกว่า เขาเชื่อว่าโลหะวัตถุพวกนั้นมีส่วนในการส่งพลังให้ยาสมุนไพรในตำรับมีฤทธิ์ เพิ่มขึ้น  เขาบอกด้วยว่า หลายสิ่งที่ไม่อาจรับรู้ได้ด้วยอายตนะของเรา ก็ไม่ได้หมายความว่ามันไม่ได้มีอยู่

สำหรับภายในประเทศ คุณยังคงหาเวลาลงไปเก็บความรู้กับหมอยาในถิ่นต่างๆ ทั่วทุกภาคไม่มีว่างเว้น อย่างเร่งร้อนแข่งกับเวลา

คุณพูดถึงเรื่องนี้ว่า “แพทย์แผนไทยมีแต่จะฝ่อลง หมอคนที่มีความรู้จากไป องค์ความรู้ก็หาย ทั้งในภูมิภาค
และส่วนกลาง  การกลับไปควานหานั้นเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญเหลือเกิน  แค่สัก ๒๐ ปีผ่านไป คนรุ่นหลังจะไม่รู้จักพรรณไม้แล้ว เราจึงยอมเดินทางไกลเพื่อไปให้ถึงคนที่ยังรู้จักยา”

องค์ความรู้ทั้งหลายที่ได้มา คุณนำมารวบรวมพิมพ์เป็นเล่มในชุด “บันทึกของแผ่นดิน” ตามเจตจำนงที่จะให้เป็นสมบัติของแผ่นดิน

“ตั้งแต่ทำมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เก็บความรู้หมอยา ไม่ใช่ทำเพื่อจะเอา แต่เพราะศรัทธา และตั้งสัจจะไว้ว่าจะไม่ทำมาหากินกับเรื่องนี้  ใครมาเชิญเป็นที่ปรึกษาทำวิจัยเพื่อการค้าเราไม่ทำ หน้าที่คือรวบรวมความรู้ที่ได้มาส่งกลับชุมชน และส่งต่อประโยชน์ให้คนรุ่นต่อไป  เราจะพึ่งตัวเองไม่ได้เลยถ้าไม่มีความรู้”

เป็นการส่งต่อความรู้ในเรื่องความมั่นคงทางยาให้แก่สังคมของเราที่มีป่าเป็น แหล่งพันธุกรรมอยู่แล้ว ขอเพียงแต่ให้มีข้อมูลที่จะทำให้เกิดการใช้จริงในหมู่ประชาชน

“บันทึกของแผ่นดิน” จัดพิมพ์ออกมาแล้ว ๓ เล่ม ได้แก่ หญ้า ยา สมุนไพรใกล้ตัว เมื่อปี ๒๕๕๑  ผักเป็นยา รักษาชีวิต เมื่อปี ๒๕๕๒  พืชหอม เป็นยา เมื่อปี ๒๕๕๓

เป็นผลงานแห่งความภูมิใจที่คุณหวังใจว่าจะทำไว้เป็นสมบัติของแผ่นดิน ก่อนที่ร่องรอยจะหายไป

“ต้องบอกว่าเป็นงานที่ทำได้ยาก งานเก็บภูมิปัญญาของแผ่นดินนำมาเผยแพร่ให้คนพึ่งตนเองได้ คงไม่ใช่แค่การทำไปตามหน้าที่  แต่ต้องเก็บอย่าง ‘ลึก’ และ ‘เป็น’  ต้องถามซ้ำแล้วซ้ำอีกทวนไปทวนมา การทำงานกับหมอยาพื้นบ้านไม่ใช่จะบังคับให้เขาพูดตามกรอบแบบฟอร์มที่จะให้ เรากรอกข้อมูลได้ บางทีเขาอาจอยากเล่าอะไรเขาก็เล่าไป คนที่จะเก็บความรู้ต้องรู้ว่าอะไรที่ควรเก็บมา อะไรที่ควรเผยแพร่  และการเข้าไปเก็บข้อมูลไม่ใช่เรื่องที่จะไปรีดเอา แต่เป็นความเคารพ เป็นการสร้างความสัมพันธ์ ซึ่งถ้าไม่มีใจรักคงทำงานนี้ได้ยาก  วันหยุดราชการก็ไม่ได้หยุด แต่มีความสุข”

คงจริงอย่างนั้น ก็คุณทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย  ยามได้ออกสู่พื้นที่ แม้เดินทางไกลมาตลอดทั้งวัน ครั้นได้เจอกับหมอยา คุณก็เลือกที่จะชวนกันเดินศึกษาต้นยามากกว่าจะนั่งพักผ่อน

