เรื่อง : ภัทรวดี สุพรรณพันธุ์

F for Fake : มหกรรมลวงโลกครั้งสุดท้ายของ ออร์สัน เวลส์

เมื่อเอ่ยชื่อ ออร์สัน เวลส์ คอหนังคงนึกถึง Citizen Kane(๑๙๔๑) หนังรางวัลออสการ์ ซึ่งสร้างชื่อให้เวลส์เป็นผู้กำกับหนุ่มที่น่าจับตามองมากที่สุด ในวัยเพียง ๒๕ ปี เวลส์หาญกล้าทำหนังที่แหวกกฎเกณฑ์และความซ้ำซากจำเจของหนังฮอลลีวูดยุคนั้น ด้วยการหันมาเล่นกับเทคนิคการถ่ายภาพแบบ deep-focus หรือภาพชัดลึกซึ่งพึ่งพาการตัดต่อน้อยมาก แทนที่จะยึดติดอยู่กับเทคนิคการตัดต่อภาพแบบ soviet montage หรือ shot/reverse shot อย่างที่นิยมกัน ผลคือภาพที่ให้ความรู้สึกสมจริง (realism) ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ชมเก็บรายละเอียดในแต่ละฉากได้อย่างอิสระ โดยไม่ถูกยัดเยียดความหมายหรือโน้มนำทางอารมณ์มากนัก อังเดร บาแซ็ง นักวิจารณ์ชาวฝรั่งเศสผู้ยิ่งใหญ่ ถึงกับยกย่อง Citizen Kane ว่าเป็นหนังที่เปิดศักราชใหม่ให้แก่วงการหนังอเมริกัน

fforfake02

ยิ่งเวลาผ่านไป สถานภาพของ Citizen Kane และเวลส์ในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ก็ยิ่งมั่นคง ดังที่ ปีเตอร์ วูลเลน เคยกล่าวว่า “การเขียนถึง Citizen Kane ก็คือการเขียนถึงภาพยนตร์” เมื่อไม่นานมานี้ สถาบันภาพยนตร์อเมริกัน (American Film Institute-AFI) ได้ประกาศให้ Citizen Kane ครองอันดับ ๑ ติดต่อกันเป็นสมัยที่ ๒ ในการจัดอันดับหนังอเมริกันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล

ส่วนตัวผู้เขียนเองกลับติดใจฉากวางระเบิดรถยนต์ตอนเปิดเรื่องของ Touch of Evil (๑๙๕๘) มากกว่า เวลส์ถ่ายฉาก long take ยาว ๓ นาทีครึ่งนี้อย่างต่อเนื่องรวดเดียวโดยไม่มีการตัดภาพ มาตัดทีเดียวตอนสุดท้ายที่รถระเบิด ฉากนี้เวลส์ใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ของภาษาหนังสร้างอารมณ์ระทึกได้อย่างมีเสน่ห์แบบคลาสสิกมาก โดยไม่ต้องพึ่งเอฟเฟ็กต์อะไรให้ยุ่งยากเลย

Citizen Kane และ Touch of Evil เป็นหนังที่เวลส์ทำกับสตูดิโอในระบบหนังกระแสหลัก เลยมีโอกาสแสดงฝีมือเล่นกับเทคนิคกล้อง แสง และฉากได้อย่างเต็มที่ แต่บางครั้งเมื่อเขาทำหนังนอกกระแสทุนต่ำ ก็จะหันมาเน้นเทคนิคราคาถูกอย่างการตัดต่อแทน F for Fake (๑๙๗๔) หนังเรื่องสุดท้าย (ที่เสร็จสมบูรณ์) ของเขา ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ใช้เทคนิคการตัดต่ออย่างหนักหน่วง ซึ่งได้ผลลัพธ์ออกมาน่าทึ่งไม่แพ้งานสตูดิโอ

