พระไพศาล วิสาโล

rubaroon290ในหนังสือเรื่อง The Last Lecture ซึ่ง แรนดี เพาช์ เขียนเสร็จไม่กี่เดือนก่อนจะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในวัย ๔๘ ปี มีตอนหนึ่งเขาพูดถึงความรู้สึกที่ย่ำแย่มากในระหว่างเรียนปริญญาเอก เมื่อเขาระบายความทุกข์ให้แม่ฟัง แม่โน้มตัวเข้ามาหาเขาและพูดว่า “ลูกรัก เราเข้าใจดีว่าลูกรู้สึกอย่างไร แต่ลูกจำให้ดีนะจ๊ะว่า ตอนที่พ่ออายุเท่าลูกนั้น ท่านรบกับเยอรมันอยู่”

น่าคิดว่าถ้าเป็นที่เมืองไทย หากมีคนอายุใกล้ ๕๐ บ่นระบายให้แม่ฟังถึงความยากลำบากเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจตกต่ำเวลานี้ แม่จะพูดว่าอย่างไร คงมีสักคนที่จะเอ่ยว่า “แม่เข้าใจว่าลูกรู้สึกอย่างไร แต่ลูกจำให้ดีนะจ๊ะ ตอนที่พ่อแม่ยังเด็ก หนังสือก็ไม่ได้เรียน บ้านก็ต้องย้ายหนีภัยสงคราม ทุกอย่างขาดแคลนไปหมด แม้แต่กระดาษหรือสบู่ก็ไม่มีใช้ ส่วนน้ำมันไม่ต้องพูดถึง รอดตายจากระเบิดได้ก็นับเป็นบุญแล้ว”

เทียบกับเหตุการณ์สมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ความยากลำบากที่ผู้คนประสบเวลานี้กลายเป็นเรื่องเล็กน้อยไปเลย ถึงแม้บางคนจะตกงาน แต่ปัจจัยสี่ก็ไม่ขาดแคลน แถมมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกมากมาย โอกาสในการหางานใหม่แม้ว่าจะยาก ก็ใช่ว่าจะหมดสิ้นหนทาง ประสบการณ์ของหลายคนในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี ๒๕๔๐ ได้ยืนยันว่า ทางออกนั้นมีเสมอ ขอเพียงไม่สิ้นหวังหรือจมอยู่กับทุกข์

ถึงจะมีหนี้สินเป็นสิบเป็นร้อยล้าน หากพร้อมเดินหน้าสู้กับปัญหา อนาคตอันสดใสย่อมมาถึงไม่วันใดก็วันหนึ่ง แต่อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ผู้คนไม่สามารถเดินหน้าได้ก็คือการไม่ยอมรับความจริง เอาแต่ก่นด่าชะตากรรมหรือตีโพยตีพายไม่หยุดหย่อน ซึ่งไม่ว่าจะก่นด่าหรือโวยวายเพียงใดก็ไม่ทำให้อะไรดีขึ้นได้ กลับจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งกว่าเดิม เพราะนอกจากจะทำให้ตนเองทุกข์หนักขึ้นแล้ว โอกาสที่จะเปลี่ยนร้ายให้กลายเป็นดีมีแต่จะหลุดลอยไปไกลขึ้น

คนเราไม่สามารถยอมรับความจริงอันเจ็บปวดได้ก็เพราะยังยึดติดอยู่กับอดีตอันสวยสดงดงาม อาทิ ชีวิตที่หรูหราสะดวกสบาย ฐานะการงานอันมั่นคง ยศศักดิ์อัครฐานที่สูงเด่น ตลอดจนบ้านหลังใหญ่ รถราคาแพง ต่อเมื่อปล่อยวางอดีต
เหล่านั้นไปได้จึงสามารถทำใจยอมรับปัจจุบัน และพร้อมจะมองไปข้างหน้า

จริงอยู่ในความรู้สึกของหลายคน สภาพปัจจุบันใช่ว่าจะเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ง่ายๆ เพราะนอกจากสิ่งอันเป็นที่รักจะหายลับดับสูญไปแล้ว ยังมีภาระอย่างหนึ่งเกิดขึ้นตามมา ได้แก่ หนี้สิน แต่หากไม่ปล่อยใจไปกังวลกับอนาคตมากจนเกินไป (อีกกี่สิบปีหนี้จะหมด จะอยู่เป็นผู้เป็นคนอย่างไรหากยังใช้หนี้ไม่หมด) ไม่นานก็ย่อมทำใจกับหนี้สินได้

