vitit04ก่อนที่จะมาเป็นผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม คุณหมอก็เป็นแพทย์ชมรมแพทย์ชนบทคนหนึ่งใช่ไหม
หลังจากเรียนจบผมก็มาเป็นหมอโรงพยาบาลชุมชนที่อำเภอฟากท่า ต่อมาก็ที่อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์ ได้มาเป็นส่วนหนึ่งของชมรมแพทย์ชนบทในช่วงนี้ ต่อมาผมไปประจำโรงพยาบาลบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร หลังจากนั้นก็ไม่ค่อยได้เข้าร่วมกิจกรรมกับชมรมมากนัก ชมรมแพทย์ชนบทมีความชัดเจนเข้มแข็งในเชิงของการทำงานร่วมกันในชนบท มีการจัดการที่เข้มแข็งในการทำหลายสิ่งหลายอย่างกับกระทรวงสาธารณสุขมานาน และรุ่นพี่หลายคนทำไว้ดี แต่ผมจะไปสายของการพยายามทำงานร่วมกับชาวบ้าน เพื่อนำชาวบ้านมาช่วยกันพัฒนาโรงพยาบาลชุมชน อันนี้เป็นแนวคิดผม ผมก็เลือกเดินอย่างนี้

ถือว่าแนวคิดนี้เป็นสิ่งที่ผลักดันโรงพยาบาลบ้านแพ้วให้ก้าวหน้าขึ้นด้วยใช่ไหม
ครับ ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง ผมคิดว่าโรงพยาบาลทุกแห่งทำได้ ไม่ใช่เฉพาะที่บ้านแพ้ว เพราะที่บ้านแพ้วเป็นเมืองเกษตรทั่วไป ไม่ได้มีอะไรพิเศษกว่าที่อื่นมากนัก ยกเว้นว่ามีน้ำท่าสมบูรณ์ทั้งปี เพราะมีคลองดำเนินสะดวกผ่าน แต่ผมเชื่อว่าที่อื่นก็ทำได้ ผมเคยรักษาการคู่อยู่สองโรงพยาบาล อีกโรงพยาบาลหนึ่งคือกระทุ่มแบนอยู่คนละฝั่งของแม่น้ำท่าจีน บ้านแพ้วอยู่ฝั่งนี้ กระทุ่มแบนอยู่ฝั่งโน้น ผมไม่เคยรู้จักคนหรือชุมชนที่นั่นมาก่อน แต่เมื่อเราไปขายความคิด แล้วพาเขามาดูงานทางบ้านแพ้วแค่ครั้งเดียว ทางฝั่งโน้นก็เข้าใจเลยว่าต้องทำยังไง ต้องช่วยกันยังไง แล้วหลังจากนั้นโรงพยาบาลกระทุ่มแบนก็เปลี่ยนโฉมไปเยอะ

ถือว่าโรงพยาบาลบ้านแพ้วเป็นโรงพยาบาลชุมชนที่น่าภูมิใจ
เรามีหมอแบบเต็มเวลา หมออายุรแพทย์ต่าง ๆ จักษุแพทย์ รังสีแพทย์ มีแพทย์ครบทุกสาขาและเยอะมากครับ เฉพาะทันตแพทย์ก็มี ๑๕ คนแล้ว ส่วนรายได้โรงพยาบาลตอนปี ๒๕๔๓ อยู่ที่ ๑๐๐ กว่าล้าน แล้วก็ขึ้นปีละร้อยละร้อยไปเรื่อย ๆ จนปี ๒๕๕๓ ขึ้นไป ๑,๓๐๐ กว่าล้าน เครื่องมือเครื่องไม้ครบและทันสมัยมากนะครับ เรามีอุปกรณ์ส่องกล้อง เครื่องตรวจเบาหวานขึ้นตา เครื่องเลเซอร์ เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เครื่องฟอกไตเรามี ๑๒ เครื่อง มีเอกซเรย์ดิจิทัลสำหรับออกพื้นที่ มีรถสำหรับออกหน่วยรักษาเคลื่อนที่คันละ ๑๐ ล้านบาท แผนกเจาะเลือด ชันสูตร ห้องแล็บ ใช้ระบบบาร์โค้ดไฮสปีด ผิดพลาดน้อยและเร็วมาก แล้วการมีเครื่องมือพวกนี้ก็ต้องมีบุคลากรที่ใช้เครื่องมือได้ เรามีหมอรังสีซึ่งค่าตัวแพงมาก มีระบบการดูแลคนไข้
ระยะสุดท้าย เช่น เอดส์ มะเร็ง มีแผนกดูแลเด็กที่พัฒนาการช้า มีหมอพิเศษด้านการพัฒนาการเด็กแบบเต็มเวลา มีผ่าคลอดฟรี ต้องไปดูของจริงครับ ถ้าไม่มีชาวบ้านอุ้มจะทำไม่ได้ขนาดนี้

