สุชาดา ลิมป์ : เรื่อง
ประเวช ตันตราภิรมย์ : ภาพ

พิพิธภัณฑสถานเครื่องถ้วยฯ มุดลงดินแนวถวิลธรรมชาติ

มุมมองจากชั้น ๓ ทางทิศตะวันออกของหอสมุดสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ เผยให้เห็นภูมิสถาปัตย์ที่แปรทรัพยากรดิน หญ้า ต้นไม้ ลม แสง และน้ำ มาเป็นพลังงานบริสุทธิ์เอื้อประโยชน์แก่อาคารใต้ดินอย่างเต็มที่

นับหมื่นปีมาแล้วที่มนุษย์เริ่มรู้จักวิถีเกษตรกรรม ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ป่า ใช้เครื่องมือโลหะ นำไปสู่การตั้งถิ่นฐานที่มั่นคงแข็งแรง ใกล้ชิดกับทรัพยากรธรรมชาติเพื่อยังชีพ  แต่ไหนแต่ไรอีกนั่นละที่มนุษย์เพียรเอาชนะสิ่งแวดล้อม พัฒนาที่ดินด้วยเทคโนโลยี เวลาผ่านไปจึงได้เรียนรู้ว่าสิ่งแปลกปลอมเหล่านั้นล้วนแลกมาด้วยมลพิษและวิกฤตธรรมชาติ ซึ่งหวนกลับมาทำร้ายตนเอง  มนุษย์จึงหาแนวทางลดโลกร้อนโดยมุ่งเน้นการออกแบบและก่อสร้างอาคารที่กลมกลืนกับสิ่งแวดล้อมอีกครั้ง

สำหรับชีวิตชาวกรุงเทพฯ ยุคที่หนาแน่นด้วยตึกใหญ่และปัญหาการจราจร การตั้งถิ่นฐานใกล้ชิดธรรมชาติดูจะเป็นไปยาก แต่พิพิธภัณฑสถานเครื่องถ้วยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ก็เกิดขึ้นได้อย่างสอดคล้องกับอากาศร้อนชื้นบ้านเรา

จุดประสงค์ของพิพิธภัณฑสถานฯ แห่งนี้คือเป็นที่เก็บรักษาและจัดแสดงเครื่องถ้วยของ สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยกรุงเทพ  เครื่องถ้วยเหล่านี้ผลิตจากแหล่งเตาในประเทศไทยจำนวนกว่า ๒,๐๐๐ รายการ เช่น เครื่องถ้วยสุโขทัย เครื่องถ้วยล้านนา เครื่องถ้วยอยุธยา รวมถึงเครื่องถ้วยที่ผลิตจากแหล่งเตาในต่างประเทศแต่ค้นพบในประเทศไทยให้นักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไปได้ชื่นชม เรียนรู้ความสำคัญของเครื่องถ้วยในฐานะที่เป็นหลักฐานเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์ระหว่างประเทศ

รูปแบบของพิพิธภัณฑ์ ได้บริษัทสถาปนิก 49 จำกัด ออกแบบให้เป็นอาคารคอนกรีตเปลือยชั้นเดียว ควบคุมอุณหภูมิเย็นสบายโดยใช้พลังแห่งระบบนิเวศจาก “ดินและพืช”

“ตอนแรกได้รับโจทย์จากทางมหาวิทยาลัยว่าต้องการสถานที่เก็บรักษาเครื่องถ้วยที่ดี ปลอดภัย ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องสร้างอยู่บนพื้นที่ว่างหน้าอาคารหอสมุดสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญของมหาวิทยาลัยและปลูกสร้างมาก่อน เราก็ต้องมาคิดว่าจะทำอย่างไรให้อาคารที่จะเกิดขึ้นใหม่นี้โดดเด่นได้โดยไม่บดบังตึกสูง”

ประภากร วทานยกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทสถาปนิก 49 จำกัด บอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นแนวคิดการออกแบบ

“เพื่อให้สถานที่สอดรับกับวัตถุจัดแสดง จึงไปศึกษาแหล่งเตาเผาที่เมืองสุโขทัย พบว่าวิธีเจาะตลิ่งริมแม่น้ำในหน้าแล้งและขุดดินลึกลงไป ๒-๓ เมตรเป็นโพรงเพื่อทำเตาทุเรียงโดยมีปล่องไฟอยู่บนเนินดินนั้นน่าสนใจ ทั้งยังเป็นวิธีแก้ปัญหาการสร้างอาคารใหม่โดยไม่บดบังอาคารเดิม จึงนำหลักการนี้มาสร้างพิพิธภัณฑ์”