“สักวันเราจะชินและรับได้ว่าเราเป็นหนี้” สุนันท์ ศรีจันทรา พูดถึงประสบการณ์ของเขาภายหลังธุรกิจขาดทุนนับร้อยล้าน ตามมาด้วยหนี้สิน ๓๔ ล้านบาท “ตอนที่ล้ม ทั้งบ้านผมเหลือเงินสดอยู่ ๑ หมื่นบาท…๑ หมื่นบาทเท่านั้น นอกนั้นคือหนี้” แน่นอนตอนนั้นเขามีความทุกข์มาก เครียด มืดมน และกดดันมากที่สุดในชีวิต แต่ไม่นานก็ตั้งหลักได้ “ตอนนั้นรู้อย่างเดียวคือต้องทำงาน จะมานั่งช้ำใจเสียใจกับความล่มสลายของตัวเองอยู่ก็ไม่ได้” เมื่อทุ่มเทให้กับการงานใหม่ ก็ไม่มีเวลาให้กับความเสียใจ ไม่นานก็คุ้นชินกับการเป็นหนี้

มนุษย์ทุกคนมีความสามารถที่จะปรับตัวปรับใจได้ในแทบทุกสถานการณ์ ไม่ว่าเจ็บป่วย พิการ สูญเสียคนรัก หรือแม้แต่ติดคุก ทั้งๆ ที่เป็นทุกข์อย่างยิ่งตอนประสบเภทภัยใหม่ๆ แต่หากไม่ตีอกชกหัว ไม่มัวอาลัยอดีตหรือกังวลกับอนาคต ไม่ช้าก็เร็วย่อมยอมรับและทำใจกับความเปลี่ยนแปลงได้ บางคนกลับมีความสุขยิ่งกว่าตอนเกิดเหตุการณ์ด้วยซ้ำ

สตีเฟน ฮอว์คิง นักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะที่พิการทั้งตัว ต้องใช้ชีวิตค่อนชีวิตอยู่ในรถเข็น โดยขยับปากและแขนขาไม่ได้เลย สื่อสารได้ก็ด้วยเครื่องสังเคราะห์เสียง เคยให้สัมภาษณ์ว่า “จริงๆ แล้วผมมีความสุขมากกว่าตอนก่อนจะเป็นโรคนี้เสียอีก ผมไม่ได้บอกว่าโรคนี้ส่งผลดี แต่ผมโชคดีที่มันไม่ได้เป็นข้อเสียอย่างที่มันอาจจะเป็น”

หินหนักต่อเมื่อเราอุ้ม ฉันใดก็ฉันนั้น หนี้สินเป็นภาระหนักอึ้งก็ต่อเมื่อใจเราไปแบกเอาไว้ ใช่หรือไม่ว่าเราทุกข์เมื่อครุ่นคิดถึงมัน แต่เมื่อใดที่ไม่นึกถึงมัน ใจก็โปร่งเบา แน่นอนว่าหนี้สินเป็นสิ่งที่เราต้องรับผิดชอบ แต่ความรับผิดชอบไม่ได้หมายถึงการแบกมันไว้ตลอดเวลา เมื่อตัดสินใจแล้วว่าจะทำงานใช้หนี้ ครั้นถึงเวลาลงมือทำงานก็ไม่จำเป็นต้องนึกถึงหนี้ก้อนโตอีกต่อไป อย่างเดียวที่ควรทำและสิ่งเดียวที่จะส่งผลดีอย่างแท้จริงคือทำงานนั้นให้เต็มที่ แต่จะทำงานให้เต็มที่ได้อย่างไรหากใจยังกังวลถึงหนี้สิน ไม่ดีกว่าหรือหากเราจะวางมันลง แล้วน้อมใจจดจ่ออยู่กับงานนั้น ในทำนองเดียวกันเมื่อถึงคราวพักผ่อนก็ควรพักให้เต็มที่ พร้อมกับวางหนี้สินออกไปจากใจ

