สุเจน กรรพฤทธิ์ : สัมภาษณ์
บุญกิจ สุทธิญาณานนท์ : ถ่ายภาพ

sarawut02sarawut03

การชุมนุมประท้วงเมื่อต้นปี ๒๕๕๔ ที่จัตุรัสทาห์รีร์ กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ มีผู้ชุมนุมนับแสนคน

๑๑.๓๐ น. วันที่ ๑๗ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๓

ประวัติศาสตร์โลกต้องจารึกว่า การเผาตัวของ โมฮัมเหม็ด บูอาซีซี (Mohamed Bouazizi) ชาวตูนิเซียวัย ๒๖ ปี กลายเป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองของโลกอาหรับชนิดที่เรียกได้ว่าไม่มีวันเหมือนเดิม

บูอาซีซีเพิ่งจบมหาวิทยาลัย เขาหางานไม่ได้และตัดสินใจเลี้ยงชีพด้วยการขายผลไม้ก่อนถูกเจ้าหน้าที่ยึดข้าวของเนื่องจากไม่มีใบอนุญาต ทำให้เขาตัดสินใจเผาตัวประท้วงหน้าศาลาว่าการกรุงตูนิส

สิบแปดวันหลังจากนั้น บูอาซีซีเสียชีวิต คลื่นมวลชนมหาศาลรวมตัวกันในกรุงตูนิส เมืองหลวงของตูนิเซีย เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ มีการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ การจลาจลลามไปทั่วประเทศ ในที่สุดประธานาธิบดีซีน เอล อาบีดีน เบน อาลี (Zine El Abidine Ben Ali) ซึ่งครองอำนาจมากว่า ๓๐ ปีต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ

ความสำเร็จในตูนิเซียก่อกระแส “อภิวัฒน์ดอกมะลิ” (Jasmine Revolution-ดอกมะลิเป็นสัญลักษณ์ของตูนิเซีย) ไปทั่วภูมิภาคแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง ผู้ประท้วงส่วนมากต้องการขับไล่ผู้นำที่
ส่วนใหญ่ครองอำนาจยาวนาน ต้องการการเมืองในแบบที่ประชาชนมีสิทธิมีเสียงมากขึ้น

ในอียิปต์ ประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัก ต้องลงจากตำแหน่งหลังครองอำนาจมานานกว่า ๓ ทศวรรษ ในลิเบีย การประท้วงพัฒนาเป็นสงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายต่อต้านกับกองกำลังของประธานาธิบดีกัดดาฟี นำไปสู่การแทรกแซงของสหประชาชาติโดยการส่งกำลังรบทางอากาศอันมีชาติพันธมิตรตะวันตกเป็นผู้นำ “เพื่อปกป้องพลเรือน” ท่ามกลางการวิพากษ์วิจารณ์จากประชาคมโลก ยังไม่นับเหตุการณ์ประท้วงในบาห์เรน จอร์แดน โอมาน อิรัก เยเมน ซีเรีย โมร็อกโก คูเวต ฯลฯ จนถึงขณะนี้สถานการณ์ก็ยังไม่ยุติ

เกิดอะไรขึ้นกับภูมิภาคแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง
“คนตะวันออกกลางกำลังเรียกร้องสิทธิ กำลังค้นหาความหมายของคำว่า ‘พลเมือง’ ความสัมพันธ์เชิงอำนาจในโลกอาหรับกำลังเปลี่ยน จากผู้ปกครองกับผู้ใต้ปกครองมาเป็นรัฐบาลกับพลเมือง รัฐบาลต้องทำงานรับใช้ประชาชน อำนาจสูงสุดจะต้องอยู่ในมือของประชาชน” คือทัศนะของ ดร. ศราวุฒิ อารีย์ รองผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งติดตามสถานการณ์ในตะวันออกกลางมายาวนาน

อาจารย์ศราวุฒิชี้ว่าแม้ในเชิงภูมิศาสตร์ ประเทศไทยจะอยู่ห่างจากตะวันออกกลางมาก ทว่ากลับมีความสัมพันธ์กับภูมิภาคนี้ในหลายมิติ ข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศระบุว่า มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับภูมิภาคตะวันออกกลางสูงถึง ๗.๕๗ แสนล้านบาท มีแรงงานไทยไปทำงานในภูมิภาคนี้ถึง ๘๖,๒๔๑ คน มีนักศึกษาได้รับทุนไปเรียนศาสนาอีกจำนวนมาก และในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลางมาเมืองไทยเฉลี่ยปีละกว่า ๔ แสนคน (ข้อมูลปี ๒๕๕๒)

สิ่งที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลางจึงย่อมส่งผลสะเทือนต่อสังคมไทยไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม

ลองมาฟังการวิเคราะห์จากอาจารย์ศราวุฒิว่าด้วยเรื่อง “ตะวันออกกลางที่เปลี่ยนไป” เพื่อที่ว่าประเทศไทยอาจต้องเตรียมรับมือกับ “สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง” นี้ไม่ช้าก็เร็ว

sarawut01อยากให้อาจารย์ปูพื้นว่าเกิดอะไรขึ้นในตะวันออกกลาง
ผมอยากเล่าว่าในอดีตสังคมตะวันออกกลางเป็นสังคมชนเผ่าเร่ร่อนในทะเลทราย เรียกว่า “เบดูอิน”(Beduin) มีหัวหน้าเผ่าที่ได้รับการยอมรับจากสมาชิกและต้องมีความชอบธรรมในการปกครอง หัวหน้าเผ่าเรียกว่า “เชค” หรือ “อะมีร”(Sheikh/Amir) เชคมีอำนาจเด็ดขาด ดำรงตำแหน่งตลอดชีวิต ความจริงนักวิชาการตะวันออกกลางบางคนกล่าวว่าคนอาหรับมีลักษณะ “Born Democracy” คือ “มีความเป็นประชาธิปไตยมาแต่กำเนิด” เพราะในสังคมชนเผ่า ถ้าผู้นำไม่มีความเป็นธรรมหรือกดขี่ ชาวอาหรับจะไม่เกรงกลัวที่จะลุกขึ้นต่อต้าน แม้การเมืองในโลกอาหรับขณะนี้จะพัฒนามาสู่ยุคสมัยใหม่ แต่ผู้นำอาหรับต่าง ๆ ก็ยังต้องการความชอบธรรมในการปกครอง เราจะเห็นได้ว่าผู้นำบางคนอ้างการสืบทอดเชื้อสายจากชนเผ่าขนาดใหญ่ บางคนอ้างความชอบธรรมทางศาสนา เช่น ราชวงศ์ซาอุดของซาอุดีอาระเบีย หรือราชวงศ์ฮัชไมต์ของจอร์แดนที่อ้างการสืบสายมาจากชนเผ่าของท่านศาสดามุฮัมหมัด เป็นต้น

ถ้าดูประวัติศาสตร์ในยุคต้นของโลกอิสลามจะพบว่า หลังการเสียชีวิตของศาสดามุฮัมหมัดในคริสต์ศตวรรษที่ ๗ การสืบทอดอำนาจทางการเมืองในหมู่ประชาชาติอิสลาม(Islamic Ummah) หรือใน “ยุคคอลีฟะฮ์ผู้ทรงธรรมทั้งสี่” มีทั้งแต่งตั้งและเลือกตั้ง มุสลิมถือว่ายุคนี้เป็นยุคการเมืองแห่งอุดมคติที่เป็นแบบอย่างความเสียสละของผู้นำ มีการปกครองที่เป็นธรรม และการคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนตามกรอบคิดทางศาสนาเป็นหลัก แต่หลังจากนั้น ประชาชาติมุสลิมได้เข้าสู่ยุคราชวงศ์ มีการสืบทอดอำนาจผ่านสายเลือด เกิดอาณาจักรต่าง ๆ มากมาย เกิดการรวมศูนย์อำนาจ ส่งผลให้พัฒนาการทางการเมืองหยุดนิ่ง

