โลกใบใหม่
ภัควดี วีระภาสพงษ์

ฟุตบอลอนุรักษ์เต่าทะเลที่กัวเตมาลา

ตลอดเวลากว่าร้อยล้านปีที่ผ่านมา  ทุกปีในช่วงเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม ตลอดระยะทาง ๒๕๔ กิโลเมตรของชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกซึ่งเป็นที่ตั้งของประเทศกัวเตมาลาในปัจจุบัน ยามค่ำคืนที่ลมพัดจัดเต่าทะเลตัวเมียพันธุ์ Olive Ridley หรือที่คนไทยเรียกว่า “เต่าหญ้า” จำนวนมากมายจะต้วมเตี้ยมขึ้นฝั่ง อาศัยความมืดพรางตัวและขุดหลุมวางไข่  เต่าตัวหนึ่งจะวางไข่ขนาดลูกปิงปองหลุมละ ๔๐-๑๓๐ ฟอง

หลังจากนั้นอีกประมาณ ๕๐ วัน ลูกเต่าจำนวนมหาศาลจะฟักออกจากไข่ รอคอยค่ำคืนที่จะผุดโผล่ขึ้นมาบนหาดทรายพร้อมๆ กัน  จากนั้นลูกเต่าจะมุ่งหน้าสู่ทะเลโดยอาศัยแสงจันทร์ที่สะท้อนพื้นผิวทะเลและความสั่นสะเทือนของคลื่นเป็นเครื่องนำทาง  ลูกเต่าที่โชคดีจะอยู่รอดปลอดภัยจนเติบโต  อีก ๘-๑๔ ปีให้หลังเต่าตัวเมียจะย้อนกลับมาที่ชายหาดแห่งเดิมและเจริญรอยตามแม่ของมันในการสืบเผ่าพันธุ์ต่อไป

หมู่บ้านลาบาร์โรนาคือหมู่บ้านที่พบเห็นได้ทั่วไปตามชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกของประเทศกัวเตมาลา  หมู่บ้านนี้มีชาวบ้านอาศัยประมาณ ๗๐๐-๙๐๐ คน พวกเขาหาเลี้ยงชีพด้วยการทำประมงท้องถิ่น  ป่าชายเลนคือแหล่งทรัพยากรที่ให้ไม้สำหรับสร้างบ้านเรือนและฟืนก่อไฟหุงต้ม  ยามดึกหลังเที่ยงคืนชาวประมงเหล่านี้จะถ่อเรือลำเล็กแคบลัดเลาะเข้าไปในป่าชายเลน เหวี่ยงแหที่ถักเองลงในน้ำแล้วค่อยๆ ดึงขึ้นมาช้าๆ ทำเช่นนี้ซ้ำๆ หลายครั้ง คืนใดโชคดี เขาจะจับกุ้งได้สัก ๒-๓ กอง นำไปขายได้เงินราว ๖ ดอลลาร์พอเลี้ยงครอบครัว  เด็กผู้ชายทุกคนที่อายุเกิน ๗ ขวบล้วนแล้วแต่เชี่ยวชาญในการทำประมงแบบนี้

ช่วงเวลาที่ชาวบ้านจะทำรายได้อย่างงามคือระหว่างเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม เด็กและผู้ใหญ่ทุกคนจะมาเฝ้ารออยู่ริมชายหาด ทันทีที่เต่าทะเลวางไข่เสร็จพวกเขาจะเข้าไปขุดค้นไข่เต่าและรวบรวมไปขายให้แก่พ่อค้าคนกลาง  พ่อค้าคนกลางจะขนไข่ไปขายต่อให้ตลาดในเมืองใหญ่อีกทอดหนึ่ง  ชาวกัวเตมาลานิยมกินไข่เต่าดิบตอกลงในน้ำส้มปรุงรสด้วยเครื่องเทศ โดยเฉพาะผู้ชายเชื่อกันว่านี่คือเครื่องดื่มชูกำลังทางเพศ