แม้ในยามออกเดินเท้าเป็นระยะทางไกล คุณก็ไม่มีทีท่ากังวลกับเส้นทางร่วม ๒๐ กิโลเมตรที่รออยู่ข้างหน้า ถ้าพบต้นไม้ต้นหญ้าที่น่าสนใจ คุณจะหยุดแวะดูและซักถามจากหมอพื้นบ้านทันที  ถ้าไม้ต้นนั้นอยู่ในที่โล่ง คุณก็หยุดยืนคุยกับหมอยาได้เป็นเวลานานเหมือนไม่ใส่ใจกับแสงแดดที่แผด เปรี้ยงอย่างน่าเข้าหาที่ร่ม

คุณบอกว่าประทับใจการเดินป่าศึกษาสมุนไพรที่สุด ตอนที่เห็นหมอยาบางคนทักทายต้นไม้เหมือนกำลังพูดจากับคน

“หมอคะ นี่ต้นอะไร” คุณมักเริ่มต้นอย่างนั้นเมื่อเจอต้นไม้ที่สนใจ

แม้ว่าบางทีอาจรู้อยู่แล้ว แต่คุณบอกว่าต้องถามซ้ำ เพราะบางทีไม้ชนิดเดียวกันก็เรียกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น และการเลือกคนตอบก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะเกิดผิดพลาดคลาดเคลื่อนก็จะส่งผลเสียหายใหญ่หลวงตามมา  คุณจึงนับถือหมอยาที่ได้เรียนรู้ด้วยเสมือนอาจารย์ แม้ว่าบางทีคนเหล่านั้นไม่เคยผ่านสถาบันการศึกษาแห่งใดเลย

อย่างที่คุณยืนยันมาตลอด โดยความตั้งใจเดิมไม่ได้ต้องการเก็บความรู้มาผลิตยาโดยตรง เพียงแต่อยากเก็บรวบรวมความรู้ส่งกลับสู่ชุมชน เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการพึ่งตนเอง

แต่ผลพวงอย่างหนึ่งของการทำงานอย่างทุ่มเทนั้น ก็ได้กลายเป็นปัจจัยด้านความรู้ที่กลับมาเป็นพื้นฐานอย่างมั่นคงให้แก่องค์กร

ตั้งแต่คราวที่ประเทศไทยประสบภาวะวิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่ คุณก็คิดที่จะเอาสมุนไพรเป็นหนทางในการพึ่งตัวเองของเรา เอาของเก่าๆ ที่คุณไปพบเห็นมา ให้กลับมาอยู่ในยุคสมัย

เป็นช่วงจังหวะเดียวกับที่โลกทางตะวันตกก็หันกลับมาสนใจผลิตภัณฑ์และการดูแลสุขภาพในแนวธรรมชาติ

“ตั้งแต่ปี ๒๕๒๓ เป็นต้นมา สมุนไพรได้รับความนิยมมากขึ้นทั่วโลก มีการวิจัยอย่างกว้างขวางในญี่ปุ่น อเมริกา”

คุณให้ข้อมูลก่อนวิเคราะห์ถึงปัจจัยที่หนุนส่งว่า อาจมาจากลักษณะของโรคภัยที่เปลี่ยนไป คนทุกวันนี้เป็นโรคเรื้อรังที่เกิดจากภาวะสังคมและมลภาวะกันมากขึ้น สมุนไพรกลุ่มที่ช่วยคลายความเครียด ต้านมะเร็ง ต้านอนุมูลอิสระ ได้กลายเป็นทางออก

ที่ยิ่งกว่านั้นก็คือ คนไม่อยากอยู่ภายใต้เครื่องมือแพทย์ และอยากถอยห่างออกจากสารเคมี  “อย่างเมลามีนที่ทำให้เด็กๆ ในจีนเสียชีวิต เป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก นั่นแหละภาพขยายเรื่องพิษภัยของสารเคมีต่อร่างกาย เมลามีนปนเปื้อนในอาหารกระป๋องมานานแล้ว เขาหยดใส่เพื่อเพิ่มปริมาณโปรตีนให้สูงถึงมาตรฐาน  แต่ไตของคนเราไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อกำจัดสารเคมีในปริมาณที่สูงอย่างนั้น เด็กจึงเสียชีวิตเพราะร่างกายยังไม่แข็งแรง”

การดูแลสุขภาพด้วยตัวเอง เป็นแนวคิดที่กำลังแพร่หลายอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่ผู้คนในประเทศที่เจริญแล้ว จนถึงในหมู่ชนชั้นกลางของไทย ซึ่งผลิตภัณฑ์สมุนไพรอภัยภูเบศรได้เข้ามาสนองความต้องการของผู้บริโภคได้พอ ดี

