ศิระ ลีปิพัฒนวิทย์

หัดขี่จักรยานตอนโตสมัยเด็กๆ แทบทุกคนต้องเคยหัดขี่จักรยาน แต่ใช่ทุกคนจะขี่เป็น บางคนไม่ต้องมีใครสอนเลย ไถไปไถมาเดี๋ยวเดียวก็ปั่นฉิว

บางคนล้มสักครั้งสองครั้ง มีคนช่วยจับ ช่วยแนะนำ ฝึกสักพักก็ประสบความสำเร็จ

แต่สำหรับบางคนก้าวผ่านวัยเด็กมาโดยขี่จักรยานไม่เป็น
บางคนคิดว่า “ชีวิตนี้ฉันคงไม่มีทางขี่จักรยานเป็นแล้ว” บางคนอยาก “ปั่นเป็น” จนเก็บไปฝันอยู่เสมอ บางคนถูกเพื่อนล้อ ล้อมากเข้า ถึงกับรู้สึกต่อต้านการขี่จักรยานไปเลยก็มี

แต่ในที่สุดเราหลายคนเติบโตเป็นผู้ใหญ่โดยหลงลืมเรื่องราวของจักรยานไปจนหมดสิ้น

พาหนะชนิดใหม่ที่ดูจริงจังและทันสมัยกว่ามาแทนที่ พร้อมภาระที่มากขึ้น

แต่ช่วง ๒-๓ ปีมานี้กระแสจักรยานหวนกลับมาอีกครั้งหนึ่ง ทั้งวงการเด็กแนว แฟชั่น สายออกแบบ ดารา วัยรุ่น กำลังให้ความสนใจกับจักรยานในฐานะพาหนะแสดงตัวตน ความรักอิสระเจือความขบถอินดี้ ความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ฯลฯ  การขี่จักรยานกลายเป็นความโก้เก๋ในยุคปัจจุบันอีกครั้ง

จากความสนุกที่เคยคลุกคลีขี่เล่นในวัยเด็ก ก้าวสู่ความท้าทายกับการขี่จักรยานเดินทางจริงๆ บนท้องถนน สำหรับคนขี่เป็นคงไม่ใช่เรื่องเหนือบ่ากว่าแรง

แต่กับคนขี่ไม่เป็น กระแสฮิตจักรยานในวัยโตแล้ว บางครั้งก็กระตุ้นหัวใจมุ่งมั่นในวัยเด็กขึ้นมาอีกครั้ง

เมื่อหลายเดือนก่อนผมเอ่ยปากอาสาช่วยหัดขี่จักรยานให้เพื่อน เมื่อรู้ว่าเธออยากปั่นจักรยานมาทำงานด้วยเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อม  บ้านเธอใกล้ออฟฟิซมาก แต่จะเดินเท้าไป-กลับก็ไกลเกิน  จักรยานจึงเป็นทางออกที่ดี แต่เธอยังปั่นไม่เป็น  ความที่เคยหัดมาหลายครั้งแล้วยังไม่ประสบความสำเร็จเสียที เธอเริ่มมีความเชื่อลึกๆ ว่าชีวิตนี้คงหมดหวัง แม่ก็ปั่นไม่เป็น อาจเป็นได้ว่าเชื้อตระกูลมีปัญหาด้านการทรงตัวเพราะน้ำในหูไม่เท่ากันจึงปั่นจักรยานไม่ได้

ผมไม่รู้ว่าเมื่อคนเราน้ำในหูไม่เท่ากันแล้วจะปั่นจักรยานได้หรือไม่ แต่ผมรับปากสอนเธอ และมั่นใจว่าวันหนึ่งเธอต้องขี่ได้ด้วยความเชื่อว่าความสำเร็จนั้นขับเคลื่อนด้วยพลังใจและความพยายาม  หลายต่อหลายครั้งที่เรื่องน่าอัศจรรย์ใจในโลกนี้เกิดขึ้นจากการเคี่ยวกรำฝึกฝน กับแค่การขี่จักรยานไม่เป็นเพราะการทรงตัวไม่ดี ทำไมเราจะผ่านมันไปไม่ได้

เมื่อวันนัดหัดจักรยานมาถึง จากนักเรียนเพียงหนึ่งคน เพิ่มเป็นสามสาว แต่ต่างวัย คนแรกคือเพื่อนรุ่นน้องที่ผมรับปากสอนให้ อีกคนหนึ่งเป็นพี่ ห่างกันไม่กี่ปี เพิ่งรู้จักจากการแนะนำของเพื่อนอีกเป็นทอดๆ และคนสุดท้ายเป็นพี่ใหญ่วัยกลางคน  ทั้งสามคนล้วนเคยผ่านความพยายามบนหลังอานมาทั้งนั้น แต่ปีแล้วปีเล่า ความสำเร็จก็ยังมาไม่ถึง…ซะที

