ค่ายสารคดี ครั้งที่ 19 - สารคดีคืออะไร บทเรียนข้ามสายและต้นไม้กระบวนการ

“น้องๆ คิดว่าสารคดีคืออะไร” ห้องเรียนรวมของค่ายสารคดีครั้งที่ 19 อยู่ดีตายดี เริ่มขึ้นด้วยคำถามนี้ น้องบางคนมองว่าคือเรื่องเล่าอิงข้อเท็จจริงของใครสักคนหนึ่ง บางคนมองว่าสารคดีคือการเล่าประเด็นสังคมที่เราสนใจ ในขณะที่บางคนเข้าใจว่าคือเรื่องเล่าดีๆ ที่เรารู้สึกร่วมไปกับมัน

สารคดีอาจมีหลายนิยามความหมาย คำตอบที่แต่ละคนได้รับจากการทำงานอาจแตกต่างกันไป สิ่งสำคัญที่เราจะเรียนรู้ร่วมกันในค่ายนี้คือ “กระบวนการทำงานสารคดี” ที่เปรียบเหมือนต้นไม้ เริ่มต้นจากเมล็ดพันธุ์แห่งความสงสัยใคร่รู้ หยั่งรากแห่งการสืบเสาะค้นหาความจริง แล้วจึงเติบโตผลิบานเป็นต้นไม้แห่งการถ่ายทอดที่ชื่อว่า “สารคดี”

เพื่อเตรียมตัวสำหรับการลงพื้นที่จริงทำสารคดีชิ้นแรกในฐานะชาวค่ายฯ ห้องเรียนวันที่ 30 มิถุนายนจึงชวนน้องๆ มาเรียนรู้ข้ามศาสตร์ข้ามสายในช่วงเช้า หยิบงานเขียนในหนังสือ ชุดภาพจากนิตยสาร และการเล่าเรื่องจากภาพยนตร์สารคดีชื่อดังมา “เลาะตะเข็บ” ร่วมกัน ดูว่าเจ้าของงานชิ้นนั้นๆ สร้างสารคดีชิ้นนี้ขึ้นมาด้วยกระบวนการแบบไหน การใช้เสียงที่แตกต่างเพื่อเล่าเรื่อง การเน้นอารมณ์ทิ้งท้าย มากไปกว่านั้นคือการได้เห็นตัวอย่างของเรื่องเล่าที่จะพาเราไปสัมผัสการ “อยู่ดี ตายดี” ของผู้คน

โจทย์ของงานชิ้นแรกคือพื้นที่อุทัยธานี ห้องเรียนรู้ร่วมช่วงบ่ายจึงเป็นเวลาของการระดมความคิด น้องๆ ล้อมวงโยนประเด็นที่ตนเองสนใจกับเพื่อนในกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนกัน คนหนึ่งสนใจประเด็นสิ่งแวดล้อม ภูมินิเวศที่มองเห็นได้ผ่านอาหารท้องถิ่นและวัตถุดิบในพื้นที่ คนหนึ่งสนใจเรื่องประวัติศาสตร์ชุมชน การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเมื่อเวลาเคลื่อนผ่าน คนหนึ่งสนใจเรื่องความเป็นอยู่และชีวิตของคนบนเรือนแพ ว่าพวกเขาอยู่ดีตายดีแค่ไหน อีกคนหนึ่งอยากเล่าเรื่องกิจกรรมที่ไม่ได้แค่เสริมสร้างสุขภาวะทางกาย แต่ยังสร้างความสุขทางใจและความเข้มแข็งของชุมชน ในขณะที่บางคนสนใจเรื่องการกลับบ้านของคนรุ่นใหม่ที่ว่าด้วยลงหลักปักฐานและออกแบบบั้นปลายชีวิต

ก่อนจะบอกลากันไปทำการบ้านเพิ่มเติมตามหัวข้อที่ตนเองเลือกสร้างสรรค์ วันนี้ค่ายสารคดีครั้งที่ 19 ยังได้รับการสนับสนุนจาก Nikon STM และ Saramonic เป็นอุปกรณ์การถ่ายทำสารคดีมากมาย ทั้งกล้อง ขาตั้ง และไมโครโฟน ไม่ให้การขาดแคลนอุปกรณ์มาเป็นอุปสรรคในการเรียนรู้ของน้องๆ ตลอด 3 เดือนนี้

“โครงที่เราเขียนกันในวันนี้คือแผนที่ความคิด ที่จะช่วยให้เราไม่หลุดไม่ลอยเวลาไปลงพื้นที่ แต่อย่าไปยึดว่าเรื่องเล่าของเราต้องเป็นแบบนี้ บางทีตอนลงพื้นที่จริงเราอาจได้ค้นเจอเรื่องราวที่ไม่คาดฝัน ขอให้ทำงานด้วยดวงตาที่เปิดกว้าง ไปด้วยประเด็นคำถาม หาข้อมูลมาเป็นคำตอบ และอย่าลืมเก็บชีวิตของผู้คนมาใส่งานของคุณด้วย” ครูค่ายแนะนำทิ้งท้าย

แล้วพบกันใหม่ครั้งหน้า วันลงพื้นที่จริง ที่อุทัยธานี

สนับสนุนโดย

  • วิริยะประกันภัย
  • สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
  • มูลนิธิเล็กประไพวิริยะพันธุ์
  • Nikon
  • กลุ่มธุรกิจ TCP

กิจกรรมโดย
Sarakadee Magazine