อยู่กับปัจจุบันให้ได้และอยู่ให้ดีที่สุด คือเคล็ดลับสำคัญในการเอาชนะปัญหาและอุปสรรคทั้งปวง งานแม้จะใหญ่ ภาระแม้จะมาก แต่จะสำเร็จหรือปลดเปลื้องได้ก็ต่อเมื่อเราทำวันนี้ให้ดีที่สุด เพราะวันนี้เป็นวันเดียวเท่านั้นที่เราสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ไม่ใช่เมื่อวานหรือวันพรุ่งนี้ จะว่าไปแล้วช่วงเวลาเดียวเท่านั้นที่เราสามารถทำสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นได้ คือวินาทีนี้หรือขณะนี้เท่านั้น เพราะแม้แต่วินาทีหน้า นาทีหน้า หรือชั่วโมงหน้าก็ยังเป็นอนาคตอยู่ ไม่อยู่ในวิสัยที่เราจะทำอะไรได้

การอยู่กับปัจจุบันให้ดีที่สุดจึงหมายถึงการทำสิ่งที่กำลังทำอยู่ในแต่ละขณะให้ดีที่สุด ด้วยใจจดจ่อเต็มร้อย ไม่กังวลกับสิ่งอื่นใดนอกจากสิ่งที่กำลังทำอยู่ ทั้งไม่พะวงกับอดีตหรืออนาคต พูดเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าไม่ควรวางแผน การวางแผนเป็นสิ่งที่ต้องทำ แต่เมื่อวางแผนไว้แล้วว่าวันนี้ควรทำอะไรก็ควรจดจ่ออยู่กับงานของวันนี้ ยกงานของวันหน้าให้เป็นเรื่องของอนาคต ไม่ควรเอามาครุ่นคิดให้หนักใจเปล่าๆ ต่อเมื่อวันหน้ามาถึงจึงค่อยลงมือปลุกปล้ำกับงานส่วนนั้น

งานแม้จะมาก ปัญหาแม้จะเยอะ แต่หากแยกงานหรือปัญหานั้นเป็นเรื่องๆ แล้วทำทีละเรื่อง ขณะเดียวกันก็ซอยแต่ละเรื่องเป็นส่วนๆ โดยทำทีละส่วน งานก็จะเสร็จได้เร็ว และไม่นานปัญหาก็จะหมดไป อย่าลืมว่าเวลากินเลี้ยงโต๊ะจีนอาหารมีหลายอย่าง เราก็ต้องกินทีละอย่าง ขนมเค้กหรือพิซซาแม้จะอร่อยแสนอร่อย แต่เราก็ต้องตัดแบ่งและกินเป็นคำๆ มิใช่หรือ ไม่มีใครสวาปามทั้งจานได้ในคราวเดียว แม้แต่ของที่เอร็ดอร่อยเรายังต้องจัดการทีละอย่างทีละส่วน นับประสาอะไรกับสิ่งที่เป็นเสมือนยาขมอย่างการงานและปัญหา เรายิ่งจำเป็นต้องซอยให้เล็กลงและจัดการทีละส่วนๆ

หากจดจ่อใส่ใจกับงานที่กำลังทำอยู่โดยไม่พะว้าพะวังถึงสิ่งอื่น นอกจากงานจะได้ผลดีแล้ว คนทำยังมีความสุขอีกด้วย อย่างน้อยก็ไม่ทุกข์เหมือนเดิม ทั้งนี้เพราะจิตใจโปร่งเบาขึ้น ไม่มีความกังวลมารบกวน การทำงานอย่างมีความสุขจึงมิใช่เรื่องยาก ทั้งๆ ที่ยังมีปัญหาและภาระให้ต้องสะสางอีกมากก็ตาม

ไม่เพียงจะหาความสุขได้จากงานเท่านั้น หากอยู่กับปัจจุบันอย่างดีที่สุด ก็ไม่ยากที่จะหาความสุขได้จากที่นี่และเดี๋ยวนี้ ในยุคเศรษฐกิจถดถอย แม้ทรัพย์สมบัติจะหดหายไปมาก แต่สิ่งที่เหลืออยู่ก็ยังสามารถให้ความสุขแก่เราได้ อาจจะมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ ขอเพียงเรารู้จักชื่นชมสิ่งเหล่านั้นบ้าง