คุณพอมองออกว่า กลุ่มลูกค้าอภัยภูเบศรกลุ่มหลักๆ ได้แก่ คนที่เชื่อมั่นในธรรมชาติ ไม่ยอมรับผลิตภัณฑ์เคมีนี่ถือเป็นลูกค้ากลุ่มหลัก  ต่อมาเป็นกลุ่มที่มีรากฐานทางธรรมชาตินิยม ขณะเดียวกันก็เข้าถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างอินเทอร์เน็ต มีข้อมูล ยอมรับเหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์  เขาสนใจยาสมุนไพร แต่ต้องมีกราฟแสดงข้อมูลและการควบคุมคุณภาพ  ต่อมาเป็นกลุ่มขาจรที่มีอะไรมาใหม่ก็ชอบลอง และสุดท้ายคือกลุ่มที่เจ็บป่วย แล้วสรรพคุณของยาสมุนไพรช่วยให้เขาดีขึ้นจริง

แต่เมื่อถูกถามว่า คุณทำได้อย่างไร ในช่วงเวลาไม่ถึง ๑๐ ปี ผลิตภัณฑ์สมุนไพรอภัยภูเบศรก็เป็นที่รู้จักของคน
ทั่วประเทศ

คุณตอบว่า ไม่รู้

“ไม่ได้คิดมาก่อนว่าจะมาเป็นถึงวันนี้ ทำไปด้วยความรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ดี ไม่ได้มุ่งเรื่องการสร้างแบรนด์เลย  แต่ก่อนเคยมีคนถามว่าใครอยู่ฝ่ายตลาด เรางงกึ้ก  ตอนแรกที่เริ่มทำงานนี้ เราไม่เคยรู้จักคำว่าฝ่ายตลาด”

แต่กับคนที่มาเรียนรู้ศึกษาดูงาน ทั้งจากหน่วยงานรัฐและบุคคลทั่วไปซึ่งมีเป็นจำนวนหลายหมื่นคนในแต่ละปี  คุณมีคำตอบให้พวกเขา ๔ ข้อหลักที่เป็นปัจจัยให้งานสำเร็จ

หนึ่ง-ต้องรู้ลึกในศาสตร์และเทคโนโลยี และความรู้ดั้งเดิมของปู่ย่าตายาย  คุณขยายความด้วยการยกตัวอย่างว่า ต้องเป็นเภสัชกรที่ช่ำชองเสียก่อน จึงจะสามารถพัฒนายาหรือส่งต่อความรู้ให้คนอื่นได้ ความจัดเจนในวิชาชีพจะเป็นพื้นฐานของการไปทำงานอื่นๆ ต่อ

สอง-บริหารเป็น  ในความหมายว่า ผู้นำต้องมองภาพรวมออก และวางคนได้เหมาะกับงาน คุณยกบทเรียนจากที่เคยอ่านเจอในหนังสือบางเล่มว่า บริษัทแห่งหนึ่งล้มเหลวเพราะเอาช่างซ่อมฝีมือดีที่สุดไปเป็นผู้จัดการ

สาม-ต้องเป็นนักขายความคิดให้คนอื่นซื้อได้ ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นสูง นักการเมือง ผู้มีอำนาจ  “เกิดเขาซื้อความคิดเราไปขยายต่อ มันจะบูมเลย  งานอะไรไม่จำเป็นว่าเราต้องทำเองหมด  เราพร้อมจะอยู่ข้างหลัง ให้ความคิดของเราได้เดินไปข้างหน้า เราเอาความคิดเราใส่ให้คนอื่นได้เป็นชัยชนะ ถือว่าเป็นนักการตลาดทางความดี”

สี่-ผู้บังคับบัญชาไม่คอร์รัปชัน ไม่ต้องการผลประโยชน์ และเปิดโอกาสให้คนทำงาน กับทีมงานที่ทุ่มเท  “ที่มูลนิธิฯ ขับเคลื่อนและเติบโตมาได้เพราะน้องๆ พร้อมจะอยู่กับเรา ๒๔ ชั่วโมง  เงินเดือนพวกเขาไม่สูงนัก แต่ถ้ามีอะไรต้องลุยจะลุยด้วยกัน เฮโลทำอะไรด้วยกันเหมือนเมื่อครั้งทำกิจกรรมนักศึกษา  นี่เป็นปัจจัยที่สำคัญต่อความสำเร็จของงาน”

ส่วนปัจจัยภายนอกคุณประเมินว่าน่าจะมาจากภาวการณ์ที่คนในสังคมกำลังโหยหา ธรรมชาติ และอภัยภูเบศรเป็นเหมือนอาหารที่ปรุงได้รสชาติสอดคล้องกับผู้บริโภค