อยากให้คุณหมอเล่าถึงปัจจัยความสำเร็จของการพัฒนาโรงพยาบาลบ้านแพ้วจากโรงพยาบาลชุมชนธรรมดา จนกลายมาเป็นโรงพยาบาลชุมชนแห่งแรกที่บริหารในรูปแบบองค์การมหาชน และมีบริการที่ครบวงจรอย่างทุกวันนี้
ผมคิดว่าปัจจัยหนึ่งคือมีผู้นำและทีมงานที่มุ่งอยากจะเปลี่ยนแปลง เพื่อแก้ปัญหาที่ซ้ำ ๆ ซาก ๆ ในวงราชการที่แก้ไม่ได้ ระบบราชการที่ดีก็มีนะครับ ส่วนที่ไม่ดีที่แก้ไม่ได้ง่าย ๆ ก็เช่นเรื่องเงื่อนไขค่าตอบแทน เรื่องระบบจัดซื้อจัดจ้างที่ทำให้ทำงานไม่คล่องตัว

ปัจจัยต่อมาคือชาวบ้านให้การสนับสนุน นี่เป็นปัจจัยสำคัญที่สุด ผมเชื่อว่าชาวบ้านมีศักยภาพของเขา เราไม่ต้องพูดเรื่องเงินอย่างเดียว แน่นอนครับว่าเงินจำเป็น และคนระดับที่จะบริจาคได้ก็ต้องเหลือเงินสะสมพอสมควร ในอำเภอ ในตำบล หรือในจังหวัดก็ดี มีคนพร้อมจะบริจาคเยอะเหมือนกันนะครับ เพียงแต่เขาไม่ได้แสดงตัว และเขายังไม่ได้พึงพอใจหน่วยงานของรัฐหรือโรงพยาบาลนั้น ๆ เท่าที่ควร แต่ถ้าโรงพยาบาลกับชาวบ้านซึ่งมีแนวคิดว่าเขาต้องการให้เราบริการดูแลสุขภาพเขาอย่างไร แล้วเราตอบสนองเขาได้ เสียงที่เป็นบวก บวก บวก เสียงที่ดี ๆ เหล่านี้จะทำให้คนที่มีฐานะดีพร้อมจะมาช่วย ผมเชื่อว่าคนที่มีฐานะดีเขาใช้เงินแบบมีเหตุมีผล เพราะฉะนั้นถ้าเขาเห็นว่าเงินที่บริจาคคุ้มค่า เขาก็ยินดีบริจาคครับ เพราะฉะนั้นเราต้องใช้เวลาพิสูจน์ตัวเราเองในโรงพยาบาลชุมชนนั้นนาน ๆ อยู่ระยะหนึ่ง