แต่ในอีกด้านหนึ่ง โลกมุสลิมกลับเกิดความรุ่งเรืองทางศิลปวิทยาการ ไม่ว่าวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ แพทยศาสตร์ ฯลฯ ในช่วงเดียวกัน ยุโรปยังอยู่ในยุคกลางที่นักประวัติศาสตร์ชี้ว่าเป็นยุคมืดทางปัญญา ยุโรปต้องรอถึงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ จึงเกิดยุค “ฟื้นฟูศิลปวิทยาการ” (Renaissance) ส่วนหนึ่งนำวิทยาการจากโลกอาหรับไปต่อยอด เกิดพัฒนาการทางการเมือง เกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส เกิดรัฐชาติที่พลเมืองมีสิทธิมีเสียง ขณะที่ในช่วงเดียวกันโลกอาหรับกลับหยุดนิ่งจนชาติตะวันตกเข้ามาปกครอง พอเจ้าอาณานิคมออกไป โลกอาหรับก็เข้าสู่ยุคชาตินิยมอาหรับ จบลงด้วยการผูกขาดอำนาจของผู้นำในดินแดนต่าง ๆ ทั่วตะวันออกกลาง บางดินแดนปกครองระบอบราชวงศ์ บางดินแดนปกครองแบบกึ่งประชาธิปไตย แต่อีกหลายประเทศก็ปกครองระบอบเผด็จการทหารอย่างที่เราเห็นก่อนเกิดการลุกฮือของประชาชน

หากเราสำรวจประวัติศาสตร์การเมืองของโลกมุสลิม ข้อสรุปของลักษณะอำนาจการปกครองในภาพรวมอาจอธิบายได้ดังนี้ หนึ่ง ความชอบธรรมทางการเมืองไม่ได้เกิดมาจากสิ่งใด เว้นแต่อำนาจซึ่งได้มาจากการใช้กำลัง การบีบบังคับ การใช้เล่ห์เหลี่ยมจัดการ และการบีบให้ยอมจำนน ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครองเป็นไปในแบบแนวคิด “คนเลี้ยงแกะกับฝูงแกะ” แนวคิดนี้มีที่มาจากวิถีชีวิตทะเลทรายที่คนเลี้ยงแกะจะต้องดูแลแกะของพวกเขา พร้อมทั้งคอยให้อาหารและพยายามปกป้อง แต่คนเลี้ยงแกะก็มีสิทธิที่จะทำอย่างไรก็ได้ต่อสัตว์เลี้ยงเพราะถือเป็นทรัพย์สินของตน

สอง เมื่ออารยธรรมใหม่ได้มาถึงจากพลังขับเคลื่อนของศาสนาอิสลาม (พื้นฐานทางศีลธรรมอาหรับล้วนก่อกำเนิดมาจากศาสนา) สถานการณ์ที่เปลี่ยนไปทำให้ผู้ปกครองพยายามอธิบายความชอบธรรมทางการเมืองของตน ผ่านการตีความศาสนาแบบพิเศษจากคัมภีร์อัลกุรอาน และคำกล่าวของศาสนทูตมุฮัมหมัด (หะดีษ) กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การใช้ศาสนามาสร้างความชอบธรรมทางการเมือง มีนักการศาสนาจำนวนไม่น้อยที่ยอม
ตกเป็นเครื่องมือของชนชั้นปกครอง แต่ก็มีปราชญ์ทางศาสนาอยู่บ้างที่แข็งขืนท้าทายอำนาจโดยพยายามใช้หลักศาสนาที่เที่ยงธรรมตอบโต้

สาม ไม่มีผู้นำเผด็จการคนใดในประวัติศาสตร์การเมืองที่จะสนใจพัฒนาหรือริเริ่มก่อสร้างสถาบันอันจะนำไปสู่การจัดตั้งระบบการเมืองที่จะคอยตรวจสอบถ่วงดุลหรือจำกัดอำนาจของพวกเขาเอง (นอกเสียจากว่าสถานการณ์จะบีบบังคับให้ต้องปรับเปลี่ยน)

สี่ ปราสาทราชวังกลายเป็นศูนย์กลางของการคบคิดวางอุบายและแผนการร้าย จนบางครั้งก็ก่อให้เกิดการนองเลือดในหมู่วงศาคณาญาติกษัตริย์เอง

ความจริงถ้าจะว่าไปแล้ว ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงต้นของสังคมมุสลิมก็คงไม่แตกต่างอะไรมากนักกับปรากฏการณ์ทางการเมืองการปกครองของยุโรปในยุคกลาง หากเปรียบเทียบพัฒนาการการใช้นิยามศัพท์ทางการเมืองระหว่างสังคมมุสลิมกับสังคมตะวันตกนับตั้งแต่ยุคเรอเนซองซ์ เราก็จะพบว่าในสังคมมุสลิม กรอบแนวคิดเรื่อง “คนเลี้ยงแกะกับฝูงแกะ” ได้เปลี่ยนโฉมไปเป็นกรอบแนวคิดทางการเมืองการปกครองของโลกอาหรับ กลายเป็นแนวทางปฏิบัติที่สืบทอดต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนนิยามศัพท์ที่ใช้กันในยุโรปก็คือ “ผู้ปกครองกับผู้อยู่ใต้ปกครอง” (Ruler and Subjects) ที่ต่อมาคำว่า “ผู้อยู่ใต้ปกครอง” ได้ถูกแทนที่ด้วยคำว่า “ประชาชาติ” (National) อันบ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนพลเมือง แต่การใช้นิยามศัพท์ในวัฒนธรรมมุสลิม-อาหรับกลับยังย่ำอยู่กับที่ไม่เปลี่ยนแปลง ทั้ง ๆ ที่สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางสังคมมุสลิมได้ขับเคลื่อนแบบมีพลวัตตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้จึงก่อให้เกิดความแปลกแยกขัดแย้งอย่างใหญ่หลวง

ฉะนั้น สิ่งที่เราเห็นขณะนี้คือคนตะวันออกกลางกำลังเรียกร้องสิทธิ กำลังค้นหาความหมายของคำว่า “พลเมือง” ความสัมพันธ์เชิงอำนาจในโลกอาหรับกำลังเปลี่ยนจากผู้ปกครองกับผู้ใต้ปกครองมาเป็นรัฐบาลกับพลเมือง รัฐบาลต้องทำงานรับใช้ประชาชน อำนาจสูงสุดจะต้องอยู่ในมือของประชาชน

ถ้าดูประวัติศาสตร์ หลักการของศาสนาอิสลามเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาระบบการเมืองหรือไม่ เพราะช่วงหนึ่งดูเหมือนโลกอาหรับจะหยุดนิ่งเรื่องพัฒนาการทางการเมือง
ผมพูดได้ว่าไม่เกี่ยว ในยุคท่านศาสดามุฮัมหมัด ตอนท่านสร้างนครรัฐมาดีนะห์ ท่านได้กำหนดให้มีสิ่งที่เรียกว่า “ธรรมนูญมาดีนะห์” นี่เป็นรัฐธรรมนูญแบบลายลักษณ์อักษรฉบับแรก ๆ ของโลกด้วยซ้ำในการกำหนดกติกาการอยู่ร่วมกันของสังคมพหุวัฒนธรรม เพราะสมัยนั้นมีทั้งยิวกับมุสลิมและกลุ่มชนเผ่าต่าง ๆ อยู่ร่วมกัน หลังท่านเสียชีวิตก็มีการเลือกตั้งผู้นำ บางช่วงมีการแต่งตั้ง แต่ทุกคนที่ขึ้นมาเป็นผู้นำต่างมีคุณสมบัติคือมีความอาวุโส มีคุณธรรม มีความยุติธรรม และได้รับการยอมรับผ่านการสวามิภักดิ์ของชนเผ่าต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม
ทุกอย่างสะดุดลงหลังยุคคอลีฟะฮ์ผู้ทรงธรรมทั้งสี่ เพราะเกิดการชิงอำนาจนำไปสู่ระบอบราชาธิปไตย การสืบทอดอำนาจใช้วิธีสืบทอดผ่านสายเลือด เกิดอาณาจักรต่าง ๆ ช่วงนี้เองที่พัฒนาการทางการเมืองการปกครองของประชาชาติอิสลามหยุดนิ่ง