ความที่เวลส์เป็นนักเล่าเรื่องตัวฉกาจ เขาชอบทดลองนำวิธีการเล่าเรื่องหลายๆ แบบมาใช้อย่างอิสระ เช่นใน Citizen Kane เขายำรวมขนบการเล่าเรื่องของหนังหลายประเภทเข้าด้วยกัน ทั้งหนังสืบสวนสอบสวน หนังชีวประวัติ และหนังสารคดีข่าว แต่แล้วกลับนำเสนอโดยไม่ยึดติดกับจารีตของขนบนั้น F for Fake ก็เช่นกัน เวลส์ตัดต่อบทสัมภาษณ์ ภาพข่าว นิยาย สารคดี และความคิดเห็นส่วนตัว เข้าด้วยกันโดยไม่คำนึงถึงความต่อเนื่องมากเท่ากับความหมายที่ต้องการสื่อ ซึ่งปรากฏว่าวิธีนี้ทำให้ภาพและเรื่องที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกัน สามารถร้อยเรียงเป็นเรื่องเดียวกันได้อย่างลื่นไหล เกิดเป็นภาพรวมที่นำเสนอสาระหลักของหนังได้ทั้งแรงและลึก เวลส์เรียก F for Fake ว่าเป็น “หนังชนิดใหม่” (a new kind of film) ส่วนนักวิจารณ์เห็นว่าเป็นหนังลูกผสมระหว่าง essay film กับหนังสารคดี บ้างก็ว่าเป็นหนังสารคดีไร้รูปแบบ (free-form docu-mentary)

F for Fake เล่าเรื่องคละเคล้ากันไปทั้งเรื่องจริงเรื่องเล่น เนื้อหาหลักคือเรื่องราวของ เอลมีร์ เด ฮอรี (Elmyr de Hory) นักปลอมแปลงงานศิลปะผู้อื้อฉาวและโด่งดังที่สุดในศตวรรษที่ผ่านมา กับ คลิฟฟอร์ด เออร์วิง (Clifford Irving) ผู้เขียนหนังสือชีวประวัติของเอลมีร์ ซึ่งภายหลังกลับฉาวโฉ่เสียเองเพราะไปปลอมแปลงหนังสือชีวประวัติของมหาเศรษฐี โฮเวิร์ด ฮิวส์ ใครอยากทราบเบื้องลึกคดีกลโกงที่สำนักพิมพ์ยักษ์ใหญ่อย่างแม็กกรอว์-ฮิลล์ถูกเออร์วิงต้มเสียสุก แนะนำให้หาหนังเรื่อง The Hoax (Lasse Hallstrom, ๒๐๐๖) ผลงานชิ้นเยี่ยมในชีวิตการแสดงยุคหลังของ ริชาร์ด เกียร์ มาดู] นอกนั้นเป็นฉากสัพเพเหระที่ดูเหมือนไม่มีความข้องเกี่ยวกันสักนิด แต่จริงๆ กลับเกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งกับสาระของหนังและชีวิตส่วนตัวของเวลส์ เช่น ฉากล้อเลียนปิกัสโซกับฉากมหาวิหารแห่งชาร์ตร์ (Chartres Cathedral) ในฝรั่งเศส ที่เวลส์ใส่เข้ามาเพื่อตอบกระทู้หลักของหนัง ฉากจานบินบุกโลกที่ย้อนรำลึกถึงสมัยเวลส์ทำละครวิทยุเรื่อง War of the Worlds แล้วคนตกใจกันทั้งประเทศเพราะนึกว่ามนุษย์ต่างดาวมาบุกโลกจริง หรือฉาก News on the March ที่อ้างอิงถึงหนัง Citizen Kane กับมหาเศรษฐีฮิวส์ แล้วโยงใยไปถึงกรณีพิพาทระหว่างเวลส์กับ พอลลีน เคล นักวิจารณ์คนสำคัญของอเมริกา จะเรียกว่า F for Fake เป็นหนังส่วนตัวที่สุดของเวลส์ก็ว่าได้

fforfake03

fforfake04

fforfake05

หนังเปิดฉากในสถานีรถไฟแห่งหนึ่ง เวลส์ซึ่งอยู่ในชุดเสื้อคลุมและหมวกสีดำกำลังเล่นกลเหรียญให้เด็กดู เขากล่าวกับผู้ชมว่า “ท่านสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษ หนังเรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับเล่ห์กระเท่ห์ การฉ้อฉล และการโกหกหลอกลวง” จากนั้นหนังตัดไปที่ภาพตัวอักษร Fake! และตัดเข้าภาพใบหน้าของเอลมีร์ พร้อมทั้งตั้งคำถามว่า เอลมีร์คือใคร

