ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่องและภาพ
ดินถล่มแม่อาย เสียชีวิต ๖ คน เจ็บสาหัส ๒ คน
ไทยพีบีเอส ๑๑ กันยายน ๒๕๖๗
เซ่นโคลนถล่ม ‘เชียงใหม่-เชียงราย’ สธ.เผย ดับ ๑๖ ศพ บุคลากรแพทย์ได้รับผลกระทบ ๔๑๗ ราย
มติชนออนไลน์ ๑๔ กันยายน ๒๕๖๗
น้ำท่วม ๒๕๖๗ : เชียงใหม่ที่ผมไม่เคยเห็น
The101.world ๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๗
เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๗ ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน จัดงานเสวนาหัวข้อ “ถอดรหัสวิกฤตน้ำท่วมดินโคลนถล่ม : บทเรียนที่ต้องจดจำ” ณ ห้องประชุมวารีทัศน์ ชั้น ๖ อาคาร ๘
ภัยพิบัติน้ำท่วมและดินโคลนถล่มหนล่าสุดช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคมที่จังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ทางภาคเหนือของประเทศไทย ไม่เพียงทำลายบ้านเรือน เส้นทางคมนาคม พื้นที่ทางเศรษฐกิจและการเกษตร โครงสร้างพื้นฐาน แต่ยังเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ระยะยาว
ความเสียหายครั้งนี้เป็นเครื่องเตือนใจถึงความจำเป็นในการวางแผนการใช้ที่ดินที่คำนึงถึงความเสี่ยงและการจัดการภัยพิบัติ การพัฒนาระบบจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งต้องอาศัยการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน กลุ่มอาสาสมัคร ประชาชน เพื่อลดความเสี่ยงความเสียหาย
ในฐานะสถาบันการศึกษาที่เปิดการเรียนการสอนและการวิจัยด้านทรัพยากรน้ำ ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คาดหวังว่าการเสวนาแลกเปลี่ยนมุมมองและข้อมูลจะนำไปสู่การวิเคราะห์ปัญหาอย่างรอบด้าน ทั้งในแง่ข้อมูลน้ำ สาเหตุ ผลกระทบ วิธีจัดการ เพื่อให้สังคมเกิดความเข้าใจร่วมกัน
สารคดี คัดสรรบางช่วงตอนจากงานเสวนา ด้วยความตระหนักว่าภายใต้สภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ภัยพิบัติมีโอกาสเกิดขึ้นอีกในอนาคต
“เรามองแต่ลุ่มน้ำในประเทศเรา”
ผศ.ดร.ณัฐ มาแจ้ง
ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ตัวเมืองเชียงรายมีสถานีวัดน้ำท่าอยู่สถานีหนึ่งชื่อ G.2A บนแม่น้ำกก แม่น้ำกกมีต้นกำเนิดในรัฐฉานของประเทศพม่า ไหลเข้าสู่ประเทศไทยที่อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ไหลผ่านตัวอำเภอเมืองเชียงราย หลังจากนั้นก็ไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่บริเวณสบกก อำเภอเชียงแสน ลุ่มน้ำกกมีพื้นที่พื้นที่รับน้ำฝนประมาณ ๖,๒๖๒ ตารางกิโลเมตร พื้นที่รับน้ำฝนส่วนที่อยู่ในประเทศไทยมีพื้นที่ ๒,๙๐๗ ตารางกิโลเมตร ส่วนที่อยู่ในประเทศเพื่อนบ้านมีพื้นที่มากกว่าคือ ๕๔ เปอร์เซ็นต์ ประมาณ ๓,๓๕๕ ตารางกิโลเมตร จะเห็นว่าพื้นที่รับน้ำส่วนใหญ่ที่ไหลผ่านแม่สายอยู่นอกประเทศเรา