ความท้าทายสำหรับผมอยู่ที่ว่าทำอย่างไรให้การฝึกครั้งนี้แตกต่างจากประสบการณ์ที่ผ่านมา และต้องลดโอกาสล้มเหลวให้เหลือน้อยที่สุด แม้จะต้องใช้เวลานานหน่อย ผมต้องทำให้คนหัดรู้สึกก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ จะได้ไม่ถอดใจเสียก่อน

แอบขอสารภาพตรงนี้ว่า ผมไม่เคยสอนใครขี่จักรยานมาก่อน  การหัดขี่จักรยานในวัยเด็กของผมก็คงเหมือนเด็กผู้ชายส่วนใหญ่  เห็นพี่ๆ ปั่นจักรยานฉิวไปฉิวมา อยากปั่นบ้างก็หัดเข็นๆ ไถๆ ล้มบ้าง เจ็บบ้าง ในที่สุดก็ปั่นได้พร้อมกับมีแผลเป็นเป็นที่ระลึกถึงความสำเร็จนั้น

เมื่อต้องสอนผู้ใหญ่ขี่จักรยานถึงสามคนในคราวเดียว อินเทอร์เน็ตคือตัวช่วยสำคัญ ยิ่งจักรยานเป็นกระแสมากขึ้น การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้ในโลกออนไลน์ก็ยิ่งมีมากตาม  แล้วก็ไม่ผิดหวังเลยครับ ผมเจอกระทู้ว่าด้วยเรื่องการหัดขี่จักรยานตอนโตอย่างถูกต้อง  เคล็ดวิธีน่าสนใจจึงถูกนำมาทดลองใช้ โชคดีที่มันเวิร์กอย่างสุดๆ

คำแนะนำในเน็ตคือ “ถอดบันไดออกไป แล้วไถจักรยานไปเรื่อยๆ” ผมพูดย้ำอีกครั้งว่า ถอดแท่นที่ปรกติแล้วขาเราจะต้องเหยียบให้ล้อเคลื่อนที่เวลาขี่จักรยานออกไปก่อน นี่คือวิธีหัดจักรยานที่ถูกต้อง !

เหยื่อทั้งสามคนและเพื่อนผู้สังเกตการณ์มองผมอย่างงงๆ สีหน้าบ่งบอกคำถามที่ผุดขึ้นในใจว่า “เอาจริงเหรอ ? เชื่อได้ไหมเนี่ย”

ผมทำหน้าขรึมอธิบายว่า หลักการคือการขี่จักรยานสองล้อให้เคลื่อนที่ไปโดยไม่ล้มนั้น ต้องอาศัยการควบคุมร่างกายให้สัมพันธ์กับจักรยาน ทั้งการถ่ายน้ำหนักทรงตัวรักษาสมดุล การออกแรงเท้ากดบันไดให้ล้อหมุน การใช้มือบังคับแฮนด์ควบคุมทิศทาง  แน่นอนว่าหากเราไม่คุ้นเคยกับการแยกส่วนควบคุมประสาทสัมผัสต่างๆ ย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำได้ในเวลาอันสั้น

ลองนึกถึงการแยกประสาทง่ายๆ เช่นการบังคับให้มือซ้ายเขียนรูปวงกลมพร้อมกับใช้มือขวาวาดรูปสี่เหลี่ยม  ครั้งแรกๆ รูปที่เราวาดทั้งสองมืออาจไม่เป็นดั่งใจ กลมๆ เหลี่ยมๆ คล้ายกัน แต่เมื่อทำไปเรื่อยๆ จนคุ้นเคย ทั้งสี่เหลี่ยมและวงกลมก็จะดูดีขึ้นเรื่อยๆ

แต่กับจักรยาน ทุกครั้งที่การควบคุมผิดพลาด นั่นอาจหมายถึงการล้ม  กว่าเราจะคุ้นเคยจนขี่ได้ หลายคนเลยล้มไปหลายครั้ง

วิธีการฝึกที่ดี ลดโอกาสผิดพลาดจนหกล้ม คือการค่อยๆ ทำความคุ้นเคยกับการควบคุมทีละส่วน เช่น แทนที่เราจะใช้มือซ้ายวาดวงกลมกับมือขวาวาดสี่เหลี่ยมพร้อมกันทันที เราอาจเลือกหัดมือซ้ายวาดวงกลมให้ชินเสียก่อนแล้วหัดมือขวาวาดสี่เหลี่ยมให้ชินก่อน สุดท้ายจึงค่อยใช้ทั้งสองมือวาดรูปพร้อมกัน

จักรยาน เราก็แยกส่วนการควบคุมได้เช่นกัน ค่อยๆ ทำความคุ้นเคยไปทีละส่วน เมื่อเคยชินแล้วความสำเร็จก็อยู่ไม่ไกล