ปัจจัยที่ ๓ คือนโยบายการเมืองครับ ต้องชัด ต้องมองว่าการที่บ้านแพ้วออกมาเป็นองค์การมหาชนนั้น เป็นการพึ่งพาตนเองมากขึ้น แต่ไม่ได้หลุดจากการเป็นหน่วยงานของรัฐ เป็นการกระจายอำนาจแบบหนึ่ง เป็นการปฏิรูปที่ทำให้การตัดสินใจแก้ปัญหาจบแค่ที่บอร์ดของโรงพยาบาล จบที่พื้นที่ ก็จะเกิดความคล่องตัว ตอบสนองปัญหาได้ฉับไวเหมาะสม ไม่ได้ตัดเสื้อโหลให้ทุกคนใส่ทั่วประเทศเหมือนกัน

ทราบว่าที่โรงพยาบาลบ้านแพ้วเคยใช้ระบบเหมาจ่าย ๔๐ บาทรักษาทุกโรค ก่อนที่จะเกิดบัตรทอง ๓๐ บาทรักษาทุกโรค
ตอนที่เราปฏิรูปโรงพยาบาลบ้านแพ้วเป็นองค์การมหาชน เกิดจากการออกแบบโครงสร้างเชิงการบริหารจัดการว่า พอเรามีกฎหมาย มีกฤษฎีกาจัดตั้งโรงพยาบาลบ้านแพ้วเป็นองค์การมหาชนแล้ว ถ้าคุณได้สิทธิ์ ได้อำนาจที่กระจายมาแล้ว คำถามคือประชาชนจะได้อะไร เราต้องการให้ประชาชนได้สิ่งที่ภารกิจโรงพยาบาลควรทำ คือ รักษา ส่งเสริม ป้องกันฟื้นฟูในราคาที่เป็นหลักประกันสุขภาพ เปลี่ยนจากการของบประมาณแบบตามรายการยา ตามค่าน้ำมัน ฯลฯ มาเป็นเหมาเบ็ดเสร็จต่อหัวประชากรในพื้นที่

เราได้รับแนวคิดหลักเรื่องหลักประกันสุขภาพมาจากหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ซึ่งเป็นพี่ใหญ่ของเรื่องนี้ ตอนนี้แกสิ้นไปแล้ว ผมเข้าไปรักษา เข้าไปเป็นลูกมือลูกน้องในสำนักงานหลักประกันสุขภาพที่กระทรวงสาธารณสุขไม่น้อยกว่า ๒ ปี เพื่อเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ แล้วพี่เขาก็ส่งผมไปดูงานเรื่องนี้โดยเฉพาะที่อังกฤษ กลับมาก็มาดูหลักประกันสุขภาพที่มีอยู่ในขณะนั้นคือ ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ เหลือคนที่ไม่มีหลักประกันอีก ๔๐ ล้านคนโดยประมาณก็คือบัตรทองในปัจจุบันนี้ ผมก็คิดโมเดลที่จะประสานสามกองทุน สุดท้ายเกิดเป็นโมเดลเล็ก ๆ ที่บ้านแพ้ว ๔๐ บาทรักษาทุกโรคที่โรงพยาบาล และ ๒๐ บาทที่สถานีอนามัยเพื่อที่คนไข้ไม่ต้องวิ่งมาที่โรงพยาบาลตลอด และ ๑๐๐ บาทสำหรับคนไข้หนัก กองทุนนี้เริ่มขึ้นในปี ๒๕๔๓ ก่อนจะมีโครงการ ๓๐ บาทฯ สัก ๖-๗ เดือน หมายถึงเราลงมือปฏิบัติก่อนโดยไม่ได้คุยกันนะครับ กองทุน ๓๐ บาทก็คิดในแบบของเขา ของเรา ๔๐ บาทก็คิดแบบ ๔๐ บาท ในรายละเอียดไม่เหมือนกัน