วิถีชีวิตที่สวนทางกันนี้เองทำให้เต่าทะเลตกอยู่ในอันตรายของการสูญพันธุ์  ในขณะที่ชาวประมงท้องถิ่นรายย่อยเองก็ทำในสิ่งที่เปรียบเสมือนการทำลายทรัพยากรของตัวเอง  มีการประเมินกันว่า ในชายฝั่งประเทศกัวเตมาลานั้น รังฟักไข่ทุกรังของเต่าทะเลถูกเก็บไข่ไปหมดสิ้น  นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาแทรกซ้อนอีก  การพัฒนาที่ดินชายหาดเป็นโรงแรมและรีสอร์ตหรู  กำแพงและรั้วโรงแรมบางแห่งขวางกั้นเต่าทะเลจนไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่วางไข่  แสงไฟฟ้าจากโรงแรมสร้างความสับสนแก่ลูกเต่า จนเคยมีกรณีที่ลูกเต่าพากันคลานไปลงสระว่ายน้ำของโรงแรมแทน  อุตสาหกรรมประมงที่ใช้อวนขนาดใหญ่ทำลายชีวิตทั้งเต่าทะเล โลมา ฉลาม และปลาอื่นๆ อีกมาก  อีกทั้งสารพิษที่ทิ้งลงมหาสมุทรและขยะพลาสติก พลาสติกห่อลูกกวาด ฯลฯ ที่ลงเอยในท้องของเต่าทะเลและเป็นสาเหตุการตายจำนวนไม่น้อย

ถึงแม้รัฐบาลกัวเตมาลาไม่ได้นิ่งเฉยต่อปัญหานี้เสียทีเดียว  ตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ ๑๙๘๐ เป็นต้นมา ภาครัฐออกข้อบังคับควบคุมการเก็บไข่เต่าทะเลและริเริ่มโครงการ “บริจาคไข่เต่า”  กล่าวคือชาวบ้านได้รับอนุญาตให้เก็บไข่เต่าทะเลได้ไม่จำกัดตราบที่บริจาคไข่เต่าร้อยละ ๒๐ ให้แก่สถานเพาะพันธุ์เพื่ออนุรักษ์เต่าทะเล ซึ่งมีอยู่ประมาณ ๑๘-๒๖ แห่งตลอดชายฝั่งและดำเนินการโดยภาครัฐ เอ็นจีโอหรือเอกชน  อย่างไรก็ตามโครงการความร่วมมือนี้มีข้อบกพร่องและช่องโหว่มาก ทั้งในเรื่องการบังคับใช้และควบคุมดูแล ตลอดจนการขาดแคลนเจ้าหน้าที่และงบประมาณ

guatemala02
guatemala03

ฟุตบอลกับภารกิจพิทักษ์เต่าทะเลและส่งเสริมชุมชน

AKAZUL คือชื่อองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มีฐานอยู่ในประเทศอังกฤษ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๕๓ โดยอาสาสมัครที่ทำงานในพื้นที่ชายฝั่งทะเลของกัวเตมาลามาหลายปี  คำว่า AKAZUL มาจากการประสมคำ ๒ คำคือ AK หมายถึงเทพเจ้าเต่าในตำนานของชนเผ่ามายา ซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองดั้งเดิมในทวีปอเมริกาใต้ กับคำว่า AZUL ซึ่งเป็นภาษาสเปน แปลว่าสีฟ้าของมหาสมุทร  วัตถุประสงค์หลักขององค์กรนี้คือการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและสิ่งแวดล้อมชายฝั่งของประเทศกัวเตมาลา โดยอาศัยกิจกรรมที่สร้างขึ้นมาจากชุมชน  AKAZUL จะทำงานร่วมมือใกล้ชิดกับสมาชิกในชุมชนเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและการดำรงชีพอย่างยั่งยืน

AKAZUL ถือเอากิจกรรมอนุรักษ์เต่าทะเลเป็น “ธงนำ” ขององค์กร  กิจกรรมที่ทำให้ AKAZUL มีชื่อเสียงในระดับนานาประเทศและเป็นที่ยอมรับของสมาคมอนุรักษ์เต่าทะเลสากล (International Sea Turtle Society) ก็คือโครงการ “ช่วยชีวิตเต่าด้วยฟุตบอล” (Saving Turtles through Football)

