เรื่อง : สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ

ใต้ร่มเงาไม้ บริเวณที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง อุทัยธานี

“ดูในกล้องนะคะ นกอะไร เด็กๆ เปิดหนังสือดูเอง ครูยังไม่เฉลย” เสียงครูกุ้ง หรือ ธัญลักษณ์ สุนทรมัฏฐ์ บอกเด็กๆ ๖-๗ คน

กล้องที่ว่าคือกล้องส่องทางไกลกำลังขยายสูงสำหรับดูนกที่มักเรียกกันสั้นๆ ว่า สโคป  ส่วนนกที่ว่าเกาะอยู่บนยอดไม้ไกลออกไปจากที่ตั้งกล้องหลายสิบเมตร

และหนังสือที่ว่าก็คือหนังสือ คู่มือดูนก หมอบุญส่ง เลขะกุล นกเมืองไทย

เจ้านกที่เห็นเพียงร่างตะคุ่มๆ เมื่อมองผ่านกล้องสโคป มันอวดสีสันสดใสจนเด็กหญิงอดไม่ได้ต้องหันมาบอกเพื่อนว่า “น่ารักๆ” แล้วรีบออกจากแถวให้เพื่อนที่ต่อคิวเข้าดูนกจากกล้องสโคปต่อ

ใช้เวลาสั้นๆ พลิกเปิดหนังสือ นกเมืองไทย เล่มหนากว่า ๔๐๐ หน้าที่พวกเขาคุ้นเคย เด็กๆ ก็เจอภาพวาดนกใน “ภาพชุดที่ ๑๐๗ นกเขียวคราม นกเขียวก้านตอง” หน้า ๒๔๕

“ตัวนี้ๆ” เด็กๆ ชี้ภาพวาดนกชนิดหนึ่งบนหน้าหนังสือ  บนหน้านั้นมีภาพวาดนกอยู่ ๖ ชนิด ใต้ภาพเขียนหมายเลขและชื่อกำกับ  มองผาดๆ นกส่วนใหญ่ล้วนตัวสีเขียวๆ ดูคล้ายกันหมด หากแต่เมื่อพิศดูอย่างละเอียด ก็จะ
เห็นว่าแต่ละภาพแสดงลักษณะปาก แถบสีตรงคอ สีท้อง แถบลายสีบนปีกและหาง ที่แตกต่างกันชัดเจน

“อย่าลืมวาดภาพไว้ด้วยนะคะ” ครูกุ้งกระตุ้นให้เด็กๆ ลงมือวาดภาพนกที่เห็นในสมุดบันทึก หลายคนนั่งลงบนพื้นหญ้า ลงมือวาดภาพนกด้วยสีที่เตรียมมาในย่าม

ขณะมองเด็กๆ เพลิดเพลินกับการนั่งวาดภาพนก  ผมสงสัยว่าในอนาคตจะมีเด็กคนไหนสักคนในชมรมดูนก โรงเรียนรุ่งอรุณ ซึ่งครูกุ้งเป็นครูที่ปรึกษาชมรม จะเติบโตขึ้นเป็นนักวาดภาพทางวิทยาศาสตร์ สร้างผลงานดังเช่นภาพวาดนกในหนังสือคู่มือดูนก ซึ่งเมืองไทยเรายังขาดแคลนคนที่รักงานด้านนี้อีกมาก

นี่มิใช่การวาดภาพเหมือนตาเห็น หากแต่ผู้วาดต้องสนิทสนมคุ้นเคยกับอินทรีย์ชีวิตที่จะถ่ายทอด และด้วยเทคนิคทางศิลปะซึ่งผ่านการเรียนรู้ฝึกฝน บวกความละเอียดแม่นยำดังเช่นนักวิทยาศาสตร์ที่ต้องชั่ง ตวง วัด แร่ธาตุในห้องทดลอง

นก ผีเสื้อ แมลง กล้วยไม้ ดอกไม้ ลิง ค่าง ก็จะปรากฏขึ้นบนกระดาษอันว่างเปล่า  ด้วยรูปร่าง สีสัน และสัดส่วน แสดงตัวตนถูกต้องตรงตามลักษณะเฉพาะของมันอันแตกต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่มีไม่ต่ำกว่า ๒ ล้านชนิดบนโลก

ทุกครั้งที่ชมงานศิลป์ที่ผสานองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เช่นนี้ ผมรู้สึกทึ่งทุกทีว่า ธรรมชาติช่างมหัศจรรย์ยิ่งนัก !

sci illust01

ภาพยุงสีจากแอฟริกา (Toxorhynchites brevipalpis) วาดขึ้นในสมัยที่ยังไม่มีกล้อง camera lucida  วิชัย มะลิกุล พัฒนาอุปกรณ์ช่วยเป็นแผ่นกระจกกลมมีเส้นตารางสเกลใส่ในเลนส์ตาของกล้องจุลทรรศน์ ช่วยใ้ห้การวาดขยายภาพด้วยเส้นตารางบนกระดาษมีสัดส่วนถูกต้อง โดยได้แนวคิดจากการทำงานของช่างวาดภาพโปสเตอร์โรงหนังสมัยก่อน

sci illust02ภาพผีเสื้อชุด “Painting Wonrous
Wings” ของ วิชัย มะลิกุล ในหนังสือ Peterson Field Guides to Eastern
Butterflies ซึ่งได้รับการยอมรับในระดับโลก และได้รับรางวัล Grand Prize
Award of Excellence ในปี ๒๕๓๗ จาก International Congress Communications
sci illust03

Dr.David
Adamski แห่งกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) ตั้งชื่อมอทชนิดใหม่ที่ค้นพบว่า
Calosima malikuli เพื่อเป็นเกียรติแก่ วิชัย มะลิกุล

 

ยุง ผีเสื้อ และไมโครมอท

ต้นเดือนกันยายน ๒๕๕๔ ในห้องนิทรรศการของจัตุรัสวิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
(อพวช.) ชั้น ๔ ของอาคารจัตุรัสจามจุรี บริเวณแยกสามย่าน ปทุมวัน  ผมจ้องมองภาพวาดยุงตัวใหญ่ในกรอบขนาด A3 ที่แขวนจัดแสดงด้วยความตะลึง ภาพเส้นขนเล็กๆ ที่กระจายอยู่ทั่วตัว บนขายาว ๖ ขา ใต้ขอบปีกบางใสสองข้าง และบนหนวดที่แผ่ราวกับขนนกนั้น แจ่มแจ้งจนรู้สึกเกินจริง  ส่วนบนปล้องลำตัวมีเกล็ดวงรีเล็กๆ สีเขียวมันวาว ละเอียดยิบจนไม่กล้านับ

คำอธิบายใต้ภาพระบุ “ยุงสีจากแอฟริกา Toxorhynchites brevipalpis (เป็นยุงตัวผู้) ใช้เทคนิค water color & color ink”

“ภาพยุงนอกจากใช้จำแนกชนิดแล้ว ยังช่วยชีวิตคนด้วย เป็นงานเริ่มต้นอาชีพเลย”

วิชัย มะลิกุล เจ้าของผลงานภาพวาดยุง ผีเสื้อ และแมลงอันแสนมหัศจรรย์ที่จัดแสดงอยู่กล่าวอย่างภูมิใจ

ถึงวันนี้ชื่อเสียงของอาจารย์วิชัย มะลิกุล น่าจะเป็นที่รู้จักในเมืองไทยมากพอสมควร กล่าวได้ว่าอาจารย์เป็นคนไทยหนึ่งเดียวที่ทำงานด้านภาพวาดทางวิทยาศาสตร์ในสถาบันวิจัยและพิพิธภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก คือสถาบันสมิทโซเนียน (Smithsonian Institution) กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา (ก่อตั้งเมื่อปี ๒๓๘๙) ในแผนกกีฏวิทยา (Department of Entomology) ห้องทำงานของอาจารย์อยู่ที่ตึกพิพิธภัณฑ์ประวัติธรรมชาติ (Natural History Museum)

“ผมเป็น scientific Illustrator ผู้เชี่ยวชาญการวาดรูปทางวิทยาศาสตร์ รู้สึกว่าตัวเองเกิดมาเพื่อวาดภาพแบบนี้ตั้งแต่เด็กๆ  แม่ยังถามผมว่าจะหากินกับการวาดรูปแมลงเหรอ ตอนนั้นไม่แน่ใจหรอก รู้แต่เราชอบวาดรูปแมลง”

กว่า ๔๐ ปีก่อน ชายหนุ่มที่เพิ่งจบมัธยม ๘ และยังหาที่เรียนต่อไม่ได้ เข้าสมัครงานเป็นนักวาดภาพให้สถาบันวิจัย
ทางการแพทย์ขององค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ส.ป.อ. หรือ SEATO) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นพี่เบิ้ม จัดตั้งขึ้นในช่วงสงครามเวียดนาม เพื่อต่อต้านการแผ่อิทธิพลของลัทธิคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคนี้

