nursing hat

หมวกพยาบาลทำไมจึงมีรูปร่างเช่นนั้น และใช้สอยประโยชน์ได้จริงหรือ กับสังเกตเห็นว่าที่หมวกจะมีแถบสีดำติดอยู่ด้วย เข้าใจว่าจะบอกความหมายอะไรบางอย่าง เพราะบางคนก็ใช้แถบบาง บางคนก็ใช้แถบหนา

(ภาณุ / กรุงเทพฯ)

หมวกนั้นบางทีก็ไม่ได้มีไว้ใส่กันแดดกันฝน แต่มุ่งประโยชน์ในด้านความสวยงาม หรือเป็นสัญลักษณ์, เอกลักษณ์บางอย่าง

บังเอิญ “ซองคำถาม” กำลังอ่านหนังสือเรื่อง คนไม่รู้หนังสือ แปลโดยบุญส่ง ชเลธร มีข้อมูลเรื่องหมวกในแง่สัญลักษณ์ จึงจะขอออกนอกเรื่องเสียหน่อย ในหนังสือเล่าว่า ในสวีเดน หมวกขาวเป็นสัญลักษณ์ของคนที่เรียนจบระดับมัธยมปลาย ซึ่งคนสวีเดนถือเป็นขั้นตอนสำคัญของชีวิต ว่าต่อไปจะเป็นผู้ใหญ่แล้ว อาจเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย หรือออกไปทำงาน งานสวมหมวกขาวถือเป็นงานเอิกเกริกและสนุกสนาน บางเมืองจัดเป็นงานใหญ่ มีคนมาร่วมชุมนุมเป็นหมื่น พวกคนแก่ ๆ ก็จะนำหมวกขาวใบเก่าจนสีซีดของตนมาสวมกันในวันนั้นด้วย

ทีนี้มาว่ากันด้วยเรื่องหมวกพยาบาล

หมวกพยาบาลนั้นวิวัฒนาการมาจากหมวกของแม่ชีในศาสนาคริสต์ เพราะพยาบาลเริ่มต้นมาจากการที่ผู้ศรัทธาในพระเจ้า รวมกลุ่มกันทำงานช่วยเหลือดูแลผู้ป่วย

ในสมัยของ ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล (ค.ศ. ๑๘๒๐-๑๙๑๐) สตรีชาวอังกฤษผู้มีชื่อเสียงในด้านการรักษาพยาบาลแผนปัจจุบัน หมวกเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแบบนักเรียนพยาบาลในโรงเรียนของเธอ ในราวปี ค.ศ. ๑๙๐๐ ชุดสีขาวเป็นเครื่องแบบที่กำหนดให้ผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนพยาบาลสวมใส่ ถือกันว่าสีขาวเป็นสีของผู้ที่สำเร็จการศึกษาแล้ว

“ซองคำถาม” ทราบมาว่าในประเทศไทย นักศึกษาพยาบาลในบางสถาบัน เช่นวิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย จะมีพิธีรับหมวก (capping ceremony) โดยนักศึกษาชั้นปีที่ ๑ ที่ผ่านการศึกษาสองเทอมแรกแล้ว จะเข้าพิธีรับหมวกในเดือนเมษายนของทุกปี ถือเป็นพิธีที่นักศึกษาพยาบาลทุกคนให้ความสำคัญ และตื่นเต้นมากที่จะได้สวมหมวกพยาบาล เพราะหมวกสีขาวนั้นเป็นเครื่องหมายว่าได้เข้าสู่การเป็นพยาบาลโดยสมบูรณ์ “ตั้งแต่หัวจรดเท้า” และตระหนักรู้ว่าจะต้องมีความรับผิดชอบต่อวิชาชีพ และต้องเป็นนางพยาบาลที่ดีตามความคาดหวังของสังคม

ดังนั้นหมวกพยาบาลจึงเป็นหมวกอีกชนิดหนึ่งที่ใช้เป็นเพียงสัญลักษณ์ว่า ผู้ที่ใส่นั้นเป็นบุคคลซึ่งได้รับการศึกษาวิชาการพยาบาล และพร้อมที่จะให้การดูแลผู้ป่วย เมื่อหมวกนั้นไม่ได้มีไว้ใส่กันแดดกันฝน การที่มันจะมีรูปร่างแปลกออกไปบ้าง หรือดูแล้วไม่น่าจะใช้ประโยชน์ได้จริง ก็ไม่น่าเป็นเรื่องที่เราจะต้องตั้งข้อสงสัยอีกต่อไป

ส่วนแถบสีดำที่อยู่บนหมวกพยาบาล พอจะใช้เป็นเครื่องสังเกตได้บ้างว่าเจ้าของหมวกนั้นจบการศึกษาระดับใด และเป็นหัวหน้าพยาบาลหรือไม่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น พยาบาลในบ้านเรามีต้นสังกัดแตกต่างกันมากมาย เช่น สังกัดกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งอาจจะมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการติดแถบบนหมวกไม่เหมือนกัน ในที่นี้ “ซองคำถาม” จะอธิบายในภาพรวม

ผู้ที่จบการศึกษาพยาบาลมีสองพวก พวกแรกคือพยาบาลระดับต้น (เรียนสองปี) เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พยาบาลเทคนิค (TN) จะติดแถบขนาดกว้างประมาณ ๑ เซนติเมตรตลอดความกว้างของหมวก ส่วนพยาบาลวิชาชีพ (RN -เรียนสี่ปี คุณวุฒิปริญญาตรี) จะติดแถบขนาดกว้างประมาณ ๑.๕ เซนติเมตรตลอดความกว้างของหมวก และถ้าเป็นหัวหน้าพยาบาลหรือหัวหน้าหอผู้ป่วย แถบจะกว้างขึ้นอีกเล็กน้อย ในบางโรงพยาบาลอาจให้ติดแถบกว้าง ๑ เซนติเมตรสองแถบขนานกัน มีข้อสังเกตว่าโรงพยาบาลทหารบางแห่ง เช่น โรงพยาบาลภูมิพลในสังกัดกองทัพอากาศ แถบบนหมวกพยาบาลจะเป็นสีน้ำเงินแทนที่จะเป็นสีดำ

ในโรงพยาบาลบางแห่งอีกเช่นกัน อาจจะพบว่ามีพยาบาลที่ติดแถบหมวกเฉียงที่มุมด้านขวา นั่นคือตำแหน่งเจ้าหน้าที่พยาบาลหรืออาจเรียกได้ว่า ผู้ช่วยพยาบาล ซึ่งปัจจุบันมีน้อยแล้ว ในบางแห่งอาจกำหนดให้ผู้ช่วยพยาบาลสวมเครื่องแบบเสื้อปกคอบัว

ในโรงพยาบาลสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย เช่น ศิริราช รามาธิบดี หมวกพยาบาลจะเป็นสีขาวล้วนไม่ติดแถบใด ๆ ทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม ระเบียบปฏิบัติเหล่านี้อาจแตกต่างกันได้อย่างที่ “ซองคำถาม” ออกตัวไว้ในตอนต้น ถ้าข้อมูลที่เล่ามานี้ไม่ตรงกับที่ท่านเคยรู้มาก่อน ก็ขออย่าได้ว่ากัน !

ขอขอบคุณคุณจรรยา บำรุงเมือง แห่งโรงพยาบาลเลิดสินที่ช่วยค้นข้อมูลเรื่องหมวกพยาบาลให้