“และสิ่งที่เราเป็นคือ เราไม่เอาเปรียบผู้บริโภค เราไม่ตั้งราคาสูงเพื่อให้สินค้าดูดี  เคยมีที่ปรึกษาด้านการตลาดแนะนำว่าการตั้งราคาต่ำจะทำให้สินค้าดูเป็นของชน ชั้นล่าง  แต่เราบอกว่าเราต้องการให้สินค้ามีราคาที่เป็นธรรม  เรามีเครื่องมือที่ซื้อมาเป็นล้าน เคยซื้อเครื่องสำอางที่ขายกระปุกละเป็นพัน เอามาวัดการดูแลสภาพผิว ได้ค่าต่ำกว่าที่เราขายกระปุกละ ๑๐๐ กว่าบาทเสียอีก  อภัยภูเบศรไม่ตั้งราคาสูงเพื่อให้สินค้าดูดี และไม่ลดแบบทุบราคา  เราไม่เอาเปรียบผู้บริโภค และไม่เอาเปรียบผู้ผลิตด้วย เราซื้อวัตถุดิบสมุนไพรแพงที่สุดในประเทศไทย”

ซื้อมะขามป้อมปีละหลายสิบตันจากภาคเหนือ ขมิ้นชันจากภาคใต้  เถาวัลย์เปรียง ขมิ้น ไพล ว่านสาวหลง ใบ
หมีเหม็น จากอีสาน  แต่หลักๆ จะใช้วัตถุดิบจากในท้องถิ่น โดยมีแหล่งใหญ่อยู่ที่บ้านดงบัง ชานเมืองปราจีนบุรี บนพื้นที่ ๖๐-๗๐ ไร่ของกลุ่มเกษตรอินทรีย์  พวกเขาทำเป็นสวน ๓ ระดับ บนสุดเป็นไม้ต้นใช้สอยพวกยางนา ระดับกลางเป็นพืชไม้สวนครัว แลพื้นล่างเป็นไม้ล้มลุก  ส่วนที่ปลูกส่งให้อภัยภูเบศรมี ๑๐ กว่าชนิด อาทิ ฟ้าทะลายโจร หญ้าปักกิ่ง หญ้าหนวดแมว รางจืด อัญชัน เพชรสังฆาต ใบชะพลู เสลดพังพอน ชุมเห็ดเทศ ว่านกาบหอย  ซึ่งได้ราคาสูงเพียงแต่มีเงื่อนไขว่าต้องเป็นเกษตรอินทรีย์

“ฟ้าทะลายโจรทั่วไปซื้อขายกันกิโลละ ๕๐ บาท เราซื้อ ๑๕๐” คุณยกบางตัวอย่างให้เห็นภาพ  “คนที่จะรับยาของเราไปขายต้องซื้อเกิน ๓,๐๐๐ บาท จะได้ส่วนลด ๓๐ เปอร์เซ็นต์ ให้เขาไปขายตามราคาตั้ง ซึ่งกำไรอาจน้อยหากเทียบกับยาแผนใหม่ที่อาจได้เกิน ๕๐ เปอร์เซ็นต์  ผู้ค้าของเราต้องมีการจัดการที่ดีมากจึงจะอยู่ได้  เราเองนั้นอยู่ได้เพราะเราไม่ขายเงินเชื่อมาตั้งแต่ต้น มันจะไปเจ๊งได้อย่างไร”

แต่แม้คนทำงานจะไม่ได้คาดหมายมาก่อนว่าจะมาถึงทุกวันนี้ อภัยภูเบศรก็เติบโตก้าวหน้ามาจนมีผลิตภัณฑ์สมุนไพร ทั้งยา เครื่องสำอาง และเครื่องดื่มสมุนไพรร่วม ๑๐๐ รายการ มีตัวเลขแสดงกำลังการผลิตต่อวันที่น่าตื่นเต้น ดังตัวอย่างบางส่วนใน ๓ บรรทัดด้านล่าง

ยาเม็ด ๕ แสนแคปซูลชาชงประเภทต่างๆ ๒,๐๐๐ ซองเครื่องสำอาง ๓,๐๐๐ ชิ้น

ยาสมุนไพรทุกชนิดที่อภัยภูเบศรผลิตได้ ถูกนำไปใช้ในโรงพยาบาลตามระเบียบของกระทรวงสาธารณสุข ที่ให้โรงพยาบาลศูนย์ซื้อยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ ๕ เปอร์เซ็นต์ของมูลค่ายา

ในหมู่ผู้ซื้อทั่วไป อภัยภูเบศรเป็นที่รู้จักของคนทั่วประเทศ มีร้านขายอยู่ในทุกจังหวัด และมีเป้าหมายต่อว่าจะกระจายไปตามอำเภอ  สำหรับในกลุ่มเครื่องสำอางนั้นมีผู้นำไปเปิดตลาดถึงในญี่ปุ่น อังกฤษ ยุโรป อเมริกา

นี้เป็นเรื่องที่คุณภูมิใจ ไม่ใช่ในแง่ยอดขาย-ผลกำไร แต่คุณเห็นว่าการแพทย์แผนไทยควรถือเป็นความภูมิใจอย่างหนึ่งในชาติพันธุ์ของ เรา เฉกเช่นมวยไทย อาหารไทย “โรงพยาบาลประจำจังหวัดปราจีนบุรีเป็นโรงพยาบาลเล็กๆ แต่ทำไมทูตของหลายประเทศ รวมทั้งเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ถึงต้องเดินทางมาดูงาน ก็เพราะความเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่มีที่ไหนเหมือน”