วิชัยได้รับมอบหมายให้วาดภาพยุงก้นปล่องเพศเมียซึ่งเป็นพาหะของโรคไข้ป่าหรือมาลาเรีย ให้แก่ Dr.John E. Scanlon นักวิทยาศาสตร์ผู้ทำวิจัย  จัดพิมพ์ในหนังสือชื่อ Illustrated Key to the Female Anopheles Mosquitoes of Thailand (ภาพวาดเพื่อจำแนกชนิดยุงก้นปล่องเพศเมียในประเทศไทย) เมื่อปี ๒๕๐๙

ด้วยประทับใจในฝีมือ ปีถัดมาเมื่อดอกเตอร์จอห์นกลับไปที่สถาบันสมิทโซเนียน และจัดตั้งโครงการศึกษาแมลงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ จึงชักชวนเขาไปร่วมงานต่อ ทำให้นักวาดภาพหนุ่มชาวไทยได้เดินทางข้ามทวีปไปทำงานที่ตนรักในสถาบันที่มีชื่อเสียงระดับโลก  นับเป็นโอกาสอันพิเศษสุด และเขาก็ไม่ปล่อยให้โอกาสนั้นเสียเปล่า  เขามุ่งมั่นกับการวาดยุงลายโดยร่วมงานกับนักวิทยาศาสตร์ชาวไต้หวัน Dr. Yiau-Min Huang เป็นเวลาถึง ๑๖ ปี วาดภาพไปกว่า ๑,๐๐๐ ภาพ จน Dr.Yiau-Min ตั้งชื่อยุงลายชนิดใหม่ที่ค้นพบว่า Aedes (Stegomyia) malikuli ตามนามสกุล มะลิกุล เพื่อเป็นเกียรติแก่เขา  ผลงานจากโครงการนี้คือตำราเกี่ยวกับยุงลาย พาหะของโรคไข้เลือดออก ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขยังใช้อ้างอิงมาถึงปัจจุบัน

ปี ๒๕๒๖ เสร็จจากการวาดยุงลายแล้ว เขาถึงได้ตำแหน่งข้าราชการเต็มตัวในสถาบันสมิทโซเนียน มีงานประจำหลักคือการวาดภาพไมโครมอท (micro moth) ซึ่งเป็นผีเสื้อกลางคืนตัวจิ๋วเท่าปลายเล็บ มีขนาดไม่กี่มิลลิเมตร แต่เป็นศัตรูพืชตัวร้ายของส้ม อะโวคาโด ผักผลไม้หลายชนิด โดยช่วงระยะตัวหนอน มันจะชอนไชกัดกินใบไม้ปรากฏเป็นรอยทางในใบ ทำให้ใบร่วงจนต้นไม้ตาย  โดยมี Dr.Donald Davis นักวิทยาศาสตร์ของสถาบันสมิทโซเนียนเป็นผู้ทำการศึกษาวิจัย

“งานนี้ทำมาร่วม ๓๐ ปี วาดไปแล้วกว่า ๑,๐๐๐ ชนิด ยังเหลืออีก ๓๐๐ ชนิด เสร็จแล้วจะเป็นเอนไซโคลพีเดียของไมโครมอทเลยทีเดียว  ดอกเตอร์เดวิสคนนี้เก่งมาก เขาเก็บตัวอย่างมอทมาแล้วสามารถหาวิธีแผ่ปีกมันออกได้ ทำยาก เพราะตัวเล็กมาก”

บนภาพวาดในกรอบขนาดกระดาษ A4 ที่จัดแสดงในงานนิทรรศการ มีภาพไมโครมอทอยู่ ๑๐ ชนิด ทุกชนิดกำกับไว้ด้วยชื่อวิทยาศาสตร์และเส้นแสดงขนาด บางชนิดความยาวส่วนหัวรวมอกระบุไว้ ๑ มิลลิเมตร บางชนิดความยาวทั้งตัวเพียง ๑ มิลลิเมตรเท่านั้น ทั้งหมดเป็นภาพขยายด้วยสัดส่วนที่ถูกต้องจากขนาดจริงของผีเสื้อแต่ละชนิด

ยิ่งไปกว่าความเล็ก คือเกล็ดปีกผีเสื้อที่ซ้อนนูนเรียงแถวละเอียดยิบราวกับเกล็ดของผีเสื้อตัวเป็นๆ

ผีเสื้อเป็นแมลงที่มีลักษณะพิเศษคือทั่วตัวปกคลุมด้วยเกล็ดสีเล็กๆ หากจะวาดภาพผีเสื้อให้เหมือนจริงที่สุดจึงไม่อาจระบายเพียงการลงสีพื้นเท่านั้น  อาจารย์วิชัยพัฒนาการวาดภาพสีน้ำด้วยเทคนิคพิเศษของตนเอง โดยใช้คุณสมบัติพิเศษของสีบางประเภท และการค่อยๆ ลงสีซ้อนกันหลายชั้นจนเกล็ดปีกนูนราวของจริง

“วิธีวาดให้เหมือนจริง ผมเรียนรู้ด้วยตนเอง ศึกษางานของญี่ปุ่น เอารูปเขามาเป็นตัวแบบ แล้วพยายามฝึกฝน

“ตัวมอทมีหลายหมู่ด้วยกัน มีลักษณะปีกต่างกัน ลายต่างกัน บางชนิดยังมีจุดคล้ายโรยด้วยพริกไทยกับเกลือ ละเอียดมาก  ผมต้องดูจากหลายตัวอย่างแล้วจับลักษณะลายออกมา ผมไม่ได้วาดจากตัวอย่างเดียว เพราะภาพที่วาดจะต้องใช้เป็นตัวแทนของมอทชนิดนั้นๆ”

นอกจากการวาดภาพลักษณะภายนอก  สำหรับงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ อวัยวะภายในของสัตว์ โดยเฉพาะอวัยวะเพศถือเป็นส่วนสำคัญที่ต้องวาดเพราะใช้ในการจำแนกชนิด  อาจารย์วิชัยต้องใช้กล้องจุลทรรศน์กำลังขยายสูงช่วยส่องดูตัวอย่างที่ถูกผ่าไว้

“บางครั้งส่องกล้องพิจารณาดูเป็นวันก็มี กว่าจะเข้าใจว่าอวัยวะชิ้นไหนต่อกับชิ้นอื่นอย่างไร พอเข้าใจแล้วตอนวาดก็ใช้เวลานิดเดียว

“งานเราละเอียด ต้องใช้สมาธิสูงมาก”

ยามกลางวัน อาจารย์วิชัยทำงานวาดภาพผีเสื้อกลางคืน ตกกลางคืน อาจารย์วาดภาพผีเสื้อกลางวัน

“มีผู้สื่อข่าวมาถามผมว่า กลางวันคุณวาดมอท แล้วใช้เวลาพักผ่อนทำอะไร  ผมตอบว่าตอนกลางคืนผมวาดบัตเตอร์ฟลาย เขาบอกว่าผมบ้าหรือเปล่า  ผมเริ่มวาดสามทุ่ม เลิกเที่ยงคืนตีหนึ่ง บางทีเพลิน ตอนนั้นยังหนุ่ม ไฟแรง”

ผีเสื้อกลางวันที่เขาวาดตอนกลางคืนถือเป็นการทำงานส่วนตัว ใช้เวลาทุ่มเทวาดภาพทุกคืนอยู่ตลอด ๖ ปี (๒๕๒๘-๒๕๓๔) ได้ผลงานภาพวาดผีเสื้อกว่า ๕๐๐ ภาพ  สำเร็จและจัดพิมพ์เป็นหนังสือคู่มือผีเสื้อ Peterson Field Guides to Eastern Butterflies  ผลงานชุดนี้ได้รับการยอมรับในระดับโลก พร้อมกับรางวัลดีเด่นจากหลายหน่วยงาน มีการนำไปจัดแสดงตามสถานที่ต่างๆ อยู่หลายครั้ง รวมทั้งนำมาแสดงที่โรงแรมโอเรียนเต็ล ประเทศไทย เมื่อปี ๒๕๓๙  อาจารย์วิชัยตั้งชื่อผลงานชุดนี้ว่า “Painting Wondrous Wings”

ขณะที่ภาพไมโครมอทโดดเด่นด้วยเกล็ดปีกนูนละเอียดยิบ ภาพผีเสื้อกลางวันก็เจิดจรัสด้วยเส้นสายลายสีบนปีก  เทคนิคการวาดเฉพาะตัวของอาจารย์วิชัยทำให้จุดคล้ายฝุ่นละเอียดและเส้นขนเบาๆ ที่ซ้อนทับบนเกล็ดปีก รวมถึงสีเหลือบวาวสะท้อนแสง ปรากฏราวผีเสื้อมีชีวิต

“ผมมีความสุขมากกับการวาดภาพ ใจเราอยู่ที่นั่น ความสวยงามของธรรมชาติจุดประกายให้เราทำงาน ผมวาดด้วยสีน้ำ ถึงตั้งชื่อว่า Painting Wondrous Wings ผมแปลเป็นภาษาไทยว่า ปีกแห่งสวรรค์  เหมือนมาจากสวรรค์ คนรักธรรมชาติจะซึ้งในเรื่องนี้