เวลาวัดข้อมูลจะเห็นว่าด้านเหนือของประเทศที่เราต้องการมอนิเตอร์ ไม่มีสถานีตรวจวัด ข้อมูลฝนในพื้นที่ต้นน้ำที่อยู่ต่างประเทศเราไม่สามารถติดตามสถานการณ์ ก็เลยไม่ได้ระวังว่าจะมีเหตุการณ์ที่ทำให้น้ำท่วม
เวลาเกิดฝนตกหนักบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำที่นอกประเทศไทย ข้อมูลที่ตรวจวัดของเราไม่มีสีแดง นี่เป็นเหตุที่ทำให้เราไม่ค่อยระวัง เรามองแต่ลุ่มน้ำในประเทศเรา ช่วงหลังคนที่ติดตามเรื่องน้ำเข้าใจแล้วว่าปิง วัง ยม น่าน ไหลลงมาเจอสะแกกรัง ลงมารวมเป็นเจ้าพระยา แยกออกไปท่าจีน มาเจอป่าสัก แต่พอเป็นพื้นที่เชียงรายกลายเป็นสิ่งใหม่ของผู้ที่ติดตามว่าลำน้ำที่ไหลเข้ามาทางชายแดน เราไม่ได้มอนิเตอร์ มารู้ก็ช่วงที่มีสถานีวัดค่าอยู่ที่ตัวเมืองเชียงรายเลย
หมายความว่าเราไม่ได้ตรวจวัดฝนที่ตกลงมาพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้าน กลายเป็นลำน้ำไหลเข้ามาเยอะ ฝั่งประเทศไทยเราก็ไม่เยอะเท่า แล้วจะเห็นว่าเมื่อเปรียบเทียบปี ๒๕๓๗ กับปี ๒๕๖๓ ลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดินระหว่างร่องเขาและบนเขาในประเทศเพื่อนบ้านเปลี่ยนแปลงไป มีพื้นที่เปิดโล่งมากขึ้น ทำให้ลักษณะการเกิดน้ำท่าเปลี่ยนไป จากเดิมมีพื้นที่ซับน้ำเอาไว้ สังเกตดูตัวน้ำที่ไหลเข้ามาในพื้นที่ของเราจะมีสีเข้มมาก
“แผนที่เสี่ยงภัยสำคัญที่สุด”
พลอากาศเอก สมนึก สวัสดิ์ถึก
ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
เรายังไม่มีเจ้าภาพหลักแผนที่เสี่ยงภัยทางธรรมชาติของประเทศไทย ใครจะเป็นตัวหลักที่จะให้บริการข้อมูลต่าง ๆ หลายภาคส่วนทำแม้กระทั่งภาควิชาการ ทำมากมายเลย แต่ว่าเรายังไม่เคยบูรณาการ แล้วก็มาใช้คำพูดสวยหรูว่าบูรณาการแล้ว
แผนที่เสี่ยงภัยสำคัญที่สุด น้ำมา ฝนมา ฝนตกขนาดนี้ หนึ่งร้อยปี สองชั่วโมง พื้นที่หนึ่งอาจเกิดดินโคลนถล่ม พื้นที่หนึ่งอาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก บางพื้นที่อาจจะเป็นน้ำท่วมล้นตลิ่ง มันแตกต่างต่างกันโดยสิ้นเชิง density (ความหนาแน่น) ของสิ่งที่มันจะเกิด เกิดอิมแพคหรือผลกระทบภัยพิบัติจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของพื้นที่นั้น ๆ
