เรื่อง : ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์
patgys@yahoo.com

moringa

จากเดิมเคยเป็นที่รู้จักในฐานะผักที่ใช้ประกอบอาหารประเภทแกงส้ม ปัจจุบันมะรุม (Moringa; Moringa oleifera) กลายเป็นพืชที่โดดเด่นด้วยตัวมันเองแบบมาเร็วและแรงดีไม่มีตกอย่างน่าประหลาดใจ ไม่ว่าจะหันไปทางไหน ทั้งตลาดนัดระดับตำบลจนถึงร้านขายสินค้าเพื่อสุขภาพมีระดับ ต่างก็มีผลิตภัณฑ์ “มะรุม” ขายกันทั้งนั้น ตั้งแต่เมล็ดแห้งแบบไม่แปรรูปชนิดที่ก่อนกินต้องทำใจเพราะรสชาติขมติดปากติดคอ ไปจนถึงแคปซูลใบและเมล็ด และน้ำมันเมล็ดมะรุม

เมื่อสืบค้นกลับไปถึงที่มาของกระแสมะรุมที่กำลังบูมในบ้านเรา พบว่าเพิ่งโด่งดังเมื่อปีสองปีมานี้เอง และข้อมูลที่นำมาอ้างอิงส่วนใหญ่ทั้งในหนังสือ นิตยสารเพื่อสุขภาพ หรือแม้แต่ในเว็บไซต์ดังๆ ก็ล้วนมาจากต้นตอเดียวกัน นั่นคือองค์กรไม่แสวงผลกำไรชื่อว่า Trees for Life International ที่ยกให้มะรุมเป็นพืชเพื่อชีวิต เพราะทุกส่วนประกอบไม่ว่าใบ ดอก ฝัก เมล็ด เปลือกลำต้น หรือราก ล้วนอุดมไปด้วยสารอาหารสำคัญทั้งในเชิงโภชนาการและเชิงการแพทย์ โดยเฉพาะใบมะรุมมีคุณค่าทางโภชนาการชนิดที่องค์กรนี้มุ่งหวังว่าจะแก้ปัญหาภาวะทุพโภชนาการของโลกใบนี้ได้เลยทีเดียว

ดังเช่นการศึกษาเรื่องการใช้ผงใบมะรุมรักษาโรคทุพโภชนาการในหญิงมีครรภ์และหญิงให้นมบุตรในประเทศเซเนกัล ผลการศึกษาพบว่าเด็กมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นในอัตราคงที่และสูงขึ้น สุขภาพโดยรวมดีขึ้น ในหญิงมีครรภ์หายจากอาการเลือดจางและให้กำเนิดทารกน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ส่วนหญิงให้นมบุตรมีปริมาณน้ำนมเพิ่มขึ้น ขณะนี้กำลังทำการทดลองซ้ำในประเทศกานา

แท้จริงมะรุมเป็นพืชที่ได้รับความสนใจในแวดวงนักการแพทย์และนักโภชนาการมานานแล้ว ในยุคโรมัน กรีก และอียิปต์มีการสกัดเมล็ดเพื่อทำโลชันทาผิวและน้ำหอม แพทย์พื้นบ้านในกัวเตมาลาใช้ใบแก้โรคผิวหนังติดเชื้อ ปวดแสบปวดร้อน ในมาเลเซียและเวเนซุเอลาใช้ใบแก้โรคพยาธิ ส่วนดินแดนที่รุ่งเรืองทางการแพทย์มาตั้งแต่ยุคโบราณอย่างอินเดีย ยิ่งใช้ประโยชน์จากมะรุมแก้สรรพโรค เช่น โรคเลือดจาง หอบหืด สิวหัวช้าง ไอ ท้องเสีย ติดเชื้อในหูหรือตา ลดไข้ ลดความเครียด ฯลฯ ในบ้านเราว่ากันว่าการกินแกงส้ม (ฝัก) มะรุมช่วยแก้โรคไข้หัวลม

