ไกรวุฒิ จุลพงศธร (teandyou@hotmail.com)

lola01สองประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีบทบาทโดดเด่นในวงการเทศกาลภาพยนตร์โลกคือประเทศไทยและฟิลิปปินส์  หนึ่งในลักษณะที่โดดเด่นของหนังไทยก็คือความงามอันลึกลับแปลกตาน่าค้นหา ไม่ว่าจะในหนังของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล (ลุงบุญมีระลึกชาติ ) หนังอย่าง สวรรค์บ้านนา ของ อุรุพงษ์ รักษาสัตย์, เจ้านกกระจอก ของ อโนชา สุวิชากรพงศ์ หรือแม้กระทั่งบรรดาหนังแอ็กชันที่นำแสดงโดย จา พนม

ตรงกันข้าม ลักษณะของหนังฟิลิปปินส์นั้นไม่ได้อยู่ที่การขายความ “สวย” เลยแม้แต่น้อย  หากจะพูดตรง ๆ มันโด่งดังเพราะ “ความน่าเกลียด” เสียมากกว่า เพราะมักนำเสนอชีวิตคนยากจนโดยเน้นย้ำความข้นแค้นแสนลำบาก การถ่ายภาพดิบ ๆ การแสดงแบบดิบ ๆ ทำกิริยาดิบ ๆ  คนที่เป็นตัวแทนของคนทำหนังกลุ่มนี้คือ บริยันเต เมนโดซา (Brillante Mendoza) นักทำหนังโฆษณาที่ผันตัวมากำกับหนังขนาดยาว โดยที่เขาหลีกเลี่ยงการสร้างโลกชวนฝันอย่างที่มักพบเจอในงานของผู้กำกับหนังที่ผันตัวมาจากงานโฆษณาอย่างสิ้นเชิง  เมนโดซาพูดเสมอว่าเขาได้รับแรงบันดาลใจในเรื่องการทำหนังจาก ลีโน บรอคกา (Lino Brocka)
ยอดผู้กำกับฟิลิปปินส์  หนังกลุ่มอิตาลีนีโอเรียลลิสม์อันเป็นสไตล์ของหนังสมจริงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒
รวมทั้งหนังเรื่อง The 400 Blows (ค.ศ. ๑๙๕๙) หนังต้นธารกลุ่มคลื่นลูกใหม่ฝรั่งเศสโดย ฟรองซัวส์ ทรุฟโฟต์ (François Truffaut)

สิ่งที่เป็นทั้งจุดเด่นและเป็นจุดที่โดนด่ามากที่สุดในงานของเมนโดซา ก็คือความน่าเกลียดนี่ละ  หนังของเมนโดซาเหมือนพาคนดูไปคลุกตกท่ออยู่ในสลัมพร้อม ๆ กับตัวละครของเขา ซึ่งเป็นสิ่งที่คนดูหนังทั่วโลกไม่ค่อยได้เห็นมาก่อน แต่ขณะเดียวกันเมนโดซาก็โดนโจมตีจากคนในฟิลิปปินส์เองว่า เขาจงใจ “ขาย” ความน่าเกลียดของสังคมฟิลิปปินส์มากเกินไป เป็นการขายความน่าเกลียดของประเทศเพื่อเอาใจฝรั่ง ซึ่งจุดนี้จะเป็นเรื่องจริงตามข้อกล่าวหา หรือเป็นแค่กระแสชาตินิยมที่ต้องการปกป้องภาพลักษณ์ของประเทศ คงต้องถกเถียงกันอีกยาว

