โลกใบใหญ่ หนังสือบนแผง
ปุกปุย

bkkbikemapหนังสือหนา ๑๖๐ หน้า ราคา ๘๐ บาท จะวางขายในร้านจักรยานและมีจำหน่ายที่มูลนิธิโลกสีเขียว
โทรศัพท์ ๐-๒๖๒๒-๒๒๕๐-๒  หรืออีเมลไปที่ gwf@greenworld.or.th

“จักรยานเป็นมากกว่าพาหนะเดินทาง มันเป็นทางออกง่าย ๆ ของปัญหาใหญ่ซับซ้อนเรื้อรังในเมืองหลายประการ ตั้งแต่ปัญหาคุณภาพอากาศและสุขภาพของคนเมือง ปัญหาการจราจรติดขัด ปัญหาความปลอดภัยบนท้องถนนในเมือง…ฯลฯ…จักรยานจึงเป็นสัญลักษณ์ของการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นตัวบ่งชี้ของเมืองน่าอยู่ที่ยอมรับกันในสหประชาชาติ…หลายเมือง หลายประเทศทั่วโลกจึงกำลังเร่งมือออกนโยบายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้จักรยานกันมากขึ้นโดยปรับเปลี่ยนระบบการสัญจรในเมืองให้เป็นมิตรต่อจักรยาน

“ในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ แม้ว่ารัฐและสังคมกระแสหลักยังไม่คิดว่าการปรับกรุงเทพฯ ให้เป็นมิตรกับจักรยานคือเรื่องจำเป็นหรือเกิดขึ้นจริงได้ แต่ในช่วง ๑-๒ ปีที่ผ่านมา กระแสจักรยานพุ่งแรงอย่างชัดเจน คนรุ่นใหม่หันมาสนใจใช้จักรยานกันมากขึ้น และอีกจำนวนไม่น้อยแสดงเจตจำนงอยากเริ่มหัดใช้จักรยานในชีวิต
ประจำวัน แต่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไรดี…”

ดร. สรณรัชฎ์ กาญจนวณิชย์
เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว
โครงการจักรยานกลางเมือง

“จงอย่าทำตัวลีบ ๆ แอบ ๆ ขี่เหมือนพลเมืองชั้น ๒ บนท้องถนน ยิ่งเราทำตัวลีบ รถยนต์ ยิ่งมองเราเป็นแมลงตัวเล็ก ๆ ที่ไม่มีความสำคัญ แต่ถ้าขี่อย่างมั่นใจในสิทธิพลเมืองเต็มขั้น คนอื่นจะมองเห็น ให้ความเคารพและยอมรับเรา ความมั่นใจในตัวเองจะทำให้เราปลอดภัย”

+++ Bangkok Bike Map แผนที่ปั่นเมืองฯ คือ พ็อกเกตบุ๊กรวบรวมเส้นทางจักรยานซึ่งสามารถ “ปั่นได้จริง” และเป็น “แผนที่เส้นทางจักรยานภาคประชาชน” เล่มแรก ด้วยเส้นทางทั้งหมดเกิดจากการรวบรวมข้อมูลจากอาสาสมัครที่มีจิตอาสาทำการสำรวจและบันทึกรายละเอียดของเส้นทางจักรยานที่พวกเขาใช้เป็นประจำ และยังได้รับการตรวจสอบเส้นทางอีกครั้งโดยผู้จัดทำหนังสือ

+++ แนะนำเส้นทางจักรยานครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ บางส่วนและพื้นที่จังหวัดปริมณฑลบางส่วน โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น ๖๓ ส่วนบนแผนที่ ๑๒๖ แผ่น (หน้า)

+++ จัดระดับ “คุณภาพเส้นทาง” เป็น “สีเขียว” (ใช้ทางร่วมกับคนเดินได้สะดวก) “สีเหลือง” (ใช้ทางร่วมกับมอเตอร์ไซค์ได้สะดวก) “สีแดง” (ใช้ทางร่วมกับมอเตอร์-ไซค์และรถยนต์บนถนนหลักซึ่งต้องการทักษะสูง)

+++ ให้ข้อมูลระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ที่เอื้อเฟื้อสำหรับการนำจักรยานขึ้นไปโดยสารเพื่อเพิ่มรัศมีการเดินทางของจักรยาน โดยระบบรถไฟฟ้า BTS ยินดี
ต้อนรับจักรยานทุกประเภท ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีโบกี้เฉพาะที่รองรับผู้ใช้จักรยานแบบ
ในต่างประเทศก็ตาม ส่วนระบบอื่น ๆ นั้นเอื้อกับ “จักรยานพับ” มากกว่า

+++ “ไขข้อข้องใจ” หลายประการว่าทำไมคนเมืองต้องขี่จักรยาน นอกจากเหตุผลดี ๆ ที่ว่าจักรยานช่วยรักษ์โลก เพราะไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดปริมาณรถยนต์บนท้องถนนแล้ว  ที่น่าสนใจคือจักรยานจะช่วยให้คุณมีหุ่นสเลนเดอร์โดยไม่ต้องเสียเงินเข้าฟิตเนส แถมยัง “แวะชิม” อาหารอร่อยตามรายทางโดยไม่ต้องกังวลเรื่องสถานที่จอดรถ เพราะจักรยานใช้พื้นที่นิดเดียว

+++ สอน “ทักษะ” สำหรับเอาตัวรอดบนท้องถนนในเมืองใหญ่ อาทิ อาณัติสัญญาณเวลาปั่นบนท้องถนน การติดตั้งไฟกะพริบสำหรับเวลากลางคืน เทคนิคการขี่ผ่านจุดวิกฤต  ที่สำคัญคือการระบุให้คุณตระหนักถึง “สิทธิ” ของจักรยานบนท้องถนนว่าไม่แตกต่างจากรถยนต์ ดังนั้น

+++ Bankok Bike Map แผนที่ปั่นเมืองฯ จะช่วยให้เราเห็น “เส้นทางจักรยานภาคประชาชน” ที่มีมานานแล้ว และลงมือปั่นได้ทันทีโดยไม่ต้องรอให้ทาง กทม. สร้างเลนจักรยาน (bike lane) และเมื่อทุกคนออกมาช่วยกันปั่น ย่อมไม่มีผู้บริหารเมืองคนใดจะมองข้ามพลังของประชาชน