เฉพาะปี ๒๕๕๒ มีผู้มาศึกษาดูงานด้านการพัฒนาแพทย์แผนไทยและสมุนไพรกว่า ๓๖,๐๐๐ คน ตั้งแต่บุคคลสำคัญระดับรัฐมนตรี ข้าราชการระดับสูง สื่อมวลชน และคนทั่วไปทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ

ส่วนในฐานะของความเป็นสถาบันการศึกษา โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยบูรพา จัดตั้งวิทยาลัยการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร รับนักศึกษาเข้าเรียนระดับปริญญาตรี ในหลักสูตรการแพทย์แผนไทยประยุกต์บัณฑิต มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๙  โดยมีชื่อคณะอย่างเป็นทางการว่า คณะแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร

ปริมาณการนำเข้ายาของประเทศไทยปีละเกือบแสนล้านบาท

เฉพาะโรคพื้นฐานอย่างไข้หวัด ไอ ท้องอืดท้องเฟ้อ ท้องผูก ริดสีดวงทวาร โรคผิวหนัง ที่คนไทยเป็นกันมาก ก็มีสัดส่วนมูลค่านำเข้ายาเกือบหมื่นล้านบาทต่อปี

คุณถึงตั้งคำถามกับตัวเองและกระทรวงสาธารณสุขว่า กับโรคง่ายๆ พวกนี้ทำไมไม่ใช้สมุนไพรในบ้านเราก่อน ทั้งที่เป็นเรื่องไม่เกินความเป็นไปได้

คุณเสนอแนวคิดพร้อมแสดงข้อมูลกราฟ ๒ เส้นที่กางกว้างทิ้งช่วงห่างกันมาก

“เส้นสีน้ำเงินเป็นเภสัชแผนใหม่ นำเข้าสารเคมีเอามาทำเป็นยาเม็ด ยาน้ำ เราซื้ออยู่ปีละ ๙ หมื่นกว่าล้านบาท นี่เป็นตัวเลขของปี ๒๕๕๐  ส่วนเส้นสีชมพูที่อยู่ด้านล่างเป็นยาสมุนไพรที่เราผลิตได้ มีสัดส่วนประมาณ ๒ เปอร์เซ็นต์  เราอยากให้ตัวเลขมันขยับขึ้นมาบ้าง อย่างน้อยก็สักหมื่นล้าน”

ซึ่งคุณดูมั่นใจในความเป็นไปได้

“เรามีสมุนไพรหลายอย่างที่เราสู้ยาฝรั่งได้ และใช้ได้อย่างปลอดภัย  เราต้องส่งเสริมให้ประชาชนใช้  และต้องชัดเจนว่าในอนาคตเราจะมีแนวทางพัฒนาสมุนไพรต่อไปอย่างไร ไม่ใช่ปล่อยให้หายไปจนคนไม่มีทางเลือกอื่น”

พอถูกถามต่อว่า จะพัฒนาอย่างไร ?

คุณตอบกลั้วหัวเราะ

“ดิฉันไม่ใช่อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ นะ คำตอบสำหรับจุดที่พอเอื้อมมือถึงคือ เราต้องเตรียมความรู้ เพื่อให้ประชาชนพึ่งตัวเองได้  ตอนนี้ความรู้มันหาย เราต้องเริ่มจากไปเก็บความรู้ แล้วค่อยๆ นำออกเผยแพร่  ในสถานการณ์ที่คนส่วนหนึ่งเข้าถึงยาไม่ได้ และโรคเรื้อรังแปลกๆ เกิดขึ้นมาก คนจะหันกลับมาหาสมุนไพรกันมากขึ้น  ถ้ามีความรู้สังคมก็มีทางออก และเป็นความคุ้มค่าของประเทศสมกับที่บ้านเมืองของเรามีตัวยาอยู่แล้ว”

คุณเล่าพร้อมอ้างถึงบางตัวอย่างที่ได้พบเห็นจากการลงพื้นที่เก็บความรู้  “ที่อำเภอภูหลวง จังหวัดเลย เจอคนเล่าให้ฟังว่า สมัยเด็กเขาเคยเห็นคนใช้ใบมะรุมควบคุมความดัน ใช้เครือบอระเพ็ดต้มกับฟักหม่นควบคุมน้ำตาลในเลือด  จนมาเจอกับชาวไทใหญ่ที่ดอยไตแลง เขาไม่มียาสมัยใหม่เลย เขายังต้องอาศัยสมุนไพรอย่างฟักหม่นหรือมะรุมอยู่  แต่ก่อนคนไทยก็พึ่งตัวเองมาตลอด อย่างกินดีบัวคุมโรคหัวใจ ลูกหว้าต้านเบาหวาน  ถ้าเรามีความรู้และใช้อย่างสม่ำเสมอและวัดระดับน้ำตาลในเลือดเองเป็น ก็จะเป็นทางเลือกได้อย่างปลอดภัย”

