แกะกล่อง
แกะนัยความหมายที่ซ่อนอยู่ในสถานที่ สิ่งของเครื่องใช้
อันมีผลกระทบต่อชีวิตผู้คน และพลวัตของสังคมท้องถิ่นนั้นๆ

บ้านสาขลา นาเกลือ
เรื่อง : กรรชัย สุนทรอนุรักษ์
ภาพ : ช้างเฮฮา

แกะกล่อง - บ้านสาขลา นาเกลือ

“ตากล่ำ ทำนาเกลือ กะตาสง่า อยู่ที่สาขลา…”

ประโยคหัดอ่านง่ายๆ จากแบบหัดอ่านหนังสือไทยเล่มปลาย  คนมีอายุสักหน่อยอาจคุ้นตากับหนังสือเล่มนี้ และคงผ่านตาชื่อ “บ้านสาขลา” อยู่บ้าง แต่ในหนังสือเล่มดังกล่าวกลับไม่ได้ระบุว่าสถานที่แห่งนี้อยู่ที่ไหน บ้างอาจเข้าใจว่าไม่มีอยู่จริง หรือมี ก็คงอยู่ในหนังสือเท่านั้น

ทว่าแท้จริงแล้วหมู่บ้านนี้มีตัวตน และอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากชายฝั่งทะเลในเขตตำบลแหลมฟ้าผ่า จังหวัดสมุทรปราการ  สำหรับคำว่า “สาขลา” ชาวบ้านเชื่อว่าเพี้ยนมาจาก “สาวกล้า” อันเป็นคำเชิดชูความกล้าหาญของบรรพบุรุษชาวสาขลาซึ่งมีแต่สตรีและคนชราเข้าร่วมต้านทัพพม่าในคราวสงครามเก้าทัพ ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จนได้รับชัยชนะที่สมรภูมิคลองชัยซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านสาขลา

นอกจากประวัติชื่อบ้านที่น่าสนใจและยังคงเป็นปริศนาน่าค้นหาแล้ว หมู่บ้านแห่งนี้ยังมีเสน่ห์ในเรื่องวิถีชีวิตดั้งเดิมที่ยังเป็นภาพความทรงจำของคนรุ่นหลัง นั่นคือการทำนาข้าวและนาเกลือ แม้ปัจจุบันจะไม่พบเห็นแล้วก็ตาม

หากดูสภาพพื้นที่แถบนี้ ออกจะแปลกใจอยู่ไม่น้อยว่าแต่ก่อนชาวบ้านสาขลาทำนากันได้อย่างไร ด้วยพื้นที่ตั้งอยู่ประชิดติดทะเลและสภาพดินแข็งยากแก่การปักดำ หากกระนั้นชาวสาขลาก็ยังปลูกข้าวได้ปีละครั้ง  ข้อสงสัยนี้ได้รับความกระจ่างจากคำบอกเล่าของผู้อาวุโสในท้องที่ที่พาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ของวัดสาขลา ด้วยที่นี่นอกจากเก็บโบราณวัตถุของวัดแล้วยังรวบรวมอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ในการทำมาหากินของชาวบ้านทั้งในอดีตและปัจจุบันมาจัดแสดงด้วย

อุปกรณ์ชิ้นหนึ่งดูแปลกตาสำหรับคนรุ่นปัจจุบัน เป็นไม้เนื้อแข็งเหลาแหลมลักษณะเหมือนลูกบวบเหลี่ยมมีด้ามจับ นั่นคือเครื่องมือสำคัญในการทำนาของบ้านสาขลาเลยทีเดียว คือใช้แทงลงดินก่อนนำต้นกล้าลงปักดำ  คนบ้านสาขลาบอกว่าการทำนาที่นี่ต้องรอช่วงเวลาน้ำเหนือหลากมา เพราะจะมีน้ำจืดมากพอที่จะปลูกข้าวได้ และไม่ใช้ควายไถนา อาศัยเพียงคราดเท่านั้น  บริเวณผืนนาของหมู่บ้านคือด้านหลังของวัดสาขลา ขณะที่อีกฟากหนึ่งเป็นผืนนาเกลือ โดยชาวบ้านจะทำเกลือในช่วงหน้าแล้งเพราะเป็นช่วงที่น้ำจืดไหลลงมาน้อย ปริมาณน้ำเค็มมากและหนุนสูง สามารถชักน้ำเค็มจากคลองส่งน้ำ เช่นคลองตลาดและคลองแหลม เข้าสู่ “วังขังน้ำ” ได้

