งานจากค่ายสารคดีครั้งที่ 9
รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ : เขียน
มาลินี ศิริเลิศวศิน : ภาพ

นางสิงห์เฝ้าป่า ภารกิจอนุรักษ์ที่ไม่อาจสิ้นสุด

ห้องเรียนผืนป่า…

saveforest02

นางสิงห์เฝ้าป่า…

รถกระบะขับเคลื่อนสี่ล้อมุ่งฝ่าผืนป่าหยาดฝนบนหนทางที่ยากจะเรียกได้ว่าถนน หญิงชราที่นั่งอยู่เบื้องหน้าใช้ฝ่ามือเหี่ยวย่นคว้ากุมราวจับอย่างแม่นมั่นในขณะที่สองตายังคงมุ่งตรงไปยัง

จุดหมายปลายทาง ราวแปดชั่วโมงของการเดินทางท่ามกลางความยากลำบาก บ้างต้องใช้กำลังคนผสมกำลังเครื่องยนต์ บ้างต้องโยนตัวลงมาขุดหน้าดินออกเป็นร่องทดแทนถนนลื่น บ้างต้องขอแรงต้นไม้ใหญ่ให้เป็นเสาค้ำยันส่งกำลังให้รถพ้นเลนดิน ในที่สุดม้าเหล็กก็พาพวกเรามาถึงหน่วยพิทักษ์ป่าทุ่งมหาราช เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฝั่งตะวันตกในสภาพไม่ต่างจากเด็กซนที่วิ่งเล่นจนหมดแรง

ยามบ่ายคล้อย ขณะที่เหล่าวัยรุ่นร่วมคณะต่างเตรียมแยกย้ายไปพักเอาแรงหลังการเดินทางอันยาวไกล หญิงชราในชุดเสื้อเชิ้ตกางเกงขายาวกลับไม่มีทีท่าว่าจะเหน็ดเหนื่อย ทั้งยังสาวเท้าเข้ามาหาพวกเราด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม ก่อนออกปากชักชวนให้เราเดินไปดูโป่งสัตว์ป่าที่อยู่ห่างจากหน่วยพิทักษ์ป่าราวหนึ่งกิโลเมตร ความมุ่งมั่นที่ฉายฉานในแววตาแรงกล้าเกินกว่าที่พวกเราจะปฏิเสธ

ไม่น่าเชื่อว่าหญิงวัยแปดสิบสองจะสามารถก้าวฝ่าสายน้ำและทางชันอย่างมั่นคง แม้ขณะเดินทาง เธอจะขอเวลานั่งพักบ้างตามกาลสังขาร แต่ดวงหน้าของเธอกลับไม่เคยปราศจากรอยยิ้มละไม ราวกับไม่มีความสุขใดที่จะเทียบเท่าการได้อยู่ท่ามกลางผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ รอยยิ้มที่ทำให้ผมรู้ว่า เราทำงานอนุรักษ์เพื่ออะไร

นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมได้สัมผัสกับตัวตนของอาจารย์รตยา จันทรเทียร ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร หญิงแกร่งผู้ใช้ห้วงยามในวัยเกษียณอุทิศตนเพื่อเฝ้ารักษาผืนป่าทั่วประเทศไทย

เช้าวันนี้ แม้จะไม่มีภารกิจลงพื้นที่ป่าตะวันตก แต่อาจารย์รตยายังคงขับรถจากบ้านย่านเอกมัยแต่เช้าตรู่เพื่อมายังมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ห้องทำงานขนาดกะทัดรัด ที่นอกจากจะบรรจุไปด้วยหนังสือและเอกสารงานอนุรักษ์ แผนที่ผืนป่าขนาดใหญ่รูปลักษณ์ทันสมัย และภาพคุณสืบ นาคะเสถียรในหลากอิริยาบถ สิ่งหนึ่งที่สะดุดตาริมประตูทางเข้าคือแผนที่สีเหลืองซีดจางขนาดพอดีมือ แผนที่เก่าแก่ที่เปรียบดั่งเจตนารมย์ของนักอนุรักษ์ผู้สละชีพเพื่อปกป้องผืนป่าห้วยขาแข้ง

“แผนที่นี้เป็นของคุณสืบสมัยยังมีชีวิตอยู่ ถ้าลองดูดีๆจะเห็นรอยดินสอวงล้อมรอบผืนป่าตะวันตก เพราะนี่เป็นผืนป่าใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ผืนป่าที่คุณสืบตั้งใจจะรักษาไว้ ในเส้นดินสอบางๆนี่แหละคือสิ่งที่มูลนิธิสืบฯทำงานเพื่อปกป้องมา กว่ายี่สิบปี”