หนังทิ้งคำถามไว้อย่างไม่สนใจตอบจริงจัง นั่นเพราะเวลส์ไม่มีเจตนาทำ F for Fake ให้เป็นหนังชีวประวัติของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องการใช้คดีฉ้อฉลที่เอลมีร์ก่อไว้กับโลกศิลปะ มาเปิดเปลื้องความจริงบางอย่างซึ่งเวลส์รู้สึกว่ามันสะท้อนถึงความจอมปลอมในวงการศิลปะ หนังแสดงให้เห็นว่าฝีมือการปลอมแปลงของเอลมีร์นั้นอัจฉริยะเข้าขั้นเทพ วิธีการคือเขาไม่ได้ปลอมภาพที่มีอยู่แล้ว แต่ใช้วิธีลอกเลียนสไตล์ของศิลปินดังๆ เช่น ปิกัสโซ มาติส โมดิลยานิ และเรอนัวร์ แล้ววาดภาพขึ้นใหม่ตามสไตล์นั้น ซึ่งทำให้ยากต่อการพิสูจน์ยิ่งขึ้นว่าภาพดังกล่าวเป็นภาพปลอม เขาจึงสามารถตบตาผู้เชี่ยวชาญทางศิลปะและหลอกขายภาพได้เป็นจำนวนมากกว่าจะถูกจับได้ บางคนเชื่อว่าตามแกลเลอรีใหญ่ๆ ทั่วโลกน่าจะยังมีภาพเขียน (ปลอม) ของเอลมีร์หลงเหลืออยู่ไม่น้อย

ฝีมือการปลอมแปลงที่เนียนสุดๆ ของเอลมีร์ ทำให้หนังตั้งคำถามต่อไปว่า แล้วจะถือว่าผลงานของเอลมีร์เป็นงานศิลปะหรือไม่ ถ้าใช่ มันจะมีคุณค่าเทียบเท่ากับผลงานของศิลปินตัวจริงหรือไม่ในเมื่อมันก็สวยเท่าๆ กันจนแยกแยะไม่ออกอย่างนี้ แล้วที่สำคัญ มันแฟร์หรือเปล่าที่โลกศิลปะไม่ยอมยกย่องความสามารถของเอลมีร์ แต่กลับกล่าวหาว่าเขาเป็นอาชญากร

ทุกวันนี้เราคุ้นเคยกับแนวคิดที่ว่างานศิลปะคือ “ของสูง” เมื่อเทียบกับงานพาณิชย์ศิลป์ แต่หารู้ไม่ว่าเดิมที “ศิลปิน” กับ “ช่าง” ไม่ได้มีสถานภาพแตกต่างกันนัก ชาวตะวันตกก่อนยุคเรอเนซองซ์เชื่อว่ามนุษย์มิอาจเอื้อมเป็น “ผู้สร้าง” ได้ เพราะนั่นคือสถานภาพซึ่งสงวนสิทธิ์ไว้เฉพาะพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น งานศิลปะจึงถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ เป็นแรงบันดาลใจทางศาสนา หรือเพื่อความสวยงาม โดยไม่ได้ให้ความสำคัญแก่ศิลปินผู้สร้างงานแต่อย่างใด ระบบทุนนิยมในยุคต่อมาก่อให้เกิดการกระจายรายได้มากขึ้น งานศิลปะกลายเป็นที่ต้องการอย่างสูงในกลุ่มชนชั้นกลางซึ่งมีฐานะร่ำรวยขึ้น พวกพ่อค้าหัวใสจึงปั่นราคาโดยการขายชื่อศิลปิน ส่วนศิลปินก็เริ่มทำสัญลักษณ์ หรือเซ็นชื่อไว้ที่ผลงานเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของ ชื่อเสียงเรียงนามของศิลปินจึงเริ่มเข้ามามีบทบาทในการกำหนดคุณค่าและมูลค่าของงานศิลปะตั้งแต่นั้นมายิ่งตลาดงานศิลปะเติบโตคึกคักมากขึ้นเท่าใด ชื่อเสียงของศิลปินก็ยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นเท่านั้น ผลงานของศิลปินชื่อดังจึงมีราคาแพงและเป็นที่ต้องการของตลาด แน่นอนว่าผู้ซื้อก็ต้องการ “สินค้า” ที่คุ้มค่าราคา แต่ปัญหาคือจะรู้ได้อย่างไรว่าศิลปินคนไหนเก่ง หรืองานศิลปะชิ้นไหนควรค่าแก่การซื้อหามาเก็บไว้ และที่สำคัญ จะดูออกได้อย่างไรว่าเป็นผลงานของศิลปินคนนั้นจริงๆ