แล้วคนที่ได้รับบริการ ๔๐ บาทมีผลตอบรับอย่างไรบ้าง
ใหม่ ๆ ก็ตื่นเต้นกันดีครับ มาคลอดก็ ๔๐ บาท มาผ่าสมองก็ ๔๐ บาท มีแต่คนตั้งคำถามว่าทำได้ยังไง ข้อเท็จจริงทำได้แน่นอนครับ เพียงแต่ชาวบ้านอาจไม่ค่อยเข้าใจคำว่าหลักประกันสุขภาพคืออะไร และทำอย่างไร เขาก็ไม่รู้ว่าแค่ ๔๐ บาทจะไปคุ้มค่ายาได้ยังไง ความจริงรัฐบาลจ่ายรายหัวให้ ตอนนั้นรายหัวของเราคือ ๗๘๒ บาท ทั้งหมดอยู่ที่นโยบายการเมือง

นอกจากหลักประกัน ๔๐ บาทรักษาทุกโรคแล้ว โรงพยาบาลบ้านแพ้วยังเคยมีระบบจ่ายค่าตอบแทนตามการปฏิบัติงานจริงที่คล้าย ๆ P4P (Pay for Performance) ด้วยใช่ไหม คุณหมอคิดว่าระบบนี้ช่วยพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงานของแพทย์ได้มากน้อยแค่ไหน
ผมเล่าประสบการณ์ของผมดีกว่าครับ เมื่อ ๑๕ ปีที่แล้วตอนอยู่บ้านแพ้วใหม่ ๆ กำลังจะออกนอกระบบ ผมคิดเรื่องจะทำ P4P แต่ตอนนั้นผมเรียกว่า Performance Pay มี 2P เหมือนกันนะครับ ตอนนั้นผมมีแพทย์ทำงานร่วมทีมทั้งโรงพยาบาลแค่เก้าคน คุยเงื่อนไขการจ่ายเงินแบบ P4P กับทั้งเก้าคน คุยตั้งแต่ ๒ ทุ่มยันตี ๓ สรุปไม่ได้ สมมุติว่าผมให้ผลตอบแทนหมอสูติฯ ที่ทำคลอดสามหน่วย แต่พอเป็นหมอไส้ติ่ง ผมบอกว่าง่ายกว่าทำคลอดให้สองหน่วยละกัน ศัลยแพทย์ก็จะถามสูติแพทย์ว่า ถ้าอย่างนั้นแล้วว่าง ๆ มาช่วยผ่าไส้ติ่งบ้างไหม มันจะเกิดการเปรียบเทียบกัน เราชั่งน้ำหนักไม่ได้แล้ว คนหนึ่งผ่าลูกคนหนึ่งผ่าไส้ติ่ง บอกใครสำคัญกว่าใคร มันก็สำคัญทั้งคู่นะ สลับกันก็ไม่ยอมด้วย ผมเลยรู้สึกว่ามันไม่เหมาะแล้ว

อีกปัญหาคือมีหมอบางคนบอกว่า ผมเป็นหมอ ผมไม่ใช่หุ่นยนต์ คุณอย่าเอาสมการมาจับ ทำหนึ่งได้หนึ่ง ทำสองได้สอง คนบางคนไม่ชอบแรงกดดันด้วยเงิน บางคนบอกว่าอยากทำด้วยจิตใจ อยากทำด้วยความสุข มันมีหลากหลายทัศนะมาก จนในที่สุดเราเลือกเอา 2P มาใช้เฉพาะด้าน คือด้านที่มีปัญหา ด้านที่เราต้องการรุมแก้ไขให้มันหายหรือลดลง เช่น ผ่าตัดต้อกระจก โรงพยาบาลบ้านแพ้วมีชื่อเสียงเรื่องการผ่าตัดต้อกระจกมาก เราประกาศว่าจะช่วย สปสช. ผ่าตัดให้ได้ปีละ ๑๒,๐๐๐ รายจากที่ในตอนนั้นมีคนไข้ต้อกระจกทั้งประเทศค้างอยู่ ๑๒๐,๐๐๐ ราย ปัญหานี้เรื้อรังแล้วเราต้องการคนเข้ามาทุ่มเทแก้ปัญหา หมอตาในประเทศมีเยอะ แต่คนที่จะมาลุยบากบั่นแบบนี้มีไม่เยอะ ถ้าเราใช้ P4P กับกรณีอย่างนี้จะเห็นผลที่เป็นประโยชน์ได้ชัดเจน