เสียงทุ้มเนิบทว่าหนักแน่น แข็งแกร่งทว่าไม่แข็งกร้าว เธอกล่าวถึงการปกป้องผืนป่าด้วยแววตามุ่งมั่นแม้ในยามสังขารร่วงโรย บุคลิกสุขุมเยือกเย็นภายนอกไม่อาจบดบังความงามสง่าของหญิงผู้ได้ฉายาว่านางสิงห์เฝ้าป่า ที่พร้อมเข้าขย้ำศัตรูผู้คิดร้ายกับผืนป่าตะวันตก ผืนป่าที่เปรียบดั่งลูกในอุทร

saveforest03

ผืนป่าตะวันตก…

saveforest04

เหลือเพียง…

นางสิงห์ในวัยเยาว์ ก้าวแรกสู่เส้นทางนักอนุรักษ์

อาจารย์รตยาเติบโตมาท่ามกลางสวนผลไม้ในจังหวัดจันทบุรี ต่อมาแม้เธอจะจบปริญญาตรีด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งยังได้ทุนฟุลไบรท์ไปศึกษาต่อด้านสถาปัตยกรรมเขตร้อนที่สหรัฐอเมริกา แต่หญิงแกร่งกลับเล่าว่า ครั้งหนึ่งเธอเคยเป็นเด็กที่แสนจะขี้เกียจ ก่อนจะมากลับตัวกลับใจหลังย้ายไปอยู่ที่บ้านหลังใหม่

“เริ่มเรียนหนังสือแล้วแต่ไม่ยอมไปโรงเรียน จนพ่อต้องขู่ว่าจะอุ้มไปทิ้งหนองตาพอง หนองน้ำใหญ่ที่เขาว่ามีปลาตัวเท่าโอ่ง เรียกได้ว่าเป็นเด็กขี้เกียจมาตลอดจนกระทั่งย้ายมาเรียนอำเภอพระตะบองตอน ม.2 เพื่อนร่วมชั้นมีสิบสองคน เป็นคนไทยแค่คนสองคน ส่วนใหญ่เป็นเด็กเขมร มันก็เกิดความคิดว่าพวกเขาไม่ได้เรียนทั้งภาษาไทยภาษาอังกฤษมาก่อน แต่กลับเรียนเก่งมากทั้งๆที่ต้องมาเรียนหลักสูตรของไทย หลังจากนั้นก็กลับมาตั้งใจเรียน แต่ก็ยังไม่ได้ที่หนึ่งนะ อย่างมากก็แค่ที่สาม”

นอกจากเริ่มขยันเรียนแล้ว เธอยังพัฒนาทักษะทางสถาปัตยกรรมไปพร้อมๆกัน ผ่านกระดาษวาดเขียนที่ใช้ร่วมกับทุกวิชา คือทุกที่ว่างบนหน้าของหนังสือเรียน

“เราเป็นคนมืออยู่ไม่สุข หนังสือเรียนจะมีตัวอะไรต่ออะไรเลอะเทอะไปหมด แต่ที่น่าสนุกคือเวลาเรากลับมาเปิดดูรูปที่เขียนก็จะจำได้ว่าครูพูดอะไร มันก็เลยช่วยเสริมกัน ตอนสอบเข้าจุฬาฯได้ก็ไม่ใช่ว่าเก่ง ถ้าเด็กสมัยนี้รู้คงต้องอิจฉาแน่ เพราะสมัยนั้นมีคนสมัครแค่หกสิบคน ซึ่งเค้ารับตั้งสามสิบ ถ้าเกิดในยุคนี้ก็คงจะสอบไม่ติด”

หลังจากเรียนจบปริญญาตรีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ อาจารย์รตยาก็เริ่มต้นทำงานโดยยึดอาชีพสถาปนิกที่กรมประชาสงเคราะห์อยู่สองปี ก่อนจะลาออกผันตัวเองเป็นอาจารย์แผนกช่างก่อสร้าง มหาวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ ร่วมสิบปีที่เธอเดินอยู่บนเส้นทางแม่พิมพ์ของชาติ กระทั่งปี พ.ศ. 2512 ก็ได้ไปทำงานที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการก่อสร้างแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์แห่งประเทศไทย ตามคำเชิญชวนของ ดร.วทัญญู ณ ถลาง และนี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางสายอนุรักษ์พร้อมกับการเป็นนักพัฒนา