ภัยพิบัติเป็น dynamic (พลวัตร) พฤติกรรมของฝนก็เปลี่ยนไป การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้มันแช่นาน แช่สองชั่วโมงสามชั่วโมง ไม่เคลื่อนที่เหมือนอย่างที่เคย มันต้องมีอากาศผลัก ขนาดพื้นที่เท่าเดิมหรือเล็กลง แต่ปริมาณฝนมันมากขึ้น Climate change ทำให้ลม ฟ้า อากาศ โรมรันพันตูซึ่งเปลี่ยนแปลงไปหมด ข้อมูลต่าง ๆ ต้องทบทวน
“ถึงเราจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แต่ถ้าเกิดมันมีปริมาณน้ำที่มาก…อย่างไรมันก็ต้องเกิดอุทกภัย”
ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์
ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน
ถึงเราจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แต่ถ้าเกิดมันมีปริมาณน้ำที่มากเกินความจุเก็บกัก เกินความจุอ่างเก็บน้ำ อย่างไรมันก็ต้องเกิดอุทกภัย เหลือวิสัยที่จะจัดการได้ คำว่า “เหลือวิสัย” ผมอยากเผยแพร่ไปยังทุกท่าน คือมันเกินขีดจำกัดจริง ๆ
การจัดการในภาวะวิกฤติต้องตัดสินใจ ปัจจัยเรื่องการตัดสินใจ มีสัก ๕ ปัจจัย เรื่องแรกปริมาณ ถ้าปริมาณน้ำฝนเกินพิกัดจะจัดการอย่างไร สองเวลา ถ้าเกิดตกแช่ทั้งวัน ถ้าตกสองชั่วโมง ๑๐๐ มิลลิเมตร ก็เอาไม่อยู่แล้ว ตก ๑๒๐ ก็มีศัพท์เทคนิคน้ำรอการระบาย มันตกมาเยอะก็ต้องขัง เมื่อเราดีไซน์ภายใต้ขีดจำกัดของ intermediate ที่ ๕ ปี ๑๐ ปี คนก็ถามทำไมไม่ทำใหญ่ ๆ ลองออกแบบสปิลเวย์ (ทางน้ำล้น) ในงานเขื่อน intermediate ๑๐๐ ปีสิครับ ค่าใช้จ่าย หน่วยงานด้านงบประมาณของภาครัฐยอมรับได้หรือเปล่า โครงสร้างราคา ๖-๗ เท่าของค่าโครงสร้างเดิม ถามว่าป้องกันได้ไหม ถ้าทำ intermediate ๑๐๐ ปียังไงก็ได้ แต่ทุกวันนี้เรา intermediate ๕๐ ปี ๒๕ ปี ภายใต้ข้อจำกัดของงบประมาณ
สามการมีส่วนร่วม ประชาชนต้องมีส่วนร่วมกับการจัดการ รับรู้ข้อมูลข่าวสาร ถ้าประชาชนรับรู้รับทราบก็จะช่วยได้มาก สี่ผลกระทบ คำว่าอุทกภัยไม่มีว่าไม่กระทบ มันต้องกระทบ เมื่อกระทบแล้วจะเอาน้ำไปทางไหน เข้าทุ่งก็ท่วมพื้นที่ชาวบ้าน เข้าตรง ๆ ก็ท่วมบ้านเขาอีก ห้ากฎหมาย ปัจจุบันเราต้องใช้กฎหมายในการบิรการจัดการ กฎหมายช่วยหน่วยงานภาครัฐในการพัฒนาเจ้าหน้าที่ กรมชลเป็นเหมือนตำรวจนะตอนนี้ เห็นใครไม่จัดการ โดนละเว้น เห็นน้ำท่วมไม่เข้าไปดูก็โดนแล้วนะครับ เพราะถือเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่
ผังน้ำเหมือนผังเมือง แต่ผังน้ำทำยากกว่าผังเมือง เพราะผังน้ำทำให้กระทบ แต่ผังเมืองสร้างถนน สร้างถนนง่ายกว่าสร้างคลอง
