ปราบดา หยุ่น

 

“ดนตรีที่มีเสียงน้ำตา” ว่าด้วยเรื่องราวของนักร้องหรือนักดนตรี
ที่ผลงานของพวกเขาหรือเธอ มีคุณสมบัติของความเศร้าปรากฏอยู่

 

ดนตรีที่มีเสียงน้ำตา : บิลลี ฮอลิเดย์ : การมอดไหม้ที่ไพเราะของผลไม้ประหลาด

“เธอพูดเหมือนกระซิบ” เพื่อนคนหนึ่งของ บิลลี ฮอลิเดย์ (Billie Holiday) หรือ “เลดี้ เดย์” (Lady Day) รื้อฟื้นความทรงจำสมัยที่เขาเพิ่งรู้จัก “เสียง” ของเธอใหม่ ๆ ประมาณช่วงกลางยุคสามศูนย์ ขณะนั้นบิลลีเพิ่งมีอายุเพียงสิบแปด-สิบเก้า แม้เสียงพูดจะแผ่วเบาเหมือนเสียงกระซิบ แต่เสียงขับขานบทเพลงของเธอกลับกำลังก้องกังวานไปไกลถึงหูบุคคลสำคัญในวงการดนตรีแจ๊ซและบลูส์อย่างรวดเร็ว

“เธอไม่ได้เป็นแค่นักร้องอีกคนหนึ่งเท่านั้น… ผมไม่แน่ใจเลยว่า ผมเคยได้ยินเสียงอะไรมาก่อนที่จะได้ฟังเสียงเธอเป็นครั้งแรก…” เบ็นนี คาร์เตอร์ (Benny Carter) นักแซ็กโซโฟนและหัวหน้าวงดนตรีชื่อดังเคยยกยอบิลลีเอาไว้ คำสรรเสริญของเบ็นนีอาจฟังเกินจริงจนน่าสงสัย แต่เขาไม่ใช่คนเดียวที่หลงใหลเสน่ห์ในน้ำเสียงของเธออย่างลึกซึ้งถึงทรวงอก ไม่นานหลังจากวันที่เบ็นนีได้ยินเสียงของ บิลลี ฮอลิเดย์ ผู้หญิง “ผิวสี” ร่างใหญ่ใจนักเลงคนนี้ ก็กลายเป็นหนึ่งในสุดยอดนักร้องของประวัติศาสตร์มนุษย์ เธอเป็นตำนานตั้งแต่ยังสาว และเป็นหนึ่งในนักร้องไม่กี่คนที่มีความเป็น “ศิลปิน” ในการ “เปล่งเสียง” อย่างแท้จริง

“ถ้าฉันจะร้องเพลงเหมือนกับคนอื่น ๆ ฉันไม่ต้องร้องเลยก็ได้” บิลลีกล่าวเมื่อมีคนทักเรื่องน้ำเสียงและจังหวะขับขานบทเพลงที่ไม่เหมือนใครของเธอ “ถ้าคุณเลียนแบบคนอื่น นั่นแปลว่าคุณทำงานโดยปราศจากความรู้สึกที่แท้จริง” สำหรับบิลลี ดนตรีคือการแสดงออกและการสะท้อนตัวตนของปัจเจกบุคคล “บนโลกนี้ไม่มีคนสองคนที่เหมือนกันอย่างหมดจด ดนตรีก็เช่นกัน มิเช่นนั้นก็ไม่ใช่ดนตรี”

บริบทและบรรยากาศของสังคม เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนพฤติกรรมของมนุษย์ ทั้งด้านที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตประจำวันและด้านจิตวิทยา บิลลีเกิดและเติบโตท่ามกลางยุคสมัยที่การเหยียดผิวในอเมริกายังคงเข้มข้น สถานะของ “คนดำ” แม้จะหลุดพ้นจากขอบเขตของความเป็นทาส แต่ยังไม่วายถูกจัดเป็นราษฎรชั้นต่ำ โดยเฉพาะในรัฐทางตอนใต้ ที่คนผิวสีสามารถถูกกระชากชีวิตในพริบตา เพียงเพราะ “คนขาว” ไม่ชอบขี้หน้าพวกเขาเท่านั้น

