เรื่อง : ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์ (patgys@yahoo.com)
ภาพประกอบ : เฉลิมชาติ เจริญดียิ่ง

nanoจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ว่าจ้างบริษัทเอกชนให้สร้างฝูงผึ้งสืบราชการลับจากนาโนเทคโนโลยีควบคุมด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ แต่บริษัทนั้นได้ปล่อยผึ้งนักสืบออกจากห้องทดลองสู่ท้องทะเลทราย โดยหารู้ไม่ว่าฝูงผึ้งเหล่านี้คิดเป็น สามารถเลียนแบบพฤติกรรมมนุษย์ และหวนกลับมาทำร้ายมนุษย์ผู้สร้างอย่างน่าขนหัวลุก

นี่คือโครงเรื่องในนิยายเกี่ยวกับนาโนเทคโนโลยีที่ชื่อ Prey หรือ “เหยื่อ” ของ ไมเคิล ไครชตัน นักเขียนผู้มีปูมหลังเป็นนายแพทย์และโด่งดังจากงานเขียนที่ใช้วิทยาศาสตร์ใหม่ๆ ผูกเรื่องให้ตื่นเต้นแกมหลอน และสมจริงจนเคยมีคน “อิน” นำข้อเขียนในนิยายของเขาไปอ้างอิงในงานวิชาการมาแล้ว

ขณะที่คนส่วนใหญ่ยังคิดว่านาโนเทคเป็นเรื่องเล่าในนิยายวิทยาศาสตร์ ข้อเท็จจริงก็คือปัจจุบันมีสินค้านาโนออกวางจำหน่ายในท้องตลาดทั่วโลกแล้วเกือบ ๑,๐๐๐ รายการ ตั้งแต่เครื่องสำอาง เสื้อผ้า ไปจนถึงอาหารของมนุษย์ โดยในรายงานชื่อ “จากห้องแล็บสู่จานอาหารของเรา : นาโนเทคโนโลยีในอาหารและการเกษตร” ของ Friends of the Earth องค์กรรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมเจ้าแรกๆ ที่รณรงค์เรื่องนาโนเทค ตีพิมพ์เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๕๑ เปิดเผยว่าปัจจุบันมีสินค้านาโนจำพวกผลิตภัณฑ์อาหารและบรรจุภัณฑ์อาหารกว่า ๑๐๐ รายการ อาทิ เบียร์ ช็อกโกแลต เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ เป็นต้น และบริษัทผู้ผลิตอาหารชั้นนำทั่วโลกต่างกำลังทุ่มงบวิจัยผลิตภัณฑ์นาโนและเตรียมปล่อยออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก

“การใช้นาโนเทคในอาหารอาจเป็นอันตราย มีข้อมูลเบื้องต้นชี้ให้เห็นว่าวัสดุนาโนบางชนิดผลิตอนุมูลอิสระที่จะทำลายหรือเลียนแบบดีเอ็นเอ และสามารถสร้างความเสียหายให้แก่ตับและไตได้” ดร. ไร เซนเจน ผู้เขียนร่วมในรายงานฉบับนี้กล่าว

นาโนเทคโนโลยีคือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของวัสดุในระดับอะตอมให้มีขนาดเล็กลง โดย ๑ นาโนเมตรมีขนาดเท่ากับ ๑ ในพันล้านส่วนของ ๑ เมตร เล็กขนาดไหนให้เปรียบเทียบกับเส้นผมของมนุษย์ที่มีขนาดเท่ากับ ๘๐,๐๐๐ นาโนเมตร ในวงการวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมเชื่อกันว่านาโนเทคโนโลยีจะทำให้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งใหม่ และคำว่านาโนจะเป็นคำสุดฮิตในทศวรรษหน้าแทนที่คำว่าจีเอ็มโอ

จากข้อมูลของ Friends of the Earth พบว่าปัจจุบันสินค้านาโนเทคขยายตัวรวดเร็วมากจนน่าตกใจ โดยเฉพาะในครีมกันแดดซึ่งเป็นสินค้านาโนตัวแรกๆ ที่วางในท้องตลาด โดยเมื่อปีที่แล้ว Friends of the Earth ได้สอบถามไปยังบริษัทผู้ผลิตครีมกันแดดจำนวน ๑๒๘ บริษัท มีเพียง ๑๐ บริษัทเท่านั้นที่ยืนยันว่าสินค้าของตัวเองไม่ได้ใช้นาโน (ดูรายชื่อผลิตภัณฑ์ได้ ที่นี่ ) และขณะนี้เครื่องสำอางนาโนอื่นๆ เช่น ยาระงับกลิ่นกาย ก็กำลังทยอยออกสู่ท้องตลาด