ตรงนี้เองที่เปิดช่องให้เกิดกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า “ผู้เชี่ยวชาญ” (expert) ปฏิเสธไม่ได้ว่าในสังคมบริโภคนิยม ผู้เชี่ยวชาญคือคนกลางที่มีอิทธิพลยิ่ง ทุกวันนี้เราฟังคำชี้แนะของผู้เชี่ยวชาญกันตั้งแต่ตื่นยันหลับ ตั้งแต่วิธีการเลือกซื้อกระดาษทิชชูห้องน้ำไปจนถึงการเลี้ยงลูก ในแวดวงศิลปะก็เช่นกัน ผลงานที่ได้รับการยอมรับจาก “วงใน” ก็เสมือนได้รับการประทับตรารับรองคุณภาพ งานศิลปะ “สอบผ่าน” ซึ่งจัดแสดงอยู่ตามพิพิธภัณฑ์หรือแกลเลอรีใหญ่ๆ คือเครื่องพิสูจน์ได้เป็นอย่างดี

ภาพปลอมของเอลมีร์จึงเป็นการตบหน้าโลกศิลปะฉาดใหญ่ เพราะมันแสดงว่าคนที่เรียกตัวเองว่าผู้เชี่ยวชาญนั้น จริงๆ แล้วก็อาจจะไม่ได้มีความรู้สูงส่งกว่าคนธรรมดาทั่วไป ขณะที่คุณค่าของงานศิลปะกลับถูกแขวนไว้กับวิจารณญาณของคนกลุ่มนี้ เออร์วิงเล่าว่าเขาเคยนำแค็ตตาล็อกภาพเขียนของโมดิลยานิซึ่งมีภาพที่ปลอมโดยเอลมีร์ปะปนอยู่ไปให้ผู้เชี่ยวชาญตามแกลเลอรีดู ปรากฏว่าไม่มีใครบอกได้ว่าเป็นภาพจริงหรือปลอม เออร์วิงบอกว่าเหตุการณ์คราวนั้นทำเอาเขาสิ้นศรัทธาในแนวคิดเกี่ยวกับผู้เชี่ยวชาญไปเลยทีเดียว

จุดที่น่าสังเกตคือเวลส์เล่นงานผู้เชี่ยวชาญผ่านเอลมีร์ ทั้งที่คนอย่างเอลมีร์ต่างหากน่าจะเป็นศัตรูตัวเอ้ของศิลปินอย่างเวลส์ ฟรองซัวส์ ทรุฟโฟต์ ผู้กำกับและนักวิจารณ์ระดับปรมาจารย์เคยแสดงความเห็นไว้อย่างน่าสนใจว่า เขาคิดว่าเวลส์ทำเรื่อง F for Fake ขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์เดียวเท่านั้นคือ ตอบโต้คำกล่าวหาของ พอลลีน เคล ที่ว่า เวลส์ไม่ได้เขียนบทหนัง Citizen Kane เอง หากขโมยเครดิตมาจากคนเขียนบทตัวจริงคือ เฮอร์แมน เจ. แมนเคียวิกซ์ ซึ่งบัดนี้ก็เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปแล้วว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นเพียงคำพูดพล่อยๆ ไม่มีมูลความจริง แต่เวลส์ก็เจ็บช้ำน้ำใจมากเพราะ ๑. เคลเป็นนักวิจารณ์ระดับปัญญาชนซึ่งได้รับการนับหน้าถือตาในแวดวงการวิจารณ์อย่างสูง คนไม่น้อยจึงเชื่อถือคำพูดของเคล ๒. เวลส์เป็นศิลปิน “หัวดื้อ” ในสายตาของผู้บริหารสตูดิโอ เนื่องจากทำหนังโดยคำนึงถึงศิลปะมากกว่ารายได้ เมื่อเวลส์มีปัญหากับสตูดิโอหนักเข้า ก็ต้องระหกระเหินหาทุนทำหนังเอง ดังนั้นเขาจึงต้องพึ่งพานักวิจารณ์ในการนำหนังออกสู่ตลาดและผู้ชมในวงกว้าง ซึ่งปรกติเวลส์ก็รู้สึกอึดอัดกับพวกนักวิจารณ์และนักวิชาการที่คอยจับตามองทุกฝีก้าวอยู่แล้ว เพราะเขารู้สึกว่ามันพานทำให้ประสาทกินแล้วเลยคิดสร้างสรรค์อะไรไม่ออก พอมาเจอนักวิจารณ์ตัวเป้งกล่าวโจมตีว่าขโมยรางวัลออสการ์เลยยิ่งทำให้เวลส์รู้สึกเซ็งไปใหญ่