ในฐานะสถาปนิกผู้รับผิดชอบโครงการ ประภากรยืนยันว่าที่ผ่านมาแม้พื้นที่ย่านรังสิตจะถูกน้ำท่วม แต่ภายในมหาวิทยาลัยมีเขื่อนสูงถึง ๒.๒๐ เมตรล้อมกั้นอย่างดีจึงไม่เคยท่วมมาก่อน นั่นยิ่งทำให้เขามั่นใจว่าสามารถเนรมิตอาคารพื้นที่ใช้สอย ๑,๘๗๒ ตารางเมตรไว้ใต้ดินได้ และเลือกใช้ “หลังคาสีเขียว” (Green Roof) โดยซ่อนอาคารไว้ใต้เนินหญ้าเขียวชอุ่ม เพื่อลดอุณหภูมิความร้อนจากดวงอาทิตย์ ให้เก็บรักษาความเย็นไว้ภายในได้ดีขึ้น ทั้งยังให้ภาพคล้ายเตาเผาโบราณที่ฝังอยู่ต่ำกว่าระดับดินด้วย  นอกจากนี้อาคารใต้ดินยังช่วยควบคุมแสงในพิพิธภัณฑ์ วัตถุบางอย่างที่เหมาะแก่การสัมผัสแสงธรรมชาติก็ใช้วิธีเจาะช่องติดกระจกบนผนังอาคารเพื่อรับแสงแต่ไม่รับลม บางอย่างที่เหมาะกับแสงไฟฟ้ามากกว่าก็ให้หลอดไฟทำหน้าที่เป็นอุปกรณ์เสริมความสว่างเฉพาะส่วน แต่ข้อเสียของอาคารใต้ดินที่ไม่อาจหลีกหนีคือปัญหาความชื้น

musuem02

Green Roof เหมาะยิ่งกับหลังคาคอนกรีตเพราะช่วยกรองความร้อนในเวลากลางวันและคายความ ร้อนในเวลากลางคืน เป็นการยืดอายุงานให้หลังคาได้ทางหนึ่ง

musuem03

มากกว่าหลังคาคือพื้นที่พักผ่อนร่มรื่น ทั้งการระเหยของน้ำจากดินปลูกและจากการคายน้ำของพืชที่คลุมดินช่วยถ่ายเทความร้อนออกจากอาคารได้เป็นอย่างดี

“แม้เราจะออกแบบให้มีช่องระบายอากาศกว้าง ๕๐ เซนติเมตรอยู่ใต้หลังคาและมีระบบกันซึมแล้ว แต่อาคารนี้ต้องขุดลึกลงไป ๕ เมตร จึงอาจมีผนังด้านที่เทคอนกรีตไม่เรียบถูกแรงดันจากน้ำใต้ดินทำให้เกิดความชื้นได้”

ปัญหาที่ว่าเกิดขึ้นหลังจากสร้างอาคารเสร็จระยะแรก ต่อมาเมื่อประภากรแก้ปัญหาโดยติดตั้งแผ่นเมมเบรน (Waterproofing Membrane) กันซึมเช่นเดียวกับแนวทางป้องกันของอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินทั่วไปแล้ว ก็ไม่เคยได้รับแจ้งว่าเกิดปัญหาซ้ำอีก และขั้นตอนการดูแลรักษาหลังคาก็สะดวกเพียงรดน้ำตัดหญ้าเช่นเดียวกับสนามทั่วไป

ดร. ณรงค์วิทย์ อารีมิตร ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบอาคารเพื่ออนุรักษ์พลังงานจากบริษัทสถาปนิก 49 จำกัด ร่วมสนับสนุนอาคาร Green Roof อีกเสียง

“อาคารประหยัดพลังงานมีทั้งแบบก่อสร้างมาอย่างไรก็ได้แล้วค่อยเปลี่ยนวัสดุบางอย่างให้ประหยัดพลังงาน หรือกำหนดให้ประหยัดพลังงานมาตั้งแต่ขั้นตอนออกแบบโดยพิจารณาต้นทุนจากที่ดินและภูมิทัศน์ที่มีอยู่ก่อน ซึ่งพิพิธภัณฑ์นี้อยู่ในข่ายหลัง ผู้ออกแบบคิดมาก่อนแล้วว่าการสร้างอาคารไว้ใต้ดินและปลูกพืชปิดทับหลังคาช่วยควบคุมอุณหภูมิดินให้ต่ำคงที่ไม่แปรผันไปตามสภาพภูมิอากาศภายนอก ภายในพิพิธภัณฑ์จึงเย็นสบาย แม้ไม่เปิดเครื่องปรับอากาศค่าเฉลี่ยก็ยังอยู่ที่ประมาณ ๒๗ องศาเซลเซียส ซึ่งแน่นอนว่าระบบหลังคาที่ใช้กันอยู่ทั่วไปคงทำได้ไม่ดีเท่า”