ผลิตภัณฑ์นาโนที่กำลังได้รับความนิยมอีกประเภทหนึ่งคือเสื้อผ้า ซึ่งได้มาจากการผสมอนุภาคนาโนของโลหะบางชนิด มีคุณสมบัติพิเศษคือฆ่าเชื้อแบคทีเรียและป้องกันกลิ่นอับชื้น ปัจจุบันมีการผลิตเสื้อยืด ชุดชั้นใน และถุงเท้านาโนออกจำหน่ายเป็นล่ำเป็นสัน มีทั้งที่ผลิตโดยบริษัทเอกชนและศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ซึ่งคุณเองก็อาจเป็นคนหนึ่งที่ได้ครอบครองสินค้าเหล่านี้บ้างแล้ว

ท่ามกลางกระแส “เห่อ” ของใหม่จนต้องเข้าชื่อจับจอง เมื่อเร็วๆ นี้ในการประชุมสมาคมเคมีแห่งอเมริกา นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแอริโซนาเพิ่งเผยผลการทดลองชิ้นแรกๆ เกี่ยวกับผลเชิงลบต่อสินค้านาโน โดยการนำถุงเท้าเคลือบอนุภาคเงิน (นาโน-ซิลเวอร์) จำนวน ๖ คู่ที่วางจำหน่ายในสหรัฐฯ มาแช่ในน้ำกลั่นบริสุทธิ์ แล้วเขย่าต่อเนื่องนาน ๑ ชั่วโมง จากนั้นนำน้ำที่แช่ถุงเท้าไปตรวจสอบหาอนุภาคของเงิน พบว่าถุงเท้าที่มาจากแหล่งผลิตต่างกันมีการปลดปล่อยอนุภาคของเงินลงสู่น้ำในปริมาณที่ไม่เท่ากัน บางคู่ปล่อยอนุภาคเงินออกมาจนหมด บางคู่ก็ไม่ปรากฏอนุภาคเงินหลุดออกมาเลย คาดว่าเป็นผลมาจากเทคโนโลยีการผลิตในการยึดอนุภาคเงินให้ติดอยู่บนเส้นใยของถุงเท้า ทั้งนี้น้ำทิ้งจากการซักล้างเสื้อผ้านาโนที่มีอนุภาคเงินปะปนอยู่สามารถซึมลงสู่ใต้ดินหรือไหลไปรวมกับแหล่งน้ำธรรมชาติจนอาจก่อให้เกิดอันตรายกับสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศในแหล่งน้ำได้ โดยเงินซึ่งอยู่ในรูปไอออนที่ละลายอยู่ในแหล่งน้ำอาจไปรบกวนกระบวนการทางเคมีในสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ได้ อย่างไรก็ตามเงินที่อยู่ในรูปไอออนจะเป็นพิษต่อมนุษย์ได้ก็ต่อเมื่อมีความเข้มข้นสูงในระดับหนึ่ง

ด้านศูนย์นานาชาติว่าด้วยการประเมินผลเทคโนโลยี (CTA) ได้ยื่นคำร้องต่อสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ (EPA) เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคมนี้ ขอให้ EPA บังคับใช้กฎหมายยาฆ่าแมลงกับผลิตภัณฑ์ที่ใช้นาโน-ซิลเวอร์โดยให้ถือเป็นยาฆ่าแมลงชนิดหนึ่งที่ต้องมีการประเมินความปลอดภัยทั้งต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมก่อนออกสู่ท้องตลาดและติดฉลากให้ผู้บริโภครับรู้ข้อมูล เพราะนาโน-ซิลเวอร์เป็นสารฆ่าแมลงเคลื่อนที่ที่สามารถหลุดรอดสู่ธรรมชาติ ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในน้ำ รวมถึงอาจผสมอยู่ในน้ำดื่มบรรจุขวดได้ในที่สุด ในภาคผนวกของคำร้องยังระบุว่า ขณะนี้มีสินค้านาโน-ซิลเวอร์ในท้องตลาด(สหรัฐฯ) ถึง ๒๖๐ รายการ ตั้งแต่ของใช้ในบ้าน น้ำยาซักผ้า เครื่องครัวของเล่นเด็ก เครื่องนอน สีทาบ้านและสารเคลือบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

สินค้านาโนอีกประเภทที่น่าเป็นห่วงคือสินค้านาโนจากท่อนาโนคาร์บอน (Carbon Nanotubes) เมื่อเร็วๆ นี้มีการเผยแพร่ผลการทดลองในวารสารออนไลน์ชื่อ Nature Nanotechnology ประจำเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๑ ว่า จากการทดลองฉีดท่อนาโนคาร์บอนขนาดต่างๆ ในหนูทดลอง พบว่าท่อชนิดยาวทำให้หนูทดลองมีอาการผนังเนื้อเยื่อปอดติดเชื้อและมีรอยแผลเป็น ซึ่งอาจนำไปสู่การเป็นมะเร็งปอดเหมือนที่เกิดกับการสัมผัสแร่ใยหิน (แอสเบสทอส) นักวิจัยชี้ว่านี่เป็นเรื่องน่าเป็นห่วงมาก เพราะภาคอุตสาหกรรมกำลังใช้วัสดุนี้ในผลิตภัณฑ์หลากหลาย และแนะนำให้มีการวิจัยด้านความปลอดภัยอย่างระมัดระวังก่อนนำผลิตภัณฑ์ออกสู่ท้องตลาด