ต่อทัศนคติของคนทั่วไปที่อาจมองว่าสมุนไพรให้ผลไม่เฉียบพลันเท่ายาแผนใหม่…

“ที่เป็นเช่นนั้นเพราะไม่มีคู่ชกที่เหมาะ” คุณตอบเร็ว ด้วยน้ำเสียงจริงจังมั่นใจ  “สมัยก่อนเราใช้ฝิ่นระงับปวดก็ได้ผลชะงัดเหมือนกัน จริงๆ มียาหลายชนิดของหมอยาดีๆ  แต่ตอนนี้เรามีข้อจำกัดเพราะความรู้เราหาย  ซึ่งในอดีตไม่ใช่อย่างนี้ ไม่ใช่ว่าเป็นอะไรหน่อยก็ตาย ไม่ใช่เลย ไม่เช่นนั้นเราจะสืบเผ่าพันธุ์กันมาได้ถึงทุกวันนี้หรือ”

จุดสำคัญคุณมองว่าการค้นพบมันคนละอย่าง จึงควรที่จะมีการแลกเปลี่ยนกัน แน่นอนว่าต่างฝ่ายก็อาจอ่อนด้อยในบางโรค และอยู่ที่ว่าใครจะค้นพบในมิติไหน

“การค้นพบมันคนละอย่าง และต้องมีการแลกเปลี่ยนกัน ไม่ใช่ว่าของเขาดีหมด  แต่นี่อยู่มาวันหนึ่งเราทิ้งของตัวเองหมดเลย แล้วหันไปพึ่งยาฝรั่ง ว่าสมุนไพรมันให้ผลช้า ไม่ทันใจ ความจริงเพราะเราไม่มีความรู้ต่างหาก”

คุณย้อนโยงไปถึงประวัติศาสตร์ที่เป็นจุดพลิกเปลี่ยนของการแพทย์แผนไทยว่า เกิดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่เกิดระเบียบให้หมอยาต้องมีใบประกอบโรคศิลป์  “การสอบใบประกอบโรคศิลป์ขึ้นกับการแพทย์ภาคกลาง หมอพื้นบ้านตามหัวเมืองที่ไม่รู้ข่าว ไม่ผ่านการสอบ เลยกลายเป็นหมอเถื่อน  ยิ่งต่อมาเมื่อมีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยแพทย์แผนปัจจุบันซึ่งราชการสนับสนุน อย่างเต็มที่ ก็ยิ่งไปเบียดขับหมอแผนไทยที่ไม่ได้รับอะไรเลยจนค่อยๆ ฝ่อ  คนมีความรู้ตายไป องค์ความรู้ก็หาย”

คุณยกตัวอย่างบางโรคที่ไม่สามารถอธิบายด้วยสารเคมีหรือตัวเชื้อโรค การแพทย์แผนตะวันตกจึงยังไม่มีคำตอบ  อย่างโรคร้อนใน โรคสตรี  ทว่าโรคเหล่านี้อธิบายได้ด้วยการแพทย์ตะวันออก

กับโรคที่การแพทย์ตะวันตกทำไม่ได้นี่แหละ ที่คุณมองว่าจะเป็นทางสู้ของสมุนไพร  “สู้ในลู่ของเขา อย่างการแข่งกันจดสิทธิบัตรยา เราอาจไม่ทันเขา แต่เราเลือกที่จะทำให้ชาวบ้านทำใช้เองได้ ทำให้สุขภาพดี ซึ่งยาฝรั่งทำไม่ได้”

“ยาหาไม่ยาก” คุณเน้นถึงความจริงเกี่ยวกับยาสมุนไพร  “คนชอบเข้าใจไปว่า ตัวยาสมุนไพรต้องข้ามเขาไปหลายลูกจึงจะได้มา ความจริงไม่ใช่  ในชีวิตคนมันมีวิถีที่จะทำชีวิตให้เป็นปรกติ อย่างข่า ขิง ขมิ้นชัน ตะไคร้ ที่อยู่ในครัว นี่คือสิ่งที่บรรพบุรุษได้สั่งสมความรู้มาว่า กินสิ่งเหล่านี้แล้วดี”

คุณคาดการณ์ไปถึงปัญหาสุขภาพในอนาคตว่า ถึงจุดหนึ่งจะถึงทางตัน เพราะโรคภัยก็พัฒนาตัวเองไปเรื่อย กับมีคนจำนวนหนึ่งเข้าถึงยาได้ยากขึ้น  ถึงจุดนั้นประชาชนต้องหันกลับมาพึ่งตนเอง ดูแลสุขภาพตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ เพราะบ้านเมืองเราปลูกต้นยาได้ ไม่เหมือนสารเคมีที่เราไม่อาจผลิตเองได้