“ความงามในภาพที่ผมวาด คือความสวยงามของธรรมชาติ ตบแต่งด้วยความละเอียด ทำด้วยความรัก  ภาพวาดของผมสวยก็จริงนะ แต่ในธรรมชาติสวยยิ่งกว่าภาพของผมอีก  เราเพียงเลียนแบบให้เหมือนธรรมชาติเท่านั้น แต่ธรรมชาติเป็นที่สุดของที่สุดแล้ว”

นอกจากการทำงานวาดภาพที่ตนรักแล้ว อาจารย์วิชัยยังแบ่งเวลาทำหน้าที่จุดประกายให้คนเห็นความสำคัญของภาพวาดทางวิทยาศาสตร์ ด้วยการเป็นวิทยากรสอนการวาดภาพให้สถาบันสมิทโซเนียน มหาวิทยาลัย และโรงเรียนหลายแห่งในสหรัฐอเมริกา  ทุกครั้งที่อาจารย์กลับมาจัดแสดงภาพวาดในประเทศไทย ก็มักได้รับเชิญเป็นวิทยากรอบรมการวาดภาพทางวิทยาศาสตร์ให้แก่เยาวชนและผู้สนใจแทบทุกครั้ง

ครูกุ้งก็เป็นคนหนึ่งที่เคยเรียนวาดภาพกับอาจารย์วิชัย มะลิกุล

sci illust04

กล้วยไม้สามร้อยต่อใหญ่ (ธัญลักษณ์ สุนทรมัฎฐ์)

ภาพวาดทางพฤกษศาสตร์

“ตอนนั้นมีเวลาอบรมแค่สองวัน อาจารย์ให้เทคนิคและการวางแผนการลงสีว่าควรลงอะไรก่อนหลัง ต้องดูให้ออก  สีวาดแมลงมีหลายประเภท เช่น สีน้ำ สีอะคริลิก  อย่างปีกผีเสื้อมีเส้นสีขาวในปีก อาจารย์ห้ามใช้สีขาว เพราะในความจริง สีจะไม่ขาววอกอย่างนั้น อาจารย์จะสอนวิธีดึงสีกลับ”

ครูกุ้งย้อนความหลังครั้งเข้าอบรมการวาดภาพทางวิทยาศาสตร์กับอาจารย์วิชัย มะลิกุล เมื่อปี ๒๕๔๒

วิธีดึงสีกลับ อาจารย์วิชัยเรียกว่า pulling คือเมื่อลงสีพื้นแล้ว ใช้ปลายพู่กันแตะน้ำลากเส้น เช็ดพู่กันให้แห้ง แล้วลากตามเส้นอีกครั้งเพื่อดึงสีออก ก็จะได้เส้นปีกสีขาวคล้ายจริงกว่าการลงสีขาวทับลงไป

“อาจารย์อธิบายว่าผีเสื้อมีสีสวยเพราะเป็นเกล็ดเล็กๆ ซ้อนกันอยู่ และสอนเทคนิคระบายสีให้เป็นเหลือบแวววาวเหมือนของจริง” สีเหลือบที่ว่าเกิดจากการใช้สีอะคริลิกซึ่งเมื่อแห้งจะเป็นพลาสติกสะท้อนแสงแวววาว

โดยทั่วไปภาพวาดทางวิทยาศาสตร์ใช้สีน้ำเป็นพื้นฐาน แต่เทคนิคการวาดตรงข้ามกับที่ศิลปินใช้สีชุ่มน้ำเปียกๆ ระบายให้สีแผ่ซึมบนกระดาษอย่างอิสระที่เรียกว่า wet brush เพราะภาพวาดทางวิทยาศาสตร์เน้นรายละเอียดของวัตถุในธรรมชาติ ซึ่งอาจมีทั้งเส้น ขน ลาย จุด ฯลฯ  จึงต้องควบคุมสีให้อยู่ในขอบเขตที่ต้องการ เพราะหากผิดเพี้ยน ภาพวาดจะให้ข้อมูลลักษณะผิดจากความจริง

เทคนิคซึ่งนิยมใช้คือการวาดสีน้ำแบบหมาดๆ เรียกว่า dry brush

“dry brush เหมือนนั่งเขี่ยพู่กันแห้งๆ  นั่งเขี่ยเพราะเส้นมันเล็กมากๆ นั่งเขี่ยทีละเส้น ถ้าจะทำให้เหมือนจริง ต้องเขี่ยเล็กๆ จนเต็ม มันก็จะดูฟูเหมือนขนหรือผิวธรรมชาติ  ถ้าน้ำชุ่มภาพจะเสียไปเลย เราต้องควบคุมอุปกรณ์การวาด และต้องใจเย็น  เขียน dry brush ใช้เวลามาก แต่วาดแล้วเพลินดีค่ะ”

เทคนิคสำคัญอีกอย่างของอาจารย์วิชัย คือการวาดรายละเอียดซ้อนทับกัน เช่นปีกแมลงสีเข้ม แต่มีขนหรือปุ่มซ้อนอยู่  หากลงสีจางๆ ทับบนสีเข้มก็จะถูกกลืนหาย อาจารย์วิชัยจึงคิดวิธีใช้สีขาวข้นพิเศษ เรียกว่า opaque white แตะทับเป็นจุดๆ บนสีพื้นไว้ก่อน  สี opaque white มีคุณสมบัติไม่ผสมกับใคร จึงไม่ผสมกับสีพื้น จากนั้นจึงลงสีที่อ่อนกว่าบนจุดขาวอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งสีจะไม่ผสมกับ opaque white เช่นกัน นับเป็นเทคนิคที่ละเอียดลออมาก

ครูกุ้งมีพื้นฐานทางศิลปะจากการเรียนในคณะวิจิตรศิลป์ สาขาศิลปะไทย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  แม้ไม่ได้เรียนจบด้านการวาดภาพมาโดยตรง แต่ด้วยใจรักศิลปะและธรรมชาติ จึงชอบใช้เวลาว่างสเกตช์ภาพดอกไม้ต้นไม้มาตลอด  ต่อมาเมื่อสนใจดูนกจริงจัง จึงเริ่มฝึกวาดนกด้วย

จากการเข้าอบรมการวาดภาพทางวิทยาศาสตร์ซึ่งจัดขึ้นเป็นพิเศษสำหรับบุคคลทั่วไป โดยภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล  นอกจากครูกุ้งจะได้เรียนกับอาจารย์วิชัย มะลิกุล แล้ว ยังได้เรียนกับอาจารย์เอกชัย อ๊อด-อำไพ นักวาดภาพกล้วยไม้ผู้ได้รับการยอมรับฝีมือในระดับโลก (น่าเสียดายที่ปัจจุบันอาจารย์เสียชีวิตแล้ว) และอาจารย์ศศิวิมล แสวงผล ผู้เปิดสอนวิชาวาดภาพทางวิทยาศาสตร์ขึ้นเป็นครั้งแรกในคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทำให้ครูกุ้งได้รู้เทคนิคการวาดภาพต่างๆ และนำกลับมาฝึกฝนพัฒนา
ฝีมือตนเอง

ภาพวาดธรรมชาติที่ครูกุ้งชอบวาดแจกในหมู่เพื่อนมีโอกาสไปถึงมือของ ดร.ราชันย์ ภู่มา หัวหน้าสำนักงานหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งกำลังมองหานักวาดภาพทางวิทยาศาสตร์มาช่วยงานวาดภาพพรรณไม้อยู่พอดี

หนังสือปกแข็งเล่มหนาชื่อ พฤกษศิลป์ จัดพิมพ์โดยสำนักงานหอพรรณไม้ เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จ-พระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๓ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๓ เป็นงานรวบรวมภาพวาดพรรณไม้พื้นเมืองของประเทศไทย ๘๔ ชนิดจากฝีมือของนักวาดภาพ ๓ คน หนึ่งในนั้นคือ ธัญลักษณ์ สุนทรมัฏฐ์ หรือครูกุ้ง

“ภาพชุดนี้วาดสะสมกันมาหลายปี ความยากในการวาด คือรายละเอียด เราไม่ค่อยเข้าใจธรรมชาติของพรรณไม้แต่ละชนิด ต้องทำงานร่วมกับนักพฤกษศาสตร์  ภาพวาดวิทยาศาสตร์ต่างกับภาพวาดทั่วไป สำคัญที่สุดคือต้องเหมือนจริง เพื่อใช้เป็นภาพตัวแทนของชนิดพรรณไม้ และต้องวาดลักษณะที่สมบูรณ์ เช่นใบ เราจะไม่วาดให้ใบมีรูแมลงเจาะ หรือมีราเกาะ เพราะไม่ใช่ข้อมูลที่เราต้องการสื่อสำหรับการใช้งาน”

การวาดภาพพรรณไม้ในระยะแรกประสบปัญหาอยู่หลายประการ เช่น บางชนิดต้องวาดจากภาพถ่าย เนื่องจากเป็นพรรณไม้หายาก ซึ่งสีของดอก ใบ ในภาพถ่ายมักเพี้ยนจากสีจริง หรือภาพถ่ายพรรณไม้ที่แยกชิ้นส่วนเป็นภาพดอก ใบ ผล ทำให้ไม่เห็นภาพรวมของต้นไม้  ผู้วาดต้องปะติดปะต่อส่วนต่างๆ เข้าด้วยกันเอง