“ที่ศูนย์วิจัยฯจะทำงานสามด้านหลักคือที่อยู่อาศัย โรงเรียน และโรงพยาบาล นั่นเป็นงานอาชีพ เราก็ทำหน้าที่เป็นเลขานุการให้กับอาจารย์วทัญญู นอกจากงานหลักก็มาเริ่มทำที่สมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม เวลาเขาพูดคุยกัน ประชุมกัน พวกมหาบุรุษ คือเค้าล้อกันถึงบุรุษตัวโตๆ ก็จะคุยกันจนไม่มีใครสนใจจด เราก็เลยรับหน้าที่เป็นเสมียนเขียนสาร คอยจดสรุปประชุม”

แต่ใครจะไปคาดถึงว่า ผู้หญิงตัวเล็กๆที่คอยทำงานด้านเอกสาร จะสามารถก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ รวมทั้งตำแหน่งระดับบริหารอีกหลายตำแหน่ง และด้วยความที่เติบโตมาจากตำแหน่งเสมียน ทำให้เธอสามารถทำงานกับผู้ใต้บังคับบัญชาได้ทุกระดับ อาจารย์รตยาจึงเป็นที่รักและเคารพในทุกองค์กรที่เธอเคยเข้าไปดูแล

saveforest05

แผนที่คุณสืบ…

saveforest06

ห้องเล็กในป่าใหญ่…

นางสิงห์ คุณสืบ กับการต่อสู้ร่วมกันครั้งแรกและครั้งสุดท้าย

แม้อาจารย์รตยาจะไม่ได้รู้จักกับสืบ นาคะเสถียรเป็นการส่วนตัว แต่ด้วยความที่ร่วมกันต้านเขื่อนน้ำโจน โครงการเขื่อนขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อผืนป่าตะวันตกในบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก จึงทำเธอได้มีโอกาสรู้จักกับคุณสืบในฐานะเพื่อนร่วมอุดมการณ์

“การต่อสู้เรื่องน้ำโจนมาหนักประมาณปี 2529 เพราะรัฐบาลเริ่มเอาจริง สมัยนั้นอาจารย์เป็นนายกสมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อมก็เลยเข้าไปร่วมด้วย การคัดค้านเรียกได้ว่ารวมทุกสรรพวิชา ข้อมูลสัตว์ป่าและผืนป่าก็ได้จากคุณสืบ นาคะเสถียร คุณวีรวัฒน์ ธีรประสาธน์ อาจารย์นริศ ภูมิภาคพันธ์ คุณนพรัตน์ นาคสถิตย์ เรียกได้ว่าเป็นทีมนักวิชาการและข้าราชการป่าไม้ที่เข้มแข็งมาก ตอนนั้นใครเชี่ยวชาญด้านไหนก็ช่วยกันเสนอข้อมูล ทางเราก็ช่วยย่อยข้อมูล แปลงจากเนื้อหายากๆให้เข้าใจง่าย สรุปเป็นสองเอสี่ เผยแพร่สองทุกอาทิตย์”

การคัดค้านเขื่อนน้ำโจนนอกจากจะเป็นการรักษาไว้ซึ่งผืนป่าใหญ่ ยังนับเป็นเหตุการณ์หนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ที่สร้างนักอนุรักษ์รุ่นใหม่ รวมทั้งเป็นกำลังใจให้กับผู้พิทักษ์ป่าที่ปัจจุบันหลายคนยังคงยึดมั่นในอาชีพและอุดมการณ์ แม้เวลาจะล่วงเลยผ่านมาเกือบสามสิบปีแล้วก็ตาม

“เขื่อนน้ำโจนนี่ชนะได้ก็เพราะทุกคนร่วมกันแสดงพลัง เป็นการคัดค้านที่มีผู้ร่วมต่อต้านตั้งแต่ระดับนักเรียน นักศึกษา ไปจนถึงนักดนตรี นักเขียน ขนาดคนในตลาดกาญจนบุรีก็ยังขึ้นป้ายเลยว่าไม่เอาเขื่อนน้ำโจน พวกพิทักษ์ป่าก็ออกมาบอกว่าไม่เอา ข้าราชประจำหลายคนก็ลุกขึ้นมาต่อต้านโครงการของรัฐ อย่างตัวอาจารย์เองตอนนั้นก็เป็นรองผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เป็นตัวเต็งที่จะขึ้นเป็นผู้ว่าการฯ ในขณะเดียวกันก็ค้านรัฐบาล เพราะเลือกแล้วว่ายังไงก็เอาป่า สุดท้ายรัฐบาลก็ยอมชะลอโครงการในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2531”