มิเพียงมีประโยชน์กับคน ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งในประเทศนิการากัวกำลังศึกษาการปลูกมะรุมเชิงเดี่ยวเพื่อเก็บใบมะรุมไปเลี้ยงสัตว์ พบว่าวัวนมที่กินใบมะรุมสดวันละ ๑๕-๑๗ กิโลกรัม จะให้น้ำนมเพิ่มขึ้น ๔๓ เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าเปลี่ยนจากใบสดเป็นใบแห้งโดยให้กินวันละ ๒ กิโลกรัม น้ำนมจะเพิ่มขึ้น ๕๘ เปอร์เซ็นต์ ถ้าเพิ่มเป็นวันละ ๓ กิโลกรัม น้ำนมจะเพิ่มขึ้น ๖๕ เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว นอกจากนี้ยังมีการสกัดน้ำจากใบ (สารสีเขียว) เพื่อนำไปฉีดพ่นกำจัดแมลงและเป็นปุ๋ยสำหรับพืชไร่และพืชผลอย่างได้ผลอีกด้วย

เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้คนไทยจะคุ้นเคยกับมะรุมมานาน แต่ก็เป็นการรู้จักในเชิงอาหาร ส่วนกระแสการใช้มะรุมเป็นยา และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้นถูกผลักดันมาจากภายนอก แคปซูลมะรุมที่วางขายในร้านผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพก็นำเข้าจากต่างประเทศ เมื่อไม่นานมานี้เพิ่งมีกลุ่มแม่บ้านบางแห่งเริ่มตื่นตัวผลิตแคปซูลใบและเมล็ดมะรุมออกวางจำหน่ายเป็นสินค้าโอทอปขายดีเป็นเทน้ำเทท่า โดยผู้บริโภคเชื่อว่ามะรุมเป็นดุจยาเทวดา แก้ได้ทุกโรค ไม่ว่ามะเร็ง เบาหวาน โรคหัวใจ โรคไขข้อ ลดไขมันในเส้นเลือด ชะลอความแก่และอื่นๆ อีกมากมาย

อย่างไรก็ตาม หากคิดจะกินมะรุมเป็นยารักษาโรคก็ควรกระทำด้วยความระมัดระวัง องค์กร Trees for Life International ได้ออกวารสารนำเสนอความก้าวหน้าของงานวิจัยเกี่ยวกับมะรุมทั่วโลก (ดูได้ที่ www.tfljournal.org) ระบุว่าปัจจุบันมีงานวิจัยยุคใหม่เกี่ยวกับมะรุมประมาณ ๗๕๐ ชิ้น แต่ส่วนใหญ่เป็นการวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการ และการทดลองในห้องปฏิบัติการเป็นการทดลองกับสัตว์ ไม่ใช่มนุษย์ แม้มีงานวิจัยน้อยชิ้นมากที่ระบุว่ามะรุมส่งผลกระทบด้านลบต่อมนุษย์ แต่ก็ยังมีความต้องการงานวิจัยรองรับอีกมาก โดยเฉพาะการวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการของใบมะรุมต่างสายพันธุ์ที่เติบโตต่างสถานที่ การวิจัยการเตรียมผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและปริมาณการกินที่เหมาะสม และการทดสอบทางวิทยาศาสตร์เพื่อพิสูจน์ข้ออ้างสรรพคุณเชิงการแพทย์ในการรักษาโรคต่างๆ เป็นต้น

หากจะแย้งว่าเรากินมะรุมกันมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายายไม่เห็นเป็นอะไร แต่โปรดอย่าลืมว่าปีหนึ่งๆ เรากินแกงส้มมะรุม และใบมะรุมลวกจิ้มน้ำพริกกันสักกี่ครั้งเชียว

ด้วยเหตุนี้แนวทางที่น่าสนใจในการใช้ประโยชน์จากมะรุมก็คือแนวทาง “อาหารเป็นยา” โดยเฉพาะใบมะรุมซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่มีการศึกษาวิจัยและมีข้อมูลรองรับมากที่สุด ทั้งยังเป็นข้อมูลที่น่าทึ่ง โดยการศึกษาพบว่าใบมะรุมอุดมไปด้วยวิตามินและเกลือแร่ และยังมีกรดอะมิโนสำคัญที่ไม่พบในพืชทั่วไป