ตอนหนึ่งในหนัง เวลส์ถึงกับบอกว่า “นักปลอมแปลงน่ะไม่ใช่ของใหม่หรอก ของใหม่คือพวกผู้เชี่ยวชาญต่างหาก”

ประโยคนี้เวลส์หลอกด่าผู้เชี่ยวชาญ(รวมถึงนักวิจารณ์/นักวิชาการอย่างไม่ต้องสงสัย) ว่าเป็นพวกจอมปลอมที่หากินบนความสามารถของศิลปิน ไม่ต่างอะไรกับนักปลอมแปลง แถมยังฟาดหางไปถึงโลกศิลปะยุคทุนนิยม/บริโภคนิยมที่หลับหูหลับตาให้เครดิตแก่ผู้เชี่ยวชาญที่ไม่มีปัญญาแม้กระทั่งจะแยกแยะภาพปลอมออกจากภาพจริง

ในฐานะที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น auteur ผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของโลกภาพยนตร์ เวลส์กลับรู้สึกอิดหนาระอาใจกับความกลับกลอกในโลกศิลปะ เขามักพูดประชดว่า ชีวิตการทำงานของเขาตั้งต้นจากความสำเร็จสูงสุด แล้วค่อยๆ ตกต่ำลงเรื่อยๆ เนื่องจากเขาชอบทำงานแบบ auteur เต็มตัว คือเขียนบทเอง ถ่ายเอง ตัดต่อเองเสร็จสรรพ แต่ผู้บริหารสตูดิโอกลับไม่ไว้ใจและชอบเข้ามายุ่มย่าม เป็นผลให้ขัดใจกันจนในที่สุดเวลส์ก็ถูกตราหน้าว่าเป็นพวกติสต์แตก ทำงานด้วยยาก แถมผลงานก็ไม่รับประกันว่าจะทำเงิน เวลส์กับสตูดิโอเลยต้องใส่คอนเวิร์สทางใครทางมัน ส่วนพวกนักวิจารณ์ที่ชื่นชม Citizen Kane ก็ตั้งตารอให้เวลส์ทำหนังสไตล์เดียวกันออกมาอีก แต่เวลส์ไม่ใช่ auteur ประเภทที่ชอบทำหนังซ้ำแนวตัวเองจนเป็น “ลายเซ็น” ประทับไว้บนหนังทุกเรื่อง (เช่นหนังของ วูดดี้ อัลเลน) เขาชอบท้าทายคนดูด้วยมุมมองและวิธีการใหม่ๆ นักวิจารณ์ก็เลยแสดงความผิดหวังโดยไม่ต้อนรับหนังใหม่ของเขาอย่างอบอุ่นเท่าที่ควร อย่างตอนที่ F for Fake ออกฉายใหม่ๆ ก็ไม่มีใครสนใจเพราะมัน “แปลก” เกินไป
จึงเข้าใจได้ว่าทำไมโทนหนังถึงเอนเอียงเข้าข้างอาชญากรอย่างเอลมีร์ไม่น้อย เพราะจากประสบการณ์ของเวลส์ auteur คือภาพลวงตา เป็นแค่แนวคิดหรูๆ เพื่อหวังผลทางการค้า นอกจากนี้เขายังมองว่า auteur มีส่วนรับผิดชอบต่อปรากฏการณ์ “cult of personality” หรือการให้ความสำคัญกับตัวบุคคลมากกว่าผลงาน ที่เกิดขึ้นเป็นประจำในวงการศิลปะยุคใหม่ ซึ่งในทัศนะของเขา มันก่อให้เกิดการบิดเบือนและการสร้างภาพเพื่อผลประโยชน์ทางการค้าเป็นใหญ่ โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบด้านลบที่อาจเกิดขึ้นต่อตัวศิลปินและคุณค่าที่แท้จริงของงานศิลปะ

fforfake06

เวลส์สรุปสาระของ F for Fake อย่างตรงไปตรงมาในฉากมหาวิหารชาร์ตร์ หนังจงใจถ่ายภาพชาร์ตร์ให้ได้อารมณ์ฟุ้งๆ โรแมนติก แต่ก็ขรึมขลังสง่างาม ตอนแรกผู้เขียนรู้สึกงงๆ ว่า เอ…โบสถ์กอทิกเก่าแก่แห่งนี้มาเกี่ยวอะไรกับเรื่องเฟกไม่เฟกด้วย แล้วก็ถึงบางอ้อเมื่อเสียงบรรยายของเวลส์บอกเราว่าชาร์ตร์คือ “ผลงานชั้นเลิศของมนุษย์ หรืออาจจะเลิศล้ำที่สุดในโลกตะวันตกด้วยซ้ำ …และมันก็ปราศจากลายเซ็น…บางทีชื่อเสียงเรียงนามอาจจะไม่ใช่สิ่งสำคัญนักก็ได้”