หลังจากภารกิจต่อต้านเขื่อนน้ำโจนประสบผล ผู้คัดค้านต่างก็กระจัดกระจายกันไปโดยแทบไม่ได้ติดต่อกัน กระทั่งสองปีต่อมา เสียงปืนหนึ่งนัดที่ดังกึกก้องไปทั่วทั้งผืนป่าห้วยขาแข้ง เสียงปืนที่เป็นดั่งสัญญาณให้เหล่านักอนุรักษ์กลับมารวมตัวเพื่อปกป้องผืนป่าอีกครั้ง การจากไปของข้าราชการผู้ทุ่มเทเปรียบได้ดั่งเชื้อไฟที่ลุกโชติช่วงส่องสว่างท่ามกลางอนาคตอันมืดมัวของสัตว์ป่าและผืนป่า

“ตอนที่รู้ว่าคุณสืบตายใจหายมาก รู้สึกว่ามันต้องเป็นเรื่องที่เต็มที่มากคุณสืบถึงได้ยอมสละชีวิต ตอนหลังได้มาอ่านงานเขียนเรื่องนักล่าห้วยขาแข้งของคุณบุหลันรันตี ถึงได้รู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้นในห้วยขาแข้งก่อนคุณสืบตาย สมัยนั้นเขายกพวกมาล่ากันเป็นทีม ทีมหนึ่งมีหน้าที่ล่า อีกทีมหนึ่งมีหน้าที่แล่เนื้อออกไป ทำกันจนเรียกได้ว่าไม่เกรงใจคนเฝ้าป่าเลย ไม่ได้กลัวเกรงเลย แล้วเวลาล่าก็จะต้องจุดไฟเผาให้สัตว์หนีออกมา ไม่ใช่แค่ในป่านะ ขนาดพงหญ้าริมน้ำก็ยังเผา คุณสืบคงใจสลาย คงไม่รู้จะเอาอะไรไปหยุด ก็เลยต้องใช้ชีวิตตัวเองหยุด”

หลังการจากไปของคุณสืบร่วมหนึ่งเดือน ดร.ปริญญา นุตาลัย ก็ได้ติดต่อมายังอาจารย์รตยา ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เพื่อแจ้งข่าวการก่อตั้งมูลนิธิสืบนาคะเสถียร โดยคณะกรรมการได้มีมติแต่งตั้งอาจารย์รตยาเพื่อดำรงตำแหน่งประธาน

“ดร.ปริญญาบอกเราว่าห้ามปฏิเสธ พอได้ยินอย่างนั้นก็รู้สึกว่า คุณสืบยอมเสียสละได้แม้กระทั่งชีวิต แล้วเราเป็นใคร แค่ต้องรับหน้าที่เป็นประธาน ทำไมจะเสียสละไม่ได้”

นับแต่การรับตำแหน่งครั้งนั้นจนกระทั่งปัจจุบัน เป็นเวลาร่วม 23 ปีที่หญิงแกร่งผู้นี้มาทำงานทุกวันโดยไม่มีใครจ้าง ทำงานเพื่อรักษาผืนป่าผืนป่าใหญ่ ที่ไม่ใช่ผลประโยชน์ของใคร แต่มันคือผลประโยชน์ของมนุษย์ทุกคน

saveforest07

รอยยิ้ม 82 ปี…

saveforest08

คุณสืบ…

ความฝันของนางสิงห์ และการทำงานในวัยเกษียณ

นับตั้งแต่ก้าวแรกบนเส้นทางนักอนุรักษ์ อาจารย์รตยาได้เห็นการเปลี่ยนผ่านของผืนป่าที่ลดลงไปทุกขณะ ยิ่งในปัจจุบันที่ความเป็นเมืองเริ่มแพร่กระจายไปทั่วทั้งประเทศไทย ความเจริญที่นำพามาซึ่งอุตสาหกรรมพืชเชิงเดี่ยว ตัวการกัดกลืนผืนป่าสงวนที่เปรียบเสมือนแนวกันชนให้กับผืนป่าอนุรักษ์ จนสุ่มเสี่ยงที่จะแผ้วถางรุกล้ำเข้าสู่เขตผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์

