vitit03ตอนนี้ประเทศที่มีศักยภาพผลิตยา CL หรือยาชื่อสามัญราคาถูกและเป็นหลักให้ผู้ป่วยยากจนประเทศต่าง ๆ มีประเทศอะไรบ้าง
ที่เด่นมาก ๆ คืออินเดีย ถัดมาก็จีน แล้วก็มียุโรปบ้าง ตอนที่เราประกาศ CL ครั้งแรก ยาตัวแรก ๆ ก็ซื้อจากอินเดียเพราะเขามีพร้อมหมดแล้ว

เพราะอะไรอินเดียที่พัฒนายามาพร้อม ๆ กับไทยวันนี้ถึงแซงเราไป
เท่าที่ผมทราบมาคือช่วงสงครามเย็น การเมืองขณะนั้นแบ่งเป็นสองค่าย ค่ายเสรีกับค่ายคอมมิวนิสต์ อินเดียจัดอยู่ในกลุ่มสังคมนิยม จะใกล้ชิดกับทางฝ่ายรัสเซียมากกว่า เขาต้องพึ่งพาตัวเองสูงมาก สมัยนั้นเขากับรัสเซียจับมือกันพัฒนายาเพื่อจะได้พึ่งพาตัวเองได้ เขาผ่านระยะเวลาที่ยาวนานพอสมควรในช่วงสงครามเย็น

ลำดับที่ ๒ พื้นฐานของนักวิทยาศาสตร์อินเดียค่อนข้างดี อย่างที่เราทราบ เขาเก่งทั้งทางภาษา เพราะพื้นฐานเขาเคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เขาส่งคนไปเรียนต่างประเทศเยอะแยะแล้วกลับมา พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ พื้นฐานทางด้านเคมี เขาค่อนข้างดีกว่าเรา เขามีนักวิทยาศาสตร์เก่ง ๆ ในประเทศเป็นตัวเลือกเยอะมาก

อินเดียให้การคุ้มครองสิทธิบัตรน้อยกว่าประเทศอื่น ๆ อย่างเช่นไทยเราด้วยหรือเปล่า
ไม่ได้น้อยกว่าครับ แต่ช้ากว่า อินเดียเข้าสู่ระบบสิทธิบัตรช้ากว่าไทย ถ้าจำไม่ผิดช้ากว่าประมาณ ๑๐ ปี ภายใน ๑๐ ปีนั้นเขาได้โอกาสใช้ยาชื่อสามัญทั้งที่นำเข้ามาในราคาถูกและที่ผลิตโดยคนของเขา ในขณะที่ยาบางตัวบ้านเราบอกว่าขายไม่ได้ เพราะติดสิทธิบัตร แต่อินเดียยังขายได้เพราะเขาเข้าช้ากว่า แล้วช่วงเวลานั้นเขาได้พัฒนาการผลิตยาในประเทศไปด้วย

กระบวนการสิทธิบัตรเมื่อเข้ามาแล้วได้เปลี่ยนแปลงจิตวิญญาณของหมอ นักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ไปบ้างไหม อย่างในสหรัฐอเมริกา อาจารย์มหาวิทยาลัยซึ่งได้ภาษีจากรัฐมาทำวิจัยก็ขายสูตรยาให้เอกชนได้
ผมมองสองด้านนะ ในมุมมองของทุนนิยม ทุนนิยมจะขับเคลื่อนด้วยแรงจูงใจ ถ้าขายผลงานวิจัยนี้ให้บริษัทเอกชนแล้วทำกำไรมโหฬาร ก็จะกลับมาเป็นแรงจูงใจให้นักวิจัยอยากคิดวิจัยยาใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น ก็เป็นข้อดี ส่วนข้อเสียคือทำให้แพง

แต่ทางด้านสังคมนิยมหรือประชานิยมก็แล้วแต่ แรงจูงใจที่จะให้นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย คิดโมเลกุลใหม่ ๆ อาจจะน้อยกว่า ยิ่งข้าราชการที่รับแต่เงินเดือนของรัฐจะเห็นว่างานวิจัยที่ออกมามีมูลค่าเชิงตลาดไม่สูงมาก ไม่ท้าทายมากนัก การวิจัยยาส่วนมากทำเป็นทีม ทีมหนึ่งมีหลายคนเพราะมีหลายขั้นตอนมาก ทดลองในสัตว์ ทดลองในมนุษย์ ทดลองในหลอดทดลอง ฯลฯ ใช้ศักยภาพเยอะ นักวิจัยคนหนึ่งอาจใช้ทั้งชีวิตเพื่อให้ได้ยาหนึ่งตัว แล้วกว่าจะออกยาตัวที่ ๒ นี่ก็อายุเยอะแล้ว ผมต้องบอกว่ามันยาก การวิจัยยาต้องการคนเก่ง คนทุ่มเท คนบางคนทั้งชีวิตก็ทำอยู่แค่ไม่กี่ตัวเอง บางคนทั้งชีวิตทำได้แค่ตัวเดียวเองนะครับ เขาก็ต้องหาแรงจูงใจ