การอยู่กับปัจจุบันอย่างดีที่สุดมีความหมายอีกแง่หนึ่ง คือการชื่นชมกับสิ่งที่มีอยู่และเป็นอยู่ในปัจจุบัน ผู้คนทุกวันนี้แม้จะมีสมบัติมากมาย แต่ก็ไม่ค่อยมีความสุข ใช่หรือไม่ว่าเป็นเพราะไปจดจ่อใส่ใจกับสิ่งที่ตัวเองยังไม่มี (เช่นโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ที่เพิ่งวางขายหรือที่เพื่อนเพิ่งซื้อมา) จะมีความสุขก็ต่อเมื่อได้สิ่งเหล่านั้นมาในครอบครอง แต่ไม่นานความสุขก็จืดจาง กลับมีความทุกข์มาแทนที่เพราะอยากได้ของใหม่กว่าดีกว่า เศรษฐกิจถดถอยทำให้ผู้คนมีความทุกข์เพราะไม่สามารถคว้าสิ่งเหล่านั้นมาได้เหมือนก่อน ขณะเดียวกันก็เป็นทุกข์กับการสูญเสียสิ่งเดิมๆ ที่เคยมี

น่าสังเกตว่าคนเรามักให้คุณค่ากับสิ่งต่างๆ ต่อเมื่อ หนึ่ง มันยังไม่ได้เป็นของเรา และสอง เมื่อเราสูญมันไป นาฬิกา แว่นตาที่อยู่กับเรามานาน เราไม่ค่อยเห็นคุณค่า จนเมื่อมันหายไปเราถึงตระหนักว่ามันมีความสำคัญกับเราเพียงใด คำถามก็คือทำไมต้องรอให้มันหายเสียก่อนเราถึงจะเห็นคุณค่าของมัน ทำไมไม่รู้จักชื่นชมมันเสียแต่วันนี้โดยไม่ต้องใส่ใจกับอันใหม่ที่ดีกว่าสวยกว่าที่วางขายในห้าง

เพียงหยุดคิดสักนิดก็จะพบว่าเรามีสิ่งดีๆ มากมายที่ให้ความสุขแก่เราอยู่แล้วทุกขณะ ไม่ว่าสุขภาพที่ไร้โรคภัยคุกคาม ครอบครัวและมิตรสหายที่ให้ความอบอุ่นใจ ทรัพย์สมบัติที่ยังทำให้กินอิ่มนอนอุ่นอยู่ได้ เป็นต้น ไม่สำคัญเลยว่าเรามีน้อยหรือมาก ไม่สำคัญด้วยซ้ำว่าเราสูญเสียไปมากเพียงใด ตราบใดที่ยังพอใจสิ่งที่มี ยินดีสิ่งที่ได้ เราก็เป็นสุขในทุกสถานการณ์ ถึงที่สุดแล้วมี “อะไร” หรือ “เท่าไร” ไม่สำคัญเท่ากับว่าเรารู้สึกกับมัน “อย่างไร”

โอโตทาเกะ ฮิโรทาดะ พิการตั้งแต่เกิด ไม่มีทั้งขาและแขน เคลื่อนไหวได้ด้วยเก้าอี้ติดล้อเท่านั้น แต่เขาภูมิใจที่จะบอกคนทั้งโลกว่า “ผมเกิดมาพิการ แต่ผมก็มีความสุข สนุกทุกวัน” เขามีความสุขเพราะพอใจกับร่างกายที่ได้มา และสามารถเข้าถึงความสุขได้ในทุกขณะที่ยังมีชีวิตอยู่

ความสุขไม่ได้เกิดจากการมีสิ่งเสพสิ่งบริโภคเท่านั้น ยังมีความสุขอีกมากมายที่เราสามารถเข้าถึงได้โดยไม่ต้องพึ่งวัตถุ เช่น ความสุขจากสัมพันธภาพอันอบอุ่นในครอบครัว ความสุขจากการสังสรรค์ในหมู่มิตรสหาย ความสุขจากการทำงานอดิเรก ความสุขจากการทำสิ่งยากให้สำเร็จ ความสุขจากการช่วยเหลือผู้อื่น ความสุขจากการทำสมาธิภาวนา ฯลฯ ความสุขเหล่านี้สามารถบำรุงใจของเราให้ชื่นบานได้โดยไม่ต้องอาศัยเงินเลย ดังนั้นแม้เราจะมีเงินในกระเป๋าน้อยลง เที่ยวห้างได้ไม่บ่อยเหมือนก่อน เราก็ยังสามารถมีความสุขได้ไม่ยิ่งหย่อนกว่าเดิม และหากเราสามารถเข้าถึงความสุขด้วยวิธีการดังกล่าวได้ จะพบว่ามีความสุขมากมายที่ประณีตลึกซึ้งกว่าความสุขจากวัตถุ และสามารถเติมเต็มชีวิตของเราได้อย่างแท้จริง