ท่อนาโนคาร์บอนเป็นท่อขนาดเล็ก ลักษณะคล้ายเข็ม มีหลายขนาด มีคุณสมบัติพิเศษคือ ด้วยน้ำหนักเท่ากันมีความแข็งแรงกว่าเหล็กถึง ๑๐๐ เท่า ถือเป็นวัสดุที่แข็งแกร่งที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยสร้างมา จึงเป็นวัสดุที่นักอุตสาหกรรมหมายมั่นปั้นมือใช้เพื่อเปิดตลาดอุตสาหกรรมนาโน คาดว่าในอีก ๕ ปีข้างหน้าจะมีมูลค่าการตลาดสูงหลายพันล้านดอลลาร์ ปัจจุบันมีการใช้บ้างแล้วในสินค้าน้ำหนักเบาและแข็งแรง เช่น ไม้เทนนิส แฮนด์จักรยาน เป็นต้น ปัญหาสำหรับผู้บริโภคก็คือขณะนี้ไม่มีใครรู้ว่ามีการใช้ท่อนาโนคาร์บอนในสินค้าใดแล้วบ้าง และสิ่งที่ภาครัฐจะต้องคิดต่อก็คือ เมื่อสินค้านี้ออกสู่ท้องตลาดมากขึ้น หากแตกหักเสียหายและกลายเป็นขยะเฉพาะ…จะจัดการอย่างไร

เช่นเดียวกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับเทคโนโลยีใหม่ๆ เจ้าของเทคโนโลยีมักใช้วิธี “ลองใช้ไปก่อน” แล้วค่อยประเมินความปลอดภัยในภายหลัง ปัจจุบันแม้จะมีสินค้านาโนออกมาอวดโฉมและโฆษณาประชาสัมพันธ์กันอย่างเปิดเผย แต่ก็ยังไม่มีประเทศใดในโลกมีกฎหมายประเมินความปลอดภัย
ในผลิตภัณฑ์นาโน การวิจัยและทดลองเกี่ยวกับนาโนเทคโนโลยีที่มีอยู่ในขณะนี้ส่วนใหญ่ก็เป็นไปเพื่อความก้าวหน้าของเทคโนโลยีมากกว่าเพื่อประเมินความปลอดภัย

แม้จะเริ่มมีการพูดถึงมาตรฐานสากล (ISO) ของสินค้านาโน แต่ก็ว่ากันเรื่องมาตรฐานการผลิต มีการพูดถึงฉลากนาโน (นาโนมาร์ก) เพื่อแยก “นาโนแท้” ออกจาก “นาโนปลอม” แต่ก็ยังไม่คืบหน้าเพราะผู้ผลิตกลัวเป็นดาบสองคม (ต่อยอดขาย) ขณะเดียวกันก็อาจเป็นดาบสองคมต่อผู้บริโภคที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์คิดว่าสินค้าที่มีฉลากนาโนนั้นปลอดภัย หารู้ไม่ว่าเป็นการติดฉลากเพื่อแยกนาโนปลอมและเลียนแบบออกจากนาโนแท้เท่านั้น

ในประเทศไทย ขณะที่มีโฆษณาสินค้านาโนโดยเฉพาะเครื่องสำอางกันอย่างเปิดเผย ดร. สิรินมาส คัชมาตย์ นักวิชาการกลุ่มเครื่องสำอาง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เผยว่า อย. ยังไม่มีกฎหมายหรือห้องแล็บทดสอบผลิตภัณฑ์นาโนเพื่อรองรับตลาดผลิตภัณฑ์หรืออาหารนาโนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และในระยะอันใกล้นี้ อย. ยังไม่มีแผนสร้างตราสัญลักษณ์เพื่อเป็นเครื่องหมายรับรองสินค้านาโน

นาทีนี้สิ่งที่ผู้บริโภคจะทำได้ก็คือยึดหลักการ “ปลอดภัยไว้ก่อน” และไม่ใช่แค่เพียง “wait and see” เท่านั้น แต่ต้องช่วยกระตุ้นให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลสุขภาพและความปลอดภัยของคนไทยวิ่งตามเทคโนโลยีให้ทันด่วน อย่างน้อยขอแค่มีกฎหมายติดฉลากสินค้านาโนเพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือกก็ยังดี