งานจากค่ายสารคดี ครั้งที่ 9 (ชมเชยถ่ายภาพ)
นักเขียน : นันท์นภัส กันยนา (วาวา)
ช่างภาพ : สราวุธ ม่อมละมูล (พีช)

อนาคตของ ต้นลำพู กับ "ชุมชนบางลำพูล่าง" ในความทรงจำ

lampoo2
lampoo3
lampoo4
lampoo5
lampoo6
lampoo7
lampoo8
lampoo9
lampoo10
lampoo11
lampoo12
lampoo13
   

ที่มา ที่ไป ของคำว่า “บางลำพูล่าง”

ไอ้หนู!!!…อย่าดึงกิ่งไม้อย่างนั้นสิ เดี๋ยวต้นไม้ตาย

เด็กชายตัวน้อยวัยกำลังซน หันหน้ามองตามเสียงร้องสั่งให้หยุดการดึงกิ่งต้นไม้

ภาพเบื้องหน้า คือ ชายชราสูงวัย ผมสีดำสลับขาว นั่งอยู่บนขอบปูนติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา พูดกับเด็กน้อยด้วยน้ำเสียงเข้ม ดังกังวาน เหมือนพยายามจะให้พวกเราที่กำลังรอเก็บภาพต้นลำพู ยามแสงตะวันกำลังจะลาลับขอบฟ้า ได้ยินในสิ่งที่ชายชรากำลังสอนเด็กน้อยว่า “นี่คือลำพูต้นสุดท้ายในชุมชนของเรา ถ้าเราไม่ช่วยกันรักษาลำพูต้นนี้ไว้ บางลำพูล่างของเราก็จะไม่เหลือต้นลำพูไว้ให้ลูกหลานรุ่นต่อไปได้รู้จัก”

“ลำพูต้นสุดท้าย” และ “บางลำพูล่าง” มันคืออะไร สองประโยคนี้ ทำให้ฉันได้ฉุกคิด ถึงหลายๆสิ่งที่อยู่เบื้องหน้าและหวนมองกลับหาสู่อดีตที่อยู่เบื้องหลังของชุมชนแห่งนี้ พร้อมกับแอบคิดในใจอยู่เบาๆว่าชายชราผู้นี้ ช่างเหมือนกับเทพารักษ์ผู้ใจดี ที่คอยพิทักษ์รักษาลำพูน้อยต้นนี้ให้คงอยู่ ทำให้เราอดที่จะขบคิดและสงสัยไม่ได้ว่าต้นลำพูมีความสำคัญอย่างไร อีกทั้งต้นลำพูอายุนับร้อยปี ที่กล่าวกันว่าเป็นลำพูต้นสุดท้ายก็ได้ตายจากพวกเราไปแล้ว เหตุไฉนเลยจึงยังมีลำพูน้อยต้นนี้ ยืนต้นตรงตระหง่าน อยู่ ณ ชุมชนสวนสมเด็จย่าฯ ริมทางเดินเรียบแม่น้ำเจ้าพระยาและมีความหมายเกี่ยวพันอย่างไรกับคำว่า “บางลำพูล่าง” ที่ชายชราผู้นี้เอ่ยถึง

ระหว่างการเดินทางกลับจากการสำรวจชุมชน ฉันได้นำความสงสัยนี้ติดตัวกลับมาด้วยและนั่งคิดตลอดการเดินทางว่าฉันจะสามารถรับรู้และคลี่คลายความสงสัยนี้ให้กับตัวเองได้อย่างไรบ้าง

แล้วสิ่งแรกที่ฉันคิดได้ก็คือ หอสมุดของมหาวิทยาลัย ที่น่าจะมีเรื่องราวเก่าๆในอดีตเก็บเอาไว้ให้ฉันได้เข้าไปรื้อค้นมาอ่านให้คลายความสงสัยลงไปได้บ้าง แล้วก็เป็นไปอย่างที่คิด ฉันได้หนังสือจากห้องสมุดกลับมาถึง 5 เล่ม ด้วยกัน