โครงการที่นำการเล่นฟุตบอลมาผสานรวมกับการอนุรักษ์สัตว์ทะเลเกิดมาจากความคิดริเริ่มของอาสาสมัครและชาวบ้านในหมู่บ้านลาบาร์โรนา  เป็นที่ทราบกันดีว่าชาวลาตินอเมริกาล้วนแล้วแต่คลั่งไคล้เกมกีฬาฟุตบอลเป็นชีวิตจิตใจ โดยเฉพาะเยาวชนวัย ๑๐-๑๕ ปี ซึ่งเด็กกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เริ่มต้นอาชีพเก็บไข่เต่าตามพ่อแม่แล้ว  พวกเขาจึงเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ดีต่อการปลูกฝังแนวคิดเกี่ยวกับการอนุรักษ์

AKAZUL ทำหน้าที่จัดหาเสื้อกางเกงกีฬา รองเท้าสตั๊ด และลูกฟุตบอลให้ ชาวบ้านที่เป็นอาสาสมัครทำหน้าที่โค้ช  เยาวชนในโครงการนี้จะมาร่วมฝึกซ้อมฟุตบอลสัปดาห์ละ ๒ ครั้งและรับการอบรมเกี่ยวกับการอนุรักษ์เต่าทะเลสัปดาห์ละครั้ง  เด็กๆ ร่วมกันทำกิจกรรมอย่างการเก็บขยะที่ชายหาด หรือการเข้าร่วมโครงการฟักไข่เต่า เป็นต้น  นอกจากนี้ AKAZUL ยังมีโครงการสอนภาษาอังกฤษฟรีให้ชาวบ้านในชุมชน ตลอดจนตั้งสโมสรเด็กเล็กซึ่งจัดกิจกรรมนันทนาการสำหรับเด็กในช่วงวัย ๕-๑๐ ขวบ

เมลวิน มอนเตอร์โรโซ คือชาวบ้านผู้เคยดำรงชีพด้วยการเก็บไข่เต่าแต่ปัจจุบันหันมาทำงานเป็นอาสาสมัครให้โครงการฯ และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งทีมฟุตบอล รวมทั้งเป็นโค้ชให้ด้วย  เขาเล่าว่า นอกจากการปลูกฝังแนวคิดด้านการอนุรักษ์ให้เด็กๆ แล้ว การเล่นฟุตบอลยังช่วยให้เกิดการทำงานเป็นทีม “ตอนที่เราเริ่มโครงการฟุตบอล
มันบ้ามาก เหมือนหายนะเลย  เด็กๆ โตมากับเต่าแต่ไม่รู้จักการอนุรักษ์ เช่นเดียวกันพวกเขาโตมากับฟุตบอลแต่ไม่รู้จักเล่นเป็นทีม  ตอนแรกๆ เด็กๆ เอาแต่ตะโกนและชกต่อยกัน ไม่ยอมปฏิบัติตามกติกา แต่ตอนนี้เด็กๆ เริ่มเข้าใจแล้ว ยังมีการชกต่อยกันบ้างนานๆ ครั้ง แต่เดี๋ยวนี้เด็กๆ รู้จักทำงานเป็นทีม มันไม่ใช่แค่การแข่งชนะ แต่เป็นเรื่องการทำงานร่วมกันต่างหาก”

AKAZUL จัดการแข่งขันฟุตบอลทัวร์นาเมนต์แรกระหว่างหมู่บ้านต่างๆ ในเทศกาลเต่าทะเลเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว  โครงการนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี  องค์กรสามารถทำให้หมู่บ้านต่างๆ ยึดมั่นในเงื่อนไขของการบริจาคไข่เต่าร้อยละ ๒๐ ให้แก่สถานเพาะพันธุ์ไข่เต่า  โครงการผสมผสานฟุตบอลกับการอบรมเยาวชนเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้รับการตอบรับอย่างดีจากชาวบ้านและองค์กรระหว่างประเทศ กระทั่งมีหลายประเทศแสดงความสนใจที่จะนำยุทธศาสตร์นี้ไปใช้บ้าง

โครงการของ AKAZUL ชี้ให้เห็นว่า การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจะประสบความสำเร็จต้องคำนึงถึงชาวบ้านที่ดำรงชีพจากทรัพยากรธรรมชาติเหล่านั้น และการอนุรักษ์ธรรมชาติไม่จำเป็นต้องน่าเบื่อ  มันสามารถเป็นกิจกรรมที่สนุกสนานได้พร้อมๆ กัน

ภาพประกอบจากUpsidedownworld และ Grupoquepasa