ผมมองว่าตอนนี้มะเร็งเป็นอันดับ ๑ โรคหัวใจ ความดัน เบาหวาน โรคเอดส์ โรคไต เรียงมา แต่ละกลุ่มโรคมีประเด็นปัญหาที่คนไข้ต้องรอนานมาก เช่น บางคนตรวจเจอมะเร็งแล้ว แต่กว่าหมอจะนัดผ่าอีกตั้ง ๖ เดือนหรือ ๓ เดือน คนไข้ยังต้องนอนกับก้อนมะเร็งในท้องไปอีกเป็นเดือน ๆ คนไข้อยากจะผ่าวันสองวันให้เร็วที่สุด แต่คิวโรงพยาบาลแน่นหมด อย่างนี้ P4P จะเข้ามาช่วยได้อย่างไร นี่เฉพาะมะเร็ง หากเป็นปัญหาอื่นก็เอาปัญหาเป็นตัวตั้งแล้วค่อย ๆ ไล่เก็บลงมาให้หมด เพราะหลักประกันสุขภาพทั่วหน้าแบบไทย หลายประเทศทั่วโลกก็ทำและมีเสียงบ่นเหมือนกันอยู่เรื่องหนึ่ง คือคิวยาว เพราะโรงพยาบาลได้เหมาจ่ายแล้วเขาก็ไม่กระตือรือร้น ผ่าเท่าไหร่โรงพยาบาลก็ได้เท่าเดิม ตรงนี้ P4P เป็นเครื่องมือที่อาจเหมาะสม

สิ่งสำคัญคือคุณต้องบอกว่าเมื่อคุณทำ P4P แล้ว ประชาชนจะได้อะไร เพื่ออะไร เช่นเพื่อลดการตาย โรคบางอย่างถ้ารักษาก่อน โอกาสที่จะเสียชีวิตหรือเสียค่ารักษาสูงขึ้นจะลดลง ก็ควรชิงทำตั้งแต่ระยะเริ่มแรก สมมุติคุณชี้มาว่าจังหวัด ก จะทำ P4P เป็นตัวแสดงหลัก มั่นใจมากที่จะทำ P4P ลุยเลยนะ ผมจะไปถามชาวบ้านว่าคุณรู้ไหมว่าพอเขาทำคุณจะได้อะไร คุณไปโรงพยาบาลแล้วคุณจะได้อะไรที่ต่างจากเดิม อย่างที่บ้านแพ้วผมบอกชาวบ้านเลยว่าต้อกระจกจะถูกผ่าปีละ ๑๒,๐๐๐-๑๔,๐๐๐ ราย ผมให้คำมั่นเลย ชาวบ้านก็บอกว่าถ้าอย่างนั้นก็ทำสิ ขาดอะไรบอก คนก็ขานรับ ชาวบ้านช่วยสร้างช่วยบริจาคเพื่อให้โครงการนี้สำเร็จเยอะมากครับ นี่คือหลักการว่าจะทำอะไร ต้องถามว่าแล้วใครได้ ใครเสีย ประชาชนจะได้อะไร เท่าที่ผมฟังมา ยังไม่ค่อยมีใครพูดถึง