เม็ดเงินที่สะพัดจากการทำเกษตรเชิงอุตสาหกรรมทำให้ชุมชนส่วนใหญ่ ไม่เว้นแม้แต่ชุมชนในผืนป่า เริ่มหลงระเริงกับแสงสีจนหลงลืมไปว่า ทรัพยากรที่คอยหล่อเลี้ยงสรรพชีวิต มีแหล่งผลิตแห่งเดียวคือผืนป่าใหญ่ที่ถูกใช้ประโยชน์อย่างไม่ทะนุถนอม

“คนเราไม่ว่าจะอยู่ในไร่นา อยู่ในคอนโด หรืออยู่ในโรงงานอุตสาหกรรม ต่างก็จำเป็นต้องใช้น้ำจากป่า พอฝนตกลงมาป่าก็จะซับน้ำเอาไว้ไม่ให้ทะลักลงที่ราบ แล้วค่อยๆจ่ายน้ำออกมา ลองสังเกตดูสิ ในหน้าแล้วทำไมเราถึงยังมีน้ำใช้ทั้งๆที่ฝนก็ไม่ตก แต่พอป่าเริ่มหมด ปัญหามันก็เกิด เพราะน้ำฝนมันเทพรวดลงมา ไม่มีอะไรมาคอยชะลอ เราถึงต้องคอยจัดการชุมชนไม่ให้รุกล้ำเข้าไปในเขตป่าอนุรักษ์ ส่วนป่าที่เหลืออยู่ข้างนอกก็พยายามสนับสนุนให้ตั้งเป็นป่าชุมชน”

ศาสตร์ในการรักษาผืนป่าไม่มีสูตรสำเร็จ ทั้งแนวคิดและวิธีการต้องปรับปรุงให้เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย มูลนิธิสืบฯเองก็มีการปรับกระบวนทัศน์ครั้งใหญ่ในปี 2547 โดยเบนเข็มมาทำงานกับชุมชนทั้งในและรอบผืนป่า จนเกิดเป็นโครงการจอมป่าหรือโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมในการบริหารการใช้ประโยชน์พื้นที่ของชุมชนในป่าอนุรักษ์ ผ่านกระบวนการทำงานร่วมกันทั้งภาคประชาชนและภาครัฐ โดยมีมูลนิธิสืบฯทำหน้าที่เป็นฝ่ายเชื่อมประสาน ภายใต้อุดมการณ์ ‘คนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้ เสือก็อยู่ได้’

“แต่ก่อนนี่พอเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเข้าไปในชุมชนนะ พวกชาวบ้านเขาวิ่งหนีกันหมด คิดว่าจะมาจับ มายึดที่ เพราะเขาทำกินอยู่ในป่าอนุรักษ์ แต่เวลาพิสูจน์แล้วว่าแนวทางการใช้กฎหมายมันไปไม่รอด คือเราไล่เขาออกไปไม่ได้ แต่เราสามารถบริหารจัดการพื้นที่ได้ ป่าตรงไหนที่ถางไปแล้วก็ให้เค้าทำไร่ต่อไป แต่อย่าไปโค่นต้นไม้เพิ่ม ไปฟันป่าเพิ่ม ซึ่งก็ต้องมาคุยกัน ปรับความเข้าใจกัน เพื่อให้ได้ข้อตกลงเรื่องแนวเขตพื้นที่ทำกินที่ชัดเจน เป็นเส้นแนวเขตที่ทุกคนยอมรับ ก็ทำมาปีนี้ปีที่สิบ สิ่งหนึ่งที่เห็นชัดเลยคือมันเกิดสันติสุขขึ้นในป่า จากที่เคยเป็นอริ ตอนนี้เดินกอดคอกัน พูดคุยกันเหมือนเป็นญาติ”

การป้องกันการเปิดพื้นที่ป่าเป็นเพียงครึ่งหนึ่งของการทำงานทั้งหมด เพราะงานหลักอีกส่วนของนักอนุรักษ์คือการเฝ้าระวังและต่อต้านโครงการทำลายผืนป่าที่มาในนามของรัฐบาล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการเก่าเก็บที่ถูกหยิบขึ้นมาปัดฝุ่นตามรายสะดวก ในขณะที่หลายโครงการที่ก่อสร้างเสร็จ แทนที่จะช่วยแก้ไขปัญหาตามคำโฆษณา แต่กลับสร้างปัญหาเพิ่มเติมทิ้งไว้โดยไม่มีใครใส่ใจดูแล