อะไรเป็นสาเหตุให้เกิดการลุกฮือที่ตูนิเซียก่อนประเทศอื่น และทำไมสถานการณ์จึงลุกลามอย่างรวดเร็ว
กรณีตูนิเซีย ปัญหาสังคม-เศรษฐกิจชัดเจน ในตูนิเซียนั้นมีอัตราการเกิดสูง คนหนุ่มสาวมีมาก คนเหล่านี้ต้องการชีวิตที่ดีขึ้น ต้องการอาชีพที่มั่นคง แต่ความเป็นจริงคือประชากรหนุ่มสาวจำนวนมากยังว่างงาน นอกจากนี้ก็มีปัจจัยสะสมคือการคอร์รัปชันของผู้นำที่อยู่ในอำนาจนาน เมื่ออยู่นานก็ไม่อาจควบคุมสมาชิกครอบครัวได้ จะเห็นความเหลื่อมล้ำได้อย่างชัดเจนจากข่าวภรรยาประธานาธิบดีตูนิเซียไปซื้อของที่ปารีสด้วยเครื่องบินของราชการ ขณะที่คนจำนวนมากในประเทศยังยากจน

อย่างไรก็ตาม ผมเข้าใจว่าปัญหาความยากจนไม่ใช่สาเหตุหลักในการอภิวัฒน์ครั้งนี้ ไม่เช่นนั้นทั่วโลกก็คงจะเกิดการปฏิวัติตลอดเวลา ประเด็นหลักของเรื่องคราวนี้นั้นมีจุดเริ่มต้นมาจากความตาย สิ่งที่เกิดขึ้นในตูนิเซียมาจากการสละชีวิตเพื่อประชดบางสิ่งบางอย่าง (self-immolation) หลังจากนั้นเราจะเห็นพฤติกรรมเลียนแบบจำนวนมากในพื้นที่อื่น ผมคิดว่าการเห็นใครสักคนยอมสละชีวิตตัวเองนั้นมีผลมาก ในช่วงแรกโลกไม่ได้สนใจเหตุการณ์ที่ตูนิเซียมากนัก จนเมื่อประธานาธิบดีเบน อาลี ลี้ภัย โลกถึงเริ่มสนใจว่าเกิดอะไรขึ้น หลังจากนั้นเกิดการประท้วงตามมาใน ๑๒ ประเทศของตะวันออกกลาง เหตุการณ์ในตูนิเซียกลายเป็นการจุดประกายให้ประชาชนในภูมิภาคแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลางที่มีโครงสร้างปัญหาคล้ายกันคือ เศรษฐกิจตกต่ำ ผู้นำอยู่ในอำนาจมายาวนาน การคอร์รัปชันมีมาก แต่ก็คงไม่อาจคาดหวังว่าแต่ละประเทศจะจบแบบตูนิเซียและอียิปต์ เพราะปัจจัยที่มีผลไม่แพ้กันคือปัจจัยภายในของแต่ละประเทศ คำถามที่ใหญ่มากคืออำนาจอยู่ในมือใคร กรณีตูนิเซีย อียิปต์ อำนาจอยู่กับกองทัพ เมื่อกองทัพไม่เอาผู้นำ ทุกอย่างสิ้นสุด แต่ในลิเบีย อำนาจอยู่ในมือกัดดาฟี ส่วนประเทศรอบอ่าวเปอร์เซีย อำนาจอยู่ในมือราชวงศ์ต่าง ๆ ขณะที่ในตะวันออกกลางนั้น อิทธิพลและการแทรกแซงของมหาอำนาจมีสูงมาก นี่คือเรื่องที่เราต้องคำนึงถึง

แปลว่าประชาชนในตะวันออกกลางพร้อมอยู่แล้ว รอแต่ไม้ขีดไฟก้านแรก
ต้องไม่มองปรากฏการณ์ตรงหน้าว่าเกิดขึ้นอย่างโดด ๆ หลายปีที่ผ่านมาในตะวันออกกลางมีเสียงเรียกร้องการปฏิรูปการเมือง เพียงแต่เราไม่ค่อยได้ตามข่าว เลยคิดว่าจู่ ๆ เหตุการณ์นี้ก็เกิดขึ้น ปัจจัยอื่น ๆ คือ หนึ่ง ในภาพรวมแถบนี้มีประชากรอายุน้อยกว่า ๓๐ ปีถึงร้อยละ ๖๐ คนเหล่านี้ต้องการชีวิตที่ดีขึ้น ต้องการมีสิทธิเลือกผู้นำ ไม่ใช่ตื่นมาเจอแต่ เบน อาลี เจอแต่มูบารัก เจอแต่กัดดาฟี

สอง การสื่อสารสมัยใหม่ ผมคิดว่าเคเบิลทีวีมีอิทธิพลมาก ในตะวันออกกลางมีเคเบิลทีวี มีสถานีข่าวกว่า ๑๐๐ ช่อง ข่าวแพร่ไปในวงกว้างเพราะคนในภูมิภาคนี้ใช้ภาษาเดียวกัน สิ่งนี้สร้างฉันทามติร่วมกันขึ้นมา เคเบิลทีวีอย่างอัลจาซีราใช้ภาษาอารบิกซึ่งเป็นภาษาร่วมกันของคนในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือไม่ต่างกับคนไทยภาคต่าง ๆ ที่ใช้ภาษาเดียวกันเพียงแต่สำเนียงต่างกัน ทั้งยังมีเชื้อชาติเดียวกัน มีประวัติศาสตร์ร่วมกัน มีวัฒนธรรมคล้ายกัน นับถือศาสนาเดียวกัน ดังนั้นเมื่อเกิดอะไรขึ้นคนอาหรับจะรู้ในเวลาเดียวกัน อินเทอร์เน็ตและเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊กเป็นอีกตัวเร่งหนึ่ง แต่ไม่ถึงกับเป็นพระเอกเพราะอัตราคนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในภูมิภาคนี้ยังไม่มากนัก อันที่จริงลักษณะเช่นนี้เคยเกิดขึ้นแล้ว ถ้าย้อนไปในทศวรรษ ๑๙๕๐, ๑๙๖๐ แม้การสื่อสารยังไม่ดีเท่าปัจจุบัน แต่กระแสชาตินิยม การโค่นล้มราชวงศ์ก็ลามไปทั่ว ในอียิปต์ ลิเบีย ซีเรีย เยเมน นายทหารลุกขึ้นมาโค่นกษัตริย์ ดังนั้นนี่เป็นธรรมชาติของการเมืองในภูมิภาคนี้ แต่รอบนี้เริ่มจากปัญหาเศรษฐกิจและค่อยเข้ามาสู่ปัญหาการเมืองที่พร้อมจะระเบิดอยู่แล้ว

