สุทัศน์ ยกส้าน
ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิต

venice01

ยามเย็นอันงดงามที่ Grand Canal

ประวัติศาสตร์โรมันได้บันทึกว่า Venice ถือกำเนิดในราวปี ๙๖๔ เมื่อผู้คนอพยพมาตั้งถิ่นฐานในตัวเมือง ซึ่งประกอบด้วยเกาะขนาดเล็ก ๑๑๘ เกาะ และคลอง ๑๖๐ สาย ที่มีความยาวทั้งสิ้น ๔๕ กิโลเมตร การตั้งอยู่ที่เส้นละติจูด ๔๕ องศา ๒๗ ลิปดาเหนือ และลองจิจูด ๒๒ องศา ๒๐ ลิปดาตะวันออก ตัดกันบนฝั่งทะเลเอเดรียติก ทำให้ Venice มีอากาศอบอุ่นในฤดูร้อน และไม่หนาวจนน้ำในคลองจับแข็งในฤดูหนาว คลองที่ใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุดของเมืองคือ Grand Canal มีความยาว ๔ กิโลเมตร และลดเลี้ยวผ่านเกาะเล็กเกาะน้อย โดยสองฟากฝั่งลำคลองมีอาคารสถานที่และตึกสร้างในสไตล์ Rococo, Romanesque, Renais-sance, Baroque และ Gothic มากมาย ลำคลองมีระดับน้ำลึกสุด ๔ เมตร ตื้นสุด ๒ เมตร และกว้างสุด ๖๙.๕ เมตร ในภาพรวม Venice มีสะพานทอดข้ามประมาณ ๕๐๐ สะพาน ซึ่งนับว่าเพียงพอให้ชาวเมืองสามารถเดินติดต่อกันได้ทั้งเมือง Venice ไม่มีถนนสายใหญ่ จะมีก็เพียงทางแคบ ๆ และมีจัตุรัสบ้าง จึงใช้จักรยานในการสัญจร พาหนะสำคัญที่นับเป็นเอกลักษณ์ของ Venice คือเรือกอนโดลาและเรือยนต์ Venice สามารถติดต่อกับผืนแผ่นดินใหญ่ได้โดยทางรถไฟที่สถานี Mestre

สถานที่สำคัญของเมือง ได้แก่ จัตุรัส San Marco, มหาวิหาร St. Mark, หอนาฬิกา (Campanile), พระราชวังอายุร่วม ๖๐๐ ปีของ Doge ผู้ครองนคร ซึ่งมีภาพวาดขนาดใหญ่ประดับผนังมากมาย นอกจากนี้ Venice ก็ยังมีโบสถ์ Santa Maria della Salute, พิพิธภัณฑ์ Academy of Fine Arts, สะพาน Rialto บนสะพานมีร้านขายของ และมีอาคาร Ca’ d’Oro ที่โดดเด่นในสไตล์ Gothic เป็นต้น

ความสวยงามและความหรูหราของชีวิตคนเมืองนี้ได้เป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินหลายคนสร้างสรรค์ผลงานอมตะมากมาย เช่น Tiepolo, Canaletto, Capriccio, Giotto, Tintoretto, Bellini, Veronese และ Titian ผู้ซึ่งองค์จักรพรรดิ Charles ที่ ๕ โปรดมากถึงขนาดไม่ให้จิตรกรคนอื่นใดวาดภาพพระองค์นอกจาก Titian คนเดียว