“เวลาได้ยินว่ารัฐจะมีโครงการมันก็เหนื่อยนะ คิดว่ามันมาอีกแล้ว ขุดขึ้นมาอีกแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนวังสะพุง เขื่อนแม่วงก์ ที่ถูกขุดขึ้นมาในรัฐบาลนี้ ทั้งๆที่เขื่อนอย่างเขื่อนในลุ่มน้ำชี ที่สร้างแล้วทำให้น้ำท่วมหนักกว่าเดิม หรือเขื่อนทับเสลาที่ตอนนี้กลายเป็นลานเลี้ยงวัวจนน้ำสกปรก คือแทนที่โครงการจะช่วยแก้ปัญหากลับทำให้ปัญหามันซับซ้อนขึ้น มันสะท้อนว่ารัฐบริหารจัดการไม่เป็น เร็วๆนี้รัฐบาลก็เพิ่งประกาศว่าจะสร้างถนนคลองลาน-อุ้มผาง ถนนที่ครั้งหนึ่งจะก่อสร้างเพื่อความมั่นคงสมัยรบกับคอมมิวนิสต์ ตอนนี้รัฐบาลเขาได้ข้ออ้างใหม่ว่าจะสร้างเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ ก็ไม่รู้ว่าจะหยุดได้หรือเปล่า”

ถึงเธอจะบอกกับเราว่าเหนื่อย แต่ก็ไม่มีคำไหนที่บอกว่าท้อหรือยอมแพ้ แม้อายุจะล่วงเลยจนถึงเลขแปด แต่เธอก็ยังมาทำงานที่สำนักงานทุกวัน ทั้งยังขันอาสาเดินทางเข้าป่าเป็นประจำ โดยมีจุดประสงค์เพื่อไปให้กำลังใจผู้พิทักษ์ป่า และถือโอกาสเยี่ยมเยียนเพื่อนเก่าแก่ที่รู้จักกันมาตั้งแต่จำความได้

“อาจารย์ชอบทำงาน เรียกได้ว่าเกิดเป็นมดงานไม่ใช่มดนางพญา ถ้าไม่ได้ทำคงแย่ ป่านนี้อาจตายไปแล้ว อีกอย่างการทำงานสำหรับเราก็เหมือนการพัก อายุปูนนี้ยังมีโอกาสได้เข้าป่า และที่ต้องเข้าไปก็เพราะอยากเห็นสภาพตามจริง ถ้าเราไม่ไปเห็นเองเราก็พูดไม่ได้ เพราะถึงจะอ่านหนังสือ อ่านรายงาน มันเทียบกันไม่ได้ถ้าเราเข้าไปเห็นเอง อย่างเวลาเราเข้าไปที่โป่ง เจอรอยตีนสัตว์ เจอช้างเป็นโขลง เจอนกเป็นฝูง แสดงว่าเราทำงานได้ผล เพราะป่ายังอยู่ สัตว์ป่าก็ยังอยู่ ได้เข้าไปเห็นก็ดีใจ เพราะเราอยู่ด้วยกันมานาน รู้จักกันเหมือนเป็นเพื่อนคนนึง”

แม้จะอยู่ในวันวัยแห่งความร่วงโรย แต่อาจารย์รตยากลับแทบไม่ใส่ใจถึงความตาย เธอยังคงทำงานดูแลภาพรวมทั้งหมดของมูลนิธิ งานที่เปรียบเสมือนหัวใจที่คอยสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงยังมือและเท้าขององค์กร ทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจให้คนทำงานรักษาผืนป่า สามารถขับเคลื่อนเดินหน้าไปโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

“ทุกวันนี้ไม่ซีเรียสกับเรื่องอยู่หรือตาย พูดได้ว่าอายุเกินมามากแล้ว จะตายวันตายพรุ่งก็ไม่รู้ ที่ผ่านมาเราทำงานอย่างประมาณตัว ไม่ว่าคนคนนี้จะอยู่หรือไม่อยู่ แต่มูลนิธิสืบฯจะต้องอยู่ ผืนป่าจะต้องอยู่ สัตว์ป่าจะต้องอยู่ เพราะงานอนุรักษ์เป็นงานที่ไม่อาจสิ้นสุด เมื่อไหร่ที่เราหยุด นั่นหมายถึงหายนะของผืนป่า”