หลังจากที่ได้อ่านหนังสือจนครบทุกเล่ม พร้อมกับหาข้อมูลเพิ่มเติมจากอินเตอร์เน็ตแล้ว ทำให้ฉันรับรู้และเข้าใจว่า แรกเริ่มเดิมทีพื้นที่ของชุมชนแห่งนี้ มีนามเดิมว่า “อำเภอบางลำพูล่าง” อยู่ในการปกครองของจังหวัดธนบุรี และได้เปลี่ยนชื่อเป็น “อำเภอบุปผาราม” ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 6 ได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามใหม่เป็น “อำเภอคลองสาน”

จากนั้นในปี พ.ศ. 2481 ได้มีประกาศ ให้ยุบรวมอำเภอและยุบอำเภอลงเป็นกิ่งอำเภอ โดยอำเภอคลองสานได้ถูกลดฐานะลงเป็น “กิ่งอำเภอคลองสาน” และต่อมาในพื้นที่กิ่งอำเภอคลองสานมีประชากรเพิ่มมากขึ้น จึงได้มีพระราชกฤษฎีกาตั้ง “อำเภอคลองสาน” ขึ้นใหม่อีกครั้ง ในปี พ.ศ. 2500

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2514 คณะปฏิวัติได้ประกาศให้รวมจังหวัดพระนครกับจังหวัดธนบุรีเข้าเป็นจังหวัดเดียวกัน คือ “นครหลวงกรุงเทพธนบุรี” และได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “กรุงเทพมหานคร” ในปี พ.ศ. 2515 และได้แบ่งพื้นที่ออกเป็นเขตและแขวง แทนอำเภอและตำบล อำเภอคลองสานจึงเปลี่ยนชื่อเป็น เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร จวบจนปัจจุบัน

จากการอ่านหนังสือหลายเล่ม ทำให้ฉันได้พบกับหนังสือเล่นหนึ่งที่ทำให้ฉันต้องร้อง อ๋อ!!! ขึ้นมาทันทีเมื่ออ่านจบ หนังสือเล่มนี้ คือ หนังสือบางบ้านบางเมือง ซึ่งได้เขียนถึงที่มาที่ไปของ “อำเภอบางลำพูล่าง” โดยได้กล่าวไว้ว่า คำว่า “บาง” ที่มักนำมาใช้เป็นชื่อขึ้นต้นของชุมชน ในย่านนั้นๆมักจะมีแม่น้ำ ทางน้ำ หรือลำคลองไหลผ่าน และดูเหมือนว่าสายน้ำเหล่านี้จะสำคัญ และดูจะมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของชุมชนในแถบนั้นๆเป็นอย่างมาก ซึ่งอย่างน้อยก็น่าจะในยุคสมัยหนึ่ง

ส่วนคำว่า “ลำพู” น่าจะได้มาจากต้นลำพู ที่ในอดีตทั่วบริเวณแห่งนี้เป็นที่ราบลุ่มต่ำ น้ำท่วมขังตลอดทั้งปีและมีคลองขุดพาดผ่าน ทำให้มีต้นลำพูขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น จึงทำให้เป็นไปได้สูงว่า ชาวบ้านจึงเรียกทางน้ำ นั้นว่า “คลองบางลำพู” และชื่อของชุมชน ก็น่าจะมาจากพื้นที่ ที่อยู่ทางฝั่งทิศตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี โดยนำเอาองค์ประกอบทางภูมิศาสตร์กับชื่อของต้นไม้มารวมกัน จึงเป็นที่มาของชื่อชุมชน “บางลำพูล่าง” นั่นเอง