วิกฤตเศรษฐกิจไม่สามารถทำให้คุณภาพชีวิตของเราตกต่ำลงได้เลย หากเรารู้จักแสวงหาความสุขที่ประณีตเรียบง่าย ซึ่งมีอยู่แล้วรอบตัวหรือสามารถบันดาลให้เกิดขึ้นได้ไม่ยาก จะว่าไปแล้ว การที่เรามีเงินน้อยลงกลับจะเป็นข้อดีเสียอีก ตรงที่กระตุ้นให้เราพยายามแสวงหาความสุขชนิดที่ไม่ต้องพึ่งพาเงินทองมาก ตราบใดที่เรายังมีเงินใช้จ่ายมากมาย ไปเที่ยวที่ไหนก็ได้ตามใจปรารถนา ย่อมเป็นไปได้ยากที่เราจะรู้จักความสุขจากการมีเวลาอยู่กับครอบครัว จากการทำสวน ทำงานอดิเรก หรือการนั่งสมาธิ เพราะความสุขจากวัตถุนั้นหามาได้ง่าย รวดเร็วทันใจ (แต่ก็เลือนหายได้ง่ายเช่นกัน)

ดังนั้นวิกฤตเศรษฐกิจจึงไม่ได้มีแต่ข้อเสียอย่างเดียว หากมองให้ดีก็เห็นประโยชน์มากมาย สำหรับหลายคน การมีรายได้ลดลงทำให้กลับมาใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย และพบว่าชีวิตเรียบง่ายนั้นแฝงด้วยความสุขที่ไม่เคยพบมาก่อน สำหรับบางคน การตกงานทำให้มีเวลากลับไปดูแลพ่อแม่ที่แก่เฒ่า มีอีกไม่น้อยที่ภาวะล้มละลายผลักดันให้หันมาสนใจการปฏิบัติกรรมฐานจนพบชีวิตใหม่อย่างไม่นึกฝัน

วิกฤตเศรษฐกิจก็เช่นเดียวกับวิกฤตอื่นๆ มันทำให้ชีวิตถึงทางตันก็จริง แต่ในอีกด้านหนึ่งมันก็บังคับให้เราค้นหาทางออกใหม่ๆ ที่ไม่เคยนึกคิดมาก่อน ไม่มีวิกฤตใดที่ทำให้ชีวิตจนตรอกอย่างสิ้นเชิง มันยังเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้แก่เรา วิกฤตปี ๔๐ ทำให้หลายคนต้องปิดฉากชีวิตนักธุรกิจพันล้าน แต่มันก็ทำให้พวกเขาค้นพบเส้นทางชีวิตใหม่ที่ดีกว่าเดิม วันนี้สุนันท์กลายเป็นนักเขียนและนักจัดรายการวิทยุอิสระ เขาพบว่านี้เป็นชีวิตที่สุขสบายกว่าตอนเป็นผู้บริหารธุรกิจสิ่งพิมพ์เสียอีก แม้ยังมีหนี้นับล้านที่ยังชำระไม่หมดก็ตาม “ที่เป็นอยู่ตอนนี้ผมถือว่ามันเกินกว่าฝัน แล้วก็ดีกว่าเก่าเสียด้วยซ้ำไป เพราะไม่ต้องเหนื่อยเท่าตอนหนังสือพิมพ์ยังไม่เจ๊ง” เขาเล่าว่าเพื่อนรุ่นเดียวกันหลายคนพากันอิจฉาชีวิตของเขาในขณะนี้