อาจมีคำถามว่าประเทศแถบนี้โดยเฉพาะประเทศรอบอ่าวเปอร์เซียเป็นประเทศเศรษฐีน้ำมัน ทำไมจึงเกิดการประท้วง แน่นอนประชาชนในประเทศเหล่านี้มีสวัสดิการ มีความเป็นอยู่สุขสบาย แต่การลุกฮือก็ไม่ได้มาจากปัญหาเศรษฐกิจเสมอไป อาจมาจากเรื่องเสรีภาพทางการเมือง การครอบงำของคนกลุ่มหนึ่ง หรือการรุกรานของชาติตะวันตกก็ได้ ผมคิดว่าเราต้องจำแนกจุดประสงค์ในการประท้วงเป็นสองส่วน หนึ่งคือขับไล่ผู้นำ อาทิ ในตูนิเซีย อียิปต์ สองคือเรียกร้องการปฏิรูปการเมือง ซึ่งผมถือว่ามีความชอบธรรมเพราะมีการเรียกร้องเรื่องนี้มานานแต่รัฐบาลกลับไม่ค่อยใส่ใจและดำเนินการอย่างล่าช้า แถมยังใช้กลไกของรัฐจัดการปราบปรามประชาชนมาตลอดจนก่อให้เกิดความหวาดกลัว อย่างไรก็ตาม กระแสต่อต้านก็เพิ่งมาจุดติดเมื่อเหตุการณ์ลุกฮือในตูนิเซียประสบความสำเร็จ ประชาชนจำนวนมากจึงกล้าที่จะออกมาเผชิญหน้ากับผู้นำตรง ๆ เพราะขณะนี้กำแพงแห่งความหวาดกลัวของคนอาหรับได้พังทลายลงแล้ว

นักวิเคราะห์บางคนบอกว่าการลุกฮือครั้งนี้กลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงอาจมีส่วนกระตุ้น คือต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่รัฐอิสลามโดยยืมมือพลังประชาชน
เราคงต้องแยกขบวนการอิสลามออกเป็นสองส่วนกว้าง ๆ คือขบวนการอิสลามกระแสหลักที่ไม่ใช้ความรุนแรง กับขบวนการหัวรุนแรง ในภาพรวมผมมองว่าการลุกฮือที่เราเห็นไม่มีองค์ประกอบของกลุ่มหัวรุนแรงเจือปน การชุมนุมประท้วงเริ่มจากคนหนุ่มสาวที่ขุ่นเคืองระบบเก่า นี่คือแกนนำที่แท้จริง พวกเขาต้องการชีวิตที่ดีกว่าเดิม ส่วนมากต้องการปฏิรูปการเมือง ต้องการมีส่วนร่วมในการปกครอง ที่จริงแล้วความต้องการปฏิรูปการเมืองมีมากกว่าการโค่นอำนาจผู้นำเสียอีก

กล่าวถึง “ขบวนการฟื้นฟูศาสนาอิสลาม” ขบวนการเหล่านี้มีพัฒนาการมาตลอด ในกลุ่มประเทศรอบอ่าวเปอร์เซียมีขบวนการวาฮะบี ในกลุ่มประเทศแถบแอฟริกาเหนือมีขบวนการฟื้นฟูศาสนาเรียกว่าซานูซี และกลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) ซึ่งมีสาขาอยู่ทั่วภูมิภาค พัฒนาการของขบวนการเหล่านี้ในแต่ละพื้นที่ต่างกัน ขบวนการวาฮะบีมีลักษณะร่วมมือกับสถาบันรัฐมาตั้งแต่ต้น แต่ภราดรภาพมุสลิมกลับมีลักษณะต่อสู้กับอำนาจรัฐมาตลอด อย่างไรก็ตามกลุ่มนี้ไม่ได้นำการชุมนุมประท้วงในอียิปต์ แนวทางของเขาไม่เผชิญหน้ากับรัฐบาลมานานแล้ว ที่ผ่านมาสมาชิกของขบวนการโดนปราบอย่างหนักมาตลอดไม่ว่าจะเคลื่อนไหวแบบใด ในปี ๒๕๔๘ ขบวนการภราดรภาพมุสลิมได้เข้าร่วมการเลือกตั้ง และได้ที่นั่งร้อยละ ๒๐ ของสภาทั้งที่โดนกีดกันอย่างหนัก ในอียิปต์น่าสนใจว่าขบวนการภราดรภาพมุสลิมทำงานกับมวลชนมาตลอด เขามีฐานเสียงกว้างขวาง มีการปรับตัวเข้ากับภาวะสมัยใหม่ ตอนนี้เขาเข้มแข็งที่สุดเพราะฝ่ายค้านอื่นโดนทำลายหมด ถ้าเกิดการเปลี่ยนผ่านในอียิปต์ กลุ่มนี้น่าจะมีบทบาทในการกำหนดทิศทางของประเทศ แน่นอนว่าพวกเขาจะไม่เอียงข้างตะวันตกและมีมุมมองในเชิงนโยบายต่างจากมูบารักในหลาย ๆ เรื่อง ขณะที่ขบวนการอิสลามในประเทศรอบอ่าวเปอร์เซียจะเป็นอีกแบบ คือมีความร่วมมือกับอำนาจรัฐ ไม่ค่อยได้ทำงานกับมวลชน ปรับตัวเข้ากับภาวะสมัยใหม่อย่างช้า ๆ ขณะที่ขบวนการซานูซีในแอฟริกาเหนือโดนกวาดล้างมานานแล้วตั้งแต่ยุคอิตาลีปกครองแอฟริกาเหนือ

ส่วนขบวนการหัวรุนแรงนั้น จะเห็นได้ว่าหลังเหตุการณ์ ๙/๑๑ รัฐบาลต่าง ๆ ในตะวันออกกลางต่างมีความร่วมมือกับสหรัฐฯ ในสงครามต่อต้านการก่อการร้าย เท่าที่ผ่านมารัฐบาลเหล่านี้ใช้ข้ออ้างเรื่องนี้ปราบปรามกำจัดกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้าม เมื่อเกิดการลุกฮือประท้วงของประชาชน เราก็จะเห็นได้ว่าผู้นำของประเทศต่าง ๆ ได้กล่าวอ้างว่ากลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงถูกยุยงจากกลุ่มอัลกออิดะห์ เพื่อทำลายเครดิตและสร้างภาพปีศาจแก่กลุ่มผู้ชุมนุมให้มากที่สุด

หลังเหตุการณ์มีการปล่อยคลิปของ อุซามะห์ บิน ลาดิน แสดงความยินดีกับสถานการณ์ในตูนิเซียและอียิปต์ อาจารย์มองเรื่องนี้อย่างไร
ถ้าสังเกตจากแถลงการณ์ครั้งต่าง ๆ ของ บิน ลาดิน จะเห็นได้ว่าเขาต่อสู้กับศัตรู ๓ ฝ่ายด้วยกันคือ มหาอำนาจสหรัฐฯ อิสราเอล และรัฐเผด็จการต่าง ๆ ในตะวันออกกลาง ผมคิดว่าเป้าหมายประการหนึ่งที่มีอยู่ร่วมกันระหว่าง บิน ลาดิน กับประชาชนอาหรับที่ลุกฮือชุมนุมประท้วง คือการลดอำนาจบทบาทหรือโค่นล้มระบอบอำนาจนิยมที่ผูกขาดอำนาจมาอย่างยาวนานในตะวันออกกลาง ฉะนั้นจึงไม่แปลกที่ บิน ลาดิน จะออกมาแสดงความยินดีกับการจากไปของผู้นำเผด็จการในตูนิเซียและอียิปต์ แต่หากถามว่า บิน ลาดิน มีส่วนกับการลุกฮือชุมนุมประท้วงของประชาชนคนอาหรับหรือไม่ ผมเชื่อว่าไม่ เพราะแม้จะมีเป้าหมายในการโค่นอำนาจเผด็จการเหมือนกัน แต่วิธีการนั้นแตกต่างกันมาก ตลอดเวลาที่ผ่านมา บิน ลาดิน เลือกที่จะใช้วิธีรุนแรงเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมือง แต่ปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวในภาคประชาชนของคนอาหรับวันนี้แตกต่าง พวกเขาเลือกแนวทางสันติเพื่อกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง นั่นเท่ากับว่าการลุกฮือของประชาชนอย่างสันติได้ทำลายอุดมการณ์และแนวทางความรุนแรงของ บิน ลาดิน ไปไม่มากก็น้อย