“ตอนแรกร่างแบบด้วยดินสอให้ดูก่อนว่าถูกหรือเปล่า  พืชมีรายละเอียดซึ่งนักพฤกษศาสตร์จะบอกว่าให้เน้นจุดไหน เช่น มีหูใบเป็นตุ่มตรงก้านใบ การเรียงใบต้องเวียนเป็นบันไดสามขั้น ใบต้องไล่ขนาดจากใหญ่ไปเล็ก หรือการแตกกิ่ง การออกดอก เส้นใบ เป็นอย่างไร

“ถ้าร่างแบบได้แล้วค่อยมาลงสี  เรื่องสีก็มีหลายน้ำหนัก เหลืองแบบไหน เขียวแบบไหน เราป้ายสีให้ดูก่อนว่าใช่หรือไม่ หรือเขียวเข้มกว่านี้  ถ้าวาดสีผิด ต้องวาดชิ้นงานใหม่เลย เพราะสีน้ำแก้ยาก ภาพจะช้ำ ดูไม่ดี  บางภาพถูกแก้ถึง ๓รอบ เราก็คิดว่าได้ฝึกใหม่ สนุกดี  ภาพที่วาดเสร็จ เขาจะให้ผู้เชี่ยวชาญพืชวงศ์นั้นดู  ถ้ามองออกว่าเป็นพืชชนิดไหน ก็ถือว่าผ่าน ถ้ามองไม่ออกก็ต้องวาดใหม่”

แต่หลายชนิดจะใช้ตัวอย่างพรรณไม้แห้งมาดูประกอบ ซึ่งช่วยให้เห็นภาพรวมและสัดส่วนแท้จริงของพรรณไม้ชัดเจนยิ่งขึ้น

เมื่อถามว่าการวาดภาพจากการสังเกตพรรณไม้จริงในธรรมชาติจะช่วยให้งานง่ายขึ้นไหม ครูกุ้งเล่าว่า

“การไปวาดในธรรมชาติมีปัญหาเหมือนกัน แสงแดดที่เปลี่ยนมุมไปเรื่อยๆ หรือลมพัด ดอกไม้ไม่นิ่ง และยังมีแมลง ยุงรบกวนเวลาวาดทำให้ไม่มีสมาธิ  ถ้าฝนตกก็ต้องหลบฝน กระดาษเปียกไม่ได้  พอลองทำ เราก็รู้ว่าวาดที่บ้านหรือที่ทำงานดีที่สุด ใช้แสงโคมไฟ สีไม่เพี้ยน

“แต่การไปดูดอกไม้จริงในภาคสนามกับนักพฤกษศาสตร์ ช่วยได้มาก เพราะเราได้เห็นว่าต้นไม้เล็กใหญ่แค่ไหน  เราจะสเกตช์สีและจดรายละเอียดไว้ในสมุดบันทึก  พอกลับมาวาด เราจะนึกภาพออก มีสเกตช์ มีภาพถ่าย มาประกอบกัน  การเห็นของจริง เราจะรู้สึกประทับใจด้วย  เวลาวาดจะใส่ใจ แล้วทำงานอย่างมีความสุข”

สำนักงานหอพรรณไม้ตั้งอยู่ชั้น ๓ ของอาคารกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ถนนพหลโยธิน

ที่นี่มีภารกิจสำคัญคือการวิจัยชนิดพรรณไม้ในประเทศไทยให้เสร็จสมบูรณ์ตามมาตรฐานสากล มีนักพฤกษศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญพรรณไม้ในวงศ์ต่างๆ ทำงานประจำอยู่  มีห้องสมุดที่รวบรวมเอกสารวิจัยและหนังสือด้านพฤกษศาสตร์ทั้งของไทยและต่างประเทศไว้มากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ  มีหอพรรณไม้ซึ่งเก็บรวบรวมตัวอย่างพรรณไม้ไว้กว่า ๒๒๐,๐๐๐ ชิ้น ทั้งพรรณไม้แห้งและพรรณไม้ดอง

“คาดว่าประเทศไทยมีพรรณไม้อยู่ ๑ หมื่นชนิด เราใช้เวลาศึกษามา ๕๐ ปี ศึกษาได้เพียง ๖,๐๐๐ ชนิด คิดเป็นร้อยละ ๖๐ ยังขาดอีก ๔๐” ดร.ราชันย์เล่าถึงภารกิจสำคัญของประเทศที่ยังต้องใช้เวลาอีกยาวนาน

“งานอนุกรมวิธานพืชเป็นหัวใจสำคัญ เป็นข้อมูลพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์เพื่อให้สาขาอื่นนำไปต่อยอด เช่น การวิจัยด้านพฤกษเคมีหรือสมุนไพร ถ้าเราไม่ทราบว่าต้นไม้นี้มีชื่อที่ถูกต้องว่าอะไร ก็มีปัญหาแน่นอน อาจมีคนนำต้นไม้ผิดชนิดไปใช้ เกิดความผิดพลาดขึ้นได้ จึงเป็นความรู้พื้นฐานที่ประเทศต้องมี

“การจำแนกชนิดพรรณไม้ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ นักพฤกษศาสตร์บางคนศึกษาพืชวงศ์เดียวตลอดชีวิต บางทีก็ยังไม่เสร็จ เพราะพรรณไม้มีจำนวนมาก บางวงศ์อย่างวงศ์ถั่ว หรือกล้วยไม้ มีนับพันชนิด  การเขียนบรรยายพรรณไม้ต้องบรรยายให้ครบทุกด้านทั้งลักษณะทางพฤกษศาสตร์ การกระจายพันธุ์ เป็นงานที่ใช้เวลามาก”

เมื่อนักพฤกษศาสตร์ศึกษาวิจัยพรรณไม้เสร็จแล้ว สิ่งสำคัญคือการเผยแพร่ความรู้นั้นในวารสารวิชาการ ซึ่งปัจจุบันสำนักงานหอพรรณไม้จัดทำวารสารที่เป็นมาตรฐานสากลอยู่ ๒ ฉบับ คือวารสาร Thai Forest Bulletin ตีพิมพ์งานวิจัยเกี่ยวกับพฤกษศาสตร์ครอบคลุมในทุกสาขา และวารสาร Flora of Thailand ตีพิมพ์งานด้านอนุกรมวิธานของพืชเป็นหลัก ซึ่งงานภาพวาดทางพฤกษศาสตร์มีบทบาทสำคัญประกอบคำบรรยายทางวิชาการในวารสารเหล่านี้

ภาพวาดทางพฤกษศาสตร์ภาพแรกจากฝีมือคนไทย ตีพิมพ์ในวารสาร Thai Forest Bulletin (Botany) ฉบับที่ ๑ หน้า ๗ วาดโดย พูนทรัพย์ สิงหัษฐิต เป็นภาพลายเส้นขาวดำแสดงลักษณะกิ่ง ใบ และดอกของต้นเต็งควน ประกอบอยู่ในเรื่อง “Identification Keys to genera and species of the Dipterocarpaceae of Thailand” เขียนโดย ศ. ดร. เต็ม สมิตินันทน์ ปรมาจารย์ด้านพรรณไม้ของประเทศไทย  วารสารฉบับนี้จัดพิมพ์ในปี ๒๕๐๑

“วารสารที่ถือว่ามีมาตรฐานสูงต้องมีภาพวาดทางวิทยาศาสตร์ประกอบ ภาพวาดที่ใช้ประโยชน์ทางวิชาการจะเป็นภาพวาดลายเส้นขาวดำ  เพราะแสดงรายละเอียดของพืชได้มากกว่า ทั้งกลีบดอก เกสร เมล็ด พร้อมระบุสเกลบอกขนาดแต่ละส่วน คนอ่านคำบรรยายแล้วดูภาพประกอบจะเข้าใจชัดเจน หรือจะนำไปถ่ายเอกสารเผยแพร่ต่อก็สะดวก ไม่มีปัญหาเรื่องของสี

“ส่วนภาพวาดสีน้ำ มีวัตถุประสงค์ให้คนทั่วไปเห็นความสวยงามของพรรณไม้  เราใช้เป็นภาพปกของวารสารเพื่อดึงดูดผู้อ่าน หรือจัดพิมพ์ในกรณีพิเศษอย่างหนังสือ พฤกษศิลป์ ซึ่งเราวาดสะสมมาก่อน”

ดร.ราชันย์อธิบายถึงความสำคัญของภาพวาดทางวิทยาศาสตร์ในวารสารวิชาการ

“วารสารที่จัดพิมพ์เราส่งไปแลกเปลี่ยนกับวารสารของสวนพฤกษศาสตร์หรือหอพรรณไม้ในต่างประเทศที่มีโครงการแลกเปลี่ยนกัน เช่น สวนพฤกษศาสตร์คิว ประเทศอังกฤษ และส่งตามมหาวิทยาลัยต่างๆ”