แต่ไม่ว่าจะกล่าวหาอย่างไร ดูเหมือนว่าเมนโดซาจะไม่ลด-ละ-เลิกในการสร้างภาพดังกล่าว  เขาแจ้งเกิดจากการทำหนังเกี่ยวกับหมอนวดเกย์ใน The Masseur(Masahista, ๒๐๐๕) ต่อมาโด่งดังเป็นพลุแตกกับ Serbis (๒๐๐๘) หนังว่าด้วยเรื่องเซ็กซ์ในโรงหนังชั้นสอง ที่มีฉาก “โจ๋งครึ่ม” อยู่หลายฉาก  หลังจากขายเซ็กซ์ เมนโดซาก็หันมาขายความรุนแรงด้วย Kinatay (๒๐๐๙) หนังที่ให้อารมณ์เรียลไทม์ (เหมือนถ่ายทอดเวลาตามความเป็นจริง เช่นหนังยาว ๒ ชั่วโมงก็มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับ ๒ ชั่วโมงในชีวิตตัวละคร) อันว่าด้วยการจับโสเภณีไปซ้อม ฆ่า ชำแหละศพ และทิ้งลงถังขยะกันแบบเรียลไทม์  หนังเรื่องนี้แม้จะถูกต่อต้าน
เมื่อครั้งฉายในเทศกาลหนังเมืองคานส์ แต่สุดท้ายเมนโดซาก็คว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมมาครองในปี ๒๐๐๙

lola02

Lola (๒๐๐๙) เป็นหนังขนาดยาวเรื่องล่าสุดของเมนโดซา เล่าเรื่องยายแก่สองคนคู่ขนานกัน ไม่ใช่ยายแก่แบบที่ยังดูเป็นดารา แต่เป็นยายแก่หงำเหงือกแบบที่ดูคล้ายแม่ค้าจริง ๆ ที่พบเจอได้ในตลาดสด  ทั้งที่นักแสดงสองคนนี้เป็นดาราทั้งคู่ แต่เมนโดซาก็ปรับโฉมทั้งสองให้ดูสมจริง (หรือยิ่งกว่าจริง) ยายแก่สองคนนั้นยากจนมาก ๆ  คนแรกไม่รู้ทำงานอะไรกันแน่ แต่มีบ้านอยู่ในสลัมที่น้ำท่วม อีกคนเป็นแม่ค้าขายผักข้างถนน และต้องหาเลี้ยงผัวที่เป็นง่อยกับหลานชายที่ไม่เอาไหน

ทั้งคู่คือนางเอกของหนังเรื่องนี้ และทั้งคู่คือชื่อของหนัง (ชาวฟิลิปปินส์เรียกยายหรือหญิงชราว่า Lola) เรื่องราวของทั้งสองมาบรรจบกันอย่างเจ็บปวด ยายแก่คนแรกนั้นหลานชายตายเพราะโดนปล้นแล้วฆ่า ส่วนยายแก่อีกคนเป็นยายของฆาตกรซึ่งตอนนี้ถูกจับเข้าซังเตรอขึ้นศาล  เมนโดซาโชว์สังคมแบบแม่เป็นใหญ่อย่างที่เขาเคยสำรวจใน Serbis ด้วยการแสดงให้เห็นว่าทั้งสองคือผู้นำครอบครัว  เราจะเห็นความกระเสือกกระสน และความอับจนทั้งปัญญาและทรัพย์สินของทั้งคู่  ถ้าเป็นหนังหรือซีรีส์คอร์ตรูมอเมริกันคงไม่มีสถานการณ์แบบนี้ เพราะตัวละครในหนัง/ละครเหล่านั้นมักถูกออกแบบให้มีเงินทองพอที่จะจ้างทนายชั้นเลิศไม่ว่าจะเป็นฝ่ายโจทก์หรือจำเลย แต่สำหรับยายสองคนนี้ อย่าว่าแต่เงินจะจ้างทนาย เงินค่ารถจะไปขึ้นศาลยังแทบจะไม่มีเลยด้วยซ้ำ  ถึงกระนั้นก็ตาม มันก็เป็นหน้าที่ของหัวหน้าครอบครัวที่จะต้องเอาผิดคนที่ฆ่าหลานของเธอ (สำหรับยายคนแรก) และจะต้องปกป้องหลานของตนอย่างสุดชีวิต (สำหรับยายคนที่ ๒)

ยายคนแรกเปิดฉากมาก็พยายามจุดไฟไว้อาลัยให้หลานชายที่ตายไป แต่ก็ต้องเผชิญพายุฝนกระหน่ำ เธอไปรับเงินค่าทำขวัญจากเจ้านายของหลาน แล้วเตรียมเดินหน้าฟ้องแม้ว่าแค่ค่าถ่ายรูปติดบัตรเพื่อใช้ประกอบการดำเนินการตามกฎหมายยังแทบจะไม่มี  ส่วนยายคนหลังก็พยายามไปหาทนายที่รับทำคดีการกุศล แต่หาเจอก็เท่านั้นเพราะทนายบอกว่าทางที่ดีที่สุดคือให้เธอไปกล่อมคู่กรณีจนยอมความดีกว่า ว่าแล้วคุณยายก็เลยเปลี่ยนแผน ทุก ๆ วันเธอจะนั่งเรือไปบ้านของคุณยายคนแรกเพื่อไปขอโทษ โดยหวังว่าฝ่ายนั้นจะใจอ่อน !