ในส่วนของนักประพันธ์นั้น หลายคนก็ตกหลุมรัก Venice เช่น Lord Byron ได้เคยขนานนาม Venice ว่าเป็น fairest city of the heart และเมื่อครั้งที่ท่านลอร์ดมาเยือน Venice ท่านได้เคยว่ายน้ำใน Grand Canal กลับที่พักในยามดึก หลังจากที่ได้ไปเยี่ยมคู่รัก ผู้ซึ่งเมื่อถูกทิ้งก็ได้กระโดดน้ำตายที่ Grand Canal นั่นเอง ส่วน Mark Twain เจ้าของบทประพันธ์เรื่อง The Adventures of Tom Sawyer ก็ได้เคยเปรียบเรือกอนโดลาที่ทาสีดำทั้งลำเรือตามที่กฎหมายปี ๒๑๐๕ ระบุไว้ ว่ายามล่องในลำคลองเป็นเสมือนงูสีดำเลื้อยไปบนผิวน้ำ Thomas Mann ได้เรียบเรียงบทประพันธ์เรื่อง Death in Venice หลังจากที่ได้มาเยือนเมืองนี้ ทั้ง Henry James, Truman Capote และ Ernest Hemingway ได้กล่าวถึง Venice ว่าเป็นเสมือนผู้หญิงที่ใคร ๆ ก็ถวิลถึง จิตรกร Claude Monet และ Joseph Turner ต่างก็ได้วาดภาพอมตะของตนไว้หลายภาพ วิถีชีวิตใน Venice ที่แปลกและฟู่ฟ่านี้ทำให้กษัตริย์ Henry ที่ ๓ แห่งฝรั่งเศสได้เคยตรัสในปี ๒๑๑๗ ว่า ถ้าพระองค์ไม่ได้เป็นกษัตริย์ พระองค์ประสงค์จะเป็นชาว Venice แต่สำหรับจักรพรรดิ Napoleonเมื่อพระองค์ทรงยึด Venice ได้ในปี ๒๓๔๐ พระองค์ทรงคิดว่า Venice ไม่ใช่เมืองปรกติเพราะมีแต่คลอง พระองค์จึงมีพระราชดำริจะสร้างถนนแทน แต่ไม่ทันได้ดำเนินการ เพราะ Veniceตกไปอยู่ในความปกครองของออสเตรีย และเป็นไทก็เมื่อออสเตรียแพ้สงคราม

venice02

ภาพ The Grand Canal, Venice วาดโดย Joseph Turner เมื่อปี ค.ศ.๑๘๓๕

เมื่อถึงวันนี้ Venice ซึ่งในอดีตมีคลองเป็นคูเมืองป้องกันข้าศึกไม่ให้ยกกองทัพเรือเข้าบุกรุก เพราะคลองใน Venice ตื้นจนเกินไป ขณะเดียวกันก็ลึกพอที่กองทัพจะยกพลเดินเท้าเข้ายึดเมืองได้ กำลังประสบภัยจากน้ำท่วมบ่อยและมากจนทุกคนที่เคยคิดว่าทะเลได้ปกป้อง Venice นั้น มาบัดนี้ทะเลกำลังบุกรุก Venice แทน จน Venice ประสบเหตุ “acqua alta” (แปลว่า น้ำมาก) ท่วมเมืองเนือง ๆ ทำให้เมืองทั้งเมืองและเกาะหลายเกาะถูกน้ำท่วมโดยเฉพาะที่จัตุรัส St. Markเป็นพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมมากที่สุด

สถิติน้ำท่วมที่โครงการ CORILA (The Consortium for Coordinate of Research Activities Concerning the Venice Lagoon Systems) รวบรวมไว้ได้ระบุว่า ในช่วงปี ๒๔๖๖-๒๔๗๕ จัตุรัส St. Mark ถูกน้ำท่วมปีละ ๔ ครั้ง และจำนวนครั้งที่น้ำท่วมได้เพิ่มขึ้นทุกปี จนถึงช่วงปี ๒๕๓๖-๒๕๔๕ จำนวนครั้งได้เพิ่มถึงปีละ ๕๓ ครั้ง และถ้าแนวโน้มเป็นเช่นนี้ในอีก ๙๐ ปี Venice ทั้งเมืองจะจมน้ำทั้งปี