อรทัย เกิดแก้ว ตำแหน่งช่างศิลป์ประจำสำนักงานหอพรรณไม้ ทำงานวาดภาพพรรณไม้ประกอบในวารสารมากว่า ๒๐ ปีแล้ว โดยเน้นที่การวาดภาพลายเส้นขาวดำจากตัวอย่างพรรณไม้แห้ง ซึ่งนับว่าปัจจุบันงานล้นมือ ส่วนภาพวาดสีน้ำในหนังสือ พฤกษศิลป์ ถือเป็นงานในโอกาสพิเศษที่จะมีขึ้นนานๆ ครั้ง

โต๊ะทำงานของเธออยู่ที่มุมห้องซึ่งคุณอรทัยบอกว่าต้องการความเงียบสงบเพราะใช้สมาธิในการวาดภาพสูง

“ภาพหนึ่งๆ ใช้เวลาวาดสองสามวัน บางชิ้นเป็นอาทิตย์ก็มี” เธอบอก

ผมมองตัวอย่างพรรณไม้แห้งที่ติดบนกระดาษขนาด A4 ด้วยความรู้สึกเหมือนกำลังดูซากต้นไม้ตายตามรายทางแถมกิ่งหนึ่งยังถูกหักพับ (เป็นวิธีการเก็บพรรณไม้ให้อยู่ภายในหน้ากระดาษ) แต่ยังคงมีดอกและใบครบ  ใต้ตัวอย่างติดกระดาษเขียนข้อมูลพรรณไม้ เช่น ชื่อวงศ์ ชื่อวิทยาศาสตร์ ฯลฯ เป็นภาษาอังกฤษ

ขณะที่ “ของจริง” อยู่ในสภาพ “ตาย” บนกระดาษวาดภาพ A4 อีกแผ่นหนึ่งกลับปรากฏ “ของเลียน” ที่ “เป็น” ยิ่งกว่า  เพียงภาพลายเส้นขาวดำเรียบง่ายไร้สีสัน กลับแสดงตัวตนของพรรณไม้ชื่อ “คำดอย” ทั้งกิ่งก้าน ใบ และดอก ดูมีชีวิตได้อย่างไม่น่าเชื่อ

“เราไม่ได้วาดตามตัวอย่าง ดอกแห้งเหี่ยวฟุบ ต้องวาดให้ฟูขึ้นมา อาศัยจินตนาการ ให้เหมือนของสด มีชีวิตเหมือนในธรรมชาติ” คุณอรทัยอธิบาย  ผมอดทึ่งไม่ได้ว่าเธอต้องใช้จินตนาการขณะวาดมากแค่ไหน และเริ่มกระจ่างในความแตกต่างระหว่างภาพ “เหมือนจริง” กับ “เหมือนแบบ”

“ต้องสังเกตพรรณไม้สดที่เราเคยเห็น ดูภาพถ่ายประกอบ ค้นตำราในห้องสมุดดูวงศ์หรือสกุลที่ใกล้เคียงกัน อาศัยประสบการณ์ที่เราเห็นและวาดมามากแล้วด้วย  ตอนวาดเราจะจัดท่าแสดงลักษณะที่เด่นชัด เช่นใบจะวาดแผ่ให้เห็นเส้นใบ มีกี่เส้น มีขนหรือผิวเรียบ”

เช่นเดียวกับงานวาดภาพทางวิทยาศาสตร์อื่นๆ  อรทัยต้องทำงานใกล้ชิดกับนักพฤกษศาสตร์ เพื่อให้ภาพวาด “ถูกต้อง”

ดร.ราชันย์เสริมว่า “นักพฤกษศาสตร์จะระบุว่าต้องเน้นตรงไหน บางจุดต้องนับจำนวน เช่น ต่อมที่กลีบใบมีกี่ต่อม เส้นใบมีกี่เส้น ถ้าวาดเกินก็ผิด  ถ้าขนมี ๔-๕ เส้นก็ต้องนับให้ตรงกับคำบรรยาย  และยาวเท่าไร ยาวไปสั้นไปก็ไม่ได้  ถ้าวาดผิด คนดูจะท้วงว่าเราทำงานไม่ได้มาตรฐาน”

อรทัย เกิดแก้ว บอกว่าทำงานมานานด้วยใจรัก แม้สายตาจะเริ่มอ่อนล้าจนต้องสวมแว่นสายตาช่วย

กับการงานอันเป็นองค์ความรู้พื้นฐานในทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ  ตำแหน่ง “ช่างศิลป์” ประจำสำนักงานหอพรรณไม้กลับมีอัตราพนักงานเพียงตำแหน่งเดียว และมีพนักงานทำหน้าที่วาดภาพช่วยอีกหนึ่งตำแหน่ง แต่อยู่ในฐานะ “ลูกจ้างชั่วคราว”

ดร.ราชันย์ชี้แจงว่าด้วยกำลังคนที่จำกัด ทำให้ไม่อาจวาดภาพพืชได้ทุกชนิด จะวาดเพียงตัวแทนของพืชบางชนิดในสกุล  แม้แต่ในต่างประเทศก็เริ่มหาคนวาดภาพทางพฤกษศาสตร์ยาก และค่าจ้างวาดภาพมีราคาสูงมาก หลายแห่งใช้วิธีวาดภาพตัวอย่างชิ้นส่วนสำคัญของพืช ๔-๕ ชนิด พิมพ์รวมในหน้าเดียวกันเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย

sci illust05

ฐิตา ครุฑชื่น วาดภาพไส้เดือนบกด้วยกล้องจุลทรรศน์ camera lucida แกนท่อสีดำที่ยื่นจากตัวกล้องจะส่งภาพ “มือ” ไปปรากฎในเลนส์ตาซ้อนเข้ากับภาพ “ตัวอย่างไส้เดือน” ที่ถูกผ่า ทำให้ลากเส้นตามชิ้นส่วนขนาดเล็กได้สัดส่วนถูกต้องและรายละเอียดครบถ้วน (ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์)

กิ้งกือ ไส้เดือน หอยทาก กับตัวอย่างต้นแบบ

การขาดแคลนนักวาดภาพทางวิทยาศาสตร์ น่าจะสะท้อนถึงการให้ความสำคัญกับงานด้านนี้ในปัจจุบัน ซึ่งแตกต่างลิบลับกับครั้งยุคเริ่มต้นของงานอนุกรมวิธานเมื่อราว ๓๐๐ ปีก่อน นับแต่ที่ Carl Linnaeus(๒๒๕๐-๒๓๒๑) นักพฤกษศาสตร์และนักสัตวศาสตร์ชาวสวีเดน นำเสนอการจัดระบบจำแนกสิ่งมีชีวิตเป็นหมวดหมู่ และการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ของสิ่งมีชีวิตด้วยภาษาลาตินในแบบทวินาม  พร้อมกับการเข้าสู่ยุคล่าอาณานิคมของประเทศมหาอำนาจในยุโรป ที่มีขบวนนักสำรวจเดินทางไปเก็บตัวอย่างพรรณไม้ สัตว์ แมลง จากทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นทวีปใหม่อย่างอเมริกา ดินแดนแถบเอเชียตะวันออก หรือทวีปเกาะอย่างออสเตรเลีย

ภาพวาดทางวิทยาศาสตร์จึงเป็นเครื่องมืออันจะขาดไม่ได้สำหรับการบันทึกและเผยแพร่การค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ๆ จากดินแดนอันไกลโพ้น นักธรรมชาติวิทยาชาวยุโรปต้องว่าจ้างนักวาดภาพหรือจิตรกรมีฝีมือมาวาดภาพให้ ส่วนใหญ่วาดด้วยสีน้ำเพื่อแสดงสีสันของดอกไม้พรรณไม้ตามที่เป็นจริง ทั้งยังมีความสวยงามทางศิลปะดังเช่นภาพวาดในแนวอื่นๆ

การสำรวจวิจัยเพื่อจำแนกแยกแยะจัดระบบให้แก่สิ่งมีชีวิตที่มีจำนวนมาก ยังทำให้เกิดการเก็บรักษาสิ่งที่เรียกว่า “ตัวอย่างต้นแบบ” หรือไทป์ (Type specimen) คือตัวอย่างอ้างอิงของสิ่งมีชีวิตที่ได้รับการตั้งชื่อ

เมื่อนักวิจัยสำรวจและเก็บตัวอย่างสิ่งมีชีวิตมาศึกษา หากเปรียบเทียบพบว่าไม่ตรงกับชนิดใดที่เคยตั้งชื่อมาก่อน จึงจะถือเป็น “สิ่งมีชีวิตชนิดใหม่” หรือที่มักเรียกว่า นิวสปีชีส์ (new species)  แต่หลายครั้งที่สิ่งมีชีวิตคล้ายคลึงกันมาก การพิจารณาเปรียบเทียบจากคำบรรยายในเอกสารจึงไม่เพียงพอ ต้องตรวจสอบอ้างอิงกับของจริงที่ได้รับการยอมรับ คือตัวอย่างต้นแบบ

ไทป์จึงมีความสำคัญมากสำหรับงานด้านอนุกรมวิธาน มิเช่นนั้นจะเกิดการตั้งชื่อสิ่งมีชีวิตซ้ำซ้อนกับชนิดที่เคยค้นพบและตั้งชื่อไว้มาก่อนแล้ว  เฉพาะที่สำนักงานหอพรรณไม้เก็บตัวอย่างไทป์พรรณไม้ซึ่งเป็นนิวสปีชีส์ไว้กว่า ๕๐๐ ชิ้น ส่วนสวนพฤกษศาสตร์คิวมีไทป์นับล้านชิ้น