ความสำเร็จในการบริหารที่ผ่านมาของคุณหมอดูเหมือนเกิดจากการประสานความร่วมมือทั้งกับภาครัฐ และกับภาคประชาชน คุณหมอมีแนวคิดเรื่องการทำงานกับสองภาคส่วนนี้อย่างไร
ผมเชื่อว่าเราควรคำนึงถึงทั้งสองข้าง เราปฏิเสธรัฐไม่ได้ เพราะเขาคือผู้ต้องดูแลเรา ปฏิเสธรัฐแสดงว่าเราเป็นคนไทยไม่ได้แล้ว เขาเก็บภาษีเราไป เขาก็ต้องดูแลเราโดยหน้าที่ อีกข้างหนึ่งคือภาคประชาชน ทุกวันนี้ประชาชนยังเข้าใจว่าทุกอย่างเป็นหน้าที่ของรัฐเกือบหมด มองว่าขาดพยาบาล ขาดเครื่องมือ ผ่าตัดคิวยาว รอนาน ก็ต้องรอร้องขอจากภาษีอย่างเดียว จากงบประมาณอย่างเดียว รัฐก็มีหน้าที่จริง ๆ แต่ผมคิดว่ามันยากที่จะทำให้โรงพยาบาลชุมชนของคุณ โรงพยาบาลจังหวัดของคุณพร้อม เพราะถ้ารอร้องขอจากรัฐอย่างเดียว รัฐก็จะตอบว่า “รอไปก่อน เหมือนกันทุกที่ ทุกที่ก็เป็นอย่างนี้แหละ”

เวลาไปทำงานกับชาวบ้าน เราต้องทำให้เขาเห็นแนวความคิดว่ากำลังของภาคประชาชนจะช่วยทำให้สิ่งต่าง ๆ ดีขึ้น หรือต่อยอดได้อย่างไร รัฐให้เรามาแค่นี้ เราสร้างตึกได้ศักยภาพเหมาะเพียงแค่นี้ แต่ถ้าเราอยากให้มีความพร้อมมากกว่านี้อีกสักเท่าตัวจะทำอย่างไร คุณก็ต้องจ่าย เพียงแต่ว่าจะจ่ายตอนไหน จ่ายตอนใช้บริการแบบตัวใครตัวมันที่ต้องเดินทางไปรักษาไกล ๆ หรือจะให้สิ่งที่จ่ายอยู่ในพื้นที่แล้วเราได้ใช้บริการด้วย แต่ไม่มีใครโน้มน้าวใครได้ทั้งหมดหรอกครับ โรงพยาบาลก็ลองเสนอสามสี่ทางเลือก บอกชาวบ้านว่าเลือกได้นะ ตั้งแต่การมีส่วนร่วมน้อย ปานกลาง มาก มากที่สุด แล้วคุณจะเลือกแบบไหน เขาอาจบอกว่า ตอนนี้เขาเข้าใจในสิ่งที่เราทำยังไม่มาก ขอเอาแค่แบบปานกลาง พอเขาเริ่มเรียนรู้มากขึ้น ก็ถามว่าเอาแบบมากขึ้นไหม เขาก็กล้าและมั่นใจมากขึ้น

ต้องเอาผลงานไปสู้ ไปโน้มน้าวใจใช่ไหม
ใช่ครับ แล้วก็ความสม่ำเสมอ ความตั้งใจจะพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าเราอยากได้รับเงินบริจาค ผมเคยให้สัมภาษณ์หลายครั้งว่า เงินก้อนแรกที่โรงพยาบาลบ้านแพ้วได้รับบริจาค คือ ๓,๐๐๐ บาท ตอนหลังคือ ๒๐-๓๐ ล้านบาท มันไต่จาก ๓,๐๐๐ ขึ้นไป ๓๐ ล้านได้อย่างไร คำตอบคือสิ่งที่เราทำให้ชาวบ้านต้องดีมากขึ้นเรื่อย ๆ คนเหล่านี้บริจาคก็ไม่เคยเน้นเรื่องสิ่งตอบแทน เน้นเรื่องความพึงพอใจที่ได้มีส่วนร่วม เรื่องบุญ เรื่องกุศล เรื่องช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันมากกว่า ไปที่เรื่องใจก่อนเรื่องวัตถุ แล้วไม่ต้องใช้กฎหมายบังคับ ไม่ต้องจูงใจว่าได้ลดภาษีสองเท่า