ภายใต้การถูกกดขี่ข่มเหงและตีค่าว่าเป็นเพียงเศษมนุษย์ คนดำกลับเป็นสายพันธุ์ที่สร้างความสุกสว่างให้โลกด้วยเสียงดนตรี ไม่เฉพาะบลูส์ แจ๊ซ โซล ฟั้งก์ เร็กเก้ และฮิปฮอป อาจเรียกได้ว่าดนตรีในกระแสนิยมสมัยใหม่ทั้งหมด ตั้งแต่ร็อกแอนด์โรลล์ถึงอิเล็กทรอนิก้า ล้วนแตกกิ่งก้านออกมาจากต้นดนตรีที่ปลูกโดย “คนดำ” ทั้งสิ้น

มนุษย์ผู้ไร้ค่า ปราศจากตัวตนโดยไม่สมัครใจ มักเป็นมนุษย์ที่เห็นความสำคัญและหวงแหนความหมายของการมีตัวตนอย่างลึกซึ้ง

บิลลี ฮอลิเดย์ ไม่ใช่นักร้องเพลงแจ๊ซและบลูส์เพศหญิงผิวดำที่ขับขานบทเพลงได้ไพเราะที่สุด ในแง่ของความหนักแน่นและความหลากหลายรอบด้าน เธออาจพ่ายแพ้ลีลาของ เอลลา ฟิตซ์เจอรัลด์ (Ella Fitzgerald) ในเรื่องของความแจ่มชัดขัดใส เธออาจเป็นรอง ซาราห์ วอห์น (Sarah Vaughan) อยู่หลายชั้นฝุ่น และในเรื่องของความก้องไกลกังวาน เธออาจเทียบไม่ได้กับพลังของ ดีนาห์ วอชิงตัน (Dinah Washington) ทว่าเสียงร้องของบิลลีมีส่วนผสมพิเศษนอกเหนือไปจากคุณสมบัติของน้ำเสียง บิลลีเป็นมากกว่านักร้อง เธอเป็น “นักกล่อม” เป็นนักเล่นแร่แปรธาตุ ผู้สามารถสะกดคนฟังได้ด้วยความเปราะบางใน “บรรยากาศ” ของน้ำเสียง การฟังเสียงร้องของ บิลลี ฮอลิเดย์ จึงไม่ใช่การฟัง “นักร้อง” มากเท่ากับเป็นการ “ได้ยินความรู้สึก” จากตัวตนลึก ๆ ของเธอ

มีศิลปินไม่กี่คนที่สามารถเปลือยความรู้สึกต่อหน้าสาธารณชนได้อย่างงดงามเช่นนั้น

ชีวิตของ บิลลี ฮอลิเดย์ มีสีสันหวือหวาซับซ้อนสมกับที่เป็นหนึ่งในตำนานอมตะของดนตรีแจ๊ซ และเหมาะกับการสร้างเป็นภาพยนตร์ตามแบบฉบับฮอลลีวูด (เคยทำออกมาแล้วในปี ค.ศ. ๑๙๗๒ ชื่อเรื่อง Lady Sings The Blues และโดนนักวิจารณ์ส่วนใหญ่ รวมถึงแฟนเพลงพันธุ์แท้ของบิลลีสับอย่างละเอียด) เช่นเดียวกับที่ประวัติของ เรย์ ชาร์ลส์ (Ray Charles) ถูกนำมาร้อยเรียงเป็นลำดับเพื่อความประทับใจในภาพยนตร์เรื่อง Ray (๒๐๐๔)

