จากคอลัมน์ โลกใบใหม่ ฉบับ 331
ภัควดี วีระภาสพงษ์

กรุงโบโกตา เมืองหลวงของประเทศโคลอมเบีย เคยถูกจัดอันดับเป็นเมืองอันตรายที่สุดเมืองหนึ่งของโลก

ด้วยประชากรที่มากถึง ๘-๑๐ ล้านคน  ชุมชนแออัดที่ไร้สาธารณูปโภค ความยากจน ปัญหายาเสพติด การแพร่หลายของอาวุธสงคราม อัตราการเกิดอาชญากรรมสูง การจราจรที่ไร้ระเบียบและแน่นขนัด ล้วนแล้วแต่ดีดดันอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ฆาตกรรม และอัตวินิบาตกรรมจนติดอันดับต้นๆ ของโลก

แต่ในเวลาเพียง ๑๐ ปี ด้วยนายกเทศมนตรี ๒ คนจากการเลือกตั้ง ๓ สมัย หนุนเสริมด้วยการยึดมั่นในหลักการของระบอบประชาธิปไตย (ที่ยังดำรงอยู่ได้อย่างเหลือเชื่อในประเทศที่ดูเหมือนไม่มีขื่อแปที่สุดแห่งหนึ่งในโลก !) และหลักการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น กลับพลิกฟื้นกรุงโบโกตาให้กลายเป็นเมืองน่าอยู่ ปลอดภัยขึ้น ประชาชนมีความสุขและรักเมืองมากขึ้น  และที่โด่งดังกลายเป็นกรณีศึกษาไปทั่วโลกก็คือ การเป็นเมืองที่เป็นมิตรต่อการสัญจรด้วยจักรยานและมีการใช้จักรยานติดอันดับ ๓ ของโลก

……………………….

Antanas Mockus กว่าจะเป็นโบโกตาเมืองจักรยาน 1

Antanas Mockus (ภาพจาก basenow.net)

พ.ศ. ๒๕๓๖ เป็นช่วงเวลาที่ประเทศโคลอมเบียกำลังเผชิญกับภาวะปั่นป่วนและไร้เสถียรภาพทางการเมืองมากที่สุดช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์  การสู้รบระหว่างกลุ่มกองกำลังจรยุทธ์ฝ่ายซ้าย FARC กับรัฐบาลดำเนินไปอย่างหนักหน่วง  ประชาชนเบื่อหน่ายการเมืองและสิ้นหวังที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลง  การประท้วงเกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน  ความปั่นป่วนลามเข้าไปในมหาวิทยาลัยแห่งชาติโคลอมเบีย นักศึกษาที่มีแนวคิดฝ่ายซ้ายก่อหวอดประท้วงผู้บริหารตลอดเวลา

วันหนึ่งในหอประชุม  เมื่ออธิการบดีถูกนักศึกษา ๒,๐๐๐ คนโห่ฮาไม่ยอมหยุด  อธิการบดีผู้นั้นยืนนิ่งไม่พูดอะไรเลย  ทันใดนั้นเอง เขาก็เลื่อนมือไปรูดซิปกางเกง หันหลังแล้วถอดกางเกงเปิดก้นใส่นักศึกษาเหล่านั้น  ทั้งหอประชุมเงียบกริบทันที !

แน่นอน เหตุการณ์อื้อฉาวนี้ถูกถ่ายทอดออกข่าวโทรทัศน์ไปทั่วประเทศ เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อึงมี่ เรียกร้องให้อธิการบดีผู้นี้ลาออก ซึ่งเขาก็ลาออกโดยดีพร้อมกับแถลงการณ์ขอโทษ  เมื่อผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์เขาว่า เขาคิดว่าพฤติกรรมนี้เป็นตัวอย่างที่แย่ต่อนักศึกษาหรือไม่  เขาตอบยิ้มๆ ว่า แน่นอน มันเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี แต่อย่างน้อยนักศึกษาก็ได้เห็นสีสันแห่งความสงบสันติบ้าง  นั่นคือ สีขาว !