จากการวิเคราะห์ปริมาณสารอาหารในใบมะรุมสดเปรียบเทียบกับพืชชนิดอื่นด้วยปริมาณเท่ากัน (กรัมต่อกรัม) พบว่าใบมะรุมสดมีวิตามินซี ๗ เท่าของส้ม, วิตามินเอ ๔ เท่าของแครอต, แคลเซียม ๔ เท่าของนม, โพแทสเซียม ๓ เท่าของกล้วยสุก และโปรตีน ๒ เท่าของโยเกิร์ต

ส่วนผลการวิเคราะห์ปริมาณสารอาหารในใบมะรุมแห้งพบว่าส่วนใหญ่ให้สารอาหารเพิ่มขึ้น ยกเว้นวิตามินซีที่ลดลง โดยในใบมะรุมแห้งมีวิตามินเอ ๑๐ เท่าของแครอต, วิตามินซี ๐.๕ เท่าของส้ม, แคลเซียม ๑๗ เท่าของนม, โพแทสเซียม ๑๕ เท่าของกล้วยสุก, ธาตุเหล็ก ๒๕ เท่าของผักขม และโปรตีน ๙ เท่าของโยเกิร์ต

จากข้อมูลน่าทึ่งข้างต้นน่าจะทำให้แม่ครัวพ่อครัวทั้งหลายเกิดแรงบันดาลใจสร้างสรรค์เมนูอาหารใหม่ๆ จากมะรุมเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากแกงส้ม (ฝัก) มะรุมเจ้าเก่า คุณอาจลองเคี้ยวเมล็ดมะรุมแห้งก่อนอาหารเป็นยาเจริญอาหาร ดื่มชาใบหรือดอกมะรุมแทนเครื่องดื่มประจำ นอกจากนี้ขอแนะนำเมนูไข่เจียวมะรุมที่คุณกฤช เหลือลมัย แห่งคอลัมน์ “ท้ายครัว” แนะนำไว้ใน สารคดี ฉบับที่ ๒๘๘ ลองทำดูแล้วค่ะ ขอบอกว่าเมนูชะอมทอดไข่ต้องหลีกทางให้เลยทีเดียว

สุดท้ายนี้ขอบอกวิธีหามะรุมที่ง่ายและแสนสะดวกราวกับมีร้านขายวิตามินอยู่ข้างบ้าน นั่นคือการปลูกมะรุมไว้ที่บ้านสักต้น มะรุมเป็นพืชปลูกง่ายโตง่าย ดิฉันใช้เวลาปลูกแค่ ๒ ปีก็ออกดอกออกฝักให้ชื่นชม เก็บฝักได้เป็นหอบและเมล็ดหลายถุง คนโบราณเตือนว่าอย่าปลูกมะรุมใกล้บ้านเพราะชื่อไม่เป็นมงคล แต่แท้จริงแล้วน่าจะเป็นเพราะมะรุมเป็นพืชกิ่งเปราะหักง่ายเสียมากกว่า.

สรรพคุณของมะรุม

รศ. ดร. สุธาทิพ ภมรประวัติ จากกลุ่มวิชาเภสัชโภชนศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขียนผลการวิจัยเกี่ยวกับมะรุมในเชิงการแพทย์ไว้ในบทความเรื่อง “มะรุม ลดไขมันป้องกันมะเร็ง” ตีพิมพ์ในนิตยสาร หมอชาวบ้าน ฉบับเดือนมิถุนายน ๒๕๕๐ ซึ่งเป็นงานเขียนที่ถูกหยิบยกไปอ้างอิงเรื่องสรรพคุณเกี่ยวกับมะรุมตามเว็บไซต์ต่างๆ เป็นจำนวนมาก สรุปความว่า

สำหรับสรรพคุณของมะรุมในการชะลอความชรานั้นยังไม่พบรายงานการวิจัย แต่เนื่องจากมะรุมมีสารฟลาโวนอยด์ (flavonoid) ที่สำคัญคือ รูทิน (rutin) และเควอเซทิน (quercetin) ทั้งยังมีสารลูทีน (lutein) และกรดแคฟฟีโอลิลควินิก (caffeoylquinic acids) ซึ่งทั้งหมดเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยชะลอการเสื่อมสภาพของเซลล์ในร่างกาย