นอกเหนือจากการย้อนกลับไปสืบหาองค์ความรู้เดิม สิ่งหนึ่งที่คุณทำควบคู่ไปด้วยคือการรักษาผืนป่าอันเป็นแหล่งพันธุกรรมของพืชสมุนไพร

“พืชพันธุ์ต่างๆ ที่จะนำมาทำเป็นยา ถ้ามองแบบอุตสาห-กรรมก็วางแผนปลูก  แต่ตามตำราโบราณ บางต้นต้องใช้ที่มีอายุยาวนาน  สำหรับหมอยาต้นไม้จึงไม่ใช่วัตถุดิบในการผลิต จะเอาไม้มาทำเป็นยาต้องบอกกล่าว”

“ธรรมชาติมีชีวิต พืชพันธุ์ต่างๆ มีชีวิตของเขา”  นั่นเป็นความจริงที่คุณเพิ่งตระหนักเมื่อได้สัมผัสธรรมชาติอย่างใกล้ชิด ที่พาให้คุณระลึกถึงความทรงจำในวัยเยาว์

“ตอนเด็กๆ เคยเห็น เวลาแม่จะเทน้ำร้อนจะตะโกนบอกก่อนว่า แม่นางธรณีหนีเด้อ พวกข้าจะเทน้ำร้อนลงไป  เราเพิ่งมาเข้าใจ ว่าผืนดินไม่ใช่แค่ดิน”

นั่นเป็นสิ่งที่คุณค้นพบ เมื่อได้ขึ้นมานอนบนเขาใหญ่ครั้งแรก

“เราไปให้เหตุผลสารพัดว่าทำไมต้องอนุรักษ์ป่า มันไม่ใช่เหตุผล  แต่ก็อย่างว่า… การสื่อสารกับผู้คนต้องเอาเหตุผลที่เขาเข้าใจได้”

จากจุดนั้นคุณจึงเริ่มทำกิจกรรมกับเยาวชนในพื้นที่รอบเขาใหญ่ ในนามกลุ่มรักษ์เขาใหญ่  “ให้ความรู้กับเขาว่าทุ่งหญ้ามีประโยชน์และสัมพันธ์กับชีวิตสัตว์ป่าอย่างไร และป่านั้นปลูกไม่ได้ แต่เป็นสิ่งที่ต้องรักษา”

ซึ่งก็เช่นเดียวกับหลายๆ สิ่งที่คุณทำมาในชีวิตนี้  คุณบอกว่า

“ทีแรกทำไปด้วยความรู้สึกก่อน แล้วหลังจากนั้นก็มาหาเหตุผลว่ามันจำเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เรื่องเหตุผลนี่มนุษย์เราให้ได้ร้อยแปด แต่เรื่องข้างในเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่กว่า เพราะความคิดเปลี่ยนแปลงได้ตลอด ตามการเรียนรู้และที่สังคมบอกคุณ แต่ความรู้สึกมันอยู่กับตัวคุณไม่เคยเปลี่ยน”

“เราชอบฟังนิทาน หลงใหลเรื่องตำนาน ชอบจินตนาการ  เวลาหมอยาเล่าถึงต้นไม้สักต้น ในหัวใจเราบอกว่า ยินดีที่ได้รู้จัก” คุณพูดถึงตัวเองในท่วงทีของคนอ่อนไหว

ก่อนจะเอ่ยในน้ำเสียงจริงจัง  “เราต้องเตรียมเรือก่อนพายุจะมา  พี่สุพจน์พูดมานานแล้ว แต่เรามาเห็นจริงเมื่อได้ดูหนังเรื่อง ไททานิก ที่เรือล่มแล้วเรือบดมีไม่พอคน  เหมือนประเทศเราตอนนี้ที่พึ่งตัวเองไม่ได้เลยในเรื่องยา เหมือนตอนนี้เราไม่มีเรืออยู่เลย”

ปัญหานี้จะเชื่อมไปถึงการเข้าไม่ถึงยา ซึ่งจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ด้วยเงื่อนไขเรื่องสิทธิบัตรยา

“ตอนนี้ยาบางชนิดอย่างยารักษาโรคมะเร็ง มีราคาแพงมากเพราะมีสิทธิบัตร  นี่เป็นภาพขยายของปัญหาในอนาคต  พลังของสิทธิบัตรยามีอิทธิพลมาก เขากำหนดราคาเท่าใดก็ได้ ซึ่งไม่มีใครร่วมกำหนดราคากับเขาได้  อย่างยาเกี่ยวกับโรคหัวใจและหลอดเลือด เม็ดละ ๑๕๐ บาท ต้นทุนอาจแค่ ๑๐ บาท มันเป็นการขึ้นราคาแบบไม่มีเหตุผลเลย”