อธิการบดีผู้นี้ชื่อ อันตานัส มอคคุส (Antanas Mockus) เกิดเมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๕  บิดามารดาเป็นผู้อพยพชาวลิทัวเนีย  มอคคุสจบปริญญาตรีด้านคณิตศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเบอร์กันดีในประเทศฝรั่งเศส จากนั้นกลับมาศึกษาต่อจนจบปริญญาโทด้านปรัชญาจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติโคลอมเบีย  เขาทำงานเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยแห่งนี้จนได้รับตำแหน่งอธิการบดี และมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติโคลอมเบียฉบับ พ.ศ. ๒๕๓๔ ด้านการศึกษา (ยังใช้มาจนถึงปัจจุบัน)

แม้จะถูกวิจารณ์อย่างหนักในหมู่ปัญญาชนและชนชั้นกลาง แต่กับชาวบ้านร้านถิ่น มอคคุสกลับกลายเป็นขวัญใจประชาชน  พวกเขามองว่ามอคคุสแสดงออกถึงความซื่อตรงจริงใจดี  เล่ากันว่ามีสมาชิกรัฐสภาคนหนึ่งออกไปเดินเล่นและถามเกษตรกรว่า อยากได้ใครเป็นนายกเทศมนตรีโบโกตาคนใหม่  เขาตอบว่า “ไอ้บ้าอันตานัสคนนั้นไง”

มอคคุสลงสมัครชิงตำแหน่งนายกเทศมนตรีในปีนั้น และสิ่งที่เขาทำก็แหวกจากธรรมเนียมปฏิบัติทั่วไป คือลงสมัครโดยไม่ยอมสังกัดพรรคการเมือง  แม้ในปีนั้นจะมีผู้สมัครอิสระอีกคนคือ เอนริเก เปนญาโลซา (Enrique Peñalosa) แต่เขายังพอมีประสบการณ์ทางการเมืองอยู่บ้าง ขณะที่ประสบการณ์ทางการเมืองของมอคคุสเป็นศูนย์

การรณรงค์หาเสียงของมอคคุสก็มีจุดเริ่มต้นที่ไม่เหมือนใคร เพราะเมื่อผู้สื่อข่าวทีวีไปขอสัมภาษณ์มอคคุสกับมารดาที่บ้าน นางก็ไล่ผู้สื่อข่าวออกไปทันที  มารดาของมอคคุสแสดงออกอย่างเปิดเผยว่าไม่สนับสนุนให้ลูกชายเล่นการเมือง

แนวทางการหาเสียงของมอคคุสกับเปนญาโลซาแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง  ในขณะที่เปนญาโลซาใช้วิธีเดิน ขี่จักรยาน ขึ้นรถประจำทาง ไปแจกใบปลิวและพูดคุยกับประชาชนทุกชนชั้นตัวต่อตัวตามที่ต่างๆ อย่างสุภาพอดทน  มอคคุสกลับสร้างเรื่องอื้อฉาวขึ้นอีกครั้งเมื่อเขาตะลุมบอนชกต่อยกับนักศึกษาที่แสดงกิริยาหยาบคายใส่เขาและผู้สมัครคนอื่นๆ ในการหาเสียงที่มหาวิทยาลัย  เขาให้สัมภาษณ์ในเวลาต่อมาว่า การอยู่ท่ามกลางความรุนแรงทำให้เขาเป็นคนเลวและบางครั้งก้าวร้าว จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่เราต้องกำจัดพฤติกรรมความรุนแรงในตัวเราให้เหลือน้อยที่สุดหรือหมดสิ้นไป

ในการเลือกตั้งครั้งนั้น มอคคุสได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งนายกเทศมนตรีโบโกตา และดำรงตำแหน่งนี้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๘-๒๕๔๐

มอคคุสไม่มีประสบการณ์ด้านการเมืองเลยก็จริง แต่เขามีประสบการณ์เหลือเฟือด้านการสอนหนังสือและการศึกษา รวมทั้งมีพรสวรรค์ด้านการละครด้วย  เขาประยุกต์ประสบการณ์เหล่านี้มาใช้ในการบริหารเมืองหลวง  พูดอีกแง่หนึ่งก็คือ เขาเปลี่ยนเมืองหลวงทั้งเมืองที่มีประชากรหลายล้านคนให้กลายเป็นเสมือนห้องเรียน โดยมีตัวเขาและคณะทำงานเป็นผู้นำในการให้การศึกษาเพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมของชาวเมือง  นี่อาจนับว่าเป็นการทดลองทางสังคมครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ !

แนวคิดของมอคคุสมีศูนย์กลางอยู่ที่จริยธรรม ความซื่อสัตย์ มารยาทสังคม และการอยู่ร่วมกันเป็นชุมชน  แต่วิธีการของเขาไม่ใช่การพล่ามพูดเทศนาหรือบอกให้ทุกคนเป็น “คนดี”  เขาเชื่อว่าความดี/เลว/สุภาพ/ก้าวร้าวเป็นสิ่งที่มีอยู่คละเคล้าในตัวมนุษย์ทุกคน เพียงแต่เราต้องปรับเปลี่ยน กระตุ้นหรือสร้างเงื่อนไขแวดล้อมให้ด้านที่ดีได้แสดงออกมา

bogota02ภาพจาก Barrio-Latino.info

bogota03

นักแสดงละครใบ้จัดระเบียบการจราจรในกรุงโบโกตา (ภาพ : El Tiempo)

ในสมัยนั้นชาวเมืองโบโกตามีทัศนคติที่ไม่ดีต่อเมืองของตัวเอง  พวกเขาสิ้นหวัง ท้อแท้ และมองไม่เห็นหนทางของการเปลี่ยนแปลง  ลึกๆ แล้วพวกเขาต้องการผู้นำสักคนที่ให้ความหวัง  มอคคุสอาจเป็นผู้นำในแบบที่ชาวเมืองไม่เคยคาดคิดมาก่อน  เขาแต่งตัวเลียนแบบซูเปอร์แมนและขนานฉายาตัวเองเป็น “ซูเปอร์พลเมือง” ออกไปรณรงค์นโยบายกำจัด “ทัศนะอุจาด” เช่น โปสเตอร์ ป้ายโฆษณาที่ติดกันระเกะระกะไร้ระเบียบ ประชาชนพากันขำหัวเราะเยาะวิธีการของเขา แต่เสียงหัวเราะก็ช่วยทลายกำแพงแห่งความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจที่มีต่อนักการเมืองทั่วไป

ปัญหาการจราจรในโบโกตาสมัยนั้นเป็นปัญหาใหญ่ที่แก้ไม่ตก  ผู้ขับขี่รถยนต์ไม่เคารพกฎจราจรและไม่มีน้ำใจแก่กัน  มอคคุสสั่งพิมพ์บัตรจำนวน ๓๕๐,๐๐๐ ใบเป็นสัญลักษณ์รูปนิ้วโป้งชูขึ้นและนิ้วโป้งคว่ำลงแจกจ่ายพลเมือง  ประชาชนได้ใช้บัตรเหล่านี้แสดงความพอใจ/ไม่พอใจ/ขอบคุณ/ตำหนิพฤติกรรมของผู้ขับขี่ยวดยานพาหนะ อาทิเช่นหากคนขับรถให้ทาง คุณก็ชูบัตรแสดงความขอบคุณเขา เป็นต้น

และวิธีการอันโด่งดังที่มอคคุสคิดค้นขึ้นก็คือ เขาจ้างนักแสดงละครใบ้จำนวน ๒๐ คนมาจัดระเบียบการจราจร  นักแสดงละครใบ้เหล่านี้จะล้อเลียนพฤติกรรมอันควรไม่ควรของผู้ขับขี่ยวดยานหรือคนเดินเท้า หากพบคนไม่ข้ามถนนตรงทางม้าลายก็จะวิ่งตามไปล้อเลียนพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์ของคนคนนั้น  โครงการนี้ประสบความสำเร็จจนมีการฝึกอบรมนักแสดงละครใบ้เพิ่มอีก ๔๐๐ คน

คนทั่วไปอาจคิดว่ามอคคุสเป็นแค่อาจารย์เพี้ยนๆ คนหนึ่งที่บังเอิญประสบความสำเร็จ แต่อันที่จริงทุกสิ่งที่เขาทำมาจากรากฐานแนวคิดทางปรัชญาที่จริงจัง  เขาได้รับอิทธิพลจากนักปรัชญาฝรั่งเศส ปีแยร์ บูร์ดิเยอ, นักปรัชญาเยอรมัน เยอร์เกน ฮาเบอร์มาส, นักเศรษฐศาสตร์อเมริกัน ดักลาส นอร์ท  ผสมผสานรวมกันเป็นแนวคิดว่า ในภาวะที่คำพูดไม่มีความหมาย การใช้สัญลักษณ์ อารมณ์ขันและการกระทำที่สร้างสรรค์แหวกแนวอาจได้ผลมากกว่า  การปฏิสัมพันธ์สื่อสารสองทางจะช่วยสร้างทุนทางสังคมขึ้นมา  และระเบียบสังคมไม่ได้เกิดขึ้นจากกฎเกณฑ์ที่เป็นทางการ (เช่นกฎหมาย) เพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยกฎเกณฑ์ที่ไม่เป็นทางการ (ความเชื่อ ประเพณี ธรรมเนียมปฏิบัติ ฯลฯ) ด้วย