วิศวกรพบว่าปัญหาน้ำท่วมนี้เกิดจากการที่ดินในเมือง Venice ทรุดลง ๆ เพราะชาวเมืองขุดบ่อบาดาลจำนวนมากตลอดศตวรรษที่ผ่านมา ทำให้ดินทรุดลงประมาณ ๑๐ เซนติเมตร ดังนั้นเมื่อ ๒๐ ปีก่อน เทศบาลนคร Venice จึงได้ออกกฎหมายห้ามขุดบ่อบาดาลโดยเด็ดขาด ทำให้ปัญหาได้รับการแก้ไขในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังไม่หมดสิ้น นักธรณีวิทยาได้พบว่าเปลือกทวีปส่วนที่เมือง Venice ตั้งอยู่ทรุดลงปีละ ๐.๕-๑ มิลลิเมตรและนักสมุทรศาสตร์ก็ได้พบว่า ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นจากภาวะโลกร้อนประมาณปีละ ๒.๓ มิลลิเมตร (+- ๐.๗ มิลลิเมตร เพราะความไม่แน่นอนของการวัด) เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้ Roberto Frassetto เสนอแนะให้รัฐบาลอิตาลีสร้างเขื่อนและประตูกั้นน้ำทะเลไม่ให้ไหลท่วมเมือง เพราะในสถานที่อื่น ๆ ของโลกก็มีการสร้างเขื่อนและประตูกั้นน้ำทะเลเช่นกัน อาทิ ลอนดอน เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก และสำหรับเขื่อน Maeslant ในประเทศเนเธอร์แลนด์นั้น ใคร ๆ ก็รู้ดีว่ามีประสิทธิภาพสูงมาก แต่ความคิดของ Frassetto เกี่ยวกับการสร้างเขื่อน กว่าจะได้เริ่มดำเนินการก็ล่วงเข้าปี ๒๕๔๖ และมีกำหนดจะแล้วเสร็จในปี ๒๕๕๖

venice03

น้ำท่วมบริเวณจัตุรัส St.Mark ประชาชนต้องเปลี่ยนมาเดินบนสะพานโดยมีตำรวจจราจรคอยดูแลให้การสัญจรเป็นไปอย่างไม่ติดขัด

วิศวกรที่สร้างเขื่อนเรียกประตูเขื่อนว่า MOSE (หรือประตู Moses ผู้แหวกน้ำทะเลตามคัมภีร์ไบเบิล) จากชื่อเต็มว่า Modulo Sperimentale Elettromeccanico ซึ่งมีมูลค่า ๑,๒๐๐ ล้านล้านบาท และประกอบด้วยประตูระบายน้ำจำนวน ๗๙ บานโดยบานประตูมีลักษณะกลวง และขอบด้านหนึ่งของประตูถูกสร้างให้ติดพื้นทะเล เวลาไม่ใช้ บานประตูจะมีน้ำอยู่เต็ม แต่พอน้ำหนุน อากาศจะถูกสูบเข้าในส่วนกลวงของบานประตูเพื่ออัดให้น้ำในบานประตูไหลออก แล้วบานประตูจะตั้งตรงในแนวดิ่งเป็นกำแพงกั้นน้ำทะเลไม่ให้ไหลเข้าเมือง เทคโนโลยีที่ใช้ในโครงการนี้ต้องอาศัยวิทยาการหลายด้าน เช่น hydrodynamics, sediment, morphology, ecology, environment และ climate change

ทั้ง ๆ ที่งบประมาณของโครงการนี้มากมหาศาล แต่ชาว Venice เองก็ยังถกเถียงกันไม่ยุติว่าโครงการนี้คุ้มหรือไม่ และเขื่อนจะสามารถป้องกันน้ำท่วมได้ร้อยเปอร์เซ็นต์หรือไม่ เพราะไม่มีใครสามารถคาดการณ์ล่วงหน้านาน ๆ ได้ว่าในอีก ๕๐ ปีธรรมชาติจะเป็นเช่นไร นอกจากนี้ถ้าเขื่อนทำงานได้จริง งบประมาณในการดำเนินการของเขื่อนก็สูงมากถึงปีละ ๓๖๐ ล้านบาทด้วย แต่เสียงต่อต้านที่รุนแรงที่สุดมาจากองค์กรที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุผลว่าชาว Venice มักทิ้งขยะลงน้ำ โดยหวังให้น้ำทะเลพาขยะไหลออกสู่ทะเลเอเดรียติกวันละ ๒ ครั้ง ด้วยความเร็วที่สูงพอไม่ให้ขยะตกค้างเป็นอาหารของสาหร่ายในลำคลอง ดังนั้นการมีเขื่อนที่ปิดบ้างเปิดบ้างจะทำให้สมดุลการระบายขยะเสียไป ซึ่งมีผลทำให้สาหร่ายในลำคลองเติบโตจนเป็นอุปสรรคต่อการสัญจรไปมาในคลอง