การจะทำอะไรให้สำเร็จขึ้นมาจริง ๆ เราต้องมองเรื่อง “ปัจจัย“ ต่าง ๆ อย่างไร
ผมคิดว่ามันคงเป็นธรรมชาติว่า ถ้าเราต้องการที่จะดูแลใครหรือรับใช้ประชาชน หรือกลุ่มคนไข้ก็ดี หนึ่ง คงต้องมีทุนหรืองบประมาณ ภาครัฐเรียกว่างบประมาณ เอกชนก็เรียกทุน สอง เทคโนโลยีหรือองค์ความรู้ นี่ก็เป็นเรื่องจำเป็น สาม เป็นเรื่องของการตลาด การบริหาร สุดท้ายเป็นเรื่องของการสร้างสมดุลต่อกัน ถ้าไม่ทำกำไรได้บ้าง โอกาสจะทำระบบนี้ให้ยั่งยืน ให้ดูแลคนไข้กลุ่มหนึ่งกลุ่มใดก็แล้วแต่ก็จะลำบาก เพราะฉะนั้นกำไรก็แต่พอดี เราอย่าให้ขาดทุน คุณภาพให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ความพึงพอใจให้ดีด้วยก็จะยั่งยืน

ก่อนจะเป็น “หมอบ้านแพ้ว” แรงบันดาลใจในการทำงานของคุณหมอคืออะไร
ผมเป็นคนบ้านนอก คนต่างจังหวัด เป็นคนอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อ ๕๐ ปีที่แล้วถือว่าไกลมาก ติดทางอ่างขาง ท่าตอน ห่างจากตัวเมืองไปสัก ๑๒๐ กิโลเมตร ตอนเป็นนักศึกษาแพทย์ตั้งแต่ปี ๑ ถึงปี ๖ ผมได้ไปเยี่ยมรุ่นพี่ ๆ ในต่างจังหวัด
ในโรงพยาบาลชุมชนบ้าง เขตพื้นที่ที่เสี่ยงภัยบ้าง สีชมพูบ้าง กันดารบ้าง หลายคนเขาเดินหรือใช้ชีวิตเป็นตัวอย่างให้เราเห็น แล้วก็ประทับใจในความเสียสละและทุ่มเทของรุ่นพี่หลาย ๆ คน ก็คิดว่ามันท้าทายสำหรับคนที่อายุไม่เยอะ พอเรียนจบผมก็ไปเป็นแพทย์โรงพยาบาลชุมชน

เคยได้ยินมาว่าคุณหมอเคยร้องเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” ในงานของชมรมแพทย์ชนบทครั้งหนึ่งตอนหลังจากถูกปลดจากตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การเภสัช-กรรม ตรงนี้มีที่มาอย่างไร
ตอนผมอยู่มัธยมปลายเป็นช่วง ๑๔ ตุลาฯ ๒๕๑๖ พอช่วงเป็นนักศึกษาที่มหิดลคือช่วง ๖ ตุลาฯ ๒๕๑๙ ที่มหิดลก็เปิดเพลงนี้ตลอด เปิดจนเราร้องได้และก็เป็นเพลงที่พี่ ๆ น้อง ๆ ในชมรมแพทย์ชนบทชอบร้องกัน ผมว่ามันเป็นเพลงที่ออกแนวเศร้า ๆ บ่น ๆ มากกว่า แต่ผมไม่ได้เข้าป่า ผมไม่ได้มีความลึกซึ้งในเชิงการเมืองสูงขนาดนั้น ผมเลือกแนวคิดของตัวเอง แล้วคิดว่าผมจะทำให้สังคมเท่าที่จะทำได้ แต่ขณะเดียวกันก็คำนึงถึงครอบครัว พ่อแม่ พี่น้อง เพื่อนฝูงอยู่บ้าง แล้วก็เลือกเดินสายกลาง ทำดีเท่าที่จะทำได้ เท่าที่มีโอกาสทำ ชีวิตคนเราถ้าไม่ค่อยทำอะไรก็ไม่มีอะไรเล่าเท่าไหร่ สิบปีที่ผ่านมาเหรอ ไม่มีอะไร อีก ๑๐ ปีก็ไม่มีอะไร