นโยบายเด่นๆ ที่มอคคุสผลักดันจนประสบความสำเร็จอาทิเช่น การชำระสะสางกรมตำรวจประจำเมืองโบโกตาเพื่อขจัดการคอร์รัปชัน (ในประเด็นนี้ผู้อ่านต้องเข้าใจก่อนว่า ในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยเกือบทุกประเทศในโลก ล้วนมีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริงมากกว่าในประเทศไทย  กองบัญชาการตำรวจในแต่ละเมืองหรือรัฐขึ้นตรงต่อนายกเทศมนตรีหรือผู้ว่าการมิใช่ขึ้นตรงต่ออำนาจศูนย์กลางรัฐบาลแห่งชาติ ด้วยเหตุนี้นักการเมืองท้องถิ่นในระดับนายกเทศมนตรี หากมีความกล้าหาญก็สามารถแก้ปัญหาการคอร์รัปชันของตำรวจประจำเขตการปกครองของตนได้โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยอำนาจของรัฐบาลกลาง) มอคคุสยังกล้างัดข้อกับกองทัพโคลอมเบีย ด้วยการสั่งห้ามและปลดอาวุธทุกคนที่เข้ามาในเขตเมืองหลวง  แม้กองทัพจะแสดงความไม่พอใจ แต่ก็ไม่อาจคัดง้างอำนาจของนายกเทศมนตรีผู้มาจากการเลือกตั้งได้

นอกจากนี้เขายังสนับสนุนนโยบายปิดถนนหรือ Ciclovía ซึ่งริเริ่มขึ้นมาในกรุงโบโกตาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๙ โดยปิดถนนบางสายทุกวันอาทิตย์หรือวันหยุด เพื่อให้ประชาชนได้ออกมาเดินเล่น ขี่จักรยาน เล่นสเกต หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ร่วมกัน  มอคคุสยังริเริ่มโครงการ “ราตรีเฉพาะของผู้หญิง” โดยขอร้องให้ผู้ชายอยู่บ้านเลี้ยงลูกและผู้หญิงได้ออกมาปาร์ตี้ในยามค่ำคืนโดยไม่ต้องกลัวอันตราย  โครงการนี้มีผู้เข้าร่วมหลายแสนคน

การยอมรับความเป็นผู้นำของมอคคุสนั้นแสดงให้เห็นชัดเจนเมื่อเขาประกาศขอให้ประชาชนช่วยจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น ๑๐ % ตามความสมัครใจปรากฏว่ามีประชาชนถึง ๖๓,๐๐๐ คนสมัครใจเข้าร่วมโครงการนี้

เมื่อครบวาระ ๓ ปีของการเป็นนายกเทศมนตรี  ผลงานของมอคคุสคือ เทศบาลเมืองหลวงที่มีโครงสร้างทางการเงินเข้มแข็ง มีรายรับมากกว่ารายจ่าย การคอร์รัปชันลดลง  ชาวเมืองมีทัศนคติและวัฒนธรรมความเป็นพลเมืองที่ดีกว่าเดิม  อัตราอาชญากรรมและการฆ่าตัวตายลดลง ๗๐ %  อัตราการตายและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนท้องถนนลดลงกว่า ๕๐ %  การใช้น้ำประปาลดลงถึง ๔๐ %  มีการขยายสาธารณูปโภคเข้าไปในเขตชุมชนแออัดมากขึ้น ฯลฯ

นี่คือผลงานของนายกเทศมนตรีผู้แปลกประหลาด ซึ่งปูทางไว้ให้แก่เมืองจักรยานในสมัยเลือกตั้งครั้งต่อมา