จากการ CL ในประเทศไทยเมื่อปี ๒๕๕๐ คุณหมอมีส่วนในเรื่องการ CL อย่างไรบ้าง
CL นี่เป็นกฎหมาย ทางกระทรวงสาธารณสุขเขาตัดสินใจ เขามีคณะทำงาน พอประกาศแล้ว ในประกาศบอกว่ามอบให้องค์การเภสัชกรรมเป็นผู้ดำเนินการ เราก็เริ่มจากแผนของตลาด ว่ายาตัวนี้มีความต้องการในตลาดสูงแค่ไหน แล้วราคา ทุน หรือ
ปัจจัยต่าง ๆ มีความเสี่ยงที่เราจะไปลงทุนวิจัยมากน้อยแค่ไหน หลาย ๆ เรื่องก็มาทำเป็นแผน เราก็ไปเสาะแสวงหายาเหล่านี้นำเข้ามาก่อน พอนำเข้ามาระยะหนึ่งเราก็ทำวิจัยตัวนี้คู่ขนานกันเพื่อผลิตเองในประเทศให้ได้ จนตอนนี้หลายตัวก็เริ่มผลิตในประเทศได้ เช่น ยาโรคเอดส์ ยาโรคหัวใจบางตัว

การทำ CL ส่งผลอย่างไรต่อคนไทยบ้าง
คนไข้ได้เข้าถึงยามากขึ้น ราคายาลดลงเยอะ ยาจิตเวชจากราคาเม็ดละ ๔๐-๕๐ บาท ลดเหลือเม็ดละ ๓-๕ บาท ยาหัวใจ ๗๐-๘๐ บาท ก็เหลือ ๑.๕๐ บาท กลุ่มคนไข้โรคเอดส์ซึ่งในไทยมี ๑ แสนกว่าคน ได้ CL ไปสองตัวยา ยาตัวหนึ่งเป็นยาซึ่งผลิตในองค์การเภสัชกรรมได้แล้ว ทุกวันนี้คนไข้โรคเอดส์ใช้ยาในราคาประหยัดลงไป ๖๐-๗๐ บาท กลุ่มคนไข้โรคโลหิตจางทาลัสซีเมียอีกหลายหมื่นคน เราผลิตยาขับเหล็กเป็นยาชื่อสามัญขององค์การเภสัชกรรม ผลิตขายในราคาถูกมาก ถูกกว่าเป็น ๑๐ เท่าจากการนำเข้า จากราคาเม็ดละ ๓๐ บาท ลดเหลือเม็ดละ ๓.๕๐ บาท ก็เลยส่งผลต่อทำให้ สปสช. มีงบประมาณซื้อยาจากองค์การฯ ไปให้คนไข้กลุ่มนี้ และมีกลุ่มยารักษาไตที่ช่วยเพิ่มเม็ดเลือดแดง เราก็ร่วมกับ สปสช. ทำให้ราคายาจากเข็มละประมาณ ๓,๐๐๐-๔,๐๐๐ บาทเหลือ ๒๐๐ กว่าบาท

เมื่อเทียบกับทั่วโลกคนไทยเข้าถึงยาด้วยราคาถูกหรือว่าแพงกว่าประชากรที่อื่น ๆ
สำหรับยาชื่อสามัญผมว่าของเราถูก ถูกมาก แต่ถ้าเป็นยาต้นแบบหรือที่ติดสิทธิบัตร ผมว่าของเรายังค่อนข้างแพง บางทีไปพบเห็นในประเทศเพื่อนบ้านนี่เขาก็ถูกกว่าบ้านเรา

เพราะอะไรถึงเป็นอย่างนั้น
บริษัทผู้เป็นเจ้าของสิทธิบัตรอาจถือว่าประเทศเรามีเศรษฐานะดีกว่าประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ เป็นนโยบายเชิงการตลาดของบริษัทข้ามชาติเหล่านั้น ประเทศนี้มีกำลังซื้อแค่นี้ก็ขายแค่นี้ เอากำไรแค่นี้พอ ประเทศนี้รวยก็ขอเยอะหน่อย ฟังดูก็เหมือนมีคุณธรรมมาก