ยังไม่พอ เวลส์เดินหน้าถล่มแนวคิด auteur ต่อด้วยเรื่องตลกล้อเลียนปิกัสโซ ความที่เวลส์รู้สึกว่าปิกัสโซเป็นตัวแทนของศิลปินประเภทที่ดังเสียจนตวัดพู่กันทีเดียวก็ขายภาพได้ เขาเลยแต่งเรื่องล้อความเจ้าชู้เมียเยอะของปิกัสโซ โดยทำเป็นว่าปิกัสโซแอบมองสาวสวยเดินผ่านหน้าบ้านทุกวัน (แสดงโดย โอยา โกดาร์ แฟนตัวจริงของเวลส์) จนวันนึงทนไม่ไหวเลยให้เธอมาเป็นแบบเปลือยให้ แต่แล้วกลับถูกหลอกขโมยภาพไปจนหมด เวลส์ใช้วิธีเอารูปถ่ายใบหน้า ปิกัสโซมาอัดขยายใหญ่ แปะไว้หลังมู่ลี่ แล้วทำเหมือนปิกัสโซเปิด-ปิดมู่ลี่คอยแอบดู การตัดต่อของเวลส์แม่นยำทั้งจังหวะ อารมณ์ และความหมาย ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เขาทำได้ยอดเยี่ยมตลอดทั้งเรื่อง ถือได้ว่า F for Fake เป็นหนังที่ใช้พลังการตัดต่อจนถึงขีดสุด

F for Fake ย้อนเย้ยความหมายของ auteur ในทุกวิถีทาง เวลส์ถึงกับเปิดและปิดเรื่องด้วยฉากเล่นกล พร้อมทั้งประกาศว่าตนคือคนลวงโลก (“I am a charlatan”)

ไม่เคยมี auteur คนไหนลุกขึ้นมาตั้งกระทู้ถามถึงคุณค่าของงานศิลปะที่ผูกโยงกับความหมายของ auteur และกลไกการตลาดอย่างที่เวลส์ทำ ถึงเวลส์จะขึ้นชื่อว่าเป็นผู้กำกับอีโก้จัด แต่อย่างน้อยเขาก็เป็นศิลปินหนึ่งในไม่กี่คนที่กล้าออกมายอมรับว่า ในโลกนี้ยังมีสิ่งอื่นที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวศิลปิน และสิ่งนั้นก็คืองานศิลปะ

สองปีหลังจาก F for Fake ออกฉาย เอลมีร์ฆ่าตัวตายด้วยการกินยานอนหลับเกินขนาด เมื่อเขาทราบข่าวว่าทางการสเปนได้ตกลงส่งมอบตัวเขาให้ทางการฝรั่งเศส เพื่อนำตัวไปดำเนินคดีในข้อหาปลอมแปลงงานศิลปะ

ที่น่าเจ็บปวดที่สุดคือ หลังจากเอลมีร์เสียชีวิต ภาพวาดของเขากลับมีชื่อเสียงและกลายเป็นที่ต้องการของนักสะสม จนถึงกับมีผู้ปลอมแปลงผลงานของเขาออกมาขาย

คิดดูอีกทีมันก็คงจริงอย่างที่เออร์วิงพูดไว้ในหนังตอนหนึ่งว่า “คุณภาพที่แท้จริงของภาพวาดไม่ได้อยู่ที่ว่ามันเป็นภาพจริงหรือปลอมหรอก แต่อยู่ที่มันเป็นภาพที่ปลอมได้ดีหรือแย่ต่างหาก”

เชิงอรรถ
๑.รางวัลบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม
๒.Peter Wollen, “Introduction to Citizen Kane”, Film Reader, no. 1 (1975, 9-15).
๓.ประกาศเมื่อปี ๒๐๐๗ โดย AFI จะจัดอันดับและประกาศรายชื่อหนังอเมริกันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล ๑๐๐ อันดับทุกๆ ๑๐ ปี