อุปกรณ์ที่ชาวบ้านใช้ทำนาเกลือประกอบด้วย “รั่ว” ลักษณะคล้ายพลั่วสี่เหลี่ยมทำจากไม้ และ “ไม้มือ” ลักษณะเป็นแผ่นไม้ครึ่งวงกลมสองอันไว้สำหรับตักเกลือ  “คานหาบเกลือ” เป็นอุปกรณ์สำหรับขนย้ายเกลือเข้ายุ้งเก็บเกลือ

สำหรับขั้นตอนทำเกลือนั้นจะคล้ายกันในพื้นที่อื่นๆ โดยมีการแบ่งส่วนนาเกลือไว้คือ “วังขังน้ำ” มีไว้สำหรับกักน้ำใช้ทำนาเกลือ แล้วเมื่อจะใช้ก็ชักน้ำเข้าไปยัง “นาตาก” ซึ่งเป็นบริเวณที่ใช้สำหรับตากน้ำทะเลกับแสงแดด ให้ส่วนที่เป็นน้ำระเหยไปเพื่อให้ได้น้ำที่มีความเค็มเข้มข้น  เมื่อเสร็จแล้วจึงถ่ายสู่ “นาเชื้อ” อันเป็นพื้นที่กักเก็บน้ำเค็มเข้มข้นพอที่จะทำเป็นเกลือได้  หลังจากนั้นจึงถ่ายมายัง “นาปลง” ซึ่งเป็นส่วนสุดท้ายที่จะผลิตเป็นเกลือเม็ด

เมื่อไขน้ำเกลือมาสู่นาผืนสุดท้ายนี้แล้ว ต้องตากไว้ประมาณ ๓-๔ วัน แล้วจึงถ่ายกลับไปยังนาเชื้ออีกที  ทำเช่นนี้กลับไปมาอีก ๓-๔ ครั้งจนเกลือเริ่มตกผลึกและมีปริมาณเพียงพอแล้วจึงไขน้ำออกแล้วค่อยแซะเกลือมากองไว้เป็นกองๆ อย่างที่เราเห็นเวลาขับรถผ่านไปแถบจังหวัดสมุทรสาคร

การทำนาเกลือและนาข้าวของบ้านสาขลาจึงอาศัยการหมุนเวียนของปริมาณน้ำเป็นหลัก หากน้ำจืดไหลลงมาเยอะก็จะทำนาข้าว  เมื่อไรที่น้ำเค็มขึ้นมาก ผลักน้ำจืดถอยร่นไป ก็จะทำนาเกลือแทน  วิธีการทำนาดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการปรับตัวของชาวสาขลาให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไปเกลือราคาถูกลง ทำให้เกลือจากบ้านสาขลาไม่อาจแข่งขันกับที่อื่นได้  อาจเพราะพื้นที่ทำนามีอยู่น้อย และความไม่แน่นอนของผลผลิตทำให้ไม่อาจสู้แหล่งผลิตใหญ่อย่างทางสมุทรสาครได้ ประกอบกับการเลี้ยงกุ้งเริ่มแพร่หลายและได้ราคาดี ชาวบ้านจึงหันมาทำนากุ้งแทน  อีกทั้งการพังทลายของชายฝั่งทำให้น้ำเค็มรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่มากขึ้น ส่งผลให้ชาวบ้านสาขลาเลิกทำนาข้าวอย่างถาวรมากว่า ๕๐ ปีแล้ว ส่วนนาเกลือก็ค่อยๆ เลิกรากันไปจนหมดในที่สุด

“…น้ำทะเลแท้ๆ ทำไมทำเกลือได้ คือ เกลือมีอยู่ในน้ำทะเล”

ประโยคครั้งอดีตในหนังสือเรียนหัดอ่านฯ เล่มเดิมยังคงอยู่ในตำราเรียนเพียงเท่านั้น เพราะเวลานี้เกลือได้หายไปจากบ้านสาขลาหมดสิ้นแล้ว