รัฐบาลของประเทศที่นำเข้ายาสามารถตั้งเพดานราคาต่อบริษัทได้ไหม
ไม่มีผลครับ ราคายาขึ้นอยู่กับการตัดสินใจจากบริษัทว่าเขาจะขายเท่าไหร่ แม้แต่ในประเทศพัฒนาแล้ว มีเทคโนโลยีต้นน้ำเพื่อผลิตยาเองได้ทุกขั้นตอนโดยไม่ต้องนำเข้า ถ้ายาติดสิทธิบัตรราคาก็แพงอยู่ดี เป็นอย่างนี้ทั่วโลก ในสหรัฐอเมริกานี่ค่ายาสูงมาก ประชาชนของเขาบางส่วนต้องขับรถข้ามพรมแดนไปซื้อยาที่แคนาดา หรือทางใต้ก็ไปซื้อที่เม็กซิโก ประธานาธิบดีของเขาในระยะหลัง ๆ ต้องนำเรื่อง health care ปฏิรูประบบสาธารณสุข ระบบสุขภาพ มาเป็นประเด็นหาเสียง

เพราะอะไรแคนาดาถึงเป็นแหล่งยาให้ชาวอเมริกันได้
ทั้งที่ดูว่าเป็นประเทศพัฒนาแล้วในระดับที่ใกล้เคียงกันผมเข้าใจว่าแคนาดาใช้มาตรฐานการนำเข้ายาที่เหมาะสม ไม่สูงจนยาจากประเทศอื่น ๆ ผ่านมาตรฐานเข้าไปได้ยากเท่าสหรัฐอเมริกา แล้วก็ส่งเสริมให้ใช้ยาชื่อสามัญมากกว่ายาที่ติดสิทธิบัตร มีบริษัทใหญ่ ๆ ของแคนาดาผลิตยาชื่อสามัญขายทั่วโลก แคนาดามียาชื่อสามัญเยอะ ทุกวันนี้ยาในแคนาดาจึงขายถูกกว่าสหรัฐอเมริกามาก

คุณหมอคิดว่าอนาคตของคนไทยหลังจบ CL ไปแล้ว และไม่มีการประกาศเพิ่มอีกเลยจะเป็นอย่างไรบ้าง
ในไทยเองก่อนที่จะมี CL ถ้าผู้ป่วยไม่มีกำลังซื้อยาแพง เขาก็บินไปซื้อจากอินเดียโดยตรง ซึ่งยาเหล่านั้นขายไม่ได้ในไทยเพราะติดสิทธิบัตร เขาก็หาทางออกไปหาประเทศที่ไม่ติดสิทธิบัตร ในอดีตเขาก็ซื้อกันอย่างนี้ละครับ ไปที่ไหนไปหมด ส่วนคนที่เข้าไม่ถึงยา และไม่มีกำลังบินไปก็ต้องใช้ยาพื้นฐาน

ศักยภาพที่แท้จริงในการผลิตยาของประเทศไทยเป็นอย่างไร ฐานทางวิชาการของไทยเข้มแข็งพอจะต่อยอดพัฒนายาและผลิตยาต้นแบบเองในประเทศได้ไหม
ถ้าพูดถึงศักยภาพของประเทศไทยยังเป็นลักษณะปลายน้ำอยู่ ปลายน้ำหมายความว่าเราเอาเคมีมาผ่านกระบวนการแล้วก็ผลิตเป็นเม็ด เป็นน้ำ เป็นฉีด แต่ต้นน้ำเรายังทำได้น้อยมาก องค์การเภสัชกรรมทำได้บ้างแต่น้อยมาก ถ้าพูดถึงจะพึ่งพาตัวเองมาก ๆ ต้องทำต้นน้ำเยอะ ๆ ทั้งวิจัย ทั้งโรงงานด้วย เพื่อผลิตเคมีที่จะมาทำยา ทุกวันนี้เราซื้อเคมีมาทำยาแล้วขาย แต่ถ้าจะให้พึ่งตัวเองได้จริง ๆ เราต้องผลิตเคมีเพื่อจะทำยาแล้วค่อยขาย เพิ่มต้นน้ำขึ้นมา เราเคยมีต้นน้ำแต่เป็นประสบการณ์ที่ไม่ดี คือขนาดเล็กไป และตลาดเราก็เล็กด้วย คือการผลิตเคมีเหล่านี้ ต้นทุนต้องแข่งขันได้ พอแข่งขันไม่ได้ จีน อินเดีย หรือแม้กระทั่งยุโรปก็เข้ามาตีตลาด เพราะฉะนั้นถ้าเป็นต้นน้ำเลยก็ถือว่าเรายังไม่มีศักยภาพ มีแต่คนวาดฝันกันไว้ แล้วเล็งมาให้องค์การเภสัชกรรมเป็นตัวนำในการทำเรื่องนี้ ซึ่งต้องใช้ทุนมโหฬาร