ในปี ๒๕๐๗ มีการค้นพบสารเบนซิลไทโอไซยาเนตไกลโคไซด์ (Benzyl thiocyanate glycoside) และเบนซิลกลูโคซิโนเลต (Benzyl glucosinolate) ในมะรุมซึ่งมีฤทธิ์ต้านจุลชีพ นำมาสู่การใช้น้ำคั้นจากมะรุมหยอดหูแก้ปวดหู ปัจจุบันกำลังมีการศึกษาสารจากมะรุมในการต้านเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori ที่ทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหาร

การทดลองฤทธิ์ต้านมะเร็งในหนูพบว่า หนูที่ได้รับฝักมะรุมเป็นอาหารเกิดโรคมะเร็งผิวหนังจากการกระตุ้นน้อยกว่ากลุ่มควบคุมโดยกลุ่มที่กินมะรุมมีเนื้องอกบนผิวหนังน้อยกว่ากลุ่มควบคุม สรุปได้ว่าสารเบนซิลไทโอไซยาเนตไกลโคไซด์ชนิดหนึ่งและสารไนอาซิไมซิน (niazimicin) จากมะรุม สามารถต้านการเกิดมะเร็งที่ถูกกระตุ้นโดยสารฟอร์บอลเอสเทอร์ (Phorbol ester) ในเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวได้

ในส่วนของการลดไขมันและคอเลสเตอรอล จากการทดลอง ๑๒๐ วันให้กระต่ายกินฝักมะรุมวันละ ๒๐๐ กรัมต่อกิโลกรัม น้ำหนักตัวต่อวัน เทียบกับยาโลวาสแททิน (Lovastatin) ๖ มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัวต่อวัน และให้อาหารไขมันสูง พบว่าทั้งกลุ่มที่กินมะรุมและยามีคอเลสเตอรอล ฟอสโฟลิพิด ไตรกลีเซอไรด์ VLDL LDL ปริมาณคอเลสเตอรอลต่อฟอสโฟลิพิด และ atherogenic index ต่ำลง ทั้ง ๒ กลุ่มมีการสะสมไขมันในตับ หัวใจ และหลอดเลือดแดงใหญ่ (เอออร์ตา) ส่วนกลุ่มควบคุมปัจจัยด้านการสะสมไขมันในอวัยวะเหล่านี้ไม่มีค่าลดลงแต่อย่างใด กลุ่มที่กินมะรุมพบการขับคอเลสเตอรอลในอุจจาระเพิ่มขึ้น ผู้วิจัยจึงสรุปว่าการกินมะรุมมีผลลดไขมันในร่างกาย

ที่ประเทศอินเดียมีการใช้ใบมะรุมลดไขมันในคนที่เป็นโรคอ้วนมาแต่เดิม การศึกษาการกินสารสกัดใบมะรุมในหนูที่กินอาหารไขมันสูง มีปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือดลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม นอกจากนี้ในหนูที่กินสารสกัดใบมะรุมยังมีปริมาณไขมันในตับและไตลดลง สรุปว่าการให้ใบมะรุมเพื่อลดปริมาณไขมันนั้น ทางการแพทย์อินเดียสามารถวัดผลได้ในเชิงวิทยาศาสตร์จริง

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่ทำในหนูทดลองพบว่า สารสกัดใบมะรุมมีฤทธิ์ป้องกันโรคตับอีกด้วย

ผู้เขียนสรุปในตอนท้ายว่า ผลิตภัณฑ์มะรุมของต่างประเทศจะอ้างฤทธิ์รักษาโรคมากมายทั้งที่ยังไม่มีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ แค่ฤทธิ์ที่พิสูจน์ได้นี้ก็คงเพียงพอแล้วที่จะเพิ่มใบหรือฝักมะรุมในรายการอาหารมื้อกลางวันของคุณวันนี้