และเหตุที่ทำให้ต้นลำพูต้องอยู่คู่กับหิ่งห้อยจนเกิดเป็นตำนานและนิทานความรักต่างๆ ก็เพราะว่า ใบของต้นลำพูมีเพลี้ยเกาะอยู่มาก หิ่งห้อยจึงพากันมาชุมนุมเพื่อกินไข่ของเพลี้ย ทำให้ในยามค่ำคืนอันมืดมิดมีแสงกระพริบ ระยิบระยับ สว่างไสว สวยงาม เต็มต้นลำพู จนทำให้อดคิดไม่ได้ว่าตัวเองกำลังเป็น “อังศุมาลิน” หญิงสาวที่รอการกลับมาของ “โกโบริ” ชายคนรัก ที่จากไปอย่างไม่มีวันหวนกลับคืน ดั่งเพลงประกอบละครในท่อนที่ร้องว่า “ดั่งหิ่งห้อย เฝ้าคอยจนชีพวาย ใต้ลำพูรอคู่กรรม….”

นอกจากต้นลำพูที่ขึ้นเรียงรายอยู่มากมาย จะเป็นที่อยู่อาศัยของหิ่งห้อยแล้ว รากอากาศของต้นลำพูยังมีประโยชน์ที่ก่อให้เกิดอาชีพให้กับชาวบ้านในการทำจุกไม้ก๊อกปิดขวดยา ขวดน้ำส้ม ขวดน้ำปลา ในสมัยก่อน และยังช่วยชะลอการพังทลายของหน้าดินบริเวณริมแม่น้ำ ลำคลอง ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำนานาชนิด ช่วยชะลอความแรงของกระแสลม ใช้ทำฟืน และดอกอ่อนสามารถนำมารับประทานเป็นผักสด หรือนำไปปรุงอาหาร เช่น ยำดอกลำพู รสชาติอร่อยได้อีกด้วย

 

“ชุมชนบางลำพูล่าง” ในความทรงจำ

ว่ากันว่า ณ ชุมชนบางลำพูล่างแห่งนี้ ในอดีตเคยมีโกดังสินค้าริมแม่น้ำเจ้าพระยามากมาย ซึ่งเป็นแหล่งอุตสาหกรรมในยุคแรกๆ เช่น โกดังโรงเกลือแหลมทอง โรงน้ำปลาทั่งง่วนฮะ โรงแป้งข้าวหมาก “กัลยาณวนิช” โกดังเซ่งกี่หรือโรงหนังวัวหนังควาย โรงโม่ขี้เลื่อย นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ชุมชนในย่านนี้กลายเป็นเส้นทางการคมนาคมและการขนส่งสินค้าทางน้ำที่สำคัญและรุ่งเรืองมากแห่งหนึ่งในเวลานั้น ทำให้มีการเข้ามาตั้งรกรากปลูกบ้านสร้างเรือน จนกลายเป็นย่านประกอบกิจการค้าขายกันอย่างคึกคัก

หนึ่งในนั้นยังหมายรวมถึงบรรดาเจ้านาย ขุนนาง ข้าราชบริพาร และเจ้าสัว เชื้อสายจีน ตระกูลสำคัญหลายท่าน ที่ประกอบธุรกิจการค้าจนประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียงเป็นที่โด่งดัง เช่น ตระกูลพิศาลบุตร ตระกูลหวั่งหลี ตระกูลเคียงศิริ ซึ่งปัจจุบันร่องรอยความงดงามของวิถีชีวิตในอดีต ยังคงปรากฏผ่านอาคารบ้านเรือนเก่าและคำบอกเล่าของชาวชุมชน

อีกทั้งนิวาสสถานของขุนนาง ตระกูลบุนนาค อันเป็นตระกูลขุนนางใหญ่ที่อยู่ในราชนิกูล คอยควบคุมดูแลกรมท่าและการคลัง ที่เกี่ยวพันกับกิจการ การค้า ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งร่ำรวยและมีอิทธิพลสูง ส่งผลให้พื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก คึกคักและเจริญ ด้วยเหล่าพ่อค้าคนไทย จีน แขก หรือแม้กระทั่งฝรั่งมังค่า ก็เข้ามาทำการค้าขายในย่านนี้ด้วยเช่นกัน