แต่ถ้าถามว่าต่อจากนี้เมื่อแนวทางของ บิน ลาดิน ขาดความชอบธรรม ความรุนแรงในโลกจะลดน้อยถอยลงหรือไม่ ผมคิดว่าส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายของมหาอำนาจต่อภูมิภาคตะวันออกกลาง หากนโยบายยังเป็นเหมือนเดิม คือมีสองมาตรฐานในการแก้ปัญหาปาเลสไตน์ การยึดครองดินแดนต่าง ๆ ในตะวันออกกลาง การใช้กำลังโค่นระบอบการปกครอง การสนับสนุนผู้นำเผด็จการเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ปัจจัยเหล่านี้ต่างหากที่จะชักจูงให้คนอาหรับเข้าไปเป็นแนวร่วมกับลัทธิหัวรุนแรง การตายของ บิน ลาดิน จึงไม่ใช่จุดจบของการก่อการร้าย

sarawut04อยากให้อาจารย์วิเคราะห์สถานการณ์ในอียิปต์
ในอียิปต์ สถานการณ์คล้ายตูนิเซียคืออัตราการว่างงานและความยากจนสูง ผู้นำครองอำนาจมานาน ประชาชนร้อยละ ๔๐ จากทั้งหมด ๘๐ ล้านคนมีชีวิตอยู่ด้วยรายได้ต่ำกว่า ๒ ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน เดิมอียิปต์รับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ มาตลอด สิ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคือ หนึ่ง เมื่อมูบารักถูกประชาชนประท้วงมากเข้า ๆ สหรัฐฯ ก็กดดัน มูบารักเลยพยายามต่อรองกับประชาชนว่าจะไม่ลงเลือกตั้งสมัยหน้า เปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี สอง ประชาชนรวมตัวกันได้เป็นเอกภาพ มีความต่อเนื่องในการชุมนุม ปริมาณผู้ชุมนุมมีมาก สุดท้ายคือกองทัพ กองทัพอียิปต์เลือกรักษาประเทศมากกว่าบุคคล ในที่สุดจึงออกมาอย่างที่เห็นคือประธานาธิบดีตกจากอำนาจ แต่แม้มูบารักจะไม่อยู่แล้ว อำนาจตอนนี้อยู่กับกองทัพ สหรัฐฯ อาจกดดันให้อียิปต์เปลี่ยนผู้นำได้ แต่ไม่อยากเปลี่ยนระบอบที่เป็นอยู่ ซึ่งคงต้องดูต่อไปว่ากองทัพอียิปต์จะส่งผ่านอำนาจอย่างไร นักวิชาการอาหรับหลายคนบอกว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะไม่นำไปสู่ระบอบประชาธิปไตยได้ง่าย ๆ เพราะต้องไม่ลืมว่าวงจรของระบบคอร์รัปชันในอียิปต์ยังคงอยู่อย่างแข็งแกร่ง ระบบอุปถัมภ์ในอียิปต์ยังไม่ไปไหน กำแพงเหล่านี้คงไม่ทลายลงในเวลาชั่วข้ามคืน มันต้องใช้เวลา

ที่ลิเบีย อะไรทำให้กัดดาฟีกล้าที่จะรบกับประชาชนและกล้ารบกับองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ(นาโต) นำโดยพันธมิตรตะวันตกที่มาแทรกแซงในนามการบังคับใช้มติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการปกป้องพลเรือน
กรณีลิเบีย อัตราความยากจนและการว่างงานสูงมากทั้งที่มีน้ำมันมากมายในประเทศ นี่ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ประชาชนลุกฮือ แต่อย่างที่เรียนไปแล้วว่าอำนาจอยู่ในมือกัดดาฟีพอบวกกับวิธีคิดของเขาสงครามกลางเมืองจึงเกิดขึ้น ในลิเบียความรู้สึกแบบชนเผ่ามีมากกว่าที่อื่น กัดดาฟีต่างจากผู้นำอาหรับคนอื่นตรงที่ได้รับการสนับสนุนจากชนเผ่าของตนอย่างเหนียวแน่น เดิมนโยบายกัดดาฟีคือไม่ให้สมาชิกชนเผ่าอื่นขึ้นมามีอำนาจทางทหาร ทหารคนไหนมีแววเขาจะกำจัดจนเหลือแต่สมาชิกที่เชื่อใจได้ ดังนั้นเมื่อสมาชิกแปรพักตร์จะเกิดความอ่อนแอ สถานการณ์ตอนนี้ปรากฏว่าสองเผ่าที่มีคนเป็นล้าน ๆ กลายเป็นฝ่ายต่อต้านแล้ว แต่เผ่าของกัดดาฟีเองยังสวามิภักดิ์ กัดดาฟีจึงยังมีกำลังที่แข็งแกร่ง ที่ต้องไม่ลืมคือกัดดาฟีเป็นทหาร มีอุดมการณ์คล้ายอดีตประธานาธิบดีนัสเซอร์ของอียิปต์ คือชูประเด็นชาตินิยมอาหรับสู้กับจักรวรรดินิยมตะวันตก พยายามรวมรัฐอาหรับให้เป็นเอกภาพ แนวทางพัฒนาประเทศคือระบอบสังคมนิยม ที่น่าสนใจคือในอดีตรัฐบาลกัดดาฟีโดนเล่นงานมาตลอด อาทิ โดนแซงก์ชันจากองค์การสหประชาชาติ โดนสหรัฐฯ โจมตี เมื่อสหรัฐฯ และพันธมิตรเริ่มยุทธการ Odyssey Dawn* กัดดาฟีก็แถลงข่าวตรงตึกที่โดนจรวดโทมาฮอว์กเพื่อบอกว่าเขาอยู่ได้โดยไม่ง้อใคร

อีกเรื่องคือ ในประวัติศาสตร์ช่วงที่ดินแดนต่าง ๆ ในตะวันออกกลางเปลี่ยนผ่านจากอาณานิคมมาสู่รัฐสมัยใหม่แต่ละดินแดนก็ผ่านประสบการณ์แตกต่างกัน กรณีตูนิเซียระบบการเมืองค่อนข้างพัฒนาเป็นรัฐทางโลก (Secular State) มีสถาบันการเมือง มีภาคประชาสังคม เช่นเดียวกับอียิปต์ แต่ในลิเบียไม่มีเรื่องนี้เลย พอยึดอำนาจจากกษัตริย์เขาไม่พัฒนาอะไร ตัวกัดดาฟีกลายเป็นศูนย์กลาง ที่ทำคือตั้งสภาประชาชนขึ้นมาเท่านั้น ฉะนั้นในกรณีลิเบีย ผมคิดว่าการเปลี่ยนผ่านอำนาจจะยากกว่าประเทศอื่น ๆ