องค์การเภสัชกรรมเกี่ยวข้องกับเงินเยอะ และคุณหมอเองก็พ้นจากตำแหน่งด้วยข้อกล่าวหาว่าทุจริต คุณหมอมีข้อชี้แจงอย่างไรบ้าง
ผมกับทีมงานผู้บริหารมั่นใจว่าเราสุจริต เราแน่ใจว่าไม่มีการทุจริต แต่ส่วนกระบวนการตัดสินใจจัดซื้อจัดจ้าง ตรงไหนเรียกระเบียบ ข้อไหนปฏิบัติ นี่เราก็มีเหตุผลของเรา คนที่สอบเขาก็มีเหตุผลของเขา เขาก็กล่าวหาไปร้องกล่าวโทษกันไปก็ไม่เป็นไร
เราก็เตรียมไปชี้แจง

หนึ่งในข้อกล่าวหาคือกรณียาพาราเซตามอลที่ว่าคุณหมอสั่งซื้อวัตถุดิบ ๑๐๐ ตันมาเพิ่มทั้งที่ยังมีของเดิมอยู่ ๔๘ ตัน และยังไม่มีแผนการผลิตเพิ่ม จนทำให้ยาบางส่วนเสียหาย คุณหมออธิบายเรื่องนี้อย่างไร
กรณีการจัดซื้อเคมียาพาราฯ ที่ผู้กล่าวหาอ้างว่าซื้อมากเกินความจำเป็น แต่วัตถุดิบเหล่านี้ยังไม่หมดอายุ ยังอยู่ในประกันที่บริษัทผู้ผลิตต้องชดเชยให้ ถ้าเสียนะครับ ส่วนเรื่องวัตถุดิบเรามีวัตถุดิบอยู่เดิม ๔๘ ตัน แต่พอน้ำท่วม เราไม่รู้ว่าน้ำจะลดเมื่อไหร่ แล้วปัญหาการขาดแคลนยาจะเกิดขึ้นรุนแรงแค่ไหน เราก็สำรองยาหลายตัว เบาหวาน ความดัน รวมทั้งพาราฯ ด้วย พาราฯ นี่ ๑๐๐ ตัน หนึ่งร้อยตันฟังดูเยอะนะครับ ความจริง ๑ กิโลกรัมทำได้ ๑,๐๐๐ เม็ดกับเศษอีกนิดหน่อย เพราะฉะนั้น ๑๐๐ ตันผลิตแค่เดือนเดียวก็จบเลยนะ ทำแค่วันละ ๑๐ ชั่วโมง ขายได้ประมาณ ๓-๔ เดือน อายุยา ๓ ปี ผมเห็นว่าไม่เป็นประเด็น ยกเว้นแต่ว่าอยากจะเอาผมออกมากกว่า

แล้วอีกประเด็นคือเรื่องที่คุณหมอปฏิเสธที่จะโอนเงิน
ค่าสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐ ๗๕ ล้านบาทให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพราะโดยหลักการต้องส่งให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ๗๕ ล้านบาทไม่ใช่เรื่องของผมครับ เป็นเรื่องของ สปสช. ที่จะโอนเงินไปกับ สธ. ซึ่งผมเพียงแต่มองว่าผมทำตามคำสั่งนี้ไม่ได้ ผิดระเบียบที่โครงการมี ผิดหลักการ ผิดระเบียบ ก่อนออกมาผมก็ปรึกษา สปสช. ว่าทำได้หรือเปล่า สปสช. บอกว่าไม่ควรทำ ผมก็เลยไม่ทำ แค่นั้นเองครับ

ง่ายมาก
ถ้าไม่ทุจริตนะชี้แจงได้ง่าย ตอบง่าย ถ้าทุจริตละตอบยาก

มีอะไรจะฝากถึงองค์การเภสัชกรรมไหม
ก็คาดหวังว่าองค์การเภสัชกรรมจะเป็นหน่วยงานซึ่งเป็นที่พึ่งของคนไข้ทุก ๆ กลุ่มในการเข้าถึงยาคุณภาพในราคาที่เหมาะสม ในฐานะคนไทย ผมออกมาแล้วผมก็เป็นประชาชนคนไทยคนหนึ่งก็คาดหวัง