“ทางออกของการจัดการภัยสำหรับผู้ที่อยู่ในพื้นที่ล่อแหลมและเปราะบางคือการทำข้อตกลงชุมชน”
รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์
ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เรื่องของดินถล่มเป็นเรื่องธรรมชาติ เกิดมาตั้งแต่ก่อนมีมนุษย์ เพราะมวลภูเขาอย่างไรเสียมันจะต้องมีการผุผัง ถ้าพูดอธิบายง่าย ๆ ก็เหมือนคนเราผลัดผิวหนังที่จะต้องล้างทำความสะอาดออกไปทุกวัน ๆ แล้วก็มีผิวหนังใหม่ขึ้นมา เพียงแต่กรณีของภูเขา เมื่อดินนั้นบุสลายกลายเป็นดิน ถึงเวลาหนึ่งก็มีรอบในการถูกชะออกไป ด้วยฝน ถ้าฝนตกหนักก็เกิดการชะออกไปมาก ฝนตกน้องก็เกิดการกัดเซาะธรรมดา พุทธทำนายบอกว่าในยุคพระศรีอาริย์บอกว่าต่อไปที่พื้นผิวโลกเราจะไม่เห็นภูเขาเลย นั่นหมายความว่าภูเขาจะถูกชะล้างพังทลายจนราบเรียบ นั่นคือเรื่องธรรมชาติ
ทางออกของการจัดการภัยสำหรับผู้ที่อยู่ในพื้นที่ล่อแหลมและเปราะบางคือการทำข้อตกลงชุมชน เราไม่สามารถเอากฎหมายเข้าไปควบคุมได้ ด้วย conflict (ข้อขัดแย้ง) ทางรัฐศาสตร์ ข้อตกลงชุมชนก็คือ เราเอากฎหมายนั้นแหละมาคุยกับชุมชน ทำวิจัยทำข้อมูลให้ละเอียด ยกตัวอย่างผมทำข้อตกลงชุมชนบ้านดอยช้าง ดอยแม่สลองนอก ดอยผาสุก ว่าอะไรบ้างควรทำหรือไม่ควรทำ การก่อสร้างอาคารต้องไม่มีน้ำหนักเกินเท่าไหร่ การก่อสร้างอาคารบนพื้นที่ลาดชันมีเงื่อนไขอะไร พื้นที่มีโอกาสที่น้ำจะไหลผ่านให้ใช้เป็นบ้านยกพ้นสูง พื้นที่เคลื่อนตัวสูงห้ามต่อเติมอาหารเว้นแต่เป็นการซ่อมแซม ให้เขาคุยกันแล้วตกลงกัน โดยเฉพาะชุมชนที่มีการพิบัติมาแล้วเขาจะเห็นภาพ ปรากฏว่าข้อตกลงชุมชนขลังกว่ากฎหมายด้วยซ้ำไป เพราะชุมชนเขาถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น
การจัดการภัยพิบัติที่ดีที่สุดคือการดำเนินการโดยผู้มีโอกาสประสบภัย เพราะจำนวนผู้มีโอกาสประสบภัยมากกว่าจำนวนผู้จัดการภัย ประเด็นของการจัดการภัยคือเราต้องเปลี่ยน mindset (ความคิด) ถ้าเราไปดูทุกประเทศทั่วโลก กระบวนการหรือวัฏจักรในการจัดการภัยสุดท้ายจะไปตกอยู่ที่การปรับตัว กระบวนการจัดการภัยมีตั้งแต่เรื่องโครงสร้าง ซึ่งทุกประเทศทำเหมือนกัน นอกจากทำโครงสร้างก็มีเรื่องกฎหมาย เรื่องภาษี ซึ่งมีจุดอิ่มตัวในแต่ละเรื่อง เพราะทุกกรณีเรามีโอกาสเจอ extream event (เหตุการณ์สุดขั้ว) ตลอด โครงสร้างทางวิศวกรรมเป็นโครงสร้างที่มี limitation (ข้อจำกัด) ทุกคนรู้ โครงสร้างวิศวกรรมออกแบบมาขึ้นอยู่กับเงื่อนไข ถ้ามันเกินก็จบ ไม่มีใครหรอกที่จะออกแบบ extream event ถึงออกแบบก็ไม่มีใครให้สร้าง งบประมาณก็มากมาย