ดูเหมือนว่ากัดดาฟีไม่ยอมแพ้ และชาติตะวันตกก็ถลำตัวไปติดศึกในลิเบีย อาจารย์มองว่าสถานการณ์จะจบลงอย่างไร
เมื่อการแทรกแซงจากต่างชาติเริ่มขึ้น อาทิ กรณีฝรั่งเศสรับรองรัฐบาลของกลุ่มต่อต้าน ในแง่หนึ่งมันคือการทำลายกฎหมายระหว่างประเทศเรื่องอำนาจอธิปไตย การไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น แต่ในอีกด้านหนึ่ง กัดดาฟีได้ประกาศสงครามกับประชาชนของตัวเอง ทำให้ฝรั่งเศสมีความชอบธรรมในการรับรองรัฐบาลของฝ่ายต่อต้านในระดับหนึ่ง กรณีการบังคับใช้เขตห้ามบินของนาโตในลิเบีย คงต้องลองเทียบกับกรณีอิรักเข้ายึดคูเวต แล้วยูเอ็นมีมติให้โจมตีอิรักในปี ค.ศ. ๑๙๙๑ ตอนนั้นประธานาธิบดีอิรักคือ ซัดดัม ฮุสเซน
รบไปสักพักก็ยอมแพ้ ต่อมามีการกำหนดเขตห้ามบินซัดดัมก็รับ มตินี้มีความชอบธรรมและแน่ใจได้ระดับหนึ่งว่าจะไม่เกิดสงครามเมื่อมีเขตห้ามบินในอิรักเพราะซัดดัมยอมรับ แต่ในลิเบียกัดดาฟีไม่มีท่าทีอ่อนข้อ เขาสู้เต็มที่

ดังนั้นมาตรการนี้คือการประกาศสงครามกับลิเบียนั่นเอง ที่น่ากลัวคือคนอาหรับคิดอย่างไร ประเด็นการขับไล่ผู้นำจะถูกเปลี่ยนหรือไม่ อาจมองได้ว่าเป็นความพยายามครอบครองแหล่งน้ำมันของมหาอำนาจตะวันตก กล่าวคือทั่วโลกมีน้ำมันคุณภาพสูงอยู่ใน ๒ แหล่ง คือลิเบียและแอลจีเรีย กรณีลิเบียชาติตะวันตกให้ความสำคัญและกระตือรือร้นมาก เพราะประเทศที่พึ่งพิงน้ำมันจากลิเบียจริง ๆ คือยุโรปตะวันตก มันมีส่วนทำให้ชาติตะวันตกหลายประเทศตอบสนองความต้องการของฝ่ายต่อต้านกัดดาฟีทันที เพราะถ้าสถานการณ์แย่ลงอาจกระทบกับราคาน้ำมัน สหรัฐฯ ก็ต้องระวังมาก ๆ คือมันจะยุ่งถ้าสหรัฐฯ เข้าไปติดหล่ม อาจเกิดสถานการณ์ที่คนจำนวนมากกลายเป็นนักรบ พยายามต่อต้านอเมริกา ที่ผ่านมามีการทำโพลพบว่าร้อยละ ๘๐ ของคนตะวันออกกลางรู้สึกต่อต้านสหรัฐฯ

กรณีชาติพันธมิตรตะวันตกเปิดฉากโจมตีทำสงครามกับลิเบียนั้น ปฏิบัติการครั้งนี้ฝ่ายตะวันตกอ้างว่าทำตามมติยูเอ็น ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาอื่นตามมา เช่นทำให้โลกอาหรับมองว่าใช้อำนาจของยูเอ็นเข้ามาแทรกแซงได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าความชอบธรรมของรัฐบาลกัดดาฟีมีอยู่แค่ไหน ทั้งนี้ การที่ยูเอ็นออกมติเปิดช่องให้ชาติตะวันตกใช้อาวุธ ใช้กำลังทหารเข้าไปจัดการ อาจทำให้ปัญหายุ่งยากไปอีกแบบหนึ่ง จะไม่ใช่แค่การต่อสู้ระหว่างกลุ่มต่อต้านกับรัฐบาล แต่จะโยงไปถึงมหาอำนาจหรือรัฐบาลภายนอกด้วย

อีกประการที่น่าสังเกตคือ ชาติตะวันตกที่โจมตีลิเบียในขณะนี้ ก่อนหน้านี้มีการติดต่อกับลิเบียทั้งการค้า มีความร่วมมือทางทหาร ส่งอาวุธ เจรจาสัมปทานน้ำมัน โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่มีความร่วมมือปราบปรามการก่อการร้าย แต่เมื่อเกิดความวุ่นวายในลิเบีย ชาติตะวันตกเหล่านี้ต่างหันกระบอกปืนไปที่กัดดาฟี ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าปฏิบัติการทางทหารดังกล่าวทำไปเพื่อมนุษยธรรมหรือผลประโยชน์ของชาติมหาอำนาจ

โดยสรุป ผมมองว่าปฏิบัติการทางทหารของชาติตะวันตกเป็นการแทรกแซงลิเบีย ขณะที่ข้อถกเถียงของสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรบอกว่านี่เป็นการเข้าไปคุ้มครองผู้ที่ต่อต้านกัดดาฟีในลิเบีย แต่คำถามคือวิธีการนี้สุดท้ายแล้วจะส่งผลอย่างไรทั้งต่อลิเบียเอง ต่อโลกอาหรับ และความสัมพันธ์ระหว่างโลกมุสลิมกับประเทศตะวันตก หากเปรียบเทียบลิเบีย กับอียิปต์ บาห์เรน ตูนิเซีย จอร์แดน ประเทศเหล่านี้อยู่ใต้อิทธิพลของประเทศตะวันตก แต่ลิเบียเป็นประเทศที่อยู่นอกอำนาจควบคุม เมื่อเป็นเช่นนี้อิทธิพลที่จะมีต่อการเปลี่ยนแปลงภายในลิเบียจึงต่างกัน เมื่อมีการใช้กำลังทหารจึงน่าเป็นห่วง จุดจบของความรุนแรงและการต่อสู้ในลิเบียอาจเหมือนอิรัก ที่แม้สงครามจบแล้ว แต่ก็ยังไม่เกิดเสถียรภาพในประเทศจนถึงปัจจุบัน

การแทรกแซงนอกจากมาจากชาติตะวันตกยังมีการแทรกแซงจากชาติในภูมิภาคด้วย โดยเฉพาะในกรณีบาห์เรนที่เปิดรับกำลังทหารจากซาอุดีอาระเบียเข้าไปปราบผู้ประท้วง
กรณีบาห์เรน ต้องอธิบายวิธีคิดของเขา รอบอ่าวเปอร์เซียถ้าลบเส้นเขตแดนออก บริเวณนี้คือศูนย์กลางโลกอาหรับ ต่างกับประเทศแถบนอกอาระเบียและแอฟริกาเหนือที่ความเป็นอาหรับเกิดขึ้นในภายหลัง ประเทศรอบอ่าวเปอร์เซียมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันสูงมากจนเกิดสิ่งที่เรียกว่า สภาความร่วมมือแห่งอ่าวเปอร์เซีย หรือ Gulf Cooperation Council (GCC) เหตุผลหนึ่งในการก่อตั้งองค์กรนี้คือความกลัวภัยจากการปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน

ย้อนไปใน ค.ศ. ๑๙๗๙ เกิดการปฏิวัติอิสลามในอิหร่าน มีการโค่นล้มพระเจ้าชาห์ มุสลิมในอิหร่านส่วนมากเป็นชีอะห์ ส่งผลให้คนชีอะห์ในซาอุดีอาระเบีย บาห์เรน ลุกขึ้นต่อต้านรัฐบาลด้วย ในซาอุฯ มีคนชีอะห์ร้อยละ ๑๕ ในบาห์เรนมีร้อยละ ๗๐ คือราชวงศ์เป็นสุหนี่ ประชากรเป็นชีอะห์ สิ่งนี้จึงถือเป็นภัยต่อความมั่นคงของพวกเขาร่วมกัน การแทรกแซงของสภา GCC อยู่บนฐานนี้ เมื่อระบอบกษัตริย์ในประเทศหนึ่งโดนคุกคามก็เท่ากับกระทบต่อระบอบกษัตริย์ในอีกประเทศหนึ่งด้วย มองจากมุมของราชวงศ์ที่ปกครองบาห์เรนและซาอุฯ ซึ่งต่างก็เป็นสุหนี่ เรื่องนี้หลุดออกจากกรอบความคิดเรื่องอธิปไตยของชาติไปแล้ว แต่หากมองจากมุมของผู้ชุมนุมประท้วงซึ่งส่วนใหญ่เป็นมุสลิมสายชีอะฮ์ เราก็คงจะได้คำตอบอีกแบบหนึ่ง