ว่าแล้วก็จัดแจงถอดบันไดออกเสีย ทักษะแรกที่เราฝึกกันคือ

ฝึกความสมดุล การทรงตัว

“ชีวิตก็เหมือนจักรยาน ถ้าไม่อยากล้ม ต้องปั่นไปเรื่อยๆ”

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์

เป็นไปไม่ได้ที่เราจะตั้งจักรยานสองล้อให้อยู่นิ่งๆ โดยไม่เคลื่อนที่  ตามกฎของฟิสิกส์ ยิ่งเคลื่อนที่เร็ว สมดุลยิ่งดี  การฝึกทรงตัวบนหลังอานจึงต้องเคลื่อนจักรยานไปข้างหน้าด้วยวิธีง่ายๆ คือการใช้เท้าทั้งสองข้างไถพื้นไปเรื่อยๆ (ควรปรับเบาะให้ต่ำลงพอให้เท้าไถสะดวก) และการถอดบันไดทั้งสองข้างจะช่วยให้ไถสะดวกขึ้น

เมื่อไถจนได้ความเร็วระดับหนึ่ง ให้ลองยกขาขึ้นลอยเหนือพื้นแล้วฝึกทรงตัวบนจักรยานให้นานที่สุด หากทำได้ค่อนข้างนานแล้วจึงเปลี่ยนไปพัฒนาทักษะด้านอื่น

ขั้นตอนนี้สำคัญว่า พื้นถนนต้องเรียบ กว้าง และปลอดภัยจากการถูกเฉี่ยวชน  เพื่อให้หนูทดลองยากล้าลองของ ผมจึงเลือกลานรอบสนามหลวงเป็นสนามลองวิชา (มีคนแนะนำภายหลังว่าควรหาทางลาดที่ไม่ชันมากให้คนหัดลองไถจักรยานลงมา ก็จะช่วยให้เห็นผลการฝึกที่ดีขึ้น-สวนรถไฟในวันที่คนไม่พลุกพล่านก็น่าเป็นที่ฝึกวิชาได้ดีอีกแห่ง)

ไถไปมาอยู่เกือบชั่วโมง พี่ใหญ่วัยเลขสี่ก็ดูคล่องแคล่วอย่างน่าแปลกใจ ล้อแทบหยุดหมุนแล้วแต่แกยังยกขาลอยได้ชิลล์ๆ  ฟ้าฝนเดือนสิงหาคมเริ่มส่งสัญญาณเตือนเสียแล้ว ผมตัดสินใจให้แกฝึกขั้นต่อไปเลยครับ

ฝึกการปั่น

“หัวใจของการปั่นจักรยานคือการทรงตัว หากทรงตัวได้ การปั่นหรือใช้ขาถีบบันไดหมุนเป็นวงกลมเพื่อขับเคลื่อนล้อหลังให้กลิ้งไปข้างหน้าก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไรแล้วครับ  เราปั่นเพื่อให้จักรยานเคลื่อนที่ไปข้างหน้า ที่เหลือยังไม่ต้องคิดอะไร ทำแบบที่เคยทำ ทรงตัวแบบเดิม”

โม้เสร็จก็ไขบันไดเข้าที่ตามเดิม ในใจผมมั่นใจสุดๆ ว่าพี่ใหญ่ปั่นได้แน่ๆ ถึงกับขอถ่ายวิดีโอถีบแรกเก็บไว้เป็นความทรงจำ  เมื่อสูดลมหายใจทำสมาธิดีแล้ว หญิงร่างเล็กวัย ๔๐ เศษก็ถีบจักรยานออกไป…

สำเร็จแล้ว !

เสียงตะโกนโห่ร้องดังขึ้นพร้อมรอยยิ้มภูมิใจของทั้งคนปั่น คนสอน และกองเชียร์  แล้วสายฝนก็พรั่งพรูลงมา  ผมสังเกตเห็นแววตาของเด็กน้อยในร่างผู้ใหญ่กำลังปั่นตากฝนอย่างร่าเริงเชียวครับ น่าเสียดายฝนตกลงมาก่อนที่อีกสองสาวจะปั่นเป็น

แล้วในการฝึกสองครั้งถัดมา สองสาวที่เหลือก็ปั่นเป็น ขณะนี้ทั้งสามคนกำลังหมกมุ่นกับจักรยานสุดๆ  ชักชวนเพื่อนพี่น้องมาร่วมปั่นสนามหลวงยามเย็นเสมอๆ

จากเพื่อนหนึ่งคนอยากปั่นจักรยาน ภายใน ๑ เดือนกลายเป็น ๑๐ คนปั่นจักรยานแล้วครับ  ไม่รู้จริงๆ ว่าที่เธอปั่นจักรยานได้นี้ ระหว่างผมกับเพื่อน ใครจะดีใจกว่ากัน

ป.ล. ตอนนี้เธอกำลังโน้มน้าว “แม่” ให้ฮึดสู้ หัดปั่นจักรยานเพื่อความสุขเป็นรายต่อไป •

ลิงค์แนะนำ