แม้จะตกงาน บ้านถูกยึด ธุรกิจล้มละลาย มีหนี้ก้อนโต ก็ไม่ได้หมายความว่าชีวิตจะจบสิ้นไปด้วย อย่างมากก็เพียงแค่วิถีชีวิตเดิมๆ เท่านั้นที่จบสิ้น หากปล่อยวางชีวิตเก่าเสียได้ ชีวิตใหม่ก็พร้อมจะเกิดขึ้น หลายคนพบว่าตน “เกิดใหม่” อีกครั้งหลังวิกฤตปี ๔๐ ศิริวัฒน์ วรเวทวุฒิคุณ เป็นเจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องปิดกิจการเพราะเป็นหนี้ ๗,๐๐๐ ล้านบาท จนกลายเป็นบุคคลล้มละลาย และต้องยังชีพด้วยการยืนขายแซนด์วิชตามโรงพยาบาล แต่วันนี้เขากลับมาเติบโตอีกครั้งด้วยกิจการใหม่ คือธุรกิจอาหาร เขาเคยพูดว่า “ผมเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้งตอนอายุ ๔๘” เป็นชีวิตใหม่ที่เขาภาคภูมิใจเพราะ “ผมคิดว่าชีวิตผมเข้มแข็งกว่าทุกคนเยอะ และรู้คุณค่าของชีวิตมากขึ้น”

คนเราสามารถเกิดใหม่ได้เสมอ ตราบใดที่ไม่อาลัยอาวรณ์ในชีวิตเดิมที่สูญสิ้นไป และหากรู้จักสรุปบทเรียน นำประสบการณ์อันยากลำบากมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ก็แน่ใจได้ว่าชีวิตใหม่นั้นย่อมดีกว่าเดิม ถึงตอนนั้นเราย่อมอดไม่ได้ที่จะขอบคุณภาวะวิกฤตและอุปสรรคทั้งหลายที่ทำให้เรามีชีวิตใหม่ จึงไม่น่าแปลกใจที่ศิริวัฒน์จะพูดว่า “ผมอยากกลับไปขอบคุณเหตุการณ์เมื่อปี ๔๐ ที่ทำให้ผมมีชีวิตในวันนี้ได้อีกครั้ง”

วิกฤตปี ๒๕๕๒ อาจจะหนักหรือเบากว่าปี ๒๕๔๐ ก็ได้ทั้งนั้น แต่อย่าลืมว่า “อะไร” เกิดขึ้นกับเรา ไม่สำคัญเท่ากับว่าเรามีท่าทีกับมัน “อย่างไร” เหตุร้ายจะผ่อนเป็นเบาหรือกลายเป็นดีได้หากเราพร้อมยอมรับความเป็นจริงโดยไม่ตีโพยตีพายหรือยอมจำนนกับมัน อยู่กับปัจจุบันและทำปัจจุบันให้ดีที่สุด ไม่หวนอาลัยอดีตหรือมัวกังวลกับอนาคต หาความสุขจากที่นี่และเดี๋ยวนี้ด้วยการชื่นชมสิ่งที่มีอยู่และเป็นอยู่ ไม่จดจ่อใส่ใจกับสิ่งที่คนอื่นมีกัน ขณะเดียวกันก็ฉลาดในการแสวงหาความสุขที่ไม่อิงวัตถุ และมองให้เห็นข้อดีจากเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น พร้อมค้นหาและหยิบฉวยโอกาสใหม่ๆ ที่แฝงอยู่ในวิกฤต

ถึงที่สุดแล้วอย่าลืมบทเรียนสำคัญที่วิกฤตครั้งนี้สอนเรา นั่นคือความไม่เที่ยง ไม่มีอะไรแน่นอนหรือยั่งยืน รวยแค่ไหนก็จนได้ ยิ่งใหญ่เพียงใดก็ล้มละลายได้ เจริญกับเสื่อมเป็นของคู่กัน วิกฤตเศรษฐกิจไม่ว่าครั้งไหนเกิดขึ้นได้ก็เพราะความประมาทว่าทุกอย่างควบคุมได้ จัดการได้ รวมทั้งไม่เผื่อใจไว้ว่าสถานการณ์อาจผันแปรได้ เมื่อไม่เตรียมใจรับมือกับความตกต่ำ จึงเป็นทุกข์กับมันเมื่อภาวะตกต่ำมาถึง เป็นเพราะปล่อยใจเพลิดเพลินในยามรุ่งเรือง เมื่อถึงคราวตกต่ำจึงร่ำไห้ ต่อเมื่อไม่เหลิงยามเจริญ ยามเสื่อมจึงไม่เศร้า

หากระลึกถึงสัจธรรมข้อนี้อยู่เสมอ เราจะทำใจกับความล้มเหลวในวันนี้ได้มากขึ้น และไม่เหลิงไปกับความสำเร็จในวันพรุ่งนี้ ไม่ว่าชีวิตและโลกจะผันผวนปรวนแปรเพียงใดก็ยังรักษาใจให้ปรกติสุขได้