ในกรณีจอร์แดนและประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค อาจารย์มองอย่างไร
จอร์แดนค่อนข้างมีเสรีภาพทางการเมืองสูงกว่าประเทศอื่น ๆ ในโลกอาหรับ ผมเคยไปมหาวิทยาลัยที่นั่น นักศึกษาจับกลุ่มคุยเรื่องการเมืองได้ ชีวิตความเป็นอยู่ค่อนข้างดี เมื่อเกิดการประท้วงในจอร์แดน สิ่งที่เกิดขึ้นคือกษัตริย์จอร์แดนตอบสนองด้วยการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี ผมคิดว่าคงไม่บานปลายถึงขั้นขับไล่กษัตริย์เพราะโครงสร้างประชากรจอร์แดนครึ่งหนึ่งมีเชื้อสายปาเลสไตน์ อีกส่วนคือคนจอร์แดนแท้ ๆ คนจอร์แดนสนับสนุนราชวงศ์ ผู้ประท้วงส่วนมากเป็นปาเลสไตน์ แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่นอนคือการปฏิรูปการเมืองให้คนมีส่วนร่วมในการปกครองมากขึ้น ในเยเมนเรายังต้องจับตาดูสถานการณ์ต่อไปเพราะคนที่นั่นยังรวมตัวเป็นเอกภาพไม่ได้ เนื่องจากมีกลุ่มการเมืองหลายกลุ่ม ประเทศถูกแบ่งแยกออกเป็นสองส่วนมานานนับร้อย ๆ ปี เคยมีสงครามกลางเมือง ฉะนั้น แม้ประธานาธิบดีอาลี อับดุลลอฮ์ ศอและฮ์ จะถูกบีบให้ลงจากอำนาจในที่สุด แต่การเปลี่ยนผ่านอำนาจคงไม่ใช่เรื่องง่าย เสถียรภาพของรัฐบาลเยเมนในอนาคตจะเป็นอย่างไรเป็นเรื่องที่น่าติดตาม ส่วนที่ซีเรีย ความเป็นอยู่ของคนที่นั่นค่อนข้างดี แต่ไม่มีเสรีภาพทางการเมือง มีตำรวจลับเต็มเมืองไปหมด การลุกฮือก็มาจากปัจจัยที่สะสมมานาน

ผมคิดว่าคงต้องมองระยะยาวเพราะมีตัวแปรหลายตัว แต่ปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นทั่วตะวันออกกลางไม่ว่าประเทศนั้นจะมีการชุมนุมประท้วงหรือไม่ก็ตาม การปฏิรูปการเมืองอย่างเป็นรูปธรรมจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ผู้นำคนไหนไม่แสดงเจตจำนงในการปฏิรูปคงอยู่ในอำนาจไม่ได้ ต่อไปประชาชนต้องมีส่วนร่วมทางการเมือง มีการกระจายทรัพยากรให้ทั่วถึง สิ่งที่เราเห็นในตอนนี้มันเร่งกระบวนการให้ไปถึงจุดนั้น เราจะเห็น
“ตะวันออกกลางใหม่” ที่ต่างจากเดิม กระบวนการนี้ไม่ได้เกิดขึ้นและจบลงทันที มันจะยืดเยื้อยาวนานเพราะที่ผ่านมาในภูมิภาคตะวันออกกลางระบบเผด็จการหยั่งรากลึก การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยต้องใช้เวลา นี่คือก้าวแรก คือการเริ่มต้น และยังมีอีกหลายก้าวที่จะต้องเดินต่อไป

sarawut05เมื่อโลกอาหรับเกิดการเปลี่ยนแปลง มองอนาคตภูมิภาคตะวันออกกลางไว้อย่างไร
เหตุการณ์นี้จะมีผลในการกำหนดทิศทางการแก้ปัญหารัฐปาเลสไตน์ที่เป็นปัญหาของภูมิภาคตะวันออกกลางกับอิสราเอล รัฐปาเลสไตน์ยังเป็นปัญหาที่รอการแก้ไข ที่ผ่านมารัฐบาลชาติต่าง ๆ ในตะวันออกกลางอ่อนแอ ไม่อาจเป็นกระบอกเสียงให้คนปาเลสไตน์ได้ เมื่ออิสราเอลล้อมปราบปาเลสไตน์ในฉนวนกาซ่า พวกเขาก็ทำอะไรไม่ได้ทั้งที่คนปาเลสไตน์มีศาสนาเดียวกันและใช้ภาษาเดียวกันกับพวกเขา แต่ต่อไปจะไม่เป็นอย่างนั้น ถ้าการเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคไปถึงจุดลงตัวในระดับหนึ่ง ย้ำว่าต้องนิ่งนะครับ ปัญหาปาเลสไตน์จะถูกพูดถึงด้วยน้ำเสียง
อีกแบบ โลกอาหรับจะมีพลังแก้ปัญหานี้มากขึ้น จากเดิมที่ปัญหานี้ถูกหยิบยกมาพูดโดยรัฐบาลชาติอาหรับเพียงไม่กี่ประเทศ อิสราเอลต้องฟังคนอาหรับมากขึ้น เพราะเสียงจะมาจากคนอาหรับทั้งภูมิภาคที่ต้องการแก้ปัญหาแบบสันติวิธี ไม่ใช่เจรจาแบบหลอกลวงไปวัน ๆ เหมือนที่เป็นอยู่

ผมเข้าใจว่ามหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ตอนนี้ตามเกมในตะวันออกกลางไม่ทัน คิดดูว่าเหตุการณ์ประท้วงใหญ่ครั้งแรกในตูนิเซียที่เป็นพันธมิตรแนบแน่นกับสหรัฐฯ ประชาชนใช้เวลาไม่กี่วันล้มรัฐบาลตูนิเซีย ขณะที่สหรัฐฯ ไม่ได้แสดงท่าทีใด ๆ ต้องรอจนเกิดการประท้วงในอียิปต์ถึงเริ่มออกมาแถลงกดดันรัฐบาลอียิปต์ให้ปฏิรูปการเมือง เรียกได้ว่าสหรัฐฯ ไม่ได้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์เหล่านี้ แถมยังคุมสถานการณ์ไม่ได้ด้วย ทำได้เพียงปรับนโยบายของตนตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ฉะนั้น ผมจึงคิดว่านี่เป็นสัญญาณอย่างหนึ่งที่ชี้ว่าอิทธิพลของสหรัฐฯ ในตะวันออกกลางกำลังอ่อนแรงลง