ช่วงเวลาวัยเยาว์ที่ลำบากยากไร้ พรสวรรค์ทางดนตรีที่น่าทึ่ง นิสัยใจคอและบุคลิกภาพที่โดดเด่นกว่าคนรอบข้าง ปัญหาในชีวิตรักและเรื่องชู้สาว ปัญหาเกี่ยวกับยาเสพติด การไต่เต้าขึ้นถึงจุดสุดยอด และความตกต่ำที่ตามมาอย่างรวดเร็ว ทั้งหมดดูเหมือนจะเป็นรูปแบบชีวิตคนดังในตำนานคนแล้วคนเล่า ในกรณีของ เรย์ ชาร์ลส์ เขากลายเป็นวีรบุรุษผู้หยัดยืนฝืนฝ่ามรสุมชีวิตทั้งหลายจนกลายเป็น “ยอดคน” เมื่อล่วงเข้าวัยชรา ทว่าประวัติของ บิลลี ฮอลิเดย์ ไม่ได้จบลงอย่างงดงามตามสูตรภาพยนตร์ “คนสู้ชีวิต” เธอพ่ายแพ้ต่อความอ่อนแอของตัวเอง และเสียชีวิตเพราะการใช้ยาเสพติด เมื่ออายุ ๔๔ ปี

เซดี (Sadie) แม่ผู้มีอายุเพียงสิบแปดตอนให้กำเนิด บิลลี ฮอลิเดย์ ในรัฐฟิลาเดลเฟียเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๑๕ ตั้งชื่อลูกสาวว่า อิเลนอรา แฮร์ริส (Eleanora Harris) พ่อของเธอชื่อ คลาเรนซ์ ฮอลิเดย์ (Clarence Holiday) เขาเข้ารับราชการทหารในช่วงที่อิเลนอรายังเป็นเด็กเล็ก หลังจากนั้นจึงเริ่มชีวิตนักดนตรี เล่นแบนโจและกีตาร์กับวงออร์เคสตร้าในนครนิวยอร์ก อิเลนอราไม่เคยมีชีวิตครอบครัวที่แท้จริง พ่อกับแม่ของเธอไม่ได้แต่งงานกัน และในช่วงกำลังเติบโต แม่มักทิ้งเธอไว้กับญาติ ๆ เพื่อเดินทางไปหางานทำต่างเมือง การขาดความอบอุ่นทำให้อิเลนอรามีความประพฤติน่าเป็นห่วงในสายตาผู้ใหญ่ เธอถูกส่งเข้าไปดัดสันดานที่โรงเรียนคาทอลิกในเมืองบัลติมอร์เป็นเวลา ๙ เดือน หลังจากนั้นไม่นาน สาวน้อยก็ถูกชายคนหนึ่งข่มขืน ขูดข่วนแผลเป็นในความทรงจำของเธอไปตลอดชีวิต

ด้วยเพราะปราศจากบรรยากาศของความเป็นครอบครัว เวลาส่วนใหญ่ของเด็กสาวอายุสิบสอง-สิบสามผู้ไม่ระแคะระคายว่าตนจะกลายเป็นนักร้องชื่อดัง หมดไปในซ่องโสเภณี และอาจเพราะนิสัยชอบล้อเล่นของโชคชะตา ชีวิตในซ่องนั้นเองที่ทำให้เธอมีโอกาสเคลิบเคลิ้มหลงใหลในเสียงดนตรีแจ๊ซผ่านลำโพงเครื่องเล่นแผ่นเสียง อิเลนอราชื่นชอบพลังและลีลาของ เบสซี สมิท (Bessie Smith) นักร้องผิวสีชื่อดังในยุคนั้น ที่สำคัญที่สุด เธอเริ่มบูชาเอกลักษณ์เฉพาะตัวในการเปล่งเสียงของ ลูอิส อาร์มสตรอง (Louis Armstrong) นักดนตรีและนักร้องระดับยักษ์ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้เธอกล้าเป็น “นักทดลอง” กับการร้องเพลงในเวลาต่อมา

