464editor

มีข่าวดีที่ต้องบอกแก่ผู้อ่าน คือปีนี้นิตยสาร สารคดี และสำนักพิมพ์สารคดี ได้รับรางวัล Mahidol Science Communicator Award 2023 จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ประเภทองค์กรสื่อสารวิทยาศาสตร์ (Science Communicator Award for Organization) ซึ่งประกาศรางวัลไปเมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๖๖

คำประกาศเกียรติคุณอย่างย่อบนหน้าเพจของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า นิตยสารและสำนักพิมพ์สารคดี นำเสนอสาระและความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เป็นเวลากว่า ๓๘ ปี ภายใต้แนวคิด “นิตยสารสาระสำหรับครอบครัว” “อ่านความรู้ อ่านความจริง” และ “Power of Knowledge” ผ่านความเปลี่ยนแปลงนานัปการ แต่ยังคงพัฒนารูปแบบการนำเสนอได้อย่างทันยุคสมัย

นอกจากการมอบรางวัลประเภทองค์กรแล้ว ยังมีรางวัลนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ผู้ได้รับรางวัลคือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ป๋วย อุ่นใจ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเคยมีคอลัมน์ประจำในนิตยสาร สารคดี และแวะเวียนมาเขียนสารคดีพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ให้อยู่เป็นระยะ ๆ  และผู้ได้รับรางวัลอีกคนคือ นายแพทย์ชัชพล เกียรติขจรธาดา ผู้เขียนหนังสือ เรื่องเล่าจากร่างกาย และ ๕๐๐ ล้านปีแห่งความรัก ที่มีผู้อ่านชื่นชอบมากมายจนหนังสือพิมพ์ซ้ำหลายต่อหลายหน

ประเภทรางวัลนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ดาวรุ่ง คือ เพจมิตรเอิร์ธ - mitrearth ให้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์โลก และเพจนิเวศเกษตร Biodiversity and Agroecology โดยมูลนิธิชีววิถี ให้ความรู้เรื่องนิเวศเกษตรและเกษตรเชิงนิเวศ ซึ่งเป็นเพจที่น่าติดตามทั้งสองเพจ

ในนาม “สารคดี” ขอแสดงความยินดีกับผู้ได้รับรางวัลทุกประเภท และขอขอบคุณคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้มอบรางวัลให้แก่ “สารคดี” ในปีนี้ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่เราได้รับรางวัลด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์โดยตรง จากที่เคยได้รับรางวัลดีเด่นในฐานะนิตยสารรายเดือนเมื่อ ๑๐-๒๐ ปีก่อน หรือรางวัลหนังสือดีเด่นเล่มต่าง ๆ ที่จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สารคดี

ก่อนวันประกาศรางวัล ทางผู้จัดให้ผมเขียนแรงบันดาลใจในการสื่อสารวิทยาศาสตร์สั้น ๆ สามบรรทัด ทำให้ต้องมานั่งสรุปแก่นความคิดหลักของวิทยาศาสตร์ที่พวกเราทำงานกันมาหลายรุ่นตลอดเวลาเกือบ ๓๙ ปี ได้คำตอบแบบจริงจังเขียนไปว่า

“วิทยาศาสตร์ คือเครื่องมือสำคัญที่สุดของการพัฒนาสังคมและพัฒนามนุษย์ เพื่อให้เราตระหนักว่ามนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของระบบธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ มนุษย์เราสามารถเรียนรู้ที่จะเข้าใจธรรม-ชาติ พร้อม ๆ กับต้องรักษาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงอยู่ของทุกสรรพชีวิต ไม่ใช่คิดแต่ประโยชน์ของมนุษย์เท่านั้น”

นอกจากการทำงานในฐานะนักสื่อสาร สารคดี ยังพยายามสร้างนักสื่อสารรุ่นใหม่ โดยการจัดค่ายสารคดีอบรมนักเขียน ช่างภาพ ให้แก่เยาวชนระดับอุดมศึกษามาอย่างต่อเนื่อง และ ๒ ปีที่ผ่านมายังเพิ่มการอบรมวิดีโอครีเอเตอร์ โดยมีครูเขียน ครูภาพ และครูวิดีโอ ซึ่งเป็นนักสารคดีมืออาชีพ มาถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์อย่างเข้มข้น

ปี ๒๕๖๖ ค่ายสารคดีจัดเป็นปีที่ ๑๘ ในหัวข้อ Eco Living ดิน ฟ้า ป่า น้ำ  ผลงานบางส่วนของนักสื่อสารรุ่นใหม่จึงกลายมาเป็นเนื้อหาหลักของฉบับเดือนพฤศจิกายน และอีกหลายเรื่องเผยแพร่ให้ติดตามผ่านทางสื่อออนไลน์ของสารคดี

“Eco Living ดิน ฟ้า ป่า น้ำ” จึงเป็นเหมือนคำประกาศแนวคิดการทำงานของ “สารคดี” ให้กับรางวัลองค์กรสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่เราได้รับครั้งนี้ครับ

สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
บรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี
suwatasa@gmail.com