ดร.ราชันย์เล่าว่าในช่วงสมัยหนึ่ง ภาพวาดทางพฤกษศาสตร์ของพรรณไม้เคยได้รับการยอมรับให้เป็นตัวอย่างต้นแบบของพรรณไม้แทนตัวอย่างของจริง เนื่องจากมีปัญหาการเก็บรักษาตัวอย่างต้นแบบเพื่อนำกลับไปประเทศแม่ของผู้สำรวจ

ไทป์ของสิ่งมีชีวิต พืชหรือสัตว์ ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ มีความสำคัญไม่แพ้กัน

ที่ตึกชีววิทยา ๑ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถนนพญาไท  ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา หัวหน้าโครงการสำรวจวิจัยความหลากหลายของหอยทาก ไส้เดือน และกิ้งกือในประเทศไทย กำลังให้คำปรึกษาแก่นิสิตปริญญาโทและปริญญาเอกที่ทำงานวิจัยในโครงการฯ เมื่อผมเดินทางไปถึงเพื่อขอทราบความสำคัญของภาพวาดทางวิทยาศาสตร์ที่มีต่อโครงการวิจัยของอาจารย์

“ภาพวาดทางวิทยาศาสตร์เป็นงานคลาสสิก มีการสร้างสรรค์กันมานับร้อยๆ ปี และก็ยังใช้งานได้ดีมาก เป็นการบูรณาการวิทยาศาสตร์กับศิลปะเข้าด้วยกัน ผลงานเหล่านี้ยังมีส่วนสร้างแรงบันดาลใจให้คนรักธรรมชาติ” อาจารย์สมศักดิ์บ่งบอกความชื่นชอบที่มีต่อภาพวาดแนวนี้

งานวิจัยของอาจารย์สมศักดิ์เริ่มต้นจากเรื่องของหอยทากจิ๋วแล้วขยายสู่การศึกษาหอยทากบก ไส้เดือน กิ้งกือ ตะขาบ ซึ่งเป็นสัตว์ขนาดเล็กที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศในดิน เช่น กิ้งกือช่วยย่อยสลายซากพืชซากสัตว์ ไส้เดือนมีส่วนช่วยทำให้ดินร่วน ตะขาบเป็นสัตว์ผู้ล่าที่ควบคุมประชากรสัตว์อื่น  องค์ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับความหลากหลายของสัตว์เล็กๆ เหล่านี้จะเป็นพื้นฐานให้แก่การศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพดินเพื่อประโยชน์ในงานเกษตรกรรมต่อไป

“กิ้งกือเราศึกษามา ๕ ปี พบว่าเป็นกิ้งกือชนิดใหม่ของโลกหรือนิวสปีชีส์แล้วถึง ๕๐ ชนิด”

ในเมืองไทย กิ้งกือที่สำรวจพบแล้วมีมากกว่า ๑๕๐ ชนิด และคาดว่าน่าจะมีถึง ๕๐๐ ชนิด  ตัวอย่างที่พบอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อจัดจำแนกชนิด ซึ่งเชื่อว่าจะพบนิวสปีชีส์อีกจำนวนมาก  ด้วยเล็งเห็นว่างานภาพวาดทางวิทยาศาสตร์มีบทบาทสำคัญต่อการเผยแพร่งานวิจัย อาจารย์จึงพยายามหาผู้มีความสามารถมาช่วยอยู่นาน ในที่สุดก็ได้คุณฐิตา ครุฑชื่น หรือเจี๊ยบ มาร่วมงาน  เธอจบเพาะช่างแล้วไปเรียนศิลปศึกษา (วิจิตรศิลป์) ที่สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตพระนครใต้ (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ วิทยาเขตพระนครใต้) แล้วใช้ชีวิตรับงานวาดภาพอิสระอยู่ระยะหนึ่ง

ภาพวาดกิ้งกือของเจี๊ยบทำให้ผมรู้สึกตื่นเต้นไม่น้อย

ภาพที่ว่าวาดโดยใช้เพียงลายเส้นขาวดำ กิ้งกือลำตัวโค้งเป็นปล้องๆ ราว ๕๐ ปล้อง แต่ละปล้องมีขา ๒ ข้าง ข้างละ ๑ คู่  ทุกปล้องยังปรากฏครีบเล็กๆ รอบปล้อง

เป็นภาพที่วาดด้วยความละเอียดลออยิ่งยวด และเป็นกิ้งกือสวยที่สุดที่ผมเคยเห็น

“รายงานเรื่องกิ้งกือของเรามีวารสารต่างประเทศหลายฉบับขอนำไปลง ผู้เชี่ยวชาญกิ้งกือระดับปรมาจารย์ของโลกคนหนึ่งถามผมว่า นี่ภาพศิลปะหรือวิทยาศาสตร์ ทำไมอลังการอย่างนี้ แม้แต่เขาก็ไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้มาก่อน  ภาพวาดกิ้งกือช่วยให้รายงานของเราสมบูรณ์ มีมาตรฐานในระดับสากลที่ทุกคนยอมรับ  ถ้ามีแต่คำบรรยายอย่างเดียวก็เหมือนกับย้อนยุคไป ๒๐๐ ปี  สมัยก่อนไม่มีภาพวาดประกอบ ต่างประเทศเขาก็อยากมีแต่ไม่มีคนวาด บางแห่งวาดแต่ก็ไม่สวยเท่าของเรา  เดี๋ยวนี้เราส่งรายงานไปลงวารสารวิชาการที่ไหนในโลก เขารีบลงให้เลย เพราะมีภาพวาดที่ช่วยดึงดูดคนอ่าน  ผู้เชี่ยวชาญกิ้งกือทั่วโลกยอมรับว่าภาพวาดกิ้งกือของเจี๊ยบสุดยอด

“ผมพยายามสร้างงานวิจัยของเราให้ถึงมาตรฐานสากล ให้ต่างประเทศยอมรับว่าประเทศไทยไม่ใช่ประเทศล้าหลัง  เมื่อเขายอมรับเราก็มีสิ่งดีๆ ตามมา ทั้งการจัดประชุมวิชาการระดับโลกในประเทศไทย การขอความร่วมมือทางวิชาการต่างๆ สะดวกและง่ายขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก ไม่มีใครถามอีกแล้วว่าเราเป็นใคร”

การศึกษาเพื่อจำแนกชนิดและการพบนิวสปีชีส์จำนวนมาก ทำให้ตัวอย่างต้นแบบหรือไทป์มีความสำคัญต่องานวิจัยในโครงการนี้ไม่น้อย

“เราขอไทป์กิ้งกือจากต่างประเทศ เพื่อมาวาดภาพเก็บไว้ เขาก็ส่งมาให้ทันที เพราะเดี๋ยวนี้เขารู้จักฝีมือเราแล้ว ทั้งที่ไทป์เป็นของสำคัญมาก เป็นสมบัติธรรมชาติของโลกที่ใครเป็นเจ้าของก็ต้องหวงแหน”

สำหรับไส้เดือน อาจารย์สมศักดิ์จัดหาทุนวิจัยพานิสิตปริญญาโท เอก นักวิจัย และนักวาดภาพไปศึกษาไทป์ซึ่งเก็บอยู่ในพิพิธภัณฑ์ของประเทศเยอรมนีและออสเตรีย

“ถ้าเราจะศึกษาไส้เดือนในวงศ์หนึ่ง เราต้องเห็นไส้เดือนในโลกนี้ให้หมด ถึงจะจำแนกชนิดที่เราสำรวจพบได้ ต้องเปรียบเทียบกับตัวอย่างต้นแบบของแต่ละชนิด  ผมถึงส่งลูกศิษย์ให้ไปดูไทป์ของจริง และให้เจี๊ยบไปวาดไทป์เพื่อนำกลับมาใช้ศึกษาต่อ  ต่างประเทศเขาไม่เคยวาด  ตอนนี้กล่าวได้ว่าไม่มีใครมีรูปไทป์ไส้เดือนในเอเชียมากเท่าของเราแล้ว  ภาพไทป์ที่วาดจากของจริงจะช่วยให้เรายืนยันการจำแนกชนิดไส้เดือนใหม่ๆ ได้ถูกต้องชัดเจนและน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น”

ห้องทำงานของ ฐิตา ครุฑชื่น อยู่ชั้น ๒ ของตึกชีววิทยา ๑ ด้านหลังห้องพิพิธภัณฑ์หอยทากของไทย บนโต๊ะทำงานด้านหนึ่งตั้งกล้องจุลทรรศน์ช่วยวาดภาพสิ่งของเล็กๆ เรียกว่า camera lucida  ซึ่งมีท่อนำส่งภาพต่อกับกล้องจุลทรรศน์ ยื่นออกมาอยู่เหนือบริเวณที่วางมือสำหรับวาดภาพข้างฐานกล้อง  เมื่อส่องดูในกล้องจะเห็นภาพมือซ้อนกับวัตถุในภาพ ทำให้สามารถลากเส้นตามลักษณะวัตถุลงบนกระดาษได้  นับเป็นเครื่องมือจำเป็นสำหรับเจี๊ยบ เพราะสิ่งมีชีวิตที่เธอวาดล้วนมีขนาดเล็ก และที่สำคัญคือนอกจากการวาดลักษณะภายนอกแล้ว ยังต้องวาดอวัยวะภายในของสัตว์ โดยเฉพาะอวัยวะเพศซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ใช้จำแนกชนิด