สถานการณ์ความอยุติธรรมทางยาที่เป็นอยู่เช่นนี้ คุณเชื่อว่าถึงจุดหนึ่งคนกลุ่มหนึ่งจะหันกลับมา เนื่องจากการเข้าไม่ถึงยา

โดยนัยนี้สิทธิบัตรยาจึงแทบไม่ต่างอะไรจากกระบอกปืน

“ตอนนี้มันมาจี้คอเราอยู่ จะซื้อหรือไม่ซื้อ ไม่ซื้อคุณตาย  เรื่องยาเป็นเรื่องชีวิต เขามีเทคโนโลยีเจริญกว่าคล้ายกับเรื่องเรือรบในอดีตที่เขาเอาปืนมาจี้เรา ก็เรียกราคาเอาได้สารพัด  ความแพงที่เราต้องจ่ายก็คือการส่งส่วยในลัทธิอาณานิคมสมัยใหม่ที่มาในรูป สิทธิบัตรยา”

แต่เริ่มแรกเมื่อจะหันมาทำผลิตภัณฑ์สมุนไพรและจะต้องมีตรา คุณจึงนำภาพตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรมาเป็นตราผลิตภัณฑ์อย่างภาคภูมิ  ตึกโบราณอายุนับร้อยปีหลังนั้น เป็นมรดกจากเจ้าเมืองพระตะบองคนสุดท้ายในยุคที่สยามเผชิญหน้ากับจักรวรรดิ นิยมฝรั่งเศส  และยังเคยเป็นตึกอำนวยการหลังแรกของโรงพยาบาลประจำจังหวัดปราจีนบุรี

“ตึกหลังนี้คือสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อความเป็นไท ไม่ยอมเป็นข้าฝรั่ง  เราก็เอาตึกหลังนี้มาเป็นโลโกที่มีนัยของการต่อสู้กับยาฝรั่ง”

เป็นการต่อสู้ในแนวทางตามแบบของคุณ ซึ่งยังไม่รู้ว่าผลจะออกมาอย่างไร แต่คุณก็ทำไปอย่างไม่ทุกข์ร้อนกับผลลัพธ์ที่ปลายทาง

“มันดื่มด่ำ มันอิ่ม มันมีความสุขกับการได้รับรู้ว่า ต้นไม้แต่ละต้นมันมีคุณค่าความหมายอย่างไร”

คุณเปิดเผยความในใจต่อเรื่องงาน

“คนเรามักแยกการทำงานกับการพักผ่อน แต่เรารู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่ทำงานให้มีความสุขได้ อย่างไปเก็บความรู้เรื่องต้นไม้ บางทีเหนื่อยยากอย่างที่คงมีน้อยคนจะทำได้ แต่เราตื่นเต้นที่ได้รู้จักต้นไม้ เหมือนได้รู้จักเพื่อนใหม่”

ใครที่ทำสิ่งใดได้ดีเด่นกว่าคนอื่น มักได้รับการนิยามว่า เกิดมาเพื่อเป็น…

คุณเองอาจไม่ได้สำคัญตนว่าเป็นคนเก่งกาจถึงขนาดว่า เกิดมาเพื่อจะเป็นหมอยา คุณพูดเองว่า นี้คงเป็นหน้าที่ และทุกการพบเจอระหว่างคุณกับหมอยาพื้นบ้านทุกคน-ไม่ใช่ความบังเอิญ หากเป็นเรื่องที่ถูกจัดวางมาโดยธรรมชาติ

“เราอาจเป็นผู้ถูกเลือก…” คุณพูดถึงสิ่งที่อยู่นอกเหนือกฎเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ แต่สัมผัสได้ด้วยใจของตัวเอง  “…หมอยาแต่ละคน เขาก็เป็นผู้ที่ถูกธรรมชาติเลือก ที่จะฝากความลับไว้ และเราเองก็เป็นผู้ที่ธรรมชาติเลือกให้เป็นผู้รับการสื่อสารจากหมอยาโบราณ เหล่านั้น”

โดยนัยนี้ คุณเปรียบตัวเองว่าเป็นแค่ร่างทรงของธรรมชาติ ที่จะถ่ายทอดรหัสแห่งการดูแลรักษาชีวิตไปสู่มวลมนุษย์

ขอขอบคุณ

  • ภญ. ผกากรอง ขวัญข้าว  ภญ. วัจนา ตั้งความเพียร  คุณเกรียง ฤทธิ์เจริญ  คุณสุวิทย์ วีระยุทธศิลป์  คุณศรายุทธ พรหมมา  และชาวมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร
  • พญ. นิตยา ภิญโญตระกูล
  • คุณสามารถ ช่อไม้  คุณสุธีร์ ใฝ่กุศลขจร  คุณประวิง กลิ่นไกล คุณสมัย คูณสุข  และชาวบ้านดงบัง