ด้วยเหตุนี้ องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมจึงกำหนดให้มีการปิด-เปิดประตูเขื่อน โดยไม่รบกวนจังหวะการไหลถ่ายเทน้ำทะเลกับน้ำคลอง ซึ่งสามารถทำได้โดยให้ประตูเขื่อนปิดในช่วงเวลาสั้น ๆ ในฤดูหนาว อันเป็นเวลาที่อุณหภูมิของน้ำต่ำและแสงอาทิตย์มีน้อยจนสาหร่ายไม่สามารถเจริญเติบโตได้เร็ว แม้หลายกลุ่มจะมีความเห็นที่แตกต่างและมีข้อกังขา แต่ทุกคนก็เห็นพ้องว่าเขื่อนมิได้เป็นวิธีแก้ปัญหาแต่เพียงวิธีเดียว

ในขณะที่เขื่อนยังสร้างไม่เสร็จ ชาวเมืองจึงต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยตนเอง เช่นเวลาน้ำทะเลหนุน อาคารใหญ่ ๆ ก็เลิกใช้ห้องน้ำชั้นล่าง คอยซ่อมแซมกำแพงบ้านที่กร่อนเนื่องจากถูกคลื่นจากเรือยนต์ซัด เวลาพายุ Sirocco ที่พัดจากทะเลเอเดรียติกเข้า Venice ด้วยความเร็ว ๑๐๐ กิโลเมตร/ชั่วโมง ปีละ ๑๐ วัน ทำให้ฝนตกหนัก น้ำทะเลจะขึ้นสูงถึง ๑-๒ เมตร ชาวเมืองจึงต้องเงี่ยหูฟังพยากรณ์อากาศเพื่อจะได้เตรียมการป้องกันทันในอีก ๖ ชั่วโมงต่อมา เพราะเวลาน้ำท่วม นักท่องเที่ยวจะเลื่อนหรืองดการมาเยือน ซึ่งมีผลทำให้รายได้ของชาวเมืองตกต่ำ

แต่ถ้าประตูเขื่อนสามารถป้องกันน้ำท่วมได้ดี ชาว Venice ก็อยากจะอยู่ในเมือง เพราะสถิติระบุว่า เมื่อ ๑๐ ปีก่อน ประชากร Venice มีมากถึง ๑๒๐,๐๐๐ คน แต่บัดนี้เหลือเพียง ๖๐,๐๐๐ คน และชาว Venice เองก็หวังจะให้มีคนมาอาศัยอยู่มาก ๆ เพื่อลงทุนทำธุรกิจ แทนที่จะมาเที่ยวเฉย ๆ และมาช่วยกันทำให้ Venice คงสภาพเป็นมรดกโลก

เหล่านี้เป็นความหวัง แต่จะสำเร็จเหมือนฝันที่เป็นจริง หรือเป็น “ฝันเปียก” อนาคตเท่านั้นที่จะตอบได้

คุณสามารถหาอ่านหนังสือเกี่ยวกับการช่วยชีวิต Venice ได้จาก The Science of Saving Venice โดย Caroline Fletcher และ Jane Da Mosto จัดพิมพ์โดย Umberto Allemande หนา ๙๒ หน้า ราคา ๑๔.๕๐ ดอลลาร์ หรือจากหนังสือ Venice, Fragile City: 1797-1997 โดย Margaret Plant จัดพิมพ์โดย Yale University Press หนา ๔๔๘ หน้า ราคา ๕๕ ดอลลาร์ครับ