อีกข้อดีของอาคาร Green Roof คือสามารถกรองความร้อนในเวลากลางวันและคายความร้อนในเวลากลางคืน เป็นการยืดอายุใช้งานให้หลังคาได้ (โดยเฉพาะหลังคาคอนกรีต) ทั้งยังกรองมลพิษและคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากอากาศ สำคัญที่สุดคือระหว่างวันผู้ใช้งานจะไม่ต้องกังวลเรื่องกลิ่นและสารเคมีที่ปล่อยออกมาจากวัสดุสังเคราะห์ต่างๆ เพราะเหนืออื่นใดสถาปัตย์สีเขียวไม่ใช่เพียงแฟชั่น แต่คือการที่ผู้ใช้งานได้รับคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย

ดร. ปริวรรต ธรรมาปรีชากร ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานเครื่องถ้วยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในฐานะผู้รับประโยชน์จากผลงานการออกแบบแสดงความเห็นว่า

“ผู้มาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่จะบอกว่าชอบบรรยากาศ แม้อาคารจะอยู่ใต้ดินแต่ไม่ได้รู้สึกว่าอึดอัดหรือมีกลิ่นอับอะไรเลย ตรงกันข้ามกลับรู้สึกเย็นสบาย ผู้ชมจะชอบทางขึ้นเนินหน้าอาคาร ที่ต้องเดินกลับออกไปหลังจากเที่ยวชมห้องโถงภายในแล้ว  นอกจากนี้ระบบจ่ายไฟฟ้ายังได้รับการออกแบบมาให้แผงควบคุมอยู่รวมกันที่เดียวในห้องทำงานของเจ้าหน้าที่ซึ่งอยู่ด้านในสุดของพิพิธภัณฑ์ เมื่อมีผู้มาใช้บริการพนักงานต้อนรับจะโทรศัพท์แจ้งให้เจ้าหน้าที่ในห้องทำงานทราบ จึงค่อยเปิดไฟเป็นกรณีเพื่อประหยัดพลังงาน ผลคือช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าในแต่ละเดือนได้จริง”

นี่คือสิ่งยืนยันว่าแม้มนุษย์ออกแบบธรรมชาติไม่ได้ แต่ออกแบบสถาปัตยกรรมให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้

แล้วเสน่ห์ของวิถีเรียบง่ายใต้ดินนี้ก็ได้รับคัดเลือกให้เป็น ๑ ใน ๙ ของสถาปัตยกรรมดีเด่นด้านความคิดสร้างสรรค์และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมประจำปี ๒๕๕๑ โดยได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่นด้าน Green Architecture Awards ในงานนิทรรศการ ASA Green สถาปนิก’๕๒ ของสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์

สิ่งไม่คาดคิดเกิดขึ้น เมื่อเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ปี ๒๕๕๔ น้ำท่วมมหาวิทยาลัยสูง ๗ เมตรจนอาคารจมมิด ต้นหญ้าบนหลังคาสำลักน้ำขาดอากาศหายใจและตายไปในที่สุด แม้เครื่องถ้วยทั้งหมดจะได้รับการเคลื่อนย้ายไปเก็บรักษายังที่ปลอดภัยทันเวลา แต่อาคารใต้ดิน แผงควบคุมไฟฟ้า รวมถึงเครื่องใช้หลายสิ่งที่ได้รับการออกแบบโครงสร้างทำจากเหล็ก มีขนาดใหญ่และน้ำหนักมาก เช่น ประตูเลื่อนขนาดใหญ่ หรือตู้ที่ใช้จัดแสดงวัตถุ เมื่อยกหนีน้ำไม่ได้ก็ต้องปล่อยให้จมน้ำและผุพังไป พิพิธภัณฑ์จึงจำเป็นต้องปิดให้บริการ

ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์กล่าว “เรามีนโยบายจะปรับปรุงซ่อมแซม ตัวโครงสร้างอาคารยังคงยึดรูปแบบเดิมไว้แต่ภายในอาจต้องปรับวัสดุบางอย่างให้เหมาะแก่การใช้งานมากขึ้นและเสริมมาตรการป้องกันน้ำท่วมไว้ด้วย ซึ่งคงใช้เวลาหลายปีและยังไม่มีกำหนดว่าจะพร้อมเปิดให้บริการอีกครั้งเมื่อไร”

หลังเหตุการณ์ผ่านพ้นปรากฏความสูญเสียนานัปการพร้อมบทเรียนหนึ่งน่าคิด

มากกว่าความสง่าของอาคารที่กลมกลืนกับสิ่งแวดล้อมการตั้งถิ่นฐานที่มั่นคงยังควรคิดไปถึงวิธีอยู่ร่วมกับภัยธรรมชาติอย่างแข็งแรงด้วย