กิจวัตรในซ่องของอิเลนอรายุติลง เมื่อเธอและเด็กหญิงอีกร่วมสิบชีวิตถูกตำรวจจับในข้อหาคนเร่ร่อน หลังพ้นความผิด เธอจับคู่กับนักเป่าแซ็กโซโฟนแถวบ้าน ตระเวนร้องเพลงตามบาร์เล็ก ๆ ในรูปแบบของวงดนตรีเปิดหมวก เปลี่ยนชื่อจากอิเลนอราเป็น “บิลลี” และนำนามสกุลของพ่อมาใช้

ตำนานบทใหม่ของโลกแห่งดนตรีถือกำเนิดขึ้นภายใต้ชื่อ “บิลลี ฮอลิเดย์”

ความโดดเด่นในน้ำเสียงของบิลลีพาเธอขึ้นสู่เวทีบาร์ราตรีหลายแห่งในย่านฮาร์เล็มของนครนิวยอร์ก คำแนะนำปากต่อปากช่วยให้เธอตกเป็นเป้าสายตานักวิจารณ์เพลงแจ๊ซในเวลาสั้น ๆ นักดนตรีฝีมือดีที่มีโอกาสได้ฟังเสียงของบิลลี ต่างต้องอึ้งและทึ่งสนิทภายใต้การขับกล่อมของเธอ จนกระทั่งคืนหนึ่ง จอห์น แฮมมอนด์ (John Hammond) แมวมองผู้มีอิทธิพลกว้างขวางในวงการเพลง บังเอิญโดนมนต์สะกดของ บิลลี ฮอลิเดย์ โดยไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน การมอดไหม้ของนักร้องผิวสีบุคลิกจัดจ้านคนใหม่ เริ่มลุกลามสว่างไสวขึ้นนับตั้งแต่คืนนั้น

ในยุครุ่งโรจน์ของดนตรีแจ๊ซ ความเป็นพาณิชย์อย่างเต็มที่ของมันทำให้นักดนตรีและนักร้องผิวดำส่วนใหญ่ในแวดวงถูกกระแนะกระแหนว่าเป็นพวกยอมก้มหัวสร้างความบันเทิงปรนเปรอ “คนขาว” ขณะที่ราษฎรผิวสีจำนวนมากยังถูกข่มเหงรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ คนดำในวงการเพลงและวงการภาพยนตร์กลับมีความเป็นอยู่หรูหราฟู่ฟ่า กลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อมของคนในสังคม “ชั้นบน”

บิลลี ฮอลิเดย์ เป็นหนึ่งในนักร้องผิวสีไม่กี่คนที่แสดงออกอย่างชัดเจนเสมอ ว่าเธอต่อต้านความอยุติธรรม ในช่วงแรก เธอแสดงออกด้วยน้ำเสียงหม่นเศร้า เพลงที่เธอเลือกร้องและเป็นที่ชื่นชอบของคนฟัง มักมีเนื้อหาเกี่ยวกับความผิดหวังและความรักรันทดรสขม เนื้อเสียงแหบหยาบและการสร้างบรรยากาศอึมครึมด้วยลีลาการร้องเหมือนลมยะเยือกที่ลอยเอื่อยในวันฝนพรำ ทำให้คนฟังจินตนาการร่วมถึงการเสียดแทงที่เจ็บแสบปวดร้าว แม้เพลงส่วนใหญ่จะเป็นเพลงรัก แต่เสียงของบิลลีมีความสามารถซึมลึกกว่าเนื้อหาบนผิวเปลือกอย่างน่าอัศจรรย์ รักร้าวของ บิลลี ฮอลิเดย์ จึงสะท้อนภาพที่ใหญ่กว่ารักร้าวระหว่างชายหญิง