“เวลาร่างภาพที่เล็กมากๆ จะใช้ camera lucida ช่วย อย่างหัวกิ้งกือมีขนาดเล็กเพียง ๔-๕ มิลลิเมตร ข้างในไส้เดือนก็มีอะไรเต็มไปหมด  เราต้องนั่งประกบกับนักวิจัย ถามเขาว่าส่วนไหนสำคัญที่ต้องวาด ต้องเรียนรู้ชื่ออวัยวะต่างๆ ตามที่นักวิจัยเรียก หรือวิธีนับปล้อง  วาดไปมากๆ ก็ค่อยๆ เข้าใจ  ความยากจะอยู่ช่วงเริ่มต้นที่เราต้องเรียนรู้ตัวใหม่ๆ ตั้งแต่กิ้งกือ ไส้เดือน ตอนนี้เริ่มวาดตะขาบ ก็ทำความรู้จักกันใหม่อีก

“อย่างตะขาบ บางปล้องมีสองขน บางปล้องมีขนเดียว ซึ่งนักวิจัยใช้เป็นตัวจำแนก ถ้าเขาบอกว่าปล้องที่ ๑๓-๑๔ มีขนสองขน เจี๊ยบจะดูให้เห็นกับตาก่อนว่าตรงกับเขา ถ้ายังไม่เห็นจะไม่วาด ต้องเรียกนักวิจัยมาชี้ให้ดู บางครั้งนักวิจัยนับปล้องผิดก็มี บางครั้งเราก็นับผิดเอง ช่วยกันดู ต้องให้ตรงกันถึงจะวาด เพราะวาดผิดไม่ได้”

กับการงานที่ต้องอาศัยความละเอียดถี่ถ้วนสูง ไม่นับหน้าตาของบรรดาสัตว์ที่ผู้ชายหลายคนยังขยะแขยง หญิงสาวอย่างเจี๊ยบซึ่งเรียนจบมาทางศิลปะ รู้สึกอย่างไรกับงานที่ทำมากว่า ๔ ปี

“มันสนุก ท้าทายตัวเอง รู้สึกตื่นเต้นที่ได้รู้จักสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ๆ  เราไม่เคยรู้เรื่องพวกนี้เลย แล้วสัตว์พวกนี้ไม่มีใครศึกษามาก่อน เราได้ทำก็สนุกกับมัน รู้สึกอยากรู้จักของใหม่ๆ ว่าต่างจากตัวอื่นอย่างไร รู้สึกเหมือนกับเป็นนักวิทยาศาสตร์ไปด้วย”

ความรู้สึกนี้คงไม่ต่างจากนักวาดภาพทางวิทยาศาสตร์หลายคนที่ผมได้พูดคุย โดยเฉพาะอาจารย์วิชัย มะลิกุล ที่เคยบอกผมว่า

“เราเป็นศิลปิน ๗๐ เป็นนักวิทยาศาสตร์ ๓๐  ต่างจากศิลปินทั่วไป”

sci illust06

ดร.ศศิวิมล แสวงผล ให้คำแนะนำนักศึกษวาดภาพผลสัปปะรด ซึ่งเป็นแบบฝึกหัดในวิชานิทัศน์ทางวิทยาศาสตร์ ที่เน้นให้ผู้เรียนรู้จัดการวัดและสเกลของวัตถุ เพราะภาพวาดทางวิทยาศาสตร์ต้องมีสัดส่วนถูกต้อง (ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช)

ห้องเรียนวิชาภาพวาดทางวิทยาศาสตร์

ปลายเดือนธันวาคม ๒๕๕๔  ห้องเรียนวิชา SPL291 นิทัศน์ทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Illustration) ชั้น ๓ ตึก N ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แน่นขนัดด้วยนักศึกษากว่า ๗๐ คน

บนโต๊ะเบื้องหน้านักศึกษาที่นั่งจับกลุ่มแยกกันเป็นกลุ่มละ ๓-๔ คน มีสับปะรดตั้งอยู่กลุ่มละ ๑ ผล  นักศึกษาบางคนกำลังใช้ไม้บรรทัดวัดความสูงและความกว้างของสับปะรด บางคนก็ร่างภาพผลไม้ตรงหน้าอย่างรวดเร็ว

การวาดภาพสับปะรด ถือเป็นแบบฝึกหัดสำคัญให้นักศึกษาเกิดความเข้าใจในการวาดภาพทางวิทยาศาสตร์

“สับปะรดวาดยากนะ แต่ถ้าวาดได้ ก็จะวาดได้ทุกอย่าง” ดร.ศศิวิมล แสวงผล บอกกับนักศึกษาตรงหน้าชั้น

อาจารย์ศศิวิมลเป็นผู้เปิดสอนวิชานิทัศน์ทางวิทยาศาสตร์เป็นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี ๒๕๔๑ เป็นวิชาเลือกสำหรับนักศึกษาในคณะวิทยาศาสตร์  แรงบันดาลใจที่ทำให้เธอเปิดสอนวิชานี้ขึ้น มาจากการที่ได้มีโอกาสเรียนวิชาวาดภาพทางวิทยาศาสตร์ระหว่างไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่ฟลอริดา สหรัฐอเมริกา กับอาจารย์ผู้สอนคือ Marion Sheehan นักพฤกษศาสตร์และนักวาดภาพผู้มีผลงานด้านการวาดภาพกล้วยไม้ระดับโลก

“ได้เรียนวาดรูปแล้วถูกใจมาก มีความสุข อาจารย์เริ่มสอนจากการให้รู้วัตถุประสงค์ของงานภาพวาดทางวิทยาศาสตร์  แกให้วาดรูปลูกสน ซึ่งยากมาก เพราะเปลือกของมันเป็นเหมือนบันไดเวียน ถ้าเราวาดไม่ตรง ก็จะไม่เป็นลูก  เรานำจุดนี้กลับมาสอนนักศึกษาโดยเปลี่ยนเป็นสับปะรดแทน

“วัตถุประสงค์ของภาพวาดแนวนี้ คือการนำงานไปใช้ในทางวิทยาศาสตร์ ต้องการให้เห็นลักษณะของวัตถุที่ถูกต้อง  เวลาสอนจะเน้นเรื่องสเกลหรือสัดส่วนเป็นพิเศษ วาดได้เหมือน แต่ไม่ถูกสเกล ไม่ถูกขนาด ก็ไม่ผ่าน

“การวาดสับปะรดต้องวัดระยะ ตาสับปะรดอยู่ไหน แถวเรียงกันอย่างไร คนเรียนอาจคิดว่าวาดมั่วๆ ไปก็ได้  เราต้องการสอนว่าห้ามขี้โกง ต้องนับให้ถูกต้อง สับปะรดเป็นตัวแทนของสิ่งที่วัดได้ มีแบบลายชัดเจน ถ้าเป็นส้มหรือมะม่วง วาดมั่วได้ เบี้ยวนิดก็ไม่เป็นไร  แต่ถ้าวาดสับปะรดมั่ว จะรู้ทันทีว่าเบี้ยว

“ของทุกอย่างมีลักษณะเฉพาะ ต้องวัด ต้องสังเกต จึงจะได้ภาพที่แสดงข้อมูลชัดเจน คนดูแล้วไม่ต้องถามว่านี่คืออะไร  เราไม่ได้ต้องการให้เขาวาดรูปสวย แต่ให้เขาตั้งใจทำงานและรู้ขั้นตอนการวาดภาพทางวิทยาศาสตร์ หัวใจที่สอนคือประมาณนี้”

อาจารย์ศศิวิมลเดินดูงานของนักศึกษาตามโต๊ะ พร้อมกับชี้แนะขั้นตอนการวาด “กว้างยาวได้ไหม วัดดูซิ” “นับจำนวนตาให้ถูกต้องก่อน แต่ละแถวมีกี่ตา” “ความชันของแถวไม่ถูกแล้ว”

คาบวิชาภาคบ่ายที่มี ๓ ชั่วโมงหมดไปอย่างรวดเร็ว ผลงานนักศึกษาที่ตั้งใจวาดบรรลุตรงตามวัตถุประสงค์มีให้เห็นจำนวนหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่ยังต้องกลับไปทบทวนและฝึกวาดเป็นการบ้านพร้อมกับผลสับปะรดที่อาจารย์ให้นำกลับไปได้

นอกจากห้องเรียนในวิชาแล้ว อาจารย์ศศิวิมลยังเปิดคอร์สอบรมวาดภาพทางวิทยาศาสตร์เป็นพิเศษสำหรับผู้สนใจในช่วงปิดภาคการศึกษา ซึ่งมีทั้งผู้สนใจการวาดภาพเป็นงานอดิเรก ครู อาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งที่มีพื้นฐานทางศิลปะมาก่อน หรืออาจไม่มีเลยอย่างนักวิทยาศาสตร์

