โลกใบใหญ่ – อนุรักษ์
ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : รายงาน

ละมั่ง สัตว์ป่าสงวน ๑ ใน ๑๕ ชนิดของไทย เป็นสัตว์ตระกูลกวาง ปัจจุบันมีสถานะใกล้สูญพันธุ์ ไม่พบในป่าธรรมชาติมานานกว่า ๕๐ ปี  ครั้งหนึ่งผืนป่าเมืองไทยตั้งแต่กลางด้ามขวานขึ้นไปเคยชุกชุมด้วยละมั่ง ๒ สายพันธุ์ คือพันธุ์ไทย (Rucervus eldii siamensis) และพันธุ์พม่า (Rucervus eldii thamin)  ทว่าทั้งสองสายพันธุ์ต่างทยอยสูญพันธุ์เนื่องจากถูกล่าและผืนป่าถูกบุกรุก  ปัจจุบันคงเหลือเพียงละมั่งในสวนสัตว์ และละมั่งเพาะเลี้ยงในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเท่านั้น

IUCN-องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ ประเมินสถานภาพประชากรละมั่งอยู่ในระดับเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์  ขณะที่ CITES-อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ จัดละมั่งไว้ในกลุ่มชนิดพันธุ์ขึ้นบัญชีหมายเลข ๑ หมายถึงห้ามซื้อขายโดยเด็ดขาด เว้นแต่เพื่อการศึกษา วิจัย เพาะพันธุ์เท่านั้น

ในสวนสัตว์หรือสถานีเพาะเลี้ยง แม้ละมั่งจะขยายพันธุ์ได้ดี แต่ด้วยจำนวนพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่มีอยู่อย่างจำกัด  ประเมินว่าทั่วประเทศมีละมั่งพันธุ์ไทยเหลืออยู่ราว ๕๐ ตัว ละมั่งพันธุ์พม่าราว ๑,๐๐๐ ตัว ทำให้เกิดปัญหาการผสมพันธุ์กันเองระหว่างละมั่งพี่ละมั่งน้องจนลูกละมั่งมีสุขภาพไม่แข็งแรงสมบูรณ์ ปากแหว่ง ตาบอด  การพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับการสืบพันธุ์ อาทิ การเก็บเชื้ออสุจิแช่แข็ง การผสมเทียม จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหาความไม่สมบูรณ์ของสายพันธุ์และช่วยรักษาพันธุกรรมที่ดีของละมั่งเอาไว้

lamung01

ซ้ายบน : การย้ายฝากตัวอ่อนละมั่งหลอดแก้วผ่านทางท่อนำไข่ของแม่ละมั่งอุ้มบุญ (ภาพ : เปี่ยมสุข ศิลานิล)
ซ้ายล่าง : ตัวอ่อนระยะ ๘ เซลล์ที่เกิดจากการปฏิสนธิภายนอกร่างกาย (ภาพ : สพ.ญ.ดร.อัมพิกา ทองภักดี)
ขวา : ละมั่งหลอดแก้วตัวแรกของโลกถือกำเนิดที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียว ชลบุรี ภาพถ่ายขณะอายุ ๑ เดือน ๑๐ วัน (ภาพ : ณัฎฐากมล ขจรกลิ่น)

ย้อนเวลากลับไปราว ๒ ปี ความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ละมั่งด้วยการผสมเทียมนับเป็นก้าวแรกให้องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เดินหน้าวิจัยเพื่อเพาะพันธุ์ละมั่งจากการปฏิสนธิภายนอก หรือเรียกว่าการผลิตตัวอ่อนหลอดแก้ว (IVF-In Vitro Fertilization)

ดร. บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ หัวหน้าทีมวิจัยจากสำนักอนุรักษ์ วิจัย และการศึกษา องค์การสวนสัตว์ฯ อธิบายกระบวนการผลิตตัวอ่อนหลอดแก้วว่า “เราเลือกอสุจิละมั่งพ่อพันธุ์พันธุกรรมดีมาจากสวนสัตว์นครราชสีมา นำมาผสมกับไข่ของแม่ละมั่งที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียว ทั้งสองเป็นละมั่งพันธุ์พม่า  เราได้ตัวอ่อนซึ่งเกิดจากการปฏิสนธิภายนอกร่างกายภายในหลอดแก้ว  เมื่อเติบโตถึงระยะ ๘ เซลล์ จึงย้ายฝากตัวอ่อนไปไว้ในท่อนำไข่ของแม่ละมั่งอุ้มบุญ  เราพบว่าในบรรดาแม่ละมั่งอุ้มบุญ ๘ ตัว มีแม่ละมั่งอุ้มบุญ ๑ ตัวที่ตั้งท้อง”

แม่ละมั่งอุ้มบุญตัวนั้นเองที่คลอดลูกละมั่งเพศเมียที่มีความแข็งแรงสมบูรณ์ตรงริมพุ่มไม้ภายในสวนสัตว์เปิดเขาเขียว จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๔  นับเป็นลูกละมั่งหลอดแก้วตัวแรกของโลก

ดร. บริพัตรให้เหตุผลที่เลือกละมั่งพันธุ์พม่าในการทดลองว่า เป็นเพราะละมั่งพันธุ์พม่ามีจำนวนมากกว่า  เมื่อการทดลองผสมเทียมละมั่งพันธุ์พม่าสำเร็จแล้วจึงจะทดลองละมั่งพันธุ์ไทยต่อไป

กำเนิดละมั่งหลอดแก้วตัวแรกของโลก

ซ้าย : แม่อุ้มบุญตัวนี้เป็นละมั่งพันธุ์พม่า ช่วยอุ้มท้องตัวอ่อนที่เกิดจากการปฏิสนธิภายนอก ๒๓๔ วัน กระทั่งให้กำเนิดลูกละมั่งหลอดแก้วเพศเมีย (ภาพ : อานุภาพ แย้มดี)
ขวา : ละมั่งหลอดแก้วขณะมีอายุราว ๓ เดือน (ภาพ : ณัฎฐากมล ขจรกลิ่น)

การผลิตตัวอ่อนละมั่งหลอดแก้วไม่ใช่เรื่องง่าย ทุกขั้นตอนมีอุปสรรคและมีโอกาสล้มเหลว ตั้งแต่การแช่แข็งเซลล์ไข่และอสุจิที่มีโอกาสฝ่อ แม้เมื่อปฏิสนธิแล้วก็อาจตายได้  ก่อนหน้านี้สถาบันสมิทโซเนียนแห่งสหรัฐอเมริกาเคยพยายามผลิตละมั่งหลอดแก้วพันธุ์ไทยแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

ความพยายามในการผลิตลูกละมั่งหลอดแก้วตัวแรกของโลกในเมืองไทยจนประสบความสำเร็จ จึงนับเป็นก้าวสำคัญของงานวิจัยและอนุรักษ์สัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์

ขอขอบคุณ : องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์