เสียงของเธอสะท้อนภาพรักร้าวระหว่างมนุษยชาติ

สถานการณ์คนขาวรุมทำร้ายคนผิวสียังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง พร้อม ๆ กับที่ตัวตนของ บิลลี ฮอลิเดย์ เปล่งประกายเจิดจ้า ภาพร่างไร้ลมหายใจของคนผิวดำห้อยนิ่งเรียงรายตามกิ่งไม้ในสภาพยับเยินอาบเลือด สร้างความสลดหดหู่ให้คนในสังคมอเมริกันและชาวโลกผู้ไม่อยากเชื่อว่าความป่าเถื่อนเช่นนั้นจะเกิดขึ้นในประเทศที่เรียกตัวเองว่า “โลกใหม่”

ในปี ๑๙๓๗ เอเบล มีโรโปล (Abel Meeropol) ครูเชื้อสายยิวผู้ใช้นามปากกาว่า ลิวอิส อัลแลน (Lewis Allan) เขียนบทกวีขึ้นจากความสะเทือนใจในสถานการณ์เหยียดผิวที่เขาต้องรับรู้อยู่ทุกวี่วัน เขาแต่งท่วงทำนองให้บทกวีชิ้นนั้นกลายเป็นบทเพลงเชิงประท้วงเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพให้แก่ชนกลุ่มน้อยที่ถูกกดขี่รังแก และวันหนึ่งเมื่อ บิลลี ฮอลิเดย์ เริ่มนำบทเพลงของมีโรโปลไปขับร้อง น้ำเสียงสลดเศร้าของบิลลีกับเนื้อหาหดหู่ในเพลงของมีโรโปล ผสานผสมกันเป็นผลงานสร้างสรรค์ที่ลงตัวอย่างมหัศจรรย์

Southern trees bear strange fruit,
Blood on the leaves and blood at the root,
Black bodies swinging in the southern breeze,
Strange fruit hanging from the poplar trees.

“Strange Fruit” หรือ “ผลไม้ประหลาด” คือชื่อของเพลงบทนั้น มีโรโปลเปรียบร่างคนดำถูกแขวนคอตามกิ่งก้านว่าเป็น “ผลไม้” หน้าตาพิสดาร ห้อยแกว่งอยู่บนต้นที่เปรอะเปื้อนไปด้วยเลือด จากผิวใบไหลหลั่งลงสู่โคนราก

ไม่มีเสียงนักร้องเพลงแจ๊ซและบลูส์คนไหนสามารถสะท้อนอารมณ์ขมขื่นของภาพดังกล่าวได้เหมาะเจาะเท่ากับเสียงของ บิลลี ฮอลิเดย์ เมื่อเธอยืนสงบนิ่งอยู่บนเวทีและถูกห้อมล้อมด้วยความมืดทะมึนที่คล้ายเป็นกำแพงกั้นขวางระหว่างร่างโดดเดี่ยวของเธอกับโลกภายนอก ผู้คนในที่นั่งต่างจดจ้องมองไปยังจุดเดียว แล้วหยุดหายใจเพื่อฟังการขับขานของเสียงหม่นเศร้า เสียงของความปวดช้ำยับเยินที่ค่อย ๆ แตกเป็นรอยร้าวก่อนการปรากฏของเปลวไฟ การขับร้องเพลง “Strange Fruit” ของบิลลีเป็นมากกว่าการแสดงดนตรี เธอสวมวิญญาณของมนุษย์ผู้ทนทุกข์ทรมาน และเป็นตัวแทนสะท้อนความโหดร้ายในสังคมด้วยน้ำเสียงจากก้นบึ้งของหุบเหวเย็นเยียบอ้างว้าง

ในบรรดาเพลงเศร้าสลดทั้งหมดที่เธอขับกล่อม “Strange Fruit” ดูเหมือนจะถูกเขียนขึ้นสำหรับ บิลลี ฮอลิเดย์ โดยเฉพาะ นอกเหนือจากน้ำเสียงและลีลาที่กลมกลืนกับเนื้อหา ตัวตนของบิลลีเองก็เป็น “ผลไม้ประหลาด” ของโลกในอีกความหมายหนึ่ง