ระหว่างรอว่าเธอจะใจอ่อนไหม ยายของฆาตกรก็ต้องหาเงินค่าชดเชยเผื่อไว้พร้อมกัน  มีฉากหนึ่งที่ผู้เขียนประทับใจมาก เป็นฉากที่ทั้งฉลาด ทั้งหดหู่ ทั้งตลก ทั้งเชิดชูความเป็นผู้หญิง  เริ่มจากว่ายายของฆาตกรนั่งรถออกนอกเมืองหลวงกลับบ้านนอก หวังจะไปยืมเงินจากญาติ แต่ปรากฏว่าญาติตายไปนานแล้ว  แทนที่จะได้เงินเธอก็เลยได้ของฝากจากเพื่อนบ้านเป็นไข่เป็ด ผัก และเป็ดเป็น ๆ มาอีก ๒ ตัว ซึ่งถ้าเป็นคนอื่นก็คงขนของกลับบ้านแล้วนอนก่ายหน้าผากกันต่อไป แต่คุณยายคนนี้เปลี่ยนของฝากทั้งหลายให้กลายเป็นเงินสดหรือของแทนเงินสดทั้งหมดระหว่างทางกลับบ้าน เช่น เมื่อเธอต้องขึ้นรถสองแถว แทนที่เธอจะจ่ายเป็นเงินก็จ่ายเป็นของแทน หรือพอมาถึงชานชาลาสถานีรถไฟ เธอก็กลายสภาพจากผู้โดยสารเป็นแม่ค้า เปิดแผงขายของซะเลย  หรือมีอีกฉากหนึ่ง หลังจากเธอเก็บเงินได้เยอะพอที่จะจ่ายเป็นค่ายอมความแล้ว เธอก็ห่อเงินใส่ผ้าเช็ดหน้าแล้วเย็บติดผ้าถุงด้านในเพราะกลัวจะโดนปล้น  รายละเอียดแบบนี้นอกจากย้ำให้เห็นถึงความจนแล้ว ยังชวนให้ผู้ชมเอาใจช่วยตัวละครอย่างมากด้วย เพราะมันไม่ได้นำเสนอชั้นเดียวว่าคนพวกนี้จน แต่เป็นการนำเสนอสองชั้นให้คนดู
คิดต่อเองว่าที่เขาทำรายละเอียดเหล่านี้ นั่นก็เพราะว่าเขาจนมาก ๆ

lola03

สุดท้าย หนังก็เลือกทางออกที่ว่า เออ ก็ยอมความกันดีกว่า ! อะไรที่ตายไปแล้วก็ตายไป ให้อภัยกัน เอาเงินให้กัน แล้วต่างคนต่างแยกย้ายไปใช้ชีวิต เพราะหากสู้กันต่อก็รังแต่จะยืดเยื้อเรื้อรังไม่ต่างกับทรายดูดที่ดูดชีวิตสองยายแก่ไปเรื่อย !

Lola เป็นหนังที่ได้คำวิจารณ์ดีมากตอนเปิดตัวที่เทศกาลหนังเวนิซ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นกับหนังของเมนโดซาเท่าไร  บางคนบอกด้วยซ้ำว่าเป็นหนังที่ดีที่สุดของเมนโดซา ซึ่งคำกล่าวเหล่านี้ก็น่าสนใจว่าการที่คนดูรับหนังเรื่องนี้ได้ง่ายกว่าเรื่องอื่น นั่นเป็นเพราะว่ามันไม่มีการเขย่าอารมณ์หรือเอาประโยชน์จากดารา-(s) exploitation มากเท่าหนังเรื่องก่อน ๆ หรือเปล่า  แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่าหนังเรื่องนี้จะใสสะอาด เพราะมันก็ยังเอาประโยชน์/นำเสนอภาพคนแก่อย่างอุจาดอันเป็นการขายความสกปรกเช่นเคย เช่นฉากยายแก่ฉี่รดกางเกงเพราะส้วมเต็ม เป็นฉากที่น่าสงสารมากแต่ก็จงใจเสียจนอดตั้งคำถามไม่ได้ว่าจำเป็นต้องทำขนาดนี้ไหม

