ngiewวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2445 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) ยกกำลังไปปราบ กบฎเงี้ยว ที่เมืองแพร่ ในมณฑลพายัพ

ทั้งนี้ในปี 2440 รัชกาลที่ 5 ได้เปลี่ยนการปกครองจากเจ้าผู้ครองนครเป็นเทศาภิบาล ยุบเลิกฐานะเมืองประเทศราช แล้วรวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง พร้อมทั้งโปรดเกล้าฯ ให้ พระยาไชยบูรณ์ (ทองอยู่ สุวรรณบาตร) เป็นข้าหลวงปกครองเมืองแพร่เป็นคนแรก เจ้าเมืองแพร่องค์เดิมคือ พระยาพิริยวิไชย จึงสูญเสียอำนาจไปเพราะอำนาจสิทธิ์ขาดตกเป็นของข้าหลวงซึ่งเป็นข้าราชการที่ส่งมาจากส่วนกลาง อีกทั้งยังถูกตัดผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ สร้างความไม่พอใจแก่เจ้าเมืองและเจ้านายบุตรหลานทั้งหลายรวมไปถึงชาวเมืองแพร่เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเมืองแพร่นั้น เมื่อครั้งปฏิรูปการปกครองในปี 2442 พระยาศรีสหเทพ (เส็ง วิรยศิริ) ได้จัดการอย่างรุนแรงและบีบบังคับยิ่งกว่าเมืองอื่น ๆ

วันที่ 24 กรกฎาคม 2445 ชาว “เงี้ยว” (หรือชาวไทใหญ่ ชาติพันธุ์หนึ่งที่อาศัยอยู่ในมณฑลพายัพมาช้านาน) ในเมืองแพร่นำโดย พะกาหม่อง และ สลาโปไชย พร้อมกำลังราว 40-50 นาย ได้ก่อความวุ่นวายขึ้น โดยบุกยึดสถานที่ราชการและปล้นเงินคลังของจังหวัด ตลอดจนปล่อยนักโทษในเรือนจำ ต่อมากำลังเพิ่มเป็นราว 300 นายเพราะชาวเมืองแพร่เข้ามาสนับสนุน สามารถยึดเมืองแพร่ได้ในวันที่ 25 กรกฎาคม จากนั้นก็ไปเชิญเจ้าเมืองแพร่องค์เดิมให้ปกครองบ้านเมืองต่อ และออกตามล่าข้าราชการคนนอกที่เข้ามาปกครองเมืองแพร่ สามารถจับตัวพระยาไชยบูรณ์ได้ในวันที่ 27 กรกฎาคม และบังคับให้คืนเมืองแพร่ แต่พระยาไชยบูรณ์ปฏิเสธจึงถูกสำเร็จโทษพร้อมกับข้าราชการอีกหลายคน

ความทราบถึงรัชกาลที่ 5 จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระยาสุรศักดิ์มนตรีนำทัพหลวงและกองทัพจากเมืองใกล้เคียงทำการปราบปรามพวกเงี้ยวได้อย่างราบคาบ โดยตั้งค่ายทัพที่บริเวณ “บ้านเด่นทัพชัย”( ต่อมาเปลี่ยนเป็น “ตำบลเด่นชัย” ใน “อำเภอเด่นชัย” ปัจจุบัน) หลังจากเริ่มสอบสวนเอาความในวันที่ 20 สิงหาคม 2445 พบว่าเจ้าเมืองแพร่ เจ้าราชบุตร เจ้าไชยสงคราม มีส่วนสนับสนุนให้กองโจรเงี้ยวก่อการกบฎขึ้น แต่ครั้นจะจับกุมตัวสั่งประหารชีวิต ท่านก็เกรงว่าจะกระทบกระเทือนต่อความสัมพันธ์กับหัวเมืองทางเหนือซึ่งถือเป็นเครือญาติผู้สืบสายราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนด้วยกัน จึงปล่อยข่าวลือว่าจะจับกุมตัวเจ้าเมืองแพร่ พระยาพิริยวิไชยจึงหลบหนีออกไป หลังหลบหนีไปได้ 15 วัน เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีจึงออกคำสั่งถอดเจ้าเมืองแพร่ออกจากตำแหน่งทันที ด้วยถือว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่ราชการ พร้อมกับสั่งอายัดทรัพย์เพื่อชดใช้หนี้หลวงที่เจ้าเมืองแพร่ค้างกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ สำหรับคดีความผิดฐานร่วมก่อการกบฎก็เป็นอันต้องระงับโดยปริยาย ไม่มีการรื้อฟื้นขึ้นอีก เจ้าพิริยเทพวงศ์เจ้าเมืองแพร่องค์สุดท้ายต้องลี้ภัยไปใช้ชีวิตในบั้นปลายที่เมืองหลวงพระบาง จนถึงแก่พิราลัย