นั่นคือความหมายที่ว่า เธอมอดไหม้รุนแรงและรวดเร็วกว่าใครหลายคน และไม่ยอมประนีประนอมกับวิถีชีวิตที่ขัดแย้งกับตัวตนภายในของเธอเอง

“Strange Fruit” เป็นบทเพลงที่อื้อฉาวที่สุดในชีวิตการเป็นนักร้องของ บิลลี ฮอลิเดย์ แต่ก็เป็นบทเพลงที่ผลักดันเธอสู่ความเป็น “แถวหน้า” ในโลกของแจ๊ซไปพร้อม ๆ กัน แฟนเพลงและผู้ให้การสนับสนุนบิลลีจำนวนหนึ่งไม่พอใจกับความสำเร็จของ “Strange Fruit” เท่าไรนัก

พวกเขาเห็นว่าบิลลีพาตัวเองเข้าไปติดอยู่ในมุมเล็ก ๆ ของการเป็นนักร้อง “เฉพาะทาง” นักร้องประเภทที่ครวญครางแต่เพลงหม่นเศร้าสำหรับคนขี้เหงาและเสพติดความวังเวง พวกเขาต้องการให้เธอประสบความสำเร็จในระดับกว้างขวางกว่านั้น พวกเขาต้องการให้เธอมีความยืดหยุ่นและปรับตัวเข้ากับความหลากหลายในดนตรี พวกเขาต้องการให้เธอยุติการมอดไหม้ และกลายเป็น “ดวงดาว” ตามแบบฉบับคนบันเทิงที่เฉิดฉายตลอดกาล พวกเขาต้องการให้เธอเป็นในสิ่งที่เธอไม่ได้เป็น

ชีวิตสั้น ๆ ของ บิลลี ฮอลิเดย์ อาจไม่ใช่ “ชีวิตตัวอย่าง” ที่น่าลอกเลียนหรือควรเจริญรอยตาม ความสำเร็จมหาศาลของเธอมีความผิดหวัง ความโดดเดี่ยว และการทำร้ายตัวเอง ผสมผสานอยู่ด้วยกันอย่างแยกไม่ออก การมอดไหม้ของเธออาจมีคุณค่าเพียงเป็นพลังสุกสว่างอย่างแสงเทียนในกวีบทดังของ เอ็ดนา เซนต์ วินเซนต์ (Edna St. Vincent):

My candle burns at both ends
It will not last the night;
But ah, my foes, and oh, my friends–
It gives a lovely light!

ความยิ่งใหญ่อย่างเป็นตำนานของ บิลลี ฮอลิเดย์ ไม่ได้อยู่ที่ความเป็นผู้หญิงผิวสีร่างใหญ่ใจนักเลง ที่ทำร้ายตัวเองจนถึงแก่ชีวิตด้วยยาเสพติด แต่อยู่ที่การสร้างสรรค์ทางเสียงเพลงและ “ตัวตน” ในน้ำเสียงที่ไม่เหมือนใคร

ส่องสว่างไม่ถึงเช้า แต่ก็เจิดจ้ามหาศาลและส่งเสียงมอดไหม้ได้ไพเราะในขณะกำลังลุกลาม

เปลวไฟระยะสั้น ๆ ในน้ำเสียงของ บิลลี ฮอลิเดย์ ช่วยเปิดเผยรายละเอียดบางอย่างในมุมมืดให้คนมากมายได้เห็น และยังคงจะมีคนรุ่นใหม่ ๆ ย่างกรายเข้าไปค้นพบบางอย่างในความมืดนั้น ตราบที่เสียงของเธอยังได้รับการบันทึกสืบทอดอยู่ในความทรงจำของมนุษย์

และเมล็ดพันธุ์ของผลไม้ประหลาดยังไม่ได้กลายเป็นเถ้าธุลี