สำหรับผู้เขียน สไตล์หนังของเมนโดซาคือสิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง  จากประสบการณ์ที่ว่าทุกครั้งที่ผู้เขียนนำหนังของเมนโดซาไปฉายประกอบการสอนหนังสือนักเรียนภาพยนตร์ ผู้เขียนสังเกตว่าหนังของเมนโดซา “ทำงาน” กับคนดูชาวไทยอย่างเต็มที่ เพราะหน้าตาของนักแสดงเหล่านี้รวมทั้งบ้านเมืองก็คล้าย ๆ กับบ้านเรา แต่สไตล์นั้นแตกต่างอย่างสิ้นเชิง  และเมื่อฉายหนังจบครั้งใดก็จะมีนักศึกษาเดินมาสอบถาม ขอจดชื่อหนัง กระตือรือร้นที่จะดูหนังของเมนโดซาต่อเสมอ ๆ  บ้างก็ชื่นชมเรื่องการใช้กล้องและการใช้แสงธรรมชาติของเขามาก ๆ ซึ่งตรงนี้เมนโดซาก็เป็นผู้กำกับที่แม่นยำจริง ๆ  อย่างเช่นเรื่องนี้ เขาใช้เวลาเพียง ๑๐ วันในการถ่ายทำ เพราะว่าพื้นหลังของหนังเป็นช่วงน้ำท่วม และเขาก็ไปถ่ายช่วงน้ำท่วมจริง ๆ ซึ่งหากถ่ายไม่เสร็จน้ำก็อาจจะลดแล้ว

จุดเด่นในงานของเมนโดซาที่ทำงานกับสมองของผู้เขียนมาก ๆ ก็คือ การที่หนังกระตุ้นให้เราคิดตลอดเวลาว่า ตกลงหนังเรื่องนี้ดีไหม (วะ) หนังของเมนโดซาจะมีอะไรขาด ๆ เกิน ๆ หรืออะไรที่ทำให้เราต้องตั้งคำถามเชิงจริยธรรมและเชิงสุนทรียะของคนทำหนังอยู่เสมอ เช่น การใช้สัญลักษณ์นี้ทื่อเกินไปไหม หนังจะเจาะประเด็นลึกกว่านี้ได้ไหม หนังขายความน่าเกลียดเกินไปไหม  และที่สำคัญก็คือ ถ้าคำตอบของทั้ง ๓ ข้อเป็นแง่ลบหมด แล้วมันจะทำให้หนังไม่ดีรึเปล่า  เราควรจะรู้สึกอย่างไรกับหนังและสถานะของเมนโดซา  ในแง่หนึ่งถ้ามองว่าเขาทำหนังต่อต้านหนังกระแสหลักในฟิลิปปินส์ รวมทั้งเป็นคนที่สานการทำหนังเพื่อคนจนต่อจาก ลีโน บรอคกา  นั่นก็เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมมาก ๆ  แต่ถ้ามองในแง่ว่าเขาเป็นคนที่ทำหนังได้สุดทาง ได้อิสรเสรีที่สุด พาหนังไปให้ถึงจุดสุดยอดของความเป็นหนังหรือเปล่า วิพากษ์การเมืองฟิลิปปินส์ได้ถึงจุดจริงหรือเปล่า ในจุดนี้ก็ยังมีคนทำหนังอีกหลายคนที่มีสปิริตของนักทำหนังอิสระมากกว่าเขา

รวมทั้งถ้ามองในฐานะคนไทย ประเทศที่เต็มไปด้วยความยากจนแต่มีหนังไม่กี่เรื่องเท่านั้นที่สำรวจประเด็นเหล่านี้ เมื่อนำหนังของเมนโดซามาเปรียบเทียบกับหนังไทยแล้ว เราจะจัดวางหนังของเขาไว้ในที่สูงต่ำอย่างไร