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลางเกี่ยวข้องอย่างไรกับไทย คนไทยควรเรียนรู้อะไรจากปรากฏการณ์นี้
ในภาคประชาชน ไทยกับตะวันออกกลางมีความสัมพันธ์ระหว่างกันค่อนข้างมาก เรื่องแรกคือแต่ละปีนักเรียนไทยไปเรียนศาสนาในภูมิภาคนี้จำนวนมาก ในอียิปต์มีนักเรียนไทย ๒,๕๐๐ คน ซาอุดีอาระเบียมีหลักร้อย ลิเบียก็มี บางคนออกเงินไปเรียนเอง บางคนได้ทุน เราได้องค์ความรู้ด้านตะวันออกกลางส่วนหนึ่งจากคนเหล่านี้ ที่ผ่านมามักมีการนำคนเหล่านี้ไปเชื่อมกับการก่อความไม่สงบใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งผมคิดว่าไม่ใช่ เพราะสถาบันการศึกษาศาสนาในตะวันออกกลางไม่เคยสอนหรือสนับสนุนความรุนแรง ต้องอธิบายว่าตะวันออกกลางคือศูนย์กลางการเรียนศาสนาอิสลาม มีมหาวิทยาลัยชั้นนำจำนวนมากที่โลกมุสลิมยอมรับ อาทิ มหาวิทยาลัยตูนิสในตูนิเซีย มหาวิทยาลัยอัลอัซฮัรในอียิปต์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่สุดในโลกมุสลิม มีอายุนับพันปี สังคมมุสลิมให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ นอกจากนั้นเรายังมีองค์กรการกุศลจากตะวันออกกลางมากมายที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือด้านสังคมสงเคราะห์แก่มุสลิมในประเทศไทย

อีกส่วนคือแรงงานและการค้า แรงงานไทยจำนวนมากไปทำงานในประเทศที่ร่ำรวยน้ำมัน สมัยก่อนแรงงานไทยทำงานในซาอุฯ จำนวนมากจนพอเกิดเรื่องเพชรซาอุถึงลดจำนวนลง ล่าสุดในลิเบียมีแรงงานไทยร่วม ๒ หมื่นคน ในอียิปต์ก็มีจำนวนมากพอสมควร ระยะหลังไทยค้าขายกับตะวันออกกลางมากเพราะเราตันในตลาดยุโรปกับญี่ปุ่น เราสนใจการผลิตอาหารฮาลาล สนใจการเชื่อมเครือข่ายการเงินกับธนาคารอิสลาม คนจากตะวันออกกลางก็มาซื้อของ มาใช้บริการด้านสุขภาพในโรงพยาบาลบ้านเราเพราะค่าใช้จ่ายถูกเมื่อเทียบกับที่อื่น เรื่องค้าขายเราใกล้ชิดตะวันออกกลางมากกว่าภูมิภาคเอเชียใต้ (อินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ) เสียอีก

สำหรับไทย การเปลี่ยนแปลงในตะวันออกกลางไม่ว่าจะสำเร็จหรือไม่ในประเทศใด แนวโน้มที่ชัดเจนคือทุกประเทศต้องมีการปฏิรูปการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปกครองประเทศ ที่สำคัญคือการมีสิทธิเสรีภาพมากขึ้น ผมเชื่อว่าสภาวะแวดล้อมเช่นที่ว่าจะเอื้อให้เราติดต่อและสร้างความสัมพันธ์กับประเทศเหล่านี้ได้ดีกว่าสมัยก่อนที่ประเทศเหล่านี้อยู่ในระบอบการปกครองเดิม และผมเชื่อว่าพัฒนาการทางการเมืองในตะวันออกกลางขณะนี้จะเป็นบวกกับไทยมากกว่าลบ ดังนั้นเราควรจัดตั้งองค์กรหรือศูนย์ติดตามสถานการณ์ในตะวันออกกลางอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ที่ผ่านมาคนไทยไม่สนใจตะวันออกกลาง ทั้งที่เรามีแรงงานและผลประโยชน์ทางธุรกิจจำนวนมาก จนทศวรรษที่ผ่านมาเมื่อเรามี ส.ส. มุสลิมจากภาคใต้ เราถึงสนใจเรื่องนี้มากขึ้น ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ (อดีต รมว.กระทรวงการต่างประเทศ ปัจจุบันเป็นเลขาธิการอาเซียน) คือคนที่นำประเทศไทยเข้าเป็นชาติสังเกตการณ์ขององค์การการประชุมอิสลาม หรือ OIC (Organization of the Islamic Conference)

ที่ผ่านมาแหล่งเรียนรู้ด้านตะวันออกกลางของเราคือนักเรียนไทยที่ไปเรียนในภูมิภาคนี้ นี่คือทรัพยากรที่เราไม่เคยใช้ประโยชน์อย่างจริงจัง ตามมหาวิทยาลัยเรามีหนังสือเกี่ยวกับตะวันออกกลางมากมายแต่ไม่มีหน่วยงานที่เผยแพร่ความรู้ ส่วนมากเราได้ความรู้ผ่านสื่อตะวันตกซึ่งจริงบ้างไม่จริงบ้าง บุคลากรของเราในด้านนี้แทบนับคนได้ ภูมิภาคตะวันออกกลางถ้าเราลบเส้นเขตแดนมันเป็นหนึ่งเดียว หากตั้งใจศึกษาก็ใช้เวลาเชื่อมโยงไม่นาน ที่ผ่านมาเราไม่สนับสนุนคนของเราให้ทำงานด้านนี้อย่างจริงจัง ต่างกับมาเลเซียที่ส่งคนไปเรียนที่นั่น จบมาก็ทำงานให้รัฐบาลคอยติดต่อกับประเทศในภูมิภาคนี้ ในอนาคตเรายังมีปัญหาที่ต้องแก้อีกมากเรื่องการต่างประเทศกับตะวันออกกลาง โดยเฉพาะกรณีเพชรซาอุ คดีสังหารนักการทูตซาอุฯ ในกรุงเทพฯ ที่เราไม่อาจแก้ปัญหาให้จบได้จนกระทบความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบีย

เหตุการณ์การชุมนุมประท้วงในตะวันออกกลางคงไม่จบลงในเร็ววัน มันจะต่อเนื่องยาวนาน ในภูมิภาคตะวันออกกลางมีความเหมือนกันสูง แต่กระแสนี้จะลามไปนอกภูมิภาคนั้นคงยาก การชุมนุมประท้วงในตะวันออกกลางมีประเด็นหลักคือการขับไล่ผู้นำเผด็จการที่ครองอำนาจมายาวนาน และการเรียกร้องการปฏิรูปการเมือง ลักษณะสำคัญคือไม่มีแกนนำ ผู้ชุมนุมไม่ยึดโยงกลุ่มการเมืองใด เมื่อไม่นานมานี้เกิดปรากฏการณ์ในฉนวนกาซ่า เขตเวสต์แบงก์ คนลุกขึ้นมาประท้วง ไม่ได้ไล่ผู้นำ ไม่ได้ไล่รัฐบาล แต่ประท้วงขอให้กลุ่มฮามาสที่ปกครองฉนวนกาซ่ากับกลุ่มฟาตาห์ในเขตเวสต์แบงก์เข้ามาปรองดองกัน นี่เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ เป็นปรากฏการณ์เชิงบวกที่ผมไม่เห็นที่อื่น บ้านเราถ้ามีการชุมนุมเรียกร้องความปรองดอง ความเป็นเอกภาพระหว่างเสื้อแดงกับเสื้อเหลืองจะเป็นอย่างไร เพราะช่วงหลายปีที่ผ่านมาชัดเจนว่ากลุ่มผู้ประท้วงส่วนมากไม่ว่าสีใดล้วนยึดโยงกลุ่มการเมือง มีแกนนำชัดเจน โดยส่วนตัวผมสนับสนุนเต็มที่ในการเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ต้องเป็นการชุมนุมโดยไม่อยู่บนผลประโยชน์ของคนกลุ่มใด เรียกร้องความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ระบอบที่ดีขึ้น เรียกร้องการปฏิรูปการเมือง ความยุติธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม มากกว่าจะมุ่งโค่นผู้นำคนนั้นคนนี้อย่างเดียว