ลูกศิษย์หลายคนจากคอร์สอบรมของอาจารย์ศศิวิมลปัจจุบันกลายเป็นนักวาดภาพทางวิทยาศาสตร์ช่วยงานนักวิจัยตามหน่วยงานต่างๆ  ครูกุ้งและคุณอรทัยก็เคยผ่านคอร์สของอาจารย์มาแล้ว

ครูกุ้งเล่าว่า “ได้พื้นฐานการวาดสับปะรดจากอาจารย์ศศิวิมล ทำให้เวลาวาดภาพต้นไม้ เรารู้จักนับ นับตา นับการเวียนรอบ วาดแมลงก็ต้องวัด จะขยายกี่เท่า ขาแมลงมีกี่ข้อ แต่ละข้อมีสัดส่วนแค่ไหน เราต้องวัดทุกอย่างและคูณเลขตลอด เพื่อระบุสเกลว่าภาพที่วาดมีมาตราส่วนเทียบกับของจริงเท่าไร”

ณรงค์ศักดิ์ สุกแก้วมณี หรือก้อง หลังจบปริญญาตรีศิลปกรรมศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตเพาะช่าง ได้มาเข้าคอร์สอบรมของอาจารย์ศศิวิมล ด้วยความรักความสนใจในธรรมชาติจากพื้นฐานครอบครัวที่คุณพ่อชอบปลูกต้นไม้และพาลูกชายเที่ยวตามป่าตามเขา

“ตอนนั้นเพิ่งจบมา อาจารย์ให้วาดสับปะรด ก็ร่างเลย แอบขี้โกงเล็กน้อย แต่สเกลไม่ถูก อาจารย์บอกให้ใช้ไม้บรรทัดวัด  มันก็ขัดใจนะ เราคิดว่าวาดสวยแล้ว ผิดตรงไหน ก็พยายามทำความเข้าใจ วาดผิดอีกก็แก้อีก แต่เรารับได้” ก้องเล่าความหลัง

อาจารย์ศศิวิมลเห็นแววในฝีมือและความตั้งใจของก้อง จึงชักชวนมาทำหน้าที่วาดภาพทางวิทยาศาสตร์ของกล้วยประกอบในงานวิจัยกล้วยในประเทศไทยที่อาจารย์ทำอยู่  ก้องได้เดินทางร่วมกับคณะวิจัยไปสำรวจกล้วยทั่วประเทศ สเกตช์ภาพส่วนประกอบสำคัญของต้นกล้วยและกลับมาวาดลงรายละเอียดในที่ทำงานภายหลัง

ปัจจุบันก้องจบปริญญาโทครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับการนำกระบวนการวาดภาพทางวิทยาศาสตร์ไปพัฒนาเป็นวิชาในหลักสูตรศิลปศึกษาระดับปริญญาบัณฑิต

“เด็กที่เรียนศิลปะไม่มีกระบวนการเรียนรู้แบบนี้  การสังเกต การเก็บข้อมูล เพื่อวาดภาพให้เหมือนจริง เป็นหลักของงานศิลปะเหมือนกัน  สมัยก่อนศิลปินยุคเรอเนซองซ์ นิยมธรรมชาติ ยึดถือความจริง  ตัวอย่าง เลโอนาร์โด ดาวินชี เขาจะหัดวาดแบบนี้ก่อน วาดคน สัตว์ ดอกไม้ ศึกษากายวิภาค  แสดงว่าศิลปะก็เริ่มต้นมาจากวิทยาศาสตร์ แต่หลักสูตรศิลปะปัจจุบันไม่ให้ความสำคัญ เน้นการวาดภาพเหมือนแบบหรือภาพถ่าย โดยลืมไปว่าศิลปินที่มีชื่อเสียงเกือบทุกคนมีพื้นฐานแน่นแล้วจากการวาดภาพเหมือนจริงในธรรมชาติ ก่อนจะพัฒนาคลี่คลายตัดทอนจนมาเป็นงานศิลปะในรูปแบบอื่น

“ผมคิดว่ากระบวนการวาดภาพทางวิทยาศาสตร์นี้น่าจะนำมาพัฒนาผู้เรียนศิลปศึกษา ซึ่งอนาคตเขาจะจบไปเป็นครู และสอนให้เด็กสังเกตจากความเป็นจริง พัฒนาตา มือ สมอง ให้มีความละเอียดอ่อน และเกิดความรักในธรรมชาติ  เด็กอาจไม่ต้องวาดภาพเก่ง แต่ขอให้มีความคิดละเอียดขึ้น”

ออกจากห้องเรียนวิชาภาพวาดทางวิทยาศาสตร์ ท้องฟ้ายามเย็นวันนี้ไร้กลุ่มเมฆ ชวนให้ผมนึกถึงฟ้าสีเดียวกันในวันที่เด็กๆ ชมรมดูนกนั่งวาดภาพอยู่ในป่าห้วยขาแข้ง

วันนั้นขณะเด็กหญิงจับกลุ่มอยู่ด้วยกัน เด็กชายอีกคนปลีกตัวนั่งห่างออกไป

ใบหน้าเขาจริงจังขณะขยับมือวาดบางอย่างลงบนสมุดบันทึก

มันเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่ได้มีสีสันสดใสเหมือนนกที่เด็กหญิงกำลังวาด อีกทั้งรูปทรงก็ออกจะแข็งทื่อ

ลายเส้นแสดงถึงลำต้น กิ่งก้าน พุ่มใบ ที่เขาพยายามวาดให้เหมือนต้นไม้ตรงหน้า

ต้นไม้ต้นนี้คงมีบางสิ่งที่เด็กชายสัมผัสได้เป็นพิเศษ มากกว่านกบนยอดไม้

ธรรมชาติ…สรรพชีวิต…มีแง่มุมที่มหัศจรรย์เสมอสำหรับแต่ละคน ขอเพียงคุณเริ่มต้นสังเกตมันอย่างจริงจัง

ขอขอบคุณ
ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.ศศิวิมล แสวงผล
ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.สมศักดิ์ ปัญหา, ดร.ปิยะธิดา พิมพ์วิชัย, ดร.จิรศักดิ์ สุจริต, รัตน์มณี ชนะบุญ, ฐิตา ครุฑชื่น
สำนักงานหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดร.ราชันย์ ภู่มา, ปรีชา การะเกตุ, สุคนธ์ทิพย์ ศิริมาดล, อรทัย เกิดแก้ว, อาทิตย์ คำกำเนิด
และ กมล โกมลผลิน, กานต์ เลขะกุล, กานต์ รัตนจุล, ณรงค์ศักดิ์ สุกแก้วมณี, ธัญลักษณ์ สุนทรมัฏฐ์, พีรณัฐ โบกรณีย์, วัชระ สงวนสมบัติ, สมิทธิ์ สุติบุตร์, สุนิตสรณ์ พิมพะสาลี
และขอขอบคุณเป็นพิเศษสำหรับแรงบันดาลใจเริ่มต้นในการเขียนสารคดีชิ้นนี้–อาจารย์วิชัย มะลิกุล

อ้างอิง
ขวัญใจ เอมใจ. “กล้วยไม้ ในงานภาพวาดทางวิทยาศาสตร์ ความงามของความจริง”. สารคดี ปีที่ ๑๕ ฉบับที่ ๑๗๐ เมษายน ๒๕๔๒.
ขวัญใจ เอมใจ. “ตามฝันอันยิ่งใหญ่ ในโลกใบจ้อยของหอยทากจิ๋ว”. สารคดี ปีที่ ๑๔ ฉบับที่ ๑๕๙ พฤษภาคม ๒๕๔๑.
ณรงค์ศักดิ์ สุกแก้วมณี. “การพัฒนารายวิชาการวาดภาพประกอบทางวิทยาศาสตร์ สำหรับหลักสูตรศิลปศึกษา ระดับปริญญาบัณฑิต”. วิทยานิพนธ์สาขาวิชาศิลปศึกษา ภาควิชาศิลปะ ดนตรี และนาฏศิลป์ศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๕๓.
รุ่งโรจน์ จุกมงคล. “Bird Guide of Thailand ‘คัมภีร์’ คนรักนก”. สารคดี ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๕๙ มกราคม ๒๕๓๓.
วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์. “วิชัย มะลิกุล นักวาดภาพประกอบด้านวิทยาศาสตร์คนเดียวของประเทศไทย”. สารคดี ปีที่ ๑๒ ฉบับที่ ๑๔๑ พฤศจิกายน ๒๕๓๙.
วันดี สันติวุฒิเมธี. “ชีวิตในโลกแมลงของนักอนุกรมวิธาน ดร. องุ่น ลิ่ววานิช”. สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๑๙๘ สิงหาคม ๒๕๔๔.
สมศักดิ์ ปัญหา. ไส้เดือนและกิ้งกือ. กรุงเทพฯ : โครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (โครงการ BRT), ๒๕๕๐.
สำนักงานหอพรรณไม้. พฤกษศิลป์ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๓ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๓. กรุงเทพฯ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, ๒๕๕๓.