ในสมัยรัชการที่ 5 บ้านของเจ้าพระยาศรีพิพัฒน์ (แพ บุญนาค) ได้ถูกสร้างขึ้นและล้อมรอบด้วยเรือนทาสหรือในสมัยอดีตที่เรียกกันว่า “ทิมบริวาร” อีกทั้งบ้านเช่าที่เป็นตึกแถวชั้นเดียวหลายหลัง หนึ่งในจำนวนนั้น เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีนครินทร์บรมราชชนนี สมเด็จย่าของปวงชนชาวไทย ซึ่งทรงเจริญเติบโตและดำเนินชีวิตช่วงวัยเยาว์มาในย่านนี้ ก่อนที่จะเดินทางไปศึกษาที่ต่างประเทศ แต่ปัจจุบันได้ถูกรื้อถอนไปแล้ว คงเหลือไว้แต่เพียงความทรงจำ

ต่อมา นายอิบราฮิม อาลี นานา หรือที่รู้จักกันในนามของพ่อค้าแห่ง “ตระกูลนานา” ที่ประสบความสำเร็จจากการขายสินค้าจำพวกผ้าดิ้นเงิน ดิ้นทอง ให้แก่ราชสำนักจนมีกิจการใหญ่โต ได้เช่าและเริ่มทำการขอซื้อบ้านและที่ดินในย่านนี้ รวมถึงบ้านของตระกลูบุญนาค โดยส่วนหนึ่งได้ใช้เป็นที่พำนักของบุคคลในตระกูลและอีกส่วนหนึ่งได้ทำการแบ่งขายให้กับพ่อค้าแขกชาวอินเดียด้วยกัน จนสถานที่แห่งนี้กลายเป็นหมู่บ้านแขก

ตึกแถวภายในหมู่บ้านแขกส่วนใหญ่จะใช้ชั้นล่างของตัวบ้านเป็นร้านค้า แพรพรรณ เครื่องนุ่งห่มและเครื่องใช้ที่นำเข้ามาจากประเทศอินเดีย และได้มีการก่อสร้างซุ้มประตูสีขาวขนาดใหญ่ ประทับตราพระอาทิตย์ เหนืออักษร 1913 R B M C O เพื่อใช้เป็นเส้นทางเข้าออกหมู่บ้านแขกไปสู่ชุมชนชาวไทยและจีน โดยมีความหมายถึง บริษัทที่ดำเนินกิจการอันยิ่งใหญ่ของกลุ่มพ่อค้าชาวอินเดียที่เดินทางมาจากเมืองเรนเดอร์ แคว้นสุรัต ประเทศอินเดีย ซึ่งปัจจุบันประตูนี้ยังคงอยู่เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความยิ่งใหญ่ของตระกูลนี้ ตั้งอยู่ที่หน้าอุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

“อุทยานสมเด็จย่าฯ” ได้จัดสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2536 บนที่ดินของตระกูลนานา ในอาณาบริเวณบ้านเดิมของตระกูลบุญนาค โดยคุณแดงและคุณเล็ก นานา น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินจำนวน 4 ไร่ เพื่อสนองตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ภูมิพลอดุลยเดช รัชการที่ 9 (รัชการปัจจุบัน) ที่จะจัดสร้างเป็นสวนสาธารณะบนที่ดินในย่านบ้านเดิมของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ตามพระนิพนธ์ “แม่เล่าให้ฟัง” ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา

 

อนาคตของ “ต้นลำพู”

หากมองกลับมา ณ ปัจจุบัน ถึงแม้ว่า “บางลำพูล่าง” ในอดีตเคยนำพาความเจริญรุ่งเรืองเฟื่องฟูมาสู่ถิ่นฐานของชุมชนมากเท่าไร ความอ่อนแอ อ่อนไหว ความทรุดโทรมและการเปลี่ยนแปลงไปของผืนดินและชุมชนก็มีตามมามากขึ้นเท่านั้น ถึงแม้ว่าผู้คนในชุมชน ยังคงพยายามที่จะดูแลรักษาให้บ้านเรือนของตนคงสภาพไว้ ด้วยการแต่งแต้มสีสัน ลวดลายที่สดใส ให้กับประตูบ้าน กำแพงสาธารณะของชุมชน เพื่อเป็นการสร้างเสน่ห์ให้กับชุมชนเก่าในมุมมองใหม่ได้ดีไม่น้อย

แต่ทั้งนี้ ทั้งนั้น สิ่งที่กำลังจะเลือนหายไปจากชุมชนและดูเหมือนว่าแทบจะไม่เป็นที่รู้จักเลยไม่ว่าจะภายในชุมชน นอกชุมชน หรือสังคมและลูกหลานคนรุ่นต่อๆไป ทำให้รู้สึกว่าการที่มีต้นลำพูขึ้นอยู่มากในย่านชุมชนนี้แล้ว ไม่เพียงเป็นสิ่งยืนยันถึงที่มาของชื่อชุมชน แต่ยังสะท้อนถึงระบบนิเวศที่ดีในอดีตของชุมชนบางลำพูล่าง ด้วยการดำรงอยู่ของต้นลำพู หิ่งห้อย และสัตว์น้ำอีกนานาชนิด

แต่ก็เหมือนว่าความทรงจำเหล่านั้นค่อยๆ เลือนหายไปพร้อมๆ กับลำพูต้นสุดท้าย ณ สวนสันติชัยปราการ ที่มีอายุนับร้อยปี ที่ได้ยืนต้นตายจากพวกเราไปจากเหตุการณ์มหาอุทกภัย ในปี พ.ศ. 2554 และทางกรุงเทพมหานคร ก็ได้ตัดลงจนเหลือแต่ตอของต้นลำพู

หากในความจริง ณ บางลำพูล่างแห่งนี้ ยังคงมีต้นลำพูที่ยืนต้นจนสูงตระหง่าน รอให้คนภายในชุมชนและนอกชุมชน หันกลับมาดูแลเอาใจใส่มันเหมือนกับลำพูต้นสุดท้าย ณ สวนสันติชัยปราการ และถึงแม้ว่า “ลำพู” ต้นนี้ จะยังมีอายุได้ไม่กี่สิบปี แต่มันก็พยายามที่จะหยั่งรากอยู่บนดินที่มีตลิ่งคอนกรีตเป็นแนวยาวคอยขวางกั้นแม่น้ำกับต้นลำพู ซึ่งเป็นต้นไม้ที่อยู่กับกระแสน้ำขึ้นน้ำลง มีรากอากาศเอาไว้หายใจยามน้ำสูง โดยมันอาจจะต้องตายเป็นแน่ หากมันยังคงอยู่ห่างไกลจากแม่น้ำ แต่มันก็ยังยืนหยัดที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปกับปัจจุบันและพร้อมที่จะสู้กับสภาพแวดล้อมของยุคสมัยใหม่

ในเมื่อรู้เช่นนี้แล้ว ทำไมเราไม่ช่วยกันปลูกต้นลำพูตามริมตลิ่งกันคนละ 1 ต้น ช่วยกันดูแลรักษาเอาไว้ ก่อนที่จะไม่มีต้นลำพูเหลือให้บุพชนคนรุ่นต่อไปได้เห็น ได้รู้จักและได้สัมผัสพร้อมกับระบบนิเวศที่ดี ที่เราจะได้กลับคืนมา หรือเราจะปล่อยให้ต้นลำพูที่เคยยิ่งใหญ่ร่มใบเรืองรอง ครองคู่นวลตาไปกับบรรดาฝูงหิ่งห้อย เป็นเพียงแค่ภาพความทรงจำในอดีต และอาจถูกลืมเลือนจากหายไปพร้อมกับบรรพชนคนเก่าแก่ ที่อาจจะไม่มีเหลือไว